Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (41)

"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (7)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จเยือนปีนัง พ.ศ. 2467 ซ้ายสุดคือ เจ้าพระยายมราช 

ถัดจากบริบทการเมืองการปกครองแล้ว เจ้าพระยายมราชยังมีความเห็นต่อบริบททางเศรษฐกิจพื้นฐานในสังคมเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม อันเป็นที่มาของความไม่พอใจแก่ราษฎรในพื้นที่ซึ่งถูกมองว่าเป็น "ชาวมลายู" ทั้งนี้เนื่องจากกระบวนเก็บภาษีในการประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม  (อากรค่านา) รวมทั้งการประมง (อากรค่าน้ำ) และป่าไม้ หรือแม้กระทั่งการจ่ายเงินแทนการเข้าเวรในระบบ "ไพร่" หรือที่มีการปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็น "การเกณฑ์ทหารแบบใหม่" เพื่อเป็น "ไพร่หลวง" (เงินรัชชูปการ) นั้น นำความเดือดร้อนมาสู่ราษฎรมากขึ้นยิ่งกว่าการเก็บภาษีอากรในระบอบจตุสดมภ์/ศักดินาก่อนหน้าการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

นั่นคือนอกเหนือจากความไม่พอใจของเจ้าเมืองในระบอบเก่าที่ถูกลิดรอนอำนาจทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจแล้ว ความไม่พอใจยังแผ่ขยายไปสู่ระดับราษฎรในพื้นที่เป็นคู่ขนานกันไป เท่ากับว่าราษฎรในพื้นที่ "หัวเมืองทั้งเจ็ด" เกิดความรู้สึกร่วมกับผู้ปกครองเดิมที่ว่าอำนาจรัฐรัตนโกสินทร์กำลังก่อความเดือดร้อนมาให้ และรบกวนวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางศาสนา ดังได้กล่าวมาแล้ว

พรรณงาม เง่าธรรมสาร บรรยายถึงมุมมองของเจ้าพระยายมราช (ปั้นสุขุม) ในบทความเรื่อง "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" (http://human.pn.psu.ac.th/ojs/index.php/eJHUSO/article/viewFile/45/64) สำหรับบริบททางเศรษฐกิจไว้ว่า:
**********
4. การเก็บภาษีอากร มีมากชนิดเกินไปเก็บ "..หยุมหยิม ไม่หยุดหย่อน" และ มีอัตราเก็บค่อนข้างแรงบางชนิด เช่น เครื่องมือจับสัตว์น้ำ ทำให้คนจนเดือดร้อนมาก การเก็บภาษีต่างๆ ที่นำความเดือดร้อนมาสู่ชาวบ้านที่สำคัญ มีดังนี้

ค่านา เดิมเคยเก็บแบบนาคู่โค โดยแบ่งเป็น นามีโค นาไม่มีโค หรือนาเช่าโค แต่ตั้งแต่ พ.ศ. 2461 มีการเปลี่ยนเป็นเก็บค่านาตามมณฑลชั้นใน คือ ตามจำนวนนาที่ทำจริง ทำให้ราษฎรรู้สึกว่าต้องจ่ายเงินมากขึ้น และเกิดปัญหากับเจ้าหน้าที่เรื่องการ วัดพื้นที่ ซึ่งเห็นต่างออกไปเป็นที่ถกเถียงว่ามากไปบ้าง น้อยไปบ้าง

ค่ารัชชูปการ แปลงมาจากส่วนต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ซึ่งเดิมเก็บ 5 ปี 2 ครั้ง อัตราเก็บมีหลายอัตรา และแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน ถึง พ.ศ. 2461 ได้เปลี่ยนมาเก็บอัตราเดียวกัน ทำให้คนส่วนใหญ่ที่เคยเสียน้อยไม่พอใจ

อากรค่าน้ำ ซึ่งเพิ่งออกประกาศใน พ.ศ. 2465 ทำให้เกิดความเดือดร้อนกันมากเพราะธรรมเนียมการจับสัตว์น้ำที่มณฑลปัตตานีให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมอย่างสูง ซึ่งเจ้าพระยายมราชเน้นว่ามีลักษณะแปลกกว่าที่อื่นทั้งหมด ดังในรายงานที่ว่า
....วิธีจับสัตว์น้ำในมณฑลปัตตานี ถ้าผู้ที่คุ้นเคยกับท้องที่นั้นแล้ว จะต้องเห็นว่าเทียบเคียงกับมณฑลชั้นในไม่ได้เลย ตลอดทั้งประเภทเครื่องมือ วิธีทำการ ประโยชน์ที่ได้ ...เครื่องมือบางอย่างก็ใช้ชั่ว 2-3 เดือน บางอย่างก็ใช้เฉพาะแต่ประเภทปลาชนิดหนึ่ง ด้วยเหตุนี้คนหนึ่งอาจมีเครื่องมือหากินตั้งหลาย ๆ อย่าง สุดแต่ว่าจะไปเหมาะกับฤดูใด หรือพบปลาชนิดใด ก็ใช้เครื่องมือให้ต้องตามลัทธิการในเวลาไป อย่างว่าเห็นฝูงปลาชนิดหนึ่งจะใช้เครื่องมือสำหรับปลาอีกชนิดหนึ่งหาได้ไม่........
ส่วนวิธีหาปลาของชาวประมงที่นั่น ท่านได้รายงานไว้ว่า มีลักษณะที่แปลกออกไปเช่นกัน กล่าวคือชาวประมงจะ "ลงไปดำน้ำในทะเลฟังดูว่าจะมีฝูงปลาชนิดใดหรือเที่ยวตรวจเสียก่อนว่ามีปลาอะไร จึงจะใช้เครื่องมือให้ต้องตามชนิดปลา" จากวิธีการจับสัตว์น้ำเช่นนี้ แต่ละคนจึงต้องมีเครื่องมือหลายชนิด แต่ละชนิดอาจใช้จับสัตว์น้ำปีหนึ่งไม่กี่ครั้ง ดังนั้นจึงต้องเสียค่าเครื่องมือเป็นจำนวนมาก และบางอย่างก็แพงกว่าผลที่จะได้ เนื่องจากมีปัญหาในการคิดภาษี เช่น ในการวัดขนาดเครื่องมือ จะวัดตรงไหน อวน จะวัดที่ปีก หรือที่ถุง ซึ่งราคาจะต่างกันมาก (เป็นต้นว่า ระหว่าง 140 บาทถ้าวัด ที่ปีก และลดถึง 14 บาทถ้าเฉพาะตัวถุง) นอกจากการเก็บภาษีแบบใหม่จะไม่สอดคล้องกับธรรมชาติการทำมาหากินของท้องถิ่น เป็นเหตุให้ประชาชนต้องเสียภาษีมากขึ้นกว่าเดิมแล้ว ปัญหาอีกอย่าง คือ การเปรียบเทียบภาษีในพื้นที่ที่อยู่ติดกับพรมแดนในส่วนของอังกฤษ ซึ่งแม้ทางฝั่งมลายูของอังกฤษมีการเก็บภาษีไม่ถูกกว่า ฝ่ายไทย แต่ไม่จุกจิกเท่า ดังนั้นในเขตพรมแดนที่ติดกัน คืออยู่คนละฝั่งแม่น้ำ เช่น ตากใบ ฝ่ายไทยมีการเก็บภาษี แต่ฝ่ายมลายูใต้อารักขาอังกฤษไม่เก็บ จึงปรากฏว่ามี ชาวบ้านอพยพไปอยู่ฝั่งกลันตัน หรือไม่ก็ปลูกกระท่อมทำมาหากินชั่วคราวฝั่งโน้น หมดฤดูจึงย้ายกลับมาฝั่งไทยก็มี

