Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (5)

บทเกริ่นการรัฐประหารในสยาม:
1 เมษายน 2476 รัฐประหารตัวเอง

สามทหารเสือ คณะราษฎรฝ่ายทหารบก จากซ้ายไปขวา พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน), พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน), พระศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ)

วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 โดยทรงเพิ่มคำว่า "ชั่วคราว" ต่อท้ายธรรมนูญการปกครองฯ ที่ร่างโดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) เนื่องจากทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยไม่เห็นด้วยในร่างธรรมนูญฯดังกล่าว โดยการบริหารประเทศรูปแบบใหม่ภายใต้ฝ่ายบริหารที่เรียกว่า "คณะกรรมการราษฎร" และหัวหน้าคณะที่เรียกว่า "ประธานคณะกรรมการราษฎร"

ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 คณะกรรมการราษฎรจึงออกแถลงการณ์ยืนยันความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ สมดังเจตนารมณ์คณะราษฎรผู้นำการเปลี่ยนแปลงในขณะนั้น

แถลงการณ์คณะกรรมการราษฎร

เนื่องแต่คณะราษฎรได้มีประกาศแสดงถึงการกระทำของกษัตริย์ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.นี้  และต่อมาคณะราษฎรได้ยึดอำนาจการปกครอง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินแก่ราษฎรแล้วนั้น

ต่อมาเมื่อวัน ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. นี้ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาปรีชาชลยุทธ พระยาศรีวิสารวาจา พระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กรรมการราษฎรได้ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ วังสุโขทัย ทรงรับสั่งถึงความจริงที่ได้ทรงตั้งพระราชหฤทัยดีต่อราษฎร และทรงพระราชดำริจะให้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินแก่ราษฎรอยู่แล้ว และสิ่งอื่นๆ ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะกระทำก็ล่าช้าไป หาทันกาลสมัยไม่ ส่วนการที่ข้าราชการในรัฐบาลของพระองค์ใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต ก็ทรงสอดส่องอยู่เหมือนกัน หาได้สมรู้ร่วมคิดด้วยไม่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปรารถนาดีต่อราษฎรเช่นนี้ และทรงยอมร่วมเข้าคณะราษฎร โดยเป็นประมุขของประเทศสยามแล้ว ฉะนั้น คณะกรรมการราษฎรจึงเชื่อมั่นว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ปรารถนาดีต่อราษฎร

ประกาศ  ณ วันที่  1 กรกฎาคม  2475

ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 สภาผู้แทนราษฎรจึงผ่านผ่านการเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับถาวรและได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 แล้วจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้บริหารประเทศชุดใหม่ในนามใหม่ คือเป็น "นายกรัฐมนตรี" และ "รัฐมนตรี" โดยมี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นนายกรัฐมนตรี และมีรัฐมนตรีประจำกระทรวง 7 กระทรวง และรัฐมนตรีลอยอีก 13 คน

โดยมูลเหตุบนพื้นฐานหลัก 6 ประการของคณะราษฎรในข้อที่ 3 คือ "จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจไทย รัฐบาลใหม่จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก" ในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2475 หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ผู้นำฝ่ายพลเรือนของคณะราษฎรและมีส่วนอย่างสำคัญในการร่างหลัก 6 ประการดังกล่าว ได้เสนอ "เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ" หรือเรียกกันว่า "สมุดปกเหลือง" สู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณา 14 คน โดยประชุมในวันที่ 12 มีนาคม ในการประชุมมีความเห็นแตกต่างกันเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายที่คัดค้านนำโดย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาศรีวิศาลวาจา และพระยาทรงสุรเดช ฝ่ายสนับสนุนนำโดย หลวงประดิษฐมนูธรรม นายแนบ พหลโยธิน นายทวี บุณยเกตุ และ ม.จ. สกลวรรณากร วรวรรณ ทำให้มติของคณะอนุกรรมการไม่เป็นที่เด็ดขาด ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเพิ่มเติม

แต่แล้วหลังจากคณะรัฐมนตรีใช้เวลาพิจารณาถึง 2 ครั้งในวันที่ 25 และ 28 มีนาคม โดยหลวงประดิษฐ์ฯ ยืนยันว่าจะลาออกหากคณะรัฐมนตรีไม่เห็นชอบ ขณะที่นายกรัฐมนตรีไม่ต้องการให้หลวงประดิษฐ์ฯ ลาออก แต่ในการประชุมครั้งที่สอง ฝ่ายพระยามโนฯ ได้นำพระราชบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาด้วย ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติไม่ให้ความเห็นชอบเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ ถึง 11 เสียง ต่อ 3 เสียง (งดออกเสียง 5 คน) จากจำนวนผู้เข้าประชุม 19 คน

มีเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งสำคัญ ซึ่งมีผลสืบเนื่องมาสู่การเมืองภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาจนถึงทุกวันเป็นเวลาถึง 3 ใน 4 ศตวรรษ คือ มีความเห็นหลายฝ่ายมองว่า "สมุดปกเหลือง" นั้นมีลักษณะเค้าโครงเศรษฐกิจของคอมมิวนิสต์ บ้างถึงกับกล่าวว่าถ้านายปรีดีไม่ลอกมาจากสตาลิน สตาลินก็ต้องลอกมาจากนายปรีดี ก่อให้เกิดความเห็นขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในหมู่คณะราษฎรด้วยกันเองและบรรดาข้าราชการ พระยาทรงสุรเดช ชักนำพระยาฤทธิ์อัคเนย์และพระประศาสน์พิทยายุทธ ทหารเสืออีก 2 คน สนับสนุนพระยามโนปกรณ์ฯ แต่ในส่วนของบรรดานายทหารคณะราษฎรส่วนใหญ่รวมทั้งพระยาพหลพลพยุหเสนายังคงให้การสนับสนุนนายปรีดีอยู่

