Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ความขัดแย้ง 2 ชนิดของการเมืองไทย

ความขัดแย้ง 2 ชนิดของการเมืองไทย:
ท่าทีและทิศทางของขบวนประชาธิปไตย

ความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 9 ปีนับจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่เกิดขึ้นบนพื้นฐาน "แนวทางรัฐธรรมนูญนิยม" ในการเลือกตั้ง 2544 โดยความเชื่อที่ว่า รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยจะสร้างประชาธิปไตยได้ มานี้ มี 2 ชนิด หรือ 2 มิติด้วยกัน

มิติแรก ความขัดแย้งระหว่างพลังประชาธิปไตยกับพลังปฏิกิริยา ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่ก่อรูปและดำรงอยู่กับสังคมการเมืองไทยมากว่าร้อยปี นับจากการซึมซับรับเอาการผลสะเทือนจากการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ นำมาซึ่งปกครองรูปแบบใหม่ของมนุษยชาติ 2 ระบอบ หนึ่งคือ "ระบอบประชาธิปไตย" ซึ่งมีจุดกำเนิดในสงครามประกาศอิสรภาพอเมริกาในปี ค.ศ. 1776 (พ.ศ. 2319) ตามมาด้วยการปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1789 (พ.ศ. 2332) และอีกหนึ่งคือ การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917 (พ.ศ. 2460) ซึ่งก่อให้เกิดสาธารณรัฐโซเวียต อันเป็นรัฐสังคมนิยมแรกในโลก

มิติที่สอง ความขัดแย้งระหว่างขั้วการเมือง 2 ขั้ว โดยอาศัยการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่ "ไม่เป็นประชาธิปไตย" หรือแม้แต่มีความ "เป็นประชาธิปไตยเพียงบางส่วน" เพื่อแย่งชิงการเข้าไปควบคุมกลไกบริหารจัดการภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดำเนินการใช้ "งบประมาณแผ่นดินประจำปี" ทั้งนี้ในการคลี่คลายความขัดแย้ง ยังไม่สามารถยกระดับไปสู่ความขัดแย้งหลักในมิติที่ 1 ได้แต่อย่างไร

ความคาบเกี่ยวของความขัดแย้งทั้ง 2 มิติหรือ 2 ชนิด นี้ จำเป็นที่พลังขับเคลื่อนทางการเมือง หรือพูดให้ถึงที่สุดสำหรับฝ่ายประชาธิปไตย "ต้อง" ทำความชัดเจนให้ได้ว่า การเคลื่อนไหวในแต่ละรอบ ความขัดแย้งชนิดไหนที่เป็นความขัดแย้งหลักในเวลานั้น

"พลังปฏิกิริยา" หมายถึงพลังที่เป็นขัดขวางพัฒนาการของสังคม มีความหมายอีกนัยหนึ่ง หมายถึง "พลังปฏิปักษ์ประชาธิปไตย" ซึ่งประกอบด้วยคน 3 กลุ่ม คือ (1) "อำมาตย์" หมายถึง ข้าราชการประจำในระบบ ที่มีบทบาทบริหารนโยบายและสั่งการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีของประเทศ ระดับกระทรวง/ทบวง/กรม รวมทั้งข้าราชการการเมืองขององค์กรอิสระที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (2) "อภิชน" หมายถึงกลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลและ/หรือมีส่วนได้ส่วนเสีย ต่อความเป็นไปและความเปลี่ยนแปลงทั้งทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางสังคมวัฒนธรรม ด้วยการสืบทอดทางจารีตก่อนประชาธิปไตย และ (3) "ขุนศึกฟาสซิสต์" หมายถึงข้าราชการฝ่ายทหาร ระดับคุมกำลังและขับเคลื่อนนโยบายของกองทัพ จากระดับผู้บังคับบัญชาเหล่าทัพ ระดับแม่ทัพภาค/แม่ทัพน้อย ผู้บัญชาการกองพล และผู้บัญชาการกองกำลังผสมในพื้นที่ที่ล่อแหลมทางทหาร

"พลังประชาธิปไตย" โดยทั่วไปหมายถึง กลุ่มประชาชนหรือมวลชน ผู้ตระหนักและต้องการในเสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียม และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน และปวงชนนั้นใช้อำนาจทั้ง 3 คือ อำนาจบริหารผ่านรัฐบาล อำนาจนิติบัญญัติผ่านสภาผู้แทนราษฎร และอำนาจตุลาการผ่านศาลยุติธรรม หรือกล่าวอย่างชัดเจนถึงที่สุดคือ การปกครองที่ผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองหรือรัฏฐาธิปัตย์ นั้น ต้องมีคุณสมบัติเพียงประการเดียว คือ "เป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน"

การมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย มีจุดเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญเป็นลำดับ เริ่มจาก "กรณี 14 ตุลา 2516" เป็นการเคลื่อนไหวเรียกร้อง "ประชาธิปไตย" ในบริบทของ "รัฐธรรมนูญ" ความอ่อนหัดในประสบการณ์ทางการเมืองของมวลชนที่ประชกอบด้วยนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนวงการต่างๆในเวลานั้นจึง จำกัดขอบเขตการเคลื่อนไหวต่อสู้เพียง "ขับไล่ 3 ทรราชย์ - สร้างรัฐธรรมนูญหมกเม็ดระบอบอำมาตย์ - และการเลือกตั้งภายใต้กติกาประชาธิปไตยจอมปลอม" ซึ่งนำไปสู่การปราบปรามสังหารหมู่ในกรณี 6 ตุลาคม 2519 อันเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายครั้งหนึ่งในเส้นทางประชาธิปไตยของไทย

จากนั้นในเวลา 20 ปีต่อมาจึงเกิด "กรณีพฤษภาทมิฬ 2535" อันเป็นการเคลื่อนไหวคัดค้านต่อเนื่องการรัฐประหารในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดยคณะผู้รักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) และในเวลาต่อมานำไปสู่วิกฤต "นายกรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง" ซึ่งอยู่ในบริบท "การเลือกตั้ง" นำไปสู่การปฏิรูปการเมือง โดยการสร้างรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งในที่สุดฝ่ายปฏิกิริยาก็อาศัย "การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549" ล้มรัฐธรรมนูญนี้เพราะเกิดภาวะพรรคการเมืองเข้มแข็ง จนนำไปสู่การประดิษฐ์วาทกรรม "เผด็จการรัฐสภา"

ทั้ง 2 กรณีดังกล่าวสามารถนำไปสู่ข้อพิจารณาได้ว่า แม้ "รัฐธรรมนูญ" และ "การเลือกตั้ง" จะเป็นบริบทของ "ประชาธิปไตย" แต่ "วิญญาณ" ของ "ปรัชญาประชาธิปไตย" เพิ่งจะถือกำเนิดขึ้นจริงเป็นครั้งแรกในหมู่ประชามหาชนท่ามกลางการเคลื่อนไหวและพัฒนาการของขบวนประชาธิปไตย ที่ชูธง "เสรีภาพ" และ "ความเสมอภาค" ขึ้นสูงเด่น พร้อมทั้งลุกขึ้นหยัดยืนต่อสู้อย่างวีระอาจหาญ ด้วยจิตใจกล้าสู้ กล้าชนะ ภายใต้กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายมาตรฐานเดียว ช่วงปี 2552-2553 มานี้เอง

นั่นหมายความว่า "หน่ออ่อน" ของ "ประชาธิปไตย" ผุดบังเกิดเป็นครั้งแรกในสังคมไทยแล้ว ใน 3 ปีหลังสุดของระยะเวลา 78 ปีนับจากการอภิวัฒน์สยาม 2475

เสรีภาพและความเสมอภาค "มาตรฐานเดียว" หมายถึงคนทุกคนมีความเป็นคนเสมอกัน ไม่มีสิ่งใดมาทำให้ใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีความเป็นคนมากกว่าคนอื่นๆ หรือทำให้คนบางคนหรือบางกลุ่มลดคุณค่าลงไปเสมอ "สัตว์เดียรฉาน"

เป้าหมายการขับเคลื่อนพลังประชาธิปไตยหลัง "กรณีนองเลือด 19 พฤษภาคม 2553" ที่อื้อฉาวไปทั่วโลก จึงไม่เพียงจำกัดอยู่เพียงการตอกย้ำ "ลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม" และ "ลัทธิเลือกตั้ง" ที่ปราศจากรากฐานของ "ประชาธิปไตยสมบูรณ์" หากต้องยกระดับไปสู่การ "โค่นระบอบเผด็จการ" ทั้งเผด็จการที่เกิดจากการรัฐประหารโดยตรง หรือจะเป็นเผด็จการซ่อนรูปอันเกิดจากการสมคบคิดบิดเบือนและทำลายมติของ ประชามหาชน พื้นฐานผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แม้ว่ามติหรือเสียงส่วนใหญ่นั้น จะเกิดขึ้นภายใต้กติกา "รัด-ทำ-มะ-นูน" หรือ "กฎโจร" อันเป็นผลผลิตจากทุก "โจรกบฏ" ผู้ฉีกรัฐธรรมนูญ ปล้นประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

นั่นคือประชาชนผู้รักประชาธิปไตยและรักความเป็นธรรม ต้องเร่งสร้างและทำความเข้าใจในจุดยืน การเคลื่อนไหวใดๆ ที่นำไปสู่การ "สร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน" เร่งสร้าง "จิตสำนึก" และ "บทบัญญัติ" ในการต่อต้านและทำลายการยึดอำนาจการปกครองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตซ้ำแล้วซ้ำอีก

ไม่ให้ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นเพียงเครื่องมือการขับเคี่ยวชิงชัยทางการเมือง โดยละเลยหลักการพื้นฐานสำคัญที่สุดของปรัชญาประชาธิปไตย คือ... "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน".


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 27 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8