Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2563

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (88)

บทส่งท้าย "ดุซงญอ"
การแก้ไขที่ไม่เกิดขึ้น (9)

อนุสาวรีย์ลูกปืน ตั้งอยู่ภายในบริเวณสถานีตำรวจภูธรอำเมือง จังหวัดนราธิวาส จาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=395882

ดร. ธเนศ อาภรณ์สวรรณ ได้ให้บทสรุป ความเป็นมาของทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย อ่านได้จาก ทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย http://www.bkk1.in.th/Topic.aspx?TopicID=12359: ไว้ว่า:
**********
กิจกรรมทั้งหลายของจำเลยจึงถูกนำมาทำให้เป็น "การเมือง" ในทรรศนะของรัฐไทยไปหมด ที่ประหลาดก็คือการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนของชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ ก็เป็นการกระทำที่ "นอกเหนือรัฐธรรมนูญ" สมัยดังกล่าวไปด้วย รวมทั้งการประพฤติปฏิบัติตามศาสนาด้วยเช่นกัน ประเด็นหลังนี้ยิ่งหนักขึ้น เพราะพยานโจทก์นายหนึ่งคือนายอุดม บุณยประกอบ อดีตข้าหลวงตรวจการกระทรวงมหาดไทยภาค 5 ให้การว่า "ทางภาคใต้ 4 จังหวัดนี้ ศาสนากับการปกครองแยกกันไม่ออก" ดังนั้นศาลอุทธรณ์จึงมีความเห็นว่า "ขณะใดที่มีการกล่าวถึงศาสนานั้น ก็มีการเมืองการปกครองรวมอยู่ด้วย" เท่านั้นเอง การเคลื่อนไหวในที่ประชุมชนอะไรของฮัจญีสุหลงก็กลายเป็น "การเมือง" ไปสิ้น รวมถึงใบปลิว จดหมาย และข้อเขียนอะไรที่ออกไปจากจำเลย ก็กลายเป็นการเมืองไป นั่นคือนอกเหนือรัฐธรรมนูญและกฎหมายไทย

แม้ว่าเรื่องที่จำเลยร้องเรียนจะเป็นความจริง และเป็นการเรียกร้องในสิทธิของมนุษยชนก็ตาม ก็เป็นความผิดตามเหตุผลของรัฐไทย ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาเป็นเอกฉันท์เพิ่มโทษเฉพาะฮัจญี สุ หลงให้จำคุกมีกำหนด 7 ปี แต่เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงลดโทษฐานปรานีให้ 1 ใน 2 เหลือจำคุกมีกำหนด 4 ปี 8 เดือน ศาลฎีกาก็พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ฮัจญีสุหลงถูกจำคุกเป็นเวลา 4 ปีกับ 6 เดือนก่อนที่จะถูกปล่อยในปี 2495 เขาเดินทางกลับปัตตานีและทำงานอาชีพเก่าต่ออีก นั่นคือการสอนหนังสือ "การสอนของเขามีคนมาฟังเป็นจำนวนมาก ในวันที่เขาทำการสอน ตัวเมืองปัตตานีจะเต็มไปด้วยผู้คน ส่วนรถราติดบนท้องถนน บรรดาผู้เข้าฟังกล่าวกันว่า มีที่มาไกลถึงยะหริ่ง และปาลัส (อยู่ทางทิศตะวันตก) และบ่อทอง หนองจิก (อยู่ทางทิศเหนือ)"

ในวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2497 ตำรวจสันติบาลที่สงขลาเรียกให้ฮัจญีสุหลงไปพบ เขาไปพร้อมกับลูกชายคนโตที่เป็นล่าม เพราะฮัจญีสุหลงและเพื่อนๆ ที่ถูกเรียกตัวไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ ทั้งหมดนั้นได้ "สูญหาย" ไปและไม่กลับมายังปัตตานีอีกเลย การสูญหายของฮัจญี สุหลงและพวกไม่เคยสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่มีพยาน ไม่มีการให้ความร่วมมือจากฝ่ายตำรวจ มีแต่ความรู้สึกกลัวที่หลอกหลอนสังคมปัตตานีเกี่ยวกับโศกนาฎกรรมของฮัจญีสุหลงและเพื่อน ๆ

บทสรุป

บทความนี้ศึกษาถึงกำเนิดและความเป็นมาของการสร้างมายาคติว่าด้วย "ลัทธิแบ่งแยกดินแดน" ในวาทกรรมการเมืองสมัยใหม่ของรัฐไทย เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ผูกพันและรองรับมโนทัศน์การแบ่งแยกดินแดนมาจาก และก็ทำให้เกิดมายาคติในเรื่อง "กบฏหะยีสุหลง" และ "กบฏดุซงญอ" ด้วย ในเวลาเดียวกันพัฒนาการและความเป็นมาของรัฐไทยสยามที่เปลี่ยนผ่านจากระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย และการสร้างรัฐไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามมหาอาเซียบูรพา ก็มีส่วนในการผลักดันและสร้างแนวความคิดทางการเมืองของ "การแบ่งแยกดินแดน" ให้เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มพลังการเมืองใหม่ในภูมิภาค ต่างๆ จากใต้จรดเหนือและอีสาน กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและการสร้างรัฐไทยสมัยชาตินิยมนี้ นำไปสู่การใช้กำลังและความรุนแรงปราบปรามและสยบการเรียกร้องและสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและการเมืองของภูมิภาคทั้งหลายลงไป โดยที่กรณีของมลายูมุสลิมในภาคใต้มีลักษณะเฉพาะต่างจากภาคอื่น และมีผลสะเทือนที่ยังส่งผลต่อมาอีกนาน

บทความนี้มุ่งสร้างความกระจ่างแจ้งในพัฒนาการและความเป็นมาของการเมืองยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อที่จะช่วยทำให้มโนทัศน์เรื่อง "การแบ่งแยกดินแดน" มีบริบทอันถูกต้องขึ้นมาด้วย แทนที่จะเป็นเรื่องเล่าประดิษฐ์สร้างขึ้นมาโดยอำนาจรัฐและอุดมการณ์ของรัฐ แต่ฝ่ายเดียว จากที่ได้อภิปรายมาทั้งหมด กล่าวได้ว่าเหตุการณ์และความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้นั้น มีทรรศนะในการมองที่ตรงข้ามกันระหว่างรัฐและประชาชนมลายูมุสลิมภาคใต้ ในขณะที่รัฐมองว่าการต่อต้านลุกฮือต่างๆของคนมลายูมุสลิมนั้นเป็นการ "กบฎ" แต่ฝ่ายประชาชนมุสลิมเองกลับมองว่า การเคลื่อนไหวถึงการประท้วงต่อสู้ต่างๆนั้นคือ "การทำสงคราม" เพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมตามศรัทธาและความเชื่อของตน

จากการศึกษาในบทความนี้ เห็นได้ว่าผู้นำมลายูมุสลิมในภาคใต้มีความต้องการแน่วแน่ในการเจรจาต่อรอง กับรัฐบาลไทย ต่อปัญหาขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในทศวรรษปี 2480 เป็นต้นมา การเคลื่อนไหวและขบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นปฏิกิริยาต่อการจัดการปัญหาและไม่พอใจสภาพกดขี่ไม่ยุติธรรมที่พวกเขาได้ รับอยู่ และต่อเนื่องมาจากการต่อรองเจรจากับรัฐบาล มีลักษณะสองอย่างในชุมชนมุสลิมที่ทางการไทยไม่เข้าใจ (จะด้วยเหตุใดก็ตาม) และนำไปสู่การสรุปว่าเป็นการแข็งขืนทางการเมือง

ข้อแรกคือ การที่ชุมชนมุสลิมมีการจัดตั้งและมีโครงสร้างสังคมที่เข้มแข็งแน่นเหนียว ทำให้สามารถดำเนินการเคลื่อนไหวอย่างเป็นเอกภาพได้สูง ลักษณาการเช่นนี้ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้ผู้นำรัฐและเจ้าหน้าที่หวาด ระแวง และกระทั่งหวาดกลัวการกระทำที่อาจนำไปสู่การเป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจการปกครอง ของพวกตนได้ การเปรียบเทียบชุมชนในสายตาของเจ้าหน้าที่ก็ย่อมมาจากการเปรียบเทียบกับ ชุมชนไทย ซึ่งทำให้ได้ข้อสรุปที่ไม่ช่วยให้เข้าใจหรือมองชุมชนมุสลิมในด้านบวกได้มาก นัก โดยเฉพาะในระยะเวลาที่สถานการณ์ตึงเครียด

ข้อสองคือ ลักษณะและธรรมชาติของศาสนาอิสลาม ซึ่งไม่มีการแบ่งแยกระหว่างศาสนากับการเมืองหรือสังคม ทรรศนะเชิงลบของเจ้าหน้าที่รัฐไทยเห็นได้จาก ความเห็นของศาลเมื่อตัดสินว่าพฤติการณ์ของฮัจญีสุหลงในทางศาสนาและอื่น ๆ ล้วนเป็นการเมืองทั้งสิ้น ในความหมายของการกระทำที่บ่อนทำลายอำนาจและความชอบธรรมของรัฐไทยลงไป ทั้งหมดนี้ทำให้ทางการไทยมองว่า การปฏิบัติหรืออ้างถึงศาสนาในฝ่ายมุสลิมนั้น แท้จริงแล้วคือมีจุดหมายทางการเมืองเป็นสำคัญ

นักวิชาการอธิบายถึงสาเหตุของความขัดแย้งระหว่างชนชาติส่วนน้อยกับรัฐว่ามาจาก การมีความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนาที่แตกต่างตรงข้ามกัน ในทางเป็นจริงนั้น ดังกรณีของกบฏดุซงญอ ปัญหาของศาสนาและเชื้อชาตินั้น ขึ้นต่อปัญหาและความเป็นมาในพัฒนาการทางการเมืองระดับชาติและในทางสากลด้วย ดังเห็นได้จากการที่ทรรศนะและการจัดการของรัฐไทยต่อข้อเรียกร้องของขบวนการ มุสลิมว่า เป็นภยันตรายและข่มขู่เสถียรภาพของรัฐบาลไป

จนเมื่อเกิดรัฐประหาร 2490 และสหรัฐฯและอังกฤษต้องการรักษาสถานะเดิมของมหาอำนาจในภูมิภาคอุษาคเนย์เอาไว้ วาทกรรมรัฐว่าด้วย "การแบ่งแยกดินแดน" ก็กลายเป็นข้อกล่าวหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์สงครามเย็นในการเมืองระหว่างประเทศ ส่วนภาวการณ์ในประเทศ การสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายใต้อำนาจรัฐของศูนย์กลาง ก็เป็นความจำเป็นภายในประเทศที่เร่งด่วน ทั้งหมดทำให้การใช้กำลังและความรุนแรงต่อกลุ่มชนชาติ (ส่วนน้อย) และหรือกลุ่มอุดมการณ์ที่ไม่สมานฉันท์กับรัฐบาลกลาง เป็นความชอบธรรมและถูกต้องไปได้ในที่สุด.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 19 -25 เมษายน 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (87)