ทั้งนี้ในช่วงก่อนหน้า คือในวันที่ 17 มีนาคม มีกระทู้ถามรัฐบาลเรื่องคำสั่งห้ามข้าราชการเป็นสมาชิกสมาคมการเมือง ในวันที่ 30 มีนาคม ที่ประชุมสภาฯ มีมติว่า รัฐบาลกระทำผิดรัฐธรรมนูญและให้ถอนคำสั่ง

คณะนายทหารที่สนับสนุนพระยามโนฯ มีการเคลื่อนไหวกดดันฝ่ายที่สนับสนุนนายปรีดีว่า จะพกปืนเข้าที่ประชุมสภาฯ และยกพวกไปล้อมบ้านพักของนายปรีดี ซึ่งกลายเป็นข้ออ้างให้มีพระราชกฤษฎีกาปิดสภาฯ พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งถือได้ว่าเป็นการ "รัฐประหารเงียบ" มีการออกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2476 และกวาดล้างจับกุมชาวเวียดนามที่สงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ รวมทั้งคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์สยามก็ถูกจับและถูกจำคุก และสุดท้ายคือบีบบังคับนายปรีดีไปที่ประเทศฝรั่งเศส

ทั้งนี้ตอนหนึ่งในคำแถลงการณ์ปิดสภาฯของพระยามโนฯ ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 มีความว่า

"...ในคณะรัฐมนตรี ณ บัดนี้ เกิดการแตกแยกเป็น 2 พวก มีความเห็นแตกต่างกัน ความเห็นข้างน้อยนั้นปรารถนาที่จะวางนโยบายเศรษฐกิจไปในทางอันมีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ ความเห็นข้างมากนั้นเห็นว่านโยบายเช่นนั้นเป็นการตรงกันข้ามแก่ขนบประเพณีชาวสยาม และเป็นที่เห็นได้โดยแน่นอนทีเดียวว่านโยบายเช่นนั้น จักนำมาซึ่งความหายนะแก่ประชาราษฎร และเป็นมหันตภัยแก่ความมั่นคงของประเทศ..."

การรัฐประหาร (ตัวเอง) ครั้งแรกโดยฝ่ายบริหาร มาพร้อมกับข้อกล่าวหาของผู้เผด็จอำนาจในสยามประเทศชนิดครอบจักรวาลที่ใช้สืบเนื่องมาหลายปี นั่นคือข้อหา...

"มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์".


โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 21-27 สิงหาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน


หมายเหตุ: เพื่อให้ผู้อ่านไม่เกิดความสับสนในลำดับเหตุการณ์ช่วงการอภิวัฒน์ 2475 จนถึงปี 2484 จึงขอนำใจความสำคัญของ "ประกาศ ให้ใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่" ลงวันที่ 24 ธันวาคม พุทธศักราช 2483 ดังนี้:

"โดยที่จารีตประเพณีของไทยแต่โบราณมา ได้ถือวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เป็นการสอดคล้องต้องกับคติแห่งพระพุทธศาสนา ซึ่งถือฤดูเหมันต์เป็นการเริ่มต้นปี ต่อมา จารีตอันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ ซึ่งใช้วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า เป็นวันขึ้นปีใหม่ ครั้นภายหลังเมื่อทางราชการนิยมใช้สุริยคติ จึ่งได้ถือวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นต้นปีมาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๓๒

แต่ในนานาอารยประเทศทั้งปวง ตลอดถึงประเทศใหญ่ ๆ ทางปลายบุรพทิศนี้ ได้นิยมใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นต้นปี การนิยมใช้วันที่ ๑ มกราคมนี้ มิได้เกี่ยวข้องกับลัทธิศาสนา จารีตประเพณี หรือการเมืองของชาติใดประเทศใด แต่เป็นการคำนวณโดยวิทยาการทางดาราศาสตร์ และนิยมใช้กันมาเป็นเวลากว่าสองพันปี เมื่อประเทศไทยได้นิยมถือสุริยคติตามอย่างนานาประเทศแล้ว ก็เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นต้นปีเหมือนอย่างประเทศทั้งหลาย เพราะวันที่ ๑ มกราคม ก็ใกล้เคียงกับวันแรม ๑ ค่ำ ของไทย และเป็นการใช้ฤดูหนาวเริ่มต้นปี การใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ จะเป็นการสอดคล้องต้องตามจารีตประเพณีโบราณของไทย ต้องตามคติแห่งพระบวรพุทธศาสนา และได้ระดับกับนานาอารยประเทศทั้งมวล

อนึ่ง ได้มีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติปีประดิทิน พุทธศักราช ๒๔๘๓ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ ๑๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๓ และพระราชบัญญัตินั้นก็เป็นอันใช้ได้ตั้งแต่วันที่ ๑๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓ เป็นอันว่าทางรัฐนั้นได้ใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันเริ่มปีใหม่แล้ว

จึ่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ คณะสงฆ์ และอาณาประชาราษฎร์ทั้งมวล นิยมถือวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ให้ถือเป็นจารีตประเพณีของชาติตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และขอให้ปีใหม่อันเริ่มขึ้นในวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ นี้ จงเป็นเวลารุ่งอรุณแห่งชีวิต ให้ชาติไทยได้รับความเจริญและก้าวหน้าขึ้นสู่ความรุ่งโรจน์ใหญ่หลวง ให้อาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงได้รับความร่มเย็นเป็นสุขทั่วกันเทอญ"

ฉะนั้น ก่อนหน้าวันที่ 1 มกราคม 2484 การลำดับเดือนในหนึ่งปีจึงเริ่มต้นในวันที่ 1 เมษายน และสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคม.

วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (4)

อำนาจหรือพระราชอำนาจ
ในระบอบรัฐธรรมนูญสยาม 2475

เจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) ประธานสภาผู้แทนราษฎร อัญเชิญรัฐธรรมนูญ

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานลงมา ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2475 นั้นพระองค์ทรงเติมคำว่า "ชั่วคราว" กำกับต่อท้ายพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม โดยมีพระราชกระแสรับสั่งแก่คณะราษฎรว่าให้ใช้เป็นการชั่วคราว จากนั้นจึงให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร

จากนั้นในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2475 หลวงประดิษฐมนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) แถลงต่อสภาฯว่า ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินที่ประกาศใช้แล้วนั้น เป็นฉบับชั่วคราวที่ร่างในเวลาฉุกละหุก ซึ่งอาจทำให้มีความบกพร่อง ไม่สามารถครอบคุลมในรายละเอียดที่จำเป็นอย่างเพียงพอสำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ดังนั้น ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองมาตั้งแต่ต้น จึงมีความเห็นว่าควรให้มีอนุกรรมการ ตรวจแก้ไขเพิ่มเติม

จากบันทึก รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในที่สุดที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินมีจำนวน 7 คน โดยมี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ และหลวงประดิษฐมนูธรรม นักกฎหมายจากฝรั่งเศสเพียงคนเดียว และในเวลานั้นอ่อนอาวุโสที่สุด เป็นเลขาธิการ มีกรรมการประกอบด้วย พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี พระยามานวราชเสวี พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ (ทั้ง 3 คนนี้และตัวพระยามโนปกรณ์ฯเอง จบกฎหมายจากสหราชอาณาจักร) พระยาปรีดานฤเบศร์ และหลวงสินาดโยธารักษ์ (รงส.1/2475, 28 มิถุนายน 2475) ต่อมา พระมโนปกรณ์นิติธาดาเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ขอให้แต่งตั้ง อนุกรรมการฯเพิ่มขึ้นอีก 2 คน ได้แก่ พระยาศรีวิศาลวาจา และ นายพลเรือโทพระยาราชวังสัน เพื่อให้งานสำเร็จเร็วขึ้น (รงส.27/2475, 23 กันยายน 2475)

ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรนั้น มีความเห็นที่นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ในเวลานั้นว่ามีการประนีประนอมระหว่างคณะราษฎร ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และพระมหากษัตริย์ตลอดเวลา ซึ่งรวมถึงการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในสภาผู้แทนราษฎรด้วย ดังปรากฏในคำแถลงของประธานอนุกรรมการ ฯ ต่อสภาฯ ว่า

"…ในการร่าง พระธรรมนูญนี้ อนุกรรมการได้ทำการติดต่อกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดเวลา จนถึงอาจจะกล่าวได้ว่า ได้ร่วมมือกันทำข้อความตลอดในร่างที่เสนอมานี้ ได้ทูลเกล้าฯถวาย และทรงเห็นชอบด้วยทุกประการแล้ว และที่กล่าวได้ว่าทรงเห็นชอบนั้น ไม่ใช่แต่เพียงทรงเห็นชอบด้วย อย่างข้อความที่กราบบังคมทูลขึ้นไป ยิ่งกว่านั้น เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก…" (รงส. 34/2475 24 พฤศจิกายน 2475)

ระหว่างนั้น ในที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร มีการเสนอให้เรียกว่า "รัฐธรรมนูญ" แทนคำว่า "ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน" ซึ่งคณะอนุกรรมการก็รับว่า เห็นควรใช้คำว่า "รัฐธรรมนูญ" ที่นายปรีดี พนมยงค์ อธิบายว่า หมายถึง "กฎหมายว่าด้วยระเบียบการปกครองแผ่นดินหรือรัฐ" ซึ่งในเวลาต่อมา หม่อมเจ้า วรรณไวทยากร วรวรรณ เสนอให้ใช้คำว่า "รัฐธรรมนูญ" และกลายมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่าถ้าผู้ร่างต้องการให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะใช้คำว่า "รัฐธรรมนูญ" แต่ถ้าจะใช้เป็นฉบับชั่วคราวจะเรียกว่า "ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน"

สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญโดยใช้วิธีพิจารณาแบบอนุกรรมการเต็มสภา และพิจารณาแบบเรียงมาตรา เพื่อเร่งพิจารณาให้เสร็จทันกำหนดฤกษ์พระราชทานรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 (รงส. 34/2475 24 พฤศจิกายน 2475)

ในการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นที่เห็นพ้องต้องกันทั้งคณะผู้ร่าง คณะกรรมการราษฎร และสมาชิกระดับนำในคณะราษฎร นั้น ประเด็นสำคัญที่ควรได้รับการเผยแพร่เพื่อตระหนักในเจตนารมณ์พื้นฐาน ในอันที่จะทำความเข้าใจในเรื่อง "อำนาจธิปไตย" ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ นั่นคือประเด็นว่าด้วย "อำนาจ" หรือที่เดิมในการปกครองสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองพระแผ่นดิน เป็นที่เข้าใจและรับรองกันว่าเป็น "พระราชอำนาจ"

ใน หมวด 1 พระมหากษัตริย์ บัญญัติไว้ว่า มาตรา 6 พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดย คำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร; มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี; มาตรา 8 พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาลที่ได้ตั้งขึ้นตามกฎหมาย

ทั้งนี้ในระหว่างการประชุมร่างรัฐธรรมนูญ (ให้สังเกตว่าไม่มีบอกพุทธศักราชไว้ด้วย สันนิษฐานว่าโดยความตั้งใจให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ยกร่างและผ่านมติ ประกาศใช้ครั้งเดียวไปเลย) นั้นเอง มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญฯใช้คำว่า พระราชอำนาจบริหาร พระราชอำนาจนิติบัญญัติ และพระราชอำนาจตุลาการ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานอนุกรรมการฯ เสนอให้ตัดคำว่า "พระราช" ออก โดยให้เหตุผลว่า อำนาจนี้ไม่ใช่ของกษัตริย์ แต่เป็นอำนาจที่มาจากประชาชนชาวสยาม ในขณะที่สมาชิกบางส่วนเห็นว่า ควรคงไว้เพื่อรักษาความสุภาพอ่อนโยน (sentiment) แต่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีอธิบายว่า อาจขัดกับความเป็นจริง (fact) ได้ ถ้าเช่นนั้นควรจะรักษาความเป็นจริงไว้ดีกว่า

ประธานอนุกรรมการฯกล่าวเพิ่มเติมว่า ในระบอบรัฐธรรมนูญ (constitutionalism) พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจในทางบริหารต่างจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolutism) ที่การบริหารใดๆ เป็นพระราชอำนาจ ดังนั้น การใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์จึงต้องมีกรรมการราษฎร (ที่ต่อมาสภา ฯ มีมติให้เรียกว่ารัฐมนตรี) เป็นผู้ลงนามสนอง พระบรมราชโองการ โดยเฉพาะมาตรา 7 ซึ่งหลวงประดิษฐมนูธรรมกล่าวว่า เป็นบทบัญญัติที่จำกัดพระราชอำนาจบริหารของกษัตริย์ หากความสุภาพนุ่มนวลไม่ขัดกับ ความเป็นจริงก็จะรักษาภาษาสำนวน เพราะ "ไม่ต้องการให้ชอกช้ำ" เอาไว้ ในที่สุดที่ประชุมเห็นชอบให้ตัดคำว่า "พระราช" ออก (รงส. 35/2475 25 พฤศจิกายน 2475)

สำหรับคำว่า "คณะกรรมการราษฎร" ถูกนำมาพิจารณาในการประชุมสภาฯครั้งที่ 41 โดยมีการลงมติใช้คำว่า "รัฐมนตรี" 28 เสียงไม่ออกเสียง 24 เสียง และมีผู้เห็นควรใช้คำอื่น 7 เสียง จึงมีผลทำให้ใช้คำว่า "รัฐมนตรี" แทน "กรรมการราษฎร" รวมทั้งใช้คำว่า "คณะรัฐมนตรี" แทน "คณะกรรมการราษฎร" และใช้คำว่า "นายกรัฐมนตรี" แทนคำว่า "ประธานคณะกรรมการราษฎร" ตลอดจนมีการกำหนดความหมายใหม่ว่า "รัฐมนตรี" หมายถึง "ข้าราชการผู้ใหญ่ในแผ่นดิน" มิใช่ที่ปรึกษาของแผ่นดินอีกต่อไป เช่นที่มี "รัฐมนตรีสภา" ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (รงส. 41/2475, 28 พฤศจิกายน 2475).


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 20-26 พฤศจิกายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (3)

สิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธราชย์
ราชอาณาจักรสยามที่เป็นประชาธิปไตย

ประชาชนหลั่งไหลไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า วันที่ 24 มิถุนายน 2475

เมื่อหลวงศุภชลาศัยได้เข้าเฝ้าพระปกเกล้าฯ ได้รับทราบถึงการตัดสินพระทัยต่อการก่อการเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงรีบแจ้งข่าว ให้ นายพลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ (ในฐานะผู้รักษาการแม่ทัพเรือ) ทราบเมื่อเวลา 10.50 น. ของวันที่ 25 มิถุนายน 2475 เพื่อถ่ายทอดถึงคณะราษฎรและผู้รักษาพระนคร ว่า ในหลวงได้มีพระราชหัตถเลขาตอบรับคณะราษฎรอย่างเป็นทางการ ว่าจะยอมเป็นพระเจ้าอยุ่หัวภายใต้รัฐธรรมนูญ ตามที่คณะราษฎรได้แจ้งให้พระองค์ทราบ และให้จัดขบวนรถไฟพิเศษให้พระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้ประทับ ตามพระราชประสงค์ ข้อความในพระราชหัตถเลขามีดังนี้

**********
สวนไกลกังวล หัวหิน
วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475
ถึงผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร

