Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2560

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (65)

จุดจบของความโกลาหล
ทุกคำถามที่ยังคงไม่มีคำตอบ

หลังจากถ่ายทอดการพระราชทานสัมภาษณ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากประเทศฝรั่งเศสดังกล่าวแล้ว ฝ่ายทหารก็ถอนกำลังบางส่วนออกจากถนนราชดำเนิน แล้วเปิดเส้นทางให้แก่การสัญจรไปมาได้ แต่ก็ยังมีประชาชนเดินทางมาจับกลุ่มดูซากรถ ซากอาคารทั้งสองฝั่งถนน มีส่วนหนึ่งได้นำพวงมาลัยดอกมะลิมาวางตามรอยเลือดตลอดแนวถนน

จนถึงเวลาประมาณ 13.00 น.  มีประชาชนทยอยกันมารวมตัวและจัดเวทีย่อยบนถนนราชดำเนินผลัดกันขึ้นปราศรัยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดวันที่ผ่านมา เป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 2,000 คน จากนั้นมีคนกลุ่มหนึ่งจุดไฟเผารถขนขยะของ กทม. ที่จอดอยู่รอบอนุสาวรีย์สามคัน ทำให้กำลังทหารประมาณ 400 คนหน้าเคลื่อนตัวกดดันเป็นแถวหน้ากระดานเป็นชั้นๆจากถนนราชดำเนินนอกเข้าเคลียร์พื้นที่อีกครั้ง ช่วงนั้นมีเสียงปืนกลดังรัวเป็นชุดๆ ขณะที่ฝูงชนวิ่งหนีหลบตามซอกซอยต่างๆ

ผลที่สุดกำลังทหารก็เข้าควบคุมพื้นที่ได้เป็นผลสำเร็จ ผู้ชุมนุมต่างพันกันแยกย้ายหลบไปจากถนนราชดำเนินและบริเวณโดยรอบจนหมดสิ้น ทว่าตามจังหวัดต่างๆ ในหลายภูมิภาคมีรายงานว่าประชาชนยังคงชุมนุมต่อต้าน พล.อ.สุจินดาอยู่อย่างต่อเนื่อง

ในช่วงเดียวกันนั้นระหว่างเวลาประมาณ 13.00 น. พล.อ.สุจินดา พร้อมด้วยแกนนำ 5 พรรคการเมืองที่สนัลบสนุนรัฐบาล เดินทางมาแถลงข่าวร่วมกันที่ตึกนารีสโมสร มีนักข่าวทั้งไทยและต่างประเทศรอทำข่าวอยู่อย่างคับคั่ง ครั้น พล.อ. สุจินดา แสดงท่าทีว่าจะเป็นการถ่ายทอดออกอากาศทางโทรทัศน์เท่านั้น ทำให้นักข่าวส่วนใหญ่ที่นั่งรอกันอยู่พากันลุกเดินออกจากห้องแถลงข่าวไปทันที

ผู้สื่อข่าวได้หันไปซักถามแกนนำห้าพรรค โดยได้ถามนายณรงค์ วงศ์วรรณ ว่ารู้สึกอย่างไรที่เห็นภาพทหารยิงประชาชน นายณรงค์ตอบว่ายังไม่เห็นทหารยิงใคร ขณะเดียวกันมีหนึ่งในกลุ่มผู้สื่อข่าวต่างประเทศถามนายสมัคร สุนทรเวช ว่าเห็นด้วยกับการฆ่าประชาชนหรือไม่ นายสมัครกลับย้อนถามกลับไปว่าทำไมเวลาจอร์ช บุช ส่งทหารไปทีละ 6,500 นาย ไม่เห็นมีใครด่าบุชเลย

สำหรับเนื้อหาหลักที่ พล.อ. สุจินดาได้ออกแถลงข่าวทางโทรทัศน์ เป็นการแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิด และยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตเพียง 40 คน บาดเจ็บ 600 คนเท่านั้น

ในเวลา 19.30 น. กองกำลังรักษาพระนครได้ออกประกาศห้ามบุคคลในท้องที่ กทม. ออกจากเคหสถานระหว่างเวลา 21.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น แต่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง กลับมีประชาชนทยอยมาร่วมชุมนุมอยู่ตลอดเวลา โดยสื่อมวลชนที่รายงานข่าวในพื้นที่ประเมินว่ามียอดผู้ชุมนุมประมาณ 100,000 คน

โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจได้นำเทปบันทึกภาพสัมภาษณ์ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ขณะถูกควบคุมตัวออกเผยแพร่ พล.ต. จำลองกล่าวว่า ตนรู้สึกสบายที่สุด และกำลังบันทึกเหตุการณ์ต่างๆลงในหนังสือชื่อ "ร่วมกันสู้"

