Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2555

"จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

"จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์


การเปลี่ยนผ่านการปกครองของสยามในระบอบศักดินาสวามิภักดิ์ จะเห็นได้จากการขึ้นครองราชย์ครั้งที่ 2 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบรรลุพระราชนิติภาวะ พระชนมายุครบ 20 พรรษา ในปี พ.ศ. 2416 ขณะที่การขึ้นครองราชย์ในปี 2411 พระชนมายุเพียง 15 ชันษา โดยมี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นอกจากการปฏิรูประบอบกองทัพ โดยเกิด "กองทหารหน้า" ซึ่งในเวลาต่อมาพัฒนาสู่การจัดตั้ง "กระทรวงกลาโหม" ในโครงสร้าง "ระบบการทหาร" ดังที่กล่าวถึงในบทความ "กองทัพในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับจุดยืนและท่าทีต่อระบอบประชาธิปไตย" ตีพิมพ์ใน โลกวันนี้ ฉบับวันสุข ฉบับประจำวันที่ 4-10 กุมภาพันธ์ 2554 (http://arinwan.info/index.php?topic=3520.0) แล้วนั้น

ที่มาของการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุดเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ยังพิจารณาได้จากโครงสร้างการเมืองการปกครองอีก 2 ด้านหลัก ด้านแรก ขณะที่โครงสร้างด้านการคลัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าการจัดการเงินแบบเก่ามีทางรั่วไหลมาก พวกเจ้าภาษีนายอากรไม่ส่งเงินเข้าพระคลังครบถ้วนตามจำนวนที่ประมูลได้ อีกทั้งรายได้จากส่วยสาอากรที่ส่งมายังราชสำนักยังต้องผ่านเจ้านายและขุนนางอำมาตย์ตามลำดับชั้น มีเบี้ยใบ้รายทางเสียจนพระคลังไม่อาจตรวจสอบรายได้จริงจากการผลิตในระบอบศักดินาเดิมที่สืบทอดมาจากสมัยอยุธยา พระองค์จึงทรงจัดการเรื่องการเงินของแผ่นดินหรือการคลังทันทีที่พระองค์ทรงบรรลุนิติภาวะ มีอำนาจในการปกครองแผ่นดินเต็มที่ เริ่มต้นที่เปลี่ยนจาก "ระบบเจ้าภาษีนายอากร" มาสู่การเก็บภาษีในลักษณะรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเป็นลำดับ โดยตราพระราชบัญญัติตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ จ.ศ. 1235 (พ.ศ. 2416) และโปรดเกล้าฯ ให้ ตราพระราชบัญญัติกรมพระคลังมหาสมบัติในปี จ.ศ. 1237 (พ.ศ. 2418) ก่อนที่จะยกฐานะขึ้นเป็นกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ในปี พ.ศ. 2433 ทำให้พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ต้องรับส่วยสาอากรผ่านเจ้าเมืองและขุนนางศักดินาที่มีมาแต่เดิม

สำหรับในด้านการปกครอง เริ่มจากส่วนภูมิภาค มีการการเปลี่ยนจาก "เจ้าเมือง/เจ้าประเทศราช" ของท้องถิ่น มาเป็นระบบ "ข้าหลวง" จากส่วนกลางนับจากปี พ.ศ. 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้มีการปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดินครั้งใหญ่ โดยทรงตั้งกระทรวงขึ้นใหม่ 12 กระทรวง และโอนการปกครองหัวเมืองทั้งหมดให้มาขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ขณะนั้นดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ) เป็นองค์ปฐมเสนาบดี นับเป็นเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดระบบบริหาราชการแผ่นดินในระบบจตุสดมภ์ และระบบอัครมหาเสนาบดี คือ สมุหนายก และ สมุหกลาโหม ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยในระยะเริ่มต้น จัดแบ่งเป็น 3 กรม คือ กรมมหาดไทยกลาง มีหน้าที่ทั่วไป กรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ มีหน้าที่ปราบปรามโจรผู้ร้าย และงานด้านอัยการ กรมพลัมภัง มีหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองท้องที่

