Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2555

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (54)

หมดเวลา "แกงไก่ใส่บรั่นดี": ฉากแรกสู่อำนาจของ "ป๋า"

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญทางการเมืองชนิดล้มลุกคลุกคลานมาตลอดหลังการรัฐประหาร 2490 ซึ่งเป็นการ "โค่นล้ม" ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ตามความหมายจากการสัมภาษณ์นายปรีดี พนมยงค์ ที่แสดงไว้เมื่อปี 2525 ในโอกาสครบรอบ 50 ปี "การอภิวัฒน์สยาม 2475" โดยสถานีวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย

จังหวะก้าวทางการเมืองที่มีความมหายและนัยสำคัญ และส่งผลสะเทือนและมีอิทธิพลต่อการเมืองในเวลาต่อมาอีกกว่า 30 ปี คือ การก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองอย่างเต็มตัวของ พล.ท.เปรม ติณสูลานนท์ (ยศในขณะนั้น) จากการได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มีนายกรัฐมนตรี พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นเจ้ากระทรวง ในคณะรัฐมนตรีคณะที่ 40 (11 พฤศจิกายน 2520 - 21 ธันวาคม 2521) และในเวลาต่อมาในคณะรัฐมนตรี คณะที่ 41 (12 พฤษภาคม 2522 - 3 มีนาคม 2523) พล.อ.เปรม ก็ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

และโดยที่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 12 พุทธศักราช 2520 จากการรัฐประหาร กำหนดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ดังนั้นในวันที่ 22 ธันวาคม 2521 จึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ซึ่งมีบทเฉพาะกาล จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ทั้งจากนักวิชาการและสื่อสารมวลชน ที่เริ่มขยับตัวได้จากการเผด็จอำนาจเต็มรูปแบบ หลังกรณี 6 ตุลาฯ ว่าเป็นประชาธิปไตยแบบ "ไม่เต็มใบ" หรือ "ครึ่งใบ"

แต่ถึงกระนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้ใช้เป็นกฎหมายปกครองประเทศยาวนานเป็นลำดับที่ 2 คือใช้มาจนถึงปี 2534 รองจากรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งใช้มาจนถึงปี 2489

รัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ 22 เมษายน 2522 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป แต่เนื่องจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่สามารถตรากฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองได้ทันก่อนที่จะพ้นหน้าที่ออกไป ดังนั้นในการเลือกตั้งทั่วไปคราวนี้จึงยังไม่มีพรรคการเมือง มีแต่กลุ่มการเมืองซึ่งส่งสมาชิกเข้ารับการเลือกตั้ง 46 กลุ่ม ด้วยกัน ผลการเลือกตั้งมีกลุ่มการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา 15 กลุ่ม กลุ่มที่มีผู้แทนราษฎรมากที่สุดคือ กลุ่มกิจสังคมได้ 82 คน ลำดับที่สองเป็นกลุ่มอิสระหรือไม่สังกัดกลุ่มการเมือง จำนวน 63 คน กลุ่มชาติไทยเป็นลำดับที่สามจำนวน 38 คน และรวมกับกลุ่มอื่นๆ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 301 คน

ขณะเดียวกันก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 225 คน ในวันที่ 22 เมษายน 2522 ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร รวมสมาชิกรัฐสภา 526 คน

รัฐสภาได้เสนอให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยการสนับสนุนจากกลุ่มการเมืองดังนี้ คือ เกษตรกรรมสังคม เสรีธรรม กิจประชาธิปไตย ชาติประชาชน รวมไทย และผู้แทนราษฎรไม่สังกัดกลุ่ม และมีกลุ่มกิจสังคม ชาติไทย ประชากรไทยและประชาธิปัตย์ เป็นฝ่ายค้าน

จากนั้นจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีร่วมคณะ 43 คณะ รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 7 มิถุนายน 2522 โดยไม่มีการอภิปราย

แต่แล้วเมื่อคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของพล.อ.เกรียงศักดิ์บริหารประเทศไปได้ เพียง 5 เดือน กลุ่มกิจสังคมก็ดำเนินการในฐานะผู้นำขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล 4 กระทรวง ดังนี้

กระทรวงมหาดไทยไม่ สามารถแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความไม่สงบสุขของประชาชน ปัญหาอาชญากรรมชุกชุม ปัญหาคนว่างงาน และปัญหาเกี่ยวกับความล้มเหลวในการจัดการศึกษาประชาบาล

กระทรวงคมนาคมบริหาร งานโดยขาดความรับผิดชอบในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของประชาชน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านการขนส่งและโทรคมนาคม ทั้งยังขอเพิ่มค่าบริการเกินความจำเป็น

กระทรวงพาณิชย์ไม่ สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและพาณิชย์ทำให้ภาวะค่าครองชีพสูงขึ้น ไม่สามารถรักษาระดับสินค้าที่จำเป็นแก่การอุปโภคบริโภคให้อยู่ในระดับสินค้าที่จำเป็นแก่การอุปโภคบริโภคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ ไม่สามารถประกันราคาพืชผลให้แก่เกษตร การบริหารงานส่วนใหญ่มีแต่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน

กระทรวงอุตสาหกรรมไม่สามารถแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันและก๊าซขาดแคลน กับไม่สนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศ ซึ่งผิดนโยบายของรัฐบาลที่แถลงมา

การเปิดอภิปรายทั่วไป ไม่วางใจกระทำเมื่อวันที่ 12-15 ตุลาคม 2522 ในการลงมติในวันที่ 16 ปรากฏว่ามติไม่ไว้วางใจมีไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ญัตติจึงตกไป

แต่แล้วในท่ามกลางความผันผวนในทางเศรษฐกิจภายในประเทศจนตั้งมีการปรับขึ้นราคาค่าบริการสาธารณูปโภคบางรายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทันทีที่รัฐบาลผ่านการลงมติไว้วางใจ ก็ตัดสินใจอนุมัติให้ขึ้นราคาค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปาทั่วประเทศอีก 50 % เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2522 ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอญัตติขอให้มีการพิจารณาทบทวน และเรียกร้องให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบลาออก รัฐบาลจึงต้องระงับการขึ้นราคาสาธารณูปโภคดังกล่าวไว้ก่อน

สำหรับปัญหาใหญ่ที่คงคู่กับการบริหารราชการแผ่นดินมายาวนาน คือปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งก่อให้เกิดแรงกดดันต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล กระทั่งมีรัฐมนตรียื่นใบลาออก 3 คน ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2522 และลาออกอีก 1 คน ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2523 และนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2523 ซึ่งในจำนวนคณะรัฐมนตรี 38 คน ปรากฏว่ามาจากสมาชิกผู้แทนราษฎรเพียง 3 คนเท่านั้น

ครั้นวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2523 ในที่ประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งต่อรัฐสภา เป็นการดักหน้าการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลตามมาตรา 137 ของรัฐธรรมนูญ 2521 ซึ่งกำหนดไว้เป็นวันที่ 3 มีนาคม 2523 โดยมีประเด็นสำคัญอยู่ที่การประกาศขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างกะทันหันในราคาที่สูงเกินไป ประชาชนเดือดร้อน

ต่อมาในการลงมติการคัดเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ซึ่งกระทำ ณ รัฐสภาในวันที่ 3 มีนาคม 2523 ผลคือพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 27 มีนาคม - 2 เมษายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8