Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (66)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 2 (2516-2518) (6)

16 ตุลาคม 2516 เวลา 16.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นำคณะรัฐมนตรี เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญานก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน (ภาพจาก http://www.14tula.com/images/gallery/images_event/g182_jpg.jpg)

บทความลำดับที่ 1284 บริบทเหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ "ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว: เหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗" เขียนโดย ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (http://midnightuniv.tumrai.com/midnight2544/0009999646.html) ทิ้งท้ายไว้ก่อนจะนำเสนอตอนที่สองของบทความชุดนี้ดังนี้
**********
ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว :
เหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ (5)


การเมืองภาคประชาชน
บทเรียนจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๑๗


ความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเหล่านี้ ยังมีนัยสำคัญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองไทย ดัง นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2538) ตั้งข้อสังเกตว่า ความเคลื่อนไหวของขบวนการประชาธิปไตยเมื่อเดือนตุลาคม 2516 มีพลังผลักดันจากอุดมการณ์ชาตินิยม และสามารถกระตุ้นเร้าพลังของคนชั้นกลางที่เติบโตจากกระบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะเกือบสองทศวรรษ ให้ก้าวเข้ามามีบทบาทในการเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ คนกลุ่มนี้เองที่เห็นว่าระบบทุนนิยมโลก มีการเอารัดเอาเปรียบผ่านนายทุนขุนศึกเพื่อเอารัดเอาเปรียบคนในชาติ ในแง่นี้จะต้องต่อสู้โดยการใช้ประชาธิปไตยคือ "…ให้โอกาสแก่คนทุกหมู่เหล่า ซึ่งมีความหลากหลายในด้านผลประโยชน์อื่นๆ อยู่มาก ได้เข้ามาจัดการปกครองตนเอง ไม่ต้องตกเป็นทาสของเผด็จการทหารตลอดไป…" (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2538 (ค): น. 180)

แม้การบ่งชี้ว่าชนชั้นกระฎุมพีใหม่มีบทบาทสำคัญ และเป็นประกันให้กับความสำเร็จในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ (เบ็น แอนเดอร์สัน, 2541: น. 115) แต่ก็อาจทำให้มองข้ามความหลากหลายของขบวนการ 14 ตุลาฯ ซึ่งเสน่ห์เห็นว่ามีลักษณะเป็นการปฏิวัติ (เสน่ห์ จามริก, 2530: น. 149-184) และภายหลังจากการมีรัฐธรรมนูญใหม่ที่ร่างโดยสภานิติบัญญัติที่มาจากประชาชน ก็น่าจะนำพาความมั่นคงและมีเสถียรภาพทั้งเศรษฐกิจและการเมือง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชนชั้นกลางก็เปลี่ยนใจ ยอมรับความชอบธรรมของคณะทหารในอีกสามปีต่อมา แอนเดอร์สันกล่าวว่า คนชั้นกลางสนับสนุนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ด้วยความเงียบ ยิ่งตอกย้ำอาการลงแดงของชนชั้นกระฎุมพีใหม่ที่เห็นว่า ความพลิกผันปั่นป่วนทางอุดมการณ์คุกคามความมั่นคงในชีวิต แบบกระฎุมพี (เบ็น แอนเดอร์สัน, 2541: น. 124-137)

