Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (9)

การเคลื่อนไหว ร.ศ. 103:
ปฏิกิริยาจากเจ้านายและขุนนาง

https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEjHUIJpkkIogX9kUI83C_bKZqQc_qO4vZYz_m-FaOcPyMQLPdfyqY7qmblhV_MU1ncoirHQN0p9QR7T3DpPPKd_ENzF66WNqpOg0PVNLlns9qo2Cc3IAPvOLuKYq8y0dDdnSIQr96Pt9Q/w400-h264-no/
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับนักเรียนหลวงรุ่นแรกที่ประกอบด้วยเจ้านายที่ยังทรงพระเยาว์

ช่วงปลายการครองราชย์ระยะที่หนึ่งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเตรียมการสำหรับการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดินแบบ "รวมศูนย์อำนาจ" มาเป็นลำดับ ที่สำคัญคือ "พัฒนาทรัพยากรมนุษย์" โดยส่งเยาวชนรุ่นใหม่ทั้งของราชวงศ์และบุตรขุนนาง ไปเรียนวิชาการต่างๆ แบบตะวันตก มีพระราชประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะปฏิรูปประเทศไทยให้เจริญทัดเทียมกับ ประเทศตะวันตก เริ่มจากในโอกาสที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปสิงคโปร์ในปี พ.ศ. 2413 ทรงคัดเลือกหม่อมเจ้า 14 คน ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนราฟเฟิลล์ สิงคโปร์ 2 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2413 - พ.ศ. 2415 นำโดย พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ มหาดเล็กในพระองค์

นอกจากนั้น เนื่องจากในระยะแรกอิทธิพลของประเทศตะวันตกที่มีต่อสยามคือ ราชอาณาจักรอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์, หม่อมเจ้าเจ๊ก นพวงศ์ กับพระยาชัยสุรินทร์ (หม่อมราชวงศ์เทวหนึ่ง สิริวงศ์) ไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ นับเป็นนักเรียนหลวงชุดแรกที่ได้ไปเรียนถึงยุโรป ต่อมาก็ส่งพระราชโอรสและนักศึกษาไปศึกษาวิชาทหารที่เยอรมนี ฝรั่งเศส เดนมาร์ก และจักรวรรดิรัสเซีย เมื่อบรรดาคนรุ่นใหม่เหล่านี้เดินทางกลับสยามแล้วกลับตั้งคำถามต่อระบอบการเมืองการปกครองของสยามเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจชนิดเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาแต่ก่อน

ก่อนการเกิด "วิกฤตการณ์วังหน้า" ไม่นาน หลังจากทรงดำเนินการด้านการจัดเก็บภาษีเข้าสู่ส่วนกลางโดยตรง และทรงเล็งเห็นว่าด้วยความที่ยังทรงอยู่ในวัยหนุ่ม รากฐานอำนาจในราชสำนักยังไม่มั่นคงพอ ที่จะดำเนินการปฏิรูประบอบการปกครองที่เริ่มก่อรูปขึ้นในพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ออกพระราชบัญญัติ 4 ฉบับ คือ ประกาศพระราชบัญญัติตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (council of state), ประกาศพระราชบัญญัติการคลัง, ประกาศพระราชบัญญัติตุลาการศาลรับสั่ง และประกาศพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไท (ดังได้กล่าวไปแล้ว)

