Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (7)

มูลเหตุและความจำเป็น
ที่นำไปสู่การ "เลิกระบบไพร่" อันล้าหลัง

ภาพถ่ายทหารรักษาพระองค์ปืนปลายหอก สมัยรัชกาลที่ 4

การจะทำความเข้าใจช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการสถาปนา "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาภูมิหลังและลำดับขั้น ตลอดจนวิกฤตกาลแต่ละครั้ง ก่อนที่ระบอบการปกครองใหม่ที่เข้ามาแทนที่ "ระบอบศักดินา (จตุสดมภ์)" หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นครั้งที่สองหลังพระชนมายุครบ 20 พรรษา นอกเหนือจากการปฏิรูประบบการเงินการคลังของแผ่นดินเสียใหม่ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีอากรและจัดสรรงบประมาณบริหารราชการแผ่นดินมาอยู่ในการกำกับดูแลของส่วนกลาง (คือ "ราชสำนัก") แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว การดำเนินการปลดปล่อย "พลังการผลิต" อย่าง "พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน" ก็เกิดขึ้นมาแทบจะในทันทีที่ "วิกฤตการณ์วังหน้า" ยุติลงก่อนที่จะบานปลายเป็นการ "ก่อกบฏ" หรือ "ยึดอำนาจ" นั่นคือ แนวพระราชดำริในการ "เลิกทาส" และ "เลิกไพร่" และทั้ง 2 ประการนั้น ก่อผลสะเทือนต่อราชอาณาจักรสยามในช่วงเวลาถึง 30 ปี

ที่สำคัญ ผลจากการเปลี่ยนแปลงนั้น เกิดขึ้นทั้งในหมู่ "ชนชั้นสูง" ทั้งที่เป็น "เจ้านาย" และ "ขุนนาง/อำมาตย์" กระทั่งเกิด "กบฏ" ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 และเกิดขึ้นในหมู่อาณาประชาราษฎรทั้งที่เป็น "ทาส" และที่เป็น "ไพร่" ซึ่งฝ่ายหลังนี้เองที่นำไปสู่ปฏิกิริยาของการ "แข็งข้อ" ตามหัวเมืองต่างๆ หลายภูมิภาคของสยาม เกิดเป็น "กบฏไพร่" หรือ "กบฏผีบุญ" ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ชนชาติไทยในดินแดนสุวรรณภูมิก่อนจะเป็นประเทศไทยอย่างในปัจจุบัน นั่นคือ "การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475" อันเป็นการสิ้นสุด "รูปแบบ" ระบอบการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และ "ความพยายามในการสถาปนา" ระบอบการปกครองที่ "กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ"

สำหรับมูลเหตุของกระบวนการ "เลิกไพร่" นั้น พอจะพิจารณาได้ดังนี้

1. การควบคุมไพร่ที่มีมาแต่เดิมถึงช่วงที่ไร้ประสิทธิภาพ พระมหากษัตริย์ไม่สามารถควบคุมคนได้ ในขณะที่มูลนายอื่นๆได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากไพร่ และใช้ไพร่เป็นอำนาจทางการเมือง

2. ไพร่บางส่วนได้รับกดข่มขี่เหงจากมูลนายก็หลบหนีไปอยู่ในท้องที่ทุรกันดาร ห่างไกลจากอำนาจบังคับบัญชาของมูลนาย หรือของ "ราชการ" มีแนวโน้มที่อาจซ่องสุมผู้คนขึ้นแข็งข้อหรือถึงขั้นก่อกบฏ เพื่อแบ่งแยกการปกครอง

3. เพื่อลดอิทธิพลอำนาจของมูลนายหรือขุนนาง เนื่องจากการเกิดวิกฤตการณ์วังหน้า พ.ศ.2417 แสดงให้เห็นว่ากำลังไพร่พลของขุนนางที่เริ่มมีการฝึกหัดตามแบบทหารตะวันตกสามารถสร้างความไม่มั่นคงให้แก่ราชบัลลังก์ได้ ในขณะเดียวกันราชสำนักก็เล็งเห็นความจำเป็นที่ต้องมีกองกำลังทหารตามแบบตะวันตกที่ขึ้นกับพระมหากษัตริย์โดยตรง ซึ่งมีผลต่อความ "จงรักภักดี" และการ "รวมศูนย์อำนาจบังคับบัญชาทางทหาร" ไว้ที่ศูนย์กลางของประเทศ

ทั้งนี้ การจัดการทหารอย่างยุโรปเริ่มต้นขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์ทรงจ้าง ร้อยเอก อิมเปย์ และ ร้อยเอก น็อกส์ ชาวอังกฤษ ซึ่งเดินทางจากอินเดียผ่านเข้ามาทางพม่า ให้เป็นครูฝึกหัดทหารบก ทั้งทหารของวังหน้าและวังหลวง ดังนั้นใน พ.ศ. 2395 กองทหารที่ได้รับการฝึกและจัดแบบตะวันตก ประกอบด้วย กองรักษาพระองค์อย่างยุโรป, กองทหารหน้า และกองปืนใหญ่อาสาญวน