จะเห็นว่าการมีรัฐธรรมนูญไม่ใช่หลักประกันของความเป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญในความหมายอย่างกว้างๆ เป็นเรื่องของกติกา การกำหนดข้อตกลงเพื่อกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองหรือรัฐกับประชาชน รัฐธรรมนูญจึงมีนัยเป็นเครื่องกำหนด สิทธิและหน้าที่ ระหว่างคนสองกลุ่ม (ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2536: น. 38-41) นอกจากนี้ยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับสถานะความเป็นกฎหมายสูงสุดและความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมักจะถูกล้มล้างเสมอ เพราะโดยจารีตของรัฐธรรมนูญในวัฒนธรรมไทยแสดงให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญอาจถูกยกเลิกและเขียนใหม่ได้โดยไม่ขัดเขิน เพราะรัฐธรรมนูญมักจะถูกอ้างอิงกับความเหมาะสมของยุคสมัย.
**********
เมื่อพิจารณาถึงย่อหน้าสุดท้ายของบทความชิ้นนี้ ประเด็นที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจคือ การติดยึดกับแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมในสังคมไทย ที่จารีตการปกครองในระบอบศักดินานิยม/จตุสดมภ์-ราชาธิปไตย/สมบูณาญาสิทธิราชย์ ที่ชนชั้นสูงในทั้งสองระบบสังคมนั้นคือผู้ครอบงำบงการโครงสร้างทั้งหมด คือ ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคมและวัฒนธรรม เสียจนกระทั่งทำให้ราษฎรสามัญ (หรือ ประชาชน) ไม่อาจมองเห็นและทำความเข้าใจถึงบริบทที่ ประชาชนสามารถตัดสินอนาคตของตนเองได้ แล้วกลายเป็นเพียงผู้ถูกปกครอง หรือหมากหรือตัวประกันทางการเมืองระหว่างขั้วอำนาจนิยมของแต่ละวิวัฒนาการของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

สำหรับบทความตอนต่อไป เป็นบทความลำดับที่ 1285ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนโดยผู้เขียนคนเดียวกัน (http://midnightuniv.tumrai.com/midnight2544/0009999645.htmll)

ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว:
บทเรียนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ (1)

การเมืองภาคประชาชน
บทเรียนจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๑๗

3. วิวาทะสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญ


ได้กล่าวมาแล้วว่า กรอบการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 ตกอยู่ภายใต้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลจะต้องเป็นผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา

ในยุครัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้แต่งตั้งให้จอมพลประภาส จารุเสถียรเป็น ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการฯ ชุดนี้ร่างถึงหมวดว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพ ของชนชาวไทยเท่านั้น (รัฐสภาสาร, 21:10, 2516) แต่เมื่อเกิดกรณี 14 ตุลาคม 2516 และตั้ง รัฐบาลใหม่ก็ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ แต่ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเนื่องจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็ยังคงต้องยึดตามหลักการของธรรมนูญการปกครองฯ

รัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2516 มีนายประกอบ หุตะสิงห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ร่วมกับคณะกรรมการอีก 17 คน คณะกรรมการชุดนี้ยึดหลักการแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2492 และ พ.ศ. 2511 เป็นต้นแบบ และเพิ่มเติมลักษณะระบอบการปกครองที่ต้องเกี่ยวพันกับพระมหากษัตริย์และราชบัลลังก์ การกำหนดเสรีภาพของประชาชนและการปกครองท้องถิ่น (ประชาชาติ, 1:14, 21 กุมภาพันธ์ 2517)

แต่ในส่วนของสภานิติบัญญัติที่ได้รับการแต่งตั้งสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งยังไม่หมดวาระ ถูกวิจารณ์ว่าเป็นสภาตรายาง เป็นมรดกเผด็จการ ไม่สมควรที่จะทำหน้าที่นิติบัญญัติต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้นจึงมีเสียงเรียกร้องให้สมาชิกสภานิติบัญญัติชุดนี้ลาออก เมื่อสมาชิกสภาฯ ลาออกจนมีสมาชิกเหลือน้อย ไม่สามารถเรียกประชุมได้ครบองค์ประชุมจึงมีประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสีย โดยอาศัยอำนาจตามธรรมนูญการปกครองฯ มาตรา 22 ซึ่งระบุว่าเป็นการวินิจฉัยตามประเพณีการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย (สมชาติ รอบกิจ, 2523, น.14-18) จากนั้นสมัชชาแห่งชาติจึงได้เลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดที่ 2 ขึ้นมาทำหน้าที่แทน

(ยังมีต่อ)

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 12-18 กันยายน 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (65)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 2 (2516-2518) (5)

กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญเริ่มออกเดินแจกใบปลิว วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เวลา 10.00 น. และในเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมงความเคลื่อนไหวของรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ก็เริ่มต้น อันนำไปสู่การปฏิวัติประชาชนในสัปดาห์ถัดมา 