เจ้าพระยายมราชเห็นว่า ทางแก้ก็คือยกเลิกการเก็บอากรค่าน้ำในมณฑลปัตตานีเสีย หรือผ่อนผันให้เก็บเฉพาะบางตำบลที่สมควร และแก้ไขอัตราค่าเครื่องมือใหม่ให้สมควรตามผลประโยชน์ ท่านเห็นว่าการยกเลิกจะทำให้ราษฎรพอใจ หมดความเดือดร้อน และก่อให้เกิดความเสมอภาคระหว่างสองฝั่งเขตแดน แต่มีประเด็นแย้งได้ว่าการยอมแบบนี้อาจถือเป็นการหลังเข้าคลองและทำให้ราษฎรได้ใจหรือไม่ รวมทั้งอาจทำให้รัฐขาดรายได้ เจ้าพระยายมราชเห็นว่า ข้อสำคัญอยู่ที่เมื่อฝ่ายอังกฤษคนละฝั่งคลองไม่เก็บ หากฝ่ายไทยจะคงเก็บก็จะเท่ากับ "ให้ราษฎรของเราวิ่งไปขอความร่มเย็น เช่นนั้นหรือ"

ค่าอนุญาตล้อเลื่อน ซึ่งยังไม่ได้ลงมือจัดเก็บ แต่กรมพระคลังได้เริ่มให้สำรวจต้นผลไม้แล้ว เจ้าพระยายมราชเห็นว่าถ้านำมาปฏิบัติในช่วงนี้ จะทำให้ชาวบ้านตื่นตกใจได้ จึงใคร่ขอให้พักไว้ก่อน

5. การป่าไม้ เจ้าพระยายมราชเห็นว่ากฎระเบียบข้อห้ามต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ที่ประกาศใช้นั้น เป็น "ปรปักษ์แก่ความสะดวกในการทำมาหากินของประชาชนชาวมลายูอยู่หลายสถาน" แต่เรื่องนี้ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ร่วมแก้ไขกับกระทรวงเกษตราธิการแล้ว
(ยังมีต่อ)
**********
ที่สำคัญ จะเห็นได้ว่า เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) มีวิสัยทัศน์ที่มีลักษณะก้าวหน้ามากสำหรับขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการแผ่ขยายอำนาจของเจ้าอาณานิคมตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจักรวรรดิอังกฤษในพื้นที่ล่อแหลมใต้สุดของราชอาณาจักร ว่าราษฎร "ย่อม" ต้องเปรียบเทียบระบอบการเมืองการปกครองสองแบบ คือของสยามกับรัฐในอาณัติของอังกฤษ จนอาจนำไปสู่การ "ฝักใฝ่" การปกครองของอังกฤษก็เป็นได้.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 25-31 พฤษภาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (40)

"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (6)

 
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซ้ายสุดคือ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) 

พรรณงาม เง่าธรรมสาร บรรยายถึงมุมมองของเจ้าพระยายมราช (ปั้นสุขุม) เป็นการเฉพาะไว้ในบทความเรื่อง "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" (http://human.pn.psu.ac.th/ojs/index.php/eJHUSO/article/viewFile/45/64) ว่า:
**********
มุมมองของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

เมื่อได้รับทราบเหตุความวุ่นวายที่เกิดขึ้นที่มณฑลปัตตานีครั้งแรกขณะกำลังตรวจราชการมณฑลภาคพายัพ ปฏิกิริยาแรกของเจ้าพระยายมราชคือ การไม่ยอมรับ คำอธิบายของกระทรวงมหาดไทยที่ว่า ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเพราะราษฎรถูกยุยงจาก อับดุลกาเดร์ ซึ่งถูกยุยงจากเตอรกีอีกทอดหนึ่ง ท่านคิดว่าต้องมี "มูลเหตุจริงจัง" อะไรบางอย่าง เพราะราษฎรที่นั่น "เคยมีความซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดี... มานมนาน" การที่มีอับดุลกาเดร์เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นเรื่องธรรมดา หากมีช่องทางเปิดให้

ตามการสืบค้นของเจ้าพระยายมราช ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากหนังสือพิมพ์รายงานที่องค์อุปราชภาคประทานให้ รวมทั้งรายงานลับจากข้าราชการอัยการในปัตตานีและนครศรีธรรมราชที่เคยใช้สอย มีพัฒนาการการรวมกลุ่มทำนอง "อั้งยี่" ที่เรียกว่า "อะเนาะคละ" (ซึ่งแปลว่า "คลับของลูก") เกิดขึ้นในมณฑลปัตตานีย้อนหลังไปประมาณ 3 ปี โดยรับมาจากสิงคโปร์ ปีนัง และกลันตัน แต่เนื่องจากไม่ได้มีการปราบปราม ทำให้มีการขยายเครือข่ายใหญ่โตขึ้น และอับดุลกาเดร์มีโอกาสเข้ามาแทรก มีการแต่งตั้งหัวหน้าไปเกลี้ยกล่อมคนตามที่ต่างๆ ในมณฑลปัตตานี จนเลยไปถึงบ้านนา และเทพา จังหวัดสงขลาด้วย พวกที่ล้อมยิงเจ้าหน้าที่ที่บ้านน้ำใสน่าจะเป็นพวกที่ เกลี้ยกล่อมมาในกลุ่มอับดุลกาเดร์ด้วย แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจน ส่วนเหตุการณ์ที่ เกิดการยิงกันระหว่างตำรวจกับชาวบ้านนั้น มีการจับตัวได้ 100 กว่าคน แต่มีหลักฐานลงโทษได้จริงๆ เพียง 13 คน และอาวุธที่จับได้ก็เป็นเพียงปืนแก๊ป ไม่เกิน 10 กระบอก หลังสอบสวนพบว่าผู้ร้ายเป็นพวกเกเรที่คอยหนีตำรวจอยู่แล้ว และที่สำคัญผู้ใหญ่ที่เป็นเชื้อสายพระยาเมืองเดิม ไม่มีใครเข้ามาเกี่ยวข้องในขบวนการนี้ และความวุ่นวายก็ไม่ได้ระบาดไปที่อื่น ในมุมมองของเจ้าพระยายมราช ข้อใหญ่ของเหตุการณ์ ที่เกิด "..เป็นการตื่นเต้นใหญ่เกินกว่าเหตุอยู่บ้าง" และถ้าทางราชการดำเนินการโดย "ถือเอาความนิยมนับถือของชนหมู่มากเป็นใหญ่แล้ว ...แต่โดยลำพังอับดุลกาเดร์ ผู้เดียวก็จะทำอะไรได้"

สาเหตุที่นำไปสู่ปัญหามณฑลปัตตานี พ.ศ. 2465 ในทัศนะของเจ้าพระยา ยมราช สามารถแบ่งได้เป็น 9 ประเด็นหลัก ดังนี้

1. การเปลี่ยนแปลงระเบียบและวิธีการต่าง ๆ เป็นการ "พลั้งพลาดอยู่ หลายอย่าง" และ "รุกรนเร็วเกินไป" ในมุมมองของเจ้าพระยายมราชในสมัยที่ปัตตานียังเป็นบริเวณ (พ.ศ. 2444 - 2449) ข้าราชการถูกข้าหลวงกวดขันให้ทำงาน อย่างระมัดระวัง โดยมุ่ง "ให้เป็นที่นิยมนับถือของประชาราษฎร" มีการใช้ข้าราชการที่ มีความสามารถ และพยายามให้ทัดเทียมกับเมืองในปกครองของอังกฤษที่อยู่ติดกัน ไม่รีบร้อนที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ ๆ ในการเก็บภาษีอากร และเจ้ากระทรวงต่าง ๆ ต้องฟังความเห็นของเจ้าของท้องที่เป็นหลัก แต่หลังจากประกาศเป็นมณฑล (จาก พ.ศ. 2449) และภายหลังสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ กราบบังคมทูลลาออกแล้ว เจ้าหน้าที่แยกกันทำงานตามคำสั่งกระทรวงของตน และ "ต่างก็ละลืมเสีย ไม่ใคร่จะระฤกว่าเป็นเมืองแขก กิจการอย่างใดที่ทำได้ในมณฑลชั้นในทำ ตลอดจนการเก็บภาษีอากรก็เห็นเป็นไม่สำคัญ ต่างหน้าที่ก็กวดขันเร่งรัดเอาแต่ได้" สมุหเทศาภิบาลและเจ้าพนักงานระดับท้องที่ไม่มีกำลังพอที่จะคัดค้าน บางเรื่องสมุหเทศาฯ ได้เข้าไปร้องขอไม่ให้ใช้ในเขตปัตตานี แต่เจ้ากระทรวงก็ไม่รับฟัง เช่น การประกาศเก็บค่าเครื่องมือจับสัตว์น้ำ พ.ศ. 2465 เจ้าพระยายมราชรายงานสรุปประเด็นนี้ว่า "การวางระเบียบรีดรัด การเพิ่มภาษีอากร การเร่งเร้าต่าง ๆ" ทำให้ประชาชนรู้สึกเดือดร้อนอยู่ตลอดเวลา ตามมาด้วยการเสื่อมความนิยมนับถือเจ้าหน้าที่ "เมื่อมีใครมาหนุน หรือมีเหตุกระทบกระเทือนเข้าเล็กน้อย ก็เลยหันเหไปได้ง่าย ยิ่งเป็นบุคคลที่มีชาติศาสนาเดียวกันแล้ว ก็ยิ่งเป็นการง่ายยิ่งขึ้น."