การที่ทรงประกาศจัดตั้งสภาที่ปรึกษานั้น ก็เพื่อให้เจ้านายและขุนนางชั้นผู้ใหญ่ อยู่ในฐานะ "คานอำนาจ" และไม่สามารถสมัครสมานสามัคคี หรือสมคบคิดกันไปในทางไม่พึงประสงค์ สภาที่ปรึกษาตามแนวพระราชดำริจึงประกอบด้วย 2 สภา คือ
สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (council of state) ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นขุนนางและพระราชวงศ์จำนวน 20 คนสำหรับในรุ่นแรกมีจำนวนสมาชิกเพียง 12 คน เป็นขุนนางทั้งหมดไม่มีพระราชวงศ์เลย มีหน้าที่ให้คำปรึกษาข้อราชการที่สำคัญและยังทำหน้าที่พิพากษาคดีพิเศษด้วย ผลงานสำคัญที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานของสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินซึ่งทำจนประสบความสำเร็จคือการเลิกทาส
สภาที่ปรึกษาส่วนพระองค์ (privy council) ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ชั้นเจ้าฟ้า พระองค์เจ้า และขุนนางมีทั้งผู้สูงอายุและคนหนุ่ม ปฏิบัติหน้าที่เป็นขุนนางต่างพระเนตรพระกรรณ และนำความขึ้นกราบบังคมทูล สภาที่ปรึกษาส่วนพระองค์ชุดแรกมี 49 คน
ส่วนความเปลี่ยนแปลงต่อ "ระบบทาสและไพร่" ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากการขั้นตอนที่นำไปสู่การเลิกทาสดังได้กล่าวมาแล้ว ในปี พ.ศ. 2420 ทรงเริ่มจ่ายเงินเดือนแก่ข้าราชการและเจ้านายแทนพระราชทานไพร่ ดังที่เคยปฏิบัติกันมาในระบอบจตุสดมภ์ สำหรับ "ไพร่สม" หรือไพร่สังกัดมูลนายที่เป็นเจ้านายและขุนนางอำมาตย์ ทรงออกประกาศพระบรมราชโองการให้ไพร่สมรับราชการเช่นเดียวกับไพร่หลวง หรือต้องเสียเงินค่าราชการปีละ 6 บาทแทนการถูกเกณฑ์แรงงาน ซึ่งทั้งสองกระบวนการเท่ากับเป็นการสลายอำนาจในการมีกองกำลังส่วนตัวของชนชั้นสูงหรือชนชั้นผู้ปกครอง ที่อาจสะสมกำลังและเกิดการซ้ำรอย "วิกฤตการณ์วังหน้า" ก็ได้  นอกจากนั้น ทรงปรับปรุงให้การแจ้งไพร่สมตาย ชรา พิการ เป็นไปได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น เพื่อการควบคุมจำนวน "ทหาร" ได้ง่ายขึ้นสำหรับส่วนกลางหรือราชสำนัก

ต่อมา วันพฤหัสบดี แรม 8 ค่ำ เดือน 2 ปีวอก ฉศก ศักราช 124 ตรงกับวันที่ 9 เดือนมกราคม พ.ศ. 2427 เป็นปีที่ 17 ของการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีเจ้านายและข้าราชการ จำนวนหนึ่งที่รับราชการ ณ สถานทูตไทย ณ กรุงลอนดอน และกรุงปารีส ประกอบด้วย พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าชาย กฤษฏาภินิหาร (กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์), พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าชายโสณบัณฑิต (กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา), สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ (กรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฐ์), พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าชายปฤษฎางค์ (หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ชุมสาย), นายนกแก้ว คชเสนี, หลวงเดชนายเวร (สุ่น สาตราภัย), นายบุศก์ เพ็ญกุล, ขุนปฏิภาณ พิจิตร (หรุ่น), หลวงวิเสสสาลี (นาค), นายเปลี่ยน และสับเลฟเตอร์แนนสอาด ได้ร่วมกันลงชื่อกันในหนังสือกราบบังคมทูลถวายความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการแผ่นดินต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สาระสำคัญคือเห็นภัยภายนอกอันเกิดจากลัทธิจักรวรรดินิยม และภัยภายในเนื่องจากการปกครองในประเทศไม่เหมาะสม ส่งผลให้ประเทศจักรวรรดินิยมเหล่านั้น มักอ้างเหตุที่จะเอาเป็นเมืองขึ้น การที่จะรักษาบ้านเมืองให้พ้นภัยอันตรายจึงต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงวิธีการปกครองเสียใหม่ให้คล้ายคลึงกับการปกครองของประเทศที่เจริญแล้ว นอกจากนั้นยังมีภัยอันตรายจากสาเหตุอื่นอีกคือ ขุนนางข้าราชการไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่เพื่อส่วนรวม และการใช้อำนาจสิทธิ์ขาดของกษัตริย์มีหนทางพลั้งพลาดเกิดโทษได้ รวมทั้งการใช้คนคนเดียวหรือกลุ่มเดียว หรือใช้คนไม่ถูกกับความสามารถ จะเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางความเจริญของบ้านเมือง คณะผู้ถวายหนังสือฯ ได้เสนอหนทางแก้ไขมีใจความโดยย่อดังนี้
  1. จัดการบ้านเมืองให้เรียบร้อยและไม่เห็นด้วยกับนโยบายผ่อนปรนกับชาติมหาอำนาจ เพื่อมิให้มหาอำนาจยึดบ้านเมืองเพราะต่อไปพวกนี้คงหาเหตุมาอ้างอีกจนได้
  2. การต่อสู้ด้วยกำลังทหารนั้น สำหรับสยามใช้ไม่ได้เพราะไม่พร้อมทั้งกำลังและอาวุธ
  3. แม้สภาพของประเทศไทยจะมีฐานะเป็นรัฐกันชนระหว่างพม่า กับอินโดจีนเหมือนสวิตเซอร์แลนด์ก็ตาม แต่ต้องปรับปรุงการปกครองภายในให้ดีด้วย
  4. การปรับปรุงขนบธรรมเนียมประเพณีของสยามท่านั้นยังไม่พอ
  5. สัญญาที่ทำไว้กับต่างประเทศ ไม่ได้เป็นหลักประกันเมื่อเกิดวิกฤติการณ์ขึ้นจริง ๆ
  6. การค้าขายและผลประโยชน์ของชาวยุโรปที่มีอยู่ภายในสยามไม่อาจช่วยคุ้มครองการเบียดเบียนของชาติอื่นที่หวังผลประโยชน์เช่นเดียวกันได้
  7. การที่มีผู้กล่าวว่า เดิมสยามเรารักษาเอกราชได้ บัดนี้ย่อมรักษาเอกราชต่อไปได้ ก็คงใช้ไม่ได้เสมอไป
  8. ประการสุดท้าย กฎหมายระหว่างประเทศไม่อาจช่วยรักษาเอกราชไว้ได้ เพราะมหาอำนาจไม่ยอมรับว่า สยามเจริญพอจะร่วมวงการระหว่างชาติเหล่านั้น.