ช่วงนั้นและตลอดทั้งคืนวันที่ 20 มีกระแสข่าวลือต่างๆมากมายเป็นต้นว่า เกิดการแตกแยกระหว่างทหารเรือกับทหารบก บางกระแสก็ว่า พล.อ. เปรมนำกองกำลังโคราชยกมาช่วยผู้ชุมนุม หรือแม้กระทั่งพล.อ. สุจินดาจะทำการปฏิวัติตัวเอง ฯลฯ

ในขณะที่สถานการณ์ความตึงเครียดยังไม่มีทีท่าวะจะคลี่คลายตัวลง กระทั่งในเวลาประมาณ 20.00 น. ของวันพุธที่ 20 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ นำ พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง แกนนำการชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวเอาไว้  เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท โอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม คณะผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย ทั้งนี้ ของวันนั้นด้วย หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ พล.อ.สุจินดา จึงกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบหมายให้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปพลางก่อน

พร้อมกันนั้นในเวลา 23.30 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจและสถานีวิทยุกระจายเสียงทุกแห่งได้ถ่ายทอดข่าวสำคัญดังกล่าว พร้อมกับนำเทปบันทึกภาพการพระราชทานพระราชดำรัส ออกอากาศทางโทรทัศน์ เมื่อเวลา 24.00 น. ทั้งเนื้อหาสำคัญในพระราชดำรัสทรงชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่จะมีต่อประเทศชาติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ขอให้บุคคลทั้งสองเป็นตัวแทนฝ่ายต่างๆหันหน้าเข้าหากัน ช่วยกันแก้ปัญหาทำอย่างไรให้ประเทศชาติกลับคืนขึ้นมา

ภายหลังจากกราบบังคมทูลลา พล.อ.สุจินดา และ พล.ต.จำลอง พร้อมด้วยนายสัญญา และ พล.อ.เปรม ได้ร่วมประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

จากนั้นตัวแทนที่เป็นคู่กรณีมาตั้งแต่ต้นได้ออกแถลงร่วมกันทางโทรทัศน์ โดย พล.อ.สุจินดา แถลงว่าจะปล่อยตัว พล.ต.จำลอง และออกกฎหมาย นิรโทษกรรมให้แก่ผู้ชุมนุม และจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว ส่วน พล.ต. จำลองแถลงว่า ขอให้ผู้ที่ยังเคลื่อนไหวก่อเหตุยุติการปฏิบัติการทุกอย่างโดยทันที

แต่ทันทีที่ผู้ชุมนุมที่รามคำแหงส่วนใหญ่ซึ่งเฝ้าติดตามข่าวสำคัญและการแถลงข่าวของบุคคลทั้งสอง พบว่าข้อสรุปการชุมนุมเรียกร้องสิ่งที่เป็นประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่อง มีการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน มีผู้บาดเจ็บล้มตายและสูญหายยังไม่ทราบชะตากรรมอีกจำนวนมาก ออกมาเช่นนั้น ต่างพากันรู้สึกผิดหวังที่ พล.อ.สุจินดายังไม่ลาออก ถึงกระนั้นก็ตัดสินใจร่วมกันที่จะสลายการชุมนุม โดยยังคงอยู่รวมกันในมหาวิทยาลัยรามคำแหงจนกว่าจะถึงเวลาตีสี่ ซึ่งพ้นเวลาเคอร์ฟิวแล้ว จึงค่อยทยอยกันกลับบ้าน

มีการให้ข้อสังเกตในเวลาต่อมาว่า ณ สถานการณ์ในเวลานั้น ถ้าการชุมนุมที่รามคำแหงยังไม่ยุติ มีความเป็นไปได้สูงว่าอาจเกิดการนองเลือดขึ้นอีกแน่นอน ทั้งนี้รายงานที่กองทัพบกเสนอต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของรัฐบาล (ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ) กล่าวว่า

"การที่เจ้าหน้าที่ใช้ความนุ่มนวลต่อผู้ชุมนุม เช่น การเจรจาทำความเข้าใจการใช้น้ำฉีด การใช้แนวตำรวจแนวทหารประกอบอาวุธโดยมิได้บรรจุกระสุนปืนตามมาตรการขั้นเบา ไม่น่าจะได้ผลเพราะกลุ่มผู้ก่อการจลาจลไม่ยำเกรง... หากการดำเนินการของกลุ่มผู้ก่อการจลาจลที่รวมอยู่กับประชาชนยังคงอยู่ จะต้องเกิดความไม่ปลอดภัยทั้งแก่เจ้าหน้าที่และประชาชน ผู้ก่อการจลาจลเหล่านี้สมควรจะต้องถูกสลายและควบคุมตัวถ้าจำเป็น เพื่อหยุดก่อความวุ่นวายที่เกิดขึ้น".


