Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (39)

"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (5)

 
เจ้าพระยายมราชพร้อมลูกหลานบนบ้านยะมะรัชโช พ.ศ. 2478 

บทความของ พรรณงาม เง่าธรรมสาร เรื่อง "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" (http://human.pn.psu.ac.th/ojs/index.php/eJHUSO/article/viewFile/45/64) (ต่อ):
**********
ในบรรดาความคิดเห็นและข้อเสนอต่อปัญหา "(แผน) ขบถ พ.ศ. 2465" ที่กล่าวมาข้างต้น รายงานของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) มีลักษณะของการประมวลและวิเคราะห์ปัญหาอย่างสอดคล้องและยึดโยงกับอัตลักษณ์ของสังคมมุสลิมปัตตานีมากที่สุด ทั้งนี้นอกจากท่านจะเป็นผู้ที่มีประวัติความสามารถเป็นพิเศษแล้ว [ได้รับราชการในตำแหน่งสำคัญๆ โดยเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล 12 ปี เสนาบดีกระทรวงต่าง ๆ 20 ปี ได้แก่ กระทรวงโยธาธิการ กระทรวงนครบาล และกระทรวงมหาดไทย ได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีมหาดไทยหลังเหตุการณ์วุ่นวายที่ปัตตานี โดยได้รับแต่งตั้งเข้าสู่ตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2465. ตำแหน่งสูงสุดของท่าน คือ ผู้สำเร็จราชการในรัชกาลที่ 8 ดู กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร, ประวัติเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม), ในประวัติเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) ประวัติเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และประวัติเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม), (กรุงเทพ : องค์การค้าคุรุสภา), ภาคที่ 2 ตอนที่ 5 หน้า 163 และตอนที่ 6 หน้า 173] ท่านยังเป็นผู้ที่มีประสบการณ์การรับราชการในพื้นที่มาก่อน จากการได้รับมอบหมายให้ไปศึกษาหัวเมืองทั้ง 7 ตั้งแต่ก่อนมีการจัดการปฏิรูปการปกครองในตำแหน่ง พระวิจิตรวรสาสน์ (พ.ศ. 2438) และได้ร่วมร่างแผนปฏิรูปหัวเมืองเหล่านี้มาด้วยกันกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ รวมถึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชซึ่งกำกับดูแลบริเวณ 7 หัวเมืองก่อนแยกเป็นมณฑลปัตตานี

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เคยทรงตั้งข้อสังเกตว่า การจัดราชการในบริเวณ 7 หัวเมือง โดยเจ้าพระยายมราช ในครั้งนั้นว่ามีการใช้ความ "สุขุมคัมภีรภาพ" เป็นพิเศษ (ซึ่ง "สมกับนามสกุลที่ได้รับพระราชทาน") หลักการสำคัญที่เจ้าพระยายมราชเมื่อครั้งเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต-ข้าหลวงดูแลบริเวณ 7 หัวเมือง ได้ "แสดงความให้ปรากฏแพร่หลาย" คือ การ "ถือว่าชาวเมืองที่เป็นไทยกับมลายูเสมอกันหมด" ให้ความสำคัญกับการเลือกเจ้าหน้าที่พนักงานตามระเบียบใหม่ โดยเลือกทั้งที่เป็นมลายูและไทย และ "พยายามระวังป้องกัน มิให้เกิดรังเกียจกันว่าต่างชาติต่างศาสนา หรือว่าจะให้ไทยไปเป็นมลายู" [สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ, ประวัติเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม), ในประวัติเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) ประวัติเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และประวัติเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม), อ้างแล้ว., ภาคที่ 1, หน้า 118-119] ท่านยังระมัดระวังดูแลผลกระทบที่เกิดกับเจ้าเมืองเดิมที่ต้องสูญเสียผลประโยชน์จากการจัดระเบียบการเสียภาษีอากรแบบใหม่ที่รัฐบาลกลางนำไปใช้ โดยเสนอให้เจ้าเมืองต่างๆ ส่งบัญชีผลประโยชน์ที่เคยรับเพื่อตั้งเป็นเงินชดเชยประจำปีและเป็นเงินบำนาญ และแม้ว่าบัญชีผลประโยชน์ที่เจ้าเมืองยื่นมาโดยมากจะสูงกว่าที่เคยได้รับจริง แต่ท่านก็ยอมรับเพราะต้องการให้มีการตกลงโดยสมัครใจของผู้ปกครองเดิม จึงมีกรณีที่ เจ้าเมืองหนองจิก (พ่วง ณ สงขลา) ได้รับบำนาญมากกว่าเงินเดือนของเจ้าพระยายมราชเองที่เป็นข้าหลวงเทศาภิบาล "เกือบเท่าหนึ่ง" หลักการที่สำคัญยิ่งอีกประการที่ท่านใช้ในบริเวณเจ็ดหัวเมือง คือ การเอาข้าราชการไทยจากจังหวัดอื่นไปเป็นตำแหน่งในบริเวณ 7 หัวเมือง "น้อยที่สุด" โดย "เลือกหาแต่ผู้ชำนาญการอันหาตัวไม่ได้ในท้องถิ่น ถ้าคนในท้องถิ่นไทยก็ตามมลายูก็ตาม สามารถจะทำได้แม้จะทำไม่ได้ดี ทีเดียว ก็ใช้คนในท้องถิ่น" [สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ, ประวัติเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม), ในประวัติเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) ประวัติเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และประวัติเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม), อ้างแล้ว., ภาคที่ 1, หน้า 120]

