Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (70)

รัฐบาล "บิ๊กจิ๋ว" กับลูกโป่งฟองสบู่
ความอ่อนหัดในเวทีการเงินระดับโลก


17 พฤศจิกายน 2539 นับเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 21 ของประเทศไทยนับจากการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 นี้เป็นการเลือกตั้งแบบผสมระหว่างแบ่งเขตกับรวมเขต ให้เขตเลือกตั้งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ไม่เกิน 3 คน รวมมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 393 คน

ผลการเลือกตั้งก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่เกิดจากการปฏิรูปการเมืองสมัยนายบรรหาร ศิลปะอาชาเป็นนายกรัฐมตนตรี เป็นการสร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองแบบพลิกความคาดหมาย เมื่อพรรคความหวังใหม่ ที่เพิ่งก่อตั้งและส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งเป็นครั้งแรกประสบความสำเร็จ สามารถเฉือนเอาชนะ พรรคประชาธิปัตย์ ไปได้ 2 เสียง ทำให้ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ซึ่งผลการเลือกตั้งในคราวนั้น ออกมาดังนี้ (ชื่อพรรคการเมือง ตามด้วยหัวหน้าพรรค) คือ พรรคความหวังใหม่ (พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ) 125 คน, พรรคประชาธิปัตย์ (นายชวน หลีกภัย)123 คน, พรรคชาติพัฒนา (พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ) 52 คน, พรรคชาติไทย (นายบรรหาร ศิลปะอาชา) 39 คน, พรรคกิจสังคม (นายสุวิทย์ คุณกิตติ) 20 คน, พรรคประชากรไทย (นายสมัคร สุนทรเวช) 18 คน, พรรคเอกภาพ (นายอุทัย พิมพ์ใจชน) 8 คน, พรรคเสรีธรรม (นายพินิจ จารุสมบัติ) 4 คน, พรรคมวลชน (นายอำนวย วีรวรรณ) 2 คน, พรรคพลังธรรม (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) 1 คน, พรรคไท (นายธนบดินทร์ แสงสถาพร) 1 คน

จากนั้นจึง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เจ้าของสมญา "ขงเบ้งแห่งกองทัพบก" หรือที่สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป เรียกว่า "บิ๊กจิ๋ว" จึงเข้ารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 22 ในคณะรัฐมนตรีคณะที่ 52 ตามประกาศพระบรมราชโองการ ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2539 โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2539 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีอีก 49 คน

แต่แล้วเพียงต้นปี 2540 คลื่นลูกแรกของวกฤตเศรษฐกิจก็ซัดเข้ามาหยั่งกำลังแนวต้านรับของไทย โดยในชั้นต้นรัฐบาลพล.อ.ชวลิตและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจในเวลานั้น นายอำนวย วีรวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ประกาศตัดงบประมาณแผ่นดินลงอย่างรุนแรงถึง 2 ครั้ง เพื่อชะลอเศรษฐกิจและเพื่อลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

ประวัติศาสตร์ยุคใกล้ของไทยคงต้องจารึกไว้อย่างน่าเศร้า ถึงความอ่อนหัดไร้เดียงสาในเวทีเศรษฐศาสตร์การเงินการคลังระดับนานาชาติ สำหรับโลกยุคไร้พรมแดน ว่าในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2540 มีการโจมตีค่าเงินบาทโดยกองทุนต่างชาติอย่างรุนแรง ด้วยความกลัวว่า ระบบการเงินจะพัง ธปท.ได้ทำสัญญา swap เพื่อปกป้องค่าเงินบาทไปถึง 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ (ขณะนั้นไทยมีหนี้ต่างประเทศ 91,000 ล้านดอลลาร์) ครั้งนั้นแม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะดักหน้าออกคำสั่งจำกัดการแลกเปลี่ยนเงินบาทของธนาคารในประเทศ จนทำให้กองทุนต่างชาติต้องไปตั้งโต๊ะขอซื้อเงินบาทที่สิงคโปร์ในราคาแพงและขาดทุนไปตามกัน แต่กองทุนต่างชาติมิได้ล่าถอยแต่กลับไปตั้งหลักระดมเงินบาทเพื่อกลับเข้ามารอบใหม่ใหม่