2. เรื่องศาสนา เจ้าพระยายมราชถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะราษฎรในดินแดนนี้เคร่งครัดในศาสนามาก เมื่อเริ่มมีการจัดการปฏิรูปในระยะแรกมีการกวดขันเจ้าหน้าที่ให้ระมัดระวังเรื่องนี้อย่างยิ่ง เพราะ "สาเหตุอันใดที่จะเกิดเนื่องจากศาสนาแล้ว อาจเป็นเหตุร้ายแรงจนถึงที่สุด" ด้วยเหตุนี้ ข้าราชการในดินแดนนี้จึงต้องเลือกสรรเป็นพิเศษ ต้องศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาและขนบธรรมเนียมของคน หมู่ใหญ่ แต่ภายหลังเมื่อจัดราชการเป็นมณฑลขึ้นแล้ว ข้าราชการขาดจากการเลือกสรรเป็นพิเศษ จึงไม่สนใจเรียนรู้ธรรมเนียมท้องถิ่น และ "ยิ่งกว่านั้น ดูเหมือนบางทีจะเป็นที่เข้าใจกันว่า เป็นการจำเป็นที่จะต้องใช้กำลังดึงรั้ง หรือพยายามเหยียดแขกเป็นคนไทยอย่างแรงด้วย ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด และจะทำให้บังเกิดสมประสงค์หาได้ไม่ แลถ้าเลินเล่อไม่มีความรอบคอบพอที่จะรับทราบเหตุผลเทียบเคียงกับการเป็นอยู่ใน ชาวมลายูของอังกฤษที่ใกล้เคียง มาประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว อาจกระทำให้ประชาชนพลเมืองเอนเอียงไปได้มาก"

3. วิธีการจัดการกับความไม่สงบ "ใหญ่เกินกว่าเหตุที่เกิดจริง" เนื่องเพราะฝ่ายเจ้าหน้าที่มีความหวาดกลัว และยึดเอาเอกสารที่พบเป็นหลักฐาน ทั้งที่ หลักฐานด้านอื่นชี้ว่าสมมติฐานบางข้อไม่เป็นจริง เช่น ข่าวที่ขู่ว่าฝ่ายกลันตันหนุนหลัง อับดุลกาเดร์ ก็ไม่มีหลักฐานอื่นสนับสนุนเลย นอกจากนั้นยังไม่มีสัญญาณแข็งข้อต่ออำนาจไทยที่อื่น ไม่มีการสะสมอาวุธ ที่สำคัญในมุมมองของเจ้าพระยายมราช ประชาชนที่เคยรู้จัก ส่วนมากไม่ได้มีความภักดีเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเมื่อ 25 ปีก่อน เจ้าพระยายมราชจึงทูลเสนอให้อุปราชภาคทรงสั่งให้ถอนกองทหารวังกลับนครศรีธรรมราช เพื่อ "รักษาความสง่างาม" และให้กระทรวงมหาดไทยขอจ้างตำรวจเพิ่มแทน
(ยังมีต่อ)
**********
ผู้เขียนมีความเห็นสอดคล้องกับแนวทางการวิเคราะห์ ที่น่าสนใจของ พรรณงาม เง่าธรรมสาร ที่พิจารณามุมมองของเจ้าพระยายมราชที่ว่า ข้อใหญ่ของเหตุการณ์ ที่เกิด "..เป็นการตื่นเต้นใหญ่เกินกว่าเหตุอยู่บ้าง" และถ้าทางราชการดำเนินการโดย "ถือเอาความนิยมนับถือของชนหมู่มากเป็นใหญ่แล้ว ...แต่โดยลำพังอับดุลกาเดร์ ผู้เดียวก็จะทำอะไรได้" ซึ่งในเวลาต่อมาภายหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 เมื่อรัฐบาลคณะราษฎรหมดอำนาจลงโดยพื้นฐาน ทัศนะของ "ผู้ปกครองเผด็จการของรัฐไทย" ชุดต่างๆ ล้วนพิจารณาปมความขัดแย้งใน "จังหวัดชายแดนใต้" อย่าง "เป็นการตื่นเต้นใหญ่เกินกว่าเหตุ" และไม่ใช่แค่อยู่บ้าง แต่ยิ่งนานวันยิ่งขยายความขัดแย้งให้ดูรุนแรงน่ากลัวยิ่งขึ้นทุกที กระทั้งกรณี "กบฏดุซงญอ" ระหว่างวันที่ 25 ถึง 28 เมษายน พ.ศ. 2491.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 18-24 พฤษภาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (39)

"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (5)

 
เจ้าพระยายมราชพร้อมลูกหลานบนบ้านยะมะรัชโช พ.ศ. 2478 

บทความของ พรรณงาม เง่าธรรมสาร เรื่อง "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" (http://human.pn.psu.ac.th/ojs/index.php/eJHUSO/article/viewFile/45/64) (ต่อ):
**********
ในบรรดาความคิดเห็นและข้อเสนอต่อปัญหา "(แผน) ขบถ พ.ศ. 2465" ที่กล่าวมาข้างต้น รายงานของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) มีลักษณะของการประมวลและวิเคราะห์ปัญหาอย่างสอดคล้องและยึดโยงกับอัตลักษณ์ของสังคมมุสลิมปัตตานีมากที่สุด ทั้งนี้นอกจากท่านจะเป็นผู้ที่มีประวัติความสามารถเป็นพิเศษแล้ว [ได้รับราชการในตำแหน่งสำคัญๆ โดยเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล 12 ปี เสนาบดีกระทรวงต่าง ๆ 20 ปี ได้แก่ กระทรวงโยธาธิการ กระทรวงนครบาล และกระทรวงมหาดไทย ได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีมหาดไทยหลังเหตุการณ์วุ่นวายที่ปัตตานี โดยได้รับแต่งตั้งเข้าสู่ตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2465. ตำแหน่งสูงสุดของท่าน คือ ผู้สำเร็จราชการในรัชกาลที่ 8 ดู กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร, ประวัติเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม), ในประวัติเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) ประวัติเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และประวัติเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม), (กรุงเทพ : องค์การค้าคุรุสภา), ภาคที่ 2 ตอนที่ 5 หน้า 163 และตอนที่ 6 หน้า 173] ท่านยังเป็นผู้ที่มีประสบการณ์การรับราชการในพื้นที่มาก่อน จากการได้รับมอบหมายให้ไปศึกษาหัวเมืองทั้ง 7 ตั้งแต่ก่อนมีการจัดการปฏิรูปการปกครองในตำแหน่ง พระวิจิตรวรสาสน์ (พ.ศ. 2438) และได้ร่วมร่างแผนปฏิรูปหัวเมืองเหล่านี้มาด้วยกันกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ รวมถึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชซึ่งกำกับดูแลบริเวณ 7 หัวเมืองก่อนแยกเป็นมณฑลปัตตานี