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 12 - 18 มิถุนายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (64)

"พฤษภาทมิฬ 2535"
รอยเลือดที่ยากจางหาย

เวลา 11.00 น. วันที่ 19 พฤษภาคม นายวีระ มุสิกพงษ์ เข้ามอบตัวโดยไม่ขอประกันตัว โดยถูกนำไปฝากขังที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขนเช่นเดียวกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ น.ส.จิตราวดี วรฉัตร ซึ่งเข้ามอบตัวตั้งแต่คืนก่อนหน้านั้นแล้ว ส่วนนางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ใช้สัญชาติญี่ปุ่นตามสถานภาพการสมรส เข้าไปหลบอยู่ในสถานทูตญี่ปุ่น

พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวทุกแขนงทั้งไทยและเทศว่า จะมีการจับกุมผู้อยู่ในข่ายก่อการจลาจลอีกเจ็ดคน ซึ่งมีเป้าหมายที่สำคัญคือ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ นอกนั้นเป็นสมาชิกระดับสูงของพรรคฝ่ายค้าน

อีกประมาณชั่วโมงเศษ เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าจับกุมนายธีรยุทธ บุญมี และผู้ต้องสงสัยอีกจำนวนหนึ่งที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ แต่ต่อมานายธีรยุทธได้รับการปล่อยตัว โดยกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นโศกนาฏกรรมทางสังคมซึ่งอาจกลายเป็นบาดแผลที่ยากต่อการเยียวยาวรักษา

เวลาประมาณ 14.30 น. พล.อ.สุจินดา คราประยูร ออกอากาศแถลงทางสถานีโทรทัศน์ว่า การชุมนุมของประชาชนและก่อวินาศกรรมขึ้นนั้น มีการจัดตั้ง ปลุกปั่นจากกลุ่มคนที่มีความชำนาญในการก่อวินาศกรรมและการทำลายล้าง ได้รับการฝึกฝนโดยเฉพาะมาเป็นอย่างดี โดยมีนายทหารผู้หนึ่งอยู่เบื้องหลัง นายทหารผู้นี้มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับบุคคลที่เคยเป็นกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ และเคยคิดจะทำการปฏิวัติแต่ตนไม่เห็นด้วย การปฏิบัติการก่อวินาศกรรมในหลายพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายให้มีการลุกฮือปฏิวัติล้มล้างระบอบการปกครองโดยใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ

ในตอนท้ายของการแถลง พล.อ.สุจินดาย้ำว่า สถานการณ์กำลังกลับเข้าสู่ความสงบ ไม่มีการชุมนุมใดๆ และขอให้ประชาชนรับฟังข่าวสารจากรัฐบาลและกองกำลังรักษาพระนคร อย่าได้เชื่อถือข่าวลือต่างๆ

ในเวลา 15.00 น. พ.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ (ยศในขณะนั้น) ผู้ช่วยเลขาธิการกองทัพบก ในฐานะตัวแทนกองกำลังรักษาพระนคร แถลงข่าวที่หอประชุมกองทัพบกชี้แจงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 18 โดยเฉพาะกรณีกลุ่มรถจักรยานยนต์ ซึ่งในคืนนี้ตำรวจจะเข้าจัดการอย่างเด็ดขาด และขอให้ทุกคนอย่าเชื่อข่าวที่ว่า "ทหารยิงประชาชน"

แต่แล้วในท่ามกลางการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมและการแถลงข่าวแต่ฝ่ายเดียวจากทางด้านรัฐบาล กลับมีเสียงคัดค้านและการเคลื่อนไหวที่เป็นอิสระและยากแก่การควบคุมไปตามภูมิภาคต่างๆ

อธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ 19 แห่งทั่วประเทศ ออกแถลงการณ์ให้ยุติการใช้ความรุนแรง พร้อมกับเสนอให้ พล.อ.สุจินดาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้มีการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ประชาชน สถาบันการศึกษา และคณะแพทย์ในจังหวัดต่างๆ เช่น มหาสารคาม ศรีสะเกษ ภูเก็ต อุบลราชธานี สงขลา เชียงใหม่ ฯลฯ ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้นายกฯ ลาออกและยุติการเข่นฆ่าประชาชน

คนไทยในซิดนีย์ประท้วงหน้าสถานกงสุลใหญ่เรียกร้องให้นายกฯ ลาออก

นานาชาติเริ่มแสดงท่าทีอย่างชัดเจนห่วงใยต่อสถานการณ์ในประเทศไทย และเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการโดยเคารพในสิทธิมนุษยชน

พรรคความหวังใหม่เรียกร้องให้มีการปล่อยตัว พล.ต.จำลอง เนื่องจากเป็นการจับกุมที่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งให้ความคุ้มครอง ห้ามมิให้จับกุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างสมัยประชุม ขณะที่พรรคฝ่ายค้านอีกสามพรรคได้ออกเยี่ยมประชาชนที่บาดเจ็บตามโรงพยาบาลรวมทั้งจัดการประชุมร่วมและมีมติว่า รัฐบาลจะต้องเปิดเผยตัวเลขผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบในทันที

ข้อเสนอสำคัญคือ เร่งดำเนินการให้ประธานรัฐสภากับประธานสภาผู้แทนราษฎรเข้ามาคลี่คลายสถานการณ์โดยเร็ว

ระหว่างนั้นปรากฏว่าประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ตกอยู่ในความสับสนต่อสถานการณ์และมีความกังวลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร้านค้าต่างๆ ตลอดจนธนาคาร ห้างสรรพสินค้า ร้านทอง ปิดทำการก่อนเวลาปกติ
ในขณะที่สถานีโทรทัศน์ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมการเสนอข่าวของรัฐบาลและกองกำลังรักษาพระนคร ออกข่าวที่มีลักษณะบิดเบือนความจริงอยู่เป็นระยะตลอดเวลาว่า ธนาคารยังคงเปิดให้บริการตามปกติ ส่วนพรรครัฐบาลทั้งห้าพรรคไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นใดๆ ต่อเหตุการณ์สังหารประชาชน

สำหรับกลุ่มประชาชนที่หนีตายจากการปราบปรามบริเวณถนนราชดำเนิน ต่างทยอยกันเดินทางมุ่งหน้ามาสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 19 พฤษภาคม และเริ่มมีจำนวนมากขึ้นจนถึงประมาณ 4-5 หมื่นคน มีการตั้งเวทีปราศรัย ผลัดกันขึ้นอภิปรายโจมตีการปฏิบัติการโดยใช้ความรุนแรงของรัฐบาลตลอดเวลา โดยแกนนำผู้ชุมนุมได้สรุปบทเรียนจากการล้อมปราบที่ถนนราชดำเนิน และวางมาตรการป้องกันการสร้างสถานการณ์จากกลุ่มผู้ไม่หวังดี มีการตรวจอาวุธและห้ามไม่ให้นำรถจักรยานยนต์เข้ามาในมหาวิทยาลัย รวมทั้งวางแนวป้องกันการสลายการชุมนุมด้วยการปิดกั้นเส้นทางเข้ามหาวิทยาลัย ทั้ง 12 แห่งด้วยกระสอบทราย ท่อคอนกรีต และกระถางต้นไม้ ตลอดจนประสานงานหน่วยแพทย์และพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ชุมนุมหากมีการล้อมปราบขึ้นอีก

เวลา 23.40 น. ของวันที่ 19 พฤษภาคม ขณะที่การชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหงดำเนินไปอย่างสงบ มีรายงานข่าวว่ากำลังทหารพร้อมอาวุธจำนวน 400 นายกำลังมุ่งหน้าไปยังมหาวิทยาลัยรามคำแหง และมีกระแสลือกันไปทั่ว ว่าฝ่ายรัฐบาลจะใช้เฮลิคอปเตอร์เข้าร่วมปราบปรามผู้ชุมนุม ประสานกับการใช้กำลังภาคพื้นดิน

เวลา 06.00 น. วันที่ 20 พฤษภาคม สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ได้แพร่ภาพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานสัมภาษณ์ที่ประเทศฝรั่งเศสถึงเหตุการณ์ในประเทศไทยว่า การฆ่าฟันหรือทำรุนแรงเป็นเรื่องไม่ดี การเสียทรัพย์สินไม่สำคัญเท่ากับชีวิตคน อยากให้เลิกฆ่าฟัน เลิกรุนแรง เพราะว่าเราเป็นคนไทยด้วยกัน.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 5 - 11 มิถุนายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (63)

แสนยานุภาพทางทหารกลางมหานคร
ประชาชนคือผักหญ้าในสายตาเผด็จการ

ในเวลากลางวันมีประชาชนหลากหลายกลุ่มอาชีพโดยเฉพาะนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งเพื่อรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของประชาชน ทั้งนี้ในขณะที่สื่อสารมวลชนในกำกับดูแลของรัฐบาลยังคงรายงานข่าวอยู่ตลอดเวลาว่าไม่มีการสูญเสียชีวิตของประชาชน แต่สำนักข่าวต่างประเทศได้รายงานภาพของการสลายการชุมนุมและการทำร้ายผู้ชุมนุม ซึ่งหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยบางฉบับก็เริ่มตีพิมพ์ภาพความรุนแรงในการสลายการชุมนุม

รัฐบาลสวนกลับกระแสสื่อโดยประกาศให้มีการตรวจและควบคุมการเผยแพร่ข่าวสารทางสื่อมวลชนเอกชนในประเทศ