ตามมาด้วยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ดูเหมือนว่าจะกำลังเติบโตอย่างผิดสังเกต ด้วยการกู้เงินจากสถาบันการเงินนอกประเทศเข้ามาปล่อยกู้ปั่นราคาธุรกิจ และการตกแต่งหน้าตาบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมุ่งเพิ่มมูลค่าหุ้นในลักษณะ "เศรษฐกิจฟองสบู่" แทนที่จะเป็นการพัฒนาธุรกิจและการผลิตโดยตรง ผลที่ทยอยเกิดขึ้นก็คือมูลหนี้เหล่านั้นกลับกลายเป็นหนี้เสียในสถาบันการเงินมากขึ้น ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมบางอย่างก็เกิดเป็นหนี้เสียเช่นกัน ในเดือนมีนาคม ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศว่ามีบริษัทเงินทุน 10 แห่งต้องเพิ่มทุนเป็นการด่วน ประชาชนที่ได้ข่าวหนี้เสียก็แห่กันมาถอนเงินฝาก บริษัทเงินทุนขาดสภาพคล่อง จึงหันไปขอความช่วยเหลือจากกองทุนฟื้นฟู

ต่อมาวันที่ 14 พฤษภาคมได้มีการโจมตีค่าเงินบาทครั้งใหญ่อีกครั้ง คราวนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ต่อสู้โดยทำสัญญา swap ไปกว่าหมื่นล้านดอลลาร์ จนทำให้ทุนสำรองสุทธิ เหลือเพียง 2 พัน 5 ร้อยล้านดอลลาร์ (ทุนสำรองสุทธิ คือทุนสำรอง หักด้วยภาระ swap แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุนสำรองจริงๆเหลือเท่านั้น เพราะการส่งมอบภาระ swap ทำที่เวลาต่างๆ กันในอนาคต ส่วนจะเสียหายเท่าไรก็อยู่ที่อัตราแลกเปลี่ยนเมื่อถึงกำหนดส่งมอบ)

ตามรายงานคณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) ที่ตั้งโดยรัฐบาลนายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย (รัฐบาลชวน 2) การต่อสู้ครั้งใหญ่ทั้งสองครั้ง ทางธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานเพียงชัยชนะในการปกป้องค่าเงินบาท แต่ไม่ได้รายงานยอด swap ให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบ โดยถือว่าเป็นบัญชีซื้อขายของฝ่ายการธนาคาร และไม่ได้กระทบกับเงินสำรองในทันที อีกทั้งต้องการปิดบังไม่ให้ตลาดเงินและประชาชนรู้ ป้องกันไม่ให้เกิดการตื่นตระหนกแถอนเงินฝากและการลงทุนของผู้ลงทุนรายย่อยในตลาดหลักทรัพย์

แต่แล้วกลับไม่อาจยับยั้งกระแสตื่นตระหนกดังกล่าวได้ ผลก็คือในวันที่ 21 มิถุนายน นายอำนวย วีรวรรณ ลาออกจากรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยแต่งตั้ง นายทนง พิทยะ เข้ารับตำแห่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแทน

ในวันที่ 25 มิถุนายน 2540  นายทนงสั่งการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานสถานะเงินสำรองสุทธิ ซึ่งมีการเข้ารายงานต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ในวันที่ 29 มิถุนายน จากนั้นจึงมีการประกาศลดค่าเงินบาทโดยเป็นการปล่อยลอยตัวค่าเงิน ในวันที่ 2 กรกฎาคม ด้วยเหตุผลที่เป็นที่ชัดเจนในเวลานั้นว่า เงินสำรองสุทธิลดลงมากจนไม่อยู่ในสถานะที่จะปกป้องค่าเงินได้อีก และเพื่อเป็นการแก้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

และในเดือนกรกฎาคมนั้นเองบริษัทเงินทุน 16 แห่งถูกระงับกิจการเป็นการชั่วคราว และอีก 42 แห่งในเดือนสิงหาคม เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไปตรวจสอบสถานะทางการเงินและการทำธุรกรรมทางการเงิน

จากช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม มีการปลุกกระแสสังคมผ่านสื่อต่างๆอย่างหนักและต่อเนื่องว่า ประเทศไทยกำลังจะล้มละลาย เพราะการดำเนินนโยบายทางการเงินการคลังผิดพลาดของรัฐบาล และแม้ว่าจะมีความพยายามกอบกู้สถานการณ์ด้วยการปรับคณะรัฐมนตรีขนาดใหญ่ถึง 2 ครั้ง คือในวันที่ 15 สิงหาคม และ 24 ตุลาคม แต่แล้วในที่สุด นายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2540

ขณะนั้นเงินบาทอยู่ที่ 36.85 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 17-23 กรกฎาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (69)

