Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2554

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (1)

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา:
วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย?


ก่อนปลายเดือนกรกฎาคม 2553 ภายหลังการเคลื่อนไหวของ "คนเสื้อแดง" ภายใต้การนำของ "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)" ถูกปฏิบัติการ "การสลายการชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ 10 เมษายน 2553" และ "การสลายการชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ พฤษภาคม 19 พฤษภาคม 2553" มีคำถามมากมายในสังคมไทย เกี่ยวกับวาทกรรม "การต่อสู้แนวทางสันติ อหิงสา" ผู้เขียนได้นำเสนอกระทู้ที่มีลักษณะบทความบนโลกไซเบอร์ ซึ่งเดิมทีวางโครงไว้ให้เป็นบทความ 5 ตอนจบ แต่มีเหตุความจำเป็นให้บทความชุดนี้ ค้างอยู่เพียง 3 ตอน

ถึงกระนั้น แม้เมื่อความคลี่คลายของสถานการณ์จนรัฐบาล ที่นำโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ การประกาศยกเลิก "พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน" ในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร คำถามเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว "สันติ อหิงสา" รวมตลอดถึงบริบทที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ก็ยังคงไม่มีบทสรุปสำหรับสังคมไทย ในท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งมีที่มาจาก "การรัฐประหาร" ยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 จากรัฐบาลเลือกตั้งเสียงข้างมากที่นำโดย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ที่นับวันขยายตัวจนดูเหมือนการหันหน้ามาพูดคุยกันกลายเป็นเรื่องไกลตัวยิ่งขึ้นทุกที

เมื่อเป็นดังนี้ ผู้เขียนจึงเห็นความจำเป็นที่จะนำเสนอประเด็นดังกล่าวต่อสาธารณะนอกเหนือจากโลกไซเบอร์ โดยจะเขียนให้จบสมบูรณ์ตามเค้าโครงที่ได้วางไว้ในเบื้องต้น และรวมทั้งบนพื้นฐานการพัฒนาของสถานการณ์ในระยะใกล้

แนวทางจำลองและรูปแบบพฤษภาทมิฬ 2535

ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2535 การประกาศและเริ่มอดอาหารของ ร.ต.ฉลาด วรฉัตร และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง (หัวหน้าพรรคพลังธรรมในขณะนั้น) รวมทั้งการออกโรงสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่มีนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นเลขาธิการ ตามมาด้วยการสนับสนุนของพรรคฝ่ายค้านประกอบด้วยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเอกภาพ พรรคความหวังใหม่ และพรรคพลังธรรม โดยมีข้อเรียกร้องให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง และเสนอว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง นำไปสู่การชุมนุมที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน ยืดเยื้อมาจนถึงเดือนพฤษภาคม

ในวันที่ 14 พฤษภาคมแกนนำในการชุมนุมประท้วงจัดให้มีการประชุมร่วมที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ เนื่องจากพบว่าการชุมนุมในช่วงแรก (4-11 พฤษภาคม) นั้นแกนนำมีความแตกต่างทางแนวคิดและไม่สามารถหาข้อยุติได้ ด้วยขาดองค์กรนำ ที่ประชุมจึงลงมติจัดตั้งสมาพันธ์ประชาธิปไตยขึ้น ประกอบด้วยกรรมการเจ็ดคน คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายปริญญา เทวนฤมิตรกุล, น.พ.เหวง โตจิราการ, น.พ.สันต์ หัตถีรัตน์, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ และ ร.ต.ฉลาด วรฉัตร (ภายหลังได้ถอนตัว และให้ น.ส.จิตราวดี วรฉัตร ทำหน้าที่แทน) นอกจากนี้ยังได้ออกแถลงการณ์ ใบปลิวชักชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุมในเย็นวันที่ 17 ด้วย กระทั่งคืนวันที่ 17 พฤษภาคม แกนนำจึงมีมติให้เคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมจากสนามหลวงมุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาล

ในช่วงของการเคลื่อนไหวที่ประกอบไปด้วยการอดอาหรและการใช้วิธี "ไม่พูด" ประสานกับการเสนอภาพพล.ต.จำลอง ในฐานะสมาชิกสำนักสันติอโศกผู้ บริโภคอาหารมังสวิรัติ และมีชีวิตอย่างสมถะ โดยมีการนำไปเปรียบเทียบกับ มหาตมะ คานธี ผู้นำทางจิตวิญญาณคนสำคัญที่นำอินเดียไปสู่การได้รับเอกราชจากรัฐบาลสหราช อาณาจักร โดยแนวทาง "สัตยาเคราะห์" (Satyagraha) หรือ การดื้อแพ่ง หรือ การขัดขืนอย่างสงบ (civil disobedience)

มีข้อที่น่าสังเกตอย่างยิ่งประการหนึ่ง สำหรับการนำของพล.ต.จำลอง และกลุ่มการเมืองสายสำนักสันติอโศก (สายพรรคพลังธรรม) ในการประกาศจุดยืนขับเคลื่อนการเมืองไปสู่ประชาธิปไตยและสร้างความถูกต้องชอบธรรมขึ้นโดยเน้นเฉพาะประเด็น "นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง" ด้วยการประกาศ "อหิงสา" นั้น เป็นการบิดเบือนแนวทางของมหาตมะ คานธีอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ในการนำการเรียกร้องเอกราชของอินเดียจากจักรวรรดิอังกฤษ คานธีใช้การอดอาหารเพื่อยุติความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นกองทหารจักรวรรดิอังกฤษกระทำต่อชาวอินเดีย (รวมทั้งปากีสถาน ซึ่งเวลานั้นยังไม่แยกออกมาตั้งเป็นประเทศที่ใช้หลักศาสนาอิสลามปกครองประเทศ) หรือความรุนแรงที่ชาวฮินดูกระทำต่อชาวมุสลิม หรือชาวมุสลิมกระทำต่อชาวฮินดู

หากการอดอาหารและการไม่เอ่ยปากพูดของ พล.ต.จำลองนำไปสู่การชักนำมวลชนในขบวนประชาธิปไตย สร้างข้อเรียกร้องโดยใช้ท่าทีก้าวร้าวและยั่วยุ จนแม้เมื่อเกิดการสลายการชุมนุมโดยกำลังทหารของฝ่ายรัฐบาล ก็มีลักษณะการก่อจลาจลโดยกลุ่มบุคคล แทนที่จะเป็นการลุกขึ้นสู้ของประชาชน

นั่นคือปฐมบทแห่งการประกาศ "สันติ อหิงสา" ที่เป็นเพียงวาทกรรมว่างเปล่า ในการขับเคลื่อนขบวนประชาธิปไตยก่อนยุคปฏิรูปการเมืองของไทย หลังการล่มสลายของการประกาศสู้ด้วยกำลังอาวุธ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศ ไทย ภายใต้นโยบาย 66/2523.


จาก "ท้าก...สิน...ออกไป" ถึง รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

จากกลางปี 2547 เกิดการรวมตัวของ "กลุ่มประชาชนเพื่อชาติและราชบัลลังก์" โดยมีแกนนำประกอบด้วย นาวา อากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ, นายเอกยุทธ อัญชันบุตร, นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์, ดร.อัมรินทร์ คอมันตร์, พลโทเจริญศักดิ์ เที่ยงธรรม, นายสมาน ศรีงาม, นายประพันธ์ คูณมี และ นายเพียร ยงหนู จัดการชุมนุมปราศรัยที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2547 และมีการจัดรายการวิทยุ ทางคลื่นวิทยุชุมชน FM 92.25 MHz ของนายประชัย และเว็บไซต์ไทยอินไซเดอร์ของนายเอกยุทธ

และนับจากเดือนเมษายนเป็นต้นไป ความเข้มข้นของระดับการปลุกระดมการ "กำจัด" นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทุกช่องทางสื่อสารมวลชน เริ่มจากสื่อในเครือ "ผู้จัดการ" ซึ่งย่อมหมายรวมทั้ง ASTV และช่วงต้นของการขับเคลื่อนผ่านรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์" ดำเนินรายการโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล และนางสาวสโรชา พรอุดมศักดิ์ เริ่มออกอากาศเมื่อปี 2546 ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี โดยในช่วงแรกเป็นรายการที่สนับสนุนรัฐบาลกละตัวนายกรัฐมนตรีอย่างออกหน้าออกตา ต่อมากลางเดือนกันยายน 2548 ได้ถูกระงับจากทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ด้วยเหตุผลที่ว่า ผู้ดำเนินรายการได้วิจารณ์รัฐบาลและพาดพิงสถาบันเบื้องสูง โดยผู้ผลิตได้เปลี่ยนชื่อรายการเป็น "เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร" ตามมาด้วย "เมืองไทยรายสัปดาห์ คอนเสิร์ตการเมือง" ซึ่งเป็นการจัดรายการนอกสถานที่ มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV NEWS1 และผ่านทางอินเทอร์เน็ต.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 15-21 มกราคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (22)

การไล่ล่ากวาดล้างกบฏ
และคดีสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรี

นับแต่กบฏบวรเดชเป็นต้นมา การปราบกบฏแทบทุกครั้งไม่มีการเสียเลือดเนื้อของทั้ง 2 ฝ่าย คือทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายผู้ก่อการแต่อย่างใด เนื่องจากฝ่ายกบฏยอมจำนนแต่โดยดี สำหรับการรบพุ่งกันในกรณีกบฏบวรเดชนั้น เกิดขึ้นที่ชานพระนครและในต่างจังหวัด เกือบจะเรียกได้ว่าราษฎรไม่รู้ไม่เห็นสภาพการทำสงครามกลางเมืองย่อยๆเข้าใส่กัน แต่กบฏวังหลวงการต่อสู้เกิดในใจกลางเมืองหลวง มีการนองเลือดกันอย่างแท้จริง ราษฎรทั่วไปในเขตพระนครโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สู้รบต้องอกสั่นขวัญแขวนและสับสนกับเหตุการณ์นี้

เหนือสิ่งอื่นใด รัฐบาลจอมพล ป. มีจุดมุ่งหมายแน่วแน่ที่จะโค่นอำนาจและอิทธิพลทางความคิดการเมืองนายปรีดีด้วยการกวาดล้างอดีตพลพรรคขบวนการเสรีไทยที่ร่วมปฏิบัติการกู้ชาติซึ่งมี ความเคารพศรัทธาในตัวนายปรีดี อย่างชนิดถอนรากถอนโคน เพียงแค่สงสัยใครเป็นพวกนายปรีดี บุคคลนั้นก็ชะตาขาดเสียแล้ว

หลังจากฝ่ายกบฏยอมประกาศยอมรับความพ่ายแพ้และแยกย้ายกันหลบหนีตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2492 ฝ่ายรัฐบาลยังจัดกำลังปฏิบัติการล่าสังหารอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของฆาตกรรมทางการเมืองในช่วงปี 2490 เมื่อทหารของฝ่ายรัฐบาลบุกเข้ายึดกรมโฆษณาการคืนในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 28 กุมภาพันธ์

ต่อมาไม่นาน พ.ต.โผน อินทรทัต ก็ถูกตำรวจจับกุมและยิงเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวไปสอบสวนที่วังปารุสกวัน โดยตำรวจรายงานว่า พบศพที่อำเภอดุสิต และนำศพส่งโรงพยาบาล แจ้งว่าเป็นชายไทยไม่ทราบชื่อ ที่ท้ายทอยและหน้าผากมีรอยถูกยิง ขณะนั้นหม่อมหลวงกันยกา [นามสกุลเดิม สุทัศน์ ธิดาของ พล.ท. พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว. สิทธิ์ สุทัศน์) อดีตแม่ทัพภาคที่ 1] ภรรยาของ พ.ต.โผน กำลังตั้งครรภ์บุตรชายคนสุดท้อง (พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต หรือ เสธไอซ์) ได้ประมาณ 2 เดือนเศษ โดยไม่มีการเปิดเผยหรือให้คำอธิบายที่โปร่งใสจากทางการต่อเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด

และถัดมาอีกวันหนึ่งในเวลาเช้าตรู่อีกเช่นกัน ขณะที่มีการเข้าตรวจค้นจับกุม พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ผู้บังคับการตำรวจสันติบาลภายในบ้านพัก ก็เกิดเสียงปืนดังหลายนัด ผู้เข้าจับกุมให้การว่า พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ขัดขืนและถูกยิงทอดร่างกลายเป็นศพ เหมือนหลายๆคดีที่ตำรวจมักกล่าวว่าผู้ต้องหาต่อสู้เจ้าหน้าที่พนักงาน สุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไป

1 มีนาคม หนังสือพิมพ์ทุกฉบับได้ลงพาดหัวแถลงการณ์ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าได้มีกลุ่มบุคคลก่อการหวังจะยึดอำนาจการปกครองกลับคืนหลังจากการรัฐประหาร 2490 โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ทำการยึดพระบรมมหาราชวังซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกตพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง อันเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง โดยเปิดเผยชื่อหัวหน้าขบวนการคือ นายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรี

แต่ที่สุดของเหตุการณ์สะท้านขวัญก็คือกรณีสังหารโหดอดีต 4 รัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วยอดีต ส.ส. พรรคสหชีพ 3 คน คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อดีต ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี อดีตรัฐมนตรี 6 สมัย, นายถวิล อุดล อดีต ส.ส.จังหวัดร้อยเอ็ด อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลนายทวี บุณยเกตุ และ นายจำลอง ดาวเรือง อดีต ส.ส.จังหวัดมหาสารคาม ถูกจับกุมตัวในเวลาไล่เลี่ยกันของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ส่วนอีกคนหนึ่งคือ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ อดีต ส.ส.จังหวัดนครนายก และเลขาธิการพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ถูกจับในวันที่ 1 มีนาคม ที่สนามบินดอนเมือง ร.ต.อ.ต่อศักดิ์ ยมนาค กับตำรวจสันติบาลอีกจำนวนหนึ่งได้รอรับถึงเชิงบันไดเครื่องบิน นำไปกองบัญชาการวังสวนกุหลาบ เนื่องจากตำรวจส่งโทรเลขลวงว่าการปฏิวัติสำเร็จแล้วให้รีบกลับมา เนื่องจาก ดร.ทองเปลวได้หลบหนีไปอยู่ที่สิงคโปร์หลังการรัฐประหาร 2490

ค่ำวันที่ 3 มีนาคม ตำรวจได้เคลื่อนย้ายผู้ต้องหาทั้งหมดไปไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน โดยอ้างเหตุความปลอดภัย ด้วยรถของตำรวจหลายเลขทะเบียน กท. 10371 โดยมี พ.ต.อ.หลวงพิชิตธุรการ เป็นผู้ควบคุม โดยรับดร.ทองเปลวที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน นายจำลองที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา นายถวิลที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง และนายทองอินทร์ที่สถานีตำรวจนครบาลสามเสน เมื่อวิ่งมาถึงหลักกิโลเมตรที่ 12 ถนนพหลโยธิน เวลาประมาณ 3.00 น. วันที่ 4 มีนาคม ใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตด้วยกระสุนไม่ต่ำกว่าคนละ 10 นัด ในสภาพสวมกุญแจมือ โดยได้ส่งศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลกลาง

ต่อมาตำรวจแถลงว่ากลุ่มโจรมลายูพร้อมอาวุธครบมือได้ดักซุ่มยิงเพื่อชิงตัวผู้ต้องหา และได้มีการปะทะกับตำรวจในที่เกิดเหตุ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำรวจชุดควบคุมตัวทั้งหมดราว 20 นาย เช่น พล.ต.จ.ผาด ตุงคะสมิต, พล.ต.จ.ทม จิตรวิมล, ร.ต.อ.จำรัส ลิ้มละมัย, ร.ต.ท. ธนู พุกใจดี และ ส.ต.อ.แนบ นิ่มรัตน์ ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเลย

ก่อนหน้านี้ ในระหว่างที่ถูกควบคุมตัว บรรดาญาติของผู้ต้องหาไม่ได้เฉลียวใจว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านั้นทั้ง 4 คนก็เดินเข้าออกเรือนจำด้วยข้อหาการเมืองเป็นประจำอยู่แล้ว หากได้รับการปล่อยตัวออกมาทุกครั้ง ทว่าการถูกจับกุมในครั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุมัติให้ประกันตัว ซึ่งกว่าญาติของผู้ต้องหากว่าจะทราบเรื่องก็ต้องไปตามหาตามที่ต่างๆ จนท้ายที่สุดได้รับคำบอกเล่าที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล วังปารุสกวัน ให้ไปดูศพที่โรงพยาบาลกลาง

ศพทั้งหมดตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดมกุฏกษัตริยาราม ในงานสวดพระอภิธรรมมีตำรวจสายสืบและสันติบาลมาติดตามเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของผู้ที่เข้าร่วมงานทั้งกลางวันและกลางคืน

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่มีเงื่อนงำอันนำไปสู่คำถามมากมาย ทำให้สังคมไม่เชื่อว่าพฤติกรรมโหดเหี้ยมไร้มนุษยธรรมนี้เป็นฝีมือของโจรมลายู แต่เชื่อว่าเป็นการกระทำของตำรวจเอง ภายใต้การบัญชาการของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ รองธิบดีกรมตำรวจ ผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในการปราบกบฏ

ถัดจากนั้นในท่ามกลางปฎิบัติการไล่ล่าชนิดเอาเป็นเอาตาย ดร.ทวี ตะเวทิกุล นักการเมืองพรรคแนวรัฐธรรมนูญ หนึ่งในผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์และ 1 ใน 4 อาจารย์ประจำรุ่นแรกของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งหลบหนีการจับกุมไปซ่อนตัวอยู่ที่จังหวัดสมุทรสงครามพร้อมๆ กับ นายประสิทธิ์ ลุลิตานนท์ เพื่อนร่วมอุดมการณ์ทั้งทางการเมืองและในฐานะนักหนังสือพิมพ์ รวมทั้งน้องชายของนายประสิทธิ์อีก 2 คน ในวันที่ 31 มีนาคม ขณะกำลังจะลงเรือข้ามฟาก ดร.ทวีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจล้อมจับและถูกยิงเข้าบริเวณลำคอเสียชีวิตทันที ส่วนอีก 3 คนรอดมาได้หวุดหวิด แต่ก็ต้องสูญเสียอิสรภาพในเรือนจำเกือบ 9 ปีเต็มๆ.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 15 - 21 สิงหาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (21)

กบฏวังหลวง 2492:
รบกันใจกลางพระนคร

ในกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2492 นายปรีดี พนมยงค์ พร้อมด้วย เรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช ลอบกลับเข้าประเทศหลังจากที่ลี้ภัยไปเมื่อเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 หลังจากดำเนินการติดต่ออย่างลับๆมาก่อนหน้า เพื่อรวบรวมกำลังอันประกอบด้วยกับคณะนายทหารเรือ และอดีตเสรีไทยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเรียกตัวเองว่า "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์" จากนั้นตั้งกองบัญชาการอยู่ที่วัดบ้านเขาชลบุรี อันเป็นเขตทหารเรือ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ซ่องสุมกำลังของเสรีไทย แต่ปฏิบัติการที่มีหลายฝ่ายเข้าร่วมนี้ไม่อาจปกปิดเป็นความลับจากหูตาของฝ่ายรัฐบาลได้ ทำให้สามารถเตรียมการรับมือไว้ล่วงหน้าแล้วอย่างน้อย 3 วัน ก่อนวันก่อการ

เวลาประมาณ 16.00 น. ของวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 นายปรีดีนำกำลังอดีตพลพรรคเสรีไทยประมาณ 60 คน รวบรวมเอาอาวุธที่สะสมไว้ต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นเมื่อคราวสงครามมหาเอเชียบูรพา เข้ายึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นกองบัญชาการ

สำหรับนายทหารเรือซึ่งสนับสนุนนายปรีดี ก็มี พล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ, พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ ผู้บัญชาการนาวิกโยธินสัตหีบ, พล.ร.ต.ชาลี สินธุโสภณ ผู้บัญชาการกองสัญญาณทหารเรือ ซึ่งจะนำทหารเรือบางส่วนจากสัตหีบเข้ากรุงเทพฯ นอกจากนี้กลุ่มเสรีไทยตามภาคต่างๆเข้าสมทบกับกองกำลังฝ่ายก่อการอีกด้วย

เวลาประมาณ 20 นาฬิกา เรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช ยกกองกำลังอดีตพลพรรคเสรีไทยติดอาวุธออกจากธรรมศาสตร์ไปยังพระบรมมหาราชวัง จู่โจมควบคุมตัว ร.ท.พร เลิศล้ำ นายทหารรักษาพระบรมมหาราชวัง พร้อมกับปลดอาวุธทหารรักษาการ นอกจากนั้นยังจัดกำลังไปตั้งมั่นที่กองสัญญาณทหารเรือ ตำบลศาลาแดง เตรียมสนับสนุนอีกด้วย อีกหน่วยหนึ่งไปตรึงกำลัง ร.พัน 1 ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิท่าเตียน)

เวลา 21.00 น. กลุ่มเสรีไทยในชุดเครื่องแบบทหารสื่อสารตรงไปยึดสถานีวิทยุพญาไทบังคับเจ้าหน้าที่กระจายข่าวออกแถลงการณ์ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ (ข้ออ้างฝ่ายก่อการ) ให้ปลด จอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกจากนายกรัฐมนตรีและปลดคณะรัฐมนตรีทุกคน แต่งตั้งนายดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรี ให้ นายทวี บุณยเกตุ เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ให้ปลัดกระทรวงแต่ละกระทรวงรักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว

ฝ่ายก่อการยังได้แต่งตั้งให้ พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม, พล.ร.ท.หลวงสินธุสงครามชัย ผบ.ทร. เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ และแม่ทัพใหญ่, พล.ร.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต เป็นรองแม่ทัพใหญ่, พล.ต.เนตร เขมะโยธิน เป็นผู้บัญชาการทหารบก นอกจากนี้ยังปลด พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ ผบ.ทบ., พล.ท.กาจ กาจสงคราม รองผบ.ทบ., พ.ต.ท.ละม้าย อุทยานานนท์ ผู้บังคับการสันติบาล ให้ พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน ให้ พล.ร.ท.สังวร สุวรรณชีพ เป็นผู้รักษาความสงบทั่วประเทศ และเป็นอธิบดีกรมตำรวจ และปลด พล.ต.ท.หลวงชาติตระการโกศล อธิบดีกรมตำรวจ, พล.ต.ต.เผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีกรมตำรวจ ออกจากตำแหน่ง ย้าย หลวงอุตรดิตถาพิบาล ข้าหลวงประจำจังหวัดชลบุรี มาประจำอยู่กระทรวง ให้ น.ท.ประดิษฐ์ พูลเกษม ผู้บังคับกรมนาวิกโยธิน เป็นข้าหลวงฯแทน ฝ่ายกบฏ ยังได้ประกาศห้ามมีการเคลื่อนไหวและ/หรือเคลื่อนย้ายกำลังทหารทุกหน่วยจาก ที่ตั้งเด็ดขาด นอกจากจะได้รับคำสั่งจากแม่ทัพใหญ่ พล.ร.ท. หลวงสินธุสงครามชัย

ช่วงแรก ดูเหมือนฝ่ายกบฏจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ เพราะสามารถยึดสถานที่สำคัญและจุดยุทธศาสตร์ไว้ได้หลายจุด แต่ทว่าตกค่ำของคืนวันนั้นเอง รัฐบาลก็ตั้งตัวติด พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ยศในขณะนั้น) ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการปราบปรามการกบฏ และเริ่มยึดจุดยุทธศาสตร์กลับคืนมาได้เป็นลำดับ

ในเวลา 22.00 น. ทหารฝ่ายรัฐบาลสังกัด ร.พัน 1 มหาดเล็ก เข้ายึดและสนับสนุนกองทหาร ร.พัน 1 ขณะที่ ร.พัน 2 เข้ายึดพื้นที่กรุงเทพฯ และตามแนวรถไฟสายอรัญประเทศ ก่อนจะมีคำสั่งให้ย้ายหน่วยนี้กลับ เพราะไม่มีแนวต้านทานของฝ่ายกบฏ จากนั้นใช้กำลังจากกรมทหารราบที่ 1 จำนวน 3 กองพัน เข้าตั้งด่านสกัดที่สะพานเฉลิมโลกและถนนเพชรบุรี

ลางพ่ายแพ้ประการหนึ่งของฝ่ายก่อการ คือกองกำลังทหารเรือจากฐานทัพเรือสัตหีบมาติดแหง็กอยู่ที่ท่าน้ำบางปะกง เนื่องจากน้ำลดขอดเกินกว่าปกติ แพขนานยนต์ไม่สามารถที่จะลำเลียงอาวุธและกำลังคนข้ามฟากได้ เมื่อน้ำขึ้นก็เป็นเวลาล่วงเข้ากลางคืน กว่ากองกำลังทั้งหมดจะมาถึงพระนครก็เกือบเที่ยงคืน ถึงตอนนั้นฝ่ายกบฏก็เพลี่ยงพล้ำต่อรัฐบาลแล้ว

เวลาประมาณ 23.00 น. ฝ่ายกบฏที่ตั้งอยู่ที่ท่าวาสุกรีได้ยิง ค.85 ไปยังวังสวนกุหลาบ ซึ่งเป็นที่บัญชาการทหารรัฐบาล ชุดแรก 4 นัดไม่ถูกเป้าหมาย ตกลงใส่บ้านเรือนราษฎรในละแวกนั้น ขณะเดียวกันที่สี่แยกราชประสงค์มีทหารเรือตั้งแนวรับฝ่ายทหารบกไว้ และพยายามจะตีฝ่าไปทางท่าช้าง มีการปะทะกันชั่วครู่แล้วยันกันอยู่อย่างนั้น ทางด้านท้องสนามหลวง ฝ่ายก่อการได้เปิดฉากยิงเข้าไปใน ร.พัน 1 ทหารรัฐบาลเสียชีวิตและบาดเจ็บไปจำนวนหนึ่ง เกิดการยิงโต้ตอบอยู่ประมาณชั่วโมงเศษ ฝ่ายรัฐบาลพยายามเจรจาให้ฝ่ายก่อการวางอาวุธและถอนกำลังจากพระบรมมหาราชวัง แต่การเจรจาล้มเหลว