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เคยทรงตั้งข้อสังเกตว่า การจัดราชการในบริเวณ 7 หัวเมือง โดยเจ้าพระยายมราช ในครั้งนั้นว่ามีการใช้ความ "สุขุมคัมภีรภาพ" เป็นพิเศษ (ซึ่ง "สมกับนามสกุลที่ได้รับพระราชทาน") หลักการสำคัญที่เจ้าพระยายมราชเมื่อครั้งเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต-ข้าหลวงดูแลบริเวณ 7 หัวเมือง ได้ "แสดงความให้ปรากฏแพร่หลาย" คือ การ "ถือว่าชาวเมืองที่เป็นไทยกับมลายูเสมอกันหมด" ให้ความสำคัญกับการเลือกเจ้าหน้าที่พนักงานตามระเบียบใหม่ โดยเลือกทั้งที่เป็นมลายูและไทย และ "พยายามระวังป้องกัน มิให้เกิดรังเกียจกันว่าต่างชาติต่างศาสนา หรือว่าจะให้ไทยไปเป็นมลายู" [สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ, ประวัติเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม), ในประวัติเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) ประวัติเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และประวัติเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม), อ้างแล้ว., ภาคที่ 1, หน้า 118-119] ท่านยังระมัดระวังดูแลผลกระทบที่เกิดกับเจ้าเมืองเดิมที่ต้องสูญเสียผลประโยชน์จากการจัดระเบียบการเสียภาษีอากรแบบใหม่ที่รัฐบาลกลางนำไปใช้ โดยเสนอให้เจ้าเมืองต่างๆ ส่งบัญชีผลประโยชน์ที่เคยรับเพื่อตั้งเป็นเงินชดเชยประจำปีและเป็นเงินบำนาญ และแม้ว่าบัญชีผลประโยชน์ที่เจ้าเมืองยื่นมาโดยมากจะสูงกว่าที่เคยได้รับจริง แต่ท่านก็ยอมรับเพราะต้องการให้มีการตกลงโดยสมัครใจของผู้ปกครองเดิม จึงมีกรณีที่ เจ้าเมืองหนองจิก (พ่วง ณ สงขลา) ได้รับบำนาญมากกว่าเงินเดือนของเจ้าพระยายมราชเองที่เป็นข้าหลวงเทศาภิบาล "เกือบเท่าหนึ่ง" หลักการที่สำคัญยิ่งอีกประการที่ท่านใช้ในบริเวณเจ็ดหัวเมือง คือ การเอาข้าราชการไทยจากจังหวัดอื่นไปเป็นตำแหน่งในบริเวณ 7 หัวเมือง "น้อยที่สุด" โดย "เลือกหาแต่ผู้ชำนาญการอันหาตัวไม่ได้ในท้องถิ่น ถ้าคนในท้องถิ่นไทยก็ตามมลายูก็ตาม สามารถจะทำได้แม้จะทำไม่ได้ดี ทีเดียว ก็ใช้คนในท้องถิ่น" [สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ, ประวัติเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม), ในประวัติเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) ประวัติเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และประวัติเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม), อ้างแล้ว., ภาคที่ 1, หน้า 120]

ด้วยภูมิหลังของเจ้าพระยายมราชที่ผูกพันกับดินแดนส่วนนี้มาอย่างสืบเนื่องตั้งแต่เดิมดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงทรงมอบหมายให้เจ้าพระยายมราชไปตรวจสอบเหตุการณ์วิกฤตที่มณฑลปัตตานีด้วยตนเอง และถวายรายงานความเห็นว่าสมควรจะวางระเบียบการปกครองอย่างไรต่อไป [กจช., ร.6 ม.22/12, พระราชกระแสพระราชทาน วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2465.] ต่อไปนี้เป็นการนำเสนอประเด็นปัญหาในการบริหารปกครองมณฑลปัตตานีอันนำมาสู่ความไม่สงบ-การต่อต้านรัฐใน พ.ศ. 2465 ในทัศนะและมุมมองของเจ้าพระยายมราช ซึ่งในช่วงเตรียมรายงานท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2465 [ประกาศตั้งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย อ้างถึงใน กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร, อ้างแล้ว, หน้า 163.]
**********
เมื่อพิจารณาจากบทความของพรรณงาม เง่าธรรมสาร จะเห็นว่า ขณะที่การสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก้าวเข้าสู่ระยะที่ 2 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สืบต่อจากสมเด็จพระราชบิดาองค์สถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งหาได้เปลี่ยนผ่านจากระบอบศักดินา/จตุสดมภ์โดยราบรื่นแต่อย่างใด ประสบกับอุปสรรคทั้งในส่วนของเจ้านายและขุนนางข้าราชการในระบบเดิมซึ่งสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์อันเคยมีเคยได้ ทั้งในส่วนของเจ้าประเทศราชและเจ้าเมืองแบบเก่าที่ถูกลิดรอนอำนาจและลดบทบาทสถานภาพผู้ปกครองที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในระดับท้องถิ่น และรวมทั้งราษฎรที่เคยเป็นข้าทาส ตลอดจนบ่าวไพร่ ต้องเผชิญหน้ากับระบบเศรษฐกิจและการเมืองการปกครองที่เปลี่ยนไป และประสบความยากลำบากในการปรับตัวสู่ชีวิตแบบเสรีชนที่ไร้หลักประกันใต้ร่มเงาของนายทาสและต้นสังกัดไพร่ในระบอบศักดินา เกิดการดิ้นรนในการครองชีพและรักษาสถานภาพเสรีชนที่ต้องเสีย "ภาษีอากร" แบบใหม่ รวมทั้งเงิน "ค่าราชการ" หรือ "รัชชูปการ" เป็นที่เดือดร้อนแก่ราษฎรหัวไร่ปลายนาเป็นอย่างยิ่ง

ขุนนางอำมาตย์ที่มีประสบการณ์การปกครองทั้งสองระบอบ ย่อมมีมุมมองและวิสัยทัศน์ในการพิจารณ์และดำเนินการจัดการที่เอื้ออำนวยต่อเป้าหมาย "ความสงบ" สำหรับระบอบการปกครองใหม่และสภาวการณ์ใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มุ่งไปที่ "ผู้ครองอำนาจเดิม" เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ความยากลำบากในการจัดปกครองใน "หัวเมืองภาคใต้" นั้นเอง มีบริบทและความละเอียดอ่อนยิ่งกว่าในภูมิภาคอื่นๆของรัฐสยามในเวลานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "แสดงความให้ปรากฏแพร่หลาย... ถือว่าชาวเมืองที่เป็นไทยกับมลายูเสมอกันหมด... พยายามระวังป้องกัน มิให้เกิดรังเกียจกันว่าต่างชาติต่างศาสนา หรือว่าจะให้ไทยไปเป็นมลายู"

และขุนนางอำมาตย์ระดับสูงที่เป็นที่น่าจับตามอง คือ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งนามสกุล "สุขุม" นี้เป็นนามสกุลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ลำดับที่ 1.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 11-17 พฤษภาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (38)

"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (4)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ

บทความของ พรรณงาม เง่าธรรมสาร เรื่อง "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" (http://human.pn.psu.ac.th/ojs/index.php/eJHUSO/article/viewFile/45/64) นำเสนอต่อไปว่า:
**********
ความหมายก็คือ สยามได้เข้าปกครองหัวเมืองทั้ง 7 โดยตรงโดยผู้ปกครองตามระบบจารีตได้เปลี่ยนสถานะเป็นเจ้าเมืองในระบบใหม่อยู่ภายใต้ระบบราชการสยาม ในขณะที่อังกฤษถือว่าเป็นผู้เข้ามาให้คำปรึกษาและดำเนินการบริหารจัดการการปกครองด้านต่างๆ ตามแบบสมัยใหม่ให้สุลต่านรัฐมลายูภายใต้อารักขาอังกฤษเท่านั้น สุลต่านยังดำรงตำแหน่งและสิทธิของเจ้าผู้ครองรัฐ

