Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2555

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (55)

1 ปีรัฐบาลเปรม 1-2: "กบฏเมษาฮาวาย" พ่าย

หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งนายกรัฐมนตรี ผลงานลำดับแรกของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ คือการแจ้งแก่กลุ่มการเมืองต่างๆในสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันหารือเสนอรายชื่อตัวบุคคลเข้าร่วมคณะรัฐมนตรี โดยจะให้มีรัฐมนตรีร่วมคณะน้อยที่สุด เพื่อจัดตั้งรัฐบาลภายใน 15 วัน ซึ่งในที่สุดวันที่ 12 มีนาคม 2523 จึงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีรวม 37 คน

พลเอกเปรมกล่าวปราศรัยต่อประชาชนทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ทุกเครือข่าย ก่อนที่จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเพื่อขอความไว้วางใจ ในวันที่ 29 มีนาคม 2523 เพื่อที่จะเข้าแบกรับภารกิจการบริหารประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีที่มาจากนายทหารระดับผู้บัญชาการเหล่าทัพ และเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมาแล้ว 2 กระทรวงตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ

หนึ่งในปัญหาหลักของคณะผู้บริหารประเทศในช่วงเวลาคาบเกี่ยวการสิ้นสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ดำเนินสงครามประชาชนอยู่ในเขตป่าเขามาตั้งแต่ปี 2508 นั้น ย่อมหนีไม่พ้น ปัญหาการการขับเคี่ยวกันระหว่างรัฐบาลกับกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย ที่รัฐบาลหลังการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เรียกว่า "การปราบปรามผู้ก่อการร้าย" และมีการขยายตัวของปัญหานี้ยิ่งขึ้นอย่างไม่เคยมาก่อนหลังกรณีสังหารโหด 6 ตุลาคม 2519 ที่มีนักเรียน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนครูอาจารย์ นักวิชาการ และนักประชาธิปไตยที่ประกอบด้วยบุคคลวงการต่างๆจำนวนมาก เดินเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์

ทั้งนี้ ปัญหาเรื้อรังทางเศรษฐกิจในการผลิตภาคเกษตรกรรม เนื่องจากรัฐบาลทหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มักให้ความสำคัญกับปัญหาผู้ก่อการร้ายก่อนปัญหาอื่น ดังจะเห็นได้จากงบประมาณในการพัฒนาประเทศ เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนแล้ว มักจะกลายเป็นเรื่องมาทีหลังงบประมาณด้านความมั่นคง

นอกจากนั้นปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในภาครัฐ ก็บั่นทอนเสถียรภาพของหลายรัฐบาลมาโดยตลอดเช่นกัน ในช่วงรัฐบาลเปรม 1 มีคดีทุจริตใหญ่หลายคดี เช่น การทุจริตโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย 2 สำนวน คือ (1) ร่วมกันอนุมัติกำไรสุทธิของโรงพิมพ์เป็นโบนัสและรางวัลแก่พนักงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ พ.ศ.2514 – 2520 รวม 20,804,000 บาท มีผู้ต้องหา 14 คน (2) นำเงินกำไรการพิมพ์บัตรประชาชนไปจ่ายเป็นเงินรางวัลให้กับตนเองและผู้อื่น รวม 8,527980 บาท มีผู้ต้องหา 5 คน

ตามมาด้วยการทุจริตสอบเข้าโรงเรียนพลตำรวจจังหวัดชลบุรี เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมผู้ร่วมทุจริตได้ 24 คน และการทุจริตซื้อขายข้อสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารหัวละ 50,000 บาท พลเอก เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ลงนามของกองบัญชาการทหารสูงสุด ยกเลิกการสอบคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารปีการศึกษา 2523 เนื่องจากไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนที่สอบผ่านข้อเขียนประมาณ 300 คน มาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล การชุมนุมสลายตัวเมื่อได้ทราบคำตอบให้รอฟังประกาศของกองบัญชาทหารสูงสุด ฯลฯ

