Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

"เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่" : จาก 'เดส์การ์ตส์' ถึง 'จอร์จ ออร์เวลล์'

"เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่" : จาก 'เดส์การ์ตส์' ถึง 'จอร์จ ออร์เวลล์'



คำขวัญการอภิวัฒน์ฝรั่งเศส 1789 (พ.ศ.2332) ที่ว่า "เสรีภาพเสมอภาค ภราดรภาพ หรือความตาย" ซึ่งมาต่อถูกยกขึ้นเป็นคำขวัญของประเทศตามรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสปี พ.ศ.2489 และ 2501 "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ" มีการตัดวลีสุดท้ายออกไปเนื่องจากภารกิจการต่อสู้สรรค์สร้างประชาธิปไตยได้สำเร็จลุล่วง ไม่ใช่เพียงชัยชนะขั้นพื้นฐานเฉกเช่นเมื่อ 200 ปีนั้น หากเป็นชัยชนะโดยเด็ดขาดอย่างถาวร มีผลทำให้คำประกาศเจตนารมณ์อย่างถึงที่สุด ไม่ถอยหนียุบเลิกหรือทิ้งการต่อสู้เสียกลางคัน จึงไม่มีความจำเป็นต้องคงไว้อีกต่อไป

นับจากการติดตามข่าวสารการรัฐประหารตัวเอง 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 ของจอมพลถนอม กิตติขจร ในฐานะตัวแทนรุ่นสุดท้าย 1 ใน 3 คน ที่รับช่วงระบอบเผด็จอำนาจสีเขียวยุคคาบเกี่ยวกึ่งพุทธกาลของเครือข่าย แปลก-เผ่า-สฤษดิ์ จนกระทั่งเข้ามาข้องเกี่ยวมีส่วนร่วมโดยตรงในขบวนนักเรียน นิสิตนักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ที่ยิ่งใหญ่...

ผมหมดข้อกังขาโดยสิ้นเชิง ว่าเหตุใดสำหรับความเป็นประชาธิปไตยแล้ว "เสรีภาพ" จึงมาก่อนสิ่งอื่นๆทั้งหมด

ถอยไปไกลก่อนแนวคิดการปกครองระบอบประชาธิปไตยจะอุบัติขึ้นในเส้นทางยาวไกลของอารยธรรมมนุษย์ พลโลกดั้งเดิมที่ผู้คนต่างเผ่าพันธุ์ที่ถือกำเนิดขึ้นมาภายใต้ระบบคิดและระบอบการปกครองอันหลากหลาย และต้องใช้เวลาอีกนับพันปีจึงจะมีโอกาสสัมผัสวิถีแห่งโลกาภิวัตน์ แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือผู้คนเหล่านั้นล้วนต้องก้มหน้าให้กับหน้าที่เพียงเชื่อฟังอย่างปราศจากข้อแม้ยอมรับในชะตากรรมที่เลือกไม่ได้ เพื่อสร้างและสะสมโภคทรัพย์ให้แก่ผู้ปกครอง ตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นมรดกตกทอดจากชั่วคนสู่ชั่วคน

บรรพบุรุษของเราใช้เวลานับหมื่นปีกว่าจะวิวัฒน์เผ่าพันธุ์ของตนจนพ้นสภาพสัตว์มาเป็นมนุษย์ และใช้เวลาอีกหลายศตวรรษเพื่อที่จะได้ตระหนักถึง "เสรีภาพ" ของขวัญพิเศษจากธรรมชาติที่หยิบยื่นให้แก่เผ่าพันธุ์ที่เดินด้วยสองขาหลังบน กระดูกสันหลังที่ตั้งฉากกับพื้นโลก และนั่นเองที่ทำให้เราต่างจากสัตว์เดรัจฉาน ที่ล้วนแล้วแต่ไปทางขวาง คือกระดูกสันหลังนั้นขวางโลก...

ที่ว่าเป็นของขวัญพิเศษก็เนื่องจากธรรมชาติหาได้หยิบยื่นสิ่งนี้แก่สิ่งมีชีวิตอื่นใดอีกไม่นอกจากมนุษย์ ทั้งนี้เนื่องจากเสรีภาพที่ว่านี้ เป็นการตระหนักรู้ เป็นสำนึก ไม่ใช่สัญชาตญาณ แต่เป็นการตระหนักรู้ หลังจากอารยธรรมมนุษย์ล่วงเลยมาถึงปลายศตวรรษที่ 16 เมื่อ เรอเน เดส์การ์ตส์ (Rene Descartes : ค.ศ.1596-1650) ได้นำเสนอแนวคิดทางด้านปรัชญาที่มีอิทธิพลต่อนักปรัชญารุ่นต่อๆมาในกลุ่ม เหตุผล นิยม (rationalism) ซึ่งเป็นแนวคิดปรัชญาหลักในยุโรปอยู่ถึง 2 ศตวรรษ

