Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (12)

เกลือเป็นหนอน "กบฏนายสิบ 2478"
ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยล้มเหลวซ้ำสอง

รถถังและกำลังพลประจำรถถังในยุคนั้น (ช่วงปี 2475-2480)

ผลจากความพ่ายแพ้ในความพยายามการก่อการเพื่อฟื้นพระราชอำนาจแห่งการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระปกเกล้าฯ ด้วยการก่อกบฏที่นำโดยพระองค์เจ้าบวรเดช (หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร) และเผชิญกับการปราบปรามอย่างรุนแรง มีผู้ถูกจับกุมจำนวนหนึ่งทั้งเจ้านายและสามัญชน จนในที่สุดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติ ก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนจิตใจของผู้ที่จงรักภักดีต่ออดีตพระมหากษัตริย์เป็นอย่างมาก

ความกระทบกระเทือนใจนี้ได้ก่อตัวขึ้นเป็นความเจ็บแค้นในหมู่นายทหารชั้นประทวนกลุ่มหนึ่งคิดวางแผนยึดอำนาจการปกครอง โดยการประกาศเจตนารมณ์อย่างลับๆ อ้างว่าเพื่อคืนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถวายสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

การก่อการครั้งนี้แตกต่างจากการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน และกบฏบวรเดชที่เพิ่งถูกปราบปรามลงอย่างราบคาบเพียงประมาณปีเศษที่ผ่านมานั้น คือ เป็นการดำเนินงานนายทหารชั้นประทวน ที่ประกอบด้วยกลุ่มนายสิบจากหลายหน่วยระดับกองพันทหารบก ซึ่งทหารชั้นประทวนเหล่านี้ชั้นยศสูงสูสุดคือ "จ่านายสิบ" นับเป็นเป็นผู้บังคับบัญชาระดับล่าง แต่อยู่ใกล้ชิดกำลังพลที่สุด สำหรับความหมายในทางสังคมจึงเท่ากับเป็นประชากรที่มาจากระดับรากหญ้าที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าจะมาจากนายสิบกองประจำการที่มาจากการเกณฑ์ทหารตามปกติ หรือที่ผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนในโรงเรียนนายสิบ ที่อาจมีโอกาสผ่านเข้ายกระดับวิทยฐานะและชั้นยศจนไปถึงระดับนายดาบ หรือกระทั่งโรงเรียนนายร้อยทหารบก (โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ) จนถึงเป็นจอมพล ดังเช่น จอมพล ผิน ชุณหะวัณ

ราวเดือนมิถุนายน 2478 จึงเริ่มมีการพบปะและวางแผนก่อการ โดยให้เหตุผลหลักไว้ 3 ประการเพื่อชักจูงทหารส่วนอื่นๆเข้ามาร่วมหรือสนับสนุน เหตุผลดังกล่าว คือ 1.ไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลพระยาพหลฯ 2.ผู้บังคับบัญชาของพวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐบาล 3.ไม่พอใจที่รัฐบาลไม่เทิดทูนพระมหากษัตริย์เท่าที่ควร

สำหรับกลุ่มสมาชิกผู้วางแผนก่อการลำดับต้นๆ ประกอบด้วย สิบเอกสวัสดิ์ มหะหมัด (หัวหน้า), สิบโท ม.จ.ทวีวงศ์ วัชรีวงศ์, สิบเอกเข็ม เฉลยพิศ, สิบเอกถม เกตุอำไพ, สิบเอกเท้ง แซ่ซิ้ม, จ่านายสิบสาคร ภูมิทัต ฯลฯ

คณะนายสิบผู้ก่อการเตรียมการวางแผนลงมือตอนใกล้รุ่งของวันที่ 5 สิงหาคม 2478 ขั้นแรกคือส่งกำลังเข้ายึดกระทรวงกลาโหมเป็นกองบัญชาการการชั่วคราว จากนั้นก็จู่โจมสังหารบุคคลสำคัญบางคนในคณะรัฐบาล อันได้แก่ พันเอก หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกลาโหม หลวงอดุลย์เดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากรวรวรรณ ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี แต่สำหรับ พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีนั้น ฝ่ายก่อการคิดจับไว้เป็นตัวประกัน และหากได้รับการขัดขวางจากผู้ใดก็จะกำจัดอย่างเด็ดขาด

นอกจากนี้ผู้คิดก่อการยังมีแผนเปิดที่คุมขังนักโทษการเมืองออกมาเป็นกำลังสมทบเพื่อกวาดล้างฝ่ายรัฐบาลให้สิ้นซาก ทั้งยังเตรียมประกาศทันทีที่ยึดอำนาจไว้อย่างสิ้นเชิงแล้วว่าจะทูลเชิญพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 กลับสู่ราชอาณาจักร