ด้วยได้ทราบความตามสำเนาหนังสือที่ได้ส่งไปยังกระทรวงมุรธาธรว่า คณะทหารมีความปรารถนาจะเชิญให้ข้าพระเจ้ากลับพระนคร เป็นกษัตริย์อยู่ใต้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฏร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ กับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละไม ไม่ให้ขึ้นชื่อว่าได้จลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าก็ได้คิดอยู่แล้ว ที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิด เพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปตามวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก ถ้าเพราะว่าถ้าข้าพเจ้าไม่ยอมรับเป็นตัวเชิด นานาประเทศก็คงไม่ยอมรับรัฐบาลใหม่นี้ ซึ่งคงจะเป็นความลำบากยิ่งขึ้นหลายประการ

ความจริงตัวข้าพเจ้าเองในเวลา นี้ก็ทราบกันอยู่แล้วว่ามีอาการทุพลภาพและไม่มีลูกสืบวงศ์สกุล และจะไม่ทนงานไปนานเท่าใดนัก ทั้งไม่มีความปรารถนามักใหญ่ใฝ่สูงให้เกินศักดิ์และความสามารถที่จะช่วยพยุงชาติของเราให้เจริญเทียมหน้าเขาบ้าง ที่พูดมานี้เป็นความจริงใจเสมอ

ประชาธิปก ปร.

**********

รถไฟพิเศษได้มาถึงหัวหินเวลา 17.00 น. จากนั้นอีกครึ่งชั่วโมง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระบรมราชินี พร้อมด้วย พลโท พระยาวิชิตวุฒิไกร (สมุหราชองครักษ์) และข้าราชบริพาร มาถึงสถานีหัวหิน จากนั้นเสด็จประทับบรถไฟพระที่นั่ง ซึ่งมีคณะรับเสด็จประกอบด้วย สมเด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระสวัสดิ์วัตนวิศิษฐ์, นายพลเอก กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน, นายพลเรือเอก กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร, หม่อมเจ้าฉัตรมงคล และ นายทหารชั้นเรือเอกจากเรือหลวงสุโขทัย รออยู่แล้ว

วันอาทิตย์ 26 มิถุนายน เวลา 00.35 น. ขบวนรถไฟพิเศษจากหัวหิน เสด็จถึงสถานีจิตรลดา มหาเสวกเอก เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์ เย็น อิสรเสนา ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงวัง และข้าราชการกระทรวงวัง 3-4 นาย ได้มารับเสด็จโดยไม่มีกองเกียรติยศ ในหลวงได้มีพระราชปฏิสันถารกับเสนาบดีกระทรวงวัง จากนั้นเสด็จขึ้นรถพระที่นั่งไปยังวังศุโขทัย ส่วนเจ้านายที่ตามเสด็จได้ประทับรถยนต์ไปพักที่บ้านกรมหลวงสิงห์วิกรมไกร และกรมพระกำแพงเพชรฯประทับรถกลับวังบ้านดอกไม้

ส่วนร้อยเอก หลวงโหมรอนราญ, นายพลตรี พระยาพิชัยสงคราม และนายพลโท พระองค์เจ้าอลงกฏ ประทับรถไฟต่อไปยังสถานีกรุงเทพ พอถึงสถานีกรุงเทพก็เจอกับทหารที่ตั้งแถวรออยู่ และนายเรือเอกที่ตามพระองค์เจ้าอลงกฏมา ได้ชักปืนจี้พระองค์พร้อมวัทยาหัตถ์ พาพระองค์ไปที่พระที่นั่งอนันตสมาคม

ต่อมาในเวลา 10.00 น. ผู้แทนคณะราษฎร นำโดย พลเรือตรี พระยาสรยุทธเสนี, พันโท พระประสาสน์พิทยายุทธ หนึ่งใน 4 ทหารเสือ, พันตรี หลวงวีรโยธา ผบ. ร.2 พัน. 3, อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี, นายจรูญ ณ บางช้าง และ นายสงวน ตุลารักษ์ ได้เข้าเฝ้าถวายพระราชกำหนดนิรโทษกรรมคณะราษฎร และร่างรัฐธรรมนูญที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ร่างไว้ ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย ทรงรับสั่งถามว่า ได้อ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาก่อนแล้วหรือยัง ก็ได้รับคำตอบว่ายังมิได้อ่าน เพราะมิใช่หน้าที่โดยเฉพาะและได้กราบทูลต่อไปว่า ทางพระยาทรงสุรเดชได้ประชุมกำชับไว้มั่นคงแล้วว่า ให้ร่างรัฐธรรมนูญตามแบบอังกฤษ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงทรงรับสั่งว่าถูกต้องแล้ว ต้องการจะให้เป็นเช่นนั้น แต่เรื่องอะไรจึงต้องใช้คำแทนเสนาบดีว่า "คณะกรรมการราษฎร" ซึ่งเป็นแบบรัสเซีย

พระยาทรงสุรเดชกราบทูลขอพระราชทานอภัยที่มิได้อ่านมาก่อน และถวายสัตย์ว่าจะไปร่างมาใหม่ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ เวลา 10.45 น. ผู้แทนคณะราษฎร์จึงถวายบังคมลา

ต่อมาในวันที่ 27 มิถุนายน พระยามโนปกรณ์นิติธาดานำรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายให้ทรงลงพระปรมาภิไธย ณ พระตำหนักจิตรลดา ฯ และในวันเดียวกันก็ได้มีประกาศวิทยุเป็นทางการทั่วประเทศ ที่ได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนชาวไทย

