Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553

จดหมายเปิดผนึก กรณีเกษตรกรสุราษฎร์ 56 ราย ถูกนายทุนสวนปาล์มฟ้องร้องคดีความ

จดหมายเปิดผนึก
กรณีเกษตรกรสุราษฎร์ 56 ราย ถูกนายทุนสวนปาล์มนำเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยไม่ถูกต้องตามกฏหมายมาฟ้องร้องคดีความ ส่งผลให้เกษตรกรเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีความกว่าล้านบาท



21 ธันวาคม 2553 ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี

สวัสดีพี่น้องชาวสุราษฎร์ธานี


               วันที่ 21-24 ธันวาคม นี้ พี่น้องเกษตรกรสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จำนวน 19 คน กำลังอยู่ในระหว่างการขึ้นศาล ในฐานะจำเลยในคดีความ ที่ถูกฟ้องร้องโดยนายทุนสวนปาล์ม ในข้อหาการบุกรุกพื้นที่เอกชน และถูกเรียกค่าเสียหายกว่า 15 ล้านบาท
               พวกเราชาวบ้าน และเกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริง และความเดือดร้อนของพวกเรา กับพี่น้องชาวสุราษฎร์ธานี ด้วยความสมานฉันท์ ในฐานะผู้ร่วมชะตากรรม และคนในจังหวัดเดียวกัน
               นโยบายการกระจายการถือครองที่ดินในสังคมไทยมีความไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด ที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตส่วนใหญ่ถึง 90% ตกอยู่ในมือคนมีเงิน-นายทุน ซึ่งเป็นกลุ่มคนเพียง 10% ของประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ 90% มีส่วนแบ่งในที่ดินพียง 10% ของที่ดินที่เหมาะสมในการทำการเกษตร
               จังหวัดสุราษฎร์เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีการปลูกปาล์มน้ำมัน - ยางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก แต่ที่ดินของรัฐที่สามารถใช้ทำการเกษตรได้มากกว่า 1 แสนไร่ กลับตกอยู่ในมือนายทุน โดยกลวิธีต่างๆ เช่น
               1. นายทุนเช่าที่ดินรัฐในราคาถูก หรือเมื่อหมดสัญญาแล้วไม่ถอนตัวออก  ยังคงครอบครองทำประโยชน์ต่อไป เสมือนเป็นที่ดินส่วนตัว
               2. นายทุนเช่าที่ดินรัฐและบุกรุกเพิ่มเติมหรือบุกรุกทั้งแปลง โดยใช้อิทธิพลและเส้นสายทางการเมือง
               3.การออกเอกสารสิทธิ์ของนายทุน ทับลงที่ดินรัฐ เช่น พื้นที่เขตส.ป.ก, ป่าไม้ถาวร, ที่สาธารณะประโยชน์
               ตลอดเวลาที่ผ่านมา หน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ ขาดความฉับไวจนไม่อาจจัดการปัญหาได้  สำหรับพื้นที่ ส.ป.ก.ซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชนไทรงามพัฒนา คลองไทรพัฒนา อำเภอชัยบุรี  และชุมชนสันติพัฒนา อำเภอพระแสง ทางสำนักงาน ส.ป.ก.ระดับชาติ ได้ฟ้องขับไล่นายทุนบ้างแล้ว ส่วนที่ยังขาดคือ การเร่งดำเนินการปฏิรูปที่ดิน กระจายสิทธิที่ดินให้กับคนจน ตามแนวทางโฉนดชุมชน เพราะ แท้จริงแล้วกรรมสิทธิ์ในที่ดินเหล่านี้ เป็นของ ส.ป.ก.
               กรณี ชุมชนน้ำแดงพัฒนา และชุมชนสันติพัฒนา มีการออก น.ส.3 ก โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้ากรมที่ดินเร่งตรวจสอบและเพิกถอน น.ส.3 ก ตามที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษส่วนกลาง ชี้มูลความผิดไว้ เมื่อสามเดือนก่อน นั่นก็จะช่วยคลี่คลายปลดเปลื้องคดีความมิให้เป็นภาระกับคนจน ถ้าไม่เช่นนั้น ก็อาจตั้งข้อสังเกตุได้ว่า กรมที่ดินพยายามถ่วงเวลาเพื่อช่วยเหลือนายทุน
               การรวมศูนย์การถือครองที่ดิน โดยใช้ที่ดินของรัฐเป็นฐานการผลิตของนายทุนสวนปาล์มรายใหญ่สร้างกำไรมหาศาล ในขณะที่เกษตรกรคนจนนับแสนคนในภาคใต้ ขาดแคลนที่ดินทำกิน ต้องกลายเป็นแรงงานรับจ้างราคาถูก ทั้งในเมือง-ชนบท
               สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เห็นว่าการจัดสรรทัพยากรที่ดิน ที่เป็นอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่มีความเป็นธรรม จึงอาศัยบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540-2550 ว่าด้วยสิทธิของประชาชนและชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติฯ จึงเข้าปฏิบัติการตั้งชุมชนในพื้นที่ เพื่อสอบสวนกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ และ เพื่อทำการผลิต ปลูกพืชผักอาหาร เพียงพอกิน  แต่ได้นำมาสู่  การถูกดำเนินคดีแพ่งและอาญา ของสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ 56 คน
               สกต. เห็นว่าคดีความเหล่านี้เป็นผล สืบเนื่องจากความไม่เป็นธรรมในการกระจายการถือครองที่ดินและความไม่เป็นธรรม ดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิเกษตรกรและคนจน สร้างความเดือดร้อนอย่างรุนแรง สะท้อนให้เห็นว่า หน่วยงานรัฐยังไม่ยอมรับสิทธิเกษตรกร และคนจนในการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรฯ ส่งผลให้เกษตรกรที่ไร้อำนาจต่อรองทางการเมือง ประสบความทุกข์เข็ญจากการถูกดำเนินคดี 
               ผ่านมา 2 ปี จนถึงปัจจุบัน เกษตรกรเหล่านี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีมากกว่า 1,120,000 บาท
               คดีความที่เกิดจากการต่อสู้เพื่อที่ดินทำกินจึงมีฐานะเป็นคดีการเมือง เรื่องความไม่เป็นธรรม เป็นการเมืองเรื่องที่ดินและชีวิตความเป็นอยู่ของคนจน
               เกษตกรเพียงต้องการปัจจัยการผลิตเพื่อปรับปรุงฐานะและชีวิตความเป็นอยู่ให้ ดีขึ้นกว่าเดิม การแก้ไขปัญหาของรัฐ จึงมิใช่การดำเนินคดีกับชาวบ้าน แต่ต้องปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น อย่างเร่งด่วน


ด้วยความสมานฉันท์เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด
สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ
เครือข่ายสลัม 4 ภาค
21 ธันวาคม 2553

วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประชาธิปไตยกับหลักสิทธิเสรีภาพ

ประชาธิปไตยกับหลักสิทธิเสรีภาพ:
อำนาจอันชอบธรรมของรัฏฐาธิปัตย์

"ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights)" คือการประกาศเจตนารมณ์ในการร่วมมือระหว่างประเทศที่มีความสำคัญในการวางกรอบ เบื้องต้นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และเป็นเอกสารหลักด้านสิทธิมนุษยชนฉบับแรก ซึ่งที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ให้การรับรองตามข้อมติที่ 217 A (III) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 โดยประเทศไทยออกเสียงสนับสนุน ประกอบด้วยหลักการพื้นฐาน 30 ข้อ ในจำนวนนี้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับหลักความมีอิสระและความเสมอกัน ไว้คือ

ข้อ 1 มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในเกียรติ ศักดิ์ศรีและสิทธิ ต่างมีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยเจตนารมณ์แห่งภราดรภาพ

ข้อ 19 ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกสอดและที่ จะแสวงหา รับและแจกจ่ายข่าวสารและความคิดเห็นไม่ว่าโดยวิธีใดๆ และโดยไม่คำนึงถึงเขตแดน


เมื่อย้อนกลับมาดูเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดในประเทศไทยที่ประกาศตัวมาตลอดว่าเป็นประชาธิปไตยจะพบว่า นับจากการต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ในปี พ.ศ. 2548 โดยการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมือง นักวิชาการบางส่วน และสื่อสารมวลชนที่นำโดย นายสนธิ ลิ้มทองกุล กับสื่อในเครือผู้จัดการ ได้เกิดปรากฏการณ์ผิดธรรมชาติทางการเมืองระบอบประชาธิปไตย และถูกนำมาขยายความจนกระทั่งมีฐานะเป็นความคิดครอบงำในการต่อต้านการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย นั่นคือการใช้ "สัญลักษณ์" โดยใช้ "เสื้อเหลือง" เป็นสัญลักษณ์ต่อต้าน "ระบอบทักษิณ" ของกลุ่มการเมืองที่ในเวลาต่อมาพัฒนาสู่ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)" อีกทั้งมีการเคลื่อนไหวในลักษณะ "อิงแอบ" สถาบันเบื้องสูงมากขึ้น

กระทั่งหลังปฏิบัติการ "ฉีกรัฐธรรมนูญ/ปล้นประชาธิปไตย" (แม้จะไม่ใช่ประชาธิปไตยที่สมบุรณ์ก็ตาม) ภายใต้การปกครองของ "รัฐบาลอำมาตย์/ขุนศึก" ซึ่งค้ำจุนโดยฝ่ายทหาร ผู้ก่อการยึดอำนาจการปกครองรัฐบาลพลเรือนเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้ง โดยประกาศชื่อของตนเองชนิดยาวเหยียดเพื่อสร้างความชอบธรรมจอมปลอม ว่า "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)" นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ตามมาด้วยการเปลี่ยนถ่ายชื่อเป็น "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)" ให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับองค์กรหลักที่มีหน้าที่รักษาสันติภาพและเสรีภาพ ภายใต้การกำกับขององค์การสหประชาชาติ

ทั้งหมดนั้นเพียงเพื่อสร้างความชอบธรรมจอมปลอม!

เป็นความชอบธรรมจอมปลอมต่อเนื่องในแทบทุกพฤติกรรมปฏิกิริยา/ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ความพยายามโยงเสื้อสีเหลือง/ผ้าพันคอสีฟ้า ของผู้นำกลุ่ม พธม. เพื่อบิดเบือนและอิงแอบสถาบันเบื้องสูง ในการโจมตี ใส่ร้าย การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย จะโดยในเสื้อสีแดง (ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังเสื้อสีเหลือง) หรือการเคลื่อนไหวโดยกลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท. ทักษิณ หรือไม่อย่างไรก็ตาม

นั่นคือความพยายามในอันที่จะแยก พลังประชาธิปไตย ออกจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่รักเสรีภาพ รักประชาธิปไตย และคัดค้านระบอบอำมาตย์/เผด็จการซ่อนรูป

ไม่ว่าจะพิจารณาจากจุดยืนใด ความขัดแย้งระหว่าง มวลชน "เสื้อแดง" ที่ประกอบด้วยกลุ่มพลังประชาชนหลากหลายแนวทาง ที่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง นำโดย "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)" กับ มวลชน "เสื้อเหลือง" ที่นำโดย พธม. ซึ่งสนับสนุนการขับไล่รัฐบาลประชาธิปไตย และมีส่วนขับเคลื่อนไปสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เองนั้น...

เป็นเพียงบริบทหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างพลังประชาธิปไตยกับพลังปฏิกิริยา/ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย

ความพยายามของรัฏฐาธิปัตย์ปัจจุบัน ที่สะท้อนนัยในการสนับสนุนการรัฐประหาร 19 กันยาฯ ก็ดี หรือช่วงหนึ่งการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่ม พธม. ก็ดี ไม่เพียงบ่งชี้ถึงการใช้นโยบายเลือกปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมาย หรือ "นโยบาย 2 มาตรฐาน" หากบ่งชี้อย่างชัดเจนในความเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย บนหลักการพื้นฐาน เสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

ดังกล่าวมาข้างต้นใน "ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights)" และประกอบกับใน "คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง (Déclaration des droits de l'homme et du citoyen de 1789)" อันเป็นเอกสารสำคัญซึ่งเกิดขึ้นในสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส โดยกำหนดให้สิทธิของปัจเจกชนและสิทธิมวลชนเป็นสิทธิสากล โดยประกาศเป็นครั้งแรกถึงศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ข้อ 1. มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาและทรงไว้ซึ่งเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียมกันใน (การมีและการใช้) สิทธิประการต่างๆ ความแตกต่างทางสังคมไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะเช่นไรก็ตาม จะมีขึ้นได้ก็แต่เพื่อประโยชน์สาธารณะร่วมกันเท่านั้น

ดังนั้น ไม่ว่าการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของคนเสื้อแดง จะมีรูปแบบหรือเนื้อหาประการใด จะมีเป้าหมายเฉพาะหน้าหรือเป้าหมายในที่สุดอย่างไร ตราบเท่าที่การเคลื่อนไหวนั้นหาได้ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอื่นๆ นั่นหมายความไม่อาจมีอำนาจใดมาระงับยับยั้งสิทธิเสรีภาพนั้นได้ และแม้ว่าอำนาจนั้นๆ จะเป็นการใช้หรือสั่งการโดยตัวรัฏฐาธิปัตย์ในสถานะใดสถานะหนึ่ง ก็ย่อมหมายความว่ารัฏฐาธิปัตย์นั้น ละเมิดหลักการพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนที่ว่า "สิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ หรือเสรีภาพ ย่อมไม่อาจถูกกำจัดหรือกำจัดได้ โดยสิทธิบัญญัติ หรือกฎหมายที่มนุษย์บัญญัติขึ้นมาใช้ แม้ว่ากฎหมายนั้นจะมีชื่อเรียกว่า รัฐธรรมนูญ"

ดังเช่นใน "คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง" ประกาศไว้ในข้อ 16. ว่า "สังคมใดมิได้มีหลักประกันแห่งสิทธิทั้งปวงและมิได้มีการแบ่งแยกอำนาจโดยชัดเจน สังคมนั้นย่อมปราศจากรัฐธรรมนูญ"

นั่นย่อมหมายความว่า รัฐธรรมนูญที่ไม่สามารถให้หลักประกันในสิทธิเสรีภาพของประชาชน คือรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือยิ่งไปกว่านั้น ย่อมไม่อาจถือเป็นรัฐธรรมนูญแห่งระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย

และรัฏฐาธิปัตย์ที่ใช้อำนาจที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญดังกล่าว ย่อมหมายถึงรัฏฐาธิปัตย์ที่ไม่ชอบด้วยการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอธิบายได้ด้วยคำกำจัดความเพียงสถานเดียว ว่าเป็น

"รัฏฐาธิปัตย์แห่งการเผด็จอำนาจที่เป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตย".


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 4-10 ธันวาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
การนำไปทำซ้ำ ดัดแปลง คัดลอก ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์

วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ปูมชีวิต 'นายกฯจับตั้ง' พจน์ "สารสิน"

ปูมชีวิต 'นายกฯจับตั้ง'
พจน์ "สารสิน"


นายพจน์ สารสิน
เกิดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2448 ที่บ้านพักถนนสุรศักดิ์ กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของ พระยาสารสินสวามิภักดิ์ (เทียนฮี้) ต้นตระกูลสารสิน แพทย์หลวงประจำราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับคุณหญิงสุ่น มีพี่น้อง ดังนี้ (ไม่ได้เรียงลำดับอายุ)
- นายกิจ สารสิน
- นางสาวแสง สารสิน สมรสกับ พระยาธรรมบัณฑิตสิทธิศฤงคาร (บุญจ๋วน บุณยะปานะ) อดีตประธานศาลฎีกา
- หม่อมลิ้นจี่ สารสิน ในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดนัยวรนุช

นายพจน์ศึกษาที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่วัยเยาว์ ต่อมาเดินทางกลับมาเรียนวิชากฎหมาย จนสอบได้เนติบัณฑิตไทยเมื่อปี พ.ศ. 2472 และไปศึกษาวิชากฎหมายต่อในประเทศอังกฤษ

ชีวิตการเมือง
นายพจน์เริ่มบทบาททางการเมืองจากการ เป็นสมาชิกวุฒิสภาด้วยการสนับสนุนของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อปี พ.ศ. 2490 และเข้าร่วมรัฐบาลในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในปี พ.ศ. 2491 และต่อมาในปี พ.ศ. 2492 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

งานระหว่างประเทศ
ระหว่างปี พ.ศ. 2495 - พ.ศ. 2500 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาและทำหน้าที่ผู้แทนประเทศไทยประจำองค์การสหประชาชาติ และในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2500 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ส.ป.อ.)

