Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (6)

จากรัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476
สู่ความร้าวฉานในคณะราษฎร

รัฐประหาร พ.ศ. 2476

ภายหลังการรัฐประหารเงียบ หรือการรัฐประหารครั้งแรกในวันที่ 1 เมษายน 2476 เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งในกรณีที่ไม่ระบุว่างดใช้มาตราใดบ้าง ทำให้สามารถกินความไปได้ว่าเป็นการยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญไปโดยปริยาย  หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีก็เร่งดำเนินการในลักษณะคุกคามผู้ที่มีความเห็นตรงกันข้ามในทางการเมือง เริ่มจากการการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ ในวันที่ 2 เมษายน ตามมาด้วยคำสั่งชนิดสายฟ้าลงวันที่ 10 เมษายนให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ไปดูงานที่ฝรั่งเศส พร้อมค่าใช้จ่ายปีละ 1,000 ปอนด์ ซึ่งเท่ากับเป็นคำสั่งเนรเทศนั่นเอง

ถัดมาอีก 2 วันคือในวันที่ 12 เมษายน 2476 หลวงประดิษฐ์มนูธรรมและภรรยาก็เดินทางออกนอกประเทศไทยด้วยเรือโกลา จากท่าบี.ไอ. (ใกล้ๆท่า EAC ของบริษัทอิสต์เอเชียติก) โดย พันตรีหลวงทัศนัยนิยมศึก (ผู้บังคับการทหารม้าและกองรถรบ) ร้อยโททวน วิชัยขัทคะ (จากกองร้อยรถรบ) นายจรูญ สืบแสง ตามไปส่งถึงสิงคโปร์ ขณะที่สมาชิกคณะราษฎรรวมทั้งลูกศิษย์ใกล้ชิดนายปรีดีตามไปส่งที่ท่าบี.ไอ. จะมียกเว้นก็แต่พระยาทรงสุรเดชซึ่งส่อเค้าเป็นไม้เบื่อไม้เมากับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมาโดยตลอด

ต่อมาในวันที่ 15 เมษายน 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ก็ประกาศให้ข้าราชการที่เป็นสมาชิกสมาคมคณะราษฎรลาออกจากราชการ เนื่องจากกฎหมายรองรับความเป็นพรรคการเมืองยังไม่มีการประกาศใช้ ทำให้ต้องแปรสภาพจากสมาคมคณะราษฎรเป็นสโมสรคณะราษฎร ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจในหมู่สมาชิกคณะราษฎรต่อตัวพระยามโนปกรณ์ฯยิ่งขึ้นทุกที ขณะที่ความสัมพันธ์ภายในของคณะราษฎรสายทหารบกก็ส่อเค้าความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น

ที่สำคัญคือ พระยาพหลพลพยุหเสนา (ผบ.ทบ.) แสดงความไม่พอใจ พระยาทรงสุรเดช (รอง ผบ. ทบ.) โดยมองว่ารวบอำนาจไว้คนเดียวแถมยังกล้าคัดง้างกับตัวพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นเหตุให้ นายประยูร ภมรมนตรี พระยาฤทธิ์อัคเนย์ และ พระประศาสน์พิทยายุทธ วางแผนร่วมกันกันจะปลดพระยาพหลฯ โดยการให้ 4 ทหารเสือลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมด แล้วค่อยให้ 3 ทหารเสือกลับเข้ามาแทน แต่พระยาทรงสุรเดชกลับบอกให้ลาออกจากทุกตำแหน่ง ไม่เว้นแม้แต่ตำแหน่งทางการทหาร

จากนั้นความขัดแย้งภายในสมาชิกคณะราษฎรสายทหารบกอาวุโสก็มาถึงขั้นวิกฤต เมื่อ "4 ทหารเสือ"คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาทรงสุรเดช, พระยาฤทธิอัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน โดยอ้างเหตุผลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ แต่เป็นที่รู้กันทั่วไปว่ามีการวางแผนซ้อนแผน ต้องการกำจัดพระยาพหลฯออกจากเส้นทางการเมืองและอำนาจบังคับบัญชาทางทหาร

ภายหลังแม้ว่า "4 ทหารเสือ" จะพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองและอำนาจหน้าที่ทางทหารไปแล้วก็ตาม  แต่ปัญหาความขัดแย้งยังดำรงอยู่ นำไปสู่การรัฐประหารในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 คณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา, หลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดาให้เหตุผลว่า