พล.ต.สฤษดิ์ตัดสินใจใช้กำลังเข้าบุก โดยมีคำสั่งให้ พ.ท.กฤช ปุณณกันต์ ผบ.กรมรบ และ พ.ท.ถนอม กิตติขจร ผบ.ราบ 11 เตรียมนำรถถังการ์เด้นลอยด์ หรือที่เรียกกันว่า "อ้ายแอ้ด" บุกเข้าทางประตูวิเศษไชยศรี ส่วนทางทหารรัฐบาลสังกัด ร.พัน 1 สวนเจ้าเชต เคลื่อนเข้ายึดวังสราญรมย์ และล้อมพระบรมมหาราชวังไว้อีกทางหนึ่ง เตรียมบุกเข้าไปประตูสวัสดิโสภา ครั้นรุ่งเช้า ทหารรัฐบาลบุกเข้าทุกทางตามแผน จุดปะทะที่หนักที่สุดเป็นด้านประตูวิเศษไชยศรี รถถังเคลื่อนตัวเข้าไปหลายคัน โดยมีทหารราบประกบตามไปด้วย ฝ่ายกบฏต้านด้วยบาซูก้า รถถังคันหนึ่งถูกยิงเข้าอย่างจังไม่สามารถเคลื่อนที่ต่อไปได้ ทำให้ทหารราบถึงกับชะงัก พ.ท.ถนอม กิตติขจร ต้องสั่งการให้รถถังวิคเกอร์อาร์มสตรองวิ่งเข้าชนบานประตูจนเปิดออก ปืนกลรถถังไล่ยิงกราด ทหารราบขยายปีกหาที่กำบังยิงเข้าใส่อย่างดุเดือด สุดที่พลพรรคฝ่ายก่อการจะต้านไว้ได้ เรือเอกวัชรชัยตัดสินใจดึงนายปรีดีหนีออกทางประตูราชวรดิษฐ์ โดยที่ฝ่ายทหารเรือช่วยพาหนีอีกทอดหนึ่ง

จนกระทั่ง 09.00 น. ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พล.ร.ต.ประวัติ ศรีพิพัฒน์ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ได้เข้าพบ พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อเปิดการเจรจาหยุดยิง ทั้งสองฝ่ายตกลงยุติการสู้รบกันในเวลา 10.15 น. ก่อนจะเคลื่อนกำลังกลับเข้าสู่ที่ตั้งของตน.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 8 - 15 สิงหาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (20)

กบฏเสนาธิการ 2491:
กบฏทหารประชาธิปไตย

จากการรัฐประหารซ้ำซ้อนในห้วงเวลาสั้นๆ ส่งผลให้กลุ่มนายทหารสายเสนาธิการก่อรูปแนวความคิดไม่ยอมรับกับการที่ฝ่ายคณะรัฐประหารหนุนให้ทหารยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และเห็นว่าการที่นายทหารชั้นผู้ใหญ่เข้าไปแทรกแซงทางการเมืองนั้นทำให้กองทัพเสื่อมเสียเกียรติภูมิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ต้องการให้กองทัพตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของใครหรือกลุ่มบุคคลใด จึงร่วมปรึกษาหารือหาทางล้มอำนาจของคณะรัฐประหาร เพื่อให้ทหารกลับเข้ากรมกอง

ผู้คิดก่อการที่เรียกกันว่า "กบฏเสนาธิการ 1 ตุลาคม 2491" นับได้ว่าเป็นนายทหารกลุ่มแรกในกองทัพบกที่ต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามและต้องการปฏิรูปกองทัพบกเสียใหม่ให้มีประสิทธิภาพทันสมัยและขจัดการเล่นพรรคเล่นพวก ซึ่งในขณะนั้นการเลื่อนยศและตำแหน่งมีลักษณะตอบแทนผู้เข้าร่วมรัฐประหาร มิได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของกองทัพโดยรวมแม้แต่น้อย

คณะผู้วางแผนก่อการประกอบด้วยนายทหารฝ่ายเสนาธิการ นำโดย พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต (หลวงศรานุชิต) รองเสนาธิการกลาโหม พล.ต.เนตร เขมะโยธิน รองเสนาธิการทหารบก และ พล.ต.หลวงรณกรรมโกวิท (เพิ่ม ศิริวิสูตร) นายทหารประจำกรมเสนาธิการทหารบก นอกจากนั้นก็เป็นครูหรือนักเรียนในโรงเรียนเสนาธิการทหาร เช่น พ.อ.กิตติ ทัตตานนท์, พ.อ.จรูญ สิทธิเดชะ, พ.อ.สงบ บุณยเกศานนท์ (ขุบสงบระงับศึก) เป็นต้น และยังมีนายทหารจากหน่วยอื่นเข้าร่วม เช่น พ.อ.หลวงจิตรโยธี (จาด รัตนสถิตย์) พ.อ.หลวงศรีสิงหสงคราม (โลม ศิริปาลกะ) เจ้ากรมพาหนะทหารบก และ พ.ท.พโยม จุลานนท์ เป็นต้น

ผู้ ก่อการกำหนดเอาวันที่ 1 ตุลาคม 2491 เวลา 20.00 น. อันเป็นเวลาที่คณะรัฐประหารและรัฐบาลจะมาอยู่พร้อมหน้ากันที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเลี้ยงส่งนายทหาร และร่วมแสดงความยินดีในงานพิธีมงคลสมรสของ พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับ นางสาววิจิตรา ชลทรัพย์ โดยวางแผนที่จะจู่โจมเข้าสังหารกลุ่มผู้นำทางทหารและนายกรัฐมนตรีแบบทำลายล้างด้วยการระดมขว้างระเบิดมือและยิงกราดเข้าไปในงาน ต่อจากนั้นจะยกกำลังเข้ายึดสวนพุดตาล ให้ พ.ต.เจริญ พงศ์พานิชย์ ไปควบคุมตัว พล.ต.หลวงสถิตย์ยุทธการ เสนาธิการกองทัพที่ ๑ ผู้ควบคุมกำลังป้องกันกองบัญชาการทหารบก ณ วังสวนกุหลาบ พร้อมกับให้ พล.ท.โพยม จุฬานนท์ ควบคุม พ.อ.บัญญัติ เทพหัสดิน ผู้บังคับกองทหารราบที่ ๑ ส่วน พ.อ.กิตติ ทัตตานนท์ ให้นำนายทหารเสนาธิการเข้ายึดกระทรวงกลาโหมไว้ เพื่อตั้งเป็นกองบัญชาการ

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการครั้งนี้ประสบความล้มเหลว เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลได้ข่าวก่อการมานานพอสมควรและเกาะติดความเคลื่อนไหวมาเป็นระยะ ดังนั้นก่อนที่แผนการจะเริ่มเพียงไม่กี่ชั่วโมง พล.ต.ต. เผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีกรมตำรวจส่งกำลังไปจับกุม พ.อ.กิตติ ทัตตานนท์และ กำลังส่วนใหญ่ของฝ่ายเสนาธิการได้ที่กระทรวงกลาโหมในคืนวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2491 ก่อนเวลาลงมือปฏิบัติการ และเช้าวันรุ่งขึ้นได้จับตัว พล.ต.หลวงรณกรรมโกวิท และ พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต, พ.อ.หลวงศรีสิงหสงคราม, ร.อ.หิรัญ สมัครเสวี, ร.อ.สุรพันธ์ ชีวรานนท์, ร.ท. บุญช่วย ศรีทองบุญเกิด เป็นปฏิบัติการที่ทำอย่างเงียบเชียบที่สุด เพื่อไม่ให้ข่าวเล็ดลอดไปสู่ผู้ก่อการคนอื่น ทว่า พล.ต.เนตร เขมะโยธิน และ พ.ท.พโยม จุลานนท์ ก็หนีรอดไปได้

จากนั้นต่อเนื่องไปถึงเวลากลางคืน กองกำลังตำรวจและทหารจึงยกกันเข้าล้อมกระทรวงกลาโหมที่ถูกยึดเป็นกองบัญชาการ พล.ต.ต. เผ่า ได้เรียกร้องให้ฝ่ายกบฏออกมามอบตัว แต่ฝ่ายกบฏไม่ยอมเพราะไม่ไว้ใจในความปลอดภัย เมื่อตำรวจบุกเข้าใกล้ที่ตั้งศูนย์บัญชาการของฝ่ายกบฏกบฏก็ถูกยิงตอบโต้ออกมา ฝ่ายรัฐบาลต้องถอยร่นกลับออกจากตัวตึก ทั้ง ผบ. กองพล ๑ พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ สั่งห้ามใช้อาวุธและกำลังเข้าปราบหากไม่จำเป็นจริงๆ เนื่องจากไม่ต้องการให้ทหารบกต้องเสียเลือดเนื้อกันเอง และความเสียหายที่อาจเกิดแก่ทรัพย์สินของทางราชการ คงมีแต่การใช้กำลังล้อมเอาไว้เฉยๆ

ในที่สุดรุ่งเช้าวันที่ 2 ตุลาคม ฝ่ายกบฏจึงยอมจำนนต่อฝ่ายรัฐบาล พากันเดินแถวออกจากห้องประชุมกระทรวงกลาโหม ยอมให้ทหารรัฐบาลปลดอาวุธในตอน 2491 อย่างสงบ

แต่ฝ่ายรัฐบาลก็ยังไม่ลดละในการไล่ล่าผู้ร่วมก่อการ จนกระทั่งวันที่ 25 ตุลาคม ก็สามารถตามจับกุมผู้ที่หลบหนีไปได้อีก 7 คน รวมทั้ง พล.ต.เนตร เขมะโยธิน และ พ.ท.พโยม จุลานนท์ ส่งฟ้องศาลรวม 22 คน ศาลลงโทษจำคุก 3 ปี 9 ราย คือ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน พ.อ.กิตติ ทัตตานนท์ พ.อ.หลวงจิตรโยธี พ.อ.หลวงศรีสิงหสงคราม พ.ท.ประสบ ฐิติวร พ.ต.ชิน หงส์รัตน์ ร.อ.หิรัญ สมัครเสวี ร.อ.สุรพันธ์ อิงคุลานนท์ ร.ท.บุญช่วย ศรีทองเกิด ส่วนที่เหลือได้รับการปล่อยตัวไป

ถึงกระนั้น ยังมีผู้ก่อการชั้นหัวหน้าหลบหนีไปได้หลายคน และฝ่ายทหารยังเชื่อรายงานข่าวกรองในทางลับว่า การพยายามก่อรัฐประหารครั้งนี้ นายปรีดี พนมยงค์ น่าจะอยู่เบื้องหลัง เพราะนายทหารที่ก่อการและหลบหนีไปได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายปรีดี

หลัง กบฏเสนาธิการสิ้นสุดลง คณะรัฐประหารพิจารณาว่ากลุ่มเสรีไทยที่มีนายปรีดีเป็นหัวหน้า เป็นรากเหง้าของภัยต่อความมั่นคงของอำนาจการปกครองที่เกิดจากการรัฐประหาร 6 เมษายน 2491 และพร้อมจะก่อการปฏิวัติยึดอำนาจเมื่อมีโอกาส จึงคิดกวาดล้างให้สิ้นซากด้วยข้อหากบฏซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่สามารถอาศัยเป็นข้ออ้างในการจัดการตามกฎหมายของผู้เผด็จอำนาจได้

ผลกระทบที่สำคัญของกบฏนี้คือ ทำให้ฝ่ายคณะรัฐประหารแทบจะเข้าควบคุมอำนาจในกองทัพบกได้อย่างเบ็ดเสร็จ นายทหารสายเสนาธิการที่เหลือต้องตกอยู่ใต้การบังคับบัญชาของ พล.ต.เดช เดชประดิยุทธ์ ซึ่งเป็นคนของคณะรัฐประหาร รวมทั้งการส่งคนมาดำรงตำแหน่งสำคัญระดับนายพัน เท่ากับว่ากองทัพบกต้องเสียนายทหารระดับหัวกะทิที่มีแนวโน้มประชาธิปไตยมากที่สุดในกองทัพไปในกบฏครั้งนี้ และทำให้กองทัพมีแนวโน้มไปในทางอนุรักษ์นิยมมากขึ้น

สำหรับกรณี พ.ท.พโยม จุลานนท์ หลังจากหลบหนอยู่นานจนเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารส่งผลให้จอมพลป.และพล.ต.อ.เผ่า มีอันต้องลี้ภัยในต่างประเทศ พ.ท.พโยมจึงกลับเมืองไทยในช่วงเวลาสั้นๆ โดยปี 2500 ลงสมัครรับเลือกตั้งได้เป็น ส.ส.เพชรบุรี ครั้นเมื่อจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารอีกครั้งในเดือนตุลาคมพ.ศ. 2501 มีการกวาดล้างจับกุมนักหนังสือพิมพ์ นักการเมือง จึงต้องหลบลง "ใต้ดิน" นานหลายปี และลุกขึ้นมาจับอาวุธสู้รบร่วมกับ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) มีนามเรียกขาน คือ "สหายคำตัน" นับตั้งแต่ปี 2510-2511 เป็นต้นมา จนกระทั่งปี 2518 จึงได้ดำรงตำแหน่ง "เสนาธิการ" ของ กองทัพปลดแอกแห่งประเทศไทย (ทปท.) และใช้ชีวิตอยู่เขตรอยต่อชายแดนไทย-ลาว ในพื้นที่ จ.น่าน ก่อนที่เดินทางไปรักษาตัวเนื่องจากปัญหาสุขภาพยังสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2523 และเสียชีวิตในเวลาต่อมา.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 1 - 7 สิงหาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554