นายกรัฐมนตรี
นายพจน์ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 9 เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2500 จากการปฏิวัตินำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังจากที่คณะปฏิวัติได้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 และกลับไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ส.ป.อ. ตามเดิม และใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุราชการอยู่ในกรุงเทพฯ จนถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2543 รวมอายุได้ 95 ปีเศษ

ชีวิตครอบครัว
นายพจน์สมรสกับ คุณหญิงศิริ สารสิน (โชติกเสถียร) มีบุตร-ธิดา ดังนี้

1. นายพงส์ สารสิน อดีตรองนายกรัฐมนตรีสมัย พลเอกชาติชาย ชุณหะวัน ในคณะรัฐมนตรีคณะที่ 45 (4 สิงหาคม พ.ศ. 2531 - 9 ธันวาคม พ.ศ. 2533) ต่อมาช่วงก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หลังจากขายหุ้นให้ บริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด ในเครือ เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์, สิงคโปร์ สมรสกับ นางมาลินี สารสิน (วรรณพฤกษ์)

2. พลตำรวจเอกเภา สารสิน อดีตอธิบดีกรมตำรวจ สมรสกับ ท่านผู้หญิงถวิกา สารสิน (สุจริตกุล) นางสนองพระโอษฐ์

3. นายบัณฑิต บุญยะปาณะ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ใช้นามสกุลตามบิดาบุญธรรมคือ พระยาธรรมบัณฑิตสิทธิศฤงคาร (บุญจ๋วน บุณยะปานะ) กับนางแสง (สารสิน พี่สาวนายพจน์) สมรสกับ หม่อม ราชวงศ์หญิงพิลาศลักษณ์ (กิติยากร) บุณยะปานะ ธิดาของหม่อมเจ้าโกลิต กิติยากร กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงพิสิฐสบสมัย พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต กับหม่อมเจ้าหญิงประสงค์สม (ไชยันต์)

4. นางพิมสิริ ณ สงขลา สมรสกับ พ.อ.จินดา ณ สงขลา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน

5. พลเอกสุพัฒน์ สารสิน อดีต ทส. ของจอมพลประภาส จารุเสถียร และอัตราพลตรีประจำกองบัญาการกองทัพบกสมัยที่ สมัย พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอกดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.และผบ.สูงสุด

6. นายอาสา สารสิน อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ก่อนจะหันมาประกอบธุรกิจ มีฐานะและตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด(มหาชน), กรรมการ ธนาคารกรุงเทพ, รองประธานกรรมการ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ร่วมเสริมกิจ จำกัด, ประธานกรรมการ บริษัท ไทยเอเชียแปซิฟิคบริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่าย เบียร์ไฮเนเก้น และ ไทเกอร์เบียร์ ของประเทศสิงคโปร์ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ราชเลขาธิการ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2543  สมรสกับ ท่านผู้หญิงสุจิตคุณ สารสิน ธิดาคนสุดท้องของ หม่อมเจ้าขจรจบกิตติคุณ กิติยากร (พระโอรสใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ และ หม่อมเจ้าหญิงอัปสรสมาน เทวกุล) กับ หม่อมราชวงศ์วิจิตรโฉม กิติยากร ธิดาคนที่สามของ หม่อมเจ้าสฤษดิเดช ชยางกูร กับ หม่อมเนื่อง ชยางกูร

วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

หยุดตาบอดคลำประชาธิปไตย

หยุดตาบอดคลำประชาธิปไตย


เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ ที่ผมจะย้อนเวลากลับไปซุกตัวเงียบๆอยู่ในซอกหลืบของโลกหนังสือ ไม่ว่าจะในฐานะคนอยู่เบื้องหลัง หรือแม้กระทั่งพยายามเขียนสิ่งที่ตั้งใจจะเขียนเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้ หรือไม่ก็พาตัวเข้าไปอยู่ในท่ามกลางมิตรสหายฝ่ายประชาธิปไตยอย่างที่ไม่มีใครรู้จักเหมือนเมื่อก่อนเดือนธันวาคม 2552 ผมเขียนอะไรน้อยลง นำเสนออะไรน้อยลง กระทบกระทั่งผู้คนน้อยลง พลางก็นั่งดูการเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า ผมไม่ใช่นักพูดในที่สาธารณะ... อีกนัยหนึ่งคือ ผมไม่ได้เป็นนักวิชาการ อย่างที่ใครๆมักจะยัดเยียดให้ผมเป็น ผมเป็นแค่คนเรียนจบมัธยม ที่ไม่ยอมให้ตัวเองมีชีวิตอยู่กับความไม่รู้เท่านั้นเอง

จะเป็นด้วยวัยที่ความฮึกห้าวถูกแทนที่ด้วยความยับยั้งชั่งใจ หรือประสบการณ์เฉพาะตัวในการไม่ยอมก้อมหัวให้เผด็จการทรราชย์ และความมุ่งมั่นที่จะทุ่มอุทิศตัวแก่ภารกิจประชาธิปไตยนับจากวัยหนุ่มตลอดระยะเวลาเฉียด 40 ปี คืออุปสรรคสำคัญในการสื่อสารกับผู้คนสมัยใหม่ และในจำนวนประสบการณ์นั้นคือประสบการณ์ที่หลายๆในขบวนสู้รบของประชาชนมักจะกู่ร้องกันเสมอในยามยากลำบาก

"สู้..พ่ายแพ้ สู้ใหม่...พ่ายแพ้ สู้ใหม่จนชัยได้มา...."

ขณะเดียวกับที่วาทกรรมติดปากในระยะใกล้ๆ คือ คือ รู้หรือไหม ว่า... "ต่างฝ่ายต่างสู้อยู่กับใคร"

แต่คำถามที่มาก่อนคำถามอื่นก็ยังคงไม่ถูกถามอยู่นั่นเอง คือคำถามที่เกือบจะพบคำตอบที่เป็นสูตรสำเร็จคือ "รู้ๆกันอยู่แล้ว" หรือไม่ก็ "พูดไม่ได้" นั่นคือคำถามที่ว่า "สู้เพื่ออะไร"

แล้วขบวนก็ขับเคลื่อนไปวันต่อวัน สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า เดือนแล้วเดือนเล่า ขบวนแถวที่ผู้คนมองเห็นแต่ฝูงชนเป็นกลุ่มก้อน คลุกเคล้าเข้าด้วยอารมณ์ความรู้สึกคล้ายคลึงกัน พูดจาไปในทิศทางเดียวกัน กับเรื่องราวเฉพาะหน้า กับเป้าหมายรูปธรรมเฉพาะหน้า สิ่งที่ยังคงขาดหาย คือ "การใส่ใจ" ที่จะรับฟังอย่างพินิจพิเคราะห์ใน "ความเห็นที่แตกต่าง" ออกไป รวมทั้งที่เริ่มตระหนักการวิเคราะห์รูปธรรมอย่างเป็นรูปธรรม

จนถึงเวลานี้ ในประเทศนี้ยังไม่เคยเกิดสิ่งที่เรียกว่า "แนวร่วมแห่งชาติ" ที่มีเป้าหมายเป็นเอกภาพชัดเจน ทั้งในรูปแบบความคิดทางประชาธิปไตย และทั้งที่เป็นเค้าโครงรูปการปกครองที่กำลังฟันฝ่าให้ได้มาก น่าเสียดาย ที่หลายคนยังคงยืนยันว่า "งวงคือช้าง" ขณะที่อีกหลายคนประกาศหนักแน่นว่า "งาคือช้าง" หรือที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ "หางคือช้าง"

จากประสบการณ์ความเจ็บปวดชอกช้ำในความเป็นฝ่ายถูกกระทำมาตลอด 2 ปี บางทีนี่อาจถึงเวลาแล้วที่ประชาชน โดยเฉพาะประชาชนเสื้อแดง จะต้องเปิดใจให้กว้าง เพื่อจะค้นพบให้ได้ว่า "ช้างประชาธิปไตย" มีรูปร่างหน้าตาที่เป็นองค์รวมอย่างไร.

ประชาธิปไตยจงเจริญ ประชาชนจงเจริญ
ด้วยภราดรภาพ
รุ่งโรจน์ วรรณศูทร
10 ตุลาคม 2553; 01:46 น.

วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2553

อย่าให้พลังประชาธิปไตยเป็นเพียงทรายร่วน

อย่าให้พลังประชาธิปไตยเป็นเพียงทรายร่วน


อย่าให้พลังประชาธิปไตยเป็นเพียงทรายร่วน ที่ออกแรงกำไว้ในมือก็จะไหลออกตามซอกนิ้วจนหมดสิ้น เรา...ประชาชนผู้รักเสรีภาพ รักประชาธิปไตย ต้องประสานตัวเองให้เป็นประดุจดินเหนียว ที่อาจปั้นขึ้นรูปเป็นอย่างใดก็ได้ตามความคิดชี้นำที่ถูกต้อง

เวลานี้ ขบวนประชาธิปไตยต้องการความเข้าใจ ความทุ่มเท และความตั้งใจแน่วแน่ มากกว่าครั้งไหนๆในประวัติศาสตร์ อาการน้ำขุ่นที่เป็นมานับจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กำลังได้รับการกวนซ้ำด้วยสารส้ม และน้ำกำลังจะตกตะกอน เมื่อน้ำใสเมื่อใด ทุกอย่างในน้ำจะกระจ่างชัด

ผมเสนอคำถามมาจากปลายปีที่แล้ว ว่า "1.เราเข้าใจประชาธิปไตยแค่ไหน/อย่างไร" จากนั้น "2.เรามีรูปแบบประชาธิปไตยสำหรับสังคมไทยเสนอต่อสาธารณะแล้วหรือไม่"

ถ้าเราสามารถสร้างเอกภาพความเข้าใจร่วมกันบนพื้นฐานสร้างชาติไทยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ คำถามที่ 3 และ 4 จึงจะตามมา นั่นคือ "What is to be done?" และ "Where to begin?"

ถ้าเราไม่เคลื่อนไหวให้เข้าเป้า ตรงประเด็น เราก็จะเท่ากับเดินวนเวียนอยู่ใน "เขาวงกตแห่งการหมกเม็ดเผด็จอำนาจ" ปัญหาพื้นฐานที่เป็นใจกลางของปัญหาทั้งปวงก็จะไม่ได้รับการแก้ไข ประชาธิปไตยก็จะกร่อนความหมายลงตามที่ฝ่ายปฏิกิริยา/ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ต้องการ คือ ประชาชนหมกมุ่นอยู่แค่ "แนวทางรัฐธรรมนูญนิยม" และ "การเลือกตั้งสามานย์" ที่ไม่เป็นและไม่อยู่ในเงื่อนไขประชาธิปไตย

ในรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับของประเทศนี้ มีที่ใกล้เคียงกับความเป็น "ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์" ตามนัยของนายปรีดี พนมยงค์ ก็มาสิ้นสุดลงแค่รัฐธรรมนูญ 9 พฤษภาคม 2489 ซึ่งมีโอกาสใช้เพียง 18 เดือน ก็ถูกรัฐประหารที่นำโดย พลโทผิน ชุณหะวัน

นับจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 เป็นต้นมา เป็นรัฐธรรมนูญ "อำมาตย์/อภิชน" ทุกฉบับ: มีเหตุผลสำคัญ 2 ประการ 1.ผู้แทนปวงชนไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งหมด และ/หรือ 2.มีบทบัญญัติว่าด้วยอำนาจหน้าที่ขององค์กรนอกอธิปไตยทั้ง 3 ตราไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "องคมนตรี" ซึ่งในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475; รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 10 ธันวาคม 2475 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 9 พฤษภาคม 2489 ไม่มี "องคมนตรี" (ดู "รัฐธรรมนูญที่ปราศจากองคมนตรี :ว่าด้วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์"[/b] http://arin-article.blogspot.com/2010/06/blog-post_08.html

ใจกลางของปัญหาในเวลานี้ คือ
1.พี่น้องเสื้อแดงต้องเร่งทำความเป็นเอกภาพใน "ประชาธิปไตย"
2.ขบวนประชาธิปไตยนำองค์ความรู้ในประการแรกไปสู่พี่น้องประชาชน "ฝ่ายกลาง" เพื่อโดดเดี่ยวกลุ่ม "ปฏิกิริยา"
3.นั่นคือ ไม่เพียงเราต้องรู้จัก "ตัวเอง" อย่างถ่องแท้แล้ว เรายังต้องรู้ด้วยว่า "ใคร" คือเพื่อนพ้องที่สามารถรับฟังความเห็นและต้อนรับแนวคิดของเรา
4.ตระหนักและเลิกหวังพึ่ง "พลังภายนอก" ซึ่งในที่นี้ คือหวังว่าจะมีอำนาจอื่นใดนอกเหนือพลังประชาชน ที่จะนำพาภารกิจสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ไปสู่ความสำเร็จ

จะออกจากเขาวงกตแห่งการเผด็จอำนาจการปกครองไว้ในมือคนส่วนน้อยได้อย่างไร?:
1.เลิกพายเรือในอ่างกับ "แนวทางรัฐธรรมนูญนิยม" และ "การเลือกตั้งภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย"
2.หยุด "การซุกขยะใต้พรม" ในความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ด้วยการชำระประวัติศาสตร์ฝ่ายประชาชนอย่างแท้จริง
3.สร้าง "สำนึกประชาธิปไตย" เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจและจุดยืน "โค่นล้มระบอบเผด็จการ สร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน"

ปมเงื่อนสำคัญที่จะจูงขบวนประชาธิปไตยออกจากเงามืด สู่แสงสว่างคือ การตระหนักว่า นับจากการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ประเทศนี้ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย "แม้แต่ฉบับเดียว"

และจากวันนั้นถึงวันนี้ อำนาจรัฐที่แท้จริงอยู่ในเงื้อมเงาของกลุ่ม "อำมาตย์/อภิชน/ขุนศึกฟาสซิสต์" มาโดยตลอด ในสัดส่วนมากน้อยแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของแต่ละช่วงเวลา หรือกล่างอย่างถึงที่สุดและตรงไปตรงมา คือ 63 ปีมานี้ ประเทศนี้ไม่เคยปกครองในระบอบประชาธิปไตย

นั่นย่อมหมายความว่า ภารกิจสำคัญของขบวนประชาธิปไตยย่อมหนีไม่พ้น การต้องตอบโจทย์ประชาธิปไตยนี่ให้แตกในเวลาอันรวดเร็ว.