บทส่งท้าย "ดุซงญอ"
การแก้ไขที่ไม่เกิดขึ้น (8)

จาก https://way-of-life-menmen.blogspot.com/2016/07/blog-post_92.html ปฐมบทการล่มสลายของอาณาจักรปาตานี ปี พ.ศ. 2329 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ  โปรดให้ยกทัพไปปราบเมืองปัตตานีเนื่องจากพระยาตานีไม่ยอมเข้าเฝ้าตามพระบรมราชโองการ แล้วให้นำปืนใหญ่พญาตานีหล่อสำริด ลงเรือสำเภาขึ้นมาไว้ที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันตั้งอยู่ที่หน้ากระทรวงกลาโหม

ก่อนจะถึงตอนจบของเรื่องราวของ "กบฏดุซงญอ" ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นที่มาของ "ขบวนการแบ่งแยกดินแดน (สามจังหวัดชายแดนใต้)" ซึ่งหากมีอยู่จริงนับเป็นความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาข้อมูลที่มีความเป็นอิสระทางวิชาการ อันเป็นยอมรับจากหลายฝ่ายและหนึ่งในบทความที่สำคัญคือ ความเป็นมาของทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย โดย ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์; จาก ทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย, เผยแพร่ใน เว็บบอร์ด:: tank16:: กองพันทหารม้าที่16 ตามลิงค์ http://www.bkk1.in.th/Topic.aspx?TopicID=12359: ซึ่งได้ให้ข้อสรุป (อีกครั้ง) ไว้ดังต่อไปนี้:
**********
รายงานข่าวการ "ก่อการขบถ" ของชาวบ้านนับพันคน ดังที่เจ้าหน้าที่มหาดไทยท้องถิ่นรายงานเข้ากระทรวงฯนั้นเห็นชัดเจนว่า เป็นการข่าวที่คลาดเคลื่อน จะเรียกว่า "บิดเบือน" ก็อาจหนักไป เพราะหากเกิดการปะทะกันขึ้น กำลังเป็นสิบหรือหลายสิบ ก็น่ากลัวพอที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรีบประเมินความหนักหน่วงน่ากลัวของ สถานการณ์ให้เบื้องบนทราบ ต่อเนื่องจากการให้ตัวเลข ขนาด จำนวน ประเภท ของอาวุธที่ชาวบ้านใช้ ซึ่งล้วนเป็นอาวุธหนักและใช้ในการสงคราม เช่น คาร์ไบน์ ปืนต่อสู้รถถัง ปลยบ.66 ระเบิดมือ สเตน เป็นต้น

แสดงว่าทางการได้มีสมมติฐานอยู่ในใจก่อนแล้ว ว่าชาวบ้านมุสลิมภาคใต้กำลังคิดกระทำอะไรอยู่ หากไปอ่านความในใจของรัฐมนตรีมหาดไทยสมัยนั้น เช่นพลโท ชิด มั่นศิล สินาดโยธารักษ์ และผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีพระยารัตนภักดี ก็จะไม่แปลกใจว่าทำไม ทางการถึงประเมินและเชื่อว่าชาวบ้านมีอาวุธหนักขนาดทำสงครามไว้ในครอบครอง เพราะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลมีข่าวกรองอยู่ก่อนแล้ว ประกอบเข้ากับอคติและความไม่ชอบในการเคลื่อนไหวเรียกร้องของกลุ่มมุสลิมหัว ก้าวหน้าด้วย ทำให้หนทางและวิธีการในการคลี่คลายปัญหาและความตึงเครียดขณะนั้นโดยสันติ วิธี และ"ละมุนละม่อม"ตามที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม สั่งตามไปในวันหลัง ๆ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากมากๆ

จากบทเรียนในประวัติศาสตร์ดังกล่าว ก็คือ การใช้ความรุนแรงในภาคใต้นั้น เป็นผลโดยตรงจากการมีทัศนคติ อคติ ความเชื่อในอุดมการณ์การเมืองของชาติที่ไม่สอดคล้องกระทั่งขัดแย้งกับความ เป็นจริงของสังคมมุสลิมภาคใต้ ทั้งหมดทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ (ทั้งในโครงสร้างและนอกเหนือกฎหมายหลากหลายสารพัด) ไม่ต้องสงสัยว่าประเด็นปัญหาปัตตานีดังกล่าวเรียกร้องความสนใจจากนานาชาติ รวมถึงองค์กรความสัมพันธ์แห่งเอเชีย, สันนิบาตอาหรับ, และ องค์การสหประชาชาติ การร้องทุกข์ของคนมลายูมุสลิมมีไปถึงบรรดาประเทศมุสลิมด้วย เช่น สันนิบาตแห่งรัฐอาหรับ อินโดนีเซียและปากีสถาน มีการให้ความช่วยเหลือจากกลุ่มมุสลิมภายในประเทศไทยเองด้วย และจากพรรคชาตินิยมมาเลย์ในมลายา สถานการณ์ขณะนั้นเครียด มีกองกำลังจรยุทธเคลื่อนไหวไปมาตามชายแดนจากมลายาเข้ามายังภาคใต้ไทย ผู้นำศาสนาทั้งสองฟากของพรมแดนเรียกร้องให้ทำญีฮาดตอบโต้อำนาจรัฐไทย

น่าสังเกตว่าเมื่ออัยการโจทย์นำคดีฟ้องร้องฮัจญีสุหลงยื่นต่อศาลนั้น ในคำฟ้องระบุอย่างชัดเจนว่า ฮัจญีสุหลงและสานุศิษย์ของเขาที่ถูกฟ้องนั้นล้วนมีเชื้อชาติไทยและสัญชาติ ไทย ข้อหาที่ฟ้องร้องฮัจญีสุหลงกับพวกคือ "ตระเตรียมและสมคบกันคิดการจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครอง และเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป และเพื่อให้เกิดเหตุร้ายแก่ประเทศจากภายนอก" ใน คำฟ้องของโจทย์นั้นกล่าวหาจำเลยและพวกว่าคบคิดกันทำการกบฏในเดือนสิงหาคม 2490 โดยจัดการประชุมที่สุเหร่าปรีกี อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี

ฮัจญีสุหลงพูดปลุกปั่นราษฎรว่า "รัฐบาลไทยได้ปกครองสี่จังหวัดภาคใต้มาถึง 40 ปีแล้ว ไม่ได้ทำประโยชน์ให้บ้านเมืองดีขึ้น และกล่าวชักชวนให้ราษฎรไปออกเสียงร้องเรียนที่ตัวจังหวัดเพื่อขอปกครองตนเอง ถ้ารัฐบาลยินยอมก็จะได้เชิญตนกูมะไฮยิดดินมาปกครองแล้ว จะได้ใช้กฎหมายอิสลามเพื่อให้ความชั่วหมดไปและทำให้บ้านเมืองเจริญ ถ้ารัฐบาลไม่ยอมตามคำขอปกครองตนเอง ก็จะได้ให้ราษฎรพากันไปออกเสียงร้องเรียนให้สำเร็จจนได้"

อีกประเด็นที่โจทก์ฟ้องคือฮัจญีสุหลงทำหนังสือฉันทานุมัติแจกให้ราษฎรลงชื่อ หนังสือนี้ถูกกล่าวหาว่าต้องการเชิญตนกูมะไฮยิดดินมาเป็นหัวหน้าปกครองสี่ จังหวัด ในขณะเดียวกันเอกสารนี้ยังมีข้อความ "ที่ จะก่อให้เกิดความดูหมิ่นต่อรัฐบาลและราชการแผ่นดิน และจะก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงกับจะก่อความไม่สงบ ขึ้นในแผ่นดิน" ในการนี้ศาลชั้นต้นมีความเห็นว่า ข้อความวิจารณ์และติเตียนการกระทำของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่นั้น เป็นการก่อให้เกิดความดูหมิ่นต่อรัฐบาลไทยและข้าราชการไทย ตลอดจนถึงราชการแผ่นดิน ซึ่งผิดวิสัยที่รัฐบาลจะกระทำต่อพลเมือง น่าสังเกตว่าทรรศนะของศาลเป็นการแก้ต่างให้กับการกระทำของรัฐบาล ซึ่งตามหลักการปกครองย่อมไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ ทำนองเดียวกับการที่ลูกจะฟ้องร้องพ่อแม่ว่าทำทารุณกรรมลูกๆ ไม่ได้ เพราะผิดวิสัยของพ่อแม่ในทางหลักการ แม้ในความเป็นจริงอาจเกิดตรงข้ามกับหลักการก็ได้

ในที่สุดศาลชั้นต้นก็ตัดสินว่า ฮัจญีสุหลงจำเลยมีความผิดฐานกบฏภายในพระราชอาณาจักร ให้จำคุกกับพวกอีก 3 คนคนละ 3 ปี อย่างไรก็ตาม ในที่สุดหลังจากศาลตัดสินลงโทษจำเลยอย่างไม่หนักเท่าที่โจทก์ได้คาดหวังไว้ ก็อุทธรณ์ไปถึงศาลชั้นบน คราวนี้ผลออกมาว่า ฮัจญีสุหลงกระทำการละเมิดกฎหมาย ในการเชื้อเชิญให้มะไฮยิดดินมาเป็นผู้นำตามข้อเรียกร้องข้อที่ 1 "เป็นลักษณะของการสืบทอดเจตนารมณ์ของการกบฏ" การเรียกร้องให้แยกศาลศาสนาออกจากศาลจังหวัด "เป็นการกระทำให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป ทั้งในทางการบริหารและการศาล นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงประเพณีการปกครองของ 4 จังหวัด เพื่อให้ผิดแผกไปจากที่เป็นอยู่ในเวลานี้อย่างมากมาย....การคิดการเช่นนี้ ย่อมเป็นผิดฐานกบฏ"

การที่ศาลอุทธรณ์สามารถหาความผิดให้แก่คำเรียกร้อง 7 ข้อได้นั้น ก็ด้วยการนำเอาข้อเขียนของมิสวิททิ่งนั่ม-โจนส์ ที่กล่าวถึงความทารุณต่างๆ ในสี่จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นการเมืองอันมีการกระทำมุ่งหวังจะให้คนคล้อยเชื่อตามนั้น จนอาจจะต้องใช้การต่อสู้ของประชาชนก็ตาม มาเป็นพยานหลักฐานหนึ่งในการลงโทษ ตรรกของศาลไทยสมัยนั้น คือ การหาว่าฮัจญีสุหลงและพวกกระทำการ "นอกเหนือไปจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายไทย" อย่างไรบ้าง
(ยังมีต่อ)