หลัก 12 ประการของระบอบประชาธิปไตย

หลัก 12 ประการของระบอบประชาธิปไตย:
ทัศนะคนหนุ่มสาวยุคหลังพฤษภาทมิฬ 2535

ในระหว่างการเขียนคอลัมน์ "พายเรือในอ่าง" นับจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ผู้เขียนมีการติดต่อปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนทัศนะความเห็นทางการเมืองกับมิตรสหายฝ่ายประชาธิปไตยจำนวนหนึ่ง ที่น่าสนใจคือหลายคนเป็นคนหนุ่มสาวอายุต่ำกว่า 30 ปี และหนึ่งในจำนวนนั้นส่งจดหมายอิเล็กโทรนิกส์มาถึงผู้เขียน แสดงจุดยืนในระบอบประชาธิปไตยไว้อย่างน่าสนใจ และโดยการอนุญาต ขอนำมาเผยแพร่สู่สาธารณะ ดังนี้:

1. อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (popular sovereignty) ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยคือระบบที่ประชาชนมีอำนาจอธิปไตย และมอบหมายให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่แทนตน การเลือกตั้งจึงเป็นการแสดงออกถึงสิทธิและอำนาจของประชาชน จนมีคำกล่าวว่า เสียงของประชาชนคือเสียงของสวรรค์ (vox populi, vox dei)

2. สิทธิเสรีภาพ (rights and freedom) เป็นหัวใจสำคัญของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย สิทธิดังกล่าวต้องกำหนดในรัฐธรรมนูญและการบังคับกฎหมาย เจ้าหน้าที่ของรัฐได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งบริหารและข้าราชการประจำที่มีอำนาจตามกฎหมาย จะต้องยึดถือตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

3. ความเสมอภาค (equality) ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยถือว่าทุกคนเสมอภาคเท่ากันหมด หนึ่งคนมีสิทธิลงคะแนนเสียงได้หนึ่งเสียง (one man one vote) ความเสมอภาคดังกล่าวนี้หมายถึงความเสมอภาคทางการเมือง และความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย (equality before the law) การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลอันใดก็ตามถือว่าขัดต่อหลักการประชาธิปไตย

4. หลักนิติธรรม (the rule of law) ได้แก่ การใช้กฎหมายในการบริหารประเทศ โดยกฎหมายนั้นต้องผ่านกระบวนการร่างอย่างถูกต้อง และหลักของกฎหมายนั้นต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและอำนาจอธิปไตยของประชาชนโดยกระบวนการยุติธรรม (due process of law) จะต้องเป็นไปตามครรลอง หลักนิติธรรม (the rule of law) จึงต่างจาก the rule by law ซึ่งหมายถึงการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศโดยไม่คำนึงถึงหลักการประชาธิปไตย และบ่อยครั้งก็กลายเป็นการบริหารงานโดยตัวบุคคล (the rule by men) มากกว่าหลักการ

5. ค่านิยมและจิตวิญญาณความเป็นประชาธิปไตย (the democratic ethos) ซึ่งหมายถึงค่านิยมที่ได้รับการอบรมตั้งแต่ครอบครัว สถาบันการศึกษา และทางสังคม ให้มีความเชื่อและศรัทธาในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย มีพฤติกรรมที่เป็นประชาธิปไตย มองคนอื่นด้วยสายตาที่เสมอภาค ทั้งหมดนี้ถือได้ว่าเป็นการพัฒนาจิตวิญญาณประชาธิปไตย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของการพัฒนาและธำรงไว้ซึ่งระบอบ ประชาธิปไตย

6. ความอดทนอดกลั้น (tolerance) ความใจกว้าง (open-mindedness) และความมีน้ำใจนักกีฬา (sporting spirit) เป็นหัวใจสำคัญของการอยู่ร่วมกัน เพราะในสังคมประชาธิปไตยนั้นจะต้องยอมรับความแตกต่างทั้งในเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี จุดยืนและความคิดเห็นทางการเมืองของคนในสังคม การรู้แพ้รู้ชนะ เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้รู้และผู้มีประสบการณ์ แม้กระทั่งความเห็นที่แตกต่าง ตราบเท่าที่ไม่กระทบต่อสิทธิของผู้คนอื่นๆ เพื่อนำมาประมวลใช้ให้เป็นประโยชน์ในการทำงานเพื่อส่วนรวม

7. ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยคือกรรมวิธี (means) เพื่อเป้าหมายทางการเมือง แต่ขณะเดียวกันระบบประชาธิปไตยก็เป็นเป้าหมายอันสูงส่ง (noble end) ในตัวของมันเอง การมองว่าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นเฉพาะกรรมวิธีหรือ means จึงไม่ถูกต้อง ถึงแม้ว่า end คือผลประโยชน์จะตกแก่สังคมก็ตาม เพราะถ้าทำลายกระบวนของความถูกต้องแม้จะส่งผลในทางบวกต่อสังคม แต่ถ้ามีผลกระทบในทางลบต่อระบบก็จะเป็นการทำลายเป้าหมายอันสูงส่งของระบอบประชาธิปไตย อันเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง ประชาธิปไตยจึงเป็นทั้งกรรมวิธี (means) และเป้าหมาย (end) ในตัวของมันเอง ทั้งสองส่วนนี้ต้องไปด้วยกัน

8. บุคลากรในอำนาจอธิปไตยทั้งสามในระบอบประชาธิปไตย ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ จะต้องตระหนักว่าตนเป็นผู้ซึ่งได้รับอาณัติจากประชาชน ดังนั้น ผลประโยชน์สูงสุดจะต้องเป็นผลประโยชน์ที่เอื้ออำนวยต่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ การกระทำอันใดขัดต่อผลประโยชน์ของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยการนั้นย่อมไม่ถูกต้อง นอกจากนั้นยังต้องมีความรู้สึกว่าสิ่งที่ตนทำอยู่นั้นเป็นการประกอบภารกิจศักดิ์สิทธิ์ (sacred mission) หรือหน้าที่อันสูงส่ง (noblesse oblige) เพื่อประชาชน เพื่อชาติและแผ่นดิน

9. ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งระดับสูงทั้งในอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ จำเป็นอย่างยิ่งต้องยึดถือหลักจริยธรรมทางการเมือง รวมตลอดทั้งมารยาททางการเมือง โดยจะต้องทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต คำนึงถึงผลดีผล เสียที่จะเกิดต่อประชาชน ชาติ และบ้านเมือง เสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อส่วนรวม เพราะงานการเมืองเป็นงานอาสาสมัครที่ได้รับมอบหมายจากประชาชน

10. ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย การกระทำอันใดก็ตามต้องคำนึงถึงหลัก การใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้ คือ ความถูกต้องตามกฎหมาย (legality) ความชอบธรรมทางการเมือง (legitimacy) ความถูกต้องเหมาะสม (decency) ความน่าเชื่อถือ (credibility) เพื่อให้บรรลุภารกิจ การเน้นไปที่ตัวบทกฎหมายตามลายลักษณ์อักษรแต่เพียงอย่างเดียวเป็นสิ่งที่ไม่พอเพียง การกระทำอันใดที่ไม่เหมาะสมแม้จะถูกต้องตามกฎหมายก็จะขาดความชอบธรรมทางการเมืองอันจะส่งผลถึงความน่าเชื่อถือของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในที่สุด

11. การบริหารบ้านเมืองจะต้องอิงหลักธรรมรัฐาภิบาล (good governance) ซึ่งได้แก่ ความชอบธรรมทางการเมือง (legitimacy) ความโปร่งใส (transparency) การมีส่วนร่วมของประชาชน (participation) ความรับผิดชอบเปิดให้ไล่เบี้ยได้ (accountability) และความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล (efficiency and effectiveness) ซึ่งหมายถึงการกระทำนั้นต้องส่งผลในทางบวกทั้งในแง่ผลได้ (output) และผลลัพธ์ (outcome)

12. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารระดับสูง ต้องประกอบไปด้วย 4 คุณสมบัติพื้นฐาน อันได้แก่ การมีอุดมการณ์ทางการเมือง (political ideology) การมีจริยธรรมทางการเมือง (political ethics) การมีความรู้ทางการเมือง (political knowledge) การมีประสาทสัมผัสทางการเมือง (political sense) และการเข้าใจอารมณ์ทางการเมือง (political mood) ของประชาชนอย่างถูกต้อง นอกเหนือจากหลักนิติธรรมและคุณสมบัติอื่นๆ ที่กล่าวมา 11 ข้อข้างต้น เพื่อจะธำรงไว้ซึ่งความชอบธรรมที่จะดำรงตำแหน่งบริหารและการใช้อำนาจรัฐ (moral authority)

ผู้ใดก็ตามที่ขาดหลักการข้อที่ 12 ดังกล่าวมานี้ย่อมจะเสียความชอบธรรมทางการเมืองในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 8-14 มกราคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2554

ศักราชใหม่ของขบวนประชาธิปไตย เป้าหมายชัดเจน จังหวะก้าวมั่นคง

ศักราชใหม่ของขบวนประชาธิปไตย
เป้าหมายชัดเจน จังหวะก้าวมั่นคง


โลกหลังสหัสวรรษ ที่วิถีชีวิตสมัยใหม่ นวัตกรรมใหม่ ระบบคิดใหม่ ไม่มีพรมแดนทางเผ่าพันธุ์และวัฒนธรรมกีดกั้นอีกต่อไป ผลแพ้ชนะในความขัดแย้งระหว่างจารีตแห่งวัฒนธรรมเก่าแก่ของประชาชาติหนึ่ง กับพลังแห่งเยาวภาพที่เกิดขึ้นใหม่ คือตัวบ่งชี้ทิศทางแห่งอนาคตของอารยธรรมของประชาชาตินั้นๆ ไม่มีแม้สักประชาชาติเดียวที่จะจองจำตนเองอยู่ได้กับอดีตอันรุ่งเรืองในช่วงเวลาหนึ่งๆ

กล่าวอย่างถึงที่สุด สรรพสิ่งทั้งหลาย ทั้งที่มีชีวิตและไร้ชีวิต ทั้งที่เป็นปัจเจก หรือเป็นหน่วยทางสังคม ล้วนไม่อาจหนีพ้นกฎอนิจจลักษณ์ อันได้แก่ การเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดับไป

ทุกความพยายามที่จะฝืนการก้าวพัฒนาไปเบื้องหน้า จะต้องแบกรับมลทินแห่งความบาปในฐานะตัวถ่วงดุลยภาพ ที่ธรรมชาติกำหนดเป็นเส้นทางที่ไม่อาจบิดเบือนได้ ผลพวงจากหายนพิบัติภัยอย่างมีเจตนา จะต้องสนองตอบหรือตามหลอกหลอนมนโนธรรมสำนึก - หากว่ายังมีมโนธรรมสำนึก - ของพลังปฏิกิริยาทั้งปวง ที่ขัดขวางพัฒนาการทางสังคมแห่งมหายุคนี้...

หน้าไหนก็ไม่อาจหนีพ้น!!!

พัฒนาการของสังคมใดๆ ย่อมไปพ้นอคติสี่ (การกระทำอันทำให้เสียความเที่ยงธรรม ประกอบไปด้วย ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรักใคร่ โทสาคติ ลำเอียงเพราะโกรธ โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลา และ ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว) และย่อมอยู่เหนือเจตจำนงเสรีหรืออารมณ์ของปุถุชน (อิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าปรารถนา ตรงข้ามกับ อนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) หรือแม้แต่มวลมหาประชาชน ด้วยหน่ออ่อนของสังคมที่จะเกิดใหม่นั้น ในทุกยุคทุกสมัยล้วนก่อรูปและเติบโตกล้าแข็งขึ้น กระทั่งในความพยายามบีบกดจากสังคมดั้งเดิมที่มันก่อกำเนิดขึ้นมานั้นเอง

รูปธรรมของการเปลี่ยนผ่านระยะทางประวัติศาสตร์ของทุกระบบสังคม ล้วนไม่ขึ้นต่อความเกลียดชัง ความอาฆาตมาดร้าย ความกระเหี้ยนกระหือกระหายเลือด ซึ่งฉาบทาเพียงผิวเผินบนเปลือกของความเปลี่ยนแปลงนั้น

ดูเหมือนว่า แม้ในส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดของพลังที่ปฏิกิริยาที่สุด ครั้งหนึ่งอาจเคยยึดกุมรากฐานทางความคิดดังกล่าว อาจกำจัดทำลายเยาวภาพของการเปลี่ยนแปลงอันเป็นนิรันดรนั้น ด้วยความเกลียดชังยิ่งกว่า ความอาฆาตมาดร้ายที่ลึกซึ้งกว่า และความกระเหี้ยนกระหือที่โหดหืนกระหายเลือดยิ่งกว่า

แต่ประวัติศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงน้อยใหญ่ ได้ให้บทเรียนอันเป็นข้อสรุปที่ไม่อาจปกปิดบิดเบือนเป็นอย่างอื่น ว่า ด้วยจุดยืนและการกระทำเช่นนั้น รังแต่จะนำความรุนแรงอันไม่อาจควบคุมได้ยิ่งขึ้นทุกทีมาสู่การเปลี่ยนผ่านอย่างมิพักต้องสงสัย

นัยหนึ่ง เมื่อประวัติศาสตร์เองย่อมถูกจดจารด้วยผู้ชนะในที่สุด ยังไม่มีบันทึกหน้าไหนในประวัติอารยธรรมมนุษย์ ที่ชี้ว่า ผู้ปกครองที่เป็นทรราชย์คือฝ่ายธรรมะ แม้สักหน!