หมายเหตุ: สรุปทัศนะจากเนื้อหาการเสวนา "เปิดแนวคิดทิศทางประเทศไทย" จัดโดยกลุ่มแดงอิสระ ในวันที่ 25 กันยายน 2553 ที่ตลาดน้ำสุวินทวงศ์ คลองหลวงแพ่ง ฉะเชิงเทรา

วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

วันอัปยศ 19 กันยายน 2549

จุดยืนและท่าทีขบวนประชาธิปไตย
ต่อวันอัปยศ 19 กันยายน 2549


มาตรา 309 บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้

ข้างต้นนั้นคือมาตราสุดท้ายอันอัปยศของ "รัด-ทำ-มะ-นูน-2550" ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ด้วยการมีบทบัญญัติที่ให้ไม่ต้องรับโทษ ในการกระทำทั้งปวงที่เกิดขึ้นจากการละเมิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งครอบคลุมการทำรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครอง ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกสภาผู้แทนราษฎร และทำลายอย่างสิ้นเชิง ซึ่งรัฐประชาธิปไตยเยี่ยงอารยะประเทศ

ในเวลานี้ขบวนประชาธิปไตยมุ่ง ความสนใจไปที่การเรียกร้องความถูกต้องชอบธรรม และหาตัวผู้บงการในการสังหารโหดประชาชนผู้ลุกขึ้นทวงถามประชาธิปไตยในรอบ 4 ปีหลัง "การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549" ที่อัปยศที่สุดในการเมืองยุคใกล้ของมนุษยชาติ

ทว่าขบวนประชาธิปไตยของประชาชน กลับละเลยหลักการพื้นฐานและพิจารณาไปถึง "เหตุ" แห่งความเลวร้ายทางการเมืองการปกครอง ซึ่งย่อมหนีไม่พ้นกลุ่มบุคคลในฝ่ายอำนาจรัฐ อันประกอบไปด้วยบุคลากรระดับผู้บังคับบัญชาสูงสุดของเหล่าทัพ ที่ประกาศตนเป็น "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)" หรือในเวลาต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)"

หลังการฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549 ประชาชนกลุ่มต่างๆ ต่างทยอยกันออกมาอย่างองอาจกล้าหาญ คัดค้าน "โจรกบฏ" ผู้เข้าครอบครองอำนาจการปกครองด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และตามมาด้วยการอาศัยคำสั่งและ "กฎโจร" สถาปนาอำนาจการปกครอง (ชั่วคราว) ผ่านคณะรัฐบาลที่ไม่ได้มาด้วยวิถีทางประชาธิปไตย และองค์กรนอกอำนาจอธิปไตย ที่เรียกว่าองค์กรอิสระ อีกทั้งดำเนินการเพื่อสร้างความชอบธรรมในการปกครองเพื่อเป็นการอำพรางการใช้อำนาจเผด็จการ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) จึงแต่งตั้งนักกฎหมายคณะหนึ่งเพื่อร่าง "รัด-ทำ-มะ-นูน" ฉบับชั่วคราว 2549 มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งต่อมาภายหลังได้ลาออก โดย คปค. ได้แต่งตั้งผู้ทำหน้าที่แทนคือ นายจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการประธานศาลฎีกา

จนที่สุดใช้พฤติการณ์ "อุดหูขโมยกระดิ่ง" ตั้งสภาเถื่อนด้วยอำนาจเผด็จการ ซึ่งดำเนินการภายหลังจาก คปค. ลอกคราบเผด็จการเสียใหม่เป็น คมช. ในนาม "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549" เพื่อทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา ตามมาตรา 5 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 โดยไม่ผ่านมติความเห็นชอบจากประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยที่พึงมี

ในวันที่ 19 คุลาคม 2549 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ คณะหนึ่ง และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับ ดูแลการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ มีหน้าที่และความรับผิดชอบตามประกาศคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ลงวันที่วันเดียวกัน ให้หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐให้การสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดดังกล่าว นอกจากนั้นยังกำหนดให้สำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อำนวยความสะดวกและให้การสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดนี้ด้วย

จากนั้นกระบวนการสร้าง "รัด-ทำ-มะ-นูน" เผด็จอำนาจก็เข้าสู่ขั้นตอนกำหนดทิศทางการปกครองของประเทศ โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการกำกับดูแลเพื่อ สรรหา สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ จำนวน 2,000 คน จากนั้นสมัชชาแห่งชาติ กรอง ผู้มีสิทธิเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 200 คน ตามมาด้วย คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ กรอง ผู้มีสิทธิเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จาก 200 คน เหลือ 100 คน และผู้มีสิทธิเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ กรอง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 25 คน ตบท้ายด้วยการที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ แต่งตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยตรง อีกจำนวน 10 คน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวน 242 คน เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2549 โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ผลงานอัปยศของ "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549" นอกเหนือจากการผ่าน "รัด-ทำ-มะ-นูน-2550" ที่มีวิญญาณของการเผด็จอำนาจ ปรากฏอยู่โดยตลอด ยังตามมาด้วยการออกกฎหมายหลายฉบับที่เอื้อประโยชน์ให้กับ คมช. และเพิ่มอำนาจทหารมากขึ้น โดยเฉพาะ ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านอย่างหนักจากผู้รักความถูกต้องชอบธรรม

และที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนในแวดวงต่างๆที่ตระหนักในหลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ได้แก่ การอนุมัติกฎหมาย 70 ฉบับภายในเวลาเพียง 3 วัน

ภายใต้เงื้อมเงาเผด็จการทหาร นำไปสู่การเสียสละชีวิตเพื่อลบคำสบประมาทของ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษก คปค. ที่ว่า "ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้" ในคืนวันที่ 31 ตุลาคม 2549 ของ "ลุงนวมทอง ไพรวัลย์" โชเฟอร์แท็กซี่ผู้รักและหวงแหนประชาธิปไตย อดีตพนักงานการไฟฟ้าบางกรวย และการเสียสละชีวิตเพื่อแสดงเจตนารมณ์ประชาธิปไตยของ "นายณรงค์ศักดิ์ กอบไธสง" จากน้ำมือของอันธพาลจัดตั้งทางการเมือง ในคืนวันที่ 2 กันยายน 2551

การเสียสละชีวิตของวีรชนประชาธิปไตยทั้งสอง ตลอดจนวีรชนจำนวนมากนับจากการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 เป็นเสียสละด้วยเจตนารมณ์ที่จะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นอย่างมั่นคง

เมื่อถึงเวลาที่ประเทศอันเป็นที่รักยิ่งของทุกคนนี้ ก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะตอบข้อกังขาในประเด็นที่ว่า มีความเป็นได้มากน้อยเพียงใด สำหรับการที่อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ฝ่าย จะพิจารณาพิพากษา "กบฏต่อระบอบประชาธิปไตย" ทั้งปวงที่เกิดขึ้นมาแล้ว แม้ว่า "การฉีกรัฐธรรมนูญ" หลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2475 จะเป็น "รัฐธรรมนูญอำมาตยาธิปไตย" ก็ตาม แต่พฤติการณ์ "โจรกบฏ" เป็นสิ่งที่ฝ่ายประชาธิปไตยไม่อาจนิ่งเฉยได้อีกต่อไป

นั่นคือประชาชนไม่เพียงมีพันธกิจร่วมกันในการขับเคลื่อนปิตุภูมิไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ หากยังต้องมีส่วนร่วมในการชำระประวัติศาสตร์ที่ปกปิด บิดเบือนความจริง ด้วยการฟื้นคดีทุกคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และนำตัวผู้กระทำผิดเหล่ามารับโทษทัณฑ์ที่สมควรได้รับ เช่นในประเทศที่กฎหมายเป็นกฎหมาย และสิทธิมนุษยชนไม่ถูกละเมิด

ในวาระแห่งการครบรอบ 4 ปีแห่งความอัปยศทางการเมือง ขอเชิดชูจิตใจที่วีระอาจหาญของมิตรสหายทั้งปวงในขบวนประชาธิปไตยด้วยความน้อมใจ.

โค่นระบอบเผด็จการ สร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน
ประชาธิปไตยจงเจริญ ประชาชนจงเจริญ.

วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2553

ประชาชนสร้างพรรค พรรคสร้างชาติ

ประชาชนสร้างพรรค พรรคสร้างชาติ


ถึงเวลาแล้วที่การเมืองแบบ 2 ขั้วอำนาจแย่งกันบริหารงบประมาณจะต้องยุติลง ประชาชนต้องสร้างการเมืองจากระดับถนน-ตรอก-ซอก-ซอย หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค และระดับชาติ ที่ผู้ทนหน่วยพรรคขึ้นไปเลือกตัวแทนพรรคเข้าไปทำหน้าที่ "ฝ่ายนิติบัญญัติ"; ในขณะที่ผู้แทนหน่วยพรรค เลือกตัวแทนไปชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี; ทั้ง 2 ประการ จะทำให้อำนาจอธิปไตย 2 อำนาจ คือ ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ แยกจากกันและสามารถตรวจสอบและคานอำนาจกันได้; ในเวลาเดียวกัน อำนาจตุลาการก็ผ่านการเสนอโดยฝ่ายบริหารและตรวจสอบรับรองโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ทำให้อำนาจตุลาการ "ยึดโยง" กับประชาชนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

สร้าง หน่วยพรรคพื้นฐานจากอุดมการณ์ที่ชัดเจนก่อน แล้วตั้งสาขาพรรคประจำตำบล ระดับอำเภออำเภอ สู่ระดับจังหวัด และระดับชาติ; พรรคการเมืองเช่นนี้จะเข้มแข็ง ไม่อาจทำลายได้

เรา "ต้อง" มีระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เสียก่อน จึงจะมีรัฐธรรมนูญของประชาชนได้ จะมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้ ก็ต้องสร้าง "สำนึกประชาธิปไตย" ในหมู่ประชาชน ไม่ต้องมากครับ แค่ 51% ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งครับ และที่สำคัญ "ต้อง" ทำลาย "ลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม" และ "การเลือกตั้ง" ใต้กติกา "เผด็จอำนาจ" ลงไปให้ได้ ไม่อย่างนั้น "วงจรอุบาทว์" ทางการเมือง ตั้งแต่การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ก็จะไม่หมดไปจากสังคมไทย ที่สำคัญ "ยุติ" งานชุมนุม "ตบมือ/ร้องเพลง/จัดคอนเสิร์ตกินโต๊ะจีน" ได้แล้ว ใช้เวลาและทรัพยากรที่มีทั้งหมด "จัดตั้งแนวทางการเมือง" และ "การให้การศึกษาทางประชาธิปไตย" ที่ลงลึกกว่าที่เป็นอยู่ และแพร่ขยายให้กว้างไกลตามสภาวการณ์ที่ประชาชนตื่นตัวกันในขอบเขตทั่วประเทศอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

และถึงเวลาแล้วอีกเช่นกัน ที่ฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ได้ต้องการมี "ผู้นำ" ที่ต้องการแค่ "ชนะเลือกตั้ง" เข้าไปบริหาร "งบประมาณแผ่นดิน" อีกทั้งไม่เคยบอกประชาชนว่า "ประชาธิปไตย" มีหลักการอย่างไร เราจะสร้างประชาธิปไตยสำหรับประเทศเราด้วยรูปแบบไหน แล้วถึงมาร่วมกันคิดว่า "เราจะทำอย่างไรจึงจะได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แท้จริง"

พลเมือง อเมริกันรุ่นบุกเบิกสร้างประเทศ รู้ว่าสู้เพื่ออะไร... จึงได้ชัยชนะในที่สุด และใช้เวลาหลายปีเหลือเกินด้วย ตายกันทั้ง 2 ฝ่ายเป็นจำนวนมหาศาลทีเดียว ใน "สงครามประกาศอิสรภาพอเมริกัน" (American Revolutionary War หรือ American War of Independence; ค.ศ. 1775-1783)

ข้อสรุปเบื้องต้นคือ ประชาชนของเราขาดความรู้ความเข้าใจในระบบการเมืองการปกครอง; ส่วนระบบการศึกษาก็ทำได้แค่ให้คนสอบผ่านใบรับรองวุฒิ เพราะแม้แต่นักวิชาการเอง ยังขาดความรู้ความเข้าใจในปรัชญาประชาธิปไตยที่มีปรัชญามนุษยนิยมเป็นพื้น ฐาน ทั้งนี้เพราะจารีตและขนบทางศาสนธรรมของเราเป็น "เทวนิยม"

ฝ่ายประชาชนต้องเร่งสร้าง "นักคิด" เพื่อลุกขึ้นท้าทายระบบคิดของอำมาตย์/อภิชนให้ได้โดยเร็วและมีความหนักแน่นเป็นปึกแผ่นพอ ที่จะรับการ "โจมตี" ทางปรัชญาได้ทุกรูปแบบ

จากนี้ำไปท่าทีชนิดหนึ่งที่ฝ่ายประชาธิปไตยควรทบทวนและตระหนักเพื่อเร่งสร้างในระดับจิดสำนึก คือ "การสันทัดในการฟัง" ซึ่งในเวลานี้ จะเจาะจงลงไปด้วยซ้ำว่า คือ "การสันทัดในการรับฟังความเห็นที่แตกต่าง"

ผมขอย้ำในที่นี้ซ้ำอีกครั้งเช่นกัน ว่า "ประชาธิปไตยไม่อาจสร้างได้ด้วยความเกลียดชัง ความอาฆาตมาดร้าย ความกระเหี้ยนกระหือกระหายเลือด" สิ่งเหล่านั้น จะสร้างได้ก็เพียง "ระบอบทรราชย์(ใหม่)" ขึ้นมาเท่านั้นเอง

สำหรับในสถานการณ์เบื้องหน้า ท่าทีต่อการเลือกตั้งที่อาจมีขึ้นเมื่อฝ่ายปฏิกิริยาเห็นช่องทางที่ได้เปรียบ ขอเสนอจุดยืนที่ให้ "ประชาชนสร้างพรรค พรรคสร้างนโยบาย นโยบายสร้างชาติ".

วันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2553

วิวาทะว่าด้วย "แนวคิดศักดินา" และ "ความเท่าเทียม"

วิวาทะว่าด้วย "แนวคิดศักดินา"
และ "ความเท่าเทียม"


จากวาทกรรมนำไปสู่การโต้แย้งบางระดับในหมู่นักท่องโลกไซเบอร์ ที่เริ่มจากประโยค "ระบบศักดินาได้เข้าไปกัดกินในระบบราชการ" ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของ "ระบบศักดินา" พร้อมกับการตั้งคำถามว่าด้วย "ความเท่าเทียม"

ทัศนะจากมิตรสหายคนที่หนึ่ง:
ระบบศักดินาได้เข้าไปกัดกินในระบบราชการ และนายทุน อย่างมากเกินที่จะเยียวยา ในระยะหลายสิบปี ฉะนั้นการปฏิรูปไม่ได้ก่อให้เกิด ระบอบประชาธิปไตย อย่างแท้จริงได้ ถ้าสังเกตดีๆก็จะเห็นได้ว่า พอบ้านเมืองกำลังจะไปได้ดี มันก็ยึดอำนาจกันอีก การปฏิรูปจึงไม่ได้เป็นการแก้ไขได้อย่างเบ็ดเสร็จ

คำถามจาก Chotisak Onsoong:
ระบบศักดินา?
สมัยนี้ยังมีระบบศักดินาอยู่อีกเหรอ?
เอ่อ.. แล้วตอนนี้ใครศักดินาเท่าไหร่บ้างครับ
ฯพณฯ มาร์กซ์ นี่ศักดินากี่ไร่
ทั่นเนวินล่ะ ศักดินาเท่าไหร่
...ทั่นเหลิม ทั่นจตุพรล่ะครับ
แล้วพวกอ้ายอีที่กำลังสนทนากันอยู่ในนี้ล่ะครับ แต่ละคนศักดินากี่ไร่กันบ้าง

เอ แล้วยังงี้ต้องไปเข้าเดือนด้วยหรือเปล่าครับ

ความเห็นจากรุ่งโรจน์ วรรณศูทร:
ตามทัศนะส่วนตัว ณ เวลานี้การพิจารณาบริบทนี้ควรอยู่ในขอบเขต "ซากเดนแนวคิดศักดินา" ซึ่งอุบัติขึ้นและดำรงอยู่ในภูมิภาคนี้มาเกือบตลอดสมัยอยุธยา ต่อเนื่องมาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งยังปกครองด้วย "ระบอบศักดินา" มาจนถึงปี 2435-3440 จึงเป็น "สมบูรณาญาสิทธิราชย์" แต่ "ซากเดนแนวคิดศักดินา" ยังสืบทอดมาในหมู่ "ทาส/ไพร่ที่ปล่อยไม่ไป" และ "กลุ่มอำมาตย์/อภิชน" ที่มีผลประโยชน์จากระบอบศักดินาเดิม และแม้แนวคิดนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในช่วงปี 2475-2489 แต่การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 คือการฟื้นอำนาจของกลุ่ม "กษัตริย์นิยม" ที่พัฒนามาจนหลังการรัฐประหาร 2501 เป็นพันธมิตร 3 ฝ่าย "อำมาตย์/อภิชน/ขุนศึก" มีส่วนฟื้นตัวและขยาย "แนวคิดศักดินา" กลับมาสู่สังคมไทยอีกครั้ง และก่อรูปชัดเจนยิ่งขึ้นช่วงปี 2503-2506

