Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (16)

จุดพลิกผันประชาธิปไตย
เมื่อนายปรีดีถูกหมายหัว

นายปรีดี พนมยงค์ในฐานะหัวหน้าเสรีไทยสายในประเทศ เยือนจังหวัดตรังและถ่ายรูปร่วมกับสมาชิกคณะราษฎรในจังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2479

จุดพลิกผันอันนำไปสู่ความแตกแยกในทางทางความคิดของคณะรัฏฐาธิปัตย์ใหม่ ภายหลังการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 อยู่ที่การนำเสนอ "เค้าโครงเศรษฐกิจ" หรือที่เรียกกันว่า "สมุดปกเหลือง" โดยนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะผู้ก่อการสายพลเรือนในปี พ.ศ. 2476 ต่อรัฐบาลเพื่อใช้เป็นนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ตามเจตนารมณ์ในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร

ทั้งนี้ใจความสำคัญซึ่งมีลักษณะก้าวล้ำสมัยแม้กระทั่งในเวลานี้คือหลักประกันสังคม ที่ให้แก่ราษฎรให้ได้รับความอุปการะเลี้ยงดูจากรัฐบาลตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้เจ็บป่วย พิการ หรือชรา ไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนในหมวดที่ 3 แห่งเค้าโครงเศรษฐกิจ ในชื่อร่าง พ.ร.บ. "ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร"

แต่น่าเสียดาย ที่แนวความคิดข้างต้นนั้นถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และถูกคัดค้านอย่างหนัก แม้นายปรีดีจะเขียนไว้ใน "ข้อที่ควรระลึกในการอ่านคำชี้แจง" ว่า
**************
"การคิดที่จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนี้ ข้าพเจ้าได้เพ่งเล็งถึงสภาพอันแท้จริง ตลอดจนนิสสัยใจคอของราษฎรส่วนมากว่า การที่จะส่งเสริมให้ราษฎรได้มีความสุขสมบูรณ์นั้น ก็มีอยู่ทางเดียว ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเอง โดยแบ่งการเศรษฐกิจนั้นออกเป็นสหกรณ์ต่างๆ ความคิดที่ข้าพเจ้าได้มีอยู่เช่นนี้ ไม่ใช่เป็นด้วยข้าพเจ้าได้มีอุปาทานผูกมั่นอยู่ในลัทธิใดๆ ข้าพเจ้าได้หยิบเอาส่วนที่ดีของลัทธิต่างๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมแก่ประเทศสยามแล้ว จึงได้ปรับปรุงยกขึ้นเป็นเค้าโครงการ

เหตุแห่งความลำเอียง
แต่มีข้อควรระลึกว่า การจัดบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจนั้น ย่อมมีลัทธิอยู่มากมายหลายอย่าง แต่ผู้ที่นิยมนับถือในลัทธิต่างๆ ยังมิอาจที่จะทำความตกลงกันได้ ทั้งนี้ศาสตราจารย์เดสชองป์ส์แห่งมหาวิทยาลัยกรุงปารีสได้กล่าวไว้ว่ามีอยู่ 3 ประการ

ไม่รู้โดยไม่ตั้งใจ
1. เพราะบุคคลทุกคนยังไม่รู้ลัทธิต่างๆ การไม่รู้นี้เป็นโดยไม่ตั้งใจ เช่นผู้ที่ไม่ได้ศึกษาหรืออ่านตำราที่แท้จริงของลัทธิต่างๆ บุคคลผู้นั้นก็มิอาจที่จะทำความตกลงอย่างไรได้

ไม่รู้โดยตั้งใจ
2. เพราะตั้งใจจะไม่รู้ เช่น บุคคลที่ได้ยินได้ฟังคำโพนทนาตลาดว่า ลัทธิหนึ่งนิยมให้ฆ่าฟันกัน ริบทรัพย์ของผู้มั่งมีเอามาแบ่งให้แก่คนจนเท่าๆกัน เอาผู้หญิงเป็นของกลางแล้วก็หลงเชื่อตามคำตลาด และมีอุปาทานยึดมั่นในคำชั่วร้ายและไม่ค้นคว้าและสืบต่อไปให้ทราบความว่า ลัทธินั้นได้ยุยงให้คนฆ่าฟันกันจริงหรือ ริบทรัพย์เอามาแบ่งให้เท่าๆกันจริงหรือ เอาผู้หญิงมาเป็นของกลางจริงหรือ

ประโยชน์ส่วนตน
3. เพราะเหตุประโยชน์ส่วนตน กล่าวคือบุคคลที่แม้จะรู้ลัทธิต่าง ๆ ว่ามีส่วนดีอย่างไรก็แกล้งทำเป็นไม่รู้ ไม่ยอมที่จะดำเนินตาม เพราะเหตุที่ตนมีประโยชน์ส่วนตัวที่จะป้องกันไม่ให้ใช้ลัทธิต่าง ๆ นั้น เช่น ลัทธิโซเชียลลิสม์ ที่ประสงค์ให้รัฐบาลเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเสียเอง เพื่อประโยชน์ของราษฎรเสียทั้งหมดดั่งนี้ ผู้ที่ประกอบอุตสาหกรรมก็ต้องไม่นิยมลัทธิโซเซียลลิสม์เพราะเกรงไปว่า ฃประโยชน์ตนที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมนั้นจะต้องถูกริบ หรือบุคคลที่เกลียดชังรัฐบาลด้วยเหตุส่วนตัว แม้จะรู้ลัทธิต่างๆและจะเห็นว่าลัทธินั้นดีก็ตาม แต่เมื่อรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินตามลัทธินั้น ตนเองได้ตั้งใจเป็นปรปักษ์กับรัฐบาล ก็แสร้งทำเป็นถือลัทธิหนึ่ง บุคคลจำพวกนี้จัดเป็นพวกอุบาทว์กาลีโลก เพราะเหตุที่ตนมุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตนเป็นใหญ่ หาได้มุ่งถึงประโยชน์ของราษฎรโดยทั่วไปไม่"
**************
เหตุการณ์สำคัญครั้งแรกที่ถือเป็นการท้าทายระบอบประชาธิปไตยที่นำมาสู่สังคมสยามในเวลานั้น คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ซึ่งเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2476 โดยความสนับสนุนของคณะราษฎรกลุ่มทหารที่นำโดย พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ทำรัฐประหารเงียบหรือที่เรียกกันว่า "รัฐประหารด้วยปากกาด้ามเดียว" สั่งปิดสภาโดยไม่มีกำหนด พร้อมกับประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราโดยพลการ

นอกจากนั้นยังมีคำสั่งเนรเทศนายปรีดีไปยังประเทศฝรั่งเศส และออกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เป็นครั้งแรก ด้วยความมุ่งหมายที่จะทำลายคณะราษฎร เพราะเข้าใจกันว่านายปรีดีเป็นมันสมองของคณะราษฎร และแผนต่อไปก็คือการจับกุมคณะราษฎรมาลงโทษฐานกบฏ ท่ามกลางความไม่พอใจของสมาชิกคณะราษฎรกลุ่มที่สนับสนุนนายปรีดี

แต่แล้วนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรฝ่ายทหารอาวุโส ก็รวมรวมกำลังทหารยึดอำนาจคืน และสั่งเนรเทศพระยามโนฯไปยังปีนัง กระทั่งถึงแก่อสัญกรรม

วันที่ 20 มิถุนายน 2476 นายปรีดี พนมยงค์ เดินทางกลับประเทศ และได้เข้าร่วมบริหารราชการแผ่นดินกับคณะราษฎร ผลงานสำคัญหลังจากนั้นคือ การมอบคืนอำนาจนิติบัญญัติให้แก่ราษฎรอย่างสมบูรณ์ ตามรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 โดยยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท 2 (ที่มาจากการแต่งตั้ง) และให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งสิทธิในการจัดตั้งพรรคการเมืองโดยไม่มีเงื่อนไข และสิทธิในการที่จะนิยมลัทธิการเมืองใดๆ ก็ได้

ทว่าอุบัติการณ์ที่ยังความโศกาดูรโทมนัสมาสู่อาณาประชาราษฎร ภายหลังจากสิ้นสุดของสงครามใหญ่ ขณะที่ประเทศกำลังจะก้าวไปสู่หนทางอันรุ่งโรจน์ ภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตยที่บริหารราชการแผ่นดินภายใต้พระปรมาภิไธยแห่งยุวกษัตริย์ลำดับที่ 8 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคต ในวันที่ 9 มิถุนายน 2489

นายปรีดีและคณะรัฐมนตรีได้ขอความเห็นชอบต่อสภาว่า ผู้ที่จะขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ควรได้แก่สมเด็จพระอนุชา เมื่อสภามีมติเห็นชอบ นายปรีดีก็ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 11 มิถุนายน 2489 ทั้งที่เพิ่งได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ด้วยเหตุผลว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงแต่งตั้งตนเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นได้สวรรคตเสียแล้ว

แต่ในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรก็สนับสนุนให้นายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเป็นสมัยที่ 3.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 4-10 กรกฎาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (15)

คณะราษฎรและเสรีไทย
ในสงครามมหาเอเชียบูรพา

พลพรรคเสรีไทยส่วนหนึ่งก่อนกองทัพสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิจะยอมจำนน

ในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ประจวบคีรีขันธ์และอีกหลายจังหวัดภาคกลาง เปิดฉากสงครามมหาเอเชียบูรพา มีการต่อสู้อย่างดุเดือดเป็นเวลา 3 วัน เพื่อต่อต้านการรุกรานของมหาอำนาจหนึ่งเดียวในทวีปเอเชียในเวลานั้น แต่แล้วรัฐบาลไทย โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ยอมยุติการต่อสู้กับกองกำลังญี่ปุ่น และประกาศหยุดยิงในวันที่ 11 ธันวาคม จากนั้นตัดสินใจเดินหน้าเข้าร่วมวงไพบูลย์และทำพิธีลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ที่อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 21 ธันวาคม เพื่อให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านแผ่นดินไทย และในที่สุดก็ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 อันเป็นการละเมิดต่อประกาศพระบรมราชโองการปฏิบัติความเป็นกลาง พ.ศ. 2482

ฝ่ายอังกฤษจึงประกาศสงครามกับไทยเพื่อเป็นการตอบโต้ อย่างไรก็ตามนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชการที่ 8 และคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน เช่น นายทวี บุณยเกตุ และ นายควง อภัยวงศ์ เป็นต้น ไม่เห็นด้วยกับการให้ญี่ปุ่นละเมิดอธิปไตยและแสดงจุดยืนให้ปรากฏโดยเป็นผู้ นำในการจัดตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่น หรือต่อมาเรียกว่า "ขบวนการเสรีไทย" ประกอบด้วยคนไทยทุกชั้นวรรณะ ทั้งที่อยู่ในประเทศและอยู่ต่างประเทศ ทั้งนี้นายปรีดีไม่ยอมร่วมลงนามในประกาศสงครามนั้นด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่าหากลงนามไปแล้วก็ยากที่จะให้ประเทศสัมพันธมิตรเชื่อถือการปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทย

ในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ และหัวหน้าเสรีไทยในรหัสนามว่า "รูธ" (Ruth) นายปรีดีต้องทำงานในลักษณะตีสองหน้าตลอดช่วงสงคราม ทั้งถือเป็นหัวใจของการปฏิบัติงานของขบวนการเสรีไทยทั้ง 3  สาย คือ สายสหรัฐอเมริกา ซึ่งมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้า สายอังกฤษ ซึ่งมี ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ เป็นหัวหน้า และสายในประเทศ ซึ่งนายปรีดีเป็นทั้งหัวหน้าและเป็นทั้งศูนย์กลางการประสานงานเสรีไทยทั้งขบวนเข้าด้วยกัน ถือเป็นงาน "ใต้ดิน" และต้อง "ปิดลับ" ในระดับสูงสุด พลพรรคเสรีไทยจะรู้จักกันเฉพาะในหน่วยของตน และหัวหน้าหน่วยจึงจะมีการรวมกลุ่มจัดสายบังคับบัญชากันเป็นชั้นๆ โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ

1. ต่อสู้กับญี่ปุ่นผู้รุกราน
2. ปฏิบัติการให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองเจตนารมณ์ที่แท้จริงของราษฎรไทย
3. ให้สัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามร่วมกับญี่ปุ่น


วันที่ 24 กรกฎาคม 2487 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกกดดันให้ลงออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการเสนอร่าง พ.ร.บ.ระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร โดยนายควง อภัยวงศ์ขึ้นเป็นรัฐบาลรักษาการณ์

ต่อมาในวันที่ 1 สิงหาคม 2487 พลโท พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง สภาผู้แทนราษฎรจึงได้ลงมติแต่งตั้งให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว และ 24 สิงหาคม จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกปลดจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2488 นายปรีดีแจ้งให้สัมพันธมิตรทราบว่า เสรีไทยจำนวน 8 หมื่นคนทั่วประเทศพร้อมที่จะลุกฮือขึ้นเพื่อทำสงครามกับทหารญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรอ้างเหตุผลทางยุทธศาสตร์ขอให้ชะลอแผนนี้ไว้ก่อน

แต่แล้วในที่สุดฝ่ายญี่ปุ่นก็ยอมแพ้สงครามอย่างไม่มีเงื่อนไขในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 หลังจากเครื่องบินของสหรัฐอเมริกาไปทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม

และในเวลาอันรวดเร็ว ฝ่ายสัมพันธมิตรก็แจ้งแก่หัวหน้าขบวนการเสรีไทยว่า สัมพันธมิตรไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นผู้แพ้สงคราม ประเทศไทยไม่ต้องถูกยึดครอง รัฐบาลไทยไม่ต้องยอมจำนน กองทัพไทยไม่ต้องวางอาวุธ และขอให้ท่านรีบออกแถลงการณ์ในนามผู้สำเร็จราชการฯ ปฏิเสธการประกาศสงครามระหว่างไทยกับสัมพันธมิตร เพื่อลบล้างข้อผูกพันทั้งหลายทั้งปวงที่รัฐบาลไทยในสมัยหนึ่งได้ทำไว้กับญี่ปุ่น

ดังนั้นในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึง "ประกาศสันติภาพ" ดังความบางตอนว่า

"ประเทศไทยได้เคย ถือนโยบายอันแน่วแน่ที่จะรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด และจะต่อสู้การรุกรานของต่างประเทศทุกวิถีทาง ดังปรากฏเห็นได้ชัดจากการที่ได้มีกฎหมายกำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบ พ.ศ. 2484 อยู่แล้วนั้น ความจำนงอันแน่วแน่ดังกล่าวนี้ได้แสดงให้เห็นประจักษ์แล้ว เมื่อญี่ปุ่นได้ยาตราทัพเข้าในดินแดนประเทศไทยในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ได้มีการต่อสู้การรุกรานทุกแห่ง ทหาร ตำรวจ ประชาชน พลเมืองได้เสียชีวิตไปในการนี้เป็นอันมาก"

"เหตุการณ์อันปรากฏเป็น สักขีพยานนี้ ได้แสดงให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งว่าการประกาศสงครามเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 ต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ตลอดทั้งการกระทำทั้งหลายซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อสหประชาชาตินั้น เป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชาวไทยและฝ่าฝืนขืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง"

"จึงขอประกาศโดยเปิดเผยแทน ประชาชนชาวไทยว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็นโมฆะ ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับสหประชาชาติ ประเทศไทยได้ตัดสินที่จะให้กลับคืนมาซึ่งสัมพันธไมตรีอันดี อันเคยมีมากับสหประชาชาติเมื่อก่อนวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 และพร้อมที่จะร่วมมือเต็มที่ทุกทางกับสหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพในโลกนี้"

วันที่ 20 สิงหาคม รัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

วันที่ 1 กันยายน นายทวี บุณยเกตุ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลรักษาการ ซึ่งรัฐมนตรีในรัฐบาลส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายเสรีไทย และอีกเพียง 17 วันให้หลัง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา เพื่อมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

จากนั้นในวันที่ 25 กันยายน 2488 นายปรีดีจึงประกาศยกเลิกขบวนการเสรีไทย

"ผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าคราวนี้ ถือว่าทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าทำหน้าที่เป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทำของคนไทยทั้งปวงซึ่งแม้ผู้ไม่ได้เข้าร่วมในองค์การนี้โดยตรง ก็ยังมีอีกประมาณ 17 ล้านคน ที่ได้กระทำโดยอิสระของตนในการต่อต้านด้วยวิถีทางที่เขาเหล่านั้นสามารถทำได้"


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 27 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (14)

รัฐบาลพิบูลสงครามในกรณีพิพาทอินโดจีน
และการเข้าร่วมสงครามมหาเอเชียบูรพา

จอมพล ป. เดินตรวจแถวและทักทายทหารที่จะไปร่วมรบในสงครามอินโดจีน

หลังจากการกวาดล้างจับกุมเป็นไปอย่างเบ็ดเสร็จ หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้จัดตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาคดีเป็นการเฉพาะ ซึ่งนอกเหนือจากเป็นการกล่าวโทษความพยายามก่อกบฏทั้งที่ยังไม่มีการเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใดแล้ว การดำเนินการพิจารณาคดีในศาลพิเศษดังกล่าว ยังเป็นการดำเนินการกล่าวหาโดยยกพยานหลักฐานและพยานบุคคลของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยที่ทางฝ่ายจำเลยไม่มีสิทธิแต่งตั้งทนายขึ้นมาแก้ต่างตามคำกล่าวหาแต่อย่างใด กระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั่วไปในเวลานั้น ค่อนข้างสรุปตรงกันและบ่งชี้ไปว่าเป็นการดำเนินการเพื่อกำจัดศัตรูของหลวงพิบูลสงคราม

ศาลพิเศษซึ่งมี พันเอกหลวงพรหมโยธี เป็นประธาน ตัดสินว่า มีการเตรียมการยึดอำนาจโดย พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นผู้นำ ในการอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2482 ให้ปล่อยตัวพ้นข้อหาจำนวน 7 คน จำคุกตลอดชีวิตจำนวน 25 คน ส่วนโทษประหารชีวิตจำนวน 21 คน แต่ให้เว้นการประหาร คงเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต 3 คน เนื่องจากเคยประกอบคุณงามความดีให้กับประเทศชาติ คือ

1. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ซึ่งในการพิพากษาคดีมีคำสั่งให้ถอดจากฐานันดรศักดิ์ลงมาเป็นสามัญชน ถูกจำคุกอยู่จนถึงวันที่ 28 กันยายน 2486 ก็ได้รับการอภัยโทษจากรัฐบาลหลวงพิบูลฯ และได้รับฐานันดรศักดิ์คืนเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2487 ต่อมาในวันที่ 16 มิถุนายน 2489 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ร่วมกับพระยามานวราชเสวี เนื่องจากในขณะนั้นยังมิได้ทรงบรรลุพระราชนิติภาวะ

2. พลโท พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา)

3. พันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์ (เชย รมยะนันท์) หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร

นักโทษการเมืองหมดถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำบางขวาง จากนั้นนักโทษประหารชีวิตถูกทยอยนำตัวออกมาประหารด้วยการยิงเป้าวันละ 4 คน จนครบจำนวน 18 คน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ "กบฏ 18 ศพ"

สำหรับบทบาทและแนวทางการบริหารประเทศของ พลตรี แปลก พิบูลสงคราม ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนับจากปี 2481 ประกาศนโยบายสร้างชาติ ซึ่งมีแนวโน้มเป็นลัทธิชาตินิยม เช่น ออกกฎหมายคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ มีการสงวนอาชีพบางอย่างไว้เฉพาะคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้ประกาศคำขวัญ "ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ" เพื่อชักชวนให้คนไทยหันมาใช้สินค้าที่ผลิตโดยฝีมือคนไทย อันเป็นการส่งเสริมผลักดันการพัฒนาการผลิตของประเทศ

นอกจากนั้น รัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงประเพณีและวัฒนธรรมบางประการ เพื่อให้สอดคล้องกับการการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และให้เกิดความทันสมัย เช่น ประกาศให้ข้าราชการเลิกนุ่งผ้าม่วง เลิกสวมเสื้อราชปะแตน และให้นุ่งกางเกงขายาวแทน มีการยกเลิกบรรดาศักดิ์ และยศข้าราชการพลเรือน มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย" ในวันที่ 24 มิถุนายน 2482 และเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคม เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยเริ่มเปลี่ยนในปี 2484 ทำให้ ปี 2483 มีเพียง 9 เดือน ประกาศจัดตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้นเมื่อ 2485 เพื่อจัดระเบียบการดำเนินชีวิตของคนไทยให้เป็นแบบอารยประเทศ โดยประกาศรัฐนิยมฉบับต่างๆ และสั่งห้ามประชาชนกินหมากโดยเด็ดขาด ให้ผู้หญิงเลิกนุ่งโจงกระเบน เปลี่ยนมานุ่งผ้าถุงแทน ให้สวมหมวก สวมรองเท้า โดยมีคำขวัญในสมัยนั้นว่า "มาลานำไทยสู่มหาอำนาจ" หากผู้หญิงคนใดไม่ใส่หมวกจะถูกตำรวจจับและปรับ และยังวางระเบียบการใช้คำแทนชื่อเป็นมาตรฐาน เช่น ฉัน ท่าน เรา มีคำสั่งให้ข้าราชการกล่าวคำว่า "สวัสดี" ในโอกาสแรกที่พบกัน และมีการตัดพยัญชนะในภาษาไทยที่ออกเสียงซ้ำกัน ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการสะกดคำมากมาย เช่น กระทรวงศึกษาธิการ เขียนเป็น กระซวงสึกสาธิการ ก่อให้เกิดความสับสนกันทั่วไป

เหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งที่ส่งให้ พลตรี แปลก พิบูลสงคราม เป็นผู้นำที่มีความโดดเด่น นอกเหนือจากการเป็นกำลังสำคัญในการปราบกบฏบวรเดช คือ "กรณีพิพาทอินโดจีน"