ชั่ว เวลา 4 ปีเศษ สังคมไทยเพียงหยุดยั้งในห้วงเวลาสุกดิบเพื่อตระเตรียมการขยับครั้งสำคัญ สำหรับการอภิวัฒน์ครั้งใหม่ด้วยแรงขับดันอันมหาศาลที่สั่งสมมาในตลอดวันวารก ว่า 6 ทศวรรษช่วงรอยต่อของกึ่งพุทธกาล

ณ เวลานี้ สรรพชีวิตทั้งที่เป็นปัจเจก และทั้งที่เป็นหน่วยเนื้อน้อยใหญ่ของเผ่าพันธุ์ที่หลอมรวมขึ้นเป็นสยามประเทศ มีหนทางให้เลือกน้อยลงไปทุกทีแล้ว... หรือหากจะกล่าวอย่างถึงที่สุด คือทางเลือกระหว่าง พลังประชาธิปไตย กับ พลังปฏิกิริยาที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย

และก่อนอื่น สำหรับในฝ่ายพลังประชาธิปไตย ข้อเท็จจริงที่ถูกมองข้ามมาตลอด คือการขาดความใส่ใจในประเด็น "ยุทธศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย" ที่มักถูกยัดเยียดการตีความว่า "รู้ๆกันอยู่แล้ว" "ไม่จำเป็นต้องพูด" หรือที่หนักหนาสาหัสไปกว่านั้น คือ "พูดไม่ได้"

ขบวนประชาธิปไตยจึงต้องกลับมาทบทวนว่า "ประชาธิปไตย" ที่มวลชนนับล้านคนประกาศว่าจะ "สร้าง" นั้น คือ "อะไร" ทั้งนี้ทั้งในลักษณะที่เป็นสากลที่นานาอารยะประเทศรับรอง และที่มีลักษณะเฉพาะ สอดคล้องกับสังคมไทย ทั้งในทางจารีต และในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงผ่านโลกสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคไร้พรมแดนของ "โลกาภิวัตน์"

ประชาชนในฝ่ายประชาธิปไตย จำต้องเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดและหดหู่ ในประสบการณ์ที่ผ่านมา ไม่เพียง 4 ปีหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และไม่เพียง 9 ปีหลังการใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ในทางปฏิบัติเป็นครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง 6 มกราคม 2544 เราไม่เพียงไปไม่ไกลจากการอภิวัฒน์สยาม 2475 หากถึงที่สุดแล้วการเมืองของประเทศนี้ถอยหลังไปไกลก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ที่นำโดย "นอมินีรุ่นต้นธาร - ผิน ชุนหะวัน" เสียด้วยซ้ำไป

ความจริงนั้นคือ เราถูกทำลายวิญญาณประชาธิปไตยมาตลอด 63 ปี นับจากการ "กบฏประชาธิปไตย" หนนั้น และสถาปนา "ระบอบเผด็จการอำมาตย์-อภิชน-ขุนศึกฟาสซิสต์" ต่อเนื่องมาโดยตลอด และถูกทำให้เข้มแข็งเป็นปึกแผ่นยิ่งขึ้นหลังการรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501 โดย "จอมเผด็จการผ้าขาวม้าแดง - สฤษดิ์ ธนะรัชต์"

ระบบคิด ระบบปรัชญาประชาธิปไตยที่นำมาสู่สังคมสยามเมื่อ 78 ปีที่แล้วถูกกัดกร่อนบ่อนทำลายลงไปทุกทีตามกาลเวลา

ข้อเท็จจริงที่ผ่านมาในอดีต แม้จะมีรัฐธรรมนูญสักกี่ฉบับ แม้จะมีการเลือกตั้งสักกี่ครั้ง ก็หาได้หมายความว่าประเทศใดประเทศหนึ่งจะเป็นประชาธิปไตยได้แต่อย่างใด... ตราบใดที่ทั้ง 2 บริบทนั้น ไม่มีรากฐานหรือจิตวิญญาณแห่งความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ที่ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

และนั่นนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ยุทธศาสตร์ใหญ่ของฝ่ายประชาชนชนคือการสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แท้จริงขึ้นให้จงได้ ทั้งนี้ก็โดยการกำจัดอุปสรรคสำคัญเพียงประการเดียวในกระบวนการนี้ ที่เป็นเป้าหมายไปในเวลาเดียวกัน นั่นคือ "ระบอบเผด็จการ"

ทั้งนี้ประชาชนต้องตอบโจทย์ให้ได้ในเวลานับจากนี้ไป คือ ประชาธิปไตยคืออะไร และเหตุใดประชาธิปไตยจึงมีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับระบอบการปกครองในโลกยุคโลกาภิวัตน์หลังสหัสวรรษ ส่วนจะสร้างอย่างไร หรือจะใช้วิธีการอย่างไหน/รูปแบบใด ซึ่งรวมเรียกว่า "ยุทธวิธี" ในการต่อสู้เพื่อสร้างประชาธิปไตยนั้น ยังมีความสำคัญรองลงไป หากต้องมีการพิจารณาต่อเนื่อง และบนพื้นฐานความคิดชี้นำหรือรูปการจิตสำนึก ซึ่งไม่อาจละทิ้งหลักการที่ว่า

"ประชาธิปไตยเป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการ".


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 1-7 มกราคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (19)

รัฐประหาร 6 เมษายน 2491:
ฉากแรกของระบอบฟาสซิสต์

ผู้มีอำนาจในการรัฐประหารทั้งสองครั้งที่แท้จริงก็คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารบก

คณะรัฐประหารนำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) ประกาศแต่งตั้งให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการณ์ ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2490 สำหรับพล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในชั้นแรกหลบไปเก็บตัวอยู่ในฐานทัพเรือสัตหีบ โดยหวังจะอาศัยความคุ้มครองและสนับสนุนจากกลุ่มนายทหารเรือ จนวันที่ 23 ธันวาคม คณะรัฐประหารจึงออกหมายจับพล.ร.ต.ถวัลย์ในข้อหามีแผนการต่อต้านรัฐบาล ทั้งยังจับกุมอดีตรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาล อีกหลายคน เช่นนายทองเปลว ชลภูมิ และนายวิจิตร ลุลิตานนท์ เป็นต้น

จนถึงวันที่ 6 มกราคม 2491 รัฐบาลรักษาการ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะรัฐประหาร จึงจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเสียงสูงสุดในสภาฯ นายควง อภัยวงศ์ ในฐานะหัวหน้าพรรค จึงได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มกราคม

ระหว่างนั้น ความไม่พอใจรัฐบาลไทยของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูที่ก่อตัวมานับแต่การยกเลิกระบบสุลต่านหรือเจ้าผู้ครองนครมาเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 และทวีความรุนแรงขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งความอดอยากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ราษฎรที่นับถือศาสนาอิสลามเห็นว่าพวกตนไม่ได้รับการดูแลเท่าเทียมกับราษฎรที่นับถือศาสนาพุทธ นอกจากนี้ยังมีแรงหนุนจากภายนอก โดยอังกฤษสนับสนุน ตนกู มะไฮยิดดิน อับดุลกาเดร์ บุตรของรายาปัตตานีองค์สุดท้ายให้แยกตัวออกจากไทย เพื่อแก้แค้นที่ไทยหันไปร่วมมือกับญี่ปุ่น แกนนำในการต่อต้านรัฐบาลยุคนั้นคือ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ซึ่งมีบทบาทในการคัดค้านการตั้งดะโต๊ะยุติธรรม เรียกร้องให้แยกศาลศาสนา และเสนอ คำขอ 7 ข้อต่อรัฐบาล ถูกจับด้วยข้อหากบฏเมื่อวันที่ 16 มกราคม ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ราษฎรอย่างกว้างขวาง อันนำไปสู่ "กบฏดุซงญอ" ระหว่างวันที่ 25 - 28 เมษายน

ใน วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ฉากแห่งการไล่ล่าเพื่อกวาดล้างและทำลายกลุ่มการเมืองที่มีความสัมพันธ์แนบ แน่นกับนายปรีดีก็เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง มีการออกหมายจับกุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภาคอีสานหลายคน เช่น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายฟอง สิทธิธรรม, นายจำลอง ดาวเรือง, นายถวิล อุดล, นายเตียง ศิริขันธ์ และนายทิม ภูริพัฒน์ ในข้อหากบฏ ที่เรียกกันว่า "กบฏแบ่งแยกดินแดน" โดยตั้งข้อกล่าวหาว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ มีแผนการที่จะแบ่งแยกดินแดนในภาคอีสาน เพื่อสถาปนาเป็น "สมาพันธรัฐแหลมทอง" แต่ก็ต้องปล่อยตัวไปในเวลาไม่นาน เนื่องจากมีเอกสิทธิคุ้มครองทางการเมืองด้วยสถานภาพเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

แต่สภาพกดดันเหล่านี้ทำให้ผู้นำฝ่ายพลเรือนที่สนับสนุนนายปรีดี เช่น พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, นายทองเปลว ชลภูมิ, นายไสว สุทธิพิทักษ์, นายทอง กันฑาธรรม, นายพึ่ง ศรีจันทร์ และนายทวี บุญเกตุ เป็นต้น ต้องกบดานหรือไม่ก็ลี้ภัยการเมืองไปยังต่างประเทศ และไม่อาจที่จะเข้ามามีบทบาททางการเมืองได้ระยะหนึ่ง สำหรับนายกรัฐมนตรีคนแรกและคนเดียวที่มาจากทหารเรือ พล.ร.ต.ถวัลย์หลบหนีไปลี้ภัยอยู่ที่ฮ่องกง ก่อนจะเดินทางกลับมายังประเทศไทยในเวลาต่อมาและถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2531 ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

ทว่าแม้จะมีการประกาศใช้รัฐ ธรรมนูญ มีการเลือกตั้งทั่วไป แต่ข้อเท็จจริงที่เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไป คือ ผู้มีอำนาจที่แท้จริงก็คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารบกนั่นเอง หลังจากนั้นมีคณะบุคคลที่เรียกตัวเองว่า "คณะประชาธิปไตย" ประกอบด้วยนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง นำโดย พล.ท.พระยาเทพหัสดิน รวมทั้ง ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ เช่น นายเลื่อน พงษ์โสภณ, นายฟอง สิทธิธรรม, นายเลียง ไชยกาล ได้ร่วมกันสนับสนุน จอมพล ป. ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยประกาศว่าจะขอ "สนับสนุนจอมพล ป.ตลอดกาล" มีการเคลื่อนไหวรวมตัวกันที่สนามหลวงและสวนลุมพินี มีการล่ารายชื่อสนับสนุนจอมพล ป.

จากนั้นในวันที่ 6 เมษายน เวลา 8.00 น. กลุ่มนายทหาร ประกอบด้วย พ.ท.ก้าน จำนงภูมิเวท, พล.ต.สวัสดิ์ สวัสดิรณชัย สวัสดิเกียรติ, พ.อ.ขุนศิลปศรชัย และ พ.ท.ละม้าย อุทยานานนท์ แต่งกายเต็มยศขัดกระบี่ถือปืนเข้าพบ นายควง อภัยวงศ์ ยื่นข้อเสนอขอให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายใน 24 ชั่วโมง โดยอ้างว่า "คณะทหารแห่งชาติ" ที่ทำรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 เห็นว่ารัฐบาลนายควงไม่สามารถแก้ไขปัญหาภาวะตกต่ำของบ้านเมืองในทุกๆด้านลง ได้

เมื่อนายทหารกลุ่มนี้กลับไปแล้ว ในเวลา 12.00 น. นายควงได้ส่งนายทหารคนสนิทเข้าพบนายทหารชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นแกนนำในการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน เพื่อขอคำยืนยันที่ฐานบัญชาการ ณ วังสวนกุหลาบ ซึ่งก็ไม่ได้คำชี้แจงที่ชัดเจนแต่อย่างใด กระทั่งเวลา 14.00 น. พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ เดินทางมายืนยันถึงความต้องการของคณะนายทหารต่อนายควงด้วยตัวเองถึงบ้านพัก

นายควงพยายามติดต่อกับผู้บัญชาการทหารเรือและผู้บัญชาการทหารอากาศ เพื่อขอความคุ้มครองแต่ไม่เป็นผล จึงเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นการฉุกเฉินที่บ้านพัก แม้นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะแจ้งว่า พร้อมสั่งการให้ตำรวจเข้าดำเนินการจับกุมคณะนายทหารกลุ่มนี้เสียในฐานะเป็นกบฏ แต่ที่ประชุมไม่เห็นด้วย ด้วยเกรงว่าจะเป็นเหตุให้เกิดการนองเลือด ที่สุดในเวลา 16.00 น. ที่ประชุมได้ร่างหนังสือกราบบังคมทูลลาออกของนายควง และมีมติให้นายควงพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 8 เมษายน และปลายเดือนเมษายนปีเดียวกันนั้น คณะรัฐมนตรีมีมติให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เนื่องจากเป็นปฏิบัติการที่กระทำกันเป็นการภายใน ใช้นายทหารเพียงไม่กี่คน โดยไม่มีการเคลื่อนย้ายกำลังพลใดๆ ทำให้ได้ชื่อว่า "รัฐประหารเงียบ" สื่อมวลชนในขณะนั้นถึงกับใช้ข้อความว่าเป็น "การจี้นายกรัฐมนตรี" ในหน้าหนังสือพิมพ์และวิทยุ