สมเด็จกรมหลวงลพบุรีฯ ยังทรงมีพระมติเกี่ยวกับการส่งฟ้องผู้ร้ายที่ถูกจับที่ตำบลบ้านน้ำใส อำเภอมายอ ต่างไปจากมติส่วนใหญ่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทรงมีพระราชดำริให้ส่งฟ้องราษฎรเหล่านี้ในฐานะเป็น "ผู้ร้ายสามัญ" ไม่ใช่ในฐานะเป็น "ขบถ" โดยทรงพิจารณาว่าผู้ร้ายที่ถูกจับเมื่อสอบแล้วเป็นผู้ที่หนีคดีอยู่ก่อนไม่เกี่ยวกับอับดุลกาเดร์ การที่พระยากลันตันเคยมาพักที่บ้านอับดุลกาเดร์ อาจทำให้เอาไปอ้างกันได้ว่าพระยากลันตันให้ความช่วยเหลือ นอกจากนั้นยังทรงเห็นว่า ข้อมูลที่ว่ารัฐมลายูต่างๆ ทั้งไทรบุรี เประ กลันตันและยะโฮร์ จะร่วมทำจลาจลพร้อมกันเพื่อช่วยอับดุลกาเดร์นั้นยังไม่แน่ชัด พวกพ้องอับดุลกาเดร์อาจยกขึ้นมาขู่มากกว่า

ยังมีทัศนะต่อเหตุการณ์ความวุ่นวายที่แตกต่างออกไปอีกแนวหนึ่ง คือทัศนะของข้าราชการสยามที่รับฟังความเห็นจากหัวเมืองมลายูในปกครองของอังกฤษที่มีพรมแดนติดกับสยาม ท่านแรก คือ หลวงลัทธกะวาท กงสุลสยามประจำเกาะหมาก (ปีนัง) ซึ่งได้ทูลเสนอรายงานมายังสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ อ้างความเห็นของบรรดารายา-ผู้ครองรัฐต่าง ๆ ที่มาร่วมงานเลี้ยงที่รัฐเประ ซึ่ง "พูดเป็นเสียงเดียวกันหมด" ว่า สาเหตุที่เกิดขึ้นในปัตตานีมาจาก การเรียกเก็บ "เงินรัชชูปการ" ที่แม้จะเก็บไม่มาก และไม่ได้สร้างความเดือดร้อน แต่ชาวมลายูเกลียด "ภาษีหัว" ("ชุกาย กัมปาลา") ภาษีแบบเดียวกันนี้ได้เคยก่อเหตุเช่นกันนี้ที่รัฐเประ เมื่อประมาณ 40 ปีก่อน ข้าราชการอังกฤษถูกฆ่าตายหลายคน เพราะราษฎรไม่พอใจการเรียกเก็บภาษี "ส่วยเรียงตัวคน" อังกฤษจึงเปลี่ยนไปเก็บภาษีอื่น ๆ แทน ตามมุมมองเชิงเปรียบเทียบของหลวงลัทธกะวาท มีจำนวนภาษีอากรที่เก็บในมลายูมากกว่าในสยาม แต่อังกฤษเก็บจากผู้มีที่อาศัย หรือยานพาหนะ หรือการแสวงหาผลประโยชน์ จึงไม่ค่อยเกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่และชาวบ้านเกี่ยวกับภาษี ความเห็นในรายงานของหลวงลัทธกะวาท ในประเด็นที่สยามเก็บภาษีรุนแรง ซึ่งตรงกับที่ลงในหนังสือพิมพ์ในมลายู เป็นที่สนพระทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เป็นพิเศษ โปรดให้ทรงส่งเจ้าพระยายมราชลงไปตรวจราชการที่ปัตตานี โดยมีกระแสพระราชดำริ ความว่า "..เพื่อจะได้ทราบแน่ว่าจะมีการเดือดร้อนอยู่อย่างไรบ้าง...จะต้องให้คิดจัดการระวังป้องกันการเดือดร้อนแก่ราษฎรที่อยู่ปลายแดน อย่าให้มีการเก็บภาษีอากรอย่างหนึ่งอย่างใด ที่จะแรงไปกว่าในเมืองใกล้เคียงต่อแดนกัน เพราะว่าเป็นธรรมดาของคนซึ่งอยู่ในที่นั้น แม้นจะไม่ก่อความวุ่นวายขึ้นให้ยากลำบากด้วยความเกรงอาญาก็ดี ก็ยังจะอาจหลบหนีไปอยู่ในเมืองที่เก็บภาษีเบากว่ากันได้ เป็นการเหมือนหนึ่งว่าต้อนขับไล่คนออกจากพระราชอาณาเขตฯ (เน้นโดยผู้เขียน) ซึ่งเป็นการไม่ควรจะให้มีให้เป็นขึ้นเลย.."

มีรายงานอีกชิ้นหนึ่งที่นำขึ้นกราบบังคมทูล คือรายงานของนายพันตำรวจโท พระวิชัยประชาบาล ผู้บังคับการตำรวจมณฑลนครศรีธรรมราช ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากการออกไปดูงานและพูดคุยกับราษฎรมลายูที่ไทรบุรีและปีนัง ข้อมูลที่พระวิชัยเสนเสนออย่างตรงไปตรงมา คือ เสียงติเตียนการปกครองของสยามที่แสดงออกโดยราษฎรในเมืองมลายูของอังกฤษใน 4 ประเด็นหลัก คือ

  1. การเก็บภาษีที่ "หยุมหยิม" และ "รุนแรง"
  2. การจัดการศึกษาที่บังคับให้เด็กมลายูต้องเข้าโรงเรียนไทย และเรียนภาษาไทย รวมทั้งเก็บเงินศึกษาพลี และพยายามจะเปลี่ยน "ธรรมเนียม" และ "ลัทธิศาสนา" ของชาวมลายูในพื้นที่ให้เป็นอย่างที่คนไทยนับถือ
  3. การเกณฑ์ชาวบ้านให้ทำการต่าง ๆ เช่น ทำถนน สร้างความเดือดร้อน
  4. ระบบศาลไทยอ่อนไป ให้โอกาสผู้ร้ายมากเกินพอควร

พระวิชัยประชาบาลได้ทำบันทึกเปรียบเทียบการปกครองบางด้านระหว่างเมืองมลายูฝั่งอังกฤษกับฝั่งสยาม และชี้ให้เห็นความไม่พอใจของชาวมลายูในสยามได้แก่ สถานะของเจ้าเมืองมลายูเดิมของสยาม อาทิ อับดุลกาเดร์ ซึ่งมีฐานะตกต่ำ ในขณะที่เครือญาติของท่านที่เป็นเชื้อสายสุลต่านกลันตัน เประ และยะโฮร์ ได้รับการยกย่องและอุปถัมภ์อย่างดี ทั้งด้านการศึกษาและเงินตอบแทน หรือตำแหน่งผู้ปกครองท้องถิ่นในมลายาของอังกฤษ คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็ได้รับเงินในตำแหน่งอย่างสูงมากเช่นกัน เมื่อเทียบแล้ว พระวิชัยฯ เห็นว่า "ถึงฝ่ายสยามจะได้ตั้งใจดีคิดทำอยู่ก็จริง แต่ผลที่มองเห็นแสดงแก่โลกไม่พอ" จึงเป็นจุดอ่อนให้เกิดเหตุได้ กล่าวคือ ชนชั้นปกครองมลายูของอังกฤษพอใจในความเป็นอยู่ ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง การปกครอง ปล่อยให้เป็นหน้าที่อังกฤษ ซึ่งต่างจากของสยามที่ "..ดูเหมือนทำให้ พวกแขกเข้าใจว่าไทยจะทำเมืองแขกให้เป็นเมืองไทย.." (กจช., ร.6 ม.22/12, นายพันตำรวจโทพระวิชัยประชาบาล กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ 2/2465 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465. ; ร.6 ม.22/11 พระวิชัยประชาบาล กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ 4/2465 วันที่ 4 มีนาคม 2465. ความข้อนี้ของพระวิชัยฯ ตรงกับข้อติเตียนของฝ่ายมลายูที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ปีนังกาเซตต์, “Siamifying of Patani” จาก “The Patani Trouble”, Pinang Gazettz, 14 March 1923. - หมายเหตุผู้เขียน) พระวิชัยเสนอว่าถ้าปล่อยให้ มีการเข้าใจผิด ๆ ต่อไป จะเป็นภัยร้ายแรง