ด้วยภูมิหลังของเจ้าพระยายมราชที่ผูกพันกับดินแดนส่วนนี้มาอย่างสืบเนื่องตั้งแต่เดิมดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงทรงมอบหมายให้เจ้าพระยายมราชไปตรวจสอบเหตุการณ์วิกฤตที่มณฑลปัตตานีด้วยตนเอง และถวายรายงานความเห็นว่าสมควรจะวางระเบียบการปกครองอย่างไรต่อไป [กจช., ร.6 ม.22/12, พระราชกระแสพระราชทาน วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2465.] ต่อไปนี้เป็นการนำเสนอประเด็นปัญหาในการบริหารปกครองมณฑลปัตตานีอันนำมาสู่ความไม่สงบ-การต่อต้านรัฐใน พ.ศ. 2465 ในทัศนะและมุมมองของเจ้าพระยายมราช ซึ่งในช่วงเตรียมรายงานท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2465 [ประกาศตั้งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย อ้างถึงใน กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร, อ้างแล้ว, หน้า 163.]
**********
เมื่อพิจารณาจากบทความของพรรณงาม เง่าธรรมสาร จะเห็นว่า ขณะที่การสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก้าวเข้าสู่ระยะที่ 2 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สืบต่อจากสมเด็จพระราชบิดาองค์สถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งหาได้เปลี่ยนผ่านจากระบอบศักดินา/จตุสดมภ์โดยราบรื่นแต่อย่างใด ประสบกับอุปสรรคทั้งในส่วนของเจ้านายและขุนนางข้าราชการในระบบเดิมซึ่งสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์อันเคยมีเคยได้ ทั้งในส่วนของเจ้าประเทศราชและเจ้าเมืองแบบเก่าที่ถูกลิดรอนอำนาจและลดบทบาทสถานภาพผู้ปกครองที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในระดับท้องถิ่น และรวมทั้งราษฎรที่เคยเป็นข้าทาส ตลอดจนบ่าวไพร่ ต้องเผชิญหน้ากับระบบเศรษฐกิจและการเมืองการปกครองที่เปลี่ยนไป และประสบความยากลำบากในการปรับตัวสู่ชีวิตแบบเสรีชนที่ไร้หลักประกันใต้ร่มเงาของนายทาสและต้นสังกัดไพร่ในระบอบศักดินา เกิดการดิ้นรนในการครองชีพและรักษาสถานภาพเสรีชนที่ต้องเสีย "ภาษีอากร" แบบใหม่ รวมทั้งเงิน "ค่าราชการ" หรือ "รัชชูปการ" เป็นที่เดือดร้อนแก่ราษฎรหัวไร่ปลายนาเป็นอย่างยิ่ง

ขุนนางอำมาตย์ที่มีประสบการณ์การปกครองทั้งสองระบอบ ย่อมมีมุมมองและวิสัยทัศน์ในการพิจารณ์และดำเนินการจัดการที่เอื้ออำนวยต่อเป้าหมาย "ความสงบ" สำหรับระบอบการปกครองใหม่และสภาวการณ์ใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มุ่งไปที่ "ผู้ครองอำนาจเดิม" เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ความยากลำบากในการจัดปกครองใน "หัวเมืองภาคใต้" นั้นเอง มีบริบทและความละเอียดอ่อนยิ่งกว่าในภูมิภาคอื่นๆของรัฐสยามในเวลานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "แสดงความให้ปรากฏแพร่หลาย... ถือว่าชาวเมืองที่เป็นไทยกับมลายูเสมอกันหมด... พยายามระวังป้องกัน มิให้เกิดรังเกียจกันว่าต่างชาติต่างศาสนา หรือว่าจะให้ไทยไปเป็นมลายู"

และขุนนางอำมาตย์ระดับสูงที่เป็นที่น่าจับตามอง คือ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งนามสกุล "สุขุม" นี้เป็นนามสกุลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ลำดับที่ 1.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 11-17 พฤษภาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8