จากนั้น ในวันที่ 1 กรกฎาคม คณะกรรมการราษฎรจึงได้ออก "แถลงการณ์คณะกรรมการราษฎร (คณะรัฐมนตรี)" ดังนี้

**********

แถลงการณ์คณะกรรมการราษฎร

เนื่อง แต่คณะราษฎรได้มีประกาศแสดงถึงการกระทำของกษัตริย์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.นี้  และต่อมาคณะราษฎรได้ยึดอำนาจการปกครอง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินแก่ราษฎรแล้วนั้น

ต่อมาเมื่อวัน ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. นี้ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาปรีชาชลยุทธ พระยาศรีวิสารวาจา พระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กรรมการราษฎรได้ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ วังสุโขทัย ทรงรับสั่งถึงความจริงที่ได้ทรงตั้งพระราชหฤทัยดีต่อราษฎร และทรงพระราชดำริจะให้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินแก่ราษฎรอยู่แล้ว และสิ่งอื่นๆ ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะกระทำก็ล่าช้าไป หาทันกาลสมัยไม่ ส่วนการที่ข้าราชการในรัฐบาลของพระองค์ใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต ก็ทรงสอดส่องอยู่เหมือนกัน หาได้สมรู้ร่วมคิดด้วยไม่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปรารถนาดีต่อราษฎรเช่นนี้ และทรงยอมร่วมเข้าคณะราษฎร โดยเป็นประมุขของประเทศสยามแล้ว ฉะนั้น คณะกรรมการราษฎรจึงเชื่อมั่นว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ปรารถนาดีต่อราษฎร

ประกาศ ณ วันที่  1 กรกฎาคม  2475

**********


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 13-19 พฤศจิกายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (2)

ปฐมบทประชาธิปไตยสยาม
พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ


หลังจากสมาชิกระดับนำของคณะราษฎรทยอยกันเดินทางกลับเข้าสู่พระราชอาณาจักรจนครบ ในช่วงต้นปี 2475 มีการประชุมเตรียมการเข้ายึดอำนาจการปกครองหลายครั้ง แล้วโอกาสเหมาะในการลงมือก็มาถึง เมื่อ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานยังสวนไกลกังวลในวันที่ 8 มิถุนายน

ในการแปรพระราชฐานยังสวนไกลกังวลอันเป็นการเสด็จพระราชดำเนินครั้งสุดท้ายของ พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น มีพระบรมวงศ์เธอและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตามเสด็จไปเป็นอันมาก อาทิ

1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระสวัสดิ์วัตนวิศิษฐ์ (พระราชบิดาในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และพระอัยกาของ หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี)
2. นายพลเรือเอก กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร เสนาบดีกระทรวงกลาโหม
3. นายพลโท พระองค์เจ้าอลงกฏ รองเสนาบดีกระทรวงกลาโหม
4. นายพลตรี หม่อมเจ้าฉัตรมงคล จเรทหารบก
5. นายพลตรี พระยาอานุภาพไตรภพ (จำรัส เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผบ. พล.3 นครราชสีมา
6. นายพลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร สมุหราชองครักษ์
7. นายพันโท พระเริงรุกปัจจามิตร ราชองครักษ์
8. นายพันตรี หลวงสรสิทธยานุการ (สิทธิ์ แสงชูโต) ผบ. กองพันทหารราบเพชรบุรี

นอกจากนั้น แม่ทัพนายกองคนสำคัญ ที่ประกอบด้วย นายพลโท พระองค์เจ้าอลงกฏ สุขสวัสดิ์, นายพลตรี พระยาพิชัยสงคราม (แก๊ป สรโยธิน) แม่ทัพกองทัพที่ 1, นายพันตรี หลวงพิชิตชนะภัย (เจือ ชนะภัย) และ นายร้อยเอก หลวงโหมรอนราญ (ตุ๊ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา) ก็อยู่ในระหว่างเดินทางสำรวจภาคใต้เพื่อเตรียมการตั้งกองทหารประจำภาคใต้ (นับแต่ชุมพร) เป็นการถาวร ซึ่งสำเร็จลงในปี 2481

หลังจากที่การขยับเลื่อนวันก่อการอยู่หลายครั้ง ทั้งนี้มีการล้มเลิกแผนการที่จะเข้ายึดอำนาจในวันที่ 16 มิถุนายน อันเป็นวันพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา แต่มีมติส่วนใหญ่เห็นว่ามีความเสี่ยงสูง เนื่องจากกำลังทหารของฝ่ายรัฐบาลสามารถรวมพลกันติด และอำนาจบังคับบัญชายังอยู่ในความควบคุมของฝ่ายเจ้านายและขุนนางใกล้ชิด

ในที่สุดการวางแผนขั้นสุดท้ายของคณะราษฎรซึ่งกระทำที่บ้านร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี ในวันที่ 12 มิถุนายน 2475 จึงได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการในเช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการเข้าควบคุมสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร

ประมาณ 5 นาฬิกา นายทหารฝ่ายคุมกำลังที่เป็นสมาชิกคณะราษฎรบัญชาให้เคลื่อนกำลังทหารบกและทหารเรือมาประมาณ 2,000 นาย มารวมตัวกันบริเวณรอบพระที่นั่งอนันตสมาคม ตั้งแต่เวลาประมาณ 5 นาฬิกา โดยอ้างว่าเป็นการสวนสนาม จากนั้น นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้อ่าน ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เท่ากับเป็นการประกาศยึดอำนาจการปกครอง ปัจจุบันตำแหน่งที่พระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศคณะราษฎร มีหมุดทองเหลืองฝังอยู่ เรียกกันว่า หมุดคณะราษฎร มีข้อความว่า "ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ"