"ด้วยคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดิน ณ บัดนี้ ไม่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มต้นปิดสภาผู้แทนและงดใช้รัฐธรรมนูญเป็นหลายบท คณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน จึงเห็นเหตุจำเป็นเข้ายึดอำนาจการปกครองเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ"

เมื่อรัฐบาลสิ้นสุด ผู้สนับสนุน เช่น พระยาทรงสุรเดช ถูกกีดกันออกจากแวดวงการเมือง ด้านพระยามโนปกรณ์นิติธาดาต้องเดินทางไปที่ปีนัง พระยาพหลพลพยุหเสนามอบหมายให้เจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ วังไกลกังวล หัวหิน เพื่อโปรดเกล้าฯ ให้เปิดประชุมสภาฯ พร้อมถวายรายงานเรื่องการยึดอำนาจ

วันที่ 21 มิถุนายน 2476 จึงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี และหลวงพิบูลสงครามเป็น รอง ผบ.ทบ. ซึ่งเท่ากับว่านายทหารรุ่นหนุ่มก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญขึ้น และทันทีที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีในวันที่ 24 มิถุนายน 2476 ก็มีคำสั่งให้ปลดพลตรีพระยาประเสริฐสงคราม จากปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม เป็นทหารกองหนุน, พลตรีพระยาพิชัยสงคราม เป็นทหารกองหนุน และพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) เจ้ากรมยุทธการทหารบก ไปทำงานคุมลูกเสือที่กระทรวงธรรมการ พระยาศรีสิทธิสงครามนี้เองที่มีบทบาทอย่างสำคัญในคณะกบฏบวรเดชในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ต่อมาได้มีคำสั่งให้พระยาทรงสุรเดชและพระประศาสน์พิทยายุทธ์ ไปดูงานด้านการทหารที่ฝรั่งเศสและยุโรป

ช่วงเดือนกันยายน 2476 จึงมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนายทหารที่ยังจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 คือพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ได้เชิญรุ่นน้อง เช่น พันตรีหลวงหาญสงคราม (จิตร อัคนิทัต)พันตรีหลวงโหมชิงชัย (เวก สู่ไชย) จากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก, พันโทพระปัจจนิกพินาศ (แปลก เอกะศิริ) จากโคราช, พันโทพระเทเวศร์อำนวยฤทธิ์ (ประเสริฐ อินทุเศรษฐ) นักบินสายแดงโคกกระเทียม (ตัวแทนเจ้ากรมอากาศยาน) และ พันเอกพระสิทธิเรืองเดชพล (แสง พันธุ์ประพาส) มาประชุมกันที่บ้านพันตรีหลวงหาญสงคราม แถวราชวัตร เกี่ยวกับเรื่องการยึดอำนาจแบบสายฟ้าแลบโดยให้ทหารกรุงเทพ บีบพระยาพหลและพรรคพวก ส่วนทหารหัวเมืองให้เคลื่อนกำลังในเชิงขู่แล้วถอนตัวกลับเมื่อการยึดอำนาจ เป็นผลสำเร็จ

ความไม่พอใจต่อคณะราษฎรที่คุกรุ่นมาตลอดหลังการอภิวัฒน์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นเวลา 3 ปี อดีตอุปราชมณฑลพายัพ ที่เชียงใหม่ ระหว่างปี 2458-2462 และอดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหมในปี 2471 ทรงไม่พอพระทัยกลุ่มคณะราษฎรที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์อยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งยังมีกรณี นายถวัติ ฤทธิ์เดช หัวหน้ากรรมกรรถราง ผู้เช่าห้องแถวพระคลังข้างที่ ได้เป็นโจทย์ฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้เชื้อพระวงศ์มีความแค้นเคืองมากยิ่งขึ้น

ครั้นต่อมา เมื่อรัฐบาลให้การสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ กลับสู่ประเทศไทย และมีการเชิญให้เข้าเป็นรัฐมนตรีลอยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2476 ทำให้เกิดการคาดการณ์ไปต่างๆนานาว่า จะมีการนำเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดีเข้ามาใช้ในแนวนโยบายของรัฐบาล และจะต้องก่อความเดือดร้อนให้กับเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง และผู้ที่จงรักภักดีต่อระบบกษัตริย์อย่างแน่นอน.


โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 28 สิงหาคม-3 กันยายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8