1 ปีรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา
ปรับ ครม. 9 ครั้งก่อนยุบสภา


ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2538 โดยนายชวน หลีกภัยให้เหตุผลไว้ว่า

"...โดยที่สภาผู้แทนราษฎรปัจจุบันประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค แต่ไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ จำเป็นต้องอาศัยพรรคการเมืองหลายพรรคเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล และในภาวการณ์ที่ผ่านมา ปรากฏว่าพรรคการเมืองต่างๆหลายพรรคมีความแตกแยก จนไม่สามารถจะดำเนินการทางการเมืองได้อย่างมีเอกภาพ เป็นเหตุให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน และการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าจะมีการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นอีกก็ตาม ปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวนี้ก็ไม่อาจสิ้นสุดลงได้ อันนำมาซึ่งความเสื่อมโทรมของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สมควรยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปขึ้นใหม่..."

พระราชดังกล่าวมีผลทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2535 สิ้นสุดลง แต่คณะรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น คงบริหารราชการแผ่นดินต่อไปในฐานะคณะรัฐมนตรีรักษาการ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งและมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ และได้กำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2538

ก่อนจะถึงวันสิ้นสุดการรับสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 1 มิถุนายน มีอดีต ส.ส. ย้ายพรรคกันฝุ่นตลบรวม 47 คน ดังนี้ คือ พรรคพลังธรรมย้ายออก 13 คน พรรคชาติพัฒนา 13 คน พรรคความหวังใหม่ 9 คน พรรคกิจสังคม 3 คน พรรคเสรีธรรม 3 คน พรรคชาติไทย 3 คน พรรคประชาธิปัตย์ 2 คน และพรรคเอกภาพ 1 คน ในระหว่างนั้นมีข่าวแพร่สะพัดเรื่องการใช้จ่ายเงินเพื่อดึงตัวนักการเมือง ทั้งความพยายามให้ย้ายออก และทั้งความพยายามยื้อไว้ให้อยู่กับพรรคเดิม มียอดเงินสูงถึงรายละประมาณ 20-25 ล้านบาท ดังประกฎในการให้สัมภาษณ์คราวหนึ่งของ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้สมัคร ส.ส.พรรคนำไทย กทม.เขต 2 ในเวลานั้น ขณะที่ "คงจะมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งภายในพรรคเก่าเป็นสำคัญ เช่น อดีต ส.ส.จากพรรคพลังธรรม หลายคนย้ายไปอยู่พรรคนำไทย เพราะได้ ขัดแย้งกับหัวหน้าพรรคก่อนหน้าจะยุบสภามาเป็นเวลานาน หลายคนที่ย้ายพรรคมีฐานะการเงินดีจนเชื่อได้ว่าการย้ายพรรคคงไม่ใช่เพราะต้องการเงิน"

การเลือกตั้งครั้งนี้มีสิ่งที่แตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538 กำหมดอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งลดจาก 20 ปีเหลือ 18 ปี เป็นครั้งแรก

ผลการเลือกตั้ง ซึ่งมีผู้สมัครจากพรรคการเมืองต่างๆ รวม 14 พรรค มีจำนวนผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นจำนวน 391 คน ปรากฏว่า พรรคชาติไทยมีสมาชิกได้รับเลือกตั้งเป็นจำนวนมากที่สุด จำนวน 92 ที่นั่ง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ มีสมาชิกได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับที่สอง จำนวน 86 ที่นั่ง ภายหลังการเลือกตั้งพรรคชาติไทย พรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรม พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย พรรคนำไทย และพรรคมวลชน ได้รวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาล มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมกันทั้งหมด 233 คน โดยมีพรรคชาติไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้ มีมติเลือกนายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี พรรคชาติไทย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่งด้วย

จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบให้ นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของประเทศไทยโดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2538 ทั้งนี้ยังรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อีกด้วย โดยมีรองนายกรัฐมนตรีที่ประกอบด้วย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ, พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร, นายบุญพันธ์ แขวัฒนะ, นายสมัคร สุนทรเวช และนายอำนวย วีรวรรณ

การเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินในฐานะนายักรัฐมนตรีผู้นำรัฐบาลของนายบรรหาร อยู่ในช่วงการเสื่อมถอยลงของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการขยายขนาดหนี้สินในสถาบันการเงิน และการตกต่ำลงของธุรกรรมทางการเงินในตลาดหลักทรัพย์ การส่งออกกุ้งถูกกีดกันจากกฎหมายสิ่งแวดล้อมของสหรัฐ ขณะเดียวกับที่ค่าเงินดอลลาร์ในตลาดการเงินระหว่างประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ค่าเงินบาทที่ผูกติดไว้กับดอลลาร์จึงพลอยสูงตามไปด้วย ผลก็คือ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดการค้าทังในระดับภูมิภาคและในระดับโลกลดลงไปอีก