น่าแปลกใจอย่างยิ่งสำหรับรัฐที่ประกาศความเป็น "ศูนย์กลางสมัยใหม่ของพุทธศาสนา" กับระบบคิดและระบบการปกครองที่ "คับแคบ" ในการยอมรับความต่างของ "สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งนั้น" การบังคับใช้ "กฎหมายอย่างเดียวกัน" ในสังคมที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรม คติความเชื่อ และที่สำคัญทางศาสนาในหลายประเทศตลอดเส้นทางอารยธรรมของมนุษย์ชาติ ไม่เพียงในยุคประวัติศาสตร์ แต่อาจถอยไปไกลกว่ายุคประวัติศาสตร์ด้วยซ้ำไป ล้วนแสดงให้เก็นว่า "กดกดขี่บีบคั้น" ในบริบทนี้ ก่อสงครามและสงครามกลางเมืองมาแล้วนับไม่ถ้วนครั้ง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 12 -18 เมษายน 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2563

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (86)

บทส่งท้าย "ดุซงญอ"
การแก้ไขที่ไม่เกิดขึ้น (7)

จาก http://fathonisia.blogspot.com/2013/01/haji-sulongtokoh-perjuangan-patani.html

ธรรมศาสตราภิชาน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สรุปในตอนท้ายบทความ "ข้อเสนอของฮัจญีสุหลงและท่านปรีดี พนมยงค์ ต่อแบบการปกครองพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" ตอนที่ 2 ในเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์มติชน ดังนี้:
**********
คำถามใหญ่จึงได้แก่ว่า รัฐชาติจะยอมรับความเป็นตัวของตัวเองของชนชาติส่วนน้อยไหมและรับได้มากน้อยแค่ไหน จากนั้นถึงจะตอบได้ว่าทำอย่างไรชนชาติส่วนน้อยถึงจะช่วยในการสร้างและรักษาความเป็นเอกภาพของชาติไว้ได้

ดังที่ได้เกิดปัญหาขัดแย้งมาแล้วในอดีต ระหว่างจุดยืนของรัฐกับของชนชาติ เมื่อรัฐบาล นายควง อภัยวงศ์ ได้ทำการจับกุมคณะรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม และดำเนินคดีกับฮัจญีสุหลงต่อในข้อหา "ตระเตรียมและสมคิดกันคิดการจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครองเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไปและเพื่อให้เกิดเหตุร้ายแก่ประเทศจากภายนอก" ในปี พ.ศ. 2491 หลักฐานสำคัญคือคำขอ 7 ข้อกับหนังสือฉันทานุมัติ อันเป็นจดหมายที่เขียนถึงตนกูมะไฮยิดดิน เพื่อมาเป็น "หัวหน้าของ 4 จังหวัดคือปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล" ทำการปกครองโดยใช้กฎหมายอิสลาม โดยตัวของมันเองเอกสารคำขอ 7 ข้อและหนังสือเชิญตนกูมะไฮยิดดินไม่อาจถือว่าเป็นการขบถได้ แต่ที่ศาลถือเป็นหลักฐานในการลงโทษได้แก่ "ข้อความในใบมอบฉันทานุมัติ เป็นข้อความที่ก่อให้เกิดความดูหมิ่นรัฐบาลและข้าราชการแผ่นดิน ทั้งได้กระทำให้ปรากฏแก่หมู่ประชาชนแล้ว นายหะยีสุหลงจำเลยก็ต้องมีความผิดฐานขบถภายในพระราชอาณาจักรตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 104" (ธเนศ, 2549, 150)

ที่น่าแปลกใจคือคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ที่ตีความหนังสือฉันทานุมัติ โดยเฉพาะในข้อวัตถุประสงค์ใหญ่ "ที่กล่าวถึงการก่อตั้งสิทธิเพื่อได้รับมนุษย์ธรรม...หนังสือฯ ก็อ้างถึงสิทธิมนุษย์ธรรม...ว่าขอให้ได้รับสิทธิชาติมลายู มิฉะนั้นแล้วถือว่าขาดมนุษย์ธรรม เพราะฉะนั้นคำขอเช่นว่าจึงเป็นการกระทำที่นอกเหนือไปจากรัฐธรรมนูญและบทกฎหมาย" ประกอบกับฮัจญีสุหลงระหว่างถูกคุมขังดำเนินคดี ยัง "ได้ทำการติดต่อกับบุคคลภายนอกขอร้องให้ประชุมทางโน้นดำเนินการโดยด่วน อย่าได้เฉื่อยชา เพื่อความสวัสดิภาพของประชาชน" ทำให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาลงโทษฮัจญีสุหลงให้หนักยิ่งขึ้นไปอีก "เพราะเป็นการฉวยโอกาสระหว่างที่เกิดความผันผวนในจังหวัดปัตตานีทำการก่อกวนความสงบ โดยอาศัยเหตุการณ์ที่มิได้เป็นไปตามความประสงค์ของตนเป็นที่ตั้ง" (เพิ่งอ้าง).

กล่าวโดยสรุป การพิจารณาถึงรูปแบบของการปกครองพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงต้องสนใจถึงประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวต่อสู้ของประชาชนมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเกี่ยวโยงกับการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมในระบบปกครอง การพิจารณาปัญหาและการหาทางออกจึงไม่อาจบรรลุได้หากไม่มองปัญหาในองค์รวมของทั้งพื้นที่ในมิติอันหลากหลายต่างๆ ด้วย
(จบ)
**********
เมื่อศึกษาค้นคว้าความเป็นมาและความเชื่อมโยงของปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ นับจากช่วงปลายยุคกรุงศรีอยุธยา ที่อาณาจักรปาตานียังคงมีความเป็นอิสระ จนถึงต้นยุคกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีความพยายามและการดำเนินการผนวกดินแดนที่เรียกว่า "เจ้าแขกมลายู" มาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร จนกระทั่งการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือการสถาปนารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 สภาวะความไม่เข้าใจและไม่ไว้ใจกันระหว่างอำนาจรัฐส่วนกลาง กับอำนาจเจ้าเมืองเดิมในสมัยจตุสดมภ์/ศักดินา เป็นปัญหามากกว่าดินแดนส่วนอื่นของสยาม ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคตะวันตกที่มีความสัมพันธ์ค่อนข้างใกล้ชิดกับศูนย์กลางการปกครองในกรุงเทพฯ ซึ่งนับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังมีมารากเหง้ามาจากชนชาติ "ไต-ไท" เช่นเดียวกัน ยกเว้นในภาคตะวันตก

จนถึงห้วงเวลาของการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎร ที่มีความาพยายามในการสถาปนาการปกครองใน "ระบอบประชาธิปไตย" หรือ "ระบอบรัฐธรรมนูญ" ความแพร่หลายของแนวคิดทางด้านสิทธิมนุษยชน เรื่องเสรีภาพ และความยุติธรรมในการปกครองที่เห็นว่ามนุษย์มีความเท่าเทียมกัน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการปกครองในอดีต ก่อรูปและขยายตัวมากขึ้น

การทำความเข้าใจร่วมกัน บนพื้นฐานของความเสมอภาคเริ่มมีขึ้น ทั้งนี้ส่วนหนึ่ง ผู้นำศาสนาอิสลามคนสำคัญ คือ นายแช่ม พรหมยงค์ ก็เป็นสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน ที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (คณะราษฎร) สายพลเรือน ซึ่งส่งผลดีต่อความพยายามในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองรัฐสยาม/ไทย ในส่วนกลางและเป็นชาวไทยพุทธ กับผู้นำชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนใต้ที่สืบทอดกันมาจากสมัยเจ้าเมืองเดิมที่เป็นชาวไทยมุสลิม คนสำคัญคือ ฮัจญีสุหลง หรือ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา พระโอรสในสุลต่า (หรือรายา) องสุดท้ายแห่งนครรัฐปัตตานี ตวนกู อับดุลกาเดร์ กามารูดดีน

แต่แล้วความพยายามในการดำเนินการเพื่อสถาปนาระบอบการปกครองใหม่ ที่สามารถทำให้ราษฎรสยาม/ไทยต่างเชื้อชาติ วัฒนธรรมและศาสนา อยู่ร่วมกันภายใต้กฎหมายเดียวกัน ก็มีอันสิ้นสุดลงอันเป็นผลมาจากการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งอันที่จริงปัญหาเริ่มก่อหวอดในสมัยรัฐบาล (หลังสงคราม) นายควง อภัยวงศ์ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อผู้นำมลายูมุสลิมภาคใต้ก็ดำเนินการเรียกร้อง 7 ประการต่อไป แต่คำตอบที่ได้จากรัฐบาลควงยิ่งแย่กว่าสมัยรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เสียอีก โดยอ้างเหตุผลว่ารัฐบาลมีปัญหาอื่นๆ จำนวนมาก อีกทั้งปัญหาของมลายูมุสลิมนั้นก็สั่งสมมาเป็นเวลานาน ถ้าจะรอไปอีกสักหน่อยก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร

เป็นไปได้ว่าในระยะปลายปี 2490 ฮัจญีสุหลงและคณะคงรู้แล้วว่า ความหวังในการเจรจากับรัฐบาลควงไม่มีอีกต่อไปแล้ว อาวุธสุดท้ายที่มีอยู่คือการรณรงค์ไม่ร่วมมือกับรัฐบาลในเรื่องต่างๆ ต่อไป การบอยคอตรัฐบาลกลายเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองของฝ่ายมุสลิมไปโดยมีน้ำหนักทางศาสนาอยู่ด้วย

ในที่สุดรอยร้าวระหว่างระบอบการปกครองหลังการรัฐประหาร 2490 กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะในเขตจังหวัดปัตตานี ก็นำไปสู่การเกิดกรณี "กบฏดุซงญอ"

หลังจากการปะทะที่ดุซงญอผ่านพ้นไป ความรุนแรงและผลสะเทือนของเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวบ้านมลายูประมาณ 2,000 ถึง 6,000 คนหลบหนีออกจากฝั่งไทยเข้าไปอาศัยอยู่ในฝั่งมลายา ต่อจากนั้นมีชาวมุสลิมปัตตานีถึง 250,000 คนทำหนังสือร้องเรียนไปถึงองค์การสหประชาชาติให้ช่วยดำเนินการแยกสี่จังหวัดมุสลิมภาคใต้ และไปรวมกับสหพันธรัฐ มลายา ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ประกาศกฎอัยการศึกในบริเวณสี่จังหวัด และส่งกำลังตำรวจหน่วยพิเศษ 3 กองลงไปยังนราธิวาส แต่ประกาศว่าภารกิจของหน่วยพิเศษนี้คือการต่อสู้กับ "พวกคอมมิวนิสต์" (ความเป็นมาของทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย โดย ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ; จาก ทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย, http://www.bkk1.in.th/Topic.aspx?TopicID=12359)
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 5 -11 เมษายน 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2563

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (85)