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2481 รัฐบาลพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ให้วันที่ 24 มิถุนายน เป็น "วันชาติ"

หลังจากคณะผู้ก่อการควบคุมสถานการณ์ในพระนครได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คณะราษฎรมีคำสั่งให้ นายนาวาตรี หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) นำเรือรบหลวงสุโขทัยออกจากบางนา เดินทางไปพระราชวังไกลกังวล หัวหิน โดยด่วน เพื่ออัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จนิวัติคืนสู่พระนคร พร้อมกับมีหนังสือทูลเชิญดังมีใจความต่อไปนี้

**********

พระที่นั่งอนันตสมาคม
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475
กราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
วังไกลกังวล หัวหิน
ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

            ด้วยคณะราษฎร ข้าราชการ ทหาร พลเรือน ได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้ได้แล้ว และได้เชิญเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ มี สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้ากรมพระนครวรรค์วรพินิต เป็นต้น ไว้เป็นประกัน ถ้าหากคณะราษฎรนี้ถูกทำลายด้วยการใดก็ดี จะต้องทำร้ายเจ้านายที่จับกุมไว้เป็นการตอบแทน

            คณะราษฎรไม่ประสงค์จะแย่งชิงราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันใหญ่ยิ่งก็เพื่อจะให้มีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จกลับคืนสู่พระนคร และทรงเป็นกษัตริย์ต่อไป โดยอยู่ใต้รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินซึ่งคณะราษฎรได้สร้างขึ้น ถ้าใต้ฝาละอองธุลีพระบาทตอบปฏิเสธก็ดี หรือไม่ตอบภายในหนึ่งชั่วโมงนับแต่ได้รับหนังสือนี้ก็ดี คณะราษฎรจะได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินโดยเลือกเจ้านายพระองค์อื่นที่เห็นสมควรขึ้นเป็นกษัตริย์

            ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
                      พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
                      พ.อ.พระยาทรงสุรเดช
                      พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์

**********

โดยก่อนที่ถือหนังสือไปเข้าเฝ้าพระปกเกล้าฯ หลวงศุภชลาศัยได้ประชุมนายทหารแล้วสั่งการว่า "ณ เบื้องหน้าที่ชายหาดหน้าพระราชวังนั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าว่าจะมีเหตุการณ์อันใดเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าและทีมที่ไป ดังนั้นในทันทีที่ข้าพเจ้าหากเป็นอันตรายด้วยการถูกยิง ถูกจับ หรือถูกอะไรก็ตาม อันมิใช่เป็นการปรากฏการณ์ของผู้ที่จะนำสาส์นของผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารและการอัญเชิญเสด็จนิวัติแล้ว ข้าพเจ้าจะโยนหมวกขึ้นสู่เบื้องบนเป็นสัญญาณ ดังนั้นต้นปืนจะต้องส่องกล้องจับตาดูข้าพเจ้าตลอดเวลา หากได้เห็นหมวกของข้าพเจ้าถูกโยนขึ้นเบื้องสูงเหนือศีรษะแล้ว ให้ต้นปืนสั่งการแก่ปืนใหญ่ทุกกระบอกในเรือให้หันเข้าซัลโวพระราชวังไกลกังวลทันที"


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 6-12 พฤศจิกายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันเสาร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (1)

การอภิวัฒน์สยาม 2475:
8 ปีแรกของคณะราษฎร


ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 บุคคล 7 คน อันได้แก่ 1. ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี (นายทหารกองหนุน อดีตผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ในรัชกาลที่ 6) 2. ร.ท. แปลก ขีตตะสังคะ (นักศึกษาในโรงเรียนนายทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศส) 3. ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี (นักศึกษาในโรงเรียนนายทหารม้าฝรั่งเศส) 4. นายตั้ว ลพานุกรม (นักศึกษาวิทยาศาสตร์ในสวิตเซอร์แลนด์) 5. หลวงสิริราชไมตรี (ผู้ช่วยสถานทูตสยามประจำกรุงปารีส) 6. นายแนบ พหลโยธิน (เนติบัณฑิตอังกฤษ) 7. นายปรีดี พนมยงค์ (ดุษฎีบัณฑิตกฎหมายฝ่ายนิติศาสตร์ ฝรั่งเศส) จัดให้มีการประชุม ณ หอพัก Rue du summerard ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ข้อสรุปสำคัญของการประชุมคือการตกลงที่จะเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจาก "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" ที่พระมหากษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย มาเป็นการปกครองใน "ระบอบประชาธิปไตย" ที่ มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย โดยตกลงที่ใช้วิธีการ "ยึดอำนาจโดยฉับพลัน" หลีกเลี่ยงการนองเลือด ส่วนหนึ่งเพื่อมิให้มหาอำนาจนักล่าอาณานิคม คือ อังกฤษและฝรั่งเศส ฉวยโอกาสเข้ามาแทรกแซงการเมืองการปกครองที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่