สำหรับการเคลื่อนไหวชุมนุมใหญ่ต่อต้านรัฐบาลในครั้งนี้ ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งซึ่งมีจำนวนค่อนข้างมากเป็นชนชั้นกลางในเขตตัวเมือง เป็นนักธุรกิจหรือบุคคลวัยทำงาน มีฐานะและศักยภาพ ที่จะใช้เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทยเ ป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารระหว่างกัน เหตุการณ์พฤษภาทมิฬนี้จึงได้ชื่อเรียกอีกชื่อนึงว่า "ม็อบมือถือ"
นับจากเวลาประมาณ 18.00 น. มีประชาชนจากทุกสารทิศประมาณ 5 หมื่นคนได้กลับมารวมตัวกันที่บริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์ และขยายแนวไปจนถึงกระทรวงยุติธรรม หน้าขบวนถือธงชาติโบกสะบัด ทั้งอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ มายืนประจันหน้ากับแนวรั้วลวดหนามและแถวทหาร จากนั้นก็มีเสียงปืนดังสนั่นหวั่นไหวต่อเนื่องกันกว่า 10 นาที มีผู้บาดเจ็บล้มตายลงเป็นจำนวนมาก มีเสียงตะโกนด่าทอ พล.อ.สุจินดาระงมไปทั่วบริเวณ

ฝูงชนกระจายกำลังกันพยายามวางเพลิงเผากองสลากฯ และกรมประชาสัมพันธ์
หลังเวลา 22.00 น. หน่วยพยาบาลอาสาสมัครของการชุมนุมซึ่งประจำอยู่ที่ภัตตาคารศรแดง มุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้ย้ายมายังโรงแรมรัตนโกสินทร์ จัดตั้งเป็นหน่วยพยาบาลฉุกเฉิน เพราะกลุ่มแพทย์ซึ่งมีประมาณ 40 คน ประเมินสถานการณ์ว่า การรวมตัวของประชาชนที่บริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปะทะกัน แล้วงานหนักก็เริ่มขึ้น เมื่อร่างโชกเลือดของผู้บาดเจ็บ และศพวีรชนประชาธิปไตยคนแล้วคนเล่า ถูกหามเข้ามาเรื่อย ๆ หลายคนมีบาดแผลฉกรรจ์ กลิ่นคาวเลือดตลบอบอวล

คนเจ็บถูกทยอยส่งต่อไปยังโรงพยาบาลโดยรถพยาบาลเที่ยวแล้วเที่ยวเล่า ที่แล่นเข้ามาพร้อมเสียงไซเรนแผดโหยหวน ทว่ารถพยาบาลส่วนใหญ่ไม่สามารถกลับเข้ามารับผู้บาดเจ็บได้อีกเนื่องจากถูกหน่วยทหารสกัดเอาไว้ ผู้ชุมนุมจึงนำรถเมล์ที่พากันไปยึดไว้มาช่วยขนผู้บาดเจ็บ

จากช่วงดึกคืนนั้น ทางโรงพยาบาลศิริราชก็ประกาศผ่านสื่อสารมวลชนเท่าที่ทำได้ เพื่อรับบริจาคโลหิตเป็นการด่วน

เวลาประมาณ 24.00 น. รัฐบาลได้ออกอากาศข่าวด่วนพิเศษทางโทรทัศน์แถลงปฏิเสธว่า ข่าวทหารยิงประชาชนนั้นไม่เป็นความจริง

หลังเที่ยงคืน ฝูงชนที่ถนนราชดำเนินเริ่มบางตา แต่ยังรวมกลุ่มกันอยู่เป็นกระจุกๆ รอบสนามหลวง ตามอาคารและซอกซอยต่างๆ ขณะเดียวกันก็มีรถจักรยานยนต์จับกลุ่มวิ่งไปตามถนนสายต่างๆกลุ่มละ 60-70 คัน มีรายงานจากบางแหล่งข่าวอ้างว่าบางกลุ่มมีรถจักรยานยนต์ถึง 500 คันขับขี่ตระเวนทำลายสัญญาณไฟจราจรตามสี่แยก ป้อมยามป้อมตำรวจถูกทุบเสียหาย บางแห่งก็ถูกเผา โดยเฉพาะสถานีตำรวจจะเป็นจุดที่กลุ่มรถจักรยานยนต์เล็งเป็นเป้าหมายของ การแก้แค้นแทนฝูงชนที่ถูกสังหารบริเวณราชดำเนิน

