Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (73)

"ประชานิยม" และปลดแอก "IMF"
สู่ชัยชนะอย่างท่วมท้นรัฐบาลทักษิณ 2


นโยบายในการบริหารประเทศที่สำคัญในรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นตัวชูโรงภายใต้ธง "พรรคไทยรักไทย" นั้น จุดเด่นอยู่ที่นโยบายด้านเศรษฐกิจดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่หัวใจที่นำไปสู่ความเร็จในนโยบาย "ประชานิยม" คือ การยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนระดับรากหญ้า ที่ไม่ได้มีลักษณะ "สังคมสงเคราะห์" หรือช่วยเหลืออนุเคราะห์ไปเป็นคราวๆ แบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หากมีลักษณะ "พัฒนาศักยภาพในการผลิต" ทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่น เช่น "โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)" และ "กองทุนหมู่บ้าน" หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้ชาวบ้านนำไปลงทุนทำงานสร้างรายได้

แต่หากจะกล่าวอย่างถึงที่สุด ช่วงเวลาที่ที่กระแสนิยมในรัฐบาลไทยรักไทย หรือความนิยมในตัว พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นสู่จุดสูงสุด คือ สามารถทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย 2540 หรือที่เรียกว่า "วิกฤตต้มยำกุ้ง" อันเป็นผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากภาวะ "เศรษฐกิจฟองสู่แตก" ในประเทศไทยได้สำเร็จ และผลงานที่สำคัญคือ การชดใช้หนี้สินที่รัฐบาลมีต่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

สิ่งที่ต้องจารึกไว้อย่างปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือ ประชาชนไทยในเวลานั้นไชโยโห่ร้องกันทั้งประเทศหลังจากดูการถ่ายทอดสุนทรพจน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2546 ในวาระที่รัฐบาลไทยในขณะนั้นชำระหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ 2 งวดหมดก่อนกำหนดถึง 2 ปี

ตามมาด้วยอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ Gross Domestic Product (GDP) ซึ่งหมายถึง มูลค่าตลาดของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ถูกผลิตภายในประเทศในช่วงเวลาหนึ่งๆ เพิ่มจากร้อยละ 2.1 ในปี 2544 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 6.7 ในปี 2547 การทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เพิ่มจาก 4.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2547 เพิ่มเป็น 5.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2548 การลงนามในสัญญาเขตการค้าเสรี (FTA) กับสาธารณรัฐประชาชนจีน นิวซีแลนด์และออสเตรเลีย รวมทั้งการลดหนี้สาธารณะ จาก 57% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ในปี  2544 ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกันยายน ปี 2549 เหลือ 41% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ

การดำเนินนโยบาย "หวยบนดิน" โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำ "หวยใต้ดิน" ซึ่งผิดกฎหมาย หากมีปริมาณเงินหมุนเวียนนอกระบบแต่ละงวดจำนวนมหาศาล มาผ่านกระบวนการทางกฎหมายและปรับปรุงไปสู่การสร้างรายได้แก่รัฐ อีกทั้งยังเป็นการกวาดล้างเจ้ามือหวยใต้ดินซึ่งมีอิทธิพลอำนาจในท้องถิ่นตามระดับที่แตกต่างกันไป ซึ่งมีส่วนขับดันและสนับสนุนอาญชากรรมต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนที่เป็นเหยื่อการมอมเมาการเสี่ยงโชคซึ่งเข้าข่าย "การพนัน" แบบนอกกฎหมาย ที่ไม่มีจุดประสงค์ในทางสาธารณะประโยชน์อย่างเดียวกับการดำเนินการโดยรัฐ ผ่านสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และจากการผลักดันนโยบายดังกล่าว นำไปสู่การให้ทุนการศึกษานักเรียนต่างจังหวัด มีโอกาสไปเรียนต่างประเทศ โดยใช้รายได้จากการจำหน่ายสลากเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว (ODOS)

นอกจากนั้นยังมี โครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน, โครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค, โครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อย เป็นเวลา 3 ปี, โครงการโคล้านครอบครัว รวมทั้งนโยบายที่พรรคการเมืองอย่างพรรคไทยรักไทยที่ไม่ได้มีฐานเสียงอยู่ทางภาคใต้ของประเทศทำให้เศรษฐกิจพื้นฐานของเกษตรกรภาคใต้ได้รับการยกระดับขึ้น นั่นคือนโยบายปล่อยราคายางพาราให้เป็นไปตามกลไกตลาด โดยราคายางพาราเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 18 บาท ขึ้นสูงสุดเป็น 80 บาท ก่อนจะปรับลดลงมาอยู่ที่ราคาเฉลี่ย 50-55 บาท มีนักวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ให้ความเห็นไว้ในเวลานั้นว่า การปล่อยราคา มีผลดีต่อราคา มากกว่าการแทรกแซง