เมื่องานการปกครองส่วนภูมิภาคขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยแล้ว สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงจัดระบบการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคขึ้นใหม่ เรียกว่า เทศาภิบาล แบ่งการปกครองเป็นมณฑล เมือง อำเภอ แต่การบริหารและรูปแบบการปกครองยังคงไม่ชัดเจนเป้นระบบเดียวกัน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดให้เทศาภิบาลขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย ยกเลิกระบบกินเมือง และระบบหัวเมืองแบบเก่า (ได้แก่ หัวเมืองชั้นใน ชั้นนอก และเมืองประเทศราช) จัดเป็นมณฑล เมือง อำเภอ หมู่บ้าน มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้กำกับดูแลมณฑล การก่อตั้งมณฑลนั้นจะเป็นไปตามลำดับโดยขึ้นอยู่กับความเป็นพื้นที่ที่มีความ สำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ด้วย วัตถุประสงค์สำคัญในการจัดการปกครองเช่นนี้ ก็เพื่อให้ส่วนกลางสามารถควบคุมดูแลหัวเมืองและจัดการผลประโยชน์แผ่นดินได้อย่างใกล้ชิด และลิดรอนอำนาจและอิทธิพลของเจ้าเมืองในระบบเดิมลงอย่างสิ้นเชิง

จะเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากการแบ่งปันพื้นที่และผลประโยชน์แบบ "ศักดินาสวามิภักดิ์" มาสู่ "สมบูรณาญาสิทธิราชย์" นั้นเป็นเรื่องนาสนใจ พอๆกับการ "เลิกไพร่" (ยุติ "ไพร่สม" ซึ่งเป็นกองกำลังที่มีลักษณะส่วนตัว มาสู่การเกณฑ์ทหารแบบใหม่) มีเนื้อหาทางการเมืองมากกว่าการ "เลิกทาส" ซึ่งมีเนื้อหาทางเศรษฐกิจ (ปลดปล่อยพลังการผลิต)

เมื่อระบบการปกครองที่มีมาแต่เดิม มาถึงจุดสิ้นสุดลงพร้อมกับการสิ้นสุดผู้รับใช้ระบบที่ขึ้นต่อและมีลักษณะขุนนางศักดินา พร้อมกับระบบกินเมือง/ระบบหัวเมือง ที่เจ้าเมือง เจ้าประเทศราช และขุนนางอำมาตย์ รวมทั้งเจ้านายเชื้อพระวงศ์สามารถเกณฑ์และสะสมไพร่พล โดยอาศัยผลประโยชน์ตามศักดินา หรือสิทธิตกทอดตามสายเลือดที่ได้รับจากระบอบการปกครอง ความจำเป็นที่จะต้องสร้างบุคลากรขึ้นมารองรับระบอบการปกครองใหม่และระบบบริหารราชการแบบใหม่ จึงเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ "ความภักดี" ในเจ้านายเดิมแบบศักดินาก็จะต้องถูกขจัดไปจาก "ข้าราชการใหม่" ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และเป็นศูนย์รวมของรัฐชาติสมัยใหม่นี้ด้วย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย ถือกำเนิดจาก "โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน" ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งขึ้นภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อปี พ.ศ. 2442 ณ ตึกยาว ข้างประตูพิมานชัยศรี ในพระบรมมหาราชวัง พร้อมทั้งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ "พระเกี้ยว" มาเป็นเครื่องหมายประจำโรงเรียน เพื่อฝึกหัดนักเรียนสำหรับรับราชการปกครองขึ้นในกระทรวงมหาดไทย ซึ่งนักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้ จะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับราชการใกล้ชิด และด้วยโบราณราชประเพณีที่ข้าราชการจะถวายตัวเข้าศึกษางานในกรมมหาดเล็กก่อน ที่จะออกไปรับตำแหน่งในกรมอื่นๆ ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามโรงเรียนเป็น "โรงเรียนมหาดเล็ก" เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2445

จนถึงวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 (ขณะนั้นนับวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ นับอย่างใหม่ต้องเข้าปี พ.ศ. 2460) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย และพระราชทานนามว่า "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" เพื่อเฉลิมพระเกียรติแห่งพระบรมราชชนกคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

นั่นคือจุดกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเป้าหมายสำคัญในการผลิตคนมารับใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเกิดการรวบอำนาจการปกครองทั้งหมดเข้าสู่ศูนย์กลางในเวลานั้น ทั้งนี้การพิจารณาประวัติศาสตร์ในบริบทเศรษฐศาสตร์การเมืองนั่นเอง ทำให้ผู้สนใจศึกษาไปพ้นความรู้แบบพงศาวดารที่ตั้งอยู่บนแนวคิดจิตนิยมแบบอำนาจราชศักดิ์และบารมีที่จับต้องไม่ได้.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 11-17 กุมภาพันธ์ 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8