จากนั้นวิกฤตปัญหาน้ำมันปิโตรเลียม นำไปสู่การตอบโต้ในกลุ่มการเมืองฟากรัฐบาล คือ ในวันที่ 4 มีนาคม 2524 รัฐมนตรีกลุ่มกิจสังคมได้ลาออกทั้งหมด วันต่อมารัฐมนตรีกลุ่มประชาธิปัตย์ก็ลาออก รัฐบาลชุดนี้จึงสิ้นสุดลง และหลังจากการปรับคณะรัฐมนตรี รัฐบาลเปรม 2 ไม่มีกลุ่มกิจสังคมและกลุ่มชาติประชาชน โดยมีกลุ่มสหพรรค (สยามประชาธิปไตย รวมไทย และเสรีธรรม) เข้ามาเสียบ มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รัฐมนตรีพ้นตำแหน่งและตั้งคณะรัฐมนตรีรวม 41 คนในวันที่ 11 มีนาคม

ต่อมาในวันที่ 1 เมษายน คณะทหารประกอบด้วยนายทหารซึ่งจบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 7 (จปร. 7) หรือรุ่น "ยังเติร์ก" ได้แก่ พันเอกมนูญ รูปขจร (ม.พัน.4 รอ.), พันเอกชูพงศ์ มัทวพันธุ์ (ม.1 รอ.), พันเอกประจักษ์ สว่างจิตร (ร.2), พันโทพัลลภ ปิ่นมณี (ร.19 พล.9), พันเอกชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล (ร.31 รอ.), พันเอกแสงศักดิ์ มงคละสิริ (ช.1 รอ.), พันเอกบวร งามเกษม (ป.11), พันเอกสาคร กิจวิริยะ (สห.มทบ.11) โดยมี พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ ประกาศยึดอำนาจการปกครอง ยุบรัฐบาล รัฐสภา ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ให้พลเอกเสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประจำกองบัญชาการทหารสูงสุดและที่ปรึกษาคณะปฏิวัติ ให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบกเป็นนายทหารนอกประจำการ การก่อการครั้งนี้เรียกกันในภายหลังว่า "กบฏเมษาฮาวาย" หรือ "กบฏยังเติร์ก"

คณะผู้ก่อการลงมือเมื่อเวลา 02.00 น. ของวันที่ 2 เมษายน โดยจับตัว พลเอกเสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พลโทหาญ ลีนานนท์, พลตรีชวลิต ยงใจยุทธ และพลตรีวิชาติ ลายถมยา ไปไว้ที่หอประชุมกองทัพบก และออกอากาศแถลงการณ์คณะปฏิวัติ

"เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศทุกด้านกำลังระส่ำระส่ายและทรุดลงอย่างหนัก เพราะความอ่อนแอของผู้บริหารประเทศ พรรคการเมืองแตกแยก ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอน จึงเป็นจุดอ่อนให้มีคณะบุคคลที่ไม่หวังดีต่อประเทศเคลื่อนไหวจะใช้กำลังเข้ายึดการปกครองเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบเผด็จการถาวร ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและอยู่รอดของประเทศ คณะปฏิวัติซึ่งประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน จึงได้ชิงเข้ายึดอำนาจการปกครองของประเทศเสียก่อน"

แต่แล้วพลเอกเปรมสามารถหลบหนีไปตั้งกองบัญชาการอยู่ที่ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา พร้อมกับออกประกาศในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการร่วมรักษาความสงบแห่งชาติ ปฏิเสธว่ามิได้ลาออกจากตำแหน่งแต่อย่างใด การกระทำของพลเอกสัณห์และคณะเป็นการละเมิดกฎหมาย รัฐบาลจะเร่งดำเนินการทุกวิถีทางให้สถานการณ์กลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว

ในที่สุดรัฐบาลก็ยึดอำนาจการปกครองกลับคืนโดยไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรง กองกำลังฝ่ายกบฏส่วนใหญ่ยอมจำนนและถอนตัวกลับเข้าที่ตั้งปกติ พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา หนีไปได้ ส่วนพลโทวศิน อิศรางกูร ณ อยุธยา รองหัวหน้าคณะปฏิวัติ ได้เข้ามอบตัวต่อรัฐบาล ในวันที่ 3 เมษายน

ระหว่างสถานการณ์ นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระบรมโอรสธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายา และสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จากกรุงเทพฯ ไปประทับในค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่งวันที่ 1 เมษายน และได้เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 5 เมษายน.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 3-9 เมษายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8