ถึงอย่างไรก็ตาม ยังคงมีเนื้อหาที่อาจนำความสับสนทางรัฐศาสตร์เกี่ยวกับการใช้คำว่า "ปฏิวัติ" และ "รัฐประหาร" ในบทความลำดับที่ 1284 บริบทเหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ "ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว: เหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗" เขียนโดย ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (http://midnightuniv.tumrai.com/midnight2544/0009999646.html) อีกหลายครั้ง ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาหลายปีในคอลัมน์ "พายเรือในอ่าง" ผู้เขียนพยายามทำความชัดเจดในบริบทเกี่ยงวกับการ "ยึดอำนาจรัฐ (การปกครอง)" ไว้แล้วหลายครั้ง

แต่ที่สำคัญ หากไม่นับการทำสงครามประชาชนที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในห้วงเวลาประมาณ 3 ทศวรรษหลังกึ่งพุทธกาล การเคลื่อนไหว 14 ตุลาคม ในปี พ.ศ. 2516 นี้เองที่มีการใช้คำว่า "การปฏิวัติประชาชน" เป็นครั้งแรก
**********
ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว :
เหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ (3)

การเมืองภาคประชาชน
บทเรียนจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๑๗


1. บทนำ: รัฐธรรมนูญของประชาชนกับความเป็นประชาธิปไตยในการร่างรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย (ต่อ)

ถ้าหากพิจารณาโดยเงื่อนไขดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถกำกับหรือควบคุมฝ่ายบริหารได้เลย เสถียรภาพของรัฐบาลจึงค่อนข้างมั่นคง อย่างไรก็ดีมีการรวมตัวเป็นกลุ่มภายในพรรคสหประชาไทยเพื่อช่วงชิงและแข่งขันการสั่งสมอำนาจ ทำให้ระบอบถนอมประภาส ไม่สามารถบริหารได้โดยสะดวกราบรื่น เนื่องจากการใช้ระบอบรัฐสภาเป็นเพียงการสร้างฐานอำนาจนอกระบบราชการเท่านั้น ประกอบกับปัญหาอาชญากรรมที่เพิ่มสูงขึ้น และปัญหาจากภัยคอมมิวนิสต์กลายเป็นปัจจัยและเหตุผลที่ทำให้กลุ่มถนอมประภาสตัดสินใจปฏิวัติยึดอำนาจตัวเอง เพื่อให้อำนาจและผลประโยชน์ในกลุ่มของตัวเอง (เสน่ห์ จามริก, 2529: น. 365-366) ประกอบกับข่าวลือว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธที่จะพระราชทานนิรโทษกรรมแก่จอมพลถนอมและคณะ ที่ได้ก่อการปฏิวัติเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ซึ่งข่าวลือนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างการปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์เมื่อ พ.ศ. 2501 กับการปฏิวัติครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง (ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, 2526: น. 196)

คณะปฏิวัติของจอมพลถนอมและจอมพลประภาส ยังถูกท้าทายความชอบธรรมในการก่อรัฐประหารอย่างตรงไปตรงมา โดยอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 คน ได้แก่ นายอุทัย พิมพ์ใจชน, นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ,และนายบุญเกิด หิรัญคำ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาให้ดำเนินคดีต่อคณะปฏิวัติในข้อหากบฎ แม้ว่าในที่สุดการตีความและพิจารณาของศาลทำให้ทั้งสามตกเป็นจำเลย และถูกจำคุกในที่สุด แต่ก็เป็นสัญลักษณ์ของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่ได้จำกัดขอบเขตความขัดแย้งอยู่ในแวดวงราชการอีกต่อไป (เสน่ห์ จามริก, 2529: น. 365-366)

