Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อย่าให้ขบวนประชาธิปไตยเป็นเพียงทรายร่วนไร้พลัง

อย่าให้ขบวนประชาธิปไตยเป็นเพียงทรายร่วนไร้พลัง


อย่าให้พลังประชาธิปไตยเป็นเพียงทรายร่วน ที่ออกแรงกำไว้ในมือก็จะไหลออกตามซอกนิ้วจนหมดสิ้น
ประชาชนผู้รักเสรีภาพ รักประชาธิปไตย ต้องประสานตัวเองให้เป็นประดุจดินเหนียว ที่อาจปั้นขึ้นรูปเป็นอย่างใดก็ได้ตามความคิดชี้นำที่ถูกต้อง

เวลานี้ ขบวนประชาธิปไตยต้องการความเข้าใจ ความทุ่มเท และความตั้งใจแน่วแน่ มากกว่าครั้งไหนๆในประวัติศาสตร์ อาการน้ำขุ่นที่เป็นมานับจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีความจำเป็นยิ่งขึ้นที่จะได้รับการกวนซ้ำด้วยสารส้ม และน้ำกำลังจะตกตะกอน เมื่อน้ำใสเมื่อใด ทัศนวิสัยใต้น้ำจะกระจ่างชัด

มีคำถาม 2 คำถามที่ผู้เขียนเสนอผ่านทางพื้นที่ในโลกไซเบอร์มาโดยตลอดนับเนื่องมาจากมาจากกลางปี 2552 นั่นคือ "1.เราเข้าใจประชาธิปไตยแค่ไหน/อย่างไร" และตามมาด้วย "2.เรามีรูปแบบประชาธิปไตยสำหรับสังคมไทยเสนอต่อสาธารณะแล้วหรือไม่"

นั่น คือหากขบวนประชาธิปไตยสามารถสร้างเอกภาพความเข้าใจร่วมกันบนพื้นฐานสร้าง ชาติไทยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ คำถามที่ 3 และ 4 จึงจะตามมา นั่นคือ "เราต้องทำอะไรบ้าง?" และ "เราจะเริ่มต้นกันที่ตรงไหน?"

ทว่า ในอีกด้านหนึ่ง หากขบวนประชาธิปไตยประชาชนไม่อาจสร้างทิศทางการขับเคลื่อนขบวนแถวในลักษณะ ทั่วไปให้เข้าเป้า ตรงประเด็น ก็จะเท่ากับเดินวนเวียนอยู่ใน "เขาวงกตแห่งการหมกเม็ดเผด็จอำนาจ" ปัญหาพื้นฐานที่เป็นใจกลางของปัญหาทั้งปวงก็จะไม่ได้รับการแก้ไข ประชาธิปไตยก็จะกร่อนความหมายลงตามที่ฝ่ายปฏิกิริยา/ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ต้องการ คือ ระบบคิดของประชาชนจะถูกทำให้หยุดชะงักอยู่เพียงการเดินซ้ารอย "แนวทางรัฐธรรมนูญนิยม" และ "การเลือกตั้งสามานย์" ที่ไม่เป็นและไม่อยู่ในเงื่อนไขประชาธิปไตย

ในรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับของประเทศนี้ มีที่ใกล้เคียงกับความเป็น "ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์" ตามนัยของนายปรีดี พนมยงค์ มาสิ้นสุดลงแค่รัฐธรรมนูญ 9 พฤษภาคม 2489 ซึ่งมีโอกาสใช้เพียง 18 เดือน ก็ถูกรัฐประหารที่นำโดย พลโทผิน ชุณหะวัน

นับจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 เป็นต้นมา เป็นรัฐธรรมนูญ "อำมาตย์/อภิชน" ทุกฉบับ: มีเหตุผลสำคัญ 2 ประการ 1.ผู้แทนปวงชนไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งหมด และ/หรือ 2.มีบทบัญญัติว่าด้วยอำนาจหน้าที่ขององค์กรนอกอธิปไตยทั้ง 3 ตราไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "องคมนตรี" ซึ่งในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475; รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 10 ธันวาคม 2475 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 9 พฤษภาคม 2489 ไม่มี "องคมนตรี" (ดู "รัฐธรรมนูญที่ปราศจากองคมนตรี :ว่าด้วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" http://forum1.arinwan.com/index.php?topic=241.0)

