Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (9)

ความลังเล ความแตกแยก
สู่จุดจบของฝ่ายกบฏบวรเดช

https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEiG1ZXPpEi-Iim9mAzShO4nhlCC8tW_emV_OujMOTBop-se71UB1vkkPXraH-HTJG9W6dz-UUnWkkOWnuUrtYVho2VEylxnASFAxHOWcfuhba8JWSbUt6fpf89mOEgN6kiRk1jvEtLaqg/w400-h263-no/
แนวสู้รบถึงขั้นตะลุมบอน ระหว่างทหารฝ่ายรัฐบาลกับกองกำลังกบฏ ระหว่างสถานีหินลับกับสถานีทับกวาง

ในวันที่ 16 ตุลาคม หลังจากกองกำลังฝ่ายกบฏมาถึงปากช่องในสภาพขวัญและกำลังใจระส่ำระสายอย่างหนัก มีไพร่พลทั้งนายทหารและพลทหารแตกทัพไปสวามิภักดิ์กับรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ต้องมีการปรับเปลี่ยนยุบหน่วยกำลังทั้งทหารราบ ทหารม้า และทหารปืนใหญ่ โดยลดหน่วยจาก 2 กองพันลงมาเหลือเพียง 1 กองพัน ยิ่งไปกว่านั้น ทหารราบ ร. พัน 17 จากอุบล ซึ่งได้รับคำสั่งให้เป็นหน่วยสนับสนุน รักษาเมืองโคราช กลับยกหน่วยกลับฐานที่อุบล ทั้งยังรื้อทำลายแผงสะพานรถไฟจากสถานีจันทึกถึงสถานีโคราชจนเสียหายใช้การไม่ได้เพื่อป้องกันการติดตาม ยิ่งทำให้กองกำลังฝ่ายกบฏตกอยู่ในอาการละล้าละลังยิ่งขึ้น และในเวลาไล่เลี่ยกัน ร. พัน 18 (อุดรธานี) พอได้ข่าวว่าทหารปฏิวัติแตกทัพมาดงพระยาเย็นก็เลยแปรพักตร์เป็นทหารรัฐบาลอีกหน่วย

ระหว่างนั้น พันตำรวจเอก พระขจัดทารุณกรรม (ผบ. ตำรวจภูธร) และ พันตำรวจตรี หลวงสุนทรพิทักษ์เขต (รองผบ. ตำรวจภูธร) เชลยที่ฝ่ายกบฏบวรเดชจับกุมตัวเอาไว้ ฉวยโอกาสหนีตามทหารอุบล เพื่อสั่งการให้ตำรวจในอีสานตอนล่างแปรสภาพเป็นกำลังของรัฐบาล

17 ตุลาคม สถานการณ์ของฝ่ายกบฏในแนวรบด้านโคราชขณะถอนทัพมาที่สถานีจันทึกยิ่งไม่เป็นผลดี เมื่อรอยร้าวฉานระหว่างพระองค์เจ้าบวรเดชและพระยาศรีสิทธิสงคราม ปรากฏเด่นชัดถึงขนาดพระองค์เจ้าบวรเดชมอบการบังคับบัญชาทหารทั้งหมดให้ พลตรี พระยาเสนาสงคราม แทน พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม ผู้ริเริ่มการกบฏตั้งแต่เริ่มแผน

ส่วนแนวรบทางด้านทิศใต้ หลวงพิบูลสงคราม นำคณะนายทหาร เช่น ร้อยโท เนตร เขมะโยธิน ร้อยตรี สุรจิต จารุเศรนี ขึ้นรถไฟไปเพชรบุรี เพื่อสมทบกับทหารราชบุรี เพื่อเปิดการเจรจากับทหารเพชรบุรี และเมื่อได้รับแจ้งทางวิทยุว่าทหารบวรเดชที่โคราชถูกกวาดล้าง ผบ. พันอิสระ ต้องสั่งเลิกทัพทันที และให้ตั้งแถวยอมแพ้แก่ทหารรัฐบาล และยอมปลดอาวุธทหารเพชรบุรีที่สถานีบ้านน้อย (สถานีเขาน้อย) ห่างจากสถานีเพชรบุรี 10 กิโลเมตร