นอกจากนั้นพระวิชัยฯ ยังรายงานว่า ประเด็นการศึกษาและศาสนา ก็เป็นข้ออ่อนอย่างยิ่งให้การปกครองหัวเมืองมลายูของสยาม เพราะเมื่อเปรียบเทียบแล้วอังกฤษไม่เข้าไปแทรกแซงการศาสนาและการศึกษาของมลายูเลย มีการจัดการศึกษาเป็นภาษาอังกฤษบ้างตามเมืองใหญ่ แต่ไม่บังคับ ปล่อยให้สำหรับชนชั้นผู้ดีที่จะเรียนเพื่อเข้ารับราชการหรือทำงานกับอังกฤษ ส่วนการศึกษาในชนบทเป็นแบบบังคับและสอนเป็นภาษามลายู โดยรัฐจ่ายฟรีให้ทุกอย่าง ไม่มีการเก็บเงินศึกษาพลีเหมือนที่ไทย ดำเนินการอยู่.
**********
ขออนุญาตให้ข้อสังเกตขยายความทัศนะของผู้เขียน (พรรณงาม เง่าธรรมสาร) ในประเด็นการที่อังกฤษไม่เข้าแทรกแซงระบอบการปกครองแบบจารีตที่มีอยู่เดิมของดินแดนมลายูที่อังกฤษยึดครองอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทศาสนา นั้นถือว่าเป็นจุดยืนที่ก้าวหน้าของเจ้าลัทธิอาณานิคมโดยจักรวรรดิอังกฤษอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับสยาม ทั้งในเวลานั้น และหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งทำให้ความพยายามของนายปรีดี พนมยงค์ และรัฐบาลคณะราษฎรเป็นเรื่องสูญเปล่า (จากบทความ "ข้อเสนอของฮัจญีสุหลงและท่านปรีดี พนมยงค์ ต่อแบบการปกครองพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ซึ่งจะนำเสนอในโอกาสต่อไป).


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 4-10 พฤษภาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (37)

"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (3)

พลโทสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ ต้นราชสกุล "ยุคล"

บทความของ พรรณงาม เง่าธรรมสาร เรื่อง "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" (http://human.pn.psu.ac.th/ojs/index.php/eJHUSO/article/viewFile/45/64) นำเสนอต่อไปว่า:
**********
ทัศนะและมุมมองของเจ้าหน้าที่รัฐ

จากรายงานต่าง ๆ เป็นที่ชัดเจนว่าไม่มีความเห็นอันเป็นที่ยุติของเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ในระดับพื้นที่ต่อประเด็นที่ว่า เหตุการณ์ความสับสนวุ่นวายที่เกิดขึ้นที่บ้านน้ำใสและเขาตูม มีใครเป็นผู้นำอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ความมุ่งหมายของพวก "ผู้ก่อการกำเริบ" คืออะไร และรัฐควรจะดำเนินการต่อไปอย่างไร แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ ทัศนะและมุมมองที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิงระหว่างข้าราชการผู้ใหญ่ในพื้นที่และที่อยู่นอกพื้นที่ โดยเฉพาะในระดับสูง ดังจะได้อภิปรายข้างล่างนี้

เจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่ฝ่ายทหาร ให้ความสนใจกับประเด็นในทางปฏิบัติว่า เมื่อยังจับตัวหัวหน้าได้ไม่หมด ก็ไม่มีทางที่เหตุการณ์จะสงบต่อไปได้ จำเป็นต้องพิจารณาว่า จะคงกองกำลังทหารตำรวจไว้ หรือถอนออกไป และควรมี กี่กอง/กี่ส่วน ไว้ประจำที่ไหนบ้าง ฝ่ายตัวผู้บัญชาการมณฑลทหารบก ทรงเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดเป็นเพราะอับดุลกาเดร์เป็นหัวหน้า "หลอกลวงพลเมือง..ซึ่งเป็นราษฎรที่ส่วนมากมีอาการค่อนข้างเป็นคนโง่เขลา." (ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกราชบุรี ถึง เสนาบดีกระทรวงกลาโหม.., สำเนา (ลับ) ที่ 33/511 วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465) ทางการควรหาทางจับตัวอับดุลกาเดร์ให้ได้ และเก็บตัวไว้ให้ไกลเหตุการณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นอีก สำหรับความช่วยเหลือจากต่างชาติ ท่านไม่เห็นเป็นเรื่องจริงจัง หากแต่เห็นเป็นกลอุบายของอับดุลกาเดร์ที่นำมาใช้หลอกประชาชนมากกว่า

ส่วนผู้บังคับการตำรวจภูธรมณฑลปัตตานี มีความเห็นว่าเหตุร้ายที่เกิดเป็นเพราะราษฎรตามอำเภอต่าง ๆ "เป็นคนโง่เขลา ประกอบกับเป็นข้าเก่าของอับดุลกาเดร์มาด้วย" จึงถูกอับดุลกาเดร์ "ยุยงส่งเสริม" เพื่อ "ขับไล่ข้าราชการไทยที่มาเป็นผู้ปกครองไปเสียให้หมด แล้วจะได้ตั้งตัวเปนพระยาเมืองปกครองเมืองปัตตานี" (นายพันโทพระเหิมประยุทธการ ถึง พระยาเดชานุชิต วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465) และยังเห็นอีกว่าเจ้าหน้าที่ในรัฐมลายูเข้ามา "เกี่ยวข้อง" ทำให้เหตุการณ์ข้างหน้า "ไม่น่าไว้ใจ" เห็นควรตั้งกองตำรวจภูธรไว้ที่มณฑลประมาณ 300 คน สำหรับข้าราชการสายปกครอง คือ สมุหเทศาภิบาลนั้น ให้ความสนใจกับประเด็น "ผู้นำ" ในการ ก่อการเช่นกัน ซึ่งท่านแน่ใจว่าเป็นอับดุลกาเดร์ที่ "คิดจะตั้งตัว เพื่อแสวงหาอำนาจ" โดยนัดแนะกับสุลต่านกลันตัน และสุลต่านรัฐเประซึ่งเป็นเครือญาติกันเพื่อให้ความช่วยเหลือ (ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกราชบุรี ถึง เสนาบดีกระทรวงกลาโหม.., สำเนา (ลับ) ที่ 33/511 วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465)

ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐในระดับสูงสุดในภูมิภาค คือ พลโทสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ ผู้ดำรงตำแหน่งองค์อุปราชปักษ์ใต้นั้น ทรงมีพระดำริที่เสรีนิยมอย่างยิ่ง พระองค์ท่านยังเชื่อว่าพวกผู้ก่อการมีหัวหน้าที่ "สามารถทำการใหญ่โตให้ผลแตกหักได้" ไม่ทรงเห็นว่า "ราษฎรโง่ หลงเชื่อผู้นำ หรือถูกหลอกใช้" อีกยังทรงเห็นว่าเรื่องที่เกิดเป็นเรื่อง "เล็กน้อย" และ "การที่เกิดเรื่องใหญ่ขึ้นก็เพราะเจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่นตื่นเต้นเกินไปกว่าความเป็นจริงที่เป็นอยู่" (ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกราชบุรี ถึง เสนาบดีกระทรวงกลาโหม.., สำเนา [ลับ] ที่ 33/511 วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465) ผู้บัญชาการมณฑลทหารได้รายงานจุดยืนของสมเด็จฯ กรมหลวงลพบุรีฯ ว่า "กระเดียดจะทรงเข้าพระทัยว่าเป็นเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับวิธีที่เงี้ยวก่อการกำเริบในมณฑลพายัพมากกว่าอื่น" (หมายเหตุผู้เขียน - ในกรณีของเงี้ยว มีความเกี่ยวพันที่ซับซ้อนของคนกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งผลประโยชน์ที่ต่างเอื้อในพื้นที่ แต่ฝ่ายเงี้ยวซึ่งเป็นคนในพื้นที่เดิมเป็นกลุ่มที่ถูกบีบคั้นที่สุด โดยเฉพาะด้านสิทธิและเศรษฐกิจ และดู เตช บุนนาค, ขบถ ร.ศ. 121, "คำนำ" และหน้า 31-55) ซึ่งหมายถึงว่ามีความซับซ้อนของปัญหาและกลุ่มคนในพื้นที่ที่ถูกกดขี่ที่สุดและเสียสิทธิและประโยชน์ที่มีอยู่เดิมจนไม่อาจทนได้จึงลุกขึ้นมาต่อต้าน