ทางรัฐบาลได้จัดตั้ง "หน่วยไล่ล่า" อันเป็นกำลังผสมทหาร-ตำรวจ เพื่อเข้าดำเนินการกับ "ขบวนการมอดตอร์ไซค์" ดังกล่าว โดยเริ่มออกปฏิบัติการตั้งแต่เวลา 22.00 น. ของวันที่ 18 พฤษภาคม ไปจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม โดยพื้นปฏิบัติการได้กระจายไปทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่ฝั่งพระนครบริเวณสะพานขาว ไปจนถึงฝั่งธนบุรี ตั้งแต่โรงพยาบาลพระปิ่นเกล้า (โรงพยาบาลทหารเรือ) ตลาดพลู บุคคโล ไปจนถึงถนนสาธร แต่ด้วยความคล่องตัวของรถจักรยานยนต์ ทำให้กำลังตำรวจไม่สามารถจัดการกลุ่มรถจักรยานยนต์พิทักษ์ประชาธิปไตยได้อย่างเด็ดขาดในคืนนั้น และขบวนการมอเตอร์ไซค์ก็ได้พลิกสถานการณ์ให้เห็นว่า การใช้กำลังทหารเข้ากวาดล้างสลายการชุมนุมที่กรมประชาสัมพันธ์ไม่อาจหยุดยั้งการต่อสู้ของประชาชนได้เลย

จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 19 พฤษภาคม กำลังทหารเคลื่อนเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนินกลางได้ และควบคุมตัวประชาชนจำนวนมากขึ้นรถบรรทุกทหารไปควบคุมไว้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี แถลงการณ์ย้ำว่าสถานการณ์เริ่มกลับสู่ความสงบและไม่ให้ประชาชนเข้ามาสมทบการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอีก แต่แล้วกลับมีการก่อตัวของประชาชนขึ้นอีกที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงในคืนนั้น

ราว 05.00 น. กำลังทหารกว่า 1,000 นายเดินเรียงหน้ากระดานระดมยิงเข้าใส่ฝูงชนตั้งแต่หน้ากรมประชาสัมพันธ์เข้ามา เพื่อหวังเผด็จศึกสลายการชุมนุมให้ได้ก่อนรุ่งสาง ฝูงชนแตกกระจายไปคนละทิศละทาง บ้างคว่ำจมกองเลือดบ้างคลานตะเกียกตะกายให้พ้นวิถีกระสุน กำลังทหารจากทุกๆด้านโอบล้อมต้อนฝูงชนไม่ให้เล็ดลอดออกไปได้ เสียงหวีดร้องดังระงมไปทั่ว เสียงปืนดังเป็นระยะตามจุดต่าง ๆ และในเวลาเพียง 30 นาที ฝูงชนถูกต้อนมารวมกันบริเวณหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ ผู้ชายถอดเสื้อมัดมือไพล่หลัง ส่วนผู้หญิงถูกกันไว้อีกทาง

เวลาประมาณ 06.00 น. ประชาชนราว 2,000 คนเศษ นั่งก้มหน้านิ่งในสภาพถูกจับเป็นเชลยแออัดกันอยู่หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ รถยีเอ็มซี 20 คัน รถบัสทหารสองคัน ขนผู้ต้องหาก่อการจลาจลส่งเรือนจำชั่วคราวที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน ซึ่งเหตุการณ์ช่วงสุดท้ายนั้น ไม่มีช่างภาพคนใดได้บันทึกภาพ หรือแม้กระทั่งถ่ายภาพวิดีโอ

ภาพหลังเหตุการณ์ที่ต่อมาสื่อมวลชนเรียกขานว่า "เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ '35" มีคณาจารย์มหาวิทยาลัยเอกชน 5 สถาบัน ร่วมกันเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ผู้บาดเจ็บในโรงพยาบาลและผู้อยู่ในเหตุการณ์ช่วงวิกฤต ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการปราบปรามประชาชนครั้งนี้มีพฤติการณ์ต่างๆ ที่น่าจะไม่ชอบมาพากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาประมาณ 5 นาฬิกา (ผู้สื่อข่าวถูกถอนออกมาหมดตั้งแต่เวลา 1 นาฬิกา) ซึ่งผู้ร่วมเหตุการณ์เห็นตรงกันทั้งหมดว่า น่าจะเป็นช่วงเวลาที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุด เพราะลักษณะการปราบปรามเป็นการปิดล้อมและระดมยิงเข้ามาทุกด้าน (ยกเว้นทางสะพานพระปิ่นเกล้าซึ่งทหารเรือเปิดให้ผู้ชุมนุมวิ่งออกไป) มีผู้ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่ามีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตขณะที่วิ่งหลบเข้าไปตามตรอกซอกซอยต่างๆทุกแห่ง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 29 พฤษภาคม - 4 มิถุนายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (62)