บทส่งท้าย "ดุซงญอ"
การแก้ไขที่ไม่เกิดขึ้น (6)

สองจอมพลผู้ได้อำนาจการปกครองมาจากการทำรัฐประหาร จอมพล  ป.พิบูลสงคราม และ พลเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ยศในขณะนั้น)

ธรรมศาสตราภิชาน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอบทวิเคราะห์และบทสรุปในบทความ "ข้อเสนอของฮัจญีสุหลงและท่านปรีดี พนมยงค์ ต่อแบบการปกครองพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" ตอนที่ 2 ในเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์มติชน ต่อไป (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1303806822&grpid=no&catid=53) ว่า:
**********
ในแง่นี้ผมมองการเคลื่อนไหวของฮัจญีสุหลงกับคณะว่า เป็นผลพวงของการตอบโต้ปฏิสัมพันธ์กับการเกิดและเติบใหญ่ของรัฐสมัยใหม่ ซึ่งชุมชนมุสลิมจะต้องพัฒนาและเปลี่ยนไปพร้อมกับรัฐสมัยใหม่นี้ด้วย ลัทธิอาณานิคมและความเป็นสมัยใหม่ที่ได้นำความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ เข้ามาในสังคมมุสลิม ไม่ว่าจะในรูปแบบของรัฐประชาชาติ ระบบการศึกษาแบบใหม่ การเกิดขึ้นของสิ่งพิมพ์ทุนนิยม (print capitalism) ช่วยสร้างจินตนาการของชุมชนการเมืองใหม่ให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นได้ (imagined community) มาจนถึงแนวคิดว่าด้วยสิทธิอัตวินิจฉัยของรัฐ (self-determination) และสิทธิมนุษยชนของปัจเจกชน (human rights) อาจกล่าวได้ว่าการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนตามหลักการสากลภายใต้องค์การสหประชาชาตินั้น กลุ่มที่ทำการต่อสู้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็คือกลุ่มคนมลายูมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้นี้เอง

ที่สำคัญของการเคลื่อนไหวทางสังคมดังกล่าว คือการจุดประกายให้กับการเกิดจิตสำนึก การตระหนักถึงอัตลักษณ์และความเป็นตัวตน ซึ่งจำเป็นต้องการพื้นที่หรือเทศะ (space) อันใหม่ที่เอื้อต่อการเติบใหญ่ของสำนึกทางการเมือง ดังนั้นการมองไปที่รัฐ ในฐานะที่เป็นพื้นที่และมีอำนาจอันเป็นเหตุเป็นผล ในการทำให้ปัจเจกชนสามารถก้าวไปสู่อุดมการณ์ของเขาแต่ละคนและในส่วนทั้งหมดได้ จึงกลายเป็นเป้าหมายของการเคลื่อนไหวเพื่อการไปบรรลุความเป็นอิสลามที่แท้จริงต่อไป ประเด็นนี้จึงเรียกร้องให้เราหันกลับมาคิดถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรัฐไทยทั้งหมดด้วย ว่าเราต้องให้น้ำหนักไปที่การเคลื่อนไหวและสำนึกของปัจเจกชนและกลุ่มชนในท้องถิ่นต่างๆ หลากหลาย ใหญ่บ้างเล็กบ้างทั่วราชอาณาจักรไทยด้วย ว่าในระยะที่รัฐไทยส่วนกลางพยายามสร้างและทำให้สมาชิกส่วนอื่นๆ ภายในเขตแดนตามแผนที่สมัยใหม่ ต้องคิดและจินตนาการถึงความเป็นชุมชนชาติใหม่ร่วมกันนั้น บรรดาคนและชุมชนโดยเฉพาะตามชายขอบและที่มีอัตลักษณ์พิเศษไปจากคนส่วนใหญ่นั้น ก็ควรมีสิทธิและความชอบธรรมในการมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนชาติใหม่นี้ด้วย ไม่ใช่ด้วยการถูกบังคับให้เชื่อและทำตามแต่ถ่ายเดียว นี่คือบทเรียนที่ในระยะต่อมาจะมีราคาแพงมากขึ้นเรื่อยๆ ตามความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงของสังคมที่โลกาภิวัตน์มากขึ้นเรื่อยๆ" (น. 59-60)

ทั้งท่านปรีดีและฮัจญีสุหลงไม่ได้เสนอรูปแบบของการปกครองแบบพิเศษในพื้นที่ชนชาติส่วนน้อย ในที่นี้หากอนุโลมตามความเห็นและเป้าประสงค์ที่ทั้งสองท่านต้องการในการแก้ปัญหาของชนชาติส่วนน้อยในรัฐชาติ เราอาจนำเอารูปแบบของระบบการปกครองพิเศษทั้งหลายในประเทศต่างๆ มาพิจารณาได้ รูปแบบของการปกครองพิเศษในเขตชนชาติส่วนน้อยนั้นก็คือแบบการปกครองตนเองอย่างหนึ่ง (self-government) ซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องของดินแดน (territory) การมีส่วนร่วมของประชาชน (participation of the population) และการควบคุมโดยรัฐบาล (control by a government) ในกรณีของพื้นที่มลายูมุสลิมชายแดนภาคใต้นั้น เนื่องจากเคยมีประวัติของการปกครองโดยท้องถิ่นภายใต้ระบบกษัตริย์หรือสุลต่าน มีศาสนาอิสลามและวัฒนธรรมมลายูอันเป็นอัตลักษณ์ของผู้คนและพื้นที่มาเป็นเวลาช้านาน จึงควรพิจารณาค้นหารูปแบบและวิธีการที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมของท้องถิ่น เช่น สภาซูรอ เป็นต้น

ปัญหาแรก คือ ความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ชนชาติส่วนน้อยกับรัฐชาติ รูปแบบต่างๆ ของการปกครองตนเองมีตั้งแต่การเป็นดินแดนในอารักขา (dependent territory) จนถึง การเป็นดินแดนปกครองตนเองเต็มที่ (territory autonomy) ระหว่างกลาง ได้แก่ การเป็นสหพันธรัฐ (Federation) สมาพันธรัฐ (Confederation) เขตสงวน (Reservation) คอนโดมิเนียม (Condominium) และรัฐพันธสัญญา (Associated State) ประเด็นคือรัฐชาติสมัยใหม่ส่วนใหญ่ตระหนักว่าการเป็นรัฐเดี่ยว (unitary state) นั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของประชากรและเชื้อชาติทั้งหลายในรัฐสมัยใหม่ การแก้ปัญหาชนชาติส่วนน้อยในระยะยาวจึงจำเป็นต้องแก้หลักการข้อนี้ด้วย

ปัญหาที่ 2 คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ได้แก่การยอมรับหลักการปกครองของระบบประชาธิปไตย ที่สำคัญคือในด้านเนื้อหาคือการมีส่วนร่วม การมีสิทธิมีเสียงและความเสมอหน้าของประชากรไปถึงการควบคุมและถอดถอนเจ้าหน้าที่ผู้ปกครองได้ ไม่ใช่แต่ในทางรูปแบบของการเลือกตั้งอย่างเดียวเท่านั้น ในกรณีของมลายูมุสลิมภาคใต้อาจใช้รูปแบบสภาซูรอทำหน้าที่เหมือนสภาผู้แทนพื้นที่ กำกับควบคุมฝ่ายปกครอง

ประการสุดท้าย คือ แบบการปกครองพิเศษนี้จะมีอำนาจในการปกครองมากน้อยเพียงไร อำนาจของรัฐบาลกลางจะมีในเรื่องใดบ้าง ข้อนี้จึงสัมพันธ์กับการจัดการในข้อแรกว่าด้วยฐานะและสัมพันธภาพระหว่างพื้นที่ชนชาติกับรัฐชาติ

ถ้ามองจากทัศนะของท่านปรีดีในเรื่องปัญหาชนชาติส่วนน้อยกับรัฐชาตินั้น จุดยืนและน้ำหนักทางการเมืองที่ให้แก่แนวทางในการไปบรรลุเป้าหมายทางการเมืองคือของผู้นำรัฐบาลกลาง น้ำหนักที่ให้จึงได้แก่ความเป็นเอกภาพของชาติ ให้ความสำคัญไปที่ทัศนะของผู้นำส่วนกลางและคนส่วนข้างมากที่ไม่มีความเข้าใจและเห็นใจในสภาพการณ์ของชนชาติส่วนน้อย จึงเป็นไปได้ว่าท่านจะให้ทางออกไปที่การสร้างโครงสร้างอันเป็นของคนมลายูมุสลิมมากขึ้น เช่น การออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ. 2488 ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้คนมุสลิมสามารถเข้าร่วมในกิจการศาสนาของตนเองได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ยังเป็นเรื่องการจัดการดูแลด้านศาสนาเท่านั้น ภารกิจด้านอื่นๆ ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อน เช่น การศึกษาและเศรษฐกิจและปัญหาการปกครองความยุติธรรมก็ยังคงอยู่กับรัฐบาลกลาง

ตรงนี้จะเป็นจุดแตกต่างกับแนวความคิดและความต้องการของฮัจญีสุหลงและประชาชนมลายูมุสลิมในพื้นที่ ด้วยประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ยาวนานระหว่างรัฐปะตานีกับสยาม การมีภาษาและศาสนาที่แตกต่างจากส่วนกลาง ทำให้ความรักปิตุภูมิท้องที่ของคนมลายูมุสลิมมีหนาแน่นมาโดยตลอด และได้รับการตอกย้ำจากการใช้นโยบายการปกครองที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเป็นจริงในพื้นที่บ่อยๆ ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมกันของความเป็นคนเชื้อชาติมลายูที่หนักแน่น แบบการปกครองพิเศษจึงต้องสามารถเข้ามาจัดการและดูแลเรื่องความปลอดภัย คดีความ ไปถึงการศึกษาและเศรษฐกิจของพื้นที่กันเองได้ด้วย จึงคิดว่าโครงสร้างระบบการปกครองพิเศษในพื้นที่มลายูมุสลิมคงต้องมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการปัญหาต่างๆ มากกว่าเพียงด้านศาสนาอย่างเดียวเท่านั้น.
(ยังมีต่อ) 

สำหรับการศึกษาค้นคว้าปัญหาที่มีรากเหง้าและเรื้อรังมาช้านาน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวระดับสูงอย่าง "จังหวัดชายแดนใต้" นี้ สิ่งที่จะต้องคำนึงยิ่งกว่าบริบททางประวัติศาสตร์ คือการคลี่คลายขยายตัวของปัญหาความขัดแย้งที่มีลักษณะต่อเนื่องหลังการรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 และ 20 ตุลาคม 2501 ที่อาจจะแฝงความรุนแรงมายิ่งขึ้นด้วย.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 29 มีนาคม-4 เมษายน 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2563

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (84)

บทส่งท้าย "ดุซงญอ"
การแก้ไขที่ไม่เกิดขึ้น (5)

ประกาศรัฐนิยมสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีลักษณะกีดกัน บังคับให้ชนชาติส่วนน้อยในประเทศต้อง "แต่งตัว" ตามคำสั่งของทางการมีข้อห้ามเรื่องการโพกหัว สวมหมวกแขก และรวมทั้งการนุ่งโสร่ง

ธรรมศาสตราภิชาน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สรุปไว้ในตอนท้ายของบทความ ต่อจากนั้น ในบทความ "ข้อเสนอของฮัจญีสุหลงและท่านปรีดี พนมยงค์ ต่อแบบการปกครองพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" ตอนที่ 1 เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ในเว็บไซต์ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1303806822&grpid=no&catid=53 ของหนังสือพิมพ์มติชน โดยเป็นการวิเคราะห์เฉพาะในส่วน "คำร้องขอ 7 ข้อ" ไว้ว่า:
**********
หากวิเคราะห์แนวความคิดในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนมลายูมุสลิมภาคใต้กับรัฐไทยตามคำร้องขอข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่าฝ่ายคนมลายูมุสลิมให้ความสำคัญไปที่ปัญหาการปกครองเป็นอันดับแรกและเป็นข้อต่อที่สำคัญยิ่งในการจัดการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่ตามมา คำขออันแรกที่ให้มีการเลือกตั้ง "ผู้ดำรงตำแหน่งอย่างสูง" โดยคนมลายูมุสลิมในชายแดนภาคใต้ และให้มีอำนาจในการศาสนาอิสลามและมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการใน 4 จังหวัดโดยสมบูรณ์ คำถามคืออำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งสูงนี้มีอำนาจในทางปกครองทางโลกวิสัยอื่นๆ ด้วยหรือไม่ ดูอย่างเผินๆ เหมือนกับจะไม่ได้มีบทบาทในระบบปกครองและการเมืองของรัฐบาลกลางในพื้นที่มลายูมุสลิม นอกจากเรื่องทางศาสนาอิสลามเท่านั้น ถ้าความประสงค์ในสมัยโน้นเป็นไปตามการสันนิษฐาน คำถามต่อมาก็คือแล้วผู้ดำรงตำแหน่งสูงนี้จะเอาอำนาจอะไรในการ "แต่งตั้งข้าราชการใน 4 จังหวัดโดยสมบูรณ์" หรือว่าข้าราชการที่กล่าวถึงนี้ล้วนแต่เป็นข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องทางศาสนาเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแยกงานราชการออกจากการปฏิบัติตามศาสนาอิสลาม ในเอกสารอีกชิ้นที่ นางบาร์บารา วิตทิ่งนั่ม โจนส์ อ้างว่าได้มาจากฮัจญีสุหลง และตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สเตรทไทม์ ฉบับวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) มีความว่า
"ให้มีการแต่งตั้งบุคคลผู้หนึ่งซึ่งมีอำนาจเต็มในการปกครองสี่จังหวัดของปตานี นราธิวาส ยะลาและสะตูล โดยเฉพาะให้มีอำนาจในการปลด ยับยั้งหรือแทนที่ข้าราชการรัฐบาลทั้งหมดได้ บุคคลผู้นี้ควรเป็นผู้ที่เกิดในท้องถิ่นในจังหวัดหนึ่งของสี่จังหวัดและได้รับการเลือกตั้งโดยประชาชนเอง"
ถ้าพิจารณาจากต้นฉบับอันหลังนี้ คำถามข้างต้นนี้ก็หมดไป เพราะระบุไว้ชัดเจนว่า "ผู้ดำรงตำแหน่งอย่างสูง" นี้ต้องมีอำนาจเต็มในการปกครองสี่จังหวัดชายแดนใต้ และมีอำนาจในการปลด ย้ายข้าราชการของรัฐบาลได้ทั้งหมด ดังนั้นในปัญหาแรกว่าด้วยการปกครอง หากยึดตามความเห็นของผู้นำมลายูมุสลิมสมัยโน้น ก็คือต้องการให้มีผู้แทนของคนมลายูมุสลิมและเกิดในดินแดนนี้ด้วย ไม่ใช่มุสลิมจากกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่เป็นต้น ให้ขึ้นมาเป็นผู้มีอำนาจสูงหรือถ้าเรียกตามศัพท์ปัจจุบันก็คือตำแหน่งผู้ว่าราชการ แต่ไม่ใช่ของจังหวัดเดียว หากให้เป็นผู้ปกครองเหนือสี่จังหวัดมลายูมุสลิมใต้หมดเลย แสดงว่าต้องปรับบรรดาสี่จังหวัดดังกล่าวให้เป็นเอกภาพอันเดียวกัน รูปแบบเก่าคือการจัดตั้งรวมกันเป็นมณฑล ซึ่งในขณะนั้นรัฐบาลหลวงธำรงฯ ได้วิจารณ์คำขอข้อนี้ว่าเป็นการกลับไปหาระบบเก่าคือมณฑลที่ได้เลิกไปแล้ว ในสภาพปัจจุบันคำขอดังกล่าวนี้อาจปรับปรุงใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ได้เปลี่ยนไปมากแล้ว เพื่อให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมต่อไป ประเด็นใจกลางคือการเลือกตั้งผู้นำอย่างสูงในพื้นที่มลายูมุสลิม โดยคนมลายูมุสลิม และต้องมาจากคนมลายูมุสลิมเองด้วย จะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด จะนำไปสู่จุดหมายอะไรในระบบการปกครองประชาธิปไตย

นโยบายอื่นๆ ทางเศรษฐกิจ การศึกษา ภาษา และการศาสนา ล้วนมุ่งไปสู่การให้คนมลายูมุสลิมในพื้นที่มีโอกาสและเป็นเจ้าของตนเองคือมีอำนาจอธิปไตยเหนือร่างกายและสังคมของพวกเขากันเอง แนวทางและอุดมการณ์ดังกล่าวนี้มีรากเหง้ามาจากขบวนการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมของบรรดาผู้ที่ตกเป็นอาณานิคมทั้งหลาย ด้านหนึ่งคือการสลัดจากแอกของอำนาจปกครองที่มาจากเจ้าอาณานิคม อีกด้านคือการปรากฏขึ้นของความเรียกร้องต้องการทางใจของคนที่เป็นอาณานิคม ซึ่งต่อมาก็คืออุดมการณ์ว่าด้วยสิทธิอัตวินิจฉัยและสิทธิมนุษยชน อันแสดงออกในนโยบายเรื่องการแยกศาลศาสนาอิสลามออกจากศาลไทย การใช้ภาษามลายูในการเรียนระดับประถม ส่วนภาษาราชการและการติดต่อราชการให้ใช้ทั้งภาษาไทยและมลายู และรายได้ เช่น จากการเก็บภาษีในพื้นที่ให้ใช้จ่ายในสี่จังหวัดภาคใต้เท่านั้น คือไม่ส่งไปให้ส่วนกลาง

ทั้งหมดนั้นเป็นความคิดเห็นและได้นำเสนอไปยังรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ในปี พ.ศ. 2490 ก่อนเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงคณะและกลุ่มผู้นำในรัฐบาลอย่างรุนแรง คำขอทั้ง 7 ข้อข้างต้นจึงไม่มีการอภิปรายและถกเถียงอย่างจริงจังว่าอะไรทำได้และทำไม่ได้ ทางเลือกอื่นมีอะไรบ้าง กล่าวโดยสรุปการแลกเปลี่ยนสานเสวนาระหว่างรัฐบาลสยามกับแกนนำขบวนการปัตตานีในปัญหาการเมืองที่อ่อนไหวและกระทบโครงสร้างของรัฐไทยอย่างสันติและสมานฉันท์ได้มลายสูญสิ้นไปอย่างไม่เหลือเยื่อใย นับจากวันนั้นถึงวันนี้
**********
ต่อจากนั้น ในเว็บไซต์เดียวกันของหนังสือพิมพ์มติชน ได้ลงบทความ "ข้อเสนอของฮัจญีสุหลงและท่านปรีดี พนมยงค์ ต่อแบบการปกครองพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" ตอนที่ 2 อันเป็นส่วนวิเคราะห์โดยตัวผู้เขียน ธรรมศาสตราภิชาน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ดังนี้
**********
วิเคราะห์ทัศนะของ ปรีดี พนมยงค์ และฮัจญีสุหลง

จากหลักฐานและการเคลื่อนไหวปฏิบัติงานต่างๆ ในทางการเมืองการปกครองของบุคคลทั้งสอง กล่าวได้ว่าทั้งฮัจญีสุหลงและปรีดี พนมยงค์ ต่างมีทรรศนะตรงกันในการยอมรับการดำรงอยู่ของรัฐชาติหรือประชาชาติ (national state, nation-state) เห็นด้วยในหลักความชอบธรรมของรัฐชาติ การรวมเอาคนหลายเชื้อชาติ ศาสนา และภาษาเข้ามาอยู่ด้วยกันเป็นองคาพยพเดียวกัน เพื่อไปบรรลุจุดหมายในการปกครองและสร้างความก้าวหน้าความสมบูรณ์พูนสุขของประชาชนทุกชนชาติในรัฐชาตินี้ ในหนังสือ "ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ไทย" (พ.ศ. 2549) ผมได้สรุปลักษณะสำคัญของการเคลื่อนไหวของฮัจญีสุหลงในบริบทของการสร้างรัฐชาติสยามนับแต่การปฏิวัติ พ.ศ. 2475 มาจนถึงปี พ.ศ. 2490 ไว้ดังนี้

"ประเด็นที่น่าสนใจในการก่อตัวและเติบใหญ่ของขบวนการมุสลิมหัวใหม่ในปัตตานี ไม่ใช่อยู่ที่การนำไปสู่การเรียกร้องทางการเมือง ที่สำคัญคือข้อเรียกร้อง 7 ประการ ซึ่งมีเนื้อหาใหญ่ที่การทำให้สี่จังหวัดมุสลิมภาคใต้มีการปกครองของตนเอง เพื่อทำให้หลักการปกครองอิสลามสามารถนำมาปฏิบัติได้อย่างแท้จริงเท่านั้น หากแต่จุดที่สำคัญไม่น้อยในด้านของพัฒนาการทางภูมิปัญญาของคนมลายูมุสลิมรุ่นใหม่ ได้แก่การเกิดแนวคิดและอุดมการณ์การเมืองสมัยใหม่ที่วางอยู่บนหลักการอิสลาม"
(ยังมีต่อ)

หากจะมองความเรียกร้องต้องการในการปกครองตนเองภายใต้อำนาจรัฐบาลกลาง หรือแม้กระทั่งการแบ่งแยกดินแดน จะเห็นว่าเมื่อพิจารณาจากจุดยืนของรัฐไทยกับทัศนะ "คับแคบ" ในบริบท "ประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แบ่งแยกไม่ได้" ดูเหมือนมีความคาบเกี่ยวกับปัญหาไอร์แลนด์เหนือที่เป็นแคทอลิกที่ต้องการแยกไอร์แลนด์เหนือออกจากสหราชอาณาจักรที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ เพื่อไปรวมกับประเทศไอร์แลนด์.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 22-28 มีนาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (83)