การรัฐประหารครั้งนี้พลิกโฉมหน้าการเมืองไทยไปโดยสิ้นเชิง เพราะจากนั้นเป็นต้นมา อำนาจที่แท้จริงถูกแย่งยึดมาอยู่ในมือฝ่ายทหารสืบเนื่องมาเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษ แม้จะมีบางช่วงบางขณะที่ดูเหมือนว่า ชาติบ้านเมืองจะมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่การรัฐประหารและการฉีกรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่บังคับใช้อยู่ในแต่ละห้วงเวลา โดยไม่มีการต่อต้านขัดขวางที่เกิดผลในทางปฏิบัติที่เป็นจริง ล้วนเป็นข้อพิสูจน์ยืนยันลักษณะเผด็จการทหารอยู่เสมอมา

และที่สำคัญเป็นการขจัดกลุ่มอำนาจของคณะราษฎร และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายปรีดี พนมยงค์ ให้สิ้นไปจากเวทีการเมือง ส่งผลให้นายปรีดี ต้องขอลี้ภัยการเมืองที่ต่างประเทศตราบจนถึงแก่อนิจกรรม.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 25 - 31 กรกฎาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประชาชนสร้างอุดมการณ์ อุดมการณ์สร้างพรรค พรรคสร้างนโยบาย นโยบายสร้างชาติ

ประชาชนสร้างอุดมการณ์ อุดมการณ์สร้างพรรค
พรรคสร้างนโยบาย นโยบายสร้างชาติ


ผลจากการเลือกตั้งท้องถิ่นในเขต กทม. เมื่อไม่นานมานี้ และมาจนถึงผลการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 5 คน 5 เขต ในเดือนก่อนสิ้นพุทธศักราช 2553 บ่งบอกนัยทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างสำคัญ ถึงเวลาแล้วที่การเมืองแบบ 2 ขั้วอำนาจแย่งกันบริหารงบประมาณจะต้องยุติลง เพื่อยกระดับไปสู่สร้างพรรคการเมืองที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง จากรากฐานประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

จากบทความ "ประชาธิปไตยจงเจริญ ประชาชนต้องสรุปบทเรียน" ในคอลัมน์ "พายเรือในอ่าง" นี้เมื่อวันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม 2551 ผู้เขียนได้เสนอไว้ว่า

**********

ถึงที่สุดแล้วประชาชนไม่เพียงต้องการพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ทำหน้าที่แค่เป็นตัวแทน หรือเป็นปากเสียงเข้าไปบริหารจัดการบ้านเมือง เพื่ออำนวยประโยชน์สุขอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมแก่ทุกกลุ่มผลประโยชน์ในสังคม

ประชาชนต้องการพรรคการเมืองที่ตรวจสอบได้ นักการเมืองที่เลือกตั้ง-ถอดถอนได้ พรรคการเมืองที่มีจุดยืนและนโยบายที่มาจากระดับรากหญ้าอย่างแท้จริง เป็นพรรคการเมืองที่สมาชิกพรรคทุกคนเป็น "เจ้าของ" มีสิทธิมีเสียง สามารถวิพากษ์วิจารณ์ และก้าวเดินร่วมกันเพื่อสร้างสังคมตามอุดมการณ์ของพรรคอย่างมีพลัง

เป็นพรรคการเมืองที่ "รับฟัง" เสียง "เจ้าของประเทศ" หรืออย่างน้อยในระดับ "เจ้าของพรรค" ที่นักการเมืองพึงสดับตรับฟัง แทนที่จะ "ดึงดัน" เดินหน้าแม้จนถลำลงไปสู่ห้วงเหวที่พลั้งพลาดสร้างเอาไว้ด้วยตัวเอง หรือติดบ่วงกับดักที่ฝ่ายตรงข้ามสร้างขึ้น

**********

และหลังจากนั้นในหลายกรรมหลายวาระ ผู้เขียนเสนอให้ประชาชนต้องสร้างการเมืองจากระดับถนน-ตรอก-ซอก-ซอย หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค และระดับชาติ ที่ผู้แทนหน่วยพรรคขึ้นไปเลือกตัวแทนพรรคเข้าไปทำหน้าที่ "ฝ่ายนิติบัญญัติ" จากนั้นจึงให้ผู้แทนหน่วยพรรค เลือกตัวแทนไปชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในฐานะ "ประมุขฝ่ายบริหาร" ทั้ง 2 ประการ จะทำให้อำนาจอธิปไตย 2 อำนาจ คือ ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ แยกจากกันและสามารถนำไปสู่การตรวจสอบและคานอำนาจกันได้ ในเวลาเดียวกัน "ประมุขฝ่ายตุลาการ" ก็ผ่านการเสนอโดยฝ่ายบริหารและตรวจสอบรับรองโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ทำให้อำนาจตุลาการ "ยึดโยง" กับประชาชนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

เริ่ม ต้นที่การสร้างหน่วยพรรคพื้นฐานจากอุดมการณ์ที่ชัดเจน ตามมาด้วยตั้งสาขาพรรคประจำตำบล ระดับอำเภออำเภอ สู่ระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับชาติ พรรคการเมืองเช่นนี้จะเข้มแข็ง ไม่อาจทำลายได้

ก่อนอื่น จำเป็น "ต้อง" มีระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แท้จริงเป็นเบื้องต้น จึงจะมีรัฐธรรมนูญของประชาชนได้ จะมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้ ก็ต้องสร้าง "สำนึกประชาธิปไตย" ในหมู่ประชาชน เพียง 51% ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง และที่สำคัญ "ต้อง" ขจัดเสียซึ่ง "แนวทางรัฐธรรมนูญนิยม" และ "การเลือกตั้งใต้กติกาเผด็จอำนาจ" ลงไปให้ได้ ไม่อย่างนั้น "วงจรอุบาทว์" ทางการเมือง นับแต่การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ที่เป็นการจงใจฉีกทำลายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 9 พฤษภาคม 2489 ก็จะไม่หมดไปจากสังคมไทย

ขบวนประชาธิปไตยควรทบทวน และวางแผนใช้เวลาและทรัพยากรที่มีทั้งหมด "วางเป้าหมายแนวทางการเมือง" และ "การให้การศึกษาทางประชาธิปไตย" ที่ลงลึก และแพร่ขยายให้กว้างไกลตามสภาวการณ์ที่ประชาชนตื่นตัวกันในขอบเขตทั่วประเทศอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

และถึงเวลาแล้วอีกเช่นกัน ที่ฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ได้ต้องการมี "ผู้นำพรรคการเมือง" ที่มีเพียงเป้าหมาย "ชนะเลือกตั้ง" เข้าไปบริหาร "งบประมาณแผ่นดิน" โดยไม่พยายามชี้แจงแก่ประชาชนว่า "ประชาธิปไตย" มีหลักการอย่างไร เราจะสร้างประชาธิปไตยสำหรับประเทศเราด้วยรูปแบบไหน แล้วถึงมาร่วมกันคิดว่า "เราจะทำอย่างไรจึงจะได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แท้จริง"

พลเมือง อเมริกันรุ่นบุกเบิกสร้างประเทศที่เป็นประชาธิปไตยสมัยใหม่ชาติแรกในประวัติ อารยธรรมของมนุษย์ รู้ว่าสู้เพื่ออะไร ต้องใช้เวลาถึง 8 ปีจึงได้ชัยชนะในที่สุดใน "สงครามประกาศอิสรภาพอเมริกัน" (American Revolutionary War หรือ American War of Independence; ค.ศ. 1775-1783)

ข้อสรุปเบื้องต้นคือ ประชาชาติไทยจำนวนไม่น้อย ยังขาดความรู้ความเข้าใจการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ส่วนระบบการศึกษาก็ทำได้แค่ให้คนสอบผ่านใบรับรองวุฒิ เพราะแม้แต่นักวิชาการเอง ยังขาดความรู้ความเข้าใจใน "ปรัชญาประชาธิปไตย" ที่มีรากฐานอยู่ที่ "ปรัชญามนุษยนิยม" ทั้งนี้เพราะระบบคิดดั้งเดิมของเราเป็น "เทวนิยม"

ฝ่ายประชาชนต้องเร่งสร้าง "นักคิด" เพื่อลุกขึ้นท้าทายระบบคิดของอำมาตย์/อภิชนให้ได้โดยเร็วและมีความหนักแน่นเป็นปึกแผ่นพอ ที่จะรับการ "โจมตี" ทางปรัชญาได้ทุกรูปแบบ

จากนี้ไปท่าทีชนิดหนึ่งที่ฝ่ายประชาธิปไตยควรทบทวนและตระหนักเพื่อเร่งสร้างในระดับจิดสำนึก คือ "การสันทัดในการฟัง" ซึ่งในเวลานี้ จะเจาะจงลงไปด้วยซ้ำว่า คือ "การสันทัดในการรับฟังความเห็นที่แตกต่าง" ทั้งในระหว่างมิตรสหายในแนวร่วมของขบวนประชาธิปไตยประชาชน และแม้กระทั่งความเห็นต่างขั้วจากประชาชนกลุ่มอื่นๆ ที่มีความหลากหลายในสังคม

ประเด็นหนึ่งที่ดูเหมือนว่าในขบวน "สร้างประชาธิปไตย" หรือขบวนที่อ้างเป้าหมายดังกล่าวหากสนับสนุนระบอบ "เผด็จการ" ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย ยังคงไม่สามารถทำความเข้าใจและยืนยันจุดยืนในการ "สร้าง" ยิ่งกว่าการ "ทำลาย" ด้วยการละเมิดหลักการที่ผู้เขียนเคยเสนอไว้ในโลกไซเบอร์หลายครั้งในรอบปีที่ผ่านมา นั่นคือหลักคิดที่ว่า "ประชาธิปไตยไม่อาจสร้างได้ด้วยความเกลียดชัง ความอาฆาตมาดร้าย และความกระเหี้ยนกระหือกระหายเลือด" สิ่งเหล่านั้น จะสร้างได้ก็เพียง "ระบอบทรราชย์(ใหม่)" ขึ้นมาเท่านั้นเอง

สำหรับในสถานการณ์เบื้องหน้าท่าทีต่อการเลือกตั้งที่อาจมีขึ้นเมื่อฝ่ายปฏิกิริยาเห็นช่องทางที่ได้เปรียบ ขอเสนอจุดยืนที่ให้ "ประชาชนสร้างอุดมการณ์ อุดมการณ์สร้างพรรค พรรคสร้างนโยบาย นโยบายสร้างชาติ"

เป็นพรรคการเมืองที่ประกาศจุดยืนสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้นในปิตุภูมิ ที่อำนาจอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนอย่างแท้จริง สามารถตรวจสอบ เลือกตั้งและถอดถอนได้ และพลเมืองมีเสรีภาพในการคิดและแสดงความคิดเห็น (Freedom of Speech) ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 25-31 ธันวาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (18)

รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490:
รากฐานระบอบเผด็จการขุนศึก

พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (ซ้าย) ขณะเดินสนทนากับ พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ในงานเปิดสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2484

เมื่อรัฐบาลพรรคแนวรัฐธรรมนูญร่วมกับพรรคสหชีพเข้าบริหารประเทศ พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจด้วยการจัดตั้ง "องค์การสรรพาหาร" ขึ้นมาซื้อของแพงมาจำหน่ายในราคาถูกเพื่อตรึงราคาสินค้า เรียกเก็บธนบัตรที่ฝ่ายสัมพันธมิตรนำเข้ามาใช้จ่าย และออกธนบัตรใหม่ให้แลก รวมทั้งนำเอาทองคำซึ่ง เป็นทุนสำรองของชาติออกขายแก่ประชาชน

ทว่ารัฐบาลและรวมทั้งตัวนายกรัฐมนตรีกลับถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นในการส่งข้าวชั้นดีออกขายนอกประเทศ เหลือแต่เพียงข้าวหักสำหรับเลี้ยงสัตว์ไว้ให้ประชาชนบริโภคเองในประเทศ ทำให้ฝ่ายค้านโดยพรรคประชาธิปัตย์เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจยาวนานถึง 7 วัน 7 คืน ติดต่อกัน คือระหว่างวันที่ 19 - 26 พฤษภาคม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุ แม้จะได้รับความไว้วางใจ แต่กระแสกดดันที่รุนแรงทั้งในและนอกสภาฯ ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องลาออกในวันรุ่งขึ้น และได้รับเลือกกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อทันทีในวันถัดมา

จากความแตกแยกกันเองในหมู่นักการเมืองและประชาชนหลังเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 ประกอบกับมีการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงราชการ แม้ว่าบทบาทของ พล.ร.ต. ถวัลย์ในช่วงนี้ คือ การเจรจาทำความเข้าใจกัน เพื่อประสานรอยร้าวระหว่างขั้วการเมืองทั้งสองฝ่าย จนได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า "นายกฯลิ้นทอง" แต่สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้นจนนำไปสู่การรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

กลุ่มทหารนอกราชการที่นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ น.อ.กาจ กาจสงคราม พ.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.อ.ถนอม กิตติขจร พ.ท.ประภาส จารุเสถียร และ ร.อ.สมบูรณ์ (ชาติชาย) ชุณหะวัณ นำกำลังทหารยึดอำนาจจากปกครองจากรัฐบาล