บันทึกลับขององค์อุปราชปักษ์ใต้สะท้อนพระดำริที่เข้าถึงสาเหตุทางภววิสัยอันเป็นเงื่อนไขที่สร้างความกดดันให้ชาวมลายูในพื้นที่มีใจออกห่างจากรัฐ ทรงตั้งข้อสังเกตว่า การคมนาคมติดต่อที่ไปมาหาสู่กันสะดวกขึ้นระหว่างหัวเมืองมลายูของอังกฤษกับหัวเมืองในมณฑลปัตตานี เช่น ทางรถไฟ ทำให้ "การเทียบเปรียบระหว่างมลายูกับอังกฤษ กับคนในเขตร์เรา ย่อมเห็นจริงมากขึ้น" (อุปราชมณฑลปักษ์ใต้ บอกมายัง เจ้าพระยายมราช, สำเนาลับ, กระทรวงมหาดไทย ที่ 17916 วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2465) ทรงชี้ให้เห็นว่าอังกฤษเอาคนอินเดียเข้ามาใช้แรงงานและเป็นทหารในมลายูและพม่า แต่ในสยามยังต้องอาศัยแรงงานชาวมลายูอยู่ และแม้ภาครัฐจะตระหนักถึงข้อเปรียบเทียบจุดด้อยจุดแข็งระหว่างนโยบายของสยามและอังกฤษต่อรัฐมลายูในสายตาชาวพื้นเมืองในพื้นที่และระมัดระวังอยู่บ้างแล้ว เช่น ชุบเลี้ยงพระยาเมืองเดิม และเก็บส่วยมณฑลปัตตานีต่ำกว่ามณฑลนครศรีธรรมราช แต่ก็ยังมีจุดอ่อนในการปกครองหัวเมืองมลายูของสยามในทัศนะของพระองค์ท่าน ทั้งนี้เพราะ "ความประสงค์ของเราตั้งแต่เดิมมาก็ปกครองดินแดนมลายูให้เป็นอันเดียวกันในประเทศสยาม ไม่ได้คิดถึง โปรเต็กเตอร์ (Protector)" ("การเป็นผู้อารักขา" – ผู้เขียน) จนถึงจัดการ โปรเต็กเตอร์เร็ต (Protectorate) ("รัฐในการอารักขา" – ผู้เขียน) ซึ่งอังกฤษเอาขึ้นเชิดหน้าอวดมลายูอยู่.." (ตาม "ระบบรัฐในอารักขา" ซึ่งอังกฤษใช้อยู่ในแหลมมลายูขณะนั้น ในทางทฤษฎีสุลต่านยังมีสถานะเป็นผู้ปกครองรัฐ แต่อังกฤษมาช่วยให้คำแนะนำและดำเนินการบริหารให้ พระดำริในประเด็นนี้ คล้ายอย่างยิ่งกับพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ที่ทรงวิจารณ์เปรียบเทียบการปกครองมลายูของอังกฤษ และการปกครองหัวเมืองมลายูของสยาม ดังความบางตอนในพระราชหัตถเลขาที่ว่า "ลักษณะการปกครองอย่างเมืองลาวก็ดี เมืองแขก 7 เมืองนี้ก็ดี เป็นการฝืนความจริงอยู่ ...คือว่า การที่ฝรั่งเขาปกครองตามแบบนี้ เขาถือว่าเจ้าเมืองเหล่านั้นเป็นเจ้าเมืองอังกฤษไปช่วยฤาไปกำกับในการปกครอง แต่ข้างเราถือว่าเป็นเมืองของเรา พวกลาวพวกแขกเป็นข้าราชการคนหนึ่ง ไม่ได้ห้ามหวงในการไปมาสมาคมกับต่างประเทศ ฤาจะมีหนังสือไปมาแห่งใดก็มิได้ .. แต่ความนั้นไม่จริง แขกฤาลาวเขาก็ถือว่าเป็นเมืองของเขา การที่เราทำเป็นว่าไว้ใจนั้นก็ไม่ได้ไว้ใจจริง ๆ ....ฝ่ายฝรั่งเขาทำเขาคิดให้เจ้าเมืองขึ้นไปเป็นสวรรค์เป็นเทวดา เกือบไม่ต้องทำอะไร มีน่าที่แต่เพียงเซ็นชื่อกับได้เงิน ข้างเราขืนใจให้มาทำการที่ไม่พอใจจะทำ แล้วซ้ำต้องเป็นตัวแมงกลางแปลงอยู่เสมอ ถ้าคิดเอาใจเราไปใส่ในน่าที่เช่นนั้นก็จะไม่เป็นที่สงบระงับใจได้ ขอให้เธอตริตรองเรื่องนี้ให้จงมาก ..มีความเสียใจที่ยังไม่มีทางความเห็น ซึ่งจะแก้อันใดในเวลานี้ เป็นแต่ขอให้ช่วยกันคิด..." จาก "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงกรมหลวงดำรงฯ", 21 พฤศจิกายน ร.ศ. 121 - ผู้เขียน).


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 27 เมษายน- 3 พฤษภาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (36)

"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (2)

ที่ว่าการศาลมณฑลปัตตานี สร้างขึ้นในสมัยรัชการที่ 5 

บทความของ พรรณงาม เง่าธรรมสาร เรื่อง "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" ตีพิมพ์ใน วารสารวิชาการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2552 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำเสนอต่อไปว่า:
**********

ก่อนหน้านั้นเล็กน้อย (วันที่ 18 มกราคม) ตำรวจกลุ่มหนึ่งที่ยะรังซึ่งไปตรวจจับนักโทษที่หนีจากเรือนจำ และได้เข้าไปในเขต บ้านน้ำใส อำเภอมายอ ได้ทราบข่าวจากชาวบ้านในพื้นที่ว่ามีการเตรียมการของกลุ่มตนกูอับดุลกาเดร์ที่จะเอาเมืองคืนทำนองเดียวกับข่าวข้างต้นที่ทางราชการได้รับ ครั้นต่อมาในวันที่ 30 มกราคม ขณะไปตามจับผู้ร้ายกลุ่มเดิมที่ตำบลปูเก๊ะตางอ ตำรวจได้พบชาวบ้านประมาณ 20 คนกำลังประชุมกันอยู่ ต่อมาเกิดการปะทะกัน ตำรวจสามารถจับผู้ร้ายได้ 14 คน พร้อมอาวุธเป็นมีด วันรุ่งขึ้นตำรวจกลุ่มเดิมได้กลับไปที่บ้านน้ำใสอีก และเกิดการต่อสู้กับผู้ร้าย ตำรวจอ้างว่าเห็นคนแบกปืนวิ่งไปประมาณ 40-50 คน ฝ่ายเจ้าหน้าที่กำลังน้อยกว่าจึงต้องถอย แต่ก็สามารถยิงผู้ร้ายตาย 4 คน บาดเจ็บ 1 คน แต่ภายหลังเมื่อสมุหเทศาฯ ส่งคนไปตรวจกลับไม่พบว่ามีผู้ใดตาย