บทส่งท้าย "ดุซงญอ"
การแก้ไขที่ไม่เกิดขึ้น (4)

ปอเนาะัตตานี: ก่อนที่รัฐบาลสยามผนวกพื้นที่สุลต่านปัตตานี 1902 (พ.ศ. 2455) ปัตตานีได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคสำหรับการเรียนรู้อิสลามกับนักเรียนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปอเนาะ(Pondok) ปัตตานี ก่อนที่จะเดินทางไปยังตะวันออกกลางเพื่อการศึกษาอิสลามขั้นสูง (จาก http://malay--history.blogspot.com/2013/02/history-of-pondok-and-madrasah.html)

ต่อจากนั้น ในบทความ "ข้อเสนอของฮัจญีสุหลงและท่านปรีดี พนมยงค์ ต่อแบบการปกครองพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" โดย ธรรมศาสตราภิชาน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนที่ 1 เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ในเว็บไซต์ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1303806822&grpid=no&catid=53 ของหนังสือพิมพ์มติชน ยังเขียนถึง ทัศนะของฮัจญีสุหลง อันเป็นการสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ นำไปสู่การเจรจาและต่อรองกับผู้แทนรัฐบาลไทย จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า "คำร้องขอ 7 ข้อ" ซึ่งนับได้ว่าสำคัญมากต่อการเข้าใจปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไว้ดังนี้:
**********
กล่าวได้ว่าผู้นำของคนมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีใครที่ได้รับการยอมรับนับถืออย่างกว้างขวางเท่ากับฮัจญีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา (พ.ศ. 2438-97) หลังจากสำเร็จการศึกษาวิชาศาสนาอิสลามจากเมืองเมกกะ กลับมาเป็นผู้นำศาสนาหัวก้าวหน้าในปัตตานีกระทั่งเข้าร่วมเป็นผู้นำสำคัญของการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสิทธิมนุษยชนของคนมลายูมุสลิมในช่วงที่ประเทศสยามก็มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ภายหลังการปฏิวัติ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ในทางประวัติศาสตร์ ฮัจญีสุหลงจึงนับได้ว่าเป็นปัญญาชนก้าวหน้าร่วมสมัยกับบรรดาปัญญาชนของคณะราษฎรคนหนึ่ง แต่ทำการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยอยู่ในปัตตานีอันเป็นหัวเมืองภาคใต้สุด ฮัจญีสุหลงพบจุดจบก่อนกาลอันควรภายหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เริ่มด้วยการถูกจับกุมคุมขังในข้อหากบฏ หลังจากได้รับอิสรภาพก็ถูกสันติบาลสงขลาเรียกตัวไปสอบสวนแล้วหายสาบสูญไปนับตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2497 (เฉลิมเกียรติ, 2547)

ความคิดและทัศนะของฮัจญีสุหลงต่อปัญหาการต่อสู้ของคนมลายูมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถรวบรวมได้จากข้อเขียน คำเรียกร้องและการปราศรัยในสถานที่ต่างๆ โดยรวมแล้วเป็นความคิดเห็นร่วมกันของบรรดาแกนนำคนมลายูมุสลิมในสามจังหวัดต่อปัญหาของพวกเขาเองในขณะนั้น โดยที่ฮัจญีสุหลงทำหน้าที่เป็นผู้นำที่ติดต่อกับทางการสยามมากที่สุด เหตุหนึ่งเนื่องจากชื่อเสียงของฮัจญีสุหลงเป็นที่สนใจและติดตามของรัฐบาลไทยมาโดยตลอด หลักฐานที่เป็นเอกสารที่ให้ภาพของปัญหาและทางออกต่อปัญหามลายูมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้ดีที่สุดได้แก่เอกสารที่เรียกว่า "คำร้องขอ 7 ข้อ" (โดยทั่วไปเอกสารเรื่องนี้มักเรียกว่า "คำเรียกร้อง 7 ประการ" หรือ "ข้อเรียกร้อง 7 ข้อ" อันเป็นการนำเสนอจากมุมมองและความเรียกร้องต้องการของคนมลายูมุสลิม แต่ถ้าพิจารณาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และฐานะในการต่อรองของราษฎรเหล่านั้นกับทางการสยาม ก็จะเห็นได้ว่าการเจรจาและการเสนอความต้องการของราษฎรต่างๆ นั้น กระทำไปโดยการที่ฝ่ายราษฎรยังเป็นผู้ร้องขอ ไม่ใช่เป็นการเรียกร้องเอาอย่างเสมอหน้าเท่าเทียมกัน ซึ่งไม่ใช่สภาพที่เป็นจริงของโครงสร้างอำนาจในสังคมสยามสมัยนั้น ในที่นี้ผมจึงเปลี่ยนชื่อใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ซึ่งในเอกสารของฝ่ายรัฐบาลสยามก็ระบุว่า การเจรจาต่อรองครั้งนั้น เป็นการ "ร้องขอ" ของราษฎร)

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง กลุ่มมุสลิมในปะตานีมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในปัญหาความเดือดร้อนจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ นำไปสู่การเจรจาและต่อรองกับผู้แทนรัฐบาลไทย จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า "คำร้องขอ 7 ข้อ" เรื่องนี้สำคัญมากต่อการเข้าใจปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ "การแบ่งแยกดินแดน" เพราะมันจะกลายมาเป็นหลักฐานเอกในการกล่าวหาและทำให้ผู้นำมุสลิมกลายเป็น "ผู้ร้าย" ไปอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง ผู้นำการเมืองของคนปะตานีคนสำคัญที่ถูกจับกุมคือฮัจญีสุหลง

ปัจจุบันนี้ สิ่งที่เรียกว่า "คำร้องขอ 7 ข้อ" โดยฝ่ายมุสลิมภาคใต้ กลายเป็นเอกสารแสดงว่าพวกหัวรุนแรงมุสลิมต้องการ "แบ่งแยกดินแดน" ในทางประวัติศาสตร์นั้น การเกิดขึ้นของคำร้องขอดังกล่าวมาจากการเจรจาสองฝ่าย ระหว่างตัวแทนรัฐบาล (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ในขณะนั้น) กับคณะผู้นำมุสลิมที่ปัตตานี จนได้ข้อเสนอเบื้องต้น 7 ข้อดังกล่าว และส่งให้รัฐบาลพิจารณาว่าจะรับได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งที่คนรุ่นหลังไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยก็คือ การที่รัฐบาลในอดีตนั้นได้มีการติดต่อและเจรจากับผู้นำมุสลิมปัตตานีมาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ กระทั่งเกิดมีคำร้องขอ 7 ข้อขึ้นมา

สำนักงานคณะกรรมการอิสลามปัตตาน๊
เมษายน พระพุทธศักราช 2490

การประชุมในวันนี้พร้อมกับมติขอให้รัฐบาลพิจารณาให้เปนไปตามคำร้องขอดังต่อไปนี้ กล่าวคือ
  1. ขอให้มีการปกครองใน 4 จังหวัดปัตตานี สตูล ยะลา นราธิวาสโดยมีผู้ดำรงตำแหน่งอย่างสูง ให้มีอำนาจในการศาสนาอิสลามและมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการใน 4 จังหวัดโดยสมบูรณ์ และให้ออกโดยเหตุประการต่างๆ ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งสูงนี้ต้องเป็นมุสลิมใน 4 จังหวัดนี้ และเป็นผู้ที่ได้รับเลือกจากปวงชนมุสลิมภาคนี้ โดยจะให้มีกำหนดเวลาดำรงตำแหน่งตามทางราชการก็ได้
  2. ข้าราชการแต่ละแผนกใน 4 จังหวัดนี้ให้มีอิสลาม 80 เปอร์เซ็นต์ประกอบอยู่ด้วย
  3. การใช้หนังสือในราชการให้ใช้ภาษามลายูและให้ควบกับภาษาไทยด้วย เช่น แบบฟอร์ม หรือใบเสร็จต่างๆ จะต้องให้มีภาษามลายูใช้ด้วย
  4. การศึกษาโรงเรียนชั้นประถมให้มีการศึกษาภาษามลายูตลอดประถมบริบูรณ์
  5. ขอให้มีศาลรับพิจารณาตามกฎหมายอิสลามแยกออกจากศาลจังหวัดที่มีแล้ว มีโต๊ะกาลีพอสมควรและมีเสรีในการพิพากษาชี้ขาดความโดยจะฟังเสียงผู้ใดไม่ได้ นอกจากผิดหลักกฎหมาย
  6. ผลประโยชน์รายได้ต่างๆ จะต้องใช้จ่ายในภาค 4 จังหวัดนี้ โดยไม่แบ่งจ่ายให้แก่ที่อื่นเลย
  7. ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนี้มีเอกสิทธิ์ออกระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนาอิสลามโดยเห็นชอบผู้มีอำนาจสูง (ตามข้อ 1)
หะยีโมง เก็บอุรัย ผู้บันทึก
รองประธานคณะกรรมการอิสลาม
สำเนาถูกต้อง
   ลายเซ็นอ่านไม่ออก
**********
ประเด็นที่น่าสนใจ ที่จำเป็นสำหรับรัฐประชาธิปไตยหลังการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 ที่ "น่าจะ" และ "จำเป็นต้อง" สร้างให้เกิดขึ้นในพื้นที่ "ชนชาติส่วนน้อย" (ของประเทศ) หากเป็น "ชนชาติส่วนใหญ่" (ในภูมิภาค) นั้น ย่อมหนีไม่พ้นรูปแบบและเนื้อหาการเมืองการปกครองที่ครอบคลุมทั้ง "ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคมและวัฒนธรรม" ซึ่งหากพิจารณาจาก "คำเรียกร้อง 7 ประการ" แล้ว แม้ว่าจะยังมีระยะห่างพอสมควรกับ "สิทธิอัตวินิจฉัยทางประชาชาติ" หากสะท้อน "จุดยืน" อย่างมีนัยสำคัญที่ชี้ว่า "ผู้นำมุสลิม" มีความจริงใจต่อการอยู่ร่วมในฐานะ "เป็นหนึ่งเดียว" กับ "รัฐไทย" เพียงแต่ต้องการการยอมรับใน "ความต่าง" บนพื้นฐานหลักศาสนา ซึ่งเป็นความเชื่อและเป็นวัฒนธรรมที่สืบท้อนกันมาช้านานก่อนยุครัตนโกสินทร์ด้วยซ้ำไป ซึ่งทั้งนี้ย่อมต้อง "ไม่ละเมิดต่อหลักกฎหมาย".
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 15-21 มีนาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2563

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (82)

บทส่งท้าย "ดุซงญอ"
การแก้ไขที่ไม่เกิดขึ้น (3)