ความแตกแยกในหมู่ชนชั้นนำ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความคับแคบของฐานการเมืองที่คงอยู่บนระบบราชการและชนชั้นนำแล้ว ยังสะท้อนถึงการประเมินพลังทางเศรษฐกิจและสังคมของคนชั้นกลางที่เพิ่งเติบโตไว้ต่ำกว่าความเป็นจริงด้วย กล่าวคือ การละเลยพลังทางเศรษฐกิจสังคมใหม่ที่เติบโตตั้งแต่ต้นพุทธทศวรรษ250012 ซึ่งเริ่มไม่พอใจต่อสภาพทางสังคมภายใต้ระบอบการเมืองอภิสิทธิชนที่ส่งผลต่อ "ระบอบถนอม-ประภาส" โดยตรง (เสน่ห์ จามริก, 2541: น. 17-20) กระบวนการทางเมืองระหว่างทศวรรษ 2510-2520 จึงเป็นการจัดสรรสัมพันธภาพทางอำนาจของสังคมไทยเสียใหม่ (เสน่ห์ จามริก, 2529: น. 349)

เมื่อหลักการสิทธิเสรีภาพที่เคยตราไว้ในรัฐธรรมนูญ กลายเป็นเป้าหมายสำคัญของเรียกร้องของขบวนการเคลื่อนไหวที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า ขบวนการ 14 ตุลาฯ แสดงให้เห็นความต้องการทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมของรัฐธรรมนูญ ดังปรากฏในจดหมายของนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เขียนในนามนายเข้ม เย็นยิ่ง ถึงผู้ใหญ่ทำนุ เกียรติก้อง เพื่อให้มีกติกาหมู่บ้านโดยเร็ว. อนุสนธิจากจดหมายนายป๋วย ส่งผลสะเทือนต่อความรู้สึกนึกคิดของปัญญาชนเป็นอย่างยิ่ง หลังจากนั้นนายป๋วย ยังได้เขียนบันทึกประชาธรรมไทยโดยสันติวิธี เพื่อเรียกร้องให้ใช้สันติวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ (ป๋วย อึ๊งภากรณ์, 2528: น. 68-69) ส่วนนายป๋วยก็ถูกตอบโต้จากผู้มีอำนาจขณะนั้นจนเกือบถูกลงโทษทางวินัย

คณะปฏิวัติยังมีความขัดแย้งกับสถาบันตุลาการในกรณี ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 299 ซึ่งถูกมองจากสถาบันตุลาการว่า มีนัยของการแทรกแซงสถาบันตุลาการ และเปิดช่องให้ฝ่ายบริหารเข้ามากำกับคณะกรรมการตุลาการ ฝ่ายตุลาการตอบโต้อย่างรุนแรงจนคณะปฏิวัติต้องออกประกาศย้อนหลัง เพื่อยกเลิกคำสั่งฉบับดังกล่าวภายหลังจากประกาศใช้เพียงวันเดียว13 ไม่เพียงแต่สะท้อนความเสื่อมถอยของอำนาจคณะปฏิวัติ แต่ยังแสดงความรู้สึกของประชาชนที่เข้าร่วมประท้วงแผนการรวมอำนาจตุลาการอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2515 โดยเฉพาะบทบาทของ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่ก่อตัวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 และมีบทบาทแข็งขันในยุคของนายธีรยุทธ บุญมี จากการกระตุ้นรณรงค์ให้รักชาติ, การต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น, และกรณีการต่อต้านการล่าสัตว์ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเคลื่อนไหวคัดค้านการลบชื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ความเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นการปูพื้นฐานการรวมตัวและตั้งรับการชุมนุมในครั้งต่อๆ มา จนนำไปสู่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญ

ในนิทรรศการวันรพี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2516 เพื่อรำลึกถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวง ราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์) พระบิดาแห่งกฎหมายไทย นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ได้ร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับตัวอย่างขึ้น เผยแพร่และได้รับการตอบสนองอย่างดี จนถึงกับมีบางท่านกล่าวว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ควรยึดเอาแบบอย่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนักศึกษา เพื่อเป็น "ตัวอย่างแห่งความรวดเร็ว" และถ้าพิจารณาแล้วจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับนักศึกษาเลยก็ได้ แต่ต้องแก้ไขในบางประเด็น (นเรศ นโรปกรณ์, 2516: น. 146-157)

