Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (22)

ความตายของเสธ.แดงและจำนวนศพที่เพิ่มขึ้นทุกที

วันที่ 12 พฤษภาคม 2553 พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แถลงผลการประชุม ศอฉ.ที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. เป็นประธาน ว่า ศอ ฉ.จำเป็นต้องใช้มาตรการกดดันผู้ชุมนุมเต็มรูปแบบ เริ่มต้นจากการไม่ใช้กำลัง โดยกำหนดให้มีการตัดน้ำ ตัดไฟ สัญญาณโทรศัพท์ ระบบสาธาณูปโภค การเดินทางสาธารณะต่างๆ ทั้งรถโดยสารมวลชน รถไฟฟ้า และการเดินทางทางน้ำ บริเวณคลองแสนแสบ เพื่อปิดการเข้าพื้นที่ชุมนุม 100% ตั้งแต่เที่ยงคืนเป็นต้นไป โดย ศอฉ. ต้องขออภัยประชาชนและคณะทูตานุทูตประเทศต่างๆที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว ทั้งนี้ย้ำว่ามาตรการกดดันการเข้าพื้นที่ชุมนุมเต็มรูปแบบเป็นมาตรการขั้นเบาที่สุดแล้ว รวมทั้งได้ประสานกับผู้ประกอบการบริเวณดังกล่าวในเบื้องต้น ส่วนมาตรการหลังจากนี้ยังไม่ขอเปิดเผย

ทว่าในเวลาต่อมา พ.อ.สรรเสริญ ระบุว่า มาตรการดังกล่าวอาจจะไม่ได้ดำเนินการทันทีในเวลา 24.00 น. วันที่ 12 พฤษภาคม 2553 และอาจจะเลื่อนเป็นวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ขึ้นอยู่กับการหารือกำหนดรายละเอียดและข้อสรุปให้เกิดความชัดเจน เนื่องจากมีประชาชนทั่วไปโทรศัพท์เข้ามาสอบถามจำนวนมาก เพราะเกรงจะได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการนี้ ส่วนหนึ่งเกิดความวิตกกังวลเนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวมีทั้งโรงพยาบาล และสถานประกอบการใหญ่น้อยเป็นจำนวนมาก

เวลา 11.30 น. วันที่ 13 พฤษภาคม 2553 ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ พ.อ.สรรเสริญ แถลงผลการประชุม ศอฉ. ช่วงเช้าว่าการกำหนดมาตรการในการปิดล้อมสกัดกั้นพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์อย่างสมบูรณ์จะเริ่มขึ้นในเวลา 18.00 น. ซึ่งพื้นที่ปิดล้อมนี้จะเริ่มจากทางด้านเหนือตั้งแต่บริเวณแยกราชเทวีไปตามถนนเพชรบุรีจนถึงแยกขึ้นทางด่วนเพชรบุรี ทางทิศใต้ตั้งแต่แยกทางขึ้นด่วนเพชรบุรีไปตามถนนวิทยุ จนกระทั่งสี่แยกถนนวิทยุ เรื่อยมาจนถึงถนนพระรามที่ 4 จนถึงแยกสามย่าน และขึ้นเหนือไปตามถนนพญาไทจนกระทั่งบรรจบจุดเริ่มต้นที่แยกราชเทวี ซึ่งเป็นลักษณะกรอบสี่เหลี่ยม การบริการสาธารณะทุกชนิดทั้ง ไฟฟ้า ประปา การจราจร รถประจำทาง เรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส (ไม่จอดรับส่งผู้โดยสารใน 4 สถานี คือ สถานีสยาม สถานีชิดลม สถานีเพลินจิตและสถานีราชดำริ และจะปิดให้บริการทุกสถานีเวลา 19.00 น.) และรถไฟฟ้าใต้ดิน (ไม่จอดรับส่งผู้โดยสารใน 2 สถานี คือ สถานีสีลมและสถานีลุมพีนี โดยปิดให้บริการทุกสถานีเวลา 22.00 น.) โดยคำสั่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 18.00 น. เป็นต้นไป

โฆษก ศอฉ. ย้ำในตอนท้ายว่าเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนหลักสากลจากเบาไปหาหนัก 7 ขั้นตอน ซึ่งรวมทั้งมีการใช้อาวุธกระสุนจริงเมื่อเหตุการณ์พัฒนาไปถึงจุดนั้น