กลุ่มผู้ก่อการหรือที่รู้จักกันเวลาต่อมาในนาม "คณะราษฎร" วางเป้าหมายในการสร้างชาติภายใต้ระบอบประชาธิปไตยไว้ 6 ประการ ซึ่งบรรจุไว้ในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้นเอง และต่อมาได้เรียกว่า "หลัก 6 ประการของคณะราษฎร" คือ

1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง
2. จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
3. จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจไทย รัฐบาลใหม่ จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4. จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)
5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้น
6. จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร


เมื่อคณะผู้ก่อการทยอยกันกลับมาประเทศสยาม ก็หาสมาชิกเข้าร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประกอบด้วยราษฎรทุกสาขาอาชีพรวม 102 คน โดย สายพลเรือนนำโดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) สายทหารเรือนำโดย น.ต. หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) สายทหารบกแยกย่อยเป็น 2 สาย ชั้นยศต่ำนำโดย พ.ต. หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) และสายชั้นยศสูงนำโดย พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)

การอภิวัฒน์ที่ถือว่าเป็นครั้งเดียวของสยามประเทศในเวลานั้นหรือกระทั่งเปลี่ยนเป็นประเทศไทย เปิดฉากจริงๆในวันที่ 12 มิถุนายน โดยคณะราษฎรร่วมกันวางแผนการที่บ้าน ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี โดยมีเป้าหมายสำคัญในการควบคุมสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร และวันดีเดย์ 24 มิถุนายน ก็เคลื่อนกำลังเข้าควบคุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญในพระนคร ตลอดจนควบคุมเจ้านายที่ควบคุมกำลังทหารเอาไว้ได้ จากกนั้นจึงประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบประชาธิปไตย ในการปฏิบัติการมีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้าคณะราษฎร

27 มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวลงพระปรมาภิไธยในธรรมนูญการปกครองประเทศ โดยทรงเพิ่มคำว่า "ชั่วคราว" ต่อท้ายธรรมนูญการปกครองฯ ที่ร่างโดยนายปรีดี พนมยงค์

10 ธันวาคม สภาผู้แทนราษฎรจึงผ่านผ่านการเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับถาวรและได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 หลังจากมีการทบทวนความสำคัญบางประเด็นตามกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จากนั้นจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้บริหารประเทศชุดใหม่ในนามใหม่ คือเป็น "นายกรัฐมนตรี" และ "รัฐมนตรี" แทนที่ชื่อตำแหน่งว่า "ประธานคณะกรรมการราษฎร" และ "กรรมการราษฎร" คณะบริหารชุดใหม่มี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นนายกรัฐมนตรี และมีรัฐมนตรีประจำกระทรวง 7 กระทรวง และรัฐมนตรีลอยอีก 13 คน

11 ตุลาคม 2476 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าฝ่ายทหารนำกำลังทหารจากหัวเมืองภาคอีสาน ล้มล้างการปกครองของรัฐบาล แต่กระทำการไม่สำเร็จ จึงเป็นที่มาของชื่อ "กบฏบวรเดช"  23 ตุลาคม นายทหารคนสำคัญฝ่ายกบฏ คือ นายพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ถูกยิงเสียชีวิตโดยทหารจากกองพันทหารราบที่ 6 นำโดย พันตรีหลวงวีรวัฒน์โยธา 25 ตุลาคม  พระองค์เจ้าบวรเดชหัวหน้าคณะกบฏและพระชายา ทรงขึ้นเครื่องบินหนีไปยังประเทศกัมพูชา

7 พฤศจิกายน สภาผู้แทนราษฎร ผ่านกฎหมาย พระราชบัญญัติป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ อันเป็นเครื่องมือที่จะตอบโต้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล (หรือนัยหนึ่งคือฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับคณะราษฎร)

2 มีนาคม 2477 (2478) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ ขณะประทับรักษาพระเนตรอยู่ในประเทศอังกฤษ

14 ตุลาคม 2479 เปิด "อนุสาวรีย์ปราบกบฏ" หรือ "อนุสาวรีย์พิทักษ์ธรรมนูญ" ที่บางเขน ซึ่งปัจจุบันหลงเหลือคำที่ใช้เรียกขานเพียงว่า "อนุสาวรีย์หลักสี่" จนความหมายของวีรกรรมหาญกล้าของคณะบุคคลที่ทุ่มอุทิศชีวิตเพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตย ถูกลอดทอนความสำคัญลงไปทุกทีจนเกือบกลายเป็นตำนานที่ไร้ที่มาที่ไปยิ่งขึ้นทุกที

18 กรกฎาคม 2481 รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายน เป็น "วันชาติ"

24 มิถุนายน 2482 เริ่มเฉลิมฉลองวันชาติ 24 มิถุนายน เป็นครั้งแรก ในสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม พร้อมกับการเริ่มก่อสร้าง "อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย" ซึ่งออกแบบโดย หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล ควบคุมการก่อสร้างจนแล้วเสร็จโดย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ศิลปินผู้ปั้นอนุสาวรีย์คือ นายสิทธิเดช แสงหิรัญ และจัดพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2483

เวลา 8 ปีหรือครึ่งทางของคณะราษฎร ได้รัฐธรรมนูญที่ยังไม่สมบูรณ์เท่าใดนัก ได้ "วันชาติ" มาเป็นสมบัติของ "ราษฎร" และได้อนุสาวรีย์เป็นสัญลักษณ์ในการสร้างชาติไทยใหม่


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 19 - 25 มิถุนายน 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8