แนวคิดศักดินาคือ การสร้างสถานภาพไม่เท่าเทียมกัน ด้วยการแบ่งคนเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมีการ "กดข่ม" กันลดหลั่นลงไป จนถึง 2 ชั้นล่างสุด คือ "ทาส" และ "ไพร่" ระบอบนี้มีผลอย่างชัดเจนทั้งสถานภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และทางสังคม ผลคือ คนในแต่ละชั้นจะพยายามถีบตัวขึ้นสู่ชั้นเหนือๆขึ้นไป เพื่อที่จะหลีกหนีภาวะการถูก "กดข่ม" และ มีศักยภาพที่จะ "กดข่ม" คนที่อยู่ระดับล่างๆ ลงไป

การแบ่งแยกพลเมืองแบบนี้เอง คือที่มาของ "ชนชั้น"

"ระบอบศักดินา" มีความแตกต่างจากระบอบ "ราชาธิปไตย" หรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" ซึ่งอำนาจสิทธิ์ขาดอยู่ที่ยอดบนสุด คือ "กษัตริย์" และบัญชา หรือ "ให้" อำนาจในการจัดการระบบ แก่ เชื้อพระวงศ์ใกล้ชิด หรือ "ขุนนาง" ที่ไว้วางใจได้

หาก สรุปย่อ สังเกตและวางลำดับพัฒนาการทางการเมืองของสยาม/ไทยในรอบ 150 ปี -> 2417 เริ่มต้นที่จุดเปลี่ยนสำคัญของระบอบศักดินาเกิด ขึ้นจากกรณีวังหน้า -> 2435-2540 การก่อรูประบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ -> 2440-2475 สถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เต็มรูป -> 2475 การอภิวัฒน์สยาม นำโดยกลุ่มชนชั้นนำ (elite) ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนที่รับอิทธิพลแนวคิดจากชาติตะวันตก -> 2490-2494-2499 การก่อรัฐประหารโดยกลุ่มอำมาตย์และครอบครองอำนาจ โดยกลุ่มอำมาตย์/ขุนศึก; เน้นที่การกวาดล้างสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน และขบวนการเสรีไทยสายในประเทศ -> 2500-2502 การทำรัฐประหารโดยขุนศึกฟาสซิสต์ -> 2503-2506-2511 การก่อรูปและปิดจุดอ่อนเสริมความแข็งแกร่งของ "พันธมิตร 3 ฝ่าย" อำมาตย์/อภิชน/ขุนศึก -> 2512-2514 กลุ่มอำมาตย์/ขุนศึกปกครองผ่านรัฐธรรมนูญอำมาตยาธิปไตย -> 2514-2516 ระบอบฟาสซิสต์อีกครั้ง -> 2516-2519 การเคลื่อนไหวลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมที่นำโดยนิสิตนักศึกษา -> 2519-2521 ระบอบฟาสซิสต์ขวาจัดพลเรือน/ทหาร -> 2522-2528 การฟื้นอำนาจ "พันธมิตร 3 ฝ่าย" -> 2529-2534 รัฐธรรมนูญอำมาตยาธิปไตยและความพยายามครั้งใหม่ของขุนศึกฟาสซิสต์ -> 2535-2549 การก่อรูปของกึ่งพันธมิตร (ชั่วคราว) ประชาชาติประชาธิปไตยและการตีโต้เผด็จการทหาร นำไปสู่การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของกลุ่มรัฐธรรมนูญนิยม -> 2550-2552 การตีโต้และเข้าครองอำนาจของ "พันธมิตร 3 ฝ่าย" พร้อมกับการฟื้นตัวของ "กลุ่มรัฐธรรมนูญนิยม" -> 2552-2553 ขบวนการประชาธิปไตยประชาชนเคลื่อนไหวเป็นคู่ขนานกับกลุ่มรัฐธรรมนูญนิยมลุกขึ้นคัดค้าน "พันธมิตร 3 ฝ่าย"

ข้อสังเกตจาก Chotisak Onsoong:
ในยุคทุนนิยมก็มี "การสร้างสถานภาพไม่เท่าเทียมกัน" เช่นในโรงงาน คนงาน 1 คน ย่อมไม่เท่าเทียมกับนายทุน 1 คน หรือยิ่งไปกว่านั้น คนงานพันคนหมื่นคนยังเสียงดังสู้นายทุนคนเดียวไม่ได้เลย หรือถ้านอกโรงงาน ถามว่าคนงานจะไปกินอาหารที่โรงแรม 5 ดาวได้หรือเปล่า แน่นอนว่าไม่ได้มีกฎหมายห้ามไว้ แต่ถามว่าในความเป็นจริงแล้วเราสามารถไปกินอาหารแพงๆได้เท่าเทียมกับนานทุนหรือเปล่า หรือในทางการเมือง เป็นไปได้แค่ไหนที่คนงานจะไปสมัคร ส.ส. (โดยไม่ต้องรวมตัวกันเป็นพรรค) เอาแค่ค่าสมัครก็ไม่รู้จะไปหาที่ไหนแล้ว แต่ถ้าเป็นนายทุนสบายครับ เท่าเทียมกันไหม?

หรืออย่างยุคทาส แน่นอนย่อมไม่มีความคิดที่ว่าเจ้าทาสกับนายทาสเท่าเทียมกันแน่ๆ ดังนั้น "การสร้างสถานภาพที่ไม่เทียมกัน" จึงไม่น่าจะเป็น "ลักษณะเฉพาะ" ของ "แนวคิดศักดินา" ส่วนการ "แบ่งคนเป็นชั้นๆลดหลั่นกันไป" เท่าที่รู้ที่ไหนๆก็มี ประเทศทุนนิยมอย่างอเมริกาหรือทุนนิยมที่เกิดก่อนอย่างอังกฤษหรือที่ไหนๆก็มีรูปธรรมเช่นในโรงงาน (อีกแล้ว) มีตั้งแต่ผู้จัดการใหญ่-รอง-ผู้ช่วย ผู้จัดการฝ่าย/แผนก-รอง-ผู้ช่วย ไปจนถึงหัวหน้างาน-รอง-ผู้ช่วย (ซึ่งหัวหน้างานก็อาจจะมีการแบ่งย่อยไปอีกกี่ชั้นก็ได้) ไปจนถึงคนงานพื้นฐาน

ดังนั้นการ "แบ่งคนเป็นชั้นๆลดหลั่นกันไป" จึงไม่น่าจะเป็น "ลักษณะเฉพาะ" ของ "แนวคิดศักดินา" ด้วยเหมือนกัน

(แต่อันนี้อาจจะน่าสนใจกว่าเรื่องความไม่เท่าเทียมตรงที่เราจะไม่เห็น "การแบ่งชั้นลดหลั่น" ในสังคมทั่วไปอย่างชัดเจน เราจะไม่รู้ชัดๆว่าใครสูงกว่ากันระหว่างครู หมอ ทนายความ แต่เราก็รู้ว่าเราอยู่ต่ำกว่าพวกที่ว่ามาทั้งสิ้น เราต้องเคารพเขา ขณะเดียวกันเราก็รู้ว่าใครบ้างที่อยู่ต่ำกว่าเรา)

ความเห็นของรุ่งโรจน์ วรรณศูทร:
ในสังคมทุนนิยม มีแต่ "สถานภาพทางเศรษฐกิจ" ไม่มี "สถานภาพชนชั้นทางสังคม" ให้พิจารณาก่อน 2475 - หลัง 2475 - หลัง 2490 - หลัง 2500 - หลัง 2516 - หลัง 2535 - หลัง 2549

พิจารณาว่าเป็น "ซากเดนแนวคิดศักดินา" ซึ่งสืบทอดมาใยยุคทุนนิยมแบบไทยครับ ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่ปลอดพ้น "อิทธิพล" แนวคิดดังกล่าว จะพบว่าพลเมือง มีความเท่าเทียมกันโดยพื้นฐาน ซึ่งไม่ได้หมายความว่า "เท่ากัน" แต่หมายถึงมีความเสมอภาคกันในกฎหมายมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งได้รับหลักประกันโดย "รัฐธรรมนูญ" ที่มีรากฐานจากอุดมการณ์ประชาธิปไตย

สังคมที่มี "จารีต" แบบศักดินา ใช้เวลายาวนานกว่าในการขจัด "แนวคิด" ดังกล่าวออกไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนมากๆ คือในกรณีฝรั่งเศส การต่อสู้กันใช้เวลากว่า 80 ปี จึงทำให้จารีตแบบ "ราชาธิปไตย" หมดไปโดยพื้นฐาน ในสมัย "สาธารณรัฐที่ 3" (กฎหมายรัฐธรรมนูญ 1875) และกว่าจะสถาปนาระบบสาธารณรัฐที่มั่นคงได้ก็ในรัฐธรรมนูญ 1958 ในสมัย "สาธารณรัฐที่ 5" ซึ่งดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน 52 ปี

ลักษณะพิเศษของระบอบประชาธิปไตย 3 แบบ คือ สหรัฐอเมริกา - ฝรั่งเศส - และ - อังกฤษ มีรูปแบบและเนื้อหาที่มีทั้งร่วมกันและแตกต่างกัน

นั่นคือ ผมกำลังพยายามตรวจสอบและค้นหา "รูปแบบเฉพาะ" ของสังคมไทย ที่เป็น "ประชาธิปไตย"

ก่อนอื่น ผมถือว่านี่เป็นการอภิปราย "ชนชั้น" ในบริบทของ "ไพร่" ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการจัดลำดับชั้นทางเศรษฐกิจ/การเมืองนะครับ แต่มีบริบททางวัฒนธรรมด้วย

การเกิดระบอบทาสผิวดำในสหรัฐมีความแตกต่างจากระบอบทาสในยุคทาส และไพร่/ทาสในยุคศักดินา/ราชาธิปไตย ในสหรัฐมี "นายทาส" ไม่มี "เจ้าทาส" ระบบชนชั้นแบบเศรษฐกิจทุนนิยม (ที่มีจุดกำเนิดที่สำคัญในสหรัฐ ที่พัฒนาควบคู่กับการปฏิวัติอุตสาหกรรม) จึงไม่มี "วัฒนธรรม" หรือ "จารีต"

การลุกขึ้นสู้ของ "คนงานหญิงชิคาโก" ที่นำโดยคลารา เซ็ตกิน จึงไม่ใช้การลุกขึ้นสู้ของ "ทาสกสิกร (serf)" และชนชั้นกลางล่าง/ผู้ใช้แรงงานในเมือง เช่นกรณีการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 หรือแม้แต่คอมมูนปารีส 1871

ในกรณีประเทศไทย การหมดไปของ "ระบอบไพร่/ทาส" (2440-2448) จึงถือว่าพลเมืองเป็น "เสรีชน" การใช้บริบท "ไพร่ล้มอำมาตย์" จึงเป็นความผิดพลาด และก่อให้เกิดจุดอ่อนในการตอบโต้โดยฝ่ายปฏิกิริยา เพราะความหมายของ "ไพร่/ทาส" ของ "สยาม" ย่อมหมายรวมถึง "มูลนาย" และตัว "ระบอบ" สมบูรณาญาสิทธิราชย์ เอง

การชูธงการต่อสู้ของฝ่ายประชาชนว่าเป็น "ไพร่" จึงเป็นข้อบกพร่องผิดพลาดประการหนึ่งในรูปการจิตสำนึก

นั่นคือผมเสนอ "ตำแหน่ง" ของฝ่ายประชาชนในขบวนประชาธิปไตยไว้ว่าเป็น "เสรีชน" ซึ่งลุกขึ้นสู้เพื่อ "สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค" ที่ถูกลิดรอนและ ปกปิดบิดเบือนแย่งยึดไปนับจากการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 เป็นต้นมา

เมื่อเป็นดังนี้ หมายถึงบริบท "เสรีชนสู้เพื่อเสรีภาพ" จึงมีขอบเขตกว้างกว่า และสามารถเชื่อมโยงกับการต่อสู้ทางชนชั้นในยุคการผลิตแบบทุนนิยมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสามัคคีประชาชนชั้นชนต่างๆได้ในวงกว้างมากกว่า "ไพร่ล้มอำมาตย์" ซึ่งไม่มีอยู่จริงแล้วในทางเศรษฐกิจและการเมือง มิหนำซ้ำยังส่งผลก่อให้เกิด "วาทกรรม" ที่ผิดพลาดด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย คือในฝ่ายประชาธิปไตยเอง และในฝ่ายปฏิกิริยา/ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย

สำหรับประเด็นสถานภาพทางสังคม หรือ "แบบแผนการปฏิบัติต่อกัน" เข้าใจว่า น่าจะมีก็เฉพาะ "โฮจิมินห์" เท่านั้น ที่ใช้คำเรียกทั่วไปใน เวียดนาม (เหนือ) ก่อนชัยชนะในสงครามรวมประเทศ ว่า "ลุงโฮ" ซึ่งโดยเนื้อแท้เป็น "ค่านิยม" ที่ให้ความสำคัญแก่ผู้อาวุโสที่ควรได้รับการยกย่อง

คงไม่มีใคร แม้ในขบวนปฏิวัติประชาธิปไตย ที่คนอายุ 20 ปีเศษหรือน้อยกว่า/มากกว่า สนทนากับคนอายุ 5-60 ปี ด้วยคำพูดและอากัปกิริยาที่มองข้ามวัยวุฒิและรวมทั้งประสบการณ์อันอุดมกว่าของผู้สูงวัย หรือแม้แต่บทบาทหน้าที่/ความรับผิดชอบต่อภารกิจที่แบกรับ

ส่วน "ไอ้มืด" นั้น หากไม่นับพื้นฐานเดิมของรัฐทางภาคใต้ของสหรัฐ ที่มีจารีต "ระบบทาสเกษตร/อุตสาหกรรม" ในยุคสร้างชาติแล้ว เนื้อหาของการ "เหยียดเชื้อชาติ" ลดน้อยถอยลงไปมากแล้วในสหรัฐ ถ้าจะมีก็คงเป็น "เศษเดนลัทธิเหยียดสีผิว" ที่รอเวลาการสิ้นสลายลงไป (ประธานาธิบดีคนปัจจุบันเป็น "คนผิวดำ" ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลชุดที่แล้วเป็น "สตรีผิวดำ")

ขอบเขตปริมณฑลของการปฏิวัติประชาธิปไตยของรัฐชาติสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ที่มีพัฒนาการของจารีตเป็นระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ นั้น มีความจำเป็นที่ต้องค้นคว้าทำความเข้าใจกันให้ลึกซึ้ง มากยิ่งกว่า "การชุมนุม" และการขึ้น "ปราศรัยปลุกระดม" ในทางที่มีเนื้อหาในทางให้การศึกษาทางการเมืองไม่สูง

การรวบรวมกำลัง ร่วมกันเป็นหน่วยมวลชนระดับต่างๆ มีความสำคัญมากกว่าการดำเนิน "กิจกรรม" ทางการเมือง

ความจำเป็นที่มวลมหาประชาชน จะต้องตระหนักถึงเป้าหมาย "ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แท้จริง" เป็นภารกิจเร่งด่วนเบื้องหน้าสถานการณ์ที่เข้าใกล้วาระสุกงอมที่เป็นไปเองตามธรรมชาติ จากนั้นคำถามที่ว่า "แล้วจะทำกันอย่างไร" จึงเป็นความจำเป็นตามมาในเวลาอันรวดเร็ว

เมื่อไม่สามารถสร้างเอกภาพใน "เป้าหมาย" อย่างถูกต้องสอดคล้องกับขั้นตอนพัฒนาการความขัดแย้งทางการเมืองเสียแล้ว ขบวนประชาธิปไตยยิ่งลดความเป็นไปได้ที่จะสร้าง "ยุทธศาสตร์/ยุทธวิธี" ที่ถูกต้อง เพื่อขับเคลื่อนพลังประชาธิปไตย ทั้งที่เป็นพลังหลัก และความสนับสนุนจากประชาชนวงการต่างๆที่ยังคงอยู่ในสถานะ "พวกฝ่ายกลาง"

แล้วประชาชนก็จะวนเวียนอยู่กับคำถามในหลายปีมานี้ที่ว่า "เมื่อไหร่จะชนะ" อยู่นั่นเอง.