ปี 2538 และ 2539 ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยตกต่ำเข้าขั้นวิกฤต สองปีติดต่อกัน คือ -8.2 และ -8.1 ตามลำดับ ทำให้เงินบาทอยู่ในฐานะที่ล่อแหลมต่อการถูกโจมตี ทั้งนี้ในเดือนมีนาคม 2539 สถาบันจัดอันดับ Moody’s ได้เตือนว่าจะลดอันดับหนี้ระยะสั้นของไทย และการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย แก้ไขปัญหา BBC หรือธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ โดยเพิ่มทุนใหม่โดยไม่ได้ลดทุนเก่าเสียก่อน ยิ่งซ้ำเติมให้ต่างชาติขาดความเชื่อมั่น นำไปสู่กระบวนการถอนการลงทุนที่เป็นตัวเงินออกจากประเทศไทย

ต่อมาในเดือนกันยายน 2539 สถาบันจัดอันดับ Moody’s ปรับลดลดอันดับพันธบัตรระยะสั้นของไทย เป็นเหตุให้ช่วงนั้นบรรดานักเก็งกำไรต่างชาติได้เข้ามาโจมตีค่าเงินหลายครั้ง แต่ยังไม่รุนแรงนักเป็นการหยั่งเชิงว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีศักยภาพพอที่จะติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินและสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายค่าเงินหรือไม่ ซึ่งหมายความว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลในยุคโลกาภิวัติ จำเป็นจะต้องตื่นตัวและมีวิสัยทัศน์ทางด้านนโยบายทางการเงินการคลัง ให้สอดคล้องกับระบบธุรกิจการค้า การส่งออกและการนำเข้า ตลอดจนนวัตกรรมใหม่ๆ ในโลกสมัยใหม่ผ่านทางอินเทอร์เนต เพื่อที่จะมีความฉับไวในการรับรู้ข่าวสารข้อมูล มาประกอบการพิจารณายุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของชาติทั้งในเวทีภูมิภาคและในเวทีระดับนานาชาติ

เมื่อนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งบริหารประเทศโดยรัฐบาลผสม ที่ประกอบไปด้วยพรรคร่วมรัฐบาลถึง 5 พรรค นำไปสู่ความติดขัดไม่ราบรื่น ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2539 การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งแรกก็มาถึง และในเดือนพฤษภาคมมีการปรับคณะรัฐมนตรีถึง 6 ครั้ง นับจากวันที่ 3 ถึง 28 ตามมาด้วยวันที่  15 มิถุนายน และวันที่ 1 และ 3 กรกฎาคม

ช่วงปลายรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชาคือในวันที่ 14 สิงหาคม รัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังธรรมลาออกจากตำแหน่งพร้อมกันถึง 5 คน ซึ่งนับเป็นการลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และกว่าจะมีพระบรมราชโองการฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีทดแทนก็ตกเข้าไปวันที่ 27 กันยายน 2539

แต่แล้วนายบรรหารก็ตัดสินใจประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร โดยมีพระบรมราชโองการในวันที่ 27 กันยายนนั้นเอง โดยกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปเป็นวันที่ 17 พฤศจิกายน 2539.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 10-16 กรกฎาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (68)

ส.ป.ก.4-01 ภาคใต้เจ้าปัญหา
ชนวนเหตุสู่จุดจบรัฐบาลชวน 1


ในเวลาเดียวกันเอกภาพในแวดวงการเลือกตั้งและการเมืองระบบรัฐสภา ก็นำไปสู่การปรับเปลี่ยนขั้วการเมืองกันอย่างขนานใหญ่ ไม่เพียงเฉพาะ "มุ้ง" ภายในพรรคการเมืองเฉพาะพรรคใดพรรคหนึ่ง หากยังมีเรื่องการรวมตัวของ ส.ส. หนุ่มจากหลายพรรครวม 16 คนเรียกว่า "กลุ่ม 16" ซึ่งจัดให้มีการพบปะพูดคุยกันอยู่เสมอและแลกเปลี่ยนทัศนะเพื่อทำงานร่วมกันในบางเรื่อง ส.ส. คนสำคัญของกลุ่มนี้ก็เช่น นายไพโรจน์ สุวรรณฉวี ส.ส. จากจังหวัดนครราชสีมา พรรคชาติพัฒนา นายเนวิน ชิดชอบ ส.ส.จังหวัดบุรีรัมย์ พรรคชาติไทย