ในส่วนของ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ (ศนท.) ก็มีความเคลื่อนไหวอย่างจริงจังเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ศนท. เพื่อชี้ให้เห็นว่า หากรัฐบาลทำการร่างรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถประกาศใช้รัฐธรรมนูญได้ภายในหกเดือน (ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย, 2516; ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2541)
**********
มาถึงตรงนี้ การวิเคราะห์ของสำนักคิดกระแสหลักก็ยังคงให้ความสำคัญกับ "แนวทางรัฐธรรมนูญนิยม" ที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยจะสามารถสถาปนาระบอบการเมืองการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยอยู่นั่นเอง.

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 5-11 กันยายน 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (64)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 2 (2516-2518) (4)

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2514 เป็นการยึดอำนาจตัวเองโดยจอมพลถนอม กิติตขจร เหมือนรัฐประหาร พ.ศ. 2494 โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม

บทความลำดับที่ 1284 บริบทเหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ "ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว: เหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗" เขียนโดย ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (http://midnightuniv.tumrai.com/midnight2544/0009999646.html) นำเสนอต่อไปว่า เป็นที่น่าสังเกคว่า ในบทความชิ้นนี้ นอกเหนือจากใช้คำ เช่น "ฝ่ายก้าวหน้า" แล้ว ยังใช้คำว่า "ระบอบอำมาตยาธิปไตย" ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 อีกด้วย
**********
ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว:
เหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ (2)


การเมืองภาคประชาชน
บทเรียนจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๑๗

1. บทนำ: รัฐธรรมนูญของประชาชนกับความเป็นประชาธิปไตยในการร่างรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย (ต่อ)

ระบอบปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่สืบเนื่องมาถึงจอมพลถนอม กิตติขจร และคณะปกครองประเทศภายใต้กรอบของธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ซึ่งมีสถานะเป็น "รัฐธรรมนูญชั่วคราว" เป็นเวลาถึง 9 ปี 5 เดือน จึงได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2511 แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในระยะเวลาเพียง 3 ปี 4 เดือน 28 วัน (ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2521, น.1) จอมพลถนอม กิตติขจรและคณะก็กระทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองอีกครั้ง โดยประกาศใช้ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 และแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ เพื่อทำหน้าที่นิติบัญญัติและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้พลเอกประภาส จารุเสถียร (ยศขณะนั้น) เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญอย่างล่าช้า ดังการประชุมครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2516 ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญถึงเพียงหลักการของรัฐธรรมนูญหมวดที่ ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ในส่วนของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยการพูด การเขียน การพิมพ์และการโฆษณา (รัฐสภาสาร, 21:10, 2516) และประมาณระยะเวลาที่จะร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จภายใน 3 ปี (สมชาติ รอบกิจ, 2523, น.7 และรายงานการประชุมคณะ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 4/2516 ใน รัฐสภาสาร, 21:5, เมษายน 2516)

ในขณะที่มีการเคลื่อนไหวของประชาชนนำโดยกลุ่มนักวิชาการ นักศึกษา ได้ก่อตั้งกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรโดยเร็ว เหตุการณ์ได้ลุกลามไปจนเป็นกรณี 14 ตุลาคม 2516 วันมหาวิปโยคหรือวันมหาประชาปิติ มีผลให้รัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจรต้องลาออก และจอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร และพ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ซึ่งถูกขนานนามว่าสามทรราชย์ (สะกดตามต้นฉบับ) พร้อมด้วยครอบครัว ต้องเดินทางออกจากประเทศไทย

นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อคลี่คลายสถานการณ์และเตรียมการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประกาศใช้ภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี เป็นที่น่าสังเกตว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังคงอยู่ภายใต้กรอบธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 แต่ขณะเดียวกันก็มีความพยายามแก้ไขให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญมีความเป็น "ประชาธิปไตย" มากขึ้น ดังเช่นการตั้ง สมัชชาแห่งชาติ เพื่อเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติชุดใหม่ และการเสนอให้มีการลงประชามติว่าจะยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายใต้กติกาของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2515 นั้น ก็เพื่อลดความระส่ำระสายของระบบราชการ หรืออีกนัยหนึ่งระบอบอำมาตยาธิปไตย และรักษาความต่อเนื่อง ตลอดจนจำกัดขอบเขตของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นภายหลังการปฏิวัติ 14 ตุลาคมมิให้เกินความควบคุม (เสน่ห์ จามริก, 2529: น.373)

ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญมีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักของกลุ่มต่างๆ เพื่อผลักดันให้รัฐธรรมนูญมีเนื้อหาสาระเป็นไปตามความต้องการของตน นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งระหว่าง "กลุ่มอนุรักษ์นิยม" กับ "ฝ่ายก้าวหน้า" ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มย่อยๆ เช่น กลุ่มนักศึกษา นักวิชาการ และนักการเมืองในสายเสรีนิยมและสังคมนิยม อันนำไปสู่ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายๆ ประเด็น

สภาพการเมืองแบบเปิดภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้นักศึกษาและประชาชนเกิดความตื่นตัวทางการเมือง ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งระหว่างพลังอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายก้าวหน้า จนในที่สุดนำไปสู่การรัฐประหารวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ยังผลให้รัฐธรรมนูญที่กล่าวกันว่ามีความเป็นประชาธิปไตยฉบับหนึ่งต้องยกเลิกไป (กระมล ทองธรรมชาติ, 2524: น. 49-50) ดังนั้นการพิจารณาที่มาของวิวาทะและสถานะของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 จึงไม่อาจแยกระหว่างบริบททางสังคมที่อยู่รายรอบ และสร้างข้อเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญกับเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเคลื่อนไหวทั้งสนับสนุนและขัดแย้งทางสังคมที่ปรากฏออกมาในระหว่างนั้น

นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงความยั่งยืนของรัฐธรรมนูญ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาความยั่งยืนของรัฐธรรมนูญขึ้นอยู่กับการแข่งขันทางอำนาจระหว่าง "ข้าราชการประจำ" กับ "นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง" โดยเฉพาะระหว่าง "คณะทหาร" กับ "พรรคการเมือง" (ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2536: น.68) ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจ "อายุการใช้งาน" ของรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยในบริบทของสังคมและวัฒนธรรมไทยมากขึ้นอีกโสตหนึ่ง

คำถามสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความขัดแย้งทางการเมืองในอดีตมักจำกัดอยู่ในวงแคบๆ เหตุใดจึงมีการเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรฉบับถาวร จนนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516?

ก่อนที่จอมพลถนอม กิตติขจร จะปฏิวัติตัวเองในเดือนพฤศจิกายน 2514 กรอบกติกาทางการเมืองถูกจำกัดอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 ซึ่งใช้เวลาร่างถึง 9 ปี 5 เดือน (นับตั้งแต่การใช้ธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2502 ดู เชาวนะ ไตรมาศ, 2540: น. 13) การใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้คณะปฏิวัติต้องขยายฐานอำนาจเข้าสู่รัฐสภา ผ่านวุฒิสมาชิกและสภาผู้แทนราษฎร โดยคณะปฏิวัติควบคุมฝ่ายบริหารผ่านระบอบรัฐสภา โดยผ่านพรรคสหประชาไทยที่เป็นพรรคเสียงข้างมาก
**********
สำหรับการพิจารณาว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดมีหรือไม่มีความเป็นประชาธิปไตยนั้น ผู้เขียน (อริน) ยังคงยึดหลักที่ว่า (1) ผู้แทนปวงชนทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง และ (2) ไม่มีองค์กรนอกอำนาจอธิปไตยอยู่ในรัฐธรรมนูญ เช่นในรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรกของสยามและไทย คือ รัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 (พระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองแผ่นดินชั่วคราว), รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 และ รัฐธรรมนูญ 9 พฤษภาคม 2489 นั้น ทั้ง 3 ฉบับไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยองคมนตรี.

(ยังมีต่อ)

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 29 สิงหาคม-4 กันยายน 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8