การสนทนาผ่านเพจ Facebook ช่วงกลางวันวันที่ 5 กันยายน 2553

วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

"นายหัวชวน" กับ "ทรราชย์ถนอม" เมื่อไม่นานมานี้

"นายหัวชวน" กับ "ทรราชย์ถนอม" เมื่อไม่นานมานี้


สภาอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แสดงจุดยืนเคียงข้างความถูกต้องชอบธรรมในสังคม กรณีแต่งตั้งจอมพลถนอม กิตติขจรเป็นนายทหารพิเศษ

รองศาสตราจารย์ ดร.วรวุฒิ หิรัญรักษ์ ประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่าในวันนี้ (30 มีนาคม 2542) สภาอาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการประชุมด่วนเพื่อพิจารณาประเด็นต่างๆ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากในสังคม สืบเนื่องจากการคัดค้านกรณีที่ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กราบบังคมทูลให้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ ที่ประชุมมีมติดังนี้

1. สภาอาจารย์ ในฐานะเป็นองค์กรตัวแทนของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีจุดยืนที่เคียงข้างกับความถูกต้องและความชอบธรรมในสังคม และให้การสนับสนุนผู้ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ หรือการใช้อำนาจและความรุนแรงล้มล้างระบอบประชาธิปไตย สภาอาจารย์เห็นว่า เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะเป็นบทเรียนอย่างดแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ว่าประชาชนชาวไทยยังไม่ลืมเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และไม่ต้องการให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก รวมทั้งไม่ต้องการให้มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อีก

2. กรณีที่มีการนำเอาท่านผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ เปรียบเทียบกับ จอมพลถนอม กิตติขจร นั้น สภาอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือว่า เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะ ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นปูชนียบุคคลที่มีคุณูปการต่อประเทศไทยอย่างยิ่ง เพราะท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนร่วมในการก่อให้เกิดระบบการปกครองแบบ ประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทย และเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้นมา

3. กรณีที่มีเสียงเรียกร้องจากองค์กรประชาธิปไตยต่างๆ เรียกร้องให้ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี กล่าวขอโทษประชาชนกรณีการแต่งตั้ง จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายทหารพิเศษ สภาอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความเห็นว่า การเรียกร้องดังกล่าวเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลของกลุ่มต่างๆ ที่สามารถแสดงออกไดตามระบบการปกครองประชาธิปไตย และในฐานะที่ นายชวน หลีกภัย เป็นประชาชนที่อยู่ในยุคสมัย ของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นายชวน หลีกภัย คงจะทราบดีว่าควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไปที่จะทำให้เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ยุติลงด้วยดี และไม่นำไปสู่เหตุการณ์วุ่นวายหรือการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมในประเทศไทย

วันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2553

กงล้อประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจขัดขืนฝืนต้าน

กงล้อประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจขัดขืนฝืนต้าน


โอ... ประชาธิปไตย ด้วยข้อเท็จจริงที่ล้วนบ่งชี้เสมอมาถึงความยากลำบาก และเส้นทางคดเคี้ยวเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามเช่นนี้เอง ภารกิจสถาปนาระบอบประชาธิปไตย ถึงตกมาอยู่ในมือของคนรุ่นเราจนได้... ในท่ามกลางวันเวลาที่ กิเลส ตัณหา และความละโมบโลภหลงทั้งปวงของมนุษย์ ถูกขยายขอบเขตจนยากที่ผู้คนในยุคที่ผ่านล่วงเลยมาตลอดประวัติอารยธรรมนับหมื่นปี จะเข้าใจได้

ถ้าเราผ่านมหายุคนี้ำไปได้ ด้วยความมีชัยไม่ใช่เพียงต่อผู้คนที่เห็นแตกต่างตรงกันข้าม ไม่ใช่เพียงช่วงชิงพลังอำนาจในการปกครองพิภพและเพื่อนมนุษย์ หากเราสามารถเปลี่ยนผ่านก้นบึ้งของความดิบเถื่อนที่ทำให้สัตว์เดรฉานกัดกินเผ่าพันธุ์ของตนเอง หากเราสามารถพลิกฟื้นจิตวิญญาณแห่งภราดรภาพ ที่ตระหนักในอุตมสัจจะ ที่มหาบุรุษผู้หนึ่งเคยให้สิ่งที่เป็นยิ่งกว่าอนุสติที่ว่า "สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งนั้น"

การเปลี่ยนผ่านมหายุคของเผ่าพันธุ์ที่ยืนได้ด้วยสองขาหลัง และกระดูกสันหลังตั้งฉากกับพื้นพิภพ บนดาวเคราะห์ดวงที่สามของระบบสุริยะ จะนำมิติใหม่ทั้งทางกายภาพ ทางชีวภาพ และสภาวะทางจิตวิญญาณ...

และนี่บางทีอาจเป็นบททดสอบบทท้ายๆ สำหรับผู้คนที่สืบทอดเจตนารมณ์ของปวงทรราชย์ในประวัติศาสตร์... ว่าไม่มีทางที่อำนาจชั่วร้ายสามานย์ใด จะอยู่ยืนยงคงทนไปชั่วกัลปาวสาน

และนี่อีกเช่นกัน ไม่ใช่เป็นการพยากรณ์ ไม่ใช่การร้องขอ ไม่ใช่การบีบบังคับกดดัน... หากนี่คือความจริงแท้ที่เผ่าพันธุ์มนุษย์จะต้องก้าวผ่าน ไม่ว่าจะอยู่ในซีกโลกใด ในซอกหลืบเร้นลับเพียงใด และไม่ว่าจะสืบทอดขนบจารีตที่เก่าแก่ล้าหลังเพียงใด

ไม่มีใครจักอาจต้านทานการหมุนล่วงไปแห่งกงล้อประวัติศาสตร์ได้.


by รุ่งโรจน์ วรรณศูทร on 15 สิงหาคม 2010 เวลา 2:37 น. Facebook

วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553

"ระบบ" หรือ "ตัวบุคคล"

"ระบบ" หรือ "ตัวบุคคล"


ขณะนี้ มีมิตรสหายจำนวนมากในขบวนประชาธิปไตย ยังคงหลงวนเวียนอยู่กับแนวความคิดที่ให้ความสำคัญกับ "ตัวบุคคล" ในท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านระหว่างโลกเก่าที่ล้าหลังและเอื้ออำนวยต่อคนส่วนข้างน้อย กับโลกใหม่ที่รากฐานของทุกบริบทแห่งสังคมล้วนขึ้นต่อคนส่วนข้างมาก

นั้นคือ ปมเงื่อนและเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงนั้นอยู่ที่ "ระบบ" ไม่ใช่ "ตัวบุคคล" และระบบคือทุกสิ่งที่ถักทอขึ้นมาในเวลา 78 ปีแห่งการปะทุของความขัดแย้งระหว่างพลังทางสังคม 2 ชนิด ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 หรือจะเกิดขึ้นก่อนหน้าหรือหลังจากนั้น เป็นความเปลี่ยนแปลงที่หาได้ขึ้นต่อเจตจำนงเสรีของปัจเจกชน หรือหมู่คณะผู้คนแต่อย่างใดไม่

พลังชนิดแรกคือพลังที่มีลักษณะก้าวหน้า อัดแน่นด้วยศักยภาพแฝงในอันที่จะผลักดันพัฒนาการของสังคมทั้งสังคมให้ก้าวรุดหน้าไปในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางวิทยาศาสตร์กายภาพ ทางประยุกต์วิทยา วิทยาศาสตร์ทางจิต (ที่รวมความเชื่อทางศาสนา) ทางสังคมวิทยา และที่สำคัญในมิติทางเศรษฐศาสตร์การเมือง พลังชนิดนี้เองที่จะปลดปล่อยมวลมนุษย์จากการตกเป็นข้าทาสของกาลเวลา ที่ผูกล่ามผู้คนไว้ในประวัติศาสตร์แห่งการไร้เสรีภาพ การกดขี่แบ่งชั้น ตลอดจนการดำรงของชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ ที่จมปลักดักดานวนเวียนอยู่เพียง "ความจำต้องเป็น"

และอนาคตอันรุ่งโรจน์ของมนุษยชาติก็อยู่ในกำมือของพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงหรือนัยหนึ่ง "พลังอภิวัฒน์" นี้เอง

พลังชนิดหลังคือพลังที่มีลักษณะล้าหลัง ฉุดรั้ง ตายด้ายอยู่ในพัฒนาการทุกด้าน ทั้งต่่อสู้ดิ้นรนทุกวิถีทาง และระดมสรรพกำลัง เพื่อรักษาโลกเก่า ระบบเก่า ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อพัฒนาการของชีวิตทางสังคมที่ล้วนมีสภาวธรรมแห่งการเปลี่ยนแปลง ตาม "กฎอนิจจัง" ก้าวพ้นศตวรรษโบราณ และไม่สามารถขัดขืนต้านทานได้อีกต่อไป

และนั่นคืออดีตอันเลือนรางและนับวันมีแต่จะโรยราเสื่อมสลาย ถดถอยอ่อนแอลงเป็นลำดับของ "พลังปฏิกิริยา"

ในท่ามกลางความขัดแย้งและการเปลี่ยนผ่าน ไม่มีคำว่าว่า "แพ้" หรือ "ชนะ" เพราะไม่มีหน้าไหนฝืน "กฎพระไตรลักษณ์" ได้อย่างเด็ดขาด

ผลจากความดื้อรั้นดันทุรัง ฝืนกงล้อแห่งการเปลี่ยนแปลงอันเป็นสัจจธรรมนี้ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะก่อให้เกิดบาดแผลและความเจ็บปวดร้าวลึกตลอดองคาพยพของสังคม และทั้งในความรู้สึกนึกคิดของผู้คนนับล้าน หรือนับสิบล้าน

เพียงการ "ตระหนักรู้" เท่านั้น ที่ทำให้ "การเปลี่ยนผ่าน" เกิดขึ้นได้โดยสูญเสียน้อยที่สุด

ทั้งนี้ การตระหนักรู้นั้นเป็นความจำเป็นอย่างถึงที่สุดของพลัง 2 ฝ่าย.

ระลึกแม่

ระลึกแม่ :
ระลึก 'เพลากิยา นิลอฟนา' ใน "แม่" ของ แม็กซิม กอร์กี้


ผมตั้งใจจะเขียนความทรงจำส่วนตัวถึงแม่ เฉพาะที่แม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับขบวนประชาธิปไตย ส่วนหนึ่งด้วยหัวจิตหัวใจรักความเป็นธรรมและรักความเสมอภาค มีน้ำใจต่อผู้คนที่แม่เห็นว่าต่ำต้อยน้อยหน้าในสังคม และอีกส่วนหนึ่งด้วยการกระตุ้นเร้าจากผมเองซึ่งเป็นลูกชายคนโตในลูกๆทั้ง 3 คน ของแม่กับพ่อ

ปี 2515 ลูกชายของแม่คนนี้สอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ (ทั้งที่ในตอนนั้นไม่มีใครแม้แต่ผมเองจะรู้ล่วงหน้าว่าผมจะหันหลังให้สถาบัน ที่ถือกำเนิดในยุครุ่งอรุณของประชาธิปไตยในประเทศนี้ในเวลาไล่เลี่ยกับการ จากไปของแม่) โดยที่ทั้งพ่อทั้งแม่ไม่ได้ถูกใจอะไรนัก แต่แม่ก็ดีใจออกนอกหน้ากับทุกผู้คนในโลกของแม่ เพราะแม่เรียนชั้นสูงสุดได้วุฒิแค่ "ประโยคครูมัธยม" หรือย่อว่า ป.ม. (อาชีวะ) แม่เรียนฝึกหัดครู ต่อจากเป็น "ลูกเซียงเงี้ยบฮ้อ" ในวังเดิมของ "เสด็จเตี่ย" นายพลเรือเอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ หมายความว่าแม่เรียนสายอาชีวะที่ "โรงเรียนพาณิชยการพระนคร" ซึ่งเพื่อนรุ่นเดียวกันที่แม่ภูมิอกภูมใจนักหนาคือ สมจินต์ ธรรมทัต ดาราเจ้าบทบาทและนักพากย์ภาพยนตร์ระดับหัวแถวของวิกบางขุนพรหม สถานีไทยโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ หรือ สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ยุคขาว-ดำ

แม้ว่าลูกชายคนนี้ขัดใจเล็กๆกับแม่ และอาจจะถึงขั้นเป็นที่ขัดเคืองของพ่อวิศวกรโยธาจากรั้วจามจุรี แต่ทั้งพ่อทั้งแม่รู้อยู่เต็มอกว่าลูกชายคนนี้ตั้งใจแน่วแน่ขนาดไหน ที่จะได้เข้าไปศึกษากับสถาบันที่แรกสถาปนาในชื่อ "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง" โดยท่านผู้ประศาสน์การ นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะผู้ก่อการอภิวัฒน์สยาม 2475 สายพลเรือน และหัวหน้าเสรีไทยสายในประเทศ ผู้นำประชาชนผู้รักชาติลุกขึ้นต่อต้านอย่างลับๆ กับการรุกรานของกองทัพพระจักรพรรดิ ที่เกรียงไกรที่สุดในทวีปเอเชียในเวลานั้น ช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา

เด็กหนุ่มอายุ 18 กลับบ้านทุกวันพร้อมกับเรื่องเล่าถึงโลกแห่งการรับรู้ที่เปิดกว้างกว่าชีวิตเด็กมัธยมของประเทศในยุคเผด็จการครองเมืองต่อเนื่องมายาวนาน ลูกชายของแม่มีโอกาสสัมผัสกับกลุ่มเสวนาอิสระในรั้วแม่โดม จนก้าวเข้าร่วมกิจกรรมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในฐานะสมาชิก "สภาหน้าโดม" รุ่นรองสุดท้าย เป็นการลิ้มรสชาติ "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ" ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ในท่ามกลางผู้คนซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดก่อน มีความรอบรู้และประสบการณ์มากกว่าเกือบจะทั้งหมดทั้งสิ้น แต่ในวงเสวนาย่อมๆที่ไม่เป็นทางการนั้น ทุกคนมีอิสระในความคิดเห็น และสามารถนำเสนอและโต้แย้งได้อย่างเต็มที่

ลูกคนนี้ของแม่พาตัวเองเข้าร่วมขบวนแถวนักศึกษาร่วมสถาบันในทุกรูปแบบ จากการร่วมมือของกลุ่มอิสระในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยที่นำโดย "กลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่" และในธรรมศาสตร์ที่มีลักษณะหลากหลายกว่า คือ "ชมรมนิติศึกษา" "กลุ่มเศรษฐธรรม" "กลุ่มผู้หญิง ม.ธ." และ "กลุ่มสภาหน้าโดม" คัดค้านฟุตบอลประเพณีที่ทำให้นิสิตนักศึกษา 2 สถาบันมีสภาพเป็น "อภิชน" ไปกลายๆ การคัดค้านการประกวดนางสาวไทย อันเป็นการทำลายความเป็นมนุษย์และมีลักษณะกดขี่ทางเพศสำหรับ "เพศแม่" ที่เวทีวังสราญรมย์ในปีนั้น