แต่เนื่องจากความคิดที่จะดำเนินการอย่างรุนแรงด้วยการสังหารบุคคลสำคัญฝ่ายรัฐบาลนี้เอง ทำให้ผู้ร่วมวางแผนบางคนไม่เห็นด้วยและได้นำความไปเปิดเผยต่อผู้บังคับบัญชา จากนั้นเรื่องจึงถูกรายงานไปถึงหลวงพิบูลสงคราม จึงได้มีการสั่งการให้ผู้บังคับบัญชาของแต่ละคนคอยติดตามการเคลื่อนไหวของทหารชั้นประทวนกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิดจนรู้พฤติการณ์แน่ชัดแล้ว จึงมีคำสั่งให้ผู้บังคับบัญชาของแต่ละกรมกองเข้าจู่โจมจับทหารในสังกัดที่วางแผนก่อกบฏ

ปฏิบัติการชนิดสายฟ้าแลบเข้ากวาดล้างจับกุมโดยที่เป้าหมายทั้งหมดไม่ทันรู้ตัว เริ่มตั้งแต่เวลา 12.30 น. ของวันที่ 3 สิงหาคม 2478 จนถึงวันที่ 7 สิงหาคม ไม่มีการต่อสู้ขัดขืนแต่อย่างใด ทุกคนยอมจำนนแต่โดยดี

การจับกุมเริ่มจากกองพันทหารราบที่ 2 วังจันทร์เกษม มี พันตรี หลวงประหาริปูราบ เป็นผู้บังคับกองพัน เข้าจับกุมสิบเอกแช่ม บัวปลื้ม สิบโทแผ้ว แสงส่องสูง สิบโท ม.ล.กวีวงศ์ วัชรีวงศ์ สิบเอกเข็ม เฉลยพิศ สิบเอกกวย สินธุวงศ์ สิบเอกเท้ง แซ่ซิ้ม สิบเอกตะเข็บ สายสุวรรณ และสิบเอกถม เกตุอำไพ

นอกจากนี้ หลวงพิบูลสงคราม ได้สั่งไปยังผู้บังคับกองพันต่างๆเข้าจับกุมนายทหารชั้นประทวนคนอื่นที่คิดก่อการอย่างต่อเนื่องได้ผู้ต้องหาทั้งสิ้น 21 นาย

ทันทีที่กวาดล้างฝ่ายวางแผนก่อกบฏลงได้อย่างสิ้นเชิงอย่างไม่มีการเสียเลือดเนื้อและปราศจากการต่อสู้ ทางฝ่ายรัฐบาลจึงได้จัดตั้งศาลพิเศษพิจารณาความผิดของพวกกบฏ เป็นพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ แก้ไขเพิ่มเติมจาก 2476 ซึ่งมีข้อพิเศษดังนี้

ในการที่จะลงอาญาประหารชีวิตแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามคำพิพากษาศาลพิเศษ ผู้ต้องคำพิพากษาจะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระมหากษัตริย์ให้ยื่นฎีกาภายใน 48 ชั่วโมง นับตั้งแต่ได้อ่านคำพิพากษา... ถ้าผู้ต้องคำพิพากษา ไม่ยื่นฎีกาภายในกำหนดเวลา หรือได้ยื่นไปแล้วแต่ไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษตามกำหนดเวลานั้น ท่านให้เอาตัวผู้ต้องหานั้นไปประหารชีวิตโดยไม่ชักช้า

คณะกรรมการศาลพิเศษชุดนี้ซึ่งสอบสวนคดีอย่างเร่งรีบ มีถึง 7 นาย  ประกอบไปด้วย พันเอก พระยาอภัยสงคราม พันโท พระยาวิชัยยุทธเดชาคนี พันโท หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต พันโท หลวงรณสิทธพิชัย พันโท หลวงเสรีเริงฤทธิ์ ร้อยเอก หิรัญ ปัทมานนท์ นายเสงี่ยม กาญจนเสถียร คำพิพากษาตัดสินคดีในวันที่ 3 กันยายน 2478 ให้จำคุกตลอดชีวิต สิบโท ม.ล. กวีวงศ์ วัชรีวงศ์ สิบเอกเข็ม เฉลยพิศ สิบเอกถม เกตุอำไพ สิบเอกแท้ง แซ่ซิ้ม จ่านายสิบสาคร ภูมิทัต สิบเอกกวย สินธุวงศ์ สิบโทศาสน์ คชกุล สิบโทแผ้ว แสงส่งสูง สิบเอกแช่ม บัวปลื้ม สิบเอกตะเข็บ สายสุวรรณ และสิบโทเลียม คะหินทะพงษ์

จำคุกเพียง 16 ปี เป็นพลเรือน คือ นายนุ่น ณ พัทลุง

ส่วนสิบเอกสวัสดิ์ มหะหมัด ซึ่งปฏิเสธตลอดข้อหานับแต่ขั้นสอบสวน ถูกคำสั่งประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า ในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2479 ณ หลักประหารป้อมพระจุลจอมเกล้า ปากน้ำ สมุทรปราการ.


โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 16-22 ตุลาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8