นักการเมืองกลุ่มนี้แสดงความคิดทางการเมืองหลายครั้งในนามของกลุ่มแทนที่จะทำในนามของพรรค ช่วงปลายปี พ.ศ.2537 และต้นปี พ.ศ.2538 กลุ่ม 16 เป็นแกนสำคัญในการโจมตีข้อบกพร่องในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมของรัฐบาล มีการเคลื่อนไหวต่อเนื่องนำเสนอข้อมูลในประเด็นดังกล่าวตั้งแต่ก่อนการร่วมรัฐบาลของพรรคชาติพัฒนาต่อสาธารณะ ทั้งเมื่อเข้าร่วมรัฐบาลผสมพรรคประชาธิปัตย์โดยการนำของนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ร่วมรัฐบาลแล้ว ส.ส. กลุ่ม 16 นี้ หนึ่งในจำนวนนั้นคือนายไพโรจน์ สุวรรณฉวี

เมื่อพรรคชาติพัฒนาเข้าร่วมในคณะรัฐบาลประชาธิปัตย์ ในเดือนธันวาคม 2537 นั้นทำให้รัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ สามารถรักษาเสียง ข้างมากในสภาไว้ได้รวม 202 เสียง โดยมีจำนวน ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ดังนี้ พรรคประชาธิปัตย์ 79, พรรคชาติพัฒนา 60, พรรคพลังธรรม 47, พรรคเสรีธรรม 8, พรรคเอกภาพ 8 รวม 202

สำหรับปัญหาการออกเอกสารแสดงสิทธิ ส.ป.ก.4-01 นั้น เป็นเอกสารสิทธิการครอบครองที่ดินซึ่งระบุไว้ในพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินปี พ.ศ.2518 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2532 ในขณะที่เอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 เป็นการดำเนินการโดยรัฐบาลนายชวน หลีกภัยตามนโยบายที่แถลงต่อสภาเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่าจะออกเอกสารสิทธิการถือครองที่ดินแก่เกษตรกรผู้ถือครองที่ดินของรัฐซึ่งสมารถพิสูจน์ยืนยันได้ว่าเป็นเกษตรกรผู้ยากไร้และครอบครองที่ดินมาตั้งแต่ปี 2524 ทั้งนี้มีกรอบการดำเนินงานตามเป้าหมายปีละ 4 ล้านไร่

ในเวลา 2 ปีแรกที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลนายชวน หลีกภัยได้ออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ไป 592,809 ราย รวมเนื้อที่ 11,564,925 ไร่ ซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้กว่า 3 ล้านไร่ โดยรัฐบาลอ้างว่าผู้ที่ได้รับเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ทั้งหมดที่เข้าโครงการดังกล่าวเป็นเกษตรกรผู้ยากไร้และไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2537 มีการแจกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ให้แก่ราษฎรจังหวัดภูเก็ต 486 ราย พื้นที่ 10,536 ไร่ ในเวลาต่อมามีหนังสือพิมพ์ตีพิมพ์รายชื่อผู้ได้รับเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 หลายคนเป็นพ่อค้านักธุรกิจ ไม่ใช่เกษตรกรผู้ยากไร้ และบางคนก็มีความเกี่ยวเนื่องหรือมีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ ตามมาด้วยสื่อสารมวลชนหลายแขนงพากันขุดคุ้ยความไม่ชอบมาพากลในการออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 มากขึ้น โดยประเด็นที่สำคัญคือ มีการออกเอกสารสิทธิจำนวนมากโดยไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ในที่สุดพรรคฝ่ายค้านที่ประกอบด้วย พรรคชาติไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคกิจสังคม พรรคราษฎร ได้ยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจ นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทั้งคู่สังกัดพรรคประชาธิปัตย์

แต่รัฐมนตรีทั้ง 2 นายชิงลาออกจากตำแหน่งก่อนที่จะถึงวันเปิดการอภิปราย คือนายนิพนธ์ ลาออกเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม และนายสุเทพฯ ก็ได้ลาออกตามมาในวันที่ 13 ธันวาคม 2537