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส จากปัญหาเรื่องการใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ระหว่างไทยกับอินโดจีน (ลาว เขมร และเวียดนาม) ซึ่งอยู่ในครอบครองฝรั่งเศสมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยฝรั่งเศสไม่ยอมตกลงเรื่องการใช้ร่องน้ำลึกเป็นเส้นเขตแดน ในเดือนพฤศจิกายน 2483 ฝรั่งเศสส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดเมืองนครพนม อันเป็นการเปิดฉากการรบระหว่างฝรั่งเศสกับไทย ฝรั่งเศสโจมตีไทยทางอรัญประเทศ รัฐบาลไทยส่งทหารรุกเข้าไปในอินโดจีนทางด้านเขมร การรบทำท่าจะไม่ยุติลงง่ายๆ แต่ขณะนั้นญี่ปุ่นซึ่งกำลังวางแผนจะสร้างอิทธิพลในเอเชียอาคเณย์ เสนอตัวเข้าไกล่เกลี่ย จนมีการส่งผู้แทนไปลงนาม อนุสัญญาสันติภาพที่กรุงโตเกียว (Tokyu Convention) เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2484 ในครั้งนั้นไทยได้ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง คือ แขวงไชยะบุรี คืน รวมทั้งทางใต้ตรงข้ามปากเซ คือ แขวงจัมปาศักดิ์ และดินแดนในเขมรที่เสียให้ฝรั่งเศสไปเมื่อปี 2450 กลับคืนมาด้วย

ในวันที่ 24 มิถุนายน 2484 พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เป็นผู้วางศิลาฤกษ์ก่อสร้าง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงชัยชนะของไทยต่อฝรั่งเศส และ 1 ปีต่อมา จอมพล ป.พิบูลสงคราม (ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2484 โดยที่ทำความชอบในการเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และสามารถทำให้ประเทศไทยได้ดินแดนคืนจากฝรั่งเศสหลายแห่ง) เป็นผู้กระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2485

แต่แล้วด้วยความเชื่อมั่นในตนเอง และจุดยืนที่จะสร้างชาติที่เข้มแข็ง เป็นอิสระจากมหาอำนาจตะวันตกที่เจ้าอาณานิคมในภูมิภาค คือฝรั่งเศสทางทิศตะวันออก อังกฤษทางทิศตะวันตกและทิศใต้ ทำให้ตัดสินใจเป็นพันธมิตรและเข้าร่วม "วงไพบูลย์" กับญี่ปุ่นในสงครามมหาสมุทรแปซิฟิก หรือสงครามมหาเอเชียบูรพา ในปี 2485 ซึ่งเท่ากับประเทศไทยเข้าร่วมทำสงครามโลกครั้งที่ 2 ในฝ่าย "อักษะ" ซึ่งประกอบด้วยเยอรมนีและอิตาลีในทวีปยุโรป กับญี่ปุ่นในทวีปเอเชีย และทันทีที่ญี่ปุ่นเข้าโจมตีฐานทัพเรือของสหรัฐที่เพิร์ลฮาเบอร์ ในหมู่เกาะฮาวาย ไทยก็ตัดสินใจประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ร่วมกับญี่ปุ่นทันทีเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ที่สำคัญที่สุดคือ ความกดดันจากสถานการณ์ รวมทั้งการคาดการณ์ว่าญี่ปุ่นจะเป็นฝ่ายชนะสงคราม ดังนั้นการเข้าร่วมกับญี่ปุ่นก็เหมือนกับการเข้าร่วมกับผู้ชนะ ซึ่งอาจทำให้ไทยได้รับผลประโยชน์ร่วมกับผู้ชนะ.


โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 30 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริ

วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (13)

กบฏพระยาทรงสุรเดช:
การแตกหักในฝ่ายทหารคณะราษฎร

คณะราษฎรสายทหารบก พระยาทรงสรุเดช แถวนั่งเก้าอี้ คนที่ 4 จากซ้าย

ภายหลังจากเสร็จสิ้นการปรามการก่อกบฏนายสิบ ดูเหมือนสถานการณ์การเมืองจะเงียบสงบมาระยะหนึ่ง พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี สามารถรักษาสถานภาพการปกครองมาตั้งแต่ ปี 2476 มาจนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2480 จึงเป็นโอกาสของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งที่ 2 หลังจากการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2476 โดยในครั้งนี้ มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวม 91 คน และสภามีมติให้พระยาพหลฯ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2481 รัฐบาลของพระยาพหลฯ แพ้มติในสภาในบัญญัติข้อแก้ไขข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎร พระยาพหลฯ จึงได้ขอลาอออกต่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่ยอมรับใบลาออกเนื่องจากในขณะนั้นสถานการณ์ภายในและภายนอกประเทศมีความตึงเครียด ในประเทศมีความขัดแย้งต่อเนื่องในคณะราษฎรฝ่ายทหารบก นับจากช่วงรอยต่อการอภิวัฒน์สยาม ระหว่างพระยาทรงสุรเดช ซึ่งอยู่ในกลุ่มนายทหารอาวุโส กับหลวงพิบูลสงคราม ในฐานะทหารหนุ่ม ตามมาด้วยการสนับสนุนพระยามโนปกรณ์ฯขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์คราวกบฏบวรเดช

เมื่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ปฏิเสธการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระยาพหลฯจึงตัดสินใจตามวิถีทางประชาธิปไตยและบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน และในการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อซาวเสียงเลือกนายก รัฐมนตรีในวันที่ 16 ธันวาคม 2481 สภาฯ ก็มีมติเลือก พันเอกหลวงพิบูลสงคราม ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้เพราะพระยาพหลฯ ปฏิเสธไม่ยอมรับตำแหน่งโดยข้ออ้างด้านปัญหาสุขภาพสุขภาพ

หลังการอภิวัฒน์สยาม หลวงพิบูลสงครามกลายเป็นผู้ทรงอำนาจทางทหารที่ค้ำอำนาจนายกรัฐมนตรีของพระยาพหลฯ มาโดยตลอด กระทั่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รักษาพระนคร ซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้บัญชาการกองกำลังปราบปรามกบฏบวรเดช ในขณะที่คณะรัฐบาลและนายทหารอาวุโสตกอยู่ในภาวะละล้าละลัง เนื่องจากในระยะแรกของการก่อการพระองค์เจ้าบวรเดชสามารถรวบรวมกำลังของทหารหัวเมืองโดยรอบกรุงเทพฯ ให้เข้าเป็นสมัครพรรคพวกได้เป็นจำนวนมาก จนมีกำลังเหนือกว่าทหารของฝ่ายรัฐบาล แต่ด้วยความเด็ดขาดและศักยภาพในการบัญชาการรบ ทำให้ มีทหารฝ่ายกบฏยอมจำนนและแปรพักตร์มาเข้ากับฝ่ายรัฐบาล จนนำไปสู้การปราบปรามในที่สุด

ในระหว่างที่พระยาพหลฯดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่นั้นเอง มีเหตุการณ์พยายามลอบสังหารหลวงพิบูลสงครามถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกถูกนายพุ่ม ทับสายทอง ใช้ปืนยิงที่สนามหลวง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2477 (2478) ครั้งที่ 2 ถูกยิงโดยนายลี บุญตา คนใช้ในบ้านเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2481 และครั้งที่ 3 ถูกวางยาพิษ ซึ่งปรากฏว่าท่านผู้หญิงละเอียด ภริยา ถึงกับต้องเข้ารับรักษาในโรงพยาบาล ปรากฏว่าทั้ง 2 งดการรับประทหารอาหารและน้ำนอกบ้านอยู่ระยะหนึ่ง

หลังจากหลวงพิบูลสงคราม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2481 พระยาทรงสุรเดช ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนรบ จังหวัดเชียงใหม่ ได้นำนักศึกษาไปฝึกภาคสนามที่จังหวัดราชบุรี ได้ถูกคำสั่งให้พ้นจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญ และบีบให้เดินทางออกนอกประเทศ (เขมร) ทันที พร้อมด้วยร้อยเอก สำรวจ กาญจนสิทธิ์ นายทหารคนสนิท

จากนั้น ในช่วงเช้ามืดวันที่ 29 มกราคม 2481 (2482) จึงมีการกวาดล้างผู้ที่ต้องสงสัยว่าคิดจะทำการยึดอำนาจจากรัฐบาล และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความพยายามลอบสังหารหลวงพิบูลฯด้วย มีผู้ต้องสงสัยถูกจับกุมรวมทั้งสิ้น 51 คน ในจำนวนนี้รวมทั้งอดีตนายทหารที่ลาออกเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการบริหารประเทศของรัฐบาลพระยาพหลฯ คือ ร้อยโท ณ เณร ตาละลักษณ์ โดยออกมาทำหนังสือพิมพ์ "ชุมชน" ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงในการคัดค้านนโยบายของรัฐบาล ซึ่งในเวลานั้น มีผู้ยกย่องว่าเป็นหนังสือพิมพ์อุดมคติ ที่มุ่งมั่นจะให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยแท้จริง ครั้นเมื่อ ร้อยโท ณ เณร ได้รับเลือกตั้งในปี 2481 ได้เข้าสภาฯ เป็น ส.ส. พระนครเขต 2 (เวลานั้นกรุงเทพฯกับธนบุรียังแยกเป็น 2 จังหวัด พระนครมี 3 เขต ส่วนธนบุรี มี ส.ส.ได้เพียง 1 คน) จึงกลายเเป็นหนึ่งใน ส.ส. ฝีปากกล้า ในการอภิปรายจนนายกรัฐมนตรีพระยาพหลฯ ยุบสภาดังกล่าว ซึ่งในการซาวเสียงเลือกนายกฯในเวลาต่อมา ก็แสดงตัวสนับสนุนพระยาทรงสุรเดชเป็นนายกฯอย่างแข็งแรงทั้งในสภาและผ่านทางหนังสือพิมพ์

ในการกวาดล้างจับกุมครั้งนั้นผู้ต้องหาที่สำคัญประกอบด้วย
1. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร
2. พลโท พระยาเทพหัสดิน - อดีตแม่ทัพไทยในสงครามโลกครั้งที่ 1
3. พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ - อดีตรัฐมนตรี
4. พระวุฒิภาคภักดี
5. พันเอก พระสิทธเรืองเดช อดีตรัฐมนตรี
6. พันโท พระสุระรณชิต
7. ร้อยโท ณ เณร ตาละลักษณ์ - อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พระนคร
8. ร้อยเอก หลวงภักดีภูมิภาค
9. ร้อยโท ชิต ไทยอุบล
10. หลวงสิริราชทรัพย์
11. นายดาบ ผุดพันธ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา - บุตรพระยาเทพหัสดิน
12. ร้อยโท เผ่าพงศ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา - บุตรพระยาเทพหัสดิน
13. นายดาบ พวง พลนาวี - ข้าราชการรถไฟ พี่ชายของคุณหญิงทรงสุรเดช ภรรยาพระยาทรงสุรเดช
14. พันเอก หลวงมหิทธิโยธี - ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกราชบุรี
15. ร้อยตรี บุญมาก ฤทธิ์สิงห์ - นายทหารประจำการ
16. พันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์ - อดีตรัฐมนตรี
17. ร้อยเอก ขุนคลี่พลพฤนท์ - นายทหารประจำกองบังคับการ รร.รบ เชียงใหม่
18. พันตำรวจตรี ขุนนามนฤนาท - นายตำรวจประจำการ
19. พันตรี หลวงไววิทยาศร - นายทหารประจำการ
20. นายทหารฝึกหัดราชการ รร.รบ เชียงใหม่ ลูกศิษย์พระยาทรงสุรเดช 5 นาย คือ ร้อยเอก จรัส สุนทรภักดี, ร้อยโท แสง วัณณศิริ, ร้อยโท สัย เกษจินดา, ร้อยโท เสริม พุ่มทอง และร้อยโท บุญลือ โตกระแสร์
21. ร้อยเอก ชลอ เอมะศิริ - หลานชาย พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ 1 ใน 4 ทหารเสือ
22. พลตรี หม่อมเจ้าวงศ์นิรชร เทวกุล
23. นายโชติ คุ้มพันธ์ - อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
24. พระยาวิชิตสรไกร


โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 23-29 ตุลาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

บันทึก: "ความในใจสู่มิตรสหายฝ่ายประชาธิปไตย"

"ความในใจสู่มิตรสหายฝ่ายประชาธิปไตย"

ในภาวการณ์ที่สับสนปั่นป่วนภายในขบวนประชาธิปไตยประชาชนซึ่งรวมศูนย์ที่การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง และความขัดแย้งระหว่างกลุ่มพลังต่างในสังคมที่ด้านหนึ่งคือฝ่ายประชาธิปไตย และอีกด้านหนึ่งคือฝ่ายปฏิกิริยาหรือปฏิปักษ์ประชาธิปไตย (อำมาตย์ อภิชน ขุนศึกฟาสซิสต์)

ประเด็นสำคัญที่ฝ่ายประชาธิปไตยยังคงตอบโจทย์เกี่ยวกับจุดยืน เป้าหมาย และแนวทาง ได้ไม่ชัดเจน ยิ่งส่งผลสะเทือนทั้ง 2 ด้าน คือ

1. ต่อภายใน เอกภาพในการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆในฝ่ายประชาธิปไตยไม่อาจเกิดขึ้น ในท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ โจมตี โดยละเลยที่จะอภิปรายเพื่อหาข้อสรุปในประเด็นหลัก คือ จุดยืนและเป้าหมายของการสถาปนาประบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้นในประเทศ

2. ต่อภายนอก ด้านหนึ่ง ความไม่ชัดเจนนำไปสู่การกล่าวร้ายใส่ความ จากฝ่ายปฏิกิริยาเพื่อทำลายความชอบธรรมของขบวนประชาธิปไตย ทั้งนี้โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการโดดเดี่ยวคนเสื้อแดงออกจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และอีกด้านหนึ่ง ลดความน่าเชื่อถือในสายตาของประชาคมนานาชาติ

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ความแหลมคมของความขัดแย้ง และความพยายามสร้างเงื่อนไขการทำรัฐประหาร ฉุดดึงประเทศกลับไปสู่การปกครองในระบอบเผด็จการ อันเป็นวงจรอุบาทว์ทางการเมืองอีกครั้งหนึ่งนั้น ขอขยายความเป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนขบวนประชาธิปไตยเฉพาะหน้า เป็น...

"ต้านรัฐประหาร โค่นเผด็จการ สร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน"

ประชาธิปไตยจงเจริญ ประชาชนจงเจริญ
ด้วยภราดรภาพ

รุ่งโรจน์ วรรณศูทร
13 กุมภาพันธ์ 2554
เวลา 17:23 น.

วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (12)

เกลือเป็นหนอน "กบฏนายสิบ 2478"
ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยล้มเหลวซ้ำสอง

รถถังและกำลังพลประจำรถถังในยุคนั้น (ช่วงปี 2475-2480)

ผลจากความพ่ายแพ้ในความพยายามการก่อการเพื่อฟื้นพระราชอำนาจแห่งการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระปกเกล้าฯ ด้วยการก่อกบฏที่นำโดยพระองค์เจ้าบวรเดช (หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร) และเผชิญกับการปราบปรามอย่างรุนแรง มีผู้ถูกจับกุมจำนวนหนึ่งทั้งเจ้านายและสามัญชน จนในที่สุดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติ ก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนจิตใจของผู้ที่จงรักภักดีต่ออดีตพระมหากษัตริย์เป็นอย่างมาก

ความกระทบกระเทือนใจนี้ได้ก่อตัวขึ้นเป็นความเจ็บแค้นในหมู่นายทหารชั้นประทวนกลุ่มหนึ่งคิดวางแผนยึดอำนาจการปกครอง โดยการประกาศเจตนารมณ์อย่างลับๆ อ้างว่าเพื่อคืนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถวายสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

การก่อการครั้งนี้แตกต่างจากการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน และกบฏบวรเดชที่เพิ่งถูกปราบปรามลงอย่างราบคาบเพียงประมาณปีเศษที่ผ่านมานั้น คือ เป็นการดำเนินงานนายทหารชั้นประทวน ที่ประกอบด้วยกลุ่มนายสิบจากหลายหน่วยระดับกองพันทหารบก ซึ่งทหารชั้นประทวนเหล่านี้ชั้นยศสูงสูสุดคือ "จ่านายสิบ" นับเป็นเป็นผู้บังคับบัญชาระดับล่าง แต่อยู่ใกล้ชิดกำลังพลที่สุด สำหรับความหมายในทางสังคมจึงเท่ากับเป็นประชากรที่มาจากระดับรากหญ้าที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าจะมาจากนายสิบกองประจำการที่มาจากการเกณฑ์ทหารตามปกติ หรือที่ผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนในโรงเรียนนายสิบ ที่อาจมีโอกาสผ่านเข้ายกระดับวิทยฐานะและชั้นยศจนไปถึงระดับนายดาบ หรือกระทั่งโรงเรียนนายร้อยทหารบก (โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ) จนถึงเป็นจอมพล ดังเช่น จอมพล ผิน ชุณหะวัณ

ราวเดือนมิถุนายน 2478 จึงเริ่มมีการพบปะและวางแผนก่อการ โดยให้เหตุผลหลักไว้ 3 ประการเพื่อชักจูงทหารส่วนอื่นๆเข้ามาร่วมหรือสนับสนุน เหตุผลดังกล่าว คือ 1.ไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลพระยาพหลฯ 2.ผู้บังคับบัญชาของพวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐบาล 3.ไม่พอใจที่รัฐบาลไม่เทิดทูนพระมหากษัตริย์เท่าที่ควร

สำหรับกลุ่มสมาชิกผู้วางแผนก่อการลำดับต้นๆ ประกอบด้วย สิบเอกสวัสดิ์ มหะหมัด (หัวหน้า), สิบโท ม.จ.ทวีวงศ์ วัชรีวงศ์, สิบเอกเข็ม เฉลยพิศ, สิบเอกถม เกตุอำไพ, สิบเอกเท้ง แซ่ซิ้ม, จ่านายสิบสาคร ภูมิทัต ฯลฯ

คณะนายสิบผู้ก่อการเตรียมการวางแผนลงมือตอนใกล้รุ่งของวันที่ 5 สิงหาคม 2478 ขั้นแรกคือส่งกำลังเข้ายึดกระทรวงกลาโหมเป็นกองบัญชาการการชั่วคราว จากนั้นก็จู่โจมสังหารบุคคลสำคัญบางคนในคณะรัฐบาล อันได้แก่ พันเอก หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกลาโหม หลวงอดุลย์เดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากรวรวรรณ ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี แต่สำหรับ พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีนั้น ฝ่ายก่อการคิดจับไว้เป็นตัวประกัน และหากได้รับการขัดขวางจากผู้ใดก็จะกำจัดอย่างเด็ดขาด

นอกจากนี้ผู้คิดก่อการยังมีแผนเปิดที่คุมขังนักโทษการเมืองออกมาเป็นกำลังสมทบเพื่อกวาดล้างฝ่ายรัฐบาลให้สิ้นซาก ทั้งยังเตรียมประกาศทันทีที่ยึดอำนาจไว้อย่างสิ้นเชิงแล้วว่าจะทูลเชิญพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 กลับสู่ราชอาณาจักร

แต่เนื่องจากความคิดที่จะดำเนินการอย่างรุนแรงด้วยการสังหารบุคคลสำคัญฝ่ายรัฐบาลนี้เอง ทำให้ผู้ร่วมวางแผนบางคนไม่เห็นด้วยและได้นำความไปเปิดเผยต่อผู้บังคับบัญชา จากนั้นเรื่องจึงถูกรายงานไปถึงหลวงพิบูลสงคราม จึงได้มีการสั่งการให้ผู้บังคับบัญชาของแต่ละคนคอยติดตามการเคลื่อนไหวของทหารชั้นประทวนกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิดจนรู้พฤติการณ์แน่ชัดแล้ว จึงมีคำสั่งให้ผู้บังคับบัญชาของแต่ละกรมกองเข้าจู่โจมจับทหารในสังกัดที่วางแผนก่อกบฏ

ปฏิบัติการชนิดสายฟ้าแลบเข้ากวาดล้างจับกุมโดยที่เป้าหมายทั้งหมดไม่ทันรู้ตัว เริ่มตั้งแต่เวลา 12.30 น. ของวันที่ 3 สิงหาคม 2478 จนถึงวันที่ 7 สิงหาคม ไม่มีการต่อสู้ขัดขืนแต่อย่างใด ทุกคนยอมจำนนแต่โดยดี

การจับกุมเริ่มจากกองพันทหารราบที่ 2 วังจันทร์เกษม มี พันตรี หลวงประหาริปูราบ เป็นผู้บังคับกองพัน เข้าจับกุมสิบเอกแช่ม บัวปลื้ม สิบโทแผ้ว แสงส่องสูง สิบโท ม.ล.กวีวงศ์ วัชรีวงศ์ สิบเอกเข็ม เฉลยพิศ สิบเอกกวย สินธุวงศ์ สิบเอกเท้ง แซ่ซิ้ม สิบเอกตะเข็บ สายสุวรรณ และสิบเอกถม เกตุอำไพ

นอกจากนี้ หลวงพิบูลสงคราม ได้สั่งไปยังผู้บังคับกองพันต่างๆเข้าจับกุมนายทหารชั้นประทวนคนอื่นที่คิดก่อการอย่างต่อเนื่องได้ผู้ต้องหาทั้งสิ้น 21 นาย

ทันทีที่กวาดล้างฝ่ายวางแผนก่อกบฏลงได้อย่างสิ้นเชิงอย่างไม่มีการเสียเลือดเนื้อและปราศจากการต่อสู้ ทางฝ่ายรัฐบาลจึงได้จัดตั้งศาลพิเศษพิจารณาความผิดของพวกกบฏ เป็นพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ แก้ไขเพิ่มเติมจาก 2476 ซึ่งมีข้อพิเศษดังนี้

ในการที่จะลงอาญาประหารชีวิตแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามคำพิพากษาศาลพิเศษ ผู้ต้องคำพิพากษาจะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระมหากษัตริย์ให้ยื่นฎีกาภายใน 48 ชั่วโมง นับตั้งแต่ได้อ่านคำพิพากษา... ถ้าผู้ต้องคำพิพากษา ไม่ยื่นฎีกาภายในกำหนดเวลา หรือได้ยื่นไปแล้วแต่ไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษตามกำหนดเวลานั้น ท่านให้เอาตัวผู้ต้องหานั้นไปประหารชีวิตโดยไม่ชักช้า

คณะกรรมการศาลพิเศษชุดนี้ซึ่งสอบสวนคดีอย่างเร่งรีบ มีถึง 7 นาย  ประกอบไปด้วย พันเอก พระยาอภัยสงคราม พันโท พระยาวิชัยยุทธเดชาคนี พันโท หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต พันโท หลวงรณสิทธพิชัย พันโท หลวงเสรีเริงฤทธิ์ ร้อยเอก หิรัญ ปัทมานนท์ นายเสงี่ยม กาญจนเสถียร คำพิพากษาตัดสินคดีในวันที่ 3 กันยายน 2478 ให้จำคุกตลอดชีวิต สิบโท ม.ล. กวีวงศ์ วัชรีวงศ์ สิบเอกเข็ม เฉลยพิศ สิบเอกถม เกตุอำไพ สิบเอกแท้ง แซ่ซิ้ม จ่านายสิบสาคร ภูมิทัต สิบเอกกวย สินธุวงศ์ สิบโทศาสน์ คชกุล สิบโทแผ้ว แสงส่งสูง สิบเอกแช่ม บัวปลื้ม สิบเอกตะเข็บ สายสุวรรณ และสิบโทเลียม คะหินทะพงษ์

จำคุกเพียง 16 ปี เป็นพลเรือน คือ นายนุ่น ณ พัทลุง

ส่วนสิบเอกสวัสดิ์ มหะหมัด ซึ่งปฏิเสธตลอดข้อหานับแต่ขั้นสอบสวน ถูกคำสั่งประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า ในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2479 ณ หลักประหารป้อมพระจุลจอมเกล้า ปากน้ำ สมุทรปราการ.


โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 16-22 ตุลาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อย่าให้ขบวนประชาธิปไตยเป็นเพียงทรายร่วนไร้พลัง

อย่าให้ขบวนประชาธิปไตยเป็นเพียงทรายร่วนไร้พลัง


อย่าให้พลังประชาธิปไตยเป็นเพียงทรายร่วน ที่ออกแรงกำไว้ในมือก็จะไหลออกตามซอกนิ้วจนหมดสิ้น
ประชาชนผู้รักเสรีภาพ รักประชาธิปไตย ต้องประสานตัวเองให้เป็นประดุจดินเหนียว ที่อาจปั้นขึ้นรูปเป็นอย่างใดก็ได้ตามความคิดชี้นำที่ถูกต้อง

เวลานี้ ขบวนประชาธิปไตยต้องการความเข้าใจ ความทุ่มเท และความตั้งใจแน่วแน่ มากกว่าครั้งไหนๆในประวัติศาสตร์ อาการน้ำขุ่นที่เป็นมานับจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีความจำเป็นยิ่งขึ้นที่จะได้รับการกวนซ้ำด้วยสารส้ม และน้ำกำลังจะตกตะกอน เมื่อน้ำใสเมื่อใด ทัศนวิสัยใต้น้ำจะกระจ่างชัด

มีคำถาม 2 คำถามที่ผู้เขียนเสนอผ่านทางพื้นที่ในโลกไซเบอร์มาโดยตลอดนับเนื่องมาจากมาจากกลางปี 2552 นั่นคือ "1.เราเข้าใจประชาธิปไตยแค่ไหน/อย่างไร" และตามมาด้วย "2.เรามีรูปแบบประชาธิปไตยสำหรับสังคมไทยเสนอต่อสาธารณะแล้วหรือไม่"

นั่น คือหากขบวนประชาธิปไตยสามารถสร้างเอกภาพความเข้าใจร่วมกันบนพื้นฐานสร้าง ชาติไทยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ คำถามที่ 3 และ 4 จึงจะตามมา นั่นคือ "เราต้องทำอะไรบ้าง?" และ "เราจะเริ่มต้นกันที่ตรงไหน?"

ทว่า ในอีกด้านหนึ่ง หากขบวนประชาธิปไตยประชาชนไม่อาจสร้างทิศทางการขับเคลื่อนขบวนแถวในลักษณะ ทั่วไปให้เข้าเป้า ตรงประเด็น ก็จะเท่ากับเดินวนเวียนอยู่ใน "เขาวงกตแห่งการหมกเม็ดเผด็จอำนาจ" ปัญหาพื้นฐานที่เป็นใจกลางของปัญหาทั้งปวงก็จะไม่ได้รับการแก้ไข ประชาธิปไตยก็จะกร่อนความหมายลงตามที่ฝ่ายปฏิกิริยา/ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ต้องการ คือ ระบบคิดของประชาชนจะถูกทำให้หยุดชะงักอยู่เพียงการเดินซ้ารอย "แนวทางรัฐธรรมนูญนิยม" และ "การเลือกตั้งสามานย์" ที่ไม่เป็นและไม่อยู่ในเงื่อนไขประชาธิปไตย

ในรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับของประเทศนี้ มีที่ใกล้เคียงกับความเป็น "ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์" ตามนัยของนายปรีดี พนมยงค์ มาสิ้นสุดลงแค่รัฐธรรมนูญ 9 พฤษภาคม 2489 ซึ่งมีโอกาสใช้เพียง 18 เดือน ก็ถูกรัฐประหารที่นำโดย พลโทผิน ชุณหะวัน

นับจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 เป็นต้นมา เป็นรัฐธรรมนูญ "อำมาตย์/อภิชน" ทุกฉบับ: มีเหตุผลสำคัญ 2 ประการ 1.ผู้แทนปวงชนไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งหมด และ/หรือ 2.มีบทบัญญัติว่าด้วยอำนาจหน้าที่ขององค์กรนอกอธิปไตยทั้ง 3 ตราไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "องคมนตรี" ซึ่งในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475; รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 10 ธันวาคม 2475 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 9 พฤษภาคม 2489 ไม่มี "องคมนตรี" (ดู "รัฐธรรมนูญที่ปราศจากองคมนตรี :ว่าด้วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" http://forum1.arinwan.com/index.php?topic=241.0)

ใจกลางของปัญหาในเวลานี้ คือ

1.ขบวนประชาธิปไตยประชาชน โดยเฉพาะ "คนเสื้อแดง" จะโดยสังกัดกลุ่ม นปช. หรือไม่อย่างไรก็ตาม ต้องเร่งทำความเป็นเอกภาพใน "ประชาธิปไตย"
2.ขบวนประชาธิปไตยนำองค์ความรู้จากการสรุปในข้อที่ 1 ข้างต้นไปสู่ประชาชน "ฝ่ายกลาง" เพื่อโดดเดี่ยวกลุ่ม "ปฏิกิริยา" ซึ่งก็คือหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยที่ว่าด้วย "สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียม และความยุติธรรม" และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการ "เสรีภาพในการคิดและการแสดงออก (Freedom of Speech)"
3.นั่นคือ พลังฝ่ายประชาธิปไตยไม่เพียงต้องต้องรู้จัก "ตัวเอง" อย่างถ่องแท้แล้ว เรายังต้องรู้ด้วยว่า "ใคร" คือเพื่อนพ้องที่สามารถรับฟังความเห็นและต้อนรับแนวคิดของพลังประชาธิปไตย ที่สมเหตุสมผล สอดคล้องกับพัฒนาการของประวัติศาสตร์และสังคมปัจจุบัน และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั่วไปในหมู่ประชาชน
4.ตระหนักและเลิกหวังพึ่ง "พลังภายนอก" ซึ่งในที่นี้ คือหวังว่าจะมีอำนาจอื่นใดนอกเหนือพลังประชาชน ที่จะนำพาภารกิจสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ไปสู่ความสำเร็จ

ในขณะเดียวกัน จะต้องตระหนักและพิจารณาแนวทางนำพาสังคมไทยออกจากเขาวงกตแห่งการเผด็จอำนาจ การปกครองไว้ในมือคนส่วนน้อยได้อย่างอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งก็ได้แก่
1.เลิกพายเรือในอ่างกับ "แนวทางรัฐธรรมนูญนิยม" และ "การเลือกตั้งภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย"
2.หยุด "การซุกขยะใต้พรม" ในความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ด้วยการชำระประวัติศาสตร์ฝ่ายประชาชนอย่างแท้จริง
3.สร้าง "สำนึกประชาธิปไตย" เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจและจุดยืน "โค่นล้มระบอบเผด็จการ สร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน"

ปมเงื่อนสำคัญที่จะจูงขบวนประชาธิปไตยออกจากเงามืดสู่แสงสว่างคือ การตระหนักว่า นับจากการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ประเทศนี้ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย "แม้แต่ฉบับเดียว"

และจากวันนั้นถึงวันนี้ อำนาจรัฐที่แท้จริงอยู่ในเงื้อมเงาของกลุ่ม "อำมาตย์/อภิชน/ขุนศึกฟาสซิสต์" มาโดยตลอด ในสัดส่วนมากน้อยแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของแต่ละช่วงเวลา หรือกล่างอย่างถึงที่สุดและตรงไปตรงมา คือ 63 ปีมานี้ ประเทศนี้ไม่เคยปกครองในระบอบประชาธิปไตย

นั่นย่อมหมายความว่า ภารกิจสำคัญของขบวนประชาธิปไตยย่อมหนีไม่พ้น การต้องตอบโจทย์ประชาธิปไตยให้แตกในเวลาอันรวดเร็ว

และการตอบโจทย์นั้นเอง จึงจะสามารถนำไปสู่การสร้างเอกภาพทางความคิด การวางเป้าหมายรูปธรรมที่เป็นหลักร่วมกัน แปรเปลี่ยนภาวะ "ทรายร่วนในถาด" ของขบวนประชาธิปไตยประชาชน ให้กลายเป็นดินเหนียวที่มั่นคงเปี่ยมพลังสามารถปั้นขึ้นรูป และขับเคลื่อนขบวนทั้งขบวน ตลอดจนแนวร่วมผู้สนับสนุนการปกครองรอบอบประชาธิปไตย ที่อาจยังคงกังขา ลังเล อยู่ในเวลานี้

และเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่เป็นข้อบ่งชี้ชัยชนะ หรือความพ่ายแพ้ การพัฒนารุดหน้าหลังถดถอยของขบวนประชาธิปไตยทั้งขบวน ย่อมหนีไม่พ้นความจำเป็นในการเสนอภาพรวมที่ชัดเจนต่อสาธารณะ เพื่อที่ "ผู้ นำ" การเปลี่ยนแปลง ซึ่งย่อมหนีไม่พ้น "ฝ่ายก้าวหน้าที่สุดของสังคม" จะต้องสามารถเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ "พลังหลัก" ในการเปลี่ยนแปลง จากนั้นจึงสร้าง "แนวร่วม" ที่เป็นจริงขึ้นในท่ามกลางการขับเคลื่อนขบวนไปสู่การเปลี่ยนแปลงในขอบเขตที่ เป็นไปได้มากที่สุดของแต่ละช่วงเวลา.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 11-17 ธันวาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (11)

ความขัดแย้งหลังปราบกบฏ
พระปกเกล้าฯสละราชสมบัติ

พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ

ท่ามกลางความเห็นที่ไม่ต้องตรงกันระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับรัฐบาลสยามในเวลานั้น พระองค์ได้พระราชทานพระราชบันทึกมายังรัฐบาลรวม 2 ฉบับ เมื่อเดือน กันยายน 2477 คือ

