Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555

กองทัพในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับจุดยืนและท่าทีต่อระบอบประชาธิปไตย

กองทัพในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
กับจุดยืนและท่าทีต่อระบอบประชาธิปไตย


นับจากการปกครองระบอบศักดินา "จตุสดมภ์" สมัยอยุธยาสืบเนื่องมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ กระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเหล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ระบบไพร่เป็นรากฐานพลังการผลิตที่มีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากการดำรงอยู่ของระบบไพร่ มีความจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจการเมืองของสยาม โดยมีเงื่อนไข 4 ด้าน คือ

1. เป็นแรงงานด้านโยธาให้แก่ราชการ
2. เป็นฐานอำนาจทางการเมืองให้มูลนายต้นสังกัด
3. เป็นกำลังในการผลิตภาคการเกษตรกรรม
4. เป็นกำลังในการรบยามบ้านเมืองเกิดศึกสงคราม

ครั้นเมื่อสยามมีการขยายตัวในด้านพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม นับจากการติดต่อสัมพันธ์ค้าขายกับชาติตะวันตก ระบบการผลิตแบบเลี้ยงตัวเองเปลี่ยนแปลงไปสู่การผลิตเพื่อขาย นำไปสู่พัฒนาการของระบบเงินตรา ระบบการเงินการคลัง และในรูปแบบทางเศรษฐกิจอย่างใหม่ กลับปรากฏว่า "ไพร่" กลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาบ้านเมือง เพราะไพร่ต้องสังกัดมูลนายจึงย้ายที่อยู่ไม่ได้ เป็นการขัดขวางการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งยังทำให้เกิดปัญหาในการควบคุมกำลังคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง "ระบบไพร่" ทำให้ขุนนางอำมาตย์และเจ้านายเชื้อพระวงศ์ สามารถมีและสะสมกำลังทหารส่วนตัว (ไพร่สม) ไว้ในมือ จนเกิด "กรณีวังหน้า" ในปี 2417 เกือบจะเป็นการยึดอำนาจได้สำเร็จ ดังนั้น รัชกาลที่ 5 จึงทรงดำเนินงานเพื่อเลิกระบบไพร่โดยวิธีให้ไพร่เสียเงินแทนการถูกเกณฑ์แรงงานตามลำดับ

3 มกราคม 2443 ตรา "พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์จ้าง" กำหนดว่าตั้งแต่นี้ไป การเกณฑ์ราษฎรตลอดจนพาหนะเพื่อช่วยงานราชการให้ค่าจ้างตามสมควร ถ้าผู้ถูกเกณฑ์ต้องเสียส่วยหรือเงินค่าราชการให้ลดเงินได้

ในปี 2444 ตรา "พระราชบัญญัติห้ามการเกณฑ์แรงงานไพร่" และ "พระราชบัญญัติเบี้ยบำนาญ" แก่ข้าราชการแทนการพระราชทานไพร่สมให้ เป็นการสิ้นสุดการมีไพร่สมของมูลนาย

ปี 2448 ตรา "พระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 124" ให้ชายฉกรรจ์อายุครบ 18 ปี เข้ารับราชการทหารประจำการ 2 ปี แล้วปลดเป็นกองหนุน

ระบบทหารและการสร้างกองทัพเปลี่ยนจาก "ระบอบศักดินา" ที่เจ้านายและขุนนางชั้นสูงที่ทหารเป็นส่วนตัว ("ไพร่สม") มาสู่แนวคิด "เลิกไพร่" สมัย ร.5 ทำให้เกิด "โรงทหารหน้า" (รัชกาลที่ 5 ทรงเปิดเมื่อ 18 กรกฎาคม 2427) ซึ่งพัฒนาไปสู่ "กระทรวงกลาโหม" ในเวลาต่อมา ล้วนสัมพันธ์กับการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์ทรงมี พระราชอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยเฉพาะในปี 2440 ที่อำนาจทางทหารอยู่ในมือพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ (เป็น "ไพร่หลวง" ทั้งหมด) และพัฒนาเป็นการเกณฑ์ทหารในเวลาต่อมา

นอกจากนั้น "อุดมการณ์ชาตินิยม" ที่เกิดขึ้นในรัฐชาติที่ค่อนข้างสมบูรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แสดงให้เห็นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ทรงเผชิญอยู่ได้อย่างชัดเจนที่สุด สิ่งแรกที่ทรงตอบโต้คือ ความนิยมในลัทธิการปกครองอื่นที่ไม่ใช่ "ราชาธิปไตย" เป็นเรื่องของคนที่ไม่ใช่ "ไทย" เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับ "ชาติไทย" ประเด็นต่อมาที่ทรงเน้นคือ "ความหมายของชาติไทย" "รูปแบบของความเป็นไทย" และ "หน้าที่ของคนไทย" ซึ่งเป็นเนื้อหาสำคัญที่ทรงปลูกฝังให้คนไทยต้องยึดมั่น เพราะไม่เช่นนั้นก็จะต้องประสบกับภัยพิบัติ คือ ถูกดูดกลืนโดยชาวจีน ซึ่งพระองค์เห็นว่าชาวจีนเป็นอันตรายเพราะจะมาทำลาย "ความเป็นไทย" และจะใช้อิทธิพลครอบครองแผ่นดิน ผลประโยชน์และการดำเนินชีวิตของคนไทย (จาก http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/การส่งเสริมอุดมการณ์_ชาติ_ศาสนา_พระมหากษัตริย์; เว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า)