กว่าที่เรา - หมายถึงกลุ่มนักกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย - จะตระหนักว่า ทุกปัญหาในบ้านเมืองรวมศูนย์อยู่ที่การเมือง ก็ตกปลายปี 2515 นั้นเอง

วันที่ 12 ธันวาคม 2515 คณะปฏิวัติ (ตนเอง) ภายใต้การนำของจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 299 ที่ "ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานคณะตุลาการ ซึ่งแต่เดิมประกาศศาลฎีกาเป็นประธานคณะตุลาการ ส่วนกรรมการตุลาการ 9 คนนั้น เฉพาะกรรมการที่คณะผู้พิพากษาเป็นผู้เลือก 4 คน เปลี่ยนเป็นให้รัฐมนตรีเป็นผู้เลือก"

ในเวลาเพียงไม่กี่วัน นิสิตนักศึกษากลุ่มต่างๆในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็จัดให้มีการประชุมเป็นการด่วน ที่ห้อง "ชมรมนิติศึกษา" คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เดินขบวนไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อแสดงการคัดค้านประกาศคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว และเพื่อเป็นยืนยันด้วยการปฏิบัติ เรียกร้องให้ขบวนการนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศแสดงออกถึงการคัดค้านการก้าว ก่ายอำนาจอธิปไตย จากอำนาจนอกวิถีทางประชาธิปไตย

การเคลื่อนไหวภายใต้มติร่วมกันครั้งนั้น นำไปสู่การประท้วงที่มีลักษณะการเมืองครั้งแรกของนิสิตนักศึกษา นับจากการยึดอำนาจด้วยการทำรัฐประหารในยุคจอมเผด็จการผ้าขาวม้าแดง - สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และต่อเนื่องมาถึงการรัฐประหารตัวเองเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2514 ของหัวเรือใหญ่ในกลุ่ม "สามทรราชย์" - ถนอม กิตติขจร ระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ยิ่งใหญ่

ถ้าความทรงจำของผมยังไม่ทรยศตัวเอง - เพราะผมจะไม่ตรวจสอบบันทึกความทรงจำชิ้นนี้ในเชิงวิชาการ - กลุ่มอิสระนอกเหนือจากจุฬา-ธรรมศาสตร์ข้างต้นแล้ว เรายังมี "สภากาแฟ" จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ "ชมรมคนรุ่นใหม่" จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในส่วนภูมิภาคก็มีการเคลื่อนไหวที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยกลุ่ม "วลัญชทัศน์" และมีนักศึกษาที่ยังไม่มีการรวมตัวจัดตั้งกลุ่มก้อนเช่นจากมหาวิทยาลัยมหิดลเข้าร่วมด้วย

พวกเราถกเถียงโต้แย้งแสดงความคิดเห็นกันนานนับชั่วโมง ก่อนจะมีมติร่วมกันเป็นเอกฉันท์ ให้มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาล ตลอดทั้งคืนของวันที่ 19 ธันวาคม 2515 ที่หน้าศาลยุติธรรม

แล้ว "แม่" ของผมมาเกี่ยวข้องตรงไหนหรือครับ .... แม่ผมที่หมอตรวจพบว่าเป็นมะเร็งทรวงอก "ต้อง" เข้ารับการผ่าตัดในวันที่ลูกชายของแม่และเพื่อนอีกนับร้อยนับพัน กำลังจะก้าวออกไปต่อต้านอำนาจเผด็จการเป็นครั้งแรก เป็นการผ่าตัดที่ลูกชายคนโตไม่ได้เดินเคียงข้างเตียงเข็นไปสู่ห้องผ่าตัด

เราแม่ลูกได้พูดคุยทำความเข้าใจ และต่างให้กำลังใจในภารกิจและความจำเป็นของเรา ที่แต่ละฝ่ายล้วนต้องใช้จิตใจที่หาญกล้า เผชิญกับอุปสรรคความยากลำบากที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน จากนั้นก็อาศัยความผูกพันทางใจอย่างเดียวกันนั้น ส่งแม่เข้าห้องผ่าตัด ระหว่างออกไปร่วมกับเพื่อนๆ ร่วมชุมนุมต่อต้านอำนาจรัฐกันอยู่ตลอดคืน

ในที่สุดรัฐบาลเผด็จการก็มีมติเป็นเอกฉันท์ยอมยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว และใช้ฉบับเดิมแทน การเคลื่อนไหวดังกล่าวได้เป็นแบบอย่างในการคัดค้านอำนาจรัฐที่ไม่ถูกต้องโดยไม่เกรงกลัวต่ออำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแห่งมาตรา 17 อีกต่อไป

สายสักหน่อยหลังการยุติการชุมนุม ผมกับเพื่อนหลายคน ข้ามเรือจากท่าพระจันทร์ไปยังโรงพยาบาลศิริราช ทันทีที่แม่รู้ว่าผมไปถึงห้องพักผู้ป่วย แม่ลืมตาที่อ่อนระโหยจากการ "ผ่าตัดหน้าอก" ข้างหนึ่งที่มีเนื้อร้ายออกไป พร้อมกับคำถามที่ยังก้องอยู่ในโสตประสาทและความรู้สึกนึกคิดของผมตลอดเวลา 37 ปี ว่า...

"ชนะแล้วหรือลูก"

แม่ครับ... อนุญาตให้ลูกชายคนนี้หลั่งน้ำตาถึงแม่อีกสักครั้งหลังจากการจากไปของแม่ เมื่อต้นปี 2519 นะครับ.... และถ้ามีโอกาสอื่นนอกเหนือจากนี้ ผมจะบันทึกเรื่องของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่ก้าวเข้ามาร่วมขบวนแถวประชาธิปไตย ร่วมกับลูกชายของแม่ และลูกชายหญิงอีกนับไม่ถ้วน เฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับ "เพลากิยา นิลอฟน่า" แม่ของ "พาเวล นิลอฟน่า" ตัวละครสำคัญในเอกวรรณกรรมเรื่อง "แม่" ของแม็กซิม กอร์กี้ นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่จากอาณาจักรรัสเซียเก่า ผู้มีส่วนร่วมในการสถาปนาระบอบการปกครองใหม่เท่าที่อารยธรรมของมนุษย์จะรู้จักเมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว.


โพสต์ครั้งแรก 11 สิงหาคม 2009, 23:48:53
http://www.newskythailand.us/board/index.php?topic=7072.msg22529#msg22529
ปรับปรุงใหม่
http://www.newskythailand.info/board/index.php?topic=7072.msg22529#msg22529

วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ประกาศยกเลิกธรรมเนียมหมอบคลานกราบไหว้ศักดินา ยกเว้นบุคคลจำพวกทาส ลงปี จ.ศ.๑๒๓๕


ประกาศเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่

๏ ศุภมัศดุ จุลศักราช ๑๒๓๕ กุกุฎสังวัจฉะระกะติกะมาศ กฤษณปักษพาระสิดิถี รวิวารปริเฉทกาลกำำหนด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุศย์รัตนราชวรวิวงษ์ วรุตมพงษ์บริพัฒน์วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรติ ราชสังกาศบรมนารถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย มหัยสวริยพิมาน โดยสถานอุตราพิมุข พระบรมวงษานุวงษ์ แลท่านเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายทหารพลเรือน เฝ้าพร้อมกันโดยลำดับ จึงมีพระบรมราชโองการ มารพระบัณฑูร สุรสิงหนาท ทรงประกาศแก่พระบรมวงษานุวงษ์ แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยให้ทรายทั่วกันว่า

ตั้งแต่ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมา ก็ตั้งพระราชหฤไทยที่จะทำนุบำำรุงพระราชอาณาจักร ให้มีความศุขความเจริญแก่พระบรมวงษานุวงษ์ แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ทั้งสมณชีพราหมณ์ ประชาราษฎรทั้งปวงทั่วไป การสิ่งไรที่เปนการกดขี่แก่กันให้ได้ความยากลำบากนั้น ทรงพระดำริห์จะไม่ให้มีแก่ชนทั้งหลาย ในพระราชอาณาจักรต่อไป ด้วยได้ทรงพระราชดำริห์เหนว่า ในมหาประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นมหานครอันใหญ่ในทิศตวันออกตวันตก ในประเทศอาเซียนี้ ฝ่ายตวันออก คือ ประเทศจีน ประเทศยวน ประเทศยี่ปุ่น แลฝ่ายตวันตก คือ อินเดีย แลประเทศที่ใช้การกดขี่ ให้ผู้น้อยหมอบคลานกราบไหว้ต่อเจ้านายแลผู้มีบันดาศักดิ์ ที่เหมือนกับธรรมเนียมในประเทศสยามนั้น บัดนี้ ประเทศเหล่านั้นก็ได้เลิก เปลี่ยนธรรมเนียมนั้นหมดทุกประเทศด้วยกันแล้ว การที่เขาได้พร้อมกันเปลี่ยนธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้นั้น ก็เพราะเพื่อจะให้เหนความดี ที่จะไม่มีการกดขี่แก่กันในบ้านเมืองนั้นอีกต่อไป ประเทศใดเมืองใด ที่ได้ยกเลิกธรรมเนียมที่เปนการกดขี่ซึ่งกันและกัน ประเทศนั้นเมืองนั้นก็เหนว่า มีแต่ความเจริญ มาทุกๆเมืองโดยมากก็ในประเทศสยาม นี้ ธรรมเนียมบ้านเมืองที่เปนการกดขี่แก่กันอันไม่ต้องด้วยยุติธรรม นั้น ก็ยังมีอยู่อีกหลายอย่างหลายประการ จะต้องคิดลดหย่อนผ่อนเปลี่ยนเสียบ้าง แต่การที่จะจักผลัดเปลี่ยนธรรมเนียม จะให้แล้วไปในครั้งคราวเดียวนั้นไม่ได้ จะต้องค่อยคิดเปลี่ยนแปลงไป ตามเวลาที่ควรแก่กาล ที่จะเปลี่ยนแปลงได้ บ้านเมืองจึ่งจะได้มีความเจริญสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไป

แลธรรมเนียมหมอบคลานกราบไหว้ในประเทศสยามนี้ เหนว่าเปนการกดขี่แก่กันแขงแรงนัก ผู้น้อยที่ต้องหมอบคลานนั้น ได้ความเหน็จเหนื่อยลำบากเพราะ จะให้ยศแก่ท่านผู้ใหญ่ ก็การทำยศที่ให้คนหมอบคลานกราบไหว้นี้ ไม่ทรงเห็นว่ามีประโยชน์แก่บ้านเมืองแต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ผู้น้อยที่ต้องมาหมอบคลานกราบไหว้ให้ยศต่อท่านผู้ที่เปนใหญ่นั้น ก็ต้องทนลำบากอยู่จนสิ้นวาระของตนแล้ว จึ่งจะได้ออกมาพ้นท่านผู้ที่เปนใหญ่ ธรรมเนียมอันนี้ แลเหนว่า เปนต้นแห่งการที่เปนการกดขี่แก่กันทั้งปวง เพราะฉนั้น จึ่งจะต้องละพระราชประเพณีเดิมที่ถือว่า หมอบคลานเปนการเคารพอย่างยิ่งในประเทศสยามนี้เสีย ด้วยทรงพระมหากรุณา ที่จะให้ท่านทั้งหลายได้ความศุข ไม่ต้องทนยากลำบากหมอบคลานเหมือนอย่างแต่ก่อน

แลธรรมเนียมที่หมอบคลานนั้น ให้เปลี่ยนอิริยาบทเปนก้มศีสะ ธรรมเนียมที่ยืนที่เดินแลก้มศีสะนี้ ใช้ได้เหมือนกับธรรมเนียมที่หมอบคลานถวายบังคมลาแลกราบไหว้

บางทีท่านผู้ที่มีบันดาศักดิ์ซึ่งชอบธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้ตามเดิมเหนว่าดีนั้น จะมีความสงไสยสนเท่ห์ว่าการที่เปลี่ยนธรรมเนียมหมอบคลานให้ยืนให้เดินจะเปนการเจริญแก่บ้านเมืองด้วยเหตุไร ก็ให้พึงรู้ว่า การที่เปลี่ยนธรรมเนียมใหม่ เลิกหมอบคลานให้ยืนให้เดินนั้น เพราะจะให้เหนเปนแน่ว่า จะไม่มีการกดขี่แก่กัน ในการที่ไม่เปนยุติธรรมอีกต่อไป เมืองใดประเทศใด ผู้ที่เปนใหญ่ มิได้ทำการกดขี่แก่ผู้น้อย เมืองนั้นประเทศนั้นก็คงมีความเจริญเปนแน่

ตั้งแต่นี้สืบไป พระบรมวงษานุวงษ์ แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ซึ่งจะเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทในพระที่นั่ง แลที่เสด็จออกแห่งหนึ่งแห่งใด จงประพฤติ์ตามพระราชบัญญัติที่ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดไว้เปนข้อ บัญญัติสำหรับข้าราชการต่อไป จงทุกข้อทุกประการ จึ่งได้โปรดเกล้าฯให้ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ สมันตพงส์พิสุทธิ์มหาบุรุศย์รัตรโรดม ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ตั้งเปนข้อพระราชบัญญัติไว้สำหรับแผ่นดินต่อไป ดังนี้

ข้อ๑ ว่าพระบรมวงษานุวงษ์ แลข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือน ผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง เมื่อจะเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทในพระที่นั่ง ฤาที่เสด็จออกแห่งใดๆก็ดี เมื่อเดินเข้าไปถึงน่าพระที่นั่งแล้ว ให้ก้มศีสะ ถวายคำนับครั้งหนึ่ง แล้วยืนให้เรียบร้อยเปนปรกติ ห้ามมิให้เดินไปเดินมาแลยืนหันหน้าหันหลังในเวลาที่เสด็จออก แลมิให้ยืนเอามือไพล่หลัง แลท้าวเอว แลเอามือไพล่หลังไปท้าวผนังแลเสา ฤาที่ต่างๆ แลสูบบุหรี่หัวเราพูดกันเสียงดังต่อน่าพระที่นั่ง ให้ยืนเรียบร้อยเปนลำดับ ตามบันดาศักดิ์ผู้ใหญ่ผู้น้อย

ถ้ามีกิจราชการที่จะต้องกราบบังคมทูลพระกรุณาแล้ว ให้เดินออกมาจากที่เฝ้า ยืนตรงน่าพระที่นั่งก้มศีสะถวายคำนับ แล้วจึ่งกราบบังคมทูลพระกรุณา เมื่อสิ้นข้อความที่กราบบังคมทูลพระกรุณาให้ก้มศีสะลงถวายคำนับ จึ่งให้เดินถอยหลังมาที่ยืนเฝ้าอยู่ตามเดิม ถ้าจะถวา่ยหนังสือ ฤาสิ่งของสิ่งหนึ่งสิ่งใดต่อพระหัถ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ให้ถือสองมือเดินตรงเข้าไป ถึีงหน้าพระที่นั่งพอสมควร ก้มศีสะลงถวายคำนับก่อน จึ่งถวายของนั้นต่อพระหัถ ถ้าถวายของนั้นเสร็จแล้วให้เดินถอยหลัง ถ้าเปนที่ใกล้ให้ถอยหลัง ๓ ก้าว ฤา ๕ ก้าวพอสมควร ถ้าเปนที่ไกลให้ถอยหลังออกมา ๗ ก้าว จึ่งกลับหน้าเดินไปยืนตามที่

ถ้ามีพระบรมราชโองการดำรัสด้วยผู้หนึ่งผู้ใดที่ยืนอยู่ในที่เฝ้านั้น ก็ให้ผู้นั้นยืนคงอยู่ตามที่ก้มศีสะถวายคำนับแล้ว จึ่งรับพระบรมราชโองการ เมื่อรับพระบรมราชโองการกราบบังคมทูลสิ้นข้อความแล้ว ก็ให้ก้มศีสะคำนับ