ภายหลังเหตุร้ายข้างต้น มีการเตรียมการของเจ้าหน้าที่รัฐในระดับพื้นที่อย่างรวดเร็ว ที่อำเภอมายอนายอำเภอได้ร้องขอกำลังพลและอาวุธเพิ่ม อ้างว่าพวกกบฏกำลังรวบรวมคนมา "ปล้นที่ว่าการอำเภอและโรงพัก" และอาวุธที่โรงพักมีจะไม่พอ ส่วนนายอำเภอยะรังได้ขออนุญาตจับกำนันบางคนที่มีชื่อว่าเป็นหัวหน้าใหญ่ พร้อมกับขอการสนับสนุนรถ 2 คัน วันต่อมาได้ขอกำลังตำรวจเพิ่มด่วน เพราะมีผู้ร้ายออกเก็บอาวุธชาวบ้านตามหมู่บ้านต่าง ๆ ที่เขาตูม และในวันที่สามก็รายงานว่าผู้ร้ายจำนวน 300 คนกำลังจะเข้าตีบ้านลานควาย ขอกำลังตำรวจช่วยด่วนอีกครั้ง ผู้ว่าราชการปัตตานีได้ตอบสนองหน่วยงานในพื้นที่โดยส่งกำลังตำรวจและเสือป่าประมาณ 30 คนออกตามจับผู้ร้ายที่ปูเก๊ะตางอ แต่ถูกผู้ร้าย 5 คนซุ่มยิงกลางทางแถบตำบลเขาตูม ส่วนผู้ร้ายหนีไปได้ ที่ยะรังผู้ว่าฯ ก็ได้ส่งกำลังตำรวจไปให้ 50 คนตามที่ร้องขอ

จากการสอบสวนประมวลเหตุการณ์ทั้งหมด ทางการพบว่ามีผู้ร้ายระดับหัวหน้าประมาณ 10 คน บางคนเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องถิ่น คือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทางการสามารถจับหัวหน้าได้เพียง 2 คน นอกนั้นหนีไปได้ รวมทั้งได้ข่าวว่า ตนกูอับดุลกาเดร์ก็ได้กลับกลันตันไปแล้ว ทางการยังได้จดหมายลงชื่ออับดุลกาเดร์ทำการนัดพบชาวบ้านในวันทำพิธีบุตรเข้าสุหนัตในเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะมีข้าราชการไทยเข้าร่วมจำนวนมาก ตามข่าวที่ได้นั้น ชาวมลายูในเขตอังกฤษจะทำการขึ้นพร้อมๆกันด้วย นอกจากนั้นยังมีคำให้การของชาวบ้านเกี่ยวกับจดหมายจากสุลต่านกลันตันถึงตนกูอับดุลกาเดร์ อ้างถึงเรื่องที่นัดแนะกันไว้ ว่า "พร้อมแล้วหรือ ถ้าพร้อมแล้วให้รีบบอกโดยเร็ว"

สำหรับข้าราชการผู้ใหญ่ในพื้นที่ เหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ส่อเค้าว่าจะเป็นการเตรียมการขบถ สมุหเทศาฯ ปัตตานีจึงได้ระดมกำลังตำรวจจากพื้นที่ที่ไม่สำคัญส่งไปหนุนในพื้นที่ที่เริ่มมีสัญญาณเหตุร้าย และได้ขอกำลังจากมณฑลนครศรีธรรมราชมาเพิ่มอีก 55 คน ต่อมาได้รับกำลังทหารรักษาวังจากอุปราชมณฑล 1 กองร้อย จึงส่งกองกำลังจากนครศรีธรรมราชคืน องค์อุปราชภาคเองถึงกับเสด็จลงมาประทับที่ปัตตานีและต่อมาได้ทรงส่งกำลังทหาร 1 หมวดจากจังหวัดไปเพิ่มให้ที่มายอ และให้สมุหเทศาฯ เป็นผู้ออกไปควบคุมดำเนินการด้วยตนเอง ทางการยังใช้แนวทางการแก้ปัญหาอื่นนอกเหนือจากการสืบจับผู้ร้ายและการทำการปราบปราม มีการใช้หลักรัฐศาสตร์ในการสลายกำลังฝ่ายขบถ โดยใช้ไม้นวมชักจูงราษฎรให้กลับมาเข้ากับฝ่ายรัฐบาล ออกประกาศจะไม่เอาผิดใครก็ตามที่หลงเชื่อไปลงลายมือชื่อเป็นหลักฐานหรือให้คำสาบานกับฝ่ายขบถแล้ว หากเข้ามาสารภาพก็จะปล่อยตัวไป วิธีนี้ทางการประเมินว่า "ได้ผลพอควร" เพราะมีราษฎรเข้ามาติดต่อมอบตัว ประมาณ 700 คน แต่ในระดับหัวหน้าไม่มี แม้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่จะมีความตั้งใจว่า จะยอมปล่อยตัวระดับหัวหน้าเช่นกันถ้ายอมมอบตัว เพียงแต่ต้องอยู่ในสายตา ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า "เพื่อประสงค์จะบำรุงขวัญของราษฎรให้ดีขึ้นประการหนึ่ง และเพื่อที่จะให้ราษฎรซึ่งได้ระบาทว์ ออกนอกพระราชอาณาจักรหรือทิ้งบ้านเรือนเข้าไปซุกซ่อนอยู่ตามแถบภูเขาและป่านั้น กลับมาเข้ามาตามภูมิลำเนาเดิมของตน อีกประการหนึ่ง" นอกจากนี้ยังมีนโยบายจากกรมทหารรักษาวังที่กรุงเทพฯ ให้มีคำสั่งห้ามทหารทำการยิงด้วยกระสุน "หากจำเป็นต้องใช้กระสุน ต้องรับคำสั่งก่อน" และได้มีพระกระแสพระราชทานไปยัง ผู้บังคับกองทหาร รักษาวังว่า "..ถ้าข้าราชการฝ่ายพลเรือนต้องการให้อุดหนุน จึงให้ทหารปราบปราม.. " พิจารณาจากนโยบายแล้ว กล่าวได้ว่า หน่วยงานของรัฐถูกเตือนให้ยึดหลักสันติวิธีในการแก้ปัญหา

ท้ายที่สุด ไม่มีความวุ่นวายใด ๆ เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ที่บ้านน้ำใสและเขาตูมที่กล่าวมาแล้ว การเตรียมการของฝ่ายรัฐดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นการเตรียมการเพื่อรักษาความสงบแทนการออกไปปราบปราม อาจกล่าวได้ว่าการกบฏครั้งนี้ เป็น "ขบถที่แท้งไป" (abortive rebellion) หรือ ขบถที่ล้มเหลวก่อนเกิด คำพิพากษาของศาล สำหรับผู้ที่ถูกจับได้จากเหตุที่เกิดที่บ้านน้ำใสและถูกส่งฟ้องข้อหาขบถทั้งหมด 15 คนมีว่า จำเลยเหล่านี้ได้กระทำการอันถือได้ว่าเข้าร่วมกับอับดุลกาเดร์ที่ถือว่าเป็นขบถจริง แต่ "การกระทำของจำเลยเป็นเพียงลักษณะผู้ร้ายที่รวบรวมกำลังเข้าต่อสู้เจ้าพนักงาน ยังไม่ทันบรรลุผลตามความมุ่งหมาย คือ แย่งพระราชอาณาเขต จึงยังไม่พอวินิจฉัยว่า ได้เกิดขบถขึ้นแล้ว.." จำเลยจึงมีความผิด "เพียงสถานพยายามก่อขบถตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 102.." จำเลยทั้งหมดถูกพิพากษาลงโทษจำคุกคนละ 15 ปี แต่เนื่องจากสารภาพ จึงได้รับลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุกคนละ 10 ปี คำตัดสินศาลอุทธรณ์ก็ยืนตามศาลชั้นต้นว่าความผิดเกิด "..ยังไม่พอจะถือว่าได้ มีการขบถเกิดขึ้นแล้ว.. จำเลยมีความผิดฐานพยายามจะก่อความผิด..."

แม้เหตุร้ายจะไม่ได้เกิดขึ้นต่อมา แต่การค้นหามูลฐานสาเหตุที่มาของ "แผนขบถ" และการวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงหรือความขัดแย้งขึ้นในอนาคตอีกก็เป็นการบ้านสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ต้องรับมาพิจารณาต่อไป ณ จุดนี้ เราจึงได้เห็นความหลากหลายของความคิดเห็น และทัศนะในการมองและเข้าใจปัญหาของสังคมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อันมีอัตลักษณ์เฉพาะพิเศษต่างไปจากพื้นที่ของประเทศของเจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มต่างๆ อันจะนำไปสู่ข้อเสนอและแนวทางในการแก้ปัญหาครั้งนั้นที่น่าสนใจยิ่ง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 20-26 เมษายน 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8