ความคิดที่อยู่เบื้องหลังอุดมการณ์ชาตินิยมดังกล่าว คือ ความคิดเรื่อง "ความเป็นไทย" ที่ประกอบด้วย "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" ซึ่งรับอิทธิพลมาจากความคิดเรื่อง "God, Queen (King), and Country" ของอังกฤษ โดยนำสถาบันทั้งสามมาใช้ในลักษณะของ "อุดมการณ์" และเน้นความสำคัญไว้ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการสร้างฐานพระราชอำนาจของมหากษัตริย์ ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์ต่างๆ ว่า "ชาติไทย" ในอุดมคติของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบไปด้วย 3 สถาบันหลัก นั่นคือ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์"

ในกรณีทหารยึดคติ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" สะท้อนถึงจุดยืนที่ก่อให้เกิดจิตสำนึกที่ว่าไม่มีความจำเป็นที่ทหารจะต้องมีความรับผิดชอบขึ้นต่อประชาชน การที่ทหารฆ่าประชาชนมือเปล่า เพราะทหารที่มีระบบคิดอย่างหนึ่ง มีหิริโอตตัปปะเช่นนั้นเอง ถ้าไม่ทำตามคำสั่งก็เกรงกลัวผลที่จะเกิดขึ้น (บาป) ผู้ปกครองในยุคสมัยที่เป็นเผด็จการก็อ้างว่านิติธรรม/ประเพณีเป็นมาอย่างนั้น อีกทั้งความเที่ยงธรรมในการคัดเลือกคนและเลือกเลื่อนตำแหน่งตามความสามารถก็ไม่เกิดขึ้น เพราะเต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์ค้ำจุนและการเล่นพรรคเล่นพวก

รัฐที่เป็นประชาธิปไตยจะสร้างวินัยอย่างใหม่ สร้างหิริโอตตัปปะอย่างใหม่ (อย่างน้อย พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งที่เป็นพลเรือน และที่เป็นทหารตำรวจ "ต้อง" ตระหนักว่า เงินเดือน/เบี้ยเลี้ยง/และงบประมาณทั้งหมด ล้วนมาจากภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศ)

และ "บาป" สูงสุดของพนักงานรัฐกิจในระบอบประชาธิปไตยทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน คือ "ทรยศต่อประชาชน"

ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งสำหรับ "รัฐสมัยใหม่" นั้นกองทัพ "ต้อง" อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ "อำนาจอธิปไตย" หรือ "ผู้ใช้อำนาจอธิปไตย" ในสหรัฐกองทัพอยู่ใต้ "ประธานาธิบดี" ซึ่งมีสถานะเป็นทั้ง "ประมุขฝ่ายบริหาร" และ "ประมุขแห่งรัฐ" ขณะที่ในฝรั่งเศสและเยอรมัน และในประเทศสาธารณรัฐอื่นๆ กองทัพอยู่ใต้ "ประธานาธิบดี" ไม่ใช่ "นายกรัฐมนตรี"

ส่วนในอังกฤษที่ถือเป็นแม่แบบ "ราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy)" นั้น กองทัพขึ้นต่อ "นายกรัฐมนตรี" ซึ่งสั่งการภายใต้ "พระปรมาภิไธย (On Her Marjesty)" ของพระราชินี แต่สมเด็จพระราชินีนาถแห่งอังกฤษทรงบริหารพระราชกิจตามคำแนะนำของ "สภาองคมนตรี" ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งอังกฤษโดยพฤตินัย สภาองคมนตรีแห่งพระราชินีปฏิบัติหน้าที่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการชุดพิเศษชุดหนึ่ง ซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยคณะรัฐมนตรี เป็นผลให้การดำเนินงานของสภาองคมนตรีอยู่ภายใต้การพิจารณาทบทวนโดยในลักษณะเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ  (judicial review ซึ่งความหมายตามตัวอักษรที่ใช้อธิบายระบบกฎหมายอังกฤษและสหรัฐนำมาเป็นแม่แบบ หมายถึงการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย) สมเด็จพระราชินีนาถจะมีพระราชเสาวนีย์เกี่ยวกับราชการแผ่นดินได้ก็แต่โดยคำแนะนำของสภาองคมนตรี

คำถามคือ ก็แล้วใน "ราชอาณาจักรไทย" ใครคือผู้มีอำนาจสั่งการกองทัพอย่าง "สัมบูรณ์" ในเมื่อการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง เกิดขึ้นด้วยน้ำมือของบุคลากรของกองทัพทั้งสิ้น.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 4-10 กุมภาพันธ์ 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8