พระราชบันทึกฉบับที่ 1 ทรงขอร้องมา 3 ประการคือ (1) ให้งดเว้นว่ากล่าวคดีกบฏสำหรับหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ และนายทหารรักษาวัง (2) งดการเลิกทหารรักษาวัง (3) ให้งดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกระทรวงวังใหม่

พระราชบันทึกฉบับที่ 2 ทรงขอร้องมารวมทั้งสิ้น 4 ประการด้วยกันคือ (1) ให้ยอมตามข้อขอร้องทั้ง 3 ข้อ ในพระราชบันทึกฉบับที่ 1 (2) ให้บุคคลต่างๆในรัฐบาล เลิกกล่าวร้ายทับถมการงานของพระราชวงศ์จักรีอย่างเข้มงวด (3) แสดงความเคารพนับถือในองค์พระมหากษัตริย์โดยชัดเจน (4) พยายามระงับความไม่สงบต่างๆ โดยตัดไฟคือ ก. ไม่ดำเนินโครงการเศรษฐกิจแบบโซชะลิสต์หรือสังคมนิยมอย่างแรง ข. ลดหย่อนผ่อนโทษ นักโทษการเมือง

ทว่าหลังจากการโต้ตอบกันไปมาทาง หนังสือหรือโทรเลขดำเนินไประยะหนึ่ง โดยทางรัฐบาลพันเอกพระยาพหลฯ เห็นว่าไม่สามารถทำความเข้าใจระหว่างกันให้แจ่มแจ้งชัดเจนได้ จึงส่งผู้แทนเดินทางในเดือนพฤศจิกายน 2477 ไปเข้าเฝ้าฯ เพื่อทำความตกลงในเหตุที่ข้องพระราชหฤทัย ณ ประเทศอังกฤษ ผู้แทนทั้ง 3 นายประกอบด้วย เจ้าพระยาศรีธรรมธิเบศ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นาวาตรี หลวงธำรงค์นาวาสวัสดิ์ ร.น. รัฐมนตรี และนายดิเรก ชัยนาม ซึ่งทำหน้าที่เลขานุการ

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงทรงพระราชทานพระราชบันทึกมายังรัฐบาลเป็นฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2477 มีใจความสำคัญรวม 9 ข้อดังนี้

          1.การเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ต้องให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงเลือกอย่างแท้จริง ไม่ใช่รัฐบาลหรือคณะปฏิวัติเป็นผู้เลือก
          2.ให้ แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 39 ซึ่งเดิมกำหนดไว้ว่าเมื่อพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัติแล้ว หากสภายืนยันตามมติเดิมก็ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ ให้แก้เป็นต้องได้รับคะแนนเสียง 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงจะใช้ได้
          3.ให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 14 คือให้ประชาชนมีเสรีภาพในการเขียน การพูด การโฆษณา ฯลฯ อย่างแท้จริง
          4.ให้เลิกพระราชบัญญัติป้องกันรัฐธรรมนูญ เพราะขัดกับหลักเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยมาก
          5.ให้อภัยโทษและลดหย่อนผ่อนโทษแก่นักโทษการเมือง
          6.ให้ข้าราชการที่ถูกปลด ฐานมัวหมองต้องสงสัยในคดีการเมือง ได้รับเงินบำนาญ
          7.ให้งดการจับกุมฟ้องร้องข้าราชการที่ต้องสงสัยเกี่ยวกับคดีการเมือง ทั้งที่กำลังฟ้อง หรือดำริจะฟ้องต่อไปเสีย
           8.ขอให้รัฐบาลและสภาให้คำรับรองว่าจะไม่ตัดกำลัง และตัดงบประมาณของทหารรักษาวังให้น้อยลงไปกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และขอให้จ่ายอาวุธและกระสุนให้แก่กรมทหารรักษาวังเท่ากับทหารราบหน่วยอื่นๆ
          9.ขอให้จัดการออกพระราชบัญญัติวางระเบียบการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาในเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษ


คำตอบของรัฐบาลที่สนองพระราชบันทึกไป ไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย ทั้งนี้เป็นด้วยสาเหตุแห่งความแตกร้าวหลังการอภิวัฒน์สยามมีอยู่มากมายเกินกว่าที่จะตกลงกันด้วยดีได้ ตลอดเวลาแห่งการเจรจากันเต็มไปด้วยปัญหายุ่งยากนานัปการ ที่ทั้งสองฝ่ายไม่อาจจะประนีประนอมกันได้ ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติและได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานมายังรัฐบาล เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 (ซึ่งหากนับอย่างสากล ควรเป็นพุทธศักราช 2478 แต่นับอย่างเก่า ซึ่งถือเอาวันที่ 1 เมษายน เป็นวันเปลี่ยนศักราช ในเวลานั้นยังถือว่าเป็นพุทธศักราช 2477) ดังมีความในตอนท้าย ดังนี้

"ข้าพเจ้ามีความเต็มใจ ที่จะสละอำนาจ อันเปนของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิม ให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้า ให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร

บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศไทยโดยแท้จริง ไม่เปนผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า บัดนี้ เปนอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือ หรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เปนต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเปนของข้าพเจ้าอยู่ในฐานะที่เปนพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวงอันเปนของข้าพเจ้าแต่เดิมมาก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์

ข้าพเจ้าไม่มีประสงค์ที่จะบ่งนามผู้หนึ่งผู้ใดให้เปนผู้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อไป ตามที่ข้าพเจ้ามีสิทธิจะทำได้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ อนึ่ง ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะให้ผู้ใดก่อการไม่สงบขึ้นในประเทศเพื่อประโยชน์ของข้าพเจ้า ถ้าหากมีใครอ้างใช้นามของข้าพเจ้า พึงเข้าใจว่ามิได้เปนไปโดยความยินยอมเห็นชอบหรือความสนับสนุนของข้าพเจ้า

ข้าพเจ้ามีความเสียใจเปนอย่างยิ่ง ที่ไม่สามารถจะยังประโยชน์ให้แก่ประชาชนและประเทศชาติของข้าพเจ้าต่อไปได้ ตามความตั้งใจและความหวังซึ่งรับสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ยังได้แต่ตั้งสัตยอธิษฐานขอให้ประเทศสยามจงได้ประสบความเจริญ และขอประชาชนชาวสยามจงได้มีความสุขสบาย.


ประชาธิปก.ปร.
วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477
เวลา 13 นาฬิกา 45 นาที"

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และพระประยูรญาติสนิทบางพระองค์ จึงทรงย้ายที่ประทับจากใจกลางเมืองไปอยู่ในชนบทใกล้กรุงลอนดอน จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2484 ขณะที่ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ที่พระตำหนักคอมพ์ตัน ตำบลเวอร์จิเนียวอเตอร์ ประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จสวรรคตโดยฉับพลันด้วยพระหทัยวาย ทรงมีพระชนมพรรษา 48 พรรษา

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทรงจัดการเรื่องพระบรมศพและถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นการภายใน ในวันที่ 3 มิถุนายน ปีนั้น โดยไม่มีพระเมรุมาศ ไม่มีเสียงประโคมย่ำยาม และไม่มีแม้แต่พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 9-15 ตุลาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประชาธิปไตยกับหลักสิทธิเสรีภาพ

ประชาธิปไตยกับหลักสิทธิเสรีภาพ:
อำนาจอันชอบธรรมของรัฏฐาธิปัตย์


"ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights)"
คือการประกาศเจตนารมณ์ในการร่วมมือระหว่างประเทศที่มีความสำคัญในการวางกรอบ เบื้องต้นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และเป็นเอกสารหลักด้านสิทธิมนุษยชนฉบับแรก ซึ่งที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ให้การรับรองตามข้อมติที่ 217 A (III) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 โดยประเทศไทยออกเสียงสนับสนุน ประกอบด้วยหลักการพื้นฐาน 30 ข้อ ในจำนวนนี้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับหลักความมีอิสระและความเสมอกัน ไว้คือ

ข้อ 1 มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในเกียรติ ศักดิ์ศรีและสิทธิ ต่างมีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยเจตนารมณ์แห่งภราดรภาพ

ข้อ 19 ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกสอดและที่ จะแสวงหา รับและแจกจ่ายข่าวสารและความคิดเห็นไม่ว่าโดยวิธีใดๆ และโดยไม่คำนึงถึงเขตแดน

เมื่อย้อนกลับมาดูเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดในประเทศไทยที่ประกาศตัวมาตลอดว่าเป็นประชาธิปไตยจะพบว่า นับจากการต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ในปี พ.ศ. 2548 โดยการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมือง นักวิชาการบางส่วน และสื่อสารมวลชนที่นำโดย นายสนธิ ลิ้มทองกุล กับสื่อในเครือผู้จัดการ ได้เกิดปรากฏการณ์ผิดธรรมชาติทางการเมืองระบอบประชาธิปไตย และถูกนำมาขยายความจนกระทั่งมีฐานะเป็นความคิดครอบงำในการต่อต้านการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย นั่นคือการใช้ "สัญลักษณ์" โดยใช้ "เสื้อเหลือง" เป็นสัญลักษณ์ต่อต้าน "ระบอบทักษิณ" ของกลุ่มการเมืองที่ในเวลาต่อมาพัฒนาสู่ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)" อีกทั้งมีการเคลื่อนไหวในลักษณะ "อิงแอบ" สถาบันเบื้องสูงมากขึ้น

กระทั่งหลังปฏิบัติการ "ฉีกรัฐธรรมนูญ/ปล้นประชาธิปไตย" (แม้จะไม่ใช่ประชาธิปไตยที่สมบุรณ์ก็ตาม) ภายใต้การปกครองของ "รัฐบาลอำมาตย์/ขุนศึก" ซึ่งค้ำจุนโดยฝ่ายทหาร ผู้ก่อการยึดอำนาจการปกครองรัฐบาลพลเรือนเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้ง โดยประกาศชื่อของตนเองชนิดยาวเหยียดเพื่อสร้างความชอบธรรมจอมปลอม ว่า "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)" นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ตามมาด้วยการเปลี่ยนถ่ายชื่อเป็น "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)" ให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับองค์กรหลักที่มีหน้าที่รักษาสันติภาพและเสรีภาพ ภายใต้การกำกับขององค์การสหประชาชาติ

ทั้งหมดนั้นเพียงเพื่อสร้างความชอบธรรมจอมปลอม!

เป็นความชอบธรรมจอมปลอมต่อเนื่องในแทบทุกพฤติกรรมปฏิกิริยา/ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ความพยายามโยงเสื้อสีเหลือง/ผ้าพันคอสีฟ้า ของผู้นำกลุ่ม พธม. เพื่อบิดเบือนและอิงแอบสถาบันเบื้องสูง ในการโจมตี ใส่ร้าย การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย จะโดยในเสื้อสีแดง (ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังเสื้อสีเหลือง) หรือการเคลื่อนไหวโดยกลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท. ทักษิณ หรือไม่อย่างไรก็ตาม

นั่นคือความพยายามในอันที่จะแยก พลังประชาธิปไตย ออกจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่รักเสรีภาพ รักประชาธิปไตย และคัดค้านระบอบอำมาตย์/เผด็จการซ่อนรูป

ไม่ว่าจะพิจารณาจากจุดยืนใด ความขัดแย้งระหว่าง มวลชน "เสื้อแดง" ที่ประกอบด้วยกลุ่มพลังประชาชนหลากหลายแนวทาง ที่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง นำโดย "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)" กับ มวลชน "เสื้อเหลือง" ที่นำโดย พธม. ซึ่งสนับสนุนการขับไล่รัฐบาลประชาธิปไตย และมีส่วนขับเคลื่อนไปสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เองนั้น...

