รัฐธรรมนูญของใคร: "แก้" หรือ "สร้างใหม่"
เวลานี้ และ/หรือ เวลาไหนๆ ในท่ามกลางกระแสเคลื่อนไหว แถลงข่าวทำประชามติก็ดี เข้าชื่อประชาชน 50,000 รายชื่อก็ดี ในประเด็นแก้หรือไม่แก้ "รัด-ทำ-มะ-นูน-2550" ในหลากหลายขั้วการเมือง มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หรือเห็นด้วยบางส่วน ละเว้นเสียไม่พูดถึงบางส่วน รวมทั้งในปีกสุดโต่งปฏิกิริยา/ปฏิปักษ์ประชาธิปไตยที่ประกาศคัดค้านหัวชนฝา และเตรียมระดมมวลชนวัดกำลัง โดยเฉพาะการ "จับแพะชนแกะ" โดยไม่สามารถจำแนกได้ระหว่างประเด็นการเสนอให้มีการแก้ไข "รัฐธรรมนูญ" กับประเด็นที่ประชาชนไทยบางส่วน ที่ประกอบด้วยกลุ่ม องค์กร และนักคิดนักเขียนอิสระ กำลังนำเสนอประเด็นให้สังคมมีการทบทวน "กฎหมายอาญา มาตรา 112" หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากฎหมาย "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"
ข้อเท็จที่ถูกละเลยมาตลอดในขบวนที่ประกาศ "ประชาธิปไตย" ทั้ง 2 ปีก หนึ่งคือ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ซึ่งดูจะหมดบทบาททางสังคมไปเรียบร้อยแล้ว กับอีกปีกหนึ่งคือ "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)" หลังจากการเลือกตั้ง 3 สิงหาคม 2554 ยังคงการเคลื่อนไหวในระดับกลุ่มย่อยและในบางภูมิภาค คือ คำถามคือ ใน 5 ปีหลัง "รัฐประหารอัปยศ 2549" ทุกแกนนำการเคลื่อนไหว ได้ลงแรงทำความเข้าใจหรือไม่กับมวลมหาประชาชน (ตามวาทกรรมเจนหูทั้งผู้พูดและคนฟัง) ว่า ประการแรก การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างไร ประการถัดมา ประชาธิปไตยที่พึงประสงค์ของสังคมไทยนั้นคืออย่างไร ประการที่สาม รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นตามเจตนารมณ์ประชาธิปไตยนั้น ควรมีองค์ประกอบอย่างไร และประการสุดท้าย ประเทศไทยในปัจจุบันปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยหรือไม่
สิ่งที่พึงระวังคือ ในท่ามกลางการคัดค้านเปิดโปง "กฎโจร" ของหลายฝ่าย ประชาชนมีภารกิจต้องทำความเข้าใจให้มากที่สุดถึงแนวทางที่แหลมคมที่สุด เป็นรูปธรรมที่สุดในเป้าหมาย "โค่นระบอบเผด็จการ สร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์" มีแต่การทำความเข้าใจใน "เนื้อแท้" ของประชาธิปไตยอย่างปราศจากอคติทางผลประโยชน์แอบแฝงของขั้วอำนาจทางการเมือง เท่านั้น จึงจะสามารถมองทะลุและก้าวข้ามความพยายามของขั้วอำนาจการเมืองที่ชิงความได้ เปรียบในการเลือกตั้งภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ดังเช่นที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่มาตลอดนับจากการ "รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490" อันเป็นก้าวแรกในความสำเร็จของ "กลุ่มโต้อภิวัฒน์" ในการบ่อนทำลายเจตนารมณ์ประชาธิปไตยที่นำโดยคณะราษฎร นับจากการ "อภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475" ซึ่งกำลังจะครบวาระ 80 ปี ในพุทธศักราช 2555 นี้
5 ปีเศษนับจากการ "รัฐประหาร 19 กันยายน 2549" น้อยครั้งที่จะมีการประกาศย้ำยืนยัน หลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ "อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน" ข้อเสนอในการชุมนุมมวลชนที่นำโดย นปช. จนนำไปสู่กรณี "สงกรานต์เลือด 2552" ที่ประกอบด้วย 1. พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ และนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ต้องพิจารณาตัวเองด้วยการลาออกจากตำแหน่งองคมนตรี 2. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ 3. บริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การปรับปรุงใดๆ ให้ดีขึ้นตามหลักสากล ต้องมีการปรึกษาหารือกันระหว่างนักประชาธิปไตยผู้มีประวัติและพฤติกรรมเชิดชูระบอบประชาธิปไตยเป็นที่ประจักษ์ นั้น จนถึงเวลานี้ ข้อเรียกร้องเหล่านั้นกลายเป็นอีกหนึ่งใน "วาทกรรมว่างเปล่า" ของสังคมไทยไปเรียบร้อยแล้ว