สถานการณ์ในช่วงฝุ่นตลบทางการเมืองนี้เองในช่วงนี้เอง พรรคความหวังใหม่ก็ประกาศถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาลไปเป็นฝ่ายค้าน และพรรคชาติพัฒนาได้เข้ามา "เสียบ" แทน นายชวน หลีกภัย ในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งนายประจวบ ไชยสาส์น จากพรรคชาติพัฒนา เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และตั้งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ

ต่อมาในเดือน ธันวาคม 2537 นายบรรหาร ศิลปอาชา ผู้นำพรรคฝ่ายค้านในสภาได้ยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั้งคณะ โดย ส.ส. พรรคความหวังใหม่ ก็ร่วมลงรายชื่อในญัตติดังกล่าวด้วย แต่เนื่องจากขณะนั้นใกล้จะหมดสมัยการประชุมสภา นายมารุต บุนนาค ประธานสภา ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ จึงบรรจุญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยกำหนดวันอภิปรายเป็นวันที่ 16 - 17 พฤษภาคม 2538 และให้วันที่ 19 พฤษภาคม เป็นวันลงมติ

แต่แล้วยังไม่ทันถึงกำหนดวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็เกิดปัญหาในพรรคร่วมรัฐบาลขึ้นมาเสียก่อน กล่าวคือ จากกรณีนายไพโรจน์ สุวรรณฉวี ส.ส.พรรคชาติพัฒนา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขุดคุ้ยหลักฐานความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลในการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 มาแต่ต้นก่อนที่พรรคชาติพัฒนาจะเข้าร่วมรัฐบาล ครั้นเมื่อพรรคชาติพัฒนาเข้าร่วมรัฐบาลแล้ว นายไพโรจน์ก็ยังคงโจมตีรัฐบาลในประเด็นนี้อยู่ต่อไป โดยเจ้าตัวให้เหตุผลว่า เพื่อมิให้เกิดคำครหาว่าไม่มีหลักการและจุดยืนที่ชัดเจน ในปัญหาเดียวกัน ในขณะเดียวกันหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา คือ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ไม่สามารถที่จะยับยั้งการพูดในทางลบต่อรัฐบาลในเรื่อง ส.ป.ก.4-01 ได้

และไม่เพียงท่าทีของ ส.ส.ของพรรคชาติพัฒนา ที่มีแนวโน้มจะไม่ลงมติไว้วางใจในการยื่นญัตติของฝ่ายค้านครั้งนี้ แต่ ส.ส. หลายคนของพรรคพลังธรรม ซึ่งมีความขัดแย้งกับหัวหน้าพรรคของตนเองก็แสดงท่าทีว่าจะไม่ลงมติให้ฝ่ายรัฐบาลเช่นเดียวกันด้วย

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในวันที่ 16 และวันที่ 17 พฤษภาคม 2538 นับเป็นการอภิปรายที่ทั้ง 3 ฝ่ายเตรียมการบ้านมาค่อนข้างดี และใช้ความสามารถในการพูดประกอบหลักฐานข้อมูล อีกทั้งการอภิปรายและการตอบโต้โดยรวมถือได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ประชาชนทั่วไปพอใจ ไม่หงุดหงิดรำคาญจากการประท้วงไม่หยุดหย่อนจนการอภิปรายไม่คืบหน้า และประธานที่ประชุมสภาไม่อาจควบคุมให้การประชุมลุล่วงไปได้ด้วยดี

หลังจากการอภิปรายจบลง คณะกรรมการบริหารของพรรคพลังธรรมเรียกประชุมด่วน และที่ประชุมมีมติว่าฝ่ายรัฐบาลตอบข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านไม่ชัดเจนจึงเห็นควรงดออกเสียงให้รัฐบาลเมื่อมีการลงมติ ทำให้เสียงสนับสนุนรัฐบาลจะหายไปถึง 47 เสียง เหลือเพียง 155 เสียง ในขณะเดียวกัน ส.ส.ของพรรครัฐบาลซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่ม 16 ก็ประกาศว่าจะไม่ยกมือให้ฝ่ายรัฐบาล

ทางเลือกของรัฐบาลจึง มีอยู่เพียง 2 ทางคือ ยุบสภาหรือลาออก ซึ่งนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีก็ได้ประกาศยุบสภา ในตอนเที่ยงของวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2538 ก่อนถึงกำหนดที่จะให้มีการลงมติซึ่งกำหนดไว้เวลา 13.30 น. ของวันที่ 19 พฤษภาคม นั้นเอง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 3-9 กรกฎาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8