เดิมทีแผนการรัฐประหารกำหนดให้เริ่มดำเนินการในเวลา 05.00 น. ของวันที่ 8 พฤศจิกายน แต่ทว่า พล.อ.หลวงอดุยเดชจรัส ผู้บัญชาการทหารบก ทราบเสียก่อน จึงมีคำสั่งเรียกให้นายทหารทุกชั้นเข้ามารายงานตัว คณะรัฐประหารจึงร่นเวลาเข้ามา เริ่มตั้งแต่เวลา 23.00 น. ของคืนวันที่ 7 พฤศจิกายน ต่อเนื่องถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน กองกำลังรถถังส่วนหนึ่งบุกเข้าไปที่ เวทีลีลาศ สวนอัมพร เข้าควบคุมตัว พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และรถถังอีกส่วนหนึ่งบุกเข้าไปประตูทำเนียบท่าช้างวังหลวงเพื่อควบคุมตัว นายปรีดี พนมยงค์ แต่นายปรีดีได้หลบหนีไปทางเรือก่อนหน้านั้นไม่นาน เหลือเพียง ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และลูกๆเท่านั้น

เช้าวันที่ 8 พฤศจิกายน พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ หัวหน้าคณะรัฐประหาร แถลงในนาม "คณะทหารแห่งชาติ" ต่อสื่อมวลชนด้วยน้ำตาว่าทำไปเพราะความจำเป็น จนได้รับฉายาว่า "วีรบุรุษเจ้าน้ำตา" หรือ "บุรุษผู้รักชาติจนน้ำตาไหล" ถึงสาเหตุของการรัฐประหารในครั้งนี้ ซึ่งต่อมาปรากฏอยู่ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2490 หรือที่เรียกกันว่า "รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม" (เนื่องจากมีเรื่องเล่าลือกันว่าซ่อนไว้อยู่ใต้ตุ่มแดง ร่างโดย น.อ.กาจ กาจสงคราม รองหัวหน้าคณะรัฐประหาร) ที่ประกาศใช้ในวันถัดมา ว่า

"บัดนี้ประเทศชาติตกอยู่ในภาวะวิกฤตการณ์ ประชาชนพลเมือง ได้รับความลำบากเดือดร้อน เพราะขาดอาหาร เครื่องนุ่งห่มและขาดแคลนสิ่งอื่น ๆ นานัปการ เครื่องบริโภคอุปโภคทุกอย่างมีราคาสูงขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก เป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมทรามในศีลธรรมอย่างไม่เคยมีมาก่อน…ผู้บริหารราชการแผ่นดินและสภาไม่อาจดำเนินการแก้ไขสิ่งที่ไม่ดีให้กลับสู่ภาวะดังเดิมได้…เป็นการผิดหวังของประชาชนทั้งประเทศ…ถ้าจะคงปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ก็จะนำซึ่งความหายนะแก่ประเทศชาติ…"

จากนั้นในวันที่ 10 พฤศจิกายน คณะทหารแห่งชาติจึง "แต่งตั้ง" ให้นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยให้สัญญาว่าจะไม่แทรกแซงการทำงาน ซึ่งคณะทหารแห่งชาติได้ตั้งสภาขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า "คณะรัฐมนตรีสภา" และจัดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2491 พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงข้างมาก นายควง อภัยวงศ์ จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเป็นรัฐบาลพลเรือน

ผลจากการรัฐประหาร 2490 ประการสำคัญที่เกิดขึ้นคือ เนื้อหาสาระในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เพิ่มอำนาจพระมหากษัตริย์มากขึ้นและมีการรื้อฟื้นองค์กรในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชกลับมาอีกครั้ง (พลเรือตรีสังวรยุทธกิจ, "เกิดมาแล้วต้องเป็นไปตามกรรม คือ กฎแห่งธรรมชาติ", อนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรณ์ยุทธกิจ ณ เมรุวัดธาตุทอง วันที่ 29 ธันวาคม 2516, กรุงเทพฯ:ชวนพิมพ์, หน้า 161 เรียกรัฐบาลชุดของนายควงนี้ว่า รัฐบาลประเภท "จับแพะชนแกะ", และ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2491-2500). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2550, หน้า 105-106) ที่สำคัญคือ "อภิรัฐมนตรี" (สุชิน ตันติกุล, "ผลสะท้อนทางการเมืองของรัฐประหาร พ.ศ.2490", วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2517, หน้า 103) อภิรัฐมนตรีชุดแรก ประกอบด้วย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต, พลโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลงกฎ, พระยามานวราชเสวี และ พลเอก อดุล อดุลเดชจรัส ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆมา เรียกเป็น "องคมนตรี" ทั้งนี้ คณะ รัฐมนตรีของรัฐบาลนายควงที่ตั้งขึ้นหลังการรัฐประหารประกอบขึ้นจาก พระราชวงศ์ และขุนนางเก่า มากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนหลังการอภิวัฒน์สยาม 2475

กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงเรียกบรรยากาศทางการเมืองหลังการรัฐประหารว่า "วันใหม่ของชาติ" (กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (2512), เจ็ดรอบอายุกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร, พระนคร : พระจันทร์, หน้า 118.) ในขณะที่ พลเรือตรีถวัลย์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกโค่นล้ม ได้วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ว่า "รัฐธรรมนูญใหม่นี้เป็นเรื่องถอยหลังเข้าคลอง...อำนาจสิทธิ์ขาดไปอยู่ที่พระมหากษัตริย์ อย่างนี้คุณเรียกได้หรือว่าประชาธิปไตย" (การเมืองรายสัปดาห์, 29 พฤศจิกายน 2490, ใน สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2491-2500). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2550, หน้า 176)

นอกจากนั้นฐานะการดำรงอยู่ในทางการเมืองของขบวนการเสรีไทยก็ถูกคณะรัฐประหาร 2490 และกลุ่มอนุรักษ์นิยมตั้งข้อระแวงสงสัยอย่างเห็นได้ชัด แต่กลุ่มอดีตเสรีไทยที่สนับสนุนนายปรีดียังไม่ถูกปราบปรามลงในทันที เนื่องจากคณะรัฐประหารจำเป็นต้องจัดการปัญหาอำนาจทับซ้อนในกองทัพเสียก่อน ทั้งต้องการฟื้นบทบาทอันเนื่องมาจากถูกลดความสำคัญภายหลังสงครามกลับคืนมา

ไล่ตั้งแต่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นผู้บัญชาการทณฑลทหารบกที่ ๑ พันเอกเผ่า ศรียานนท์ไปควบคุมกรมตำรวจในตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจ แม้ว่า พล.ท.ชิด มั่นศิลปสินาดโยธารักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะไม่เห็นชอบ และด้วยสถานภาพนี้เองที่พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ใช้เป็นฐานเริ่มต้นในการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามตลอดระยะเวลา 5 ปีตั้งแต่รัฐประหาร 2490

จากนั้นคณะรัฐประหาร โดยอาศัยอำนาจตาม "พระราชกำหนดคุ้มครองความสงบสุขเพื่อให้การดำเนินไปตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2490" ก็เปิดฉากกวาดล้างพลพรรคเสรีไทยสายนายปรีดี เช่น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ถูกจับกุมพร้อมพรรคพวกรวม 21 คนในข้อหาครอบครองอาวุธโดยมิชอบ จับกุมนายจำลอง ดาวเรือง และนายทอง กันฑาธรรม ในข้อหาฆ่าคนตาย จับนายวิจิตร ลุลิตานนท์ และนายทองเปลว ชลภูมิ ในข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวง ทว่าก็ต้องปล่อยตัวไปทั้งหมดในเวลาต่อมาเนื่องจากไม่มีพยานหลักฐาน นอกจากนี้ยังมีการติดตามพฤติการณ์ของอดีตนักการเมือง-เสรีไทย เช่น นายอ้วน นาครทรรพ นายพึ่ง ศรีจันทร์ ร.ท.กระจ่าง ตุลารักษ์ นายทิม ภูริพัฒน์ และนายเยื้อน พานิชย์วิทย์ เป็นต้น

ส่วนผู้ที่ยังไม่ถูกจับกุมนั้น ก็พยายามแสวงหาหนทางที่จะต่อต้านคณะรัฐประหาร เช่น นายเตียง ศิริขันธ์ ได้รวบรวมกำลังอาวุธและพลพรรคหลบหนี ไปซุ่มซ่อนตัวอยู่บนเทือกเขาภูพานเป็นผลสำเร็จ.


ปรับปรุงจาก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 18 - 25 กรกฎาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2554

ข้อเสนอทบทวนและคำถามต่อทิศทางขบวนประชาธิปไตย

ข้อเสนอทบทวนและคำถามต่อทิศทาง
การเคลื่อนไหวของขบวนประชาธิปไตย


ผ่านไป 4 ปีกับ 3 เดือน นับจากวันอัปยศ 19 กันยายน 2549 "โจรกบฏ" ยังลอยนวล หน้าเชิด รวมทั้งผู้สมรู้ร่วมคิดรับหน้าเสื่อ "รัฏฐาธิปัตย์" หรือบางทีอาจรวมไปถึง "ผู้บงการใหญ่" ยังเป็นที่เคารพนบไหว้จากผู้คนมากหน้าหลายตาที่ไม่เคยให้ความสำคัญกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้ง "รัด-ทำ-มะ-นูน 2550" หรือนัยหนึ่ง "กฎโจร" ซึ่งเต็มไปด้วยวาระแฝงเร้น ซุกซ่อนเนื้อหาระบอบเผด็จอำนาจ กลับมีความชอบธรรมกดหัวผู้รักสิทธิเสรีภาพ และเหนือสิ่งอื่นใด องค์กรทั้งในและนอกอำนาจอธิปไตย ยังคงลุแก่ธาตุแท้อำนาจนิยมและนโยบาย 2 มาตรฐาน ชำเราประชาชาติไทยไว้ใต้เงื้อมเงาทมิฬ

หากขบวนประชาธิปไตยที่เกิดและเติบโตขึ้นทั้งเก่าและใหม่ยังคงเฝ้าเดินตามรอยเส้นทางซ้ำซาก เพียงเปลี่ยนรูปแบบและโฉมหน้า บนเนื้อหาและจุดยืน และความคิดชี้นำ พร้อมกับประดิษฐ์วาทกรรมว่างเปล่าที่วนเวียนอยู่ในเขาวงกตของ "แนวทางรัฐธรรมนูญนิยม" และ "การเลือกตั้งสามานย์"

การ ผูกขาดแนวทางที่เป็นเพียงวาทกรรมสวยหรู การกีดกันระบบความคิดที่เรียกร้องให้มีการการสรุปบทเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ข้อเสนอให้สำรวจจุดยืนและหลักนโยบายของการนำที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นการนำโดยการแสดงออกอย่างชัดเจนมาโดยตลอด กลายเป็นความจำเป็นเร่งด่วนและข้อเรียกร้องเฉพาะหน้าเพื่อให้จุดยืน "ซุกขยะใต้พรม" ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว

ข้อกล่าวหาแทบจะทุกข้อกล่าวหาจากฝ่ายปฏิกิริยาปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสร้างขึ้นบนความกำกวม ไม่ชัดเจน และแฝงนัยของการนำในบางระดับ ซ้ำเติมด้วยแนวคิดบนพื้นฐานการปั้นความหวังและกำลังใจเลื่อนลอย รวมทั้งนโยบายเฉพาะหน้าที่ปราศจากเป้าหมายหลักและจุดยืนอันชัดเจน ไม่ขึ้นต่อสถานการณ์ และขาดการวิเคราะห์อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยข้อมูลที่มีความรอบด้าน และรวมถึงการรับฟังมวลชนรอบข้างอย่างเพียงพอ

ผลก็คือ ขบวนประชาธิปไตยประชาชนยังไม่อาจละสายตาจากปลายจมูก เคลื่อนไหวเฉพาะบริบทรอบนอกขอบเขตปริมณฑลของระบอบประชาธิปไตย ยังไม่อาจสร้างความชัดเจนในการให้ความรู้ ความเข้าใจอันเป็นการสร้างรากฐานทางความคิดและจุดยืนอย่างถึงที่สุดแก่มวลชนในส่วนที่ตื่นตัว ที่กระตือรือร้นต่อการเปลี่ยนแปลงและมีความต้องการเข้าร่วมซึมซับรับเอาประสบการณ์จริงของการลุกขึ้นประกาศตัวร่วมสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้นในปิตุภูมิ

ทุกวันนี้ คำถามพื้นฐานถูกเพิกเฉย กลบเกลื่อน กีดกัน ปกปิดบิดเบือน มิหนำซ้ำประเด็นที่ล่อแหลมหมิ่นเหม่ กลายเป็นวิวาทะหลักในหลายกาลเทศะอย่างไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาสำนึก มากไปกว่าตอกย้ำความมีสายตาคับแคบทางการเมือง มิหนำซ้ำยังวนเวียนอยู่เพียงการชูเฉพาะประเด็นตัวบุคคลจนกลายเป็นมีความสำคัญเหนือกว่าระบบ

ในเวลา 3 ปีมานี้ คำถามถึงอำนาจอธิปไตย กลับถูกลดความหมายลงเพียงแนวทางรัฐธรรมนูญนิยมและการเลือกตั้งภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและมีลักษณะเผด็จอำนาจ