และอีกครั้งหนึ่งในปีถัดมา การชุมนุมใหญ่ที่นำโดย นปช. ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 มีเป้าหมายเรียกร้องให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา และจัดการเลือกตั้งใหม่ นำไปสู่กรณีนองเลือด 2 ครั้งในเวลาห่างกันเดือนเศษ คือ กรณี "เมษาโหด" เมื่อวันที่ 10 เมษายน และกรณี "พฤษภาอำมหิต" ระหว่างวันที่ 14-18 พฤษภาคม โดยมียอดรวมผู้เสียชีวิต 92 ราย บาดเจ็บ (จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บในรายงานนี้จะน้อยกว่าข้อมูลที่ถูกอ้างอิงกันโดยทั่วไปที่ระบุว่ามีประมาณ 2000 ราย เข้าใจว่า ตัวเลขดังกล่าวมาจากความเข้าใจที่ผิดพลาดต่อข้อมูลของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. ที่ระบุผลรวมทั้งผู้ป่วย/บาดเจ็บ/เสียชีวิต โดยตัวเลขนั้นครอบคลุมจำนวนผู้ป่วย 264 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 157 ราย รวม 421 ราย ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 12 มีนาคม - 8 เมษายน 2553 ด้วย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการประท้วงหรือเหตุการณ์ความรุนแรงที่สืบเนื่องจาก การประท้วงโดยตรง) แลกมากับการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ (3 กรกฎาคม 2554) เร็วขึ้นไม่กี่เดือน เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรจะหมดวาระจากการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550
ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2554 แกนนำการเคลื่อนไหว ทั้งที่เป็นพรรคการเมืองในแนวทางรัฐสภา และการเคลื่อนไหวมวลชนนอกสภาที่นำโดย นปช. ก็ดูเหมือนจะยุติการขับเคลื่อนคัดค้านการรับประหาร 19 กันยาฯ ลงโดยสิ้นเชิง และสามารถ "ปรองดอง" ได้ด้วยดีกับ พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ อดีตหัวหน้าคณะทหารที่ทำการรัฐประหารนั้น ภายใต้ชื่อ "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทางเป็นประมุข (คปค.)" ซึ่งในเวลาต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)"
การรณรงค์ขับเคลื่อนเพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ก็หยุดชะงักลงโดยสิ้นเชิง สังคมไทยถูกครอบงำทิศทางของความสนใจไปที่ 1. การจัดตั้งรัฐบาลผสม 2. กรณีนองเลือดในปี 2553 3.อุทกภัยใหญ่ 2554 ที่จนถึงตอนนี้ การสอบสวนหา "ความรับผิด" ที่นำไปสู่ความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ไม่ได้เกิดขึ้นแบบฉับพลันเช่นการ เกิดพายุ คลื่นยักษ์ หรือแผ่นดินไหว และ 4. การอภิปรายเพื่อผ่านมติกฎหมายงบประมาณฯ ประจำปี 2556
การขับเคลื่อนของภาคการเมืองที่ผ่านมา โดยเนื้อแท้แล้ว ยังถือได้ว่าห่างไกลจาก บทบัญญัติตาม มาตรา 1 ของ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราว ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ที่บัญญัติไว้ว่า "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย" โดยที่การเคลื่อนไหวกระแสหลัก ยังคงวนเวียนอยู่กับ "แนวทางรัฐธรรมนูญนิยม" และ "การเลือกตั้งภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย" เช่นที่ผ่านมาทั้ง 15 ฉบับ นับจากรัฐธรรมนูญ 9 พฤศจิกายน 2490 หรือ "รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม"
กล่าวอย่างถึงที่สุด การแก้ไขหรือไม่ อย่างไร หาใช่ประเด็นสำคัญสำหรับขบวนประชาธิปไตยประชาชนที่มีวุฒิภาวะ หากก่อนอื่น อยู่ที่รัฐธรรมนูญนั้นเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตยต่างหาก
นั่นคือรัฐธรรมนูญนั้นประกาศอย่างถึงที่สุด และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริงได้ซึ่ง "หลักประกันแห่งสิทธิทั้งปวงและการแบ่งแยกอำนาจโดยชัดเจน" อันประกอบด้วย 1. เสรีภาพโดยบริบูรณ์ของประชาชน ภายใต้หลักพื้นฐาน "ไม่ละเมิด" และ "ความรับผิด" และ 2. ความเท่าเทียมกันภายใต้หลักพื้นฐาน "หนึ่งคน หนึ่งเสียง".
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 14-20 มกราคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537