เป็นเพียงบริบทหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างพลังประชาธิปไตยกับพลังปฏิกิริยา/ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย

ความ พยายามของรัฏฐาธิปัตย์ปัจจุบัน ที่สะท้อนนัยในการสนับสนุนการรัฐประหาร 19 กันยาฯ ก็ดี หรือช่วงหนึ่งการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่ม พธม. ก็ดี ไม่เพียงบ่งชี้ถึงการใช้นโยบายเลือกปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมาย หรือ "นโยบาย 2 มาตรฐาน" หากบ่งชี้อย่างชัดเจนในความเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย บนหลักการพื้นฐาน เสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

ดังกล่าวมาข้างต้นใน "ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights)" และประกอบกับใน "คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง (Déclaration des droits de l'homme et du citoyen de 1789)" อันเป็นเอกสารสำคัญซึ่งเกิดขึ้นในสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส โดยกำหนดให้สิทธิของปัจเจกชนและสิทธิมวลชนเป็นสิทธิสากล โดยประกาศเป็นครั้งแรกถึงศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ข้อ 1. มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาและทรงไว้ซึ่งเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียมกันใน (การมีและการใช้) สิทธิประการต่างๆ ความแตกต่างทางสังคมไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะเช่นไรก็ตาม จะมีขึ้นได้ก็แต่เพื่อประโยชน์สาธารณะร่วมกันเท่านั้น

ดังนั้น ไม่ว่าการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของคนเสื้อแดง จะมีรูปแบบหรือเนื้อหาประการใด จะมีเป้าหมายเฉพาะหน้าหรือเป้าหมายในที่สุดอย่างไร ตราบเท่าที่การเคลื่อนไหวนั้นหาได้ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอื่นๆ นั่นหมายความไม่อาจมีอำนาจใดมาระงับยับยั้งสิทธิเสรีภาพนั้นได้ และแม้ว่าอำนาจนั้นๆ จะเป็นการใช้หรือสั่งการโดยตัวรัฏฐาธิปัตย์ในสถานะใดสถานะหนึ่ง ก็ย่อมหมายความว่ารัฏฐาธิปัตย์นั้น ละเมิดหลักการพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนที่ว่า "สิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ หรือเสรีภาพ ย่อมไม่อาจถูกกำจัดหรือกำจัดได้ โดยสิทธิบัญญัติ หรือกฎหมายที่มนุษย์บัญญัติขึ้นมาใช้ แม้ว่ากฎหมายนั้นจะมีชื่อเรียกว่า รัฐธรรมนูญ"

ดังเช่นใน "คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง" ประกาศไว้ในข้อ 16. ว่า "สังคมใดมิได้มีหลักประกันแห่งสิทธิทั้งปวงและมิได้มีการแบ่งแยกอำนาจโดยชัดเจน สังคมนั้นย่อมปราศจากรัฐธรรมนูญ"

นั่นย่อมหมายความว่า รัฐธรรมนูญที่ไม่สามารถให้หลักประกันในสิทธิเสรีภาพของประชาชน คือรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือยิ่งไปกว่านั้น ย่อมไม่อาจถือเป็นรัฐธรรมนูญแห่งระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย

และ รัฏฐาธิปัตย์ที่ใช้อำนาจที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญดังกล่าว ย่อมหมายถึงรัฏฐาธิปัตย์ที่ไม่ชอบด้วยการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอธิบายได้ด้วยคำกำจัดความเพียงสถานเดียว ว่าเป็น

"รัฏฐาธิปัตย์แห่งการเผด็จอำนาจที่เป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตย".


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 4-10 ธันวาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (10)

พระปกเกล้าฯเสด็จนิราศราชอาณาจักร
กับงานศพสามัญชน ณ ท้องสนามหลวง

เมรุกลางท้องสนามหลวงเพื่อดำเนินการปลงศพทหารรัฐบาลคณะรษฎรที่เสียสละชีวิตในการปราบกบฏบวรเดช

สถานการณ์ระหว่าง 2 ฝ่ายภายหลังการสู้รบในกบฏบวรเดชยังคงความคุกรุ่นแม้ฝ่ายกบฏจะวางอาวุธยอมจำนน มีการถูกจับกุมคุมขังในฐานะกบฏหรือนักโทษการเมืองจำนวนมาก ความสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในฐานะองค์พระประมุขแห่งรัฐในการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญกับรัฐบาลคณะราษฎร เพิ่มทวีความเห็นที่ไม่ลงรอยและความไว้วางใจระหว่างกันมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ปมเหตุสำคัญคือ แม้ว่าพระบทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จะทรงพยายามแสดงออกว่าวางพระองค์เป็นกลางในเหตุการณ์กบฏ แต่สถานการณ์โดยรวมช่วงรอยต่อของการลุกขึ้นก่อกบฏโดยกำลังทหารจากหัวเมือง ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอของฝ่ายกบฏที่อ้างอิงเกี่ยวกับพระราชอำนาจของกษัตริย์ ตลอดจนรายพระนามและรายชื่อผู้มีส่วนเข้าร่วมกับกบฏ ล้วนมีข้อบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ในการมองเชื่อมโยงพระองค์เข้ากับฝ่ายกบฏ จนรัฐบาลและสมาชิกฝ่ายนำในคณะราษฎรเห็นพ้องกันว่ากบฏครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากพระปกเกล้าฯ ยิ่งการที่พระองค์ปฏิเสธที่จะเสด็จกลับพระนครในขณะที่เกิดการสู้รบกับฝ่ายกบฏอยู่นั้น ยิ่งทำให้รัฐบาลคณะราษฎรเกิดความคลางแคลงในพระองค์และเจ้านายหลายพระองค์มากยิ่งขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้นมีเจ้านายหลายพระองค์ถูกสงสัยว่าร่วมคบคิด กับกบฏ หลายพระองค์ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ โดยเฉพาะที่ใกล้ชิดกับพระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งอยู่ในสถานะ "หัวหน้ากบฏ"

ดังนั้นหลังจากพระปกเกล้าฯ เสด็จนิวัติพระนคร และทรงประทับอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้เพียง 34 วัน ก็มีพระราชประสงค์จะเสด็จสหรัฐอเมริกาอีก โดยทรงให้เหตุผลว่าเพื่อทำการผ่าพระเนตร

วันกำหนดจะเสด็จออก จากกรุงเทพฯ คือวันที่ 12 มกราคม 2477 (นับแบบเก่าเป็น 2476 เนื่องจากยังเปลี่ยนปีแบบจันทรคติ คือนับวันสงกรานต์เป็นวันเปลี่ยนศักราช) ทั้งนี้ ได้ทรงแต่งตั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์

ในคืนวันที่ 11 มกราคม 2477 (2476) ก่อนจะเสด็จนิราศประเทศสยาม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปราศรัยกับประชาชนทางวิทยุกระจายเสียง ดังต่อไปนี้

**********

ประชาชนพลเมืองทั้งหลาย

ในวันที่ 12 เดือนนี้ ข้าพเจ้าพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี จะได้เดินทางออกไปต่างประเทศ ทั้งนี้เป็นเพราะความจำเป็น เพื่อรักษาร่างกายของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าจะถือโอกาสเจริญทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศให้สนิทสนมยิ่งขึ้น ข้าพเจ้าทราบตระหนักในความลำบากทางการบ้านเมืองซึ่งมีอยู่ในเวลานี้ แต่ข้าพเจ้ามีความไว้วางใจในคณะรัฐบาล ซึ่งมีนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นี้อย่างเต็มที่ และสภาผู้แทนราษฎรทั้งหลายก็ได้แสดงความไว้วางใจเช่นเดียวกัน แม้การกบฏครั้งที่แล้วมา รัฐบาลและกองทัพของข้าพเจ้าก็ได้ปราบปรามราบคาบแล้ว ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าประเทศชาติของเราได้รักษาความสงบ และประสานสามัคคีกันเป็นอย่างดี

บัดนี้ ก็มีสภาผู้แทนราษฎรกอปรด้วยสมาชิกทั้งสองประเภทครบถ้วนตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญบริบูรณ์แล้ว และตามการเป็นไปในสภาเท่าที่ได้เป็นมาแล้ว ก็ส่อให้เห็นว่ากิจการในสภาคงดำเนินลุล่วงไปโดยเรียบร้อย ดังนี้จึงเป็นที่คาดหมายได้ว่า สภาผู้แทนราษฎรจะได้เป็นกำลังอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งได้ช่วยเหลือรัฐบาลในการบำรุงประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

อันการปกครองแบบรัฐธรรมนูญนี้ ข้าพเจ้าได้มีความเลื่อมใสอย่างจริงใจตั้งแต่ต้นมา และเมื่อได้มีรัฐธรรมนูญแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้สนใจในอันจะให้กิจการดำเนินไปตามระบอบรัฐธรรมนูญทุกประการ ข้าพเจ้าได้แสดงความประสงค์ของข้าพเจ้าหลายครั้งหลายหนแล้วว่า จะใคร่ให้การเมืองเป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าจึงขอแสดงความประสงค์เช่นนั้นอีกครั้งหนึ่ง เฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างที่ข้าพเจ้าไม่อยู่พระนครนี้ ข้าพเจ้าขอให้ประชาชนพลเมืองทั้งหลาย จงรักษาความสงบและความสามัคคีไว้ให้คงมั่นคง

ในยามยากจนเนื่องด้วยโภคกิจตกต่ำนี้ ก็เป็นธรรมดาอยู่นั่นเองที่ชนทุกเหล่าทุกคณะจะขวนขวายหาทางบรรเทาทุกข์ของตน แต่ในการกระทำครั้งนี้ ขอท่านทั้งหลายอย่าได้ลืมคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม กล่าวคือ สันติสุขของบ้านเมืองของเรา เราอาศัยความอบรมทางศาสนา มีพระพุทธศาสนาเป็นอาทิ จึงมีอุปนิสัยรักความสงบเป็นที่ตั้ง เพราะฉะนั้นในระหว่างที่ข้าพเจ้าต้องจากประเทศสยาม อันที่รักของเราไปชั่วคราวนี้ ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและบรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก ได้คุ้มครองรักษาให้ประชาชนชาวสยามได้รับสันติสุขทุกประการเทอญ

**********

ในระหว่างที่เสด็จประทับอยู่นอกพระราชอาณาจักรนี้เอง ก็บังเกิดมีเรื่องอันทำให้ไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัยขึ้นมาหลายคราว เกี่ยวกับการปฏิบัติบางประการของรัฐบาล อาทิ รัฐบาลได้นำร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมวิธีพิจารณาความอาญา และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาทหาร รวม 3 ฉบับ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบแล้ว ส่งไปทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่พระองค์ได้พระราชทานคืนมายังสภา สภายืนยันตามมติเดิม รัฐบาลจึงนำร่างพระราชบัญญัติทั้งสามส่งไปทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานมา และพระราชบัญญัติเหล่านี้ก็ได้ประกาศออกใช้ตามมติของสภา ทำให้ทรงไม่พอพระราชหฤทัยและทรงปรารถนาที่จะสละราชสมบัติ โดยทรงแจ้งให้สมเด็จกรมพระนริศฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แจ้งพระราชประสงค์ต่อนายกรัฐมนตรี ตามมาด้วยการโต้ตอบทางหนังสือระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาลหลายฉบับ

ปมปัญหาสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง จากการปราบกบฏบวรเดชทำให้ทหารทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตลงมากมาย โดยฝ่ายรัฐบาลเสียชีวิตทั้งสิ้น 17 นาย รัฐบาลวางแผนที่จะจัดการปลงศพทหารอย่างยิ่งใหญ่กลางท้องสนามหลวงในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2477 (2476) ซึ่งกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่กลายเป็นความขัดแย้งกันอีกครั้ง เนื่องจากท้องสนามหลวง หรือ "ทุ่งพระเมรุ" เป็นพื้นที่ใช้ปลูกสร้างพระเมรุมาศในงานพระบรมศพของกษัตริย์และเจ้านายระดับสูงเท่านั้น

แต่แล้วผลที่สุดจากการโต้ตอบทางจดหมาย แม้พระปกเกล้าฯ ทรงพยายามเสนอพื้นที่อื่นให้กับรัฐบาล แต่สุดท้ายพระองค์ก็ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตตามความต้องการของรัฐบาลคณะราษฎร ด้วยภาวะจำยอม.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 2-8 ตุลาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

ความขัดแย้ง 2 ชนิดของการเมืองไทย

ความขัดแย้ง 2 ชนิดของการเมืองไทย:
ท่าทีและทิศทางของขบวนประชาธิปไตย

ความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 9 ปีนับจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่เกิดขึ้นบนพื้นฐาน "แนวทางรัฐธรรมนูญนิยม" ในการเลือกตั้ง 2544 โดยความเชื่อที่ว่า รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยจะสร้างประชาธิปไตยได้ มานี้ มี 2 ชนิด หรือ 2 มิติด้วยกัน

มิติแรก ความขัดแย้งระหว่างพลังประชาธิปไตยกับพลังปฏิกิริยา ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่ก่อรูปและดำรงอยู่กับสังคมการเมืองไทยมากว่าร้อยปี นับจากการซึมซับรับเอาการผลสะเทือนจากการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ นำมาซึ่งปกครองรูปแบบใหม่ของมนุษยชาติ 2 ระบอบ หนึ่งคือ "ระบอบประชาธิปไตย" ซึ่งมีจุดกำเนิดในสงครามประกาศอิสรภาพอเมริกาในปี ค.ศ. 1776 (พ.ศ. 2319) ตามมาด้วยการปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1789 (พ.ศ. 2332) และอีกหนึ่งคือ การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917 (พ.ศ. 2460) ซึ่งก่อให้เกิดสาธารณรัฐโซเวียต อันเป็นรัฐสังคมนิยมแรกในโลก

มิติที่สอง ความขัดแย้งระหว่างขั้วการเมือง 2 ขั้ว โดยอาศัยการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่ "ไม่เป็นประชาธิปไตย" หรือแม้แต่มีความ "เป็นประชาธิปไตยเพียงบางส่วน" เพื่อแย่งชิงการเข้าไปควบคุมกลไกบริหารจัดการภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดำเนินการใช้ "งบประมาณแผ่นดินประจำปี" ทั้งนี้ในการคลี่คลายความขัดแย้ง ยังไม่สามารถยกระดับไปสู่ความขัดแย้งหลักในมิติที่ 1 ได้แต่อย่างไร

ความคาบเกี่ยวของความขัดแย้งทั้ง 2 มิติหรือ 2 ชนิด นี้ จำเป็นที่พลังขับเคลื่อนทางการเมือง หรือพูดให้ถึงที่สุดสำหรับฝ่ายประชาธิปไตย "ต้อง" ทำความชัดเจนให้ได้ว่า การเคลื่อนไหวในแต่ละรอบ ความขัดแย้งชนิดไหนที่เป็นความขัดแย้งหลักในเวลานั้น

"พลังปฏิกิริยา" หมายถึงพลังที่เป็นขัดขวางพัฒนาการของสังคม มีความหมายอีกนัยหนึ่ง หมายถึง "พลังปฏิปักษ์ประชาธิปไตย" ซึ่งประกอบด้วยคน 3 กลุ่ม คือ (1) "อำมาตย์" หมายถึง ข้าราชการประจำในระบบ ที่มีบทบาทบริหารนโยบายและสั่งการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีของประเทศ ระดับกระทรวง/ทบวง/กรม รวมทั้งข้าราชการการเมืองขององค์กรอิสระที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (2) "อภิชน" หมายถึงกลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลและ/หรือมีส่วนได้ส่วนเสีย ต่อความเป็นไปและความเปลี่ยนแปลงทั้งทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางสังคมวัฒนธรรม ด้วยการสืบทอดทางจารีตก่อนประชาธิปไตย และ (3) "ขุนศึกฟาสซิสต์" หมายถึงข้าราชการฝ่ายทหาร ระดับคุมกำลังและขับเคลื่อนนโยบายของกองทัพ จากระดับผู้บังคับบัญชาเหล่าทัพ ระดับแม่ทัพภาค/แม่ทัพน้อย ผู้บัญชาการกองพล และผู้บัญชาการกองกำลังผสมในพื้นที่ที่ล่อแหลมทางทหาร

"พลังประชาธิปไตย" โดยทั่วไปหมายถึง กลุ่มประชาชนหรือมวลชน ผู้ตระหนักและต้องการในเสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียม และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน และปวงชนนั้นใช้อำนาจทั้ง 3 คือ อำนาจบริหารผ่านรัฐบาล อำนาจนิติบัญญัติผ่านสภาผู้แทนราษฎร และอำนาจตุลาการผ่านศาลยุติธรรม หรือกล่าวอย่างชัดเจนถึงที่สุดคือ การปกครองที่ผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองหรือรัฏฐาธิปัตย์ นั้น ต้องมีคุณสมบัติเพียงประการเดียว คือ "เป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน"

การมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย มีจุดเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญเป็นลำดับ เริ่มจาก "กรณี 14 ตุลา 2516" เป็นการเคลื่อนไหวเรียกร้อง "ประชาธิปไตย" ในบริบทของ "รัฐธรรมนูญ" ความอ่อนหัดในประสบการณ์ทางการเมืองของมวลชนที่ประชกอบด้วยนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนวงการต่างๆในเวลานั้นจึง จำกัดขอบเขตการเคลื่อนไหวต่อสู้เพียง "ขับไล่ 3 ทรราชย์ - สร้างรัฐธรรมนูญหมกเม็ดระบอบอำมาตย์ - และการเลือกตั้งภายใต้กติกาประชาธิปไตยจอมปลอม" ซึ่งนำไปสู่การปราบปรามสังหารหมู่ในกรณี 6 ตุลาคม 2519 อันเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายครั้งหนึ่งในเส้นทางประชาธิปไตยของไทย

จากนั้นในเวลา 20 ปีต่อมาจึงเกิด "กรณีพฤษภาทมิฬ 2535" อันเป็นการเคลื่อนไหวคัดค้านต่อเนื่องการรัฐประหารในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดยคณะผู้รักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) และในเวลาต่อมานำไปสู่วิกฤต "นายกรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง" ซึ่งอยู่ในบริบท "การเลือกตั้ง" นำไปสู่การปฏิรูปการเมือง โดยการสร้างรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งในที่สุดฝ่ายปฏิกิริยาก็อาศัย "การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549" ล้มรัฐธรรมนูญนี้เพราะเกิดภาวะพรรคการเมืองเข้มแข็ง จนนำไปสู่การประดิษฐ์วาทกรรม "เผด็จการรัฐสภา"

ทั้ง 2 กรณีดังกล่าวสามารถนำไปสู่ข้อพิจารณาได้ว่า แม้ "รัฐธรรมนูญ" และ "การเลือกตั้ง" จะเป็นบริบทของ "ประชาธิปไตย" แต่ "วิญญาณ" ของ "ปรัชญาประชาธิปไตย" เพิ่งจะถือกำเนิดขึ้นจริงเป็นครั้งแรกในหมู่ประชามหาชนท่ามกลางการเคลื่อนไหวและพัฒนาการของขบวนประชาธิปไตย ที่ชูธง "เสรีภาพ" และ "ความเสมอภาค" ขึ้นสูงเด่น พร้อมทั้งลุกขึ้นหยัดยืนต่อสู้อย่างวีระอาจหาญ ด้วยจิตใจกล้าสู้ กล้าชนะ ภายใต้กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายมาตรฐานเดียว ช่วงปี 2552-2553 มานี้เอง

นั่นหมายความว่า "หน่ออ่อน" ของ "ประชาธิปไตย" ผุดบังเกิดเป็นครั้งแรกในสังคมไทยแล้ว ใน 3 ปีหลังสุดของระยะเวลา 78 ปีนับจากการอภิวัฒน์สยาม 2475

เสรีภาพและความเสมอภาค "มาตรฐานเดียว" หมายถึงคนทุกคนมีความเป็นคนเสมอกัน ไม่มีสิ่งใดมาทำให้ใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีความเป็นคนมากกว่าคนอื่นๆ หรือทำให้คนบางคนหรือบางกลุ่มลดคุณค่าลงไปเสมอ "สัตว์เดียรฉาน"

เป้าหมายการขับเคลื่อนพลังประชาธิปไตยหลัง "กรณีนองเลือด 19 พฤษภาคม 2553" ที่อื้อฉาวไปทั่วโลก จึงไม่เพียงจำกัดอยู่เพียงการตอกย้ำ "ลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม" และ "ลัทธิเลือกตั้ง" ที่ปราศจากรากฐานของ "ประชาธิปไตยสมบูรณ์" หากต้องยกระดับไปสู่การ "โค่นระบอบเผด็จการ" ทั้งเผด็จการที่เกิดจากการรัฐประหารโดยตรง หรือจะเป็นเผด็จการซ่อนรูปอันเกิดจากการสมคบคิดบิดเบือนและทำลายมติของ ประชามหาชน พื้นฐานผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แม้ว่ามติหรือเสียงส่วนใหญ่นั้น จะเกิดขึ้นภายใต้กติกา "รัด-ทำ-มะ-นูน" หรือ "กฎโจร" อันเป็นผลผลิตจากทุก "โจรกบฏ" ผู้ฉีกรัฐธรรมนูญ ปล้นประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

นั่นคือประชาชนผู้รักประชาธิปไตยและรักความเป็นธรรม ต้องเร่งสร้างและทำความเข้าใจในจุดยืน การเคลื่อนไหวใดๆ ที่นำไปสู่การ "สร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน" เร่งสร้าง "จิตสำนึก" และ "บทบัญญัติ" ในการต่อต้านและทำลายการยึดอำนาจการปกครองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตซ้ำแล้วซ้ำอีก

ไม่ให้ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นเพียงเครื่องมือการขับเคี่ยวชิงชัยทางการเมือง โดยละเลยหลักการพื้นฐานสำคัญที่สุดของปรัชญาประชาธิปไตย คือ... "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน".


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 27 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8