ใจกลางของปัญหาในเวลานี้ คือ

1.ขบวนประชาธิปไตยประชาชน โดยเฉพาะ "คนเสื้อแดง" จะโดยสังกัดกลุ่ม นปช. หรือไม่อย่างไรก็ตาม ต้องเร่งทำความเป็นเอกภาพใน "ประชาธิปไตย"
2.ขบวนประชาธิปไตยนำองค์ความรู้จากการสรุปในข้อที่ 1 ข้างต้นไปสู่ประชาชน "ฝ่ายกลาง" เพื่อโดดเดี่ยวกลุ่ม "ปฏิกิริยา" ซึ่งก็คือหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยที่ว่าด้วย "สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียม และความยุติธรรม" และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการ "เสรีภาพในการคิดและการแสดงออก (Freedom of Speech)"
3.นั่นคือ พลังฝ่ายประชาธิปไตยไม่เพียงต้องต้องรู้จัก "ตัวเอง" อย่างถ่องแท้แล้ว เรายังต้องรู้ด้วยว่า "ใคร" คือเพื่อนพ้องที่สามารถรับฟังความเห็นและต้อนรับแนวคิดของพลังประชาธิปไตย ที่สมเหตุสมผล สอดคล้องกับพัฒนาการของประวัติศาสตร์และสังคมปัจจุบัน และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั่วไปในหมู่ประชาชน
4.ตระหนักและเลิกหวังพึ่ง "พลังภายนอก" ซึ่งในที่นี้ คือหวังว่าจะมีอำนาจอื่นใดนอกเหนือพลังประชาชน ที่จะนำพาภารกิจสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ไปสู่ความสำเร็จ

ในขณะเดียวกัน จะต้องตระหนักและพิจารณาแนวทางนำพาสังคมไทยออกจากเขาวงกตแห่งการเผด็จอำนาจ การปกครองไว้ในมือคนส่วนน้อยได้อย่างอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งก็ได้แก่
1.เลิกพายเรือในอ่างกับ "แนวทางรัฐธรรมนูญนิยม" และ "การเลือกตั้งภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย"
2.หยุด "การซุกขยะใต้พรม" ในความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ด้วยการชำระประวัติศาสตร์ฝ่ายประชาชนอย่างแท้จริง
3.สร้าง "สำนึกประชาธิปไตย" เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจและจุดยืน "โค่นล้มระบอบเผด็จการ สร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน"

ปมเงื่อนสำคัญที่จะจูงขบวนประชาธิปไตยออกจากเงามืดสู่แสงสว่างคือ การตระหนักว่า นับจากการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ประเทศนี้ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย "แม้แต่ฉบับเดียว"

และจากวันนั้นถึงวันนี้ อำนาจรัฐที่แท้จริงอยู่ในเงื้อมเงาของกลุ่ม "อำมาตย์/อภิชน/ขุนศึกฟาสซิสต์" มาโดยตลอด ในสัดส่วนมากน้อยแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของแต่ละช่วงเวลา หรือกล่างอย่างถึงที่สุดและตรงไปตรงมา คือ 63 ปีมานี้ ประเทศนี้ไม่เคยปกครองในระบอบประชาธิปไตย

นั่นย่อมหมายความว่า ภารกิจสำคัญของขบวนประชาธิปไตยย่อมหนีไม่พ้น การต้องตอบโจทย์ประชาธิปไตยให้แตกในเวลาอันรวดเร็ว

และการตอบโจทย์นั้นเอง จึงจะสามารถนำไปสู่การสร้างเอกภาพทางความคิด การวางเป้าหมายรูปธรรมที่เป็นหลักร่วมกัน แปรเปลี่ยนภาวะ "ทรายร่วนในถาด" ของขบวนประชาธิปไตยประชาชน ให้กลายเป็นดินเหนียวที่มั่นคงเปี่ยมพลังสามารถปั้นขึ้นรูป และขับเคลื่อนขบวนทั้งขบวน ตลอดจนแนวร่วมผู้สนับสนุนการปกครองรอบอบประชาธิปไตย ที่อาจยังคงกังขา ลังเล อยู่ในเวลานี้

และเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่เป็นข้อบ่งชี้ชัยชนะ หรือความพ่ายแพ้ การพัฒนารุดหน้าหลังถดถอยของขบวนประชาธิปไตยทั้งขบวน ย่อมหนีไม่พ้นความจำเป็นในการเสนอภาพรวมที่ชัดเจนต่อสาธารณะ เพื่อที่ "ผู้ นำ" การเปลี่ยนแปลง ซึ่งย่อมหนีไม่พ้น "ฝ่ายก้าวหน้าที่สุดของสังคม" จะต้องสามารถเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ "พลังหลัก" ในการเปลี่ยนแปลง จากนั้นจึงสร้าง "แนวร่วม" ที่เป็นจริงขึ้นในท่ามกลางการขับเคลื่อนขบวนไปสู่การเปลี่ยนแปลงในขอบเขตที่ เป็นไปได้มากที่สุดของแต่ละช่วงเวลา.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 11-17 ธันวาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8