พิมพ์ครั้งแรก: โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 13-19 ตุลาคม 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (8)

การ "เลิกไพร่" และ "เลิกทาส":
การยุติระบอบศักดินาเด็ดขาด

ทาสในสมัยสมัยรัชกาลที่ 4 - 5

สมัยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์นั้น สยามมีทาสเป็นจำนวนกว่าหนึ่งในสามของพลเมืองของประเทศ เพราะเหตุว่าการเกิด "(ลูก)ทาสในเรือนเบี้ย" เป็นทาสกันตลอดชีวิตสืบต่อกันเรื่อยมาไม่มีที่สิ้นสุด โดยลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาสก็ตกเป็นทาสอีกต่อๆกันเรื่อยไป ซึ่งตามกฎหมายโบราณที่สืบเนื่องมาจากสมัยอยุธาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ได้กำหนดว่าด้วยลักษณะทาสได้จัดประเภทของทาสไว้ 7 อย่าง คือ
  1. ทาสไถ่มาด้วยทรัพย์ หรือ "ทาสสินไถ่" หมายความว่าเป็นสถานภาพของบุคคลซึ่งเดิมเป็นทาสของคนอื่น แล้วผู้ใดผู้หนึ่งนำเงินไปไถ่ตามค่าตัวที่ได้กำหนดไว้ ทำให้ทาสเปลี่ยนมือหรือ "นายทาส" หรืออีกความหมายหนึ่งอธิบายว่า หมายถึงทาสที่ขายตัวเองหรือถูกผู้อื่นขายให้แก่นายเงินต้องทำงานจนกว่าจะหาเงินมาไถ่ค่าตัวได้ จึงจะหลุดพ้นเป็นไท
  2. "ทาสในเรือนเบี้ย" หมายถึงลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาส ย่อมเป็นทาสไปด้วย
  3. ทาสได้มาแต่ฝ่ายมารดาบิดา หมายความถึงทาสที่บุคคลได้รับมรดกจากมารดาบิดาของตน
  4. ทาสที่มีผู้ให้ หรือ "ทาสท่านให้" คือ ทาสที่เดิมเป็นของผู้หนึ่งแล้วถูกยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของอีกผู้หนึ่ง
  5. ทาสอันได้มาด้วยการช่วยกังวลธุระทุกข์แห่งคนอันต้องโทษทัณฑ์ หรือ "ทาสที่ช่วยมาจากทัณฑโทษ" คือ ผู้ที่ถูกต้องโทษต้องเสียค่าปรับแต่ไม่มีเงินให้ ต่อเมื่อมีนายเงินเอาเงินมาใช้แทนให้ ผู้ต้องโทษก็ต้องเป็นทาสของนายเงิน
  6. ทาสที่เลี้ยงไว้เมื่อเกิดทุพภิกขภัย หรือที่บัญญัติไว้เป็น "ทาสอันได้เลี้ยงไว้ในกาลเมื่อข้าวแพง" คือทาสที่เข้ามาสมัครใจยอมตัวเป็นทาสเนื่องจากสาเหตุข้าวยากหมากแพง ไม่มีจะกินต้องอาศัยมูลนายกิน ในที่สุดก็ต้องยอมเป็นทาสของมูลนายนั้น
  7. ทาสที่ได้มาจากการรบศึกชนะ หรือที่เรียกว่า "ทาสเชลย" หรือ "เชลยทาส" โดยทั่วไปจะเป็น "ทาสหลวง" ก่อน แล้วพระมหากษัตริย์จะได้พระราชทานแก่ขุนนางและเจ้านายที่มีความดีความชอบในการทำศึกสงคราม
กฎหมายที่ใช้กันอยู่ในเวลานั้น ตีราคาลูกทาสในเรือนเบี้ย ชาย 14 ตำลึง หญิง 12 ตำลึง แล้วไม่มีการลด ต้องเป็นทาสไปจนกระทั่ง ชายอายุ 40 หญิงอายุ 30 จึงมีการลดบ้าง แต่ข้อเท็จจริงคือการคำนวณการลดนี้ อายุทาสถึง 100 ปี ก็ยังมีค่าตัวอยู่ คือชาย 1 ตำลึง หญิง 3 บาท แปลว่า ผู้ที่เกิดในเรือนเบี้ย ถ้าไม่มีเงินมาไถ่ตัวเองแล้ว ก็ต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต

การดำรงอยู่ของ "ระบบทาส/ไพร่" ที่เคยเป็นรากฐานสำคัญของระบอบการปกครองและระบบการผลิตแบบ "ศักดินา" กลายเป็นตัวการขัดขวางพัฒนาการของสังคมสยามนับจากการเข้ามาของการขยายตัวลัทธิเจ้าอาณานิคม เพื่อขยายตลาดวัตถุดิบ ตลาดการผลิต และตลาดการค้าใหม่  ทั้งนี้มูลเหตุที่นำไปสู่ความจำเป็นของการเลิกทาสและไพร่ (ดังที่กล่าวไปแล้ว) พอสรุปได้ตือ
  1. เพื่อให้เกิดแรงงานอิสระ ที่สามารถเดินทางไปรับจ้างได้ทั่วราชอาณาจักร ไม่จำกัดจากการสังกัดมูลนาย
  2. เป็นผลดีต่อการเตรียมการปฏิรูประบบราชการแผ่นดิน จากระบอบจตุสดมภ์สู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในรูปกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งที่สำคัยคือการใช้คนในส่วนกลางเป็นพื้นฐาน (ในเวลาต่อมาจึงเกิด "โรงเรียนฝึกหัดข้าราชการ"; ดูบทความ "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ใน โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 11-17 กุมภาพันธ์ 2555)
  3. ราษฎรหันมาจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์และพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจมากขึ้น และในที่สุดมีอำนาจสำเร็จเด็ดขาดเมื่อการปฏิรูประบบราชการแผ่นดินสำเร็จลง ทั้งทางการคลัง การทหาร และการปกครอง เป็นสำคัญ เกิดการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครอง
  4. เปลี่ยนระบอบการทหาร จากกระจายอยู่ในมือของเชื้อพระวงศ์และขุนนางอำมาตย์ (ไพร่สม) มาสู่ "ทหารของพระมหากษัตริย์ (ไพร่หลวง)" เกิดการเกณฑ์ทหารและจัดระบบกองทัพแบบใหม่ขึ้น
  5. เพื่อลดอิทธิพลและอำนาจของขุนนางลงและ "ยุติ" ระบอบจตุสดมภ์/ศักดินาสวามิภักดิ์ลงได้ในที่สุด
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ มิได้ทรงดำเนินการเลิกทาสขาดลงไปคราวเดียว เพื่อลดการต่อต้านจากนายทาส ที่สำคัญคือนายทาสที่เป็นเชื้อพระวงศ์ ขุนนางอำมาตย์ ตลอดจนพ่อค้าซึ่งเป็นนายเงิน จึงทยอยประกาศพระราชบัญญัติสลับกับประกาศพระบรมราชโองการเป็นคราวๆไป จนถึงได้ออกพระราชบัญญัติทาสในที่สุด ซึ่งถ้าจะประมวลการดำเนินงานเป็นขั้นๆ ตามตัวบทกฎหมายก็จะเห็นได้ดังนี้

1. พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไท จุลศักราช 1236 โสณสังวัจฉระ สาวนมาส ชุณหปักษ์ นวมีดีถีศุกรวาร (วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2417) มีเนื้อหลักกำหนดให้ ทาส 7 ประเภท ดังกล่าวข้างต้น ที่เกิดตั้งแต่ปีมะโรงสัมฤทธิศก จ.ศ. 1230 (คือปี พ.ศ. 2411 อันเป็นปีเสวยราชย์) เป็นต้นไป เมื่อแรกเกิด ชายมีค่าตัว 8 ตำลึง หญิงมีค่าตัว 7 ตำลึง ให้ขึ้นค่าตัวจนถึงอายุ 8 ปี ต่อจากนั้นให้ลดลงตามระยะเดือน ปี อันตราไว้ในพระราชบัญญัติ จนถึงอายุ 21 ปี หมดค่าตัวและให้ขาดจากความเป็นทาสทั้งชายและหญิง; ถึงแม้ว่าบุคคลซึ่งเกิดตั้งแต่ พ.ศ.2411 เป็นต้นมานั้น จะได้รับการปลดปล่อยตามเงื่อนไขเวลาที่กล่าวมาแล้ว ต่อเมื่อถึง พ.ศ. 2431 เป็นต้นไปก็ตาม แต่ก็สามารถได้รับการไถ่ถอนให้พ้นจากความเป็นทาสได้ในราคาพิเศษซึ่งถูกกว่าทาสที่เกิดก่อน พ.ศ.2411; กำหนดว่าถ้าผู้ใดจะนำบุตรหลานของตนไปขายเป็นทาสซึ่งเกิดตั้งแต่ พ.ศ.2411 และมีอายุต่ำกว่า 15 ปีลงมาไปขายเป็นทาส จะต้องขายในอัตราซึ่งกำหนดไว้ในพิกัดกระเษียรอายุใหม่ในรัชกาลที่ 5; ห้ามผู้ที่เกิดใน พ.ศ.2411 หรือบิดามารดาของตนเองขายตนเป็นทาส โดยที่ตนเองและบิดามารดากล่าวเท็จว่ามิได้เกิดใน พ.ศ.2411 จะต้องถูกลงโทษด้วย; ห้ามมูลนายคิดค่าข้าว ค่าน้ำ กับเด็กชายหญิงที่ติดตามพ่อแม่ พี่น้อง ป้า น้า อา ของตนที่ขายตัวเป็นทาส จนกลายเป็นเจ้าหนี้ของเด็กและเอาเด็กเป็นทาสต่อไปด้วย

พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไท พ.ศ. 2417 นี้ มิได้ใช้บังคับในทุกมณฑล มีบางมณฑลมิได้บังคับใช้ คือ มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือหรือมณฑลพายัพ มณฑลตะวันออกหรือมณฑลบูรพา มณฑลไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู เนื่องจากขณะนั้นมณฑลเหล่านี้ยังเป็นประเทศราชอยู่ จึงไม่นับรวมเข้ามาในพระราชอาณาเขตตามความหมายของพระราชบัญญัตินี้

2. พระบรมราชโองการหมายประกาศลูกทาส ประกาศ ณ วันพฤหัสบดี เดือน 10 แรม 13 ค่ำ ปีจอ ฉศก จุลศักราช 1236 (8 ตุลาคม พ.ศ. 2417) ให้สลักหลังสารกรมธรรม์ของทาสที่เกิดในปีมะโรงสัมฤทธิศก (พ.ศ. 2411) ตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไท โดยให้อำเภอ กำนันพร้อมกันกับตัวทาส สลักลังสารกรมธรรม์ไว้เป็นแผนกกับให้ระบุลูกทาสซึ่งติดมากับมารดาบิดาโดย ชัดเจน ถ้ามีผู้ไปติดต่อที่อำเภอห้ามเรียกเงินค่าตัว

3. พระบรมราชโองการประกาศเกษียณอายุลุกทาสลูกไท ประกาศ ณ วันอาทิตย์ เดือน 11 ขึ้น 8 ค่ำ ปีจอ จุลศักราช 1236 (18 ตุลาคม พ.ศ. 2417) บรรดาคนที่เป็นไทอยู่แล้ว หรือทาสที่หลุดพ้นค่าตัวไปแล้วต่อไปห้ามมิให้เป็นทาส บรรดาทาสที่มีอยู่ในเวลาออกพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ทาสที่หลบหนีให้เจ้าเงินลดค่าตัวให้คนละ 4 บาทต่อเดือน.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 6-12 ตุลาคม 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8