จากนั้นรัฐบาลได้เปิดทางรถไฟไปภาคใต้ แล้วส่งพระยานิติศาสตร์ไพศาลเป็น ผู้แทนเจรจาให้พระบทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จจากสวนไกลกังวลกลับพระนคร แต่การเจรจาไม่เป็นผล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จแปรพระราชฐานจากสวนไกลกังวล ประทับเรือศรวรุณ เพื่อหลีกหนีความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นจากทหารที่รัฐบาลส่งมาอารักขา (จับกุม) ซึ่งมีรายพระนามและรายนามในคณะดังนี้ (1) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (2) พระบรมราชินี (3) สมเด็จกรมพระสวัสดิ์วัฒนวิศิษฏ์ - พระราชบิดาในสมเด็จพระบรมราชินี (4) พระองค์เจ้าหญิงอาภาพรรณี - พระราชมารดาในสมเด็จพระบรมราชินี (5) พระองค์เจ้าวรานนธวัช ในทูลกระหม่อมจุฑาธุช (6) พันตรี หม่อมเจ้าประสบศรี จิรประวัติ (7) หม่อมเจ้ากมลาลีสาณ ชุมพล (8 ) เรือเอก หม่อมเจ้าครรชิตพล อาภากร ร.น. (9) หม่อมเจ้า นันทิยาวัฒน สวัสดิ์วัฒน์ (10) หม่อมเจ้าเศรษฐพันธ์ จักรพันธุ์ (11) หลวงศักดิ์นายเวร (มหาดเล็ก) (12) นายเรือเอก หลวงปริยัตินาวายุทธ ร.น. (ราชองครักษ์) เป็นผู้บังคับการเรือ มีพลประจำเรือพร้อมทหารรักษาวัง อีก 6-7 นาย และ ปืนเล็กกลไปด้วย จากนั้นในช่วงหัวค่ำ เรือศรวรุณก็ออกเดินทางไปยังสงขลา

ส่วนเจ้านายฝ่ายหน้าฝ่ายในอื่นต้องเสด็จทางรถไฟจากหัวหินไปสงขลา เพื่อสมทบกับขบวนของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ได้แก่ (1) กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระโอรสธิดา (2) กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ และพระโอรสธิดา (3) กรมหมื่นอนุวัตจาตุรนต์ (4) พลโท พระยาวิชิตวุฒิไกร สมุหราชองครักษ์ (5) พระยาอิศราธิราชเสวี (6) หม่อมเจ้าสุขสวัสดิ์ฯ ผู้บังคับการทหารรักษาพระองค์ (7) ข้าหลวงมหาดเล็กอีกหลายสิบคน และ (8 ) ทหารรักษาพระองค์ 2 กองร้อย การเคลื่อนย้ายคณะนี้เผชิญอุปสรรคถึงขนาดเกือบมีการปะทะกัน แล่ผลสุดท้ายรัฐบาลอนุญาตให้ขบวนรถไฟเดินทางจนตลอดรอดฝั่ง แต่เสียเวลาถึง 2 วัน คือกว่าจะไปถึงสงขลาก็ตอเย็นวันที่ 19 ตุลาคม พอไปถึงก็สมทบกับขบวนของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โดยคณะเจ้านายฝ่ายหน้าฝ่ายหน้าฝ่ายในรีบไปจวนอุปราชภาคใต้ เพื่อรีบจัดแจงปรับแต่งเป็นที่ประทับ

20 ตุลาคม ฝ่ายกบฏสั่งการให้ให้ พลตรี พระยาเสนาสงคราม นำทหาร ม.พัน 4 และ ทหารราบเดนตาย สกัดกั้นทหารอุดร ส่วน ร.พัน 15 และ ร.พัน 16 ที่ดงพระยาเย็นเหลือทหารเพียง 100 ต้องให้ พันโท พระปัจจานึกพินาศ (ทหารม้า) ออกมาคุมทหารราบที่แตกทัพ