ทว่าในการบริหารประเทศในท่ามกลางการชื่นชมของประชาชนที่เป็นคนชั้นล่างในภาคชนบท หรือที่เรียกกันว่า "คนรากหญ้า" ขณะเดียวกับที่กลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มที่เคยสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ มาตั้งแต่ทำงานการเมืองในฐานะสมาชิกพรรคพลังธรรม เริ่มก่อรูปขบวนการขับไล่พ.ต.ท.ทักษิณ จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับจากกลางปี พ.ศ. 2547 ในช่วงปลายรัฐบาลทักษิณ 1 โดยมีการรวมตัวของกลุ่มคนในนาม "กลุ่มประชาชนเพื่อชาติและราชบัลลังก์" และมีการชุมนุมเคลื่อนไหวเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2547 จากนั้นมีการขยายเป็นวงกว้างขึ้นจนถึงปลายปี 2548 ที่สำคัญมีการก้าวออกมาเป็นผู้นำอย่างออกหน้าออกตาโดย นายสนธิ ลิ้มทองกุล ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี

แม้จะมีการปรับคณะรัฐมนตรีหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งขึ้นต่อระบบการเมืองแบบรัฐบาลผสมหลายพรรค แต่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็ต้องจารึกไว้ว่า รัฐบาลที่มีแกนหลักที่พรรคไทยรักไทย และมีผู้นำคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรค นั้นเป็นการอยู่ครบสมัยการเลือกตั้ง ทั้งในส่วนรัฐบาลคือฝ่ายบริหาร และในส่วนสภาผู้แทนราษฎรคือฝ่ายนิติบัญญัติ

ดังนั้น ผลการเลือกตั้งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป 2548 ในประเทศไทย มีขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 จึงปรากฏว่า พรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ที่มีพรรคการเมืองต่างๆประกอบด้วย พรรคความหวังใหม่, พรรคชาติพัฒนา, พรรคกิจสังคม, พรรคเสรีธรรม, พรรคเอกภาพ ยุบตัวเองมารวมเป็นพรรคเดียว ได้เบอร์ 9 ใช้สโลแกนหาเสียงว่า "4 ปีสร้าง 4 ปีซ่อม" ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น ได้ 377 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 500 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคชาติไทยซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ได้เบอร์ 1 หาเสียงด้วยสโลแกน "สัจจะนิยม" ได้ 26 ที่นั่ง ต่อมาภายหลังได้เป็นฝ่ายค้าน ส่วนฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ ได้เบอร์ 4 หาเสียงด้วยสโลแกน "ทวงคืนประเทศไทย" ได้ 96 ที่นั่ง แต่พื้นที่ภาคใต้ซึ่งประชาชนมีความนิยมต่อพรรคประชาธิปัตย์อย่างเหนียวแน่นได้ถึง 52 ที่นั่ง จากทั้งหมด 54 ที่นั่ง โดย พรรคไทยรักไทยได้มาเพียง 1 ที่นั่ง พรรคชาติไทย 1 ที่นั่ง และพรรคมหาชน ได้เบอร์ 11 ซึ่งเพิ่งก่อตั้งก่อนหน้าการเลือกตั้ง ได้เพียง 3 ที่นั่ง

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศภายหลังผลการเลือกตั้งออกมาอย่างเป็นทางการว่า ในฐานะนายกรัฐมนตรี จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว เพื่อเป็นการขจัดความยากลำบากในการดำเนินการบริหารราชการหลายพรรคการเมือง หนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น ตีพิมพ์บทความโดยให้ความเห็นว่า "พ.ต.ท.ทักษิณได้รับเสียงคะแนนจากประชาชนอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งใน ประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเป็นนายกรัฐมนตรีที่ทรงอำนาจที่สุดเท่าที่เคยมีการเลือกตั้งผู้นำประเทศมา"

พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทยที่ดำรงตำแหน่งในวาระครบ 4 ปี และชนะการเลือกตั้งได้รับเสียงข้างมากอย่างสมบูรณ์ในสภามากที่สุดในการเลือกตั้งทั่วไป.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 7-13 สิงหาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8