ถัดมาในเวลา 12.00 น. ที่โรงแรมรามา การ์เดนส์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงว่าแผนปรองดองนั้นถูกยกเลิกไปแล้ว โดยรัฐบาลจะใช้มาตรการตัดน้ำ ตัดไฟ และเข้าเคลียร์พื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ให้เร็วที่สุด

แต่แล้ว สถานการณ์ที่เผชิญหน้าระหว่างผู้ชุมนุมที่นำโดยแกนนำ นปช. กับรัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ยกระดับความตึงเครียดเพิ่มขึ้น ขณะที่ พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง) พร้อมด้วยผู้ติดตาม เดินตรวจเยี่ยมการ์ด นปช. ตามด่านต่างๆ บริเวณแยกสีลม  ถูกกระสุนปืนความเร็วสูงยิงเข้าที่กะโหลกศีรษะทะลุออกท้ายทอย ระหว่างให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์กไทมส์ ได้รับบาดเจ็บสาหัส

จากนั้นในเวลาประมาณ เวลา 22.45 น. กลุ่มคนเสื้อแดงที่รวมตัวกันอยู่ใต้สะพานไทย-เบลเยี่ยม ถนนพระราม 4 จำนวนกว่า 500 คน พากันเดินเลาะไปตามรั้วของสวนลุมพินี ไปตามถนนพระราม 4 เพื่อสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของทหารที่ปักหลักอยู่ภายในสวนลุมพินี โดยในระหว่างเดินไปก็ตะโกนด่า ระหว่างมีผู้ยิงแก๊สน้ำตาเข้ามาที่กลุ่มผู้ชุมนุม ตามมาด้วยเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดติดๆกัน ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงรีบหมอบลงกันพื้น ก่อนมีเสียงคนตะโกนว่ามีคนเจ็บจึงกรูเข้าไปดูก็พบว่ามีผู้บาดเจ็บเป็นชาย 2 คน

บริเวณแยกสวนลุมพินี ผู้ชุมนุมได้นำกรวยออกเพื่อเส้นทางสัญจร พร้อมทั้งขวางและผลักดันเจ้าหน้าที่ทหารไม่ให้ออกมาจากสวนลุมพินี หลังจากนั้นไม่นาน มีเสียงปืนดังติดต่อกันหลายนัด ขณะที่เจ้าหน้าที่ยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุม มีผู้บาดเจ็บ 20 ราย หลังจากที่เจ้าหน้าที่เข้าปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม บริเวณแยกศาลาแดง ประตู 2 สวนลุมพินี ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการรื้อแผงจราจร ขว้างปาก้อนอิฐและสิ่งของ จำนวนหลายสิบราย ในจำนวนนี้ นายชาติชาย ชาเหลา เสียชีวิตจากบาดแผลถูกยิงเข้าที่ท้ายทอย

ทางด้านเวทีปราศรัยของแกนนำ นปช. บริเวณแยกราชประสงค์ ในเวลาประมาณ เวลา 23.30 น. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. ขึ้นประกาศว่าขณะนี้มีคนเสื้อแดงตายเพิ่มขึ้นจากเหตุปะทะที่บริเวณสวน ลุมพินีแล้วอย่างน้อย 2 ศพ พร้อมกับเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกรายการโทรทัศน์ สั่งให้ทหารหยุดยิงทั้งหมดในคืนนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตของประชาชนอีก ขอให้พ่อแม่พี่น้องของนายอภิสิทธิ์ช่วยเตือนด้วย เพราะขณะนี้นายอภิสิทธิ์กำลังเดินเข้าสู่เส้นทางของทรราชย์แล้ว และขอร้องให้คนเสื้อแดงทั้งหมดบริเวณหน้าด่าน ขอให้ฟังนายด่าน และเข้ามาตรึงกำลังภายในพื้นที่ชุมนุม อย่าออกไปนอกพื้นที่ชุมนุม แต่หากมีการบุกเข้ามาก็ขอพร้อมเคียงบ่าเคียงไหล่สู้ตายด้วยกัน