17 "พฤษภาทมิฬ" 2535
วันกวาดล้างพลังประชาธิปไตย

ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 14 พฤษภาคมแกนนำในการชุมนุมประท้วงช่วงต้น จึงจัดให้มีการประชุมร่วมกันเพื่อปรึกษาและสรุปบทเรียนที่ผ่านมา ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ เนื่องจากพบว่าการชุมนุมในช่วงแรก (4-11 พฤษภาคม) นั้นแกนนำขาดความเป็นเอกภาพมีความแตกต่างทางแนวคิดและไม่สามารถหาข้อยุติได้ ด้วยขาดองค์กรนำ ที่ประชุมจึงลงมติจัดตั้งสมาพันธ์ประชาธิปไตยขึ้น ประกอบด้วยกรรมการเจ็ดคน คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายปริญญา เทวนฤมิตรกุล, น.พ. เหวง โตจิราการ, น.พ. สันต์ หัตถีรัตน์, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ และ ร.ต. ฉลาด วรฉัตร (ภายหลังได้ถอนตัว และให้ น.ส. จิตราวดีเป็นแทน) นอกจากนี้ยังได้ออกแถลงการณ์ ใบปลิว ชักชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุมในเย็นวันที่ 17 ด้วย

ช่วงวันที่ 17 ประชาชนที่เข้ามาร่วมชุมนุมเพิ่มขึ้นจากประมาณ 30,000 คน จากเวลา 15.00 น. เป็น 300,000 คนในเวลาประมาณ 19.00 น. จากนั้นจึงเริ่มเคลื่อนขบวนมุ่งหน้าไปทางทำเนียบรัฐบาล ทั้งรัฐบาลได้จัดตั้งกองกำลังรักษาพระนครซึ่งประกอบกันเข้าด้วยกำลังทั้งทหารและตำรวจจำนวนนับหมื่นคน เพื่อรับมือการเคลื่อนไหวของประชาชนที่รวมตัวกันเรียกร้องประชาธิปไตย

ทันทีที่ขบวนเคลื่อนมาเผชิญหน้ากับแนวกีดขวางสะพานผ่านฟ้าฯ การปะทะครั้งก็แรกเริ่มต้นขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 21.20-22.00 น. เมื่อการขอร้องตำรวจให้เปิดทางแต่ไม่สำเร็จ ประชาชนจึงพยายามฝ่าแนวกั้นโดยใช้ไม้กระแทกสิ่งกีดขวาง ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์หุ้มมือและเข้าดึงลวดหนาม บางคนก็ใช้มือเปล่า

ช่วงนั้นฝูงชนกลุ่มหนึ่งบุกยึดรถดับเพลิงจำนวนแปดคันที่กำลังฉีดน้ำใส่กลุ่มชน แล้วฉีดน้ำกลับใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้ตำรวจต้องถอยร่นไป แต่ในที่สุดกำลังตำรวจนับพันนายก็บุกตะลุยเข้าชิงรถดับเพลิงคืนได้ โดยใช้กระบองรุมกระหน่ำตีกลุ่มผู้ยึดรถ การปะทะระหว่างฝูงชนกับตำรวจที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ และหน้ากรมโยธาธิการกินเวลานานนับชั่วโมง นอกจากก้อนหินและขวดน้ำแล้ว ยังมีคนใช้ขวดน้ำมันจุดไฟรวมทั้งระเบิดขวดขว้างใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้เกิดเสียงดังเป็นระยะๆ ทางฝ่ายตำรวจใช้กระบองเข้าทุบตีประชาชน รถยนต์ รถจักรยานยนต์ (ผู้จัดการฉบับพิเศษ 2535) ผู้สื่อข่าวและช่างภาพหลายคนโดยทุบตี ถูกยึดฟิล์ม กล้อง และอุปกรณ์ต่างๆไป มีผู้บาดเจ็บเลือดอาบรวมถึงถูกทุบตีจนเสียชีวิตหลายราย

จากนั้นสถานการณ์เริ่มเข้าสู่ภาวะควบคุมไม่ได้ ในเวลาประมาณ 23.00 น. มีฝูงชนส่วนหนึ่งยึดสถานีตำรวจดับเพลิง ภูเขาทอง ตามมาด้วยการเผาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง และการเคลื่อนไหวของประชาชนนับแสนตลอดเส้นทางถนนราชดำเนินนอก แต่ตลอดเวลาที่เกิดความวุ่นวายอยู่นั้น เส้นทางย้อนกลับไปตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าฯ ถึงสี่แยกคอกวัว ยังคงเป็นการนั่งชุมนุมอย่างสงบ และพล.ต. จำลอง ได้ประกาศต่อที่ชุมนุมว่า ไม่ขอรับผิดชอบต่อการก่อจลาจลทั้งหมดเพราะเป็นฝีมือของมือที่สามที่หวังสร้างสถานการณ์เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามประชาชน

เวลา 00.30 น. ของวันที่ 18 พฤษภาคม สถานีวิทยุโทรทัศน์ทั้งหมดออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และแต่งตั้งให้ทหารทำหน้าที่รักษาความสงบ ลงนามโดย พล.อ. สุจินดา และ พล.อ.อ. อนันต์ กลินทะ รมว. มหาดไทย