การนำที่ปฏิเสธการนำ หากแต่มีแสดงออกอย่างชัดเจนและในทุกรูปแบบ และยิ่งไปกว่านั้น การพยายามปฏิเสธความคิดชี้นำ ทั้งที่มีการกระทำอย่างมีนัยตลอดเวลา ให้แพร่ขยายไปในหมู่มวลชน ส่งผลต่อการมองข้ามข้อเสนอ "แปรเปลี่ยนพลังมวลชนประชาธิปไตยจากทรายร่วนให้เป็นดินเหนียว" นั่นคือกิจกรรมจำนวนมากมากยังล้อมรอบทิศทางการเคลื่อนไหวใจกลางที่ปราศจากเป้าหมายหลักในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

นั่นคือการจัดกิจกรรมจำนวนมากมายที่ปราศจากเป้าหมายหลัก ล้วนแล้วแต่เป็นการเคลื่อนไหวเพียงบางบริบทล้อมรอบ โดยละเลยการมุ่งเข้าสู่ภารกิจใจกลางในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ถึงเวลานี้ ฝ่ายนำทุกระดับ ทุกองค์กรแนวร่วม และกระทั่งมวลชนที่ก่อรูปเป็นกลุ่มเคลื่อนไหว ต้องตอบโจทย์จุดยืนและทิศทางที่ชัดเจนได้แล้วว่าจะขับเคลื่อน "ขบวนประชาธิปไตยประชาชน" ไปสู่ "การเลือกตั้ง" หรือไปสู่ "การสร้างประชาธิปไตย"

การเคลื่อนไหวใหญ่ของฝ่ายประชาชน 4 ครั้ง ชั่วเวลากว่า 3 ทศวรรษ นับแต่ เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ที่ยิ่งใหญ่ ประชาชนได้รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งที่นำไปสู่การปราบปราม 6 ตุลาฯ; ตามมาด้วย เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ’35 ประชาชนได้นายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง และรัฐธรรมนูญ 2540 บนพื้นฐานแนวทางรัฐธรรมนูญนิยม ที่จบลงโดยการรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ; จนมาถึงการเคลื่อนไหวชุมนุมในเดือนมีนาคม-เมษายน 2552 เรียกร้องการลาออกของประธานองคมนตรี นำมาซึ่งการใช้ความรุนแรงเข้าสลายด้วยความรุนแรง; และล่าสุดการชุมนุมเรียกร้องการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 นำมาซึ่งการสังหารหมู่ต่อเนื่องระหว่างวันที่ 10 เมษายน ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม

การเสียสละชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่าของวีรชนประชาชนเหล่านั้น เพียงแลกได้มาซึ่งบางบริบทของประชาธิปไตย นั่นคือรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งที่ไม่เคยมีความชอบธรรม

ดังนั้นเพื่อการได้มาซึ่งประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การเร่งทำความเข้าใจและสรุปสถานการณ์นับจากอดีต ประมวลผล และที่สำคัญที่สุดคือการ ประเมินสภาวการณ์ที่เป็นจริงของพลังทั้งฝ่ายประชาธิปไตย และฝ่ายปฏิกิริยา/ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย เท่านั้น จึงจะส่งผลให้ข้อเรียกร้องมาตลอด บรรลุผลในทางเป็นจริงได้ นั่นคือข้อเรียกร้องที่ว่า "เลือดวีรชนต้องไม่ไหลเปล่า"

หลัง ความเจ็บปวดและความทรงจำลึกซึ้ง จากการสังหารหมู่ 19 พฤษภาคม 2553 ขบวนประชาธิปไตยประชาชนก็ขับเคลื่อนไปวันต่อวัน สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า เดือนแล้วเดือนเล่า ขบวนแถวที่ผู้คนมองเห็นแต่ฝูงชนเป็นกลุ่มก้อน คลุกเคล้าเข้าด้วยอารมณ์ความรู้สึกคล้ายคลึงกัน พูดจาไปในทิศทางเดียวกัน กับเรื่องราวเฉพาะหน้า กับเป้าหมายรูปธรรมเฉพาะหน้า สิ่งที่ยังคงขาดหาย คือ "การใส่ใจ" ที่จะรับฟังอย่างพินิจพิเคราะห์ใน "ความเห็นที่แตกต่าง" ออกไป รวมทั้งที่เริ่มตระหนักการวิเคราะห์รูปธรรมอย่างเป็นรูปธรรม

จนถึงเวลานี้ ในประเทศนี้ยังไม่เคยเกิดสิ่งที่เรียกว่า "แนวร่วมแห่งชาติ" ที่มีเป้าหมายเป็นเอกภาพชัดเจน ทั้งในรูปแบบความคิดทางประชาธิปไตย และทั้งที่เป็นเค้าโครงรูปการปกครองที่กำลังฟันฝ่าให้ได้มาก น่าเสียดาย ที่หลายคนยังคงยืนยันว่า "งวงคือช้าง" ขณะที่อีกหลายคนประกาศหนักแน่นว่า "งาคือช้าง" หรือที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ "หางคือช้าง"

จากประสบการณ์ความเจ็บปวดชอกช้ำในความเป็นฝ่ายถูกกระทำมาตลอด 2 ปี บางทีนี่อาจถึงเวลาแล้วที่ประชาชน โดยเฉพาะประชาชนเสื้อแดง จะต้องเปิดใจให้กว้าง เพื่อจะค้นพบให้ได้ว่า "ช้างประชาธิปไตย" มีรูปร่างหน้าตาที่เป็นองค์รวมอย่างไร.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 18-24 ธันวาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (17)

เส้นทางสู่จุดจบคณะราษฎร:
คืนสุกดิบก่อนยุคทมิฬ


หลังจาก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2489 และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 มกราคม โดยพันตรีควง อภัยวงศ์ ได้รับเสียงสนับสนุนจากสภา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 31 มกราคม แต่แล้วในวันที่ 18 มีนาคมก็กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากสภาฯ ได้ผ่านร่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขัน (พ.ร.บ.ปักป้ายราคาสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ "พ.ร.บ.ปักป้ายข้าวเหนียว") ที่เสนอโดย นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส.อุบลราชธานี ฝ่ายค้าน (ในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย เขตอุบลราชธานี) ด้วยคะแนน 65 ต่อ 63 เสียง

ต่อมาในวันที่ 24 มีนาคม นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับการสนับสนุนจากสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และต่อมาได้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

ก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ. 2488 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก่อตั้งพรรคการเมืองพรรคแรกขึ้นในนาม "พรรคก้าวหน้า" ก่อนจะยุบรวมเข้ากับพรรคประชาธิปัตย์ในปีต่อมา ซึ่งมีการประชุมกันก่อตั้งโดยนักการเมืองกลุ่มหนึ่งที่บริษัทของนายควง อภัยวงศ์ ที่ย่านเยาวราช ในวันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2489 จุดประสงค์เป็นฝ่ายค้านคานอำนาจของนายปรีดี พนมยงค์

ผู้บัญญัติชื่อ "ประชาธิปัตย์" คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช รองหัวหน้าพรรคคนแรกและหัวหน้าพรรคคนที่สอง โดยมี นายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเลขาธิการพรรค และ นายชวลิต อภัยวงศ์ เป็นรองเลขาธิการพรรค

ในเวลาไล่เรี่ยกันทางด้านผู้สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ ก็มีการเคลื่อนไหวจัดตั้งพรรคการเมืองเช่นกัน หนึ่งคือ "พรรคแนวรัฐธรรมนูญ" มี พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แกนนำคนสำคัญของคณะราษฎรสายทหารเรือ เป็นหัวหน้าพรรค สมาชิกส่วนใหญ่เป็นอดีตผู้ก่อการ 24 มิถุนายน 2475 และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท 2 (แต่งตั้ง) ได้แก่ พลเอกอดุล อดุลเดชจรัส นายสงวน จูฑะเตมีย์ นายดิเรก ชัยนาม หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์ พันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม เป็นต้น โดยมี นายทองเปลว ชลภูมิ เป็นเลขาธิการพรรค

และอีกพรรคหนึ่งคือ "พรรคสหชีพ" ซึ่งประกอบด้วยอดีตสมาชิกขบวนการเสรีไทยส่วนหนึ่งและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นส่วนใหญ่ เช่น นายเตียง ศิริขันธ์ นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล เป็นต้น กับกลุ่มนักการเมืองฝ่ายพลเรือนอื่นๆ ที่สนับสนุนนายปรีดี เช่น นายจรูญ สืบแสง นายสงวน ตุลารักษ์ โดยมี นายเดือน บุนนาค เป็นหัวหน้าพรรค

มีข้อสังเกตคือทั้ง 2 พรรคมีลักษณะเป็นกลุ่มการเมืองในสภา มากกว่าเป็นพรรคการเมืองที่มีฐานการเมืองนอกสภาหรือพรรคในแนวมวลชน

ในวันที่ 9 พฤษภาคม รัฐสภามีรัฐพิธีลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ของประเทศ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล โปรดเกล้าฯ ให้นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ กล่าวกัน ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2489 มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า 2 ฉบับก่อนหน้านั้น แต่ได้มีการบังคับใช้เพียง 18 เดือน (10 พฤษภาคม 2489 - 8 พฤศจิกายน 2490)

การที่อดีตสมาชิกขบวนการเสรีไทยที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์สามารถรวบรวมกำลังเป็นปึกแผ่นได้เช่นนี้ ส่งผลให้ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในเวลานั้นมีความเข้าใจกันว่า "เสรีไทย" หมายถึงกลุ่มของนายปรีดี และเป็นอริกับฝ่ายทหารบก ดังนั้นเมื่อจอมพล ป.พิบูลสงครามประกาศว่าจะเข้ามาในวงการเมืองอีกครั้ง โดยร่วมมือกับหลวงวิจิตรวาทการ และพลเอกมังกร พรหมโยธีจัดตั้ง "พรรคธรรมาธิปัตย์" ก็มีการประชุมลงมติต่อต้านคัดค้านจากสมาชิกพรรคสหชีพจากภาคอีสาน

รัฐบาลภายใต้การนำของนายปรีดีสามารถเจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตรในปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงกับอังกฤษ เรื่องสัญญาสมบูรณ์แบบ และการเจรจาให้รัฐบาลสหรัฐฯ ยกเลิกคำสั่งเพิกถอนเงินซึ่งได้ถูกกักกันไว้ในสหรัฐฯ ทำให้ประเทศไทยสามารถแก้ไขสถานะผู้แพ้สงครามได้สำเร็จอย่างละมุนละม่อม จนในเวลาต่อมาสามารถเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติได้เป็นผลสำเร็จในวันที่ 15 ธันวาคม 2489

ในระหว่างการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ผสมจากพรรคการเมืองที่ประกอบขึ้นจากคณะราษฎรบางส่วนและอดีตสมาชิกขบวนการเสรีไทยสายในประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ได้หยิบยกประเด็นการดำเนินงานของขบวนการเสรีไทยขึ้นมากล่าวหา-โจมตีฝ่ายนายปรีดี อย่างหนักถึง 5 ประเด็น ทั้งโดยการเคลื่อนไหวในรัฐสภาคือการตั้งกระทู้ถามผ่านรัฐสภา การตั้งกรรมาธิการวิสามัญสะสางเงินในงบสันติภาพของเสรีไทย และการโจมตีภายนอกรัฐสภาผ่านสื่อมวลชนหนังสือพิมพ์ โดยมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อดิสเครดิตขบวนการเสรีไทยและตัวนายปรีดีเอง

แล้วจุดหักเหทางการเมืองไทยที่มีความสำคัญต่อรากฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สืบเนื่องมาอีกกว่า 50 ปีจนถึงทุกวันนี้ก็มาถึง จากเหตุการณ์เสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ทำให้ศัตรูทางการเมืองของนายปรีดี ซึ่งเชื่อกันว่าประกอบด้วยกลุ่มทหารที่สูญเสียอำนาจและพรรคการเมืองฝ่ายค้านฉวยโอกาสนี้ในการเคลื่อนไหวทำลายนายปรีดี โดยการกระจายข่าวไปตามหนังสือพิมพ์ ร้านกาแฟ และสถานที่สาธารณะต่างๆ รวมทั้งมีมือมืดจ้างวานคนไปตะโกนในโรงละครศาลาเฉลิมกรุง (ในเวลานั้น) ว่า "ปรีดีฆ่าในหลวง" ซึ่งกลายเป็นหัวข้อพูดคุยในวงกว้างออกไปทุกที เกิดเป็นกระแสกดดันการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐบาล

เมื่อนายปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 21 สิงหาคม 2489 พรรคแนวรัฐธรรมนูญได้เป็นแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคสหชีพโดยมีพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในภาวะที่บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะวิกฤต เศรษฐกิจฝืดเคือง สินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลน มหาอำนาจกดดันให้ชดใช้ค่าปฏิกรรมสงคราม ทหารบกจำนวนมากไม่พอใจที่ถูกปลดประจำการ และปัญหาประสบความยากลำบากจนไม่สามารถคลี่คลายคดีสวรรคต

รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคแนวรัฐธรรมนูญที่บริหารประเทศได้เพียง 1 ปี 2 เดือนก็ถูกรัฐประหารโค่นล้มอำนาจ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 โดยคณะรัฐประหาร ซึ่งมี พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้า.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 11-17 กรกฎาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8