อนึ่ง พระบรมวงษานุวงษ์ แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงที่ได้เข้ามายืนเฝ้าในเวลาที่เสด็จอยู่อยู่นั้น ถ้ามีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานเก้าอี้ ให้นั่งจึ่งนั่งได้ ห้ามมิให้นั่งลงกับพื้นแลนั่งบนเก้าอี้ ฤานั่งที่แห่งใดๆตามชอบใจ ในเวลาที่เสด็จออกต่อน่าพระที่นั่ง แลผู้ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้นั่งเก้าอี้เฝ้าอยู่นั้น นั่งให้เปนปรกติ ห้ามมิให้ยกเท้าขึ้นภับบนเก้าอี้ แลไขว่ห้างเหยียดท้าวตะแคงตัว ทำกิริยาหาความสบายให้เกินกิริยาที่นั่งเปนปรกติเปนอันขาด

เมื่อเวลาเสด็จขึ้นก็ให้ยืนขึ้นถวายคำนับให้พร้อมกัน แต่แขกเมืองประเทศราช เมื่อจะเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ให้ทำกิริยาคารวะตามเพศบ้านเมืองของตนก่อน เมื่อทรงพระกรุณาโปรดให้ยืนจึ่งยืนได้

ข้อ๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิรออกประทับอยู่ที่แห่งใดๆ ก็ดี ข้าราชการแลมหาดเล็ก ซึ่งเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทอยู่ในที่นั้น ถึงเสด็จออกประทับอยู่ชั่วหลายชั่วโมง ก็ห้ามมิให้ข้าราชการแลมหาดเล็กที่ยืนเฝ้าอยู่นั้น นั่งลงในที่แห่งใดๆ เป็นอันขาด เว้นแต่เปนที่กำบัง ลับพระเนตรสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึ่งนั่งได้ แลในเวลาที่เสด็จออกทรงประทัีบอยู่ ณ ที่แห่งใดๆ นั้น ข้าราชการแลมหาดเล็ก ยืนเฝ้าอยู่ในที่โดยลำดับแล้ว ผู้ซึ่งจะเข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทภายหลัง ที่มิให้มีีราชการที่จะกราบบังคมทูลพระกรุณา ห้ามมิให้เดินผ่านหน้าพระที่นั่ง แลผ่านหน้าข้าราชการที่ยืนเฝ้าอยู่ก่อนนั้นให้เดินหลีกเลี่ยงเข้ายืนตาม ตำแหน่งของตนที่ควรจะยืน เว้นไว้แต่ผู้ที่รับพระบรมราชโองการ จึ่งเดินผ่านหน้าเพื่อนข้าราชการไปมาได้

ข้อ๓ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระราชดำเนิรไปทางสถลมารค ข้าราชการแลราษฎรชายหญิง ที่จะมาคอยดูกระบวนเสด็จพระราชดำเนิรก็ดี จะทรงช้างทรงม้าทรงรถ ฤาจะทรงพระที่นั่งอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี เมื่อเวลาเสด็จพระราชดำเนิรมาถึงหน้าผู้ที่ยืนคอยดูกระบวนเสด็จพระราชดำเนิรอยู่นั้น ให้คนเหล่านั้นก้มศีสะถวายคำนับจงทุกคน ห้ามมิให้นั่งมิให้ยืนดูกระบวนเสด็จพระราชดำเนิรบนชานเรือน บนน่าต่างเรือน แลบนที่สูงที่ไม่ควรจะนั่งจะยืน

ถ้าทรงม้าทรงรถ ไม่มีกระบวนตามเสด็จพระราชดำเนิร ผู้ซึ่งอยู่บนเรือนแลบนที่สูง ไม่ทันรู้ว่าเสด็จพระราชดำเนิร แต่พอแลเหนว่าเปนรถพระที่นั่ง ฤาม้าพระที่นั่ง ก็ให้ยืนขึ้นถวายคำนับ

ห้ามมิให้นั่ง มิให้หมอบเปนอันขาด

แลในเวลาที่เสด็จพระราชดำเนิรทรงช้าง ทรงม้า ทรงรถ ฤาทรงพระที่นั่งอย่างหนึ่งอย่างใด มาในทางสถลมารค ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดไปบนหลังม้า ฤาำไปบนรถ พบปะกระบวนเสด็จพระราชดำเนิร ก็ให้หยุดม้าหยุดรถริมทาง ถ้าเสด็จพระราชดำเนิรมาถึงตรงหน้าแล้วให้ถอดหมวกก้มศีสะถวายคำนับอยู่บนรถบนหลังม้า ไม่ต้องลงจากรถจากหลังม้า ต่ิอเสด็จพระราชดำเนิรไปสิ้นกระบวนแล้ว จึงให้ิิออกรถเดิน เดินม้าต่อไป

ถ้าเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ข้าราชการแลราษฎรชายหญิงที่อยู่แพอยู่เรือนริมน้ำ ให้ยืนก้มศีสะถวายคำนับจงทุกคน ถ้ามาด้วยเรือพบกระบวนเสด็จพระราชดำเนิน ถ้าเรือเล็กยืนไม่ได้ ก็ให้ถอดหมวกก้มศีสะ ถวายคำนับในเรือ ไม่ต้องยืน

ถ้าเปนเรือใหญ่ ควรจะยืนได้้ ก็ให้ยืนขึ้นถวายคำนับตามธรรมเนียม

ข้อ๔ ข้าราชการเมื่อจะเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง แลจะออกจากพระบรมมหาราชวัง ฤาจะไปกิจธุระแห่งหนึ่งแห่งใดก็ดี ถ้าพบท่านผู้มีบันดาศักดิ์ที่เคยคำนับยำเกรงตามธรรมเนียมเก่าฉันใด ก็ให้ทำคำนับยำเกรงอย่างธรรมเนียมใหม่ให้เหมือนกัน ธรรมเนียมที่ยืน เหมือนกับนั่งเหมือนกับหมอบ ธรรมเนียมที่เปิดหมวกก้มศีสะ เหมือนอย่างกราบไหว้อย่างแต่ก่อนนั้น

ถ้าผู้หญิงจะไปในที่เฝ้า แลพบท่านผู้ใหญ่ ไม่ต้องเปิดหมวก เปนแต่ก้มศีสะลงคำนับ เมื่อกระทำคำนับแล้ว หมวกนั้นจะเปิดก็ได้ ไม่เปิดก็ได้

แลผู้คนข้าทาษที่ใช้การงานอยู่ใน บ้านเรือนนั้น ก็อย่าให้ท่านผู้ที่เปนเจ้าเปนนายบังคับให้ข้าทาษหมอบคลาน ให้บังคับให้ข้าทาษใช้ยืนใช้เดินตามพระราชบัญญัติซึ่งพระกรุณาโปรดให้ตั้งไว้นี้

ให้พระบรมวงษานุวงษ์ ข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือน ฝ่ายน่าฝ่ายใน ในพระบรมมหาราชวังบวร ให้กระทำตามพระราชบัญญัติประกาศนี้ จงทุกประการ

ประกาศมาณวัน อาทิตย์ เดือน๑๒ แรม๑๒ ค่ำ ปีระกา เบญจศก ศักราช ๑๒๓๕

-----------------------------------
ที่มา : ประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์), หลวง, ประชุมกฎหมายไทย ภาคเพิ่มเติม (พระนคร; โรงพิมพ์นิติสาส์น, พิมพ์ประมาณ พ.ศ.๒๔๗๕) หน้า๑๑-๑๕.

วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ประชาธิปไตยเป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการ

ประชาธิปไตยเป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการ


ในการเคลื่อนไหวของขบวนต่อสู้เพื่อสร้างประชาธิปไตยมาตลอดหลายสิบปี มีข้อสรุปเล็กๆอย่างหนึ่งคือ ถ้าไม่พร้อม - พยายามอย่าถูกจับ หมายความว่าเราต้อง "รู้จัก" ที่จะขยับตัวในกรอบของ "รัด-ทำ-มะ-นูน" ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และกรอบของ "กด-หมาย(หัว)" ที่ไม่เป็นธรรม ในระยะแรกอาจมีหลายคนหาทางแก้ไข/ช่วยเหลือ แต่การไม่มีกลุ่มแกนที่เข้มแข็งจริงจัง ไม่มีคนทำงานเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องเพียงพอ ผลที่สุด ประชาชนก็เกือบจะต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว

ถึงเวลานี้ ไม่เพียงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนยุทธวิธี "ปลุกระดม" ที่ "แกนนำ" ไม่สามารถรับผิดชอบต่อเนื่องในผลอันเลวร้ายที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกใน 3 ปีมานี้ ยุทธศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็มีความจำเป็นต้องนำขึ้นสู่วาระเร่งด่วนของขบวนประชาธิปไตย

ก่อนอื่น ข้อเท็จจริงที่ถูกมองข้ามมาตลอด 2 ปี คือการขาดความใส่ใจในการพิจารณาประเด็น "ยุทธศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย" ที่มักถูกยัดเยียดการตีความว่า "รู้ๆกันอยู่แล้ว" "ไม่จำเป็นต้องพูด" หรือที่หนักหนาสาหัสไปกว่านั้น คือ "พูดไม่ได้"

ถึงเวลานี้ หัวใจของการต่อสู้จึงต้องกลับมาทบทวนว่า "ประชาธิปไตย" ที่มวลชนนับล้านคนมีส่วนร่วมในขบวนแถวที่ประกาศว่าจะ "สร้าง" นั้น คือ "อะไร" ทั้งนี้ทั้งในลักษณะที่เป็นสากลที่นานาอารยะประเทศรับรอง และที่มีลักษณะเฉพาะ สอดคล้องกับสังคมไทย ทั้งในทางจารีต และในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงผ่านโลกสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคไร้พรมแดนของ "โลกาภิวัตน์"

ประชาชนในฝ่ายประชาธิปไตย จำต้องเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดและหดหู่ในประสบการณ์ที่ผ่านมา ไม่เพียง 4 ปีหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และไม่เพียง 9 ปีหลังการใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ในทางปฏิบัติเป็นครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง 6 มกราคม 2544 เราไม่เพียงไปไม่ไกลจากการอภิวัฒน์สยาม 2475 หากถึงที่สุดแล้วการเมืองของประเทศนี้ถอยหลังไปไกลก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ที่นำโดย "นอมินีรุ่นต้นธาร - ผิน ชุนหะวัน" เสียด้วยซ้ำไป

ความจริงนั้นคือ เราถูกทำลายวิญญาณประชาธิปไตยมาตลอด 63 ปี นับจากการ "กบฏประชาธิปไตย" หนนั้น และสถาปนา "ระบอบเผด็จการอำมาตย์-อภิชน-ขุนศึกฟาสซิสต์" ต่อเนื่องมาโดยตลอด และถูกทำให้เข้มแข็งเป็นปึกแผ่นยิ่งขึ้นหลังการรับประหาร 20 ตุลาคม 2501 โดย "จอมเผด็จการผ้าขาวม้าแดง - สฤษดิ์ ธนะรัชต์"

ระบบคิด ระบบปรัชญาประชาธิปไตยที่นำมาสู่สังคมสยามเมื่อ 78 ปีที่แล้วถูกกัดกร่อนบ่อนทำลายลงไปทุกทีตามกาลเวลา

และแม้แต่การชูธง "รัฐธรรมนูญ" โดยเจตนาให้หมายความถึง "(สัญลักษณ์)ประชาธิปไตย" ก็เป็นประดุจ "หอกข้างแคร่" ทิ่มแทงความพยายามการสร้างประชาธิปไตยครั้งแล้วครั้งเล่า ประชาชนถูกทำให้เชื่อว่า มีรัฐธรรมนูญ (ที่ร่างโดยวิธีเผด็จอำนาจอย่างไรก็ได้) มีการเลือกตั้ง (ไม่ว่าจะสกปรกโสมม ไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมต่ำช้าสมานย์เพียงใด) นั่นคือ ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยแล้ว

ประชาชนยังจำแนกไม่ออก ว่า "เสียงส่วนใหญ่ให้ประชาทัณฑ์" ผู้ต้องหาคดีอาญานั้น ไม่ใช่และไม่มีวันใช่ "เสียงส่วนใหญ่ในปรัชญาประชาธิปไตย" แม้แต่น้อย

ข้อเท็จจริงที่ผ่านมาในอดีต แม้จะมีรัฐธรรมนูญสักกี่ฉบับ แม้จะมีการเลือกตั้งสักกี่ครั้ง ก็หาได้หมายความว่าประเทศใดประเทศหนึ่งจะเป็นประชาธิปไตยได้แต่อย่างใด... ตราบใดที่ทั้ง 2 บริบทนั้น ไม่มีรากฐานหรือจิตวิญญาณแห่งความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ที่สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

และนั่นนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ยุทธศาสตร์ใหญ่ของฝ่ายประชาชนชนคือการสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แท้จริงขึ้นให้จงได้ ทั้งนี้ก็โดยการกำจัดอุปสรรคสำคัญเพียงประการเดียวในกระบวนการนี้ ที่เป็นเป้าหมายไปในเวลาเดียวกัน นั่นคือ

"ระบอบเผด็จการ"

ทั้งนี้ประชาชนต้องตอบโจทย์ให้ได้ในเวลานับจากนี้ไป คือ ประชาธิปไตยคืออะไร และเหตุใดประชาธิปไตยจึงมีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับระบอบการปกครองในโลกยุคโลกาภิวัตน์หลังสหัสวรรษ ส่วนจะสร้างอย่างไร หรือจะใช้วิธีการอย่างไหน/รูปแบบใด ซึ่งรวมเรียกว่า "ยุทธวิธี" ในการต่อสู้เพื่อสร้างประชาธิปไตยนั้น ยังมีความสำคัญรองลงไป หากต้องมีการพิจารณาต่อเนื่อง

ที่สำคัญ ในการขับเคลื่อนขบวนแถวประชาชนผู้รักเสรีภาพ รักความเป็นธรรมเพื่อสร้างประชาธิปไตยขึ้นในประเทศนี้ ความคิดชี้นำพื้นฐาน หรือรูปการจิตสำนึกของขบวน ต้องไม่อาจละทิ้งหลักการที่ว่า

"ประชาธิปไตยเป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการ".

วันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553

Political battles go online

Political battles go online
http://www.bangkokpost.com/news/investigation/188908/?awesm=fbshare.me_AQU6S

The social networking phenomenon Facebook is being used as a tool by shadowy groups to hunt down and attack their political opponents

* Published: 1/08/2010 at 12:00 AM
* Newspaper section: Spectrum

In a tense corner of the city during the unrest two months ago, office workers were taking their mid-afternoon break when the sound of the national anthem came ringing over the public address system of their Silom high-rise. All the workers gathered downstairs to show their respect, except for one woman who refused to leave her desk as she thought that it was unnecessary to show where her loyalties lie. She had also refused to donate money to provide water to soldiers stationed on Silom Road during the violence-plagued political stand-off. As a result, she says, she was ridiculed and slandered in her workplace for two months until she finally resigned.

[ภาพ: 166549.jpg]
In Thailand, when you make a pronouncement in favour of some political attitude or belief, the other side feels you must be their enemy - RUNGROJ WANNASUTHORN, POLITICAL ACTIVIST. PHOTO: PORNPROM SATRABHAYA

The young woman's father, Rungroj Wannasuthorn, has been an outspoken political activist for the past 38 years. Since mid-April he has been subject to virulent attacks on Facebook and other online formats by a group that goes by the name of Social Sanction.

"I'm a fighter for democracy, not a red shirt," he asserted. "In Thailand, when you make a pronouncement in favour of some political attitude or belief, the other side feels you must be their enemy. I have written many articles about the Peoples' Alliance for Democracy [PAD] over the past two years. Because of this, all the writers and columnists in that wing feel that I am their enemy."

Mr Rungroj was also attacked in the cyber world by hard-core red shirt supporters when he started to talk more about democracy than the issues that the United Front for Democracy against Dictatorship (UDD) favoured - namely constitutional amendments and an early general election.

Coinciding with the convergence of tens of thousands of red shirt UDD supporters on Bangkok on March 12, Thais have become increasingly active online.

About mid-way through the lengthy protest the online volume of passionate political views shared among friends and colleagues reached a new peak.