การเผชิญหน้าและการปฏิบัติการตอบโต้กันด้วยกำลังดำเนินมาจนถึงเวลาประมาณ 13.00 น. กำลังทหารวางแนวปิดกั้นบริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า ท่าพระจันทร์ สี่แยกคอกวัว และวางลวดหนามขวางถนนราชดำเนินตรงบริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์ ประชาชนที่ต้องการเข้าร่วมชุมนุมถูกสกัดไว้ไม่ให้เข้า ในขณะที่ผู้ชุมนุมภายในเหลืออยู่เพียง 2 หมื่นคน

ในเวลา 14.00 น. พล.อ.สุจินดาออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์กล่าวหา พล.ต. จำลองและบุคคลบางคนว่าเป็นภัยต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นผู้ยุยงปลุกปั่นให้การชุมนุมเกิดความรุนแรงจนทำร้ายเจ้าหน้าที่และทำลาย สถานที่ราชการ จึงต้องใช้กำลังทหารตำรวจเข้าปราบปรามขั้นเด็ดขาดเพื่อยุติความเสียหาย

และแล้วในเวลา 15.00 น. กองกำลังรักษาพระนครก็สั่งการให้สลายการชุมนุมจากสะพานผ่านฟ้าฯ ถึงกรมประชาสัมพันธ์ โดยให้เหตุผลว่า "ในขณะนั้นมีผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นจำนวนมากกองกำลังรักษาพระนครได้พิจารณาเห็น ว่า หากการชุมนุมในจุดังกล่าวดำเนินต่อไปจนถึงเวลาค่ำเหตุรุนแรงก็คงจะเกิดขึ้น อีกเหมือนกับที่เกิดขึ้นในคืนที่ผ่านมาแล้ว (17 พ.ค. 35 ) จึงจำเป็นต้องสลายการชุมนุม"

นับจากมีคำสั่งเข้าสลายการชุมนุม โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังหลบแดดร้อนและพักผ่อนกันอยู่นั้นเอง เสียงปืนก็ดังสนั่นราวฟ้าถล่มทหารเดินดาหน้าเข้าล้อมกรอบกลุ่มผู้ชุมนุมจากทุกทิศ โดยมีรถหุ้มเกราะติดอาวุธหนักเคลื่อนตามมาข้างหลัง ผู้คนนับหมื่นแตกกระเจิงวิ่งหนีหลบไปตามซอกเล็กซอกน้อย ส่วนที่เหลือราว 3,000 คนหมอบราบลงกับพื้น ได้ยินเสียงหวีดร้องและเสียงร้องให้สะอึกสะอื้นท่ามกลางเสียงปืนรัวกระหน่ำ

ผู้ที่หลบรอดมาได้เล่าว่า ทหารนอกจากยิงปืนขึ้นฟ้าแล้ว ยังยิงกราดใส่ผู้ชุมนุมด้วย และมีกองกำลังบางส่วนใช้กระบองเข้าทุบตีผู้ชุมนุมที่นอนหมอบกับพื้นอย่างไม่ยั้งมือ และเมื่อกำลังส่วนหน้าของทหารหน่วยจู่โจมบุกเข้าไปถึง ก็มีสารวัตรทหารร่างยักษ์สองนายตรงเข้าจับกุม พล.ต. จำลองพยายามที่ชูมือแสดงตัวขณะที่หมอบราบอยู่กับฝูงชน ใส่กุญแจมือแล้วนำตัวขึ้นรถออกไปจากที่ชุมนุม

กำลังทหารเข้ายึดพื้นที่ถนนราชดำเนิน ตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าฯ ถึงสี่แยกคอกวัวไว้ได้อย่างสิ้นเชิงผู้ชายถูกสั่งให้ถอดเสื้อนอกคว่ำหน้า สองมือไพล่หลังมัดไว้ด้วยเสื้อ ส่วนผู้หญิงนอนคว่ำหน้า หลายคนร่างสั่นสะทกหวาดผวา น้ำตาอาบใบหน้า

รถ ยี เอ็ม ซี 10 คันและรถบัส 3 คน นำผู้ชุมนุมไปกักขังที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน ประมาณว่ามีผู้ถูกจับนับพันคน

แต่การชุมนุมต่อต้านของประชาชนยังไม่สิ้นสุด ประชาชนออกมาชุมนุมอย่างต่อเนื่องทั่วกรุงเทพโดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมมีการตั้งแนวป้องกันการปราบปรามตามถนนสายต่างๆ ขณะเดียวกันรัฐบาลได้ออกประกาศจับแกนนำอีกเจ็ดคน คือ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล, น.พ. เหวง โตจิราการ, น.พ. สันต์ หัตถีรัตน์, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ, น.ส. จิตราวดี วรฉัตร และนายวีระ มุสิกพงศ์ แล้วยังมีรายงานข่าวการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนในหลายจุด โดยเฉพาะที่มีความรุนแรงมากในบริเวณถนนราชดำเนิน.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 22-28 พฤษภาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8