21 ตุลาคม หลวงพิบูลสงคราม มาตรวจแนวรบ ร.พัน 6 รับฟังการบรรยายสรุป จากนั้นจึงออกคำสั่งทางการรบก่อนกลับพระนคร

22 ตุลาคม  กองกำลังฝ่ายรัฐบาลเคลื่อนพลรุกคืบหน้ามาถึงทับกวาง มีการต่อต้านจากฝ่ายกบฏเพียงเล็กน้อย ทหารได้รับเจ็บเพียง 4-5 นาย ทั้งนี้เนื่องจากทางรถไฟถูกรื้อเสียหายใช้การไม่ได้ เป็นระยะตลอดเส้นทาง ทหารต้องลงเดินเท้า ทำให้เป็นเป้าให้ปืนกลหนักของฝ่ายกบฏได้ง่าย แต่ในที่สุดก็ยึดทับกวางได้

23 ตุลาคม ตอนเช้า หลวงวีระโยธา (วีระ วีระโยธา) สั่งการให้ ร้อยโทซันซอน และ ร้อยโท ตุ๊ จารุเสถียร (จอมพล ประภาส จารุเสถียร) รุกคืบหน้าไปยังที่ตั้งฝ่ายกบฏ จนถึงเวลาเวลา 20.00 น. พบ ทหาร 2 - 3 คนยืนขวางทางรถไฟ มีนายทหารเล็งปืนพกเข้ามา (พระยาศรีสิทธิสงครามกำลังมาตรวจแนวป้องกัน) ร้อยโทตุ๊ จารุเสถียร จึงยิงสวนไปทันทีและทหาร 1 หมวดจึงระดมยิงไปที่เงาตะคุ่มๆ นั้น ในระยะเผาขน (ไม่เกิน 20 เมตร) เมื่อสิ้นเสียงปืนเข้าไปตรวจสอบ พบร่าง คน 2 คน คนหนึ่งคือ พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ที่เป็นศพไปแล้ว ที่เสาโทรเลขที่ 4 กม. 143 ก่อนถึงหินลับ ส่วน ร้อยตรี บุญรอด เกตุสมัย ทหารช่างอยุธยาที่เป็น ทส. ให้ พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม ยังมีชีวิตอยู่ แต่ตกเป็นเชลย และ ร.พัน 6 ยึดสถานี หินลับ (กม.145) ได้สำเร็จ

ถึงตอนนี้ ฐานที่ตั้งกองบัญชาการกบฏที่ปากช่องเหลืออีกแค่ 35 กิโลเมตร

24 ตุลาคม เวลา 07.00 น. พันโท หม่อมหลวงจรูญ ฤทธิไกร ถอยทัพมาโคราช เข้ารายงานต่อพระองค์เจ้าบวรเดชว่า หินลับแตกแล้ว พระยาศรีสิทธิสงครามหายตัวไป ต่อมาจึงได้รับวิทยุรัฐบาลว่า พระยาศรีสิทธิสงครามตายแล้ว จึงเตรียมหนีไปอินโดจีน

หลวงพิบูลสงครามเดินทางมาแก่งคอยเพื่อดูศพพระยาศรีสิทธิสงคราม ซึ่งกว่าจะมาถึงก็เป็นเวลาเวลา 18.50 น. เนื่องจากทางขาด

25 ตุลาคม 2476 เวลา 1330 น. พระองค์เจ้าบวรเดช และ หม่อมเจ้าหญิงผจงจิตร พระชายา ให้ พันตรี หลวงเวหนเหินเห็จ (ผล หงสกุล) ขับเครื่องบินจากโคราชไปพนมเปญ เนื่องจากสนามบินบุรีรัมย์และสุรินทร์ใช้การไม่ได้ จากนั้นทหาร ม.พัน 3 จึงแตกทัพไปขึ้นรถไฟจากถนนจิระไปบุรีรัมย์

26 ตุลาคม 2476 เวลา 05.00 น. ทหารที่ค้างที่สถานีบุรีรัมย์ ขึ้นม้าหนีไปแดนเขมร.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 18-24 กันยายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8