นายปรีดี พนมยงค์ ที่สองจากขวา (สมาชิกคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามรัฐธรรมนูญ 2489 ซึ่งสิ้นสุดลงหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2489) และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ที่สองจากซ้าย (ประธานคณะอภิรัฐมนตรีและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามรัฐธรรมนูญ 2490)

ในบทความ "ข้อเสนอของฮัจญีสุหลงและท่านปรีดี พนมยงค์ ต่อแบบการปกครองพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" โดย ธรรมศาสตราภิชาน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนที่ 1 เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ในเว็บไซต์ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1303806822&grpid=no&catid=53 ของหนังสือพิมพ์มติชน เขียนต่อไปถึงการเสนอวิธีการในการรักษาความเป็นชาติที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ไว้ดังนี้:
**********
ดังนั้นเพื่อรักษาความเป็นเอกภาพของชาติไว้ ท่านปรีดีเสนอว่าให้ศึกษาและพิจารณาวิธีการแก้ปัญหาของประเทศต่างๆ ดังนี้

1. วิธีการแบบของประเทศในยุโรปตะวันตก เช่น อังกฤษ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ ซึ่งยังมีพระราชาธิบดีในฐานะประมุขของชาติอยู่ แต่ปัญหาไม่ใช่ความผิดของประมุขเหล่านั้น ที่รักษาความเป็นเอกภาพของชาติไม่ได้ "แต่เป็นเพราะความรักปิตุภูมิท้องที่อย่างแรงกล้าของกลุ่มชนในท้องที่นั้นๆ เอง และที่สำคัญก็คือรัฐบาลและชนส่วนข้างมากในชาตินั้นๆ ไม่คำนึงให้เพียงพอถึงความรู้สึกรักปิตุภูมิท้องที่ของแต่ละกลุ่มชน ว่ามีมากมายเหนียวแน่นขนาดไหน ผลจึงบังเกิดขึ้นตามธรรมชาติแห่งการรักปิตุภูมิท้องที่"

2. วิธีเผด็จการแบบนาซี หรือฟาสซิสต์หรือมิลิแทริสต์ ซึ่งเป็นไปได้ชั่วคราว เช่น ฮิตเลอร์ใช้กำลังรวมคนออสเตรีย ที่เป็นเชื้อชาติเยอรมันเข้ากับอาณาจักรเยอรมันครั้งที่ 3 ก็ไม่อาจทำให้คนออสเตรียหมดความรักปิตุภูมิท้องที่ของตนไปได้ จึงดิ้นรนตลอดมาเพื่อตั้งเป็นชาติเอกเทศจากเยอรมัน มุสโสลินีใช้วิธีบังคับให้ชนในดินแดนที่โอนมาเป็นของอิตาลีภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อาทิ ส่วนหนึ่งของแคว้นตีโรลซึ่งพลเมืองเป็นเชื้อชาติเยอรมันนั้นต้องเรียนหนังสืออิตาเลียนและต้องพูดภาษาอิตาเลียน และลัทธิทหารญี่ปุ่นในภาคอีสานของจีน (แมนจูเรีย) เป็นต้น

3. วิธีการสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งพลเมืองประกอบด้วยชนชาติพูดภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาเลียน โดยแยกออกเป็นแขวงๆ แต่ละแขวงมีสิทธิปกครองตนเอง ใช้ภาษาของตนเองแล้วรวมกันเป็นสมาพันธรัฐ มีรัฐบาลกลางเดียวกัน ก็ไม่ปรากฏว่ามีชนชาติใดในสวิตเซอร์แลนด์ดิ้นรนปลีกคนออกมาตั้งเป็นชาติเอกเทศต่างหาก

4. วิธีการแบบประชาธิปไตย ตามหลักที่ประธานาธิบดีลิงคอล์นให้ไว้คือการปกครองโดย "รัฐบาลของราษฎร โดยราษฎร เพื่อราษฎร" ถ้าทำตามนี้ได้จริง เอกภาพของชาติก็เป็น "เอกภาพของราษฎร โดยราษฎร เพื่อราษฎร" เป็นความเต็มใจของราษฎรเอง ที่รักษาเอกภาพของราษฎรจึงเป็นการรักษาเอกภาพของชาติให้มั่นคงได้ "วิธีประชาธิปไตยดังกล่าวนี้เป็นการนำไปสู่รากฐานแห่งจิตสำนึกของมนุษย์ ที่จะให้มีความรู้สึกในความต้องการเอกภาพของชาติ แม้จะตั้งต้นจากโครงร่างเบื้องบนของสังคมก่อนคือมีระบบการเมืองดังกล่าวนั้น แล้วรัฐบาลแห่งระบบนั้นก็ดำเนินแก้ไขสมุฏฐานของสังคมคือสภาพเศรษฐกิจให้ราษฎรถ้วนหน้า มีความกินดีอยู่ดีทั่วกัน ราษฎรก็ย่อมเห็นคุณประโยชน์ที่ตนได้รับในการรักษาเอกภาพกับชนชาติต่างๆ ที่รวมกันเข้าเป็นชาติอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น"
**********
แม้ว่าการเสนอแนวคิดดังกล่าวจะผ่านล่วงมาเป็นเวลาประมาณ 60 ปีแล้ว แต่โดยข้อเท็จจริงของสถานการณ์โลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ที่กระแสการต่อสู้/เรียกร้องเอกราชของประชาชติที่เคยตกเป็นเมืองขึ้น/ดินแดนอาณานิคมของลัทธิล่าอาณานิคมเก่า และที่สืบเนื่องจนถึงยุคสงครามเย็นที่แผ่ขยายอิทธิพลลัทธิจักรวรรดินิยมสมัยใหม่ระหว่างค่ายคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียตในเวลานั้นจนถึงปลายศตวรรษที่ 20 กับค่ายทุนนิยมที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ผู้ประกาศความเป็นพี่เบิ้มใหญ่ของโลกเสรี มีความแหลมคนยิ่งขึ้นทุกที

ที่สำคัญ ประเทศเจ้าอาณานิคมเก่าเหล่านั้น ใช้นโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง เพื่อให้ประชาชาติ (ที่ดูเหมือนจะมี) เอกราชใหม่ ไม่สามารถสร้างเอกภาพภายในชาติและพัฒนาไปสู่ความเข้มแข็งทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคมและวัฒนธรรมเช่นที่เห็นในหลายภูมิภาคของโลก โดยสามารถเห็นเห็นในหมู่ประเทศเพื่อนบ้านเอเชียของเราเอง เช่นทางตะวันออกของไทยในกลุ่มประเทศอินโดจีน คือ ลาว กัมพูชา และเวียดนาม (ซึ่งแบ่งแยกแผ่นดินเป็นภาคเหนือและภาคใต้ที่เส้นขนานที่ 17) หรือทางตะวันตกคือพม่าและภูมิภาคชมพูทวีปที่ประกอบด้วยอินเดียและการเกิดประเทศปากีสถาน (ที่แม้จะถูกคั่นกลางจนเป็นปากีสถานตะวันตก และปากีสถานตะวันออกหรือในปัจจุบันคือสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ) หรือภาคใต้ของแหลมสุวรรณภูมิคือมลายู (และการเกิดสาธารณรัฐสิงคโปร์) ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

ผลก็คือ การเมืองภายในประเทศไม่สงบ มีการก่อการร้าย และสงครามระหว่างชนชาติเดียวกัน จนแม้ในปัจจุบันยังหลงเหลือสถานการณ์ดังกล่าวให้เห็นเป็นประจักษ์อยู่ในบางประเทศ

ซึ่งเมื่อพิจารณาแนวทางที่นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน รัฐบุรุษอาวุโส และอดีตนายกรัฐมนตรีจะพบว่ามีความสอดคล้องกับหลัก "สิทธิอัตวินิจฉัยประชาชาติ" ที่ให้ "ชนชาติส่วนน้อย" ในขอบเขตทั่วประเทศ ที่เป็น "ชนชาติส่วนใหญ่" ในภูมิภาค สามารถกำหนดชะตากรรมของตนโดยสอดคล้องกับชาติพันธุ์ วัฒนธรรม คติความเชื่อและศาสนา โดยยังคงพื้นฐานในความเป็นชาติใหญ่ ภายใต้กฎหมายแม่บทหรือรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน อันเป็นวิธีที่น่าจะดีที่สุด ใช้ได้ผลและสอดคล้องที่สุด ต่อการรักษาทั้งความเป็นเอกภาพแห่งชาติบนความแตกต่างทางประชาชาติ และความสามารถในการอยู่ร่วมกันเพื่อพัฒนาประชาชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ดังประเทศแม่แบบในลักษณะที่ 1, 3 และ 4 ตามแนวคิดของนายปรีดีดังกล่าวข้างต้น

ในตอนท้ายเพื่อเป็นการสรุปแนวคิดและการเสนอทางออกของปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เขียนว่า:
**********
ท่านปรีดีได้วิจารณ์แนวทางการรักษาเอกภาพของชาติที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ว่าเป็นวิธีการแบบจิตนิยม คือ อาศัยทางจิตที่ปราศจากรากฐานเศรษฐกิจและการเมืองประชาธิปไตยของราษฎรก็เท่ากับอาศัยการลอยไปลอยมาในอากาศ ซึ่งอาจหล่นลงหรือไปสู่อวกาศนอกโลกพิภพ มนุษย์อยู่ได้ด้วยการมีปัจจัยดำรงชีพและมีระบบการเมืองประชาธิปไตย ที่ให้สิทธิมนุษยชน ผู้ที่อาศัยสภาพทางจิตโดยไม่กังวลถึงสภาพเศรษฐกิจ ก็เพราะเขาเองมีความสมบูรณ์หรือมีพอกินพอใช้ในทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว แต่คนส่วนมากยังขาดปัจจัยดำรงชีพอยู่ ย่อมมีจิตในการค้นคว้าหาชีวปัจจัย ในทางที่ชอบพร้อมด้วยสิทธิมนุษยชน พวกเขาอาจถือสภาพทางจิตอย่างเดียวตามการโฆษณาไปได้เพียงชั่วคราว แต่เมื่อรอคอยผลแห่งวิธีนั้นชั่วกาละหนึ่งแล้วไม่เห็นผลว่าได้ช่วยความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจ และสิทธิมนุษยชนของเขาแล้ว เขาก็อาจไปถือสภาพทางจิตชนิดอื่นที่เขาเห็นว่าอาจช่วยความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชนของเขาที่ดีกว่าก็เป็นได้ (ปรีดี พนมยงค์, 2526, หน้า 130)
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 8-14 มีนาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2563

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (81)

บทส่งท้าย "ดุซงญอ"
การแก้ไขที่ไม่เกิดขึ้น (2)

นายปรีดี พนมยงค์ ชุดสูทสีขาวถือไม้เท้าหัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ยืนกลางคือพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรสายทหารบกอาวโส

บทความชิ้นต่อมา (จากเดิม 2 ตอนจบ) "ข้อเสนอของฮัจญีสุหลงและท่านปรีดี พนมยงค์ ต่อแบบการปกครองพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" โดย ธรรมศาสตราภิชาน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนที่ 1 เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ในเว็บไซต์ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1303806822&grpid=no&catid=53 ของหนังสือพิมพ์มติชน เป็นการนำเสนอแนวคิด 2 ด้านต่อปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ด้านแรกคือภาครัฐ และด้านที่สองคือภาคท้องถิ่นที่เป็นตัวแทนของประชากรหลักซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม ทั้งนี้ขออนุญาตคัดบางส่วนมานำเสนอซ้ำ ดังนี้:

ทัศนะของ ปรีดี พนมยงค์ ต่อปัญหาชนชาติกลุ่มน้อย

ท่านปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้นำของคณะราษฎร นายกรัฐมนตรี ผู้ประศาสน์การของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และรัฐบุรุษอาวุโส ได้เขียนบทความแสดงความเห็นเกี่ยวกับเอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย ระหว่างลี้ภัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. 2515 บทความ "ข้อสังเกตเกี่ยวกับเอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย" เสนอข้อสังเกตและความเห็นเกี่ยวกับปัญหาสำคัญยิ่งอันหนึ่งในเรื่องของการสร้างรัฐชาติและรักษารัฐชาตินี้ให้ดำรงและก้าวรุดหน้าไปอย่างสงบสันติ กล่าวอย่างเจาะจงบทความดังกล่าวได้เสนอทางออกให้แก่ปัญหาที่เรียกว่าการต่อสู้ของชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลของชนกลุ่มใหญ่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมทั้งไทยด้วย

มูลเหตุของการเกิดการต่อสู้เพื่อแยกตนเป็นเอกราชในบรรดารัฐและชาติต่างๆ สรุปได้ว่ามาจากปัญหาใจกลางเดียวคือ เพราะรัฐบาลกลางในประเทศต่างๆ นั้นไม่ปฏิบัติให้เป็นที่พอใจของชาวเมืองต่างๆ คือเกิดความไม่เป็นธรรม ความอยุติธรรมในการปกครองและการปฏิบัติต่อชนชาติต่างๆ

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ของชนชาติกลุ่มน้อยต่างๆ นั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นในทุกกลุ่มชนชาติ เงื่อนไขของการเกิดการต่อสู้จึงไม่ใช่เพียงแต่มีความไม่พอใจในหมู่ชนชาติส่วนน้อยเท่านั้น หากแต่ที่สำคัญคือการเกิดมีสิ่งที่ท่านปรีดีเรียกว่า "ความรักปิตุภูมิท้องที่" (Local Patriotism) ความสำนึกในท้องที่นั้นเกิดขึ้นมานับแต่ยุคสังคมศักดินาหรือสังคมส่วย (ฟิวดัลในยุโรป) ซึ่งหัวหน้าสังคมได้รับยกย่องเป็นเจ้าใหญ่มีอิทธิพลเหนือชาวบ้านและข้าราชการขุนนางทั้งปวง รัฐศักดินาต้องการขยายพระราชอำนาจ วิธีการที่ใช้กันคือการรวมชาติเล็กน้อยเข้ากับชาติที่มีกำลังมากกว่า วิธีการแรกคือด้วยการรบพุ่งโจมตี วิธีการที่ 2 คือการคุกคามให้เกรงขามยอมมาเป็นเมืองขึ้นส่งส่วยหรือบรรณาการเป็นคราวๆ "วิธีรวมชาติต่างๆ เข้าเป็นชาติเดียวกันเช่นวิธีระบบศักดินานั้นราษฎรของชาติที่ถูกรวมเข้ากับชาติใหญ่ไม่มีเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วย คือสุดแท้แต่หัวหน้าของตน ดังนั้นในความรู้สึกของราษฎรจึงยังมีการรักปิตุภูมิท้องที่อยู่มากน้อยบ้างตามความช้านานแห่งการรวมเป็นเอกภาพเดียวกันกับชาติที่มีอำนาจเหนือ" (ปรีดี พนมยงค์, 2526, 127)

ประการต่อมาเมื่อกลุ่มชนต่างๆ ภายในชาติหนึ่งๆ ยังคงมีจิตสำนึกรักปิตุภูมิท้องที่ของแต่ละกลุ่มชนอยู่ บางกลุ่มอาจเบาบางเพราะกาลเวลาล่วงเลยมาหลายสิบหลายร้อยปี บางกลุ่มอาจเหนียวแน่นถ้าการรวมกับชาติอื่นเพียงไม่กี่ชั่วคน "และเหนียวแน่นยิ่งขึ้นถ้าท้องที่นั้นๆ มีภาษาพูดของตนโดยเฉพาะ ต่างกับภาษาของชนชาติส่วนข้างมาก และถ้ามีทั้งภาษาและศาสนาที่แตกต่างกับชนส่วนข้างมากของชาติ ก็ยิ่งเหนียวแน่นมาก" (อ้างแล้ว)
**********
จะเห็นว่าด้วยจุดยืนและทัศนะประชาธิปไตยที่ไปพ้นอคติทางเชื้อชาติและอคติชนชาติส่วนใหญ่ปกครองชนชาติส่วนน้อยอย่างบีบคั้น ทำให้กระบวนการคิดพิจาณาและแนวทางการแก้ปัญหาชนชาติส่วนน้อย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะพิเศษที่ "ชนชาติส่วนใหญ่ในท้องถิ่น ที่เป็นชนชาติส่วนน้อยในขอบเขตรัฐประชาชาติ" สามารถดำเนินชีวิตภายใต้กฎหมายมาตรฐานเดียวและมีลักษณะเฉพาะตามหลักศาสนา โดยที่ไม่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ให้หลักประกันในสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง

จากนั้นผู้เขียน คือ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ยังได้ยกกรณีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลสยาม (ในสมัยสมบูรณาญาสิทิราชย์) กับชนชาติอื่นๆ ในราชอาณาจักร ทั้งในภาคใต้ ภาคเหนือและภาคอิสาน จนเกิดการแข็งข้อเป็นกบฏ อาทิ กรณี "ราชาแห่งปัตตานี" ในภาคใต้, กรณี "ผีบุญบ้า" ในภาคอีสาน และกรณี "เงี้ยว" ในภาคเหนือ:
**********
ท่านปรีดีได้ยกกรณีของไทยมาอธิบายเพิ่มเติมด้วย เช่นเมื่อประมาณไม่กี่เดือนมานี้ทางราชการแถลงใจความว่า มีคนไทยเชื้อชาติมลายูเป็นลูกชายของตวนกูโมหะยิดดิน ที่สืบสายจากราชาแห่งปัตตานีได้เป็นหัวหน้าทำการต่อสู้เพื่อแยกดินแดนส่วนหนึ่งทางปักษ์ใต้ ตั้งขึ้นเป็นรัฐอิสระ หรือรวมเป็นสหพันธรัฐกับรัฐต่างๆ แห่งมลายาตะวันออก ถ้าเราถอยหลังไปพิจารณาข่าวภายหลังรัฐประหารในประเทศไทย ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) ก็เคยมีคดีที่รัฐบาลสมัยนั้นได้จับกุมอดีตผู้แทนราษฎรและชาวอีสานหลายคนมาฟ้องศาลฐานกบฏแยกดินแดน ศาลพิจารณาแล้วไม่มีมูลความจริง จึงตัดสินยกฟ้อง แต่ถ้าเราถอยหลังไปอ่านประวัติศาสตร์รัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นเวลา 150 ปีมานี้ ก็จะทราบว่าเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ซึ่งสืบสายมาจากพระราชาธิบดีแห่งกรุงศรีสตนาคณหุตได้ทำการยึดดินแดนอีสาน เพื่อเอาไปรวมกับดินแดนลาวฟื้นอาณาจักรศรีสตนาคณหุตขึ้นมาอีก

ในรัชกาลที่ 5 ก็มีกรณี "ผีบุญบ้า" ในภาคอีสาน กรณี "เงี้ยวในภาคพายัพ" กรณี "ราชาแห่งปัตตานี" ชื่ออับดุลกาเด ซึ่งถูกย้ายไปกักตัวอยู่ที่พิษณุโลก แต่เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้กลับมาปัตตานีแล้วก็คิดแยกดินแดนอีก ในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงส่งทหารรักษาวัง จากนครศรีธรรมราชไปปราบ แต่อับดุลกาเดหนีไปลี้ภัยในกลันตัน แล้วต่อมาได้ตาย ณ ที่นั้น ส่วนทายาทชื่อตวนกูโมหะยิดดินนั้น ภายหลังอภิวัฒน์ พ.ศ. 2475 ได้เข้ามากรุงเทพฯ แสดงความจำนงขอรวมอยู่ในสยามต่อไป เพราะเห็นว่าสยามมีระบบรัฐธรรมนูญเป็นที่พอใจแล้ว แต่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เล็ดลอดเดินทางไปถึงอินเดียของอังกฤษ เสรีไทยคนหนึ่งได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ที่กรุงเดลีมีชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่งเลี้ยงเป็นเกียรติแก่ตวนกูผู้นี้ และดื่มให้พรว่า "Long Live the King of Pattani" ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสยามได้กลับมีประชาธิปไตยสมบูรณ์อีก ตวนกูผู้นี้ก็แสดงภักดีต่อสยาม แต่ภายหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2490 เกิดกรณีที่ครูศาสนาอิสลามปัตตานีบางคนถูกตำรวจจับแล้วหายตัวไป โดยมีผู้รู้เห็นว่าถูกเอาตัวไปถ่วงทะเลตาย ตวนกูผู้นี้เลยไม่ยอมกลับมาไทยอีกโดยตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ในกลันตัน (เพิ่งอ้าง, 128)
**********
ประเด็นที่น่าสนใจที่ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นในการศึกษาลงไปในรายละเอียด น่าจะมีปมเงื่อนอยู่ในบริบทการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยโดยผ่านการอภิวัฒน์ 2475 คือเชื้อสายผู้ครองนครปาตานี มีท่าทีเชิงบวกต่อการระบอบการปกครองใหม่ที่มีรัฐธรรมนูญ ถึงกับยินดีจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักร แม้ว่าคงเป็นเรื่องยากที่จะมีความเห็นหรือด่วนสรุปว่าปัญหาจังหวัดชายแดนใต้จะหมดไป แต่อย่างไรก็ตาม การปกครองในระบบเผด็จการทหารและรัฐบาลจากการรัฐประหาร กับการฉีกรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ก็ไม่เพียงกดขี่ชนชาติส่วนน้อยที่นับถือศาสนาอิสลามในภาคใต้ แต่ยังผลักดันราษฎรจำนวนมากให้เข้าร่วมการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์สยามหรือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในเวลาต่อมา.
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 1-7 มีนาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8