เดส์การ์ตส์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักคิดแห่งยุคสมัยใหม่คนแรก เนื่องจากเป็นผู้วางรากฐานทางปรัชญาให้กับวิทยาศาสตร์ธรรมชาติโดยใช้วิธีการ ที่เรียกว่า กังขาคติเชิงวิธีวิทยา (Methodological Skepticism) อธิบายว่ามนุษย์มีสิทธิสงสัยกับทุกๆความคิดที่สามารถจะสงสัยได้ ไม่มีความเชื่อแบบจารีต หรือความเชื่อทางเทววิทยาใดที่ไม่ถูกตั้งคำถามและตรวจสอบด้วยหลักของเหตุและ ผล วาทะสำคัญที่ยืนยงมาตลอดประวัติอารยธรรมคือการประกาศ "cogitoergo sum (เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่)" ซึ่งปรากฏในงานเขียน Discourse on Method อันเป็นข้อสรุปว่า  แท้ที่จริงแล้วมนุษย์เป็นเพียงอะไรบาง สิ่งที่กำลังคิด

สำหรับเดส์การ์ตส์ ในท่ามกลางการต่อสู้กับความคิดเก่าที่มีลักษณะล้าหลังกับความคิดใหม่ที่มีลักษณะก้าวหน้ากว่า ต้องเผชิญอุปสรรคอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จากการที่เขาเริ่มงานเขียนชื่อ The World ในปี ค.ศ. 1629 แต่ไม่กล้าจัดพิมพ์ผลงานชิ้นนี้ เนื่องจากทราบข่าวการตัดสินคดีของกาลิเลโอ ที่มีขึ้นในปี ค.ศ. 1633 เมื่อกาลิเลโอมีอายุได้ 69 ปี คณะตุลาการศาสนาของประเทศอิตาลีได้มีมติบังคับให้กาลิเลโอถอนคำพูดของเขาที่ว่า "โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์" แต่กาลิเลโอปฏิเสธ เขาถูกผู้คนประณามหยามเหยียดว่าเป็นพวกนอกรีต และถูกทรมานจองจำจนตาบอดสนิททั้งสองข้าง ก่อนจะละสังขารจากโลกโดยมีคำสาปแช่งของศาสนาติดตัวไปยังปรโลก

งาน เขียนทั้งของกาลิเลโอและเดส์การ์ตส์ถูกอำนาจอัตตาธิปไตยของศาสนจักรโรมัน คาทอลิกประกาศไว้ใน รายการหนังสือต้องห้าม (Indexof Prohibited Books) และห้ามตีพิมพ์เผยแพร่อยู่นับร้อยปีหลังจากเดส์การ์ตส์เสียชีวิตด้วยโรคปอด บวมในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1650 (พ.ศ.2193) ที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน อีก 16 ปีต่อมา ศาสนจักรโรมันคาทอลิกได้ใส่รายชื่องานเขียนทั้งหมดในชั่วชีวิตของเขาเข้าไปในรายการดังกล่าว

กล่าวสำหรับสังคมอารยะนับจากศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา เสรีภาพในทางความคิดถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของมนุษยชาติ

ในวรรณกรรมสำคัญกลางศตวรรษที่ 20 เรื่อง "1984" (ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1949) ของนักคิดนักเขียนคนสำคัญของอังกฤษ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell : ค.ศ.1903-1950) เขียนถึงกฎหมายที่เลวร้ายที่สุดของรัฐเผด็จการ "โอเชเนีย" ที่รัฏฐาธิปัตย์ควบคุมความรู้ ความคิด ของประชาชนไว้โดยสิ้นเชิงอาชญากรรมที่ถือว่าร้ายแรงที่สุดก็คือ อาชญากรรมทางความคิด (Thoughtcrime) อันเป็นข้อกล่าวหาสำหรับการคิดต่าง นั่นเอง

ดูเหมือนว่าเวลาผ่านไป 60 ปีข้อหาแบบนั้นกำลังคืบคลานเข้ามาครอบงำสังคมในอีกซีกโลกหนึ่งที่มันได้ถือกำเนิดขึ้นมาอีกหนหนึ่งแล้ว.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
การนำไปทำซ้ำ ดัดแปลง คัดลอก ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8