In his Asian Correspondent blog titled "Politics Drives Record Facebook Growth in Thailand", Jon Russell stated that "a cursory glance at Facebook's own estimation for users aged over 18 in Thailand shows 2,787,320, a staggering increase of 288,360 new members since my last check on 7 April. That's a record 11.5% increase in the two weeks [of April 2010] during which Facebook became a key place for political discussion, news reporting, and political organisation - it is even being monitored by the Ministry of Information and Communication Technology."

While most people express their opinions online through communications with groups they agree with, there are also those who enjoy seeking out groups they disagree with and playing the devil's advocate.

[ภาพ: 166550.jpg]
ONLINE TENSIONS: Rungroj Wannasuthorn is increasingly facing cyber attacks.

Then there are those who prefer to silence rather than debate those who do not share their views. In some cases these "digital witch-hunters", as some social critics call them, have grouped together and literally hunted down those who dare express views different from their own.

They extract photos, names, phone numbers, email addresses, the names of workplaces and other personal information of those they disagree with and expose them in an incriminating and derogatory manner for all to see.

SOCIAL SANCTION

Members of the witch-hunt movement encourage other people who do not approve of the victim's views to scold them online using "as many impolite and rude words as they can" and join in exposing their information and any real or imagined evidence against them, said Sawatree Suksri, a lecturer at Thammasat Law School.

Ms Sawatree has done her own blogging on this issue and written an article titled "What should be done about the new witch-hunting cults in 2010?" which was published on Prachathai website on May 2, 2010.

There are numerous cases in which Facebook users who make a habit of sharing their political views have drawn responses to their posts that are clearly intended to humiliate and vilify them online. There are also reports from a growing number of red shirt supporters who say they have been harassed, threatened and sometimes lost their jobs because of the actions of shadowy online "witch-hunters", simply for attempting to exercise their right to freedom of expression. In one case, said Ms Sawatree, a student was refused admission to a local university because of remarks she made on Facebook. There is also the famous case of aspiring singer "Mark V11", who pulled out of a reality TV singing competition because of intense reaction to remarks he made on Facebook that were critical of Prime Minister Abhisit Vejjajiva (see sidebar).

The best known of these groups is the Social Sanction Facebook group, established around mid-April, about the same time that the red shirt protesters were branded as an anti-monarchy movement and terrorists by the government. The group publishes the addresses and phone numbers of red shirt opponents accused of defaming the Thai monarchy and has urged followers to attack named opponents. The Social Sanction group was shut down briefly but when checked last week it was in operation on Facebook under a slightly altered name.

Initially the witch-hunters mainly tracked those they suspected of being disloyal to the monarchy, but later they expanded their attacks to include the red shirt protesters in general and anyone who might agree with them, said Ms Sawatree. They arranged information in such a manner as to portray the red shirt protesters as anti-monarchy, resulting in the assumption that those who expressed approval of or agreement with the protesters were also in favour of abolishing the institution.

The lecturer said the witch-hunters have clearly broken the law as their victims have often been libelled and in some cases threatened physically. Their right to privacy has been abrogated as well, all with the justification that it is being done to protect a revered institution and extract a deserved punishment on the behalf of society.

In stark contrast to their victims, the witch-hunters take pains to avoid identification, though there has been much speculation that the PAD, commonly called yellow shirts, are behind them, said Ms Sawatree.

Mr Rungroj claims that during the UDD protest the PAD started the witch-hunting campaign in earnest by urging office workers at some buildings to sing the national anthem during the mid-afternoon break. There are 12 employees at his daughter's office, he said, 11 of whom are yellow shirts. In her resignation letter written two months after the harassment and verbal abuse began at her workplace, she stated that she was a liberal, not a red shirt, and did not feel that it was necessary to come and sing the national anthem at an odd time and that her actions did not in any way prove her disloyalty to the nation or to the monarchy.

She feels the national anthem exercise was unfairly used as a means to level false allegations of lese majeste.

[ภาพ: 166551.jpg]
ONLINE ABUSE: People are regularly being persecuted on social networking sites and web forums for their political opinions. The site above is opposed to social sanctions on Facebook.

As stated by Pavin Chachavalpongpun in his article ''Thailand's Massive Internet Censorship'', subtitled ''Government Objective: Hear no evil, speak no evil'', published in the Asia Sentinel weblog on July 22, 2010, human rights groups have voiced their concerns about the arbitrary use of lese majeste and say they believe the law has been employed as a government weapon to silence the opposition.

Mr Pavin said this approach has effectively built up a climate of fear under which those who possess dissenting views now resort to practising self-censorship when they express political opinions.

Global Voices Advocacy, a global anti-censorship network of bloggers and online activists, has disclosed that to date roughly 113,000 websites have been blocked that are deemed to pose a threat to national security. Thailand's Ministry of Information and Communication Technology and the Centre for the Resolution of the Emergency Situation admitted to blocking 48,000 websites in May this year, and 50,000 in June and July, adding 500 more each day.

With popular social networking sites like Facebook and Twitter coming to the forefront of communication in society today, people have become more connected than ever and are more willing to share their views, photos, personal feelings and thoughts, and express their opinions for the entire online community to see.

At the same time, in a society deeply divided and subject to demonstrations, sometimes violent protests and military crackdowns, expressing opinions online is becoming increasingly dangerous.

Punishment through society

In Thai the Social Sanction group is called Yuthkarn Long Thanth Tang Sangkom, literally "Punishment through Society". The apparent motivation of this Facebook group is the animosity they harbour for red shirt protestors and their supporters.

Thammasat Law School lecturer Sawatree Suksri said the phenomenon can be compared with the witch-hunts in the West, which were most prevalent from the late 15th to early 18th centuries.

Generally a witch-hunt can be described as an organised crusade where those in power make severe allegations, without paying heed to evidence or reason, against persons or groups that hold different views from the ruling class.

The members involved in the Social Sanction group are not identified but it is assumed that they have PAD leanings.

The group makes public information on red shirt sympathisers, some of it taken from blogs and some apparently gathered through independent investigation. This might include telephone numbers, addresses, faculty and institution of study, parents' names, names of siblings and other relatives, likes and dislikes, etc.

Ms Sawatree said she knows of one digital witch-hunters' victim who was considering taking legal action and suing for defamation, but in the end the case was not pursued. Thus, despite a brief downtime, Social Sanction is still functioning without a problem and seems to be receiving support from certain powerful groups.

Ms Sawatree said that censorship is not fit for the internet age , because however you may try you can never control the "borderless" internet.

Penalties for witch-hunting

People who feel they have been unjustly attacked online may file charges against the offenders under sections 5, 7 or 8 of the Computer Crime Act 2007.

Under Section 447 of the Civil and Commercial Code of Laws such people may also demand compensation or let the Court of Justice use other measures - such as the removal of the offending messages or posts and the making of a public apology within a specified period of time.

According to Ms Sawatree, the actions of the witch-hunters fall under the category of "wrong-doers" referenced in Section 326 and/or Section 328 of the Criminal Code.

Section 326 of the code states that whoever abuses another person before a third party in a way that makes that person lose their dignity and reputation, or be looked down upon or insulted and hated, has committed libel and is subject to imprisonment of not more than one year or a fine of not more than 20,000 baht, or both.

In filing a complaint to the Court of Justice, evidence has to be gathered through various electronic means and must be made ready to be presented as soon as possible since information of this nature - words or confessions, messages and pictures - may be changed or removed very quickly.

And if fired from work, the dismissed worker may seek justice under Thailand's strong labour laws.

The victims may also request Facebook to use appropriate measures in handling the conduct and behaviour of the witch-hunters.

Ambushed on the road to stardom

The case of Academy Fantasia's budding singer Withawat Thaokhamlue, better known as "Mark V11", is probably the most highly publicised incident of witch-hunting in Thailand. He was caught criticising Prime Minister Abhisit Vejjajiva on Facebook with foul and profane language. He apologised to Mr Abhisit in a press conference, stating that he made the remarks as a teenager who does not pay attention to politeness and decorum, and agreed to withdraw from the Academy Fantasia singing competition. His performance on July 17 was his first and last. His comments against Mr Abhisit, which he had made before becoming one of the AF singers, were copied from Facebook and spread throughout public websites before gaining media attention. Despite the digital attacks, Withawhat still has many friends who defend him on Facebook.

[ภาพ: 166558.jpg]

[ภาพ: 166559.jpg]

Social activist Rungroj Wannasuthorn says that such incidents are clear testimony that freedom of expression is still lacking in the country. "Many websites are being censored because the ruling class wants us to all have the same views and doesn't like us to have our own ideas," he said, adding that this has a lot to do with Thailand's "underdeveloped" political system. "The different 'shirts' brainwash their people," he said. "It is not really democracy - just a power struggle."

วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

อย่าให้ระบอบรัฐปฏิกิริยาบิดเบือนสัจธรรม

อย่าให้ระบอบรัฐปฏิกิริยาบิดเบือนสัจธรรม

ทุกรางวัลของรัฐเผด็จอำนาจ มีจุดมุ่งหมายเพียงประการเดียว คือ "พิทักษ์ระบอบการปกครองที่เป็นเผด็จการ" เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นรางวัลทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม หรือศีลธรรมจริยธรรมใดก็แล้วแต่ ล้วนแต่ส่งเสริมระบบคิดปกปิดบิดเบือนสัจธรรม มอมเมาจิตสำนึกทาสไพร่ที่ปล่อยไม่ไป ให้หลงใหลได้ปลื้มอยู่ในความฉ้อฉล ที่กดขี่ขูดรีดผู้คน แบ่งแยกประชาชนเป็นพวกและฝ่าย ท้ายที่สุดเพื่อยืนยันระบอบ "แบ่งแยกแล้วปกครอง"

เมื่อใดที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิน 51% ตระหนักในเสรีภาพและความเสมอภาค ก็สามารถสร้างประชาธิปไตยได้โดยพื้นฐานแล้ว ที่สำคัญคือพวกเรานี้เองเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง "ประชาธิปไตย" "รัฐธรรมนูญ" และ "การเลือกตั้ง" ในบริบทที่ถูกต้องและจำเป็นกันแค่ไหน

นั่นคือ อย่าหลงทางว่ารัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งสร้างประชาธิปไตย หากต้องทำความเข้าใจว่าต้องให้ประชาธิปไตยที่แท้จริงสร้างรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง

เบื้องต้นจากการสร้างความเข้มแข็งทางหลักคิดในหมู่มิตรสหายประชาธิปไตย เป็นการลงฐานรากที่แข็งแรง จากนั้นจึงใช้ความอดทนและความมีใจกว้างทำความเข้าใจไปยังพี่น้องประชาชนฝ่ายกลาง ที่อยู่ในภาวะติดตามสังเกตความเป็นไปของสังคม ตามมาด้วยพวกฝ่ายกลางประเภท "อะไรก็ได้ที่ไม่กระทบวิถีชีวิตสะดวกสบายที่คุ้นชิน" จากนั้นฝ่ายประชาธิปไตยจึงใช้หลักเหตุผลที่เข้มแข็งลงตัวและทรงพลัง รณรงค์ตีโต้แนวความคิดของฝ่ายปฏิกิริยาให้แตกพ่ายไป ทั้งนี้ก็โดยการตระหนักแล้วว่า "สัจธรรม" อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย

ด้วยเหตุนี้ความจำเป็นเร่งด่วนประการแรก "ต้อง" พา "มิตรสหายฝ่ายประชาธิปไตย" ฝ่าข้าม "วาทกรรม" เลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญให้ได้เสียก่อน จากนั้นจึงจูงประชาชนก้าวออกจากความมืดสู่แสงสว่าง

แบบวิธีในการรักษาอำนาจการปกครองที่เผด็จอำนาจแฝงวาทกรรมประชาธิปไตย นั่นคือ ฝ่ายปฏิกิริยาจะทอดเวลาระบอบเผด็จอำนาจ ไม่ว่าจะในรูปเบ็ดเสร็จเช่นยุคหลังรัฐประหาร 2500-2501 หรือซ่อนรูปเช่นที่เห็นชัดเจนหลังรัฐประการ 2549-2553 ไประยะหนึ่ง อย่างที่เคยทำมาแล้วช่วง 2517-2516; 2519-2522; 2549-2550 ให้ประชาชน "หิว" การเลือกตั้งจอมปลอมโดย "รัด-ทำ-มะ-นูน" เผด็จการ จากนั้นก็ปล่อยให้วังวนอุบาทว์ของนักเลือกตั้ง/นักการเมืองสามานย์ สร้างความเลวร้ายอีกครั้ง ตามมาด้วยการ "ฆาตกรรมรัฐ" อีกหน

ประชาชนมีทางเลือกด้วยการ 1.โค่นระบอบเผด็จการ 2.สร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ 3.สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน

เรา - ประชาชนไทยผู้รักในเสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตย จำเป็นต่องศึกษาทุกแนวคิดของระบอบประชาธิปไตย ให้หนักแน่นลึกซึ้งอย่างแท้จริง เพื่อที่จะเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่า "เราต้องทำอะไร" และ "ทำอย่างไร" ... เราเสียเวลากับ "ตาบอดคลำช้าง" "ลองผิดลองถูก" มามากเกินไปเสียแล้ว; จุดสำคัญคือ ฝ่ายประชาธิปไตยต้องสร้างเอกภาพในการทำความเข้าใจ "จุดมุ่งหมายที่แจ่มชัดร่วมกัน" และ "ทิศทางที่ถูกต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง" ให้ได้ในเวลาไม่ช้านี้

แต่การสร้างประชาธิปไตย ไม่ใช่การ "แก้แค้น" หรือ "เอาคืน" นั่นหมายความว่า การเปลี่ยนผ่านจะไม่อาจดำเนินไปบนความเกลียดชัง ถึงที่สุดแล้ว การเปลี่ยนผ่านต้องมาถึงอย่างแน่นอน ไม่มีพลังอำนาจที่ปฏิกิริยาใดจะทัดทานได้ แต่ถ้าคิดและดำเนินการผิดพลาด ความเสียหายจะมาก และเวลาจะทอดยาวนานออกไป

ฝ่ายปฏิกีริยาหรือฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ประกอบด้วย 3 กลุ่ม 1.อำมาตย์ (ผู้ปกครองในระบบราชการระดับสูงที่สั่งสมและสืบทอดจารีการใช้อำนาจที่ไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่) 2.อภิชน (คนที่มีและใช้สิทธิเหนือคนธรรมดาสามัญเพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มตน) 3.ขุนศึกฟาสซิสต์ (ทหาร/ตำรวจและ/หรือกองกำลังติดอาวุธอื่นๆของรัฐที่อยู่ในตำแหน่งผู้บังคับบัญชากองกำลังระดับสูง)

ฝ่ายประชาธิปไตยมีภารหน้าที่ชี้ให้ประชาชนส่วนข้างมากเข้าใจได้ว่า "พลังปฏิกิริยา" นี้เอง คือตัวการขัดขวางความเจริญก้าวหน้า บนพื้นฐานที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคภายใต้กติกาอย่างเดียวกัน ซึ่งทำให้ประเทศไม่พัฒนาอย่างมีอารยะ และประชาชนไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยพื้นฐาน

ไม่ว่าสิ่งใดก็ตามที่หยุดตัวเองไม่ได้ ทั้งที่เงื่อนไขบอกว่าถึงเวลา "หยุด" จะด้วยเงื่อนไขอะไรก็ตาม; พลังอื่นๆ ที่ตระหนักถึงความจำเป็น หรือยิ่งไปกว่านั้น "ความจำต้องเป็น" จะเป็นผู้ "หยุด" เสียเอง; ความรุนแรงและความร้ายแรงอยู่ที่ความพยายาม "ฝืน" และ "ขัดขืน";

นี้คือสัจธรรมในประวัติศาสตร์

โค่นระบอบเผด็จการ สร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน
เสรีภาพ เสมอภาค ภารดรภาพ หรือโซ่ตรวน
ประชาธิปไตยจงเจริญ ประชาชนจงเจริญ
ด้วยภราดรภาพ
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8