วันที่ 14 พฤษภาคม เวลาประมาณ 09.40 น. ศูนย์เอราวัณสรุปเหตุการณ์ช่วงกลางคืนวันที่ 13 จนถึงตอนเช้าวันที่ 14 บาดเจ็บ 11 ราย เสียชีวิต 1 ราย

ขณะเดียวกัน ศูนย์สิทธิมนุษยชนเอเชียได้ ส่งจดหมายเปิดผนึกให้แก่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย เพื่อเตือนให้หยุดใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ มิเช่นนั้นแล้วนายอภิสิทธิ์จะตกเป็นผู้รับผิดชอบตามมาตรา 25 (3) (a) ของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ในการจงใจใช้กำลังจู่โจมผู้ชุมนุมที่เป็นประชาชนโดยตรง ซึ่งการใช้กำลังกับผู้ชุมนุม นปช. ที่ราชประสงค์นั้นถือเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อมาตราที่ 8 (2) (e) (i) ของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ นอกจากเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียกเลิกการใช้กำลังทหารปราบปรามผู้ชุมนุมแล้ว ศูนย์สิทธิมนุษยชนเอเชียยังได้เสนอให้รัฐบาลไทยกลับมาใช้วิธีการเจรจากับผู้ชุมนุม เนื่องจากไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ที่มีการสังหารผู้ชุมนุมเช่นวันที่ 10 เมษายน เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 18-24 มิถุนายน 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549: ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่ถูกลบเลือน (2)

ตุลาการภิวัฒน์: คำวินิจฉัยเลือกตั้งโมฆะ

ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงการเลือกตั้งซ่อมวันที่ 23 เมษายน 2549 ในประเด็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งเพื่อจะได้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยให้เหตุผลไว้ 4 ประเด็นด้วยกัน คือ

1. คณะกรรมการการเลือกตั้งให้ความเห็นในเรื่องการกำหนดระยะเวลาสำหรับการเตรียมการจัดการเลือกตั้ง อันนำไปสู่การประกาศกำหนดวันเลือกตั้งในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่เหมาะสมและไม่เที่ยงธรรม ขัดกับหลักการเรื่องความเป็นกลางในทางการเมืองของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และขัดกับหลักการเรื่องการควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

2. การจัดคูหาเลือกตั้งที่ผู้เลือกตั้งหันหน้าเข้าคูหาลงคะแนนและหันหลังให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งและประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งกับบุคคลภายนอกที่มาสังเกตการณ์การเลือกตั้งหน้าหน่วย เป็นการละเมิดหลักการเรื่องการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งซึ่งจะต้องดำเนินการโดยใช้วิธีการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

3. พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ส่งผู้สมัครในทุกเขตทั่วประเทศว่าจ้างให้ผู้สมัครจากพรรคการเมืองขนาดเล็กหลายพรรคส่งผู้สมัครเข้าแข่งขันในการเลือกตั้งตามที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่กำหนด เป็นการละเมิดหลักการพรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกเข้าเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้เพียงคงเดียวในเขตเลือกตั้งนั้น

4. คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติสั่งการ ออกประกาศ และออกคำสั่งในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง การสืบสวนสอบสวน เพื่อวินิจฉัยข้อปัญหาโต้แย้งเกี่ยวกับการเลือกตั้งตลอดจนการพิจารณาประกาศ และรับรองผลการเลือกตั้งไปโดยไม่มีการประชุมปรึกษาหารือ หรือมิได้มีการปรึกษาหารือกันโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งครบถ้วนตามอำนาจที่มีอยู่ และการพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้งมิได้ดำเนินการโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งหมดโดยมติเอกฉันท์

วันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้แถลงด้วยวาจาถึงผลการพิจารณากรณีปัญหาเกี่ยวกับความชอบ ว่ามีประเด็นที่ต้องลงมติ 2 ประเด็น คือ

1. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก จำนวน 8 คน วินิจฉัยว่า การดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 6 คน คือ นายผัน จันทรปาน, นายจิระ บุญพจนสุนทร, นายนพดล เฮงเจริญ, นายมงคล สระฏัน, นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์ และนายอภัย จันทนจุลกะ เห็นว่า ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วยเหตุตามคำร้อง ข้อ 1 และข้อ 2 และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน คือ นายปรีชา เฉลิมวณิชย์ และนายอุระ หวังอ้อมกลาง เห็นว่า ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วยเหตุตามคำร้อง ข้อ 2

ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย จำนวน 6 คน วินิจฉัยว่า การดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามคำร้องไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คือ นายจุมพล ณ สงขลา, นายมานิต วิทยาเต็ม, นายศักดิ์ เตชาชาญ, นายสุธี สุทธิสมบูรณ์, พลตำรวจเอกสุวรรณ สุวรรณเวโช และนายสุวิทย์ ธีรพงษ์ ทั้งนี้ นายมานิต วิทยาเต็ม ซึ่งวินิจฉัยว่าไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่แถลงเหตุผลต่อที่ประชุมว่าให้มีการเพิกถอนผลการเลือกตั้งและจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่

2. สำหรับประเด็นให้มีการเพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการจัดการการเลือกตั้งจนถึงการประกาศผลการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปใหม่หรือไม่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 9 คน คือ นายผัน จันทรปาน, นายจิระ บุญพจนสุนทร, นายนพดล เฮงเจริญ, นายปรีชา เฉลิมวณิชย์, นายมงคล สระฏัน, นายมานิต วิทยาเต็ม, นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์, นายอภัย จันทนจุลกะ และนาย อุระ หวังอ้อมกลาง วินิจฉัยว่า ให้มีการเพิกถอนการเลือกตั้งและต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปใหม่

จากนั้น นายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ใน ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา จนนำไปสู่คำพิพากษาให้ กกต.ต้องโทษจำคุก และออกจากตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม มีการสรรหา กกต.ใหม่ และกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ ในวันที่ 15 ตุลาคม 2549

ปฏิกิริยาในสังคมไทยท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองที่รวมศูนย์ไปที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย หลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นในขอบเขตทั่วไป จนเป็นกระแสที่เพิ่มทวีความร้อนของอุณหภูมิทางการเมืองมากยิ่งขึ้นทุกที จนกระทั่ง นายธีรยุทธ บุญมี อดีตผู้นำนิสิตนักศึกษาและ 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นนักวิชาการที่ได้รับสมญาจากสื่อมวลชนช่วงปลายรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ปี 2544 ว่าเป็น "ขาประจำ" เนื่องจากเขียนบทความแสดงทัศนะไม่เห็นด้วยกับแนวนโยบายของ พ.ต.ท. ทักษิณ อย่างค่อนข้างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 สิงหาคม 2549 ว่า "ธีรยุทธ" ชี้มรดกยุคทักษิณ หลังมีกกต.ใหม่-เลือกตั้ง การเมืองยัง 'วิกฤต' โดยมีใจความสำคัญในกรณีกระบวนการยุติธรรม ดังนี้

"พระราชดำรัส 25 เมษายน ต่อศาล ซึ่งถือเป็นพระราชวิสัยทัศน์สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน เพราะทรงเปิดทางให้เกิดตุลาการภิวัฒน์ซึ่งเป็นพัฒนาการที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของระบบการเมืองการปกครองของโลกปัจจุบัน...

ตุลาการภิวัฒน์เกิดเพื่อแก้ปัญหาลัทธิถือเลือกตั้งเป็นใหญ่ และเสริมประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันเกือบทุกประเทศทั่วโลกแม้กระทั่งอังกฤษ ก็ได้หันมาใช้ตุลาการภิวัฒน์ (Judicial review) กันมากขึ้น ด้วยเหตุผลหลายประการ..."


จากนั้นสถานการณ์ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ มีเหตุการณ์ที่ส่อว่าอาจมีการเตรียมการทำรัฐประหารเกิดขึ้นหลายครั้ง เหตุการณ์ที่สำคัญ 2 เหตุการณ์คือ วันที่ 19 กรกฎาคม 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ออกคำสั่งโยกย้ายนายทหารระดับคุมกำลังจำนวน 129 นาย และนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้บริหารสื่อในเครือผู้จัดการได้ประกาศจะชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 20 กันยายน ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลก็ประกาศระดมพลชุมนุมเช่นกัน.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 17-23 กันยายน 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8