"กองทหารหน้า" เป็นหน่วยที่ได้รับการฝึกแบบใหม่ มีอาวุธใหม่ และมีทหารประจำการมากกว่าทหารหน่วยอื่นๆ และถือได้ว่าเป็นรากเหง้าของกองทัพบกในปัจจุบันนี้

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงมหิศวรินทรามเรศ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทหารหน้าใน พ.ศ. 2398 พระองค์ทรงรวบรวมกองทหารที่อยู่อย่างกระจัดกระจายทั่วกรุงเทพฯ มารวมไว้ที่เดียวกัน คือโรงทหารสนามไชย อันได้แก่
  • กองทหารฝึกแบบยุโรป (เดิมอยู่ริมคลองโอ่งอ่างฝั่งตะวันออก)
  • กองทหารมหาดไทย (ซึ่งถูกเกณฑ์มาจากหัวเมืองฝ่ายเหนือ)
  • กองทหารกลาโหม (ซึ่งถูกเกณฑ์มาจากหัวเมืองฝ่ายใต้)
  • กองทหารเกณฑ์หัด (คือพวกขุนหมื่นสิบยก ขึ้นกับกองทหารหน้า)
4. จากการทำ "สนธิสัญญาบาวริ่ง" หรือ "หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีประเทศอังกฤษและประเทศสยาม" ที่ราชอาณาจักรสยามทำกับสหราชอาณาจักร ลงนามเมื่อ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยเซอร์จอห์น เบาว์ริง ราชทูตที่ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย เข้ามาทำสนธิสัญญา ซึ่งมีสาระสำคัญในการเปิดการค้าเสรีกับต่างประเทศในสยาม มีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ โดยการสร้างระบบการนำเข้าและส่งออกใหม่ เพิ่มเติมจากสนธิสัญญาเบอร์นี สนธิสัญญาฉบับก่อนหน้าซึ่งได้รับการลงนามระหว่างสยามและสหราชอาณาจักรใน พ.ศ. 2369

สนธิสัญญาดังกล่าวอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำการค้าเสรีในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากในอดีตการค้าของชาวตะวันตกได้รับการจัดเก็บภาษีอย่างหนัก ทั้งยังอนุญาตให้จัดตั้งกงสุลอังกฤษในกรุงเทพมหานครและรับประกันสิทธิสภาพนอกอาณาเขต (สิทธิทางศาล) ตลอดจนอนุญาตให้ชาวอังกฤษสามารถถือครองที่ดินในสยามได้

การ "จำยอม" เปิดการค้าเสรีกับมหาอำนาจตะวันตกเป็นผลให้เกิดการขยายตัวทางการผลิตและการค้าโดยเฉพาะข้าว ทำให้ความต้องการแรงงานเพื่อใช้ในการทำนาสูงขึ้น มีการอพยพของแรงงานจากต่างถิ่นเข้าไปทำงานในเขตเศรษฐกิจการค้าสำคัญทั้งในส่วนกลาง และตามหัวเมือง ผลที่ตามมาก็คือความจำเป็นที่ต้องการใช้แรงงานเกณฑ์จากไพร่ลดความต้องการลง และความต้องการ "ราษฎรที่ไม่มีสังกัด" มีมากขึ้น การดำเนินกิจการเรือกลจักรไอน้ำขึ้นล่องเขตภาคกลางตอนบนแม่น้ำสายหลัก คือ "เจ้าพระยา" เป็นผลในการค้าขายมีปริมาณที่สูงขึ้น พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงระบบเงินตรา จาก "เงินพดด้วง" (มีตราประทับ 2 ดวงเป็นสำคัญ คือ ตราประจำแผ่นดินและตราประจำรัชกาล) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การค้าเฟื่องฟู การผลิตเงินพดด้วงด้วยแรงงานคนไม่สามารถจะผลิตได้ทันความต้องการ ด้วยความจำเป็นต้องรีบผลิตเงินตรา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สั่งเครื่องทำเหรียญกษาปณ์เข้ามา แต่ก็ยังให้ใช้เงินพดด้วงต่อไป จนมีการประกาศยกเลิก วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2447 และให้ใช้เหรียญกษาปณ์กลมแบนตามแบบของยุโรปเป็นเงินตราของสยาม

5. สำหรับสภาวการณ์สืบเนื่องจากการทำสัญญากับอังกฤษนี้เอง ประกอบกับการตกเป็นเมืองอาณานิคมของชาติเพื่อนบ้าน เท่ากับเป็นภาพสะท้อนการการคุมคามจากจักรวรรดินิยมตะวันตก ทำให้รัฐบาลในเวลานั้นหรือราชสำนักต้องคำนึงถึงทัศนะความคิดเห็นของชาติตะวันตก เกี่ยวกับการเกณฑ์แรงงานกับการสักเลกเป็นเรื่องที่ล้าหลังไร้อารยธรรม.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 29 กันยายน-5 ตุลาคม 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (6)

จาก "วิกฤตการณ์วังหน้า": ความสำคัญของ "ระบบไพร่"


ไพร่' (ภาพถ่ายราวรัชกาลที่ 4 - รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)

"วิกฤตการณ์วังหน้า" นั้น เกิดขึ้นจากการสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ที่เคยได้จากการปกครองใน "ระบอบศักดินา" หรือที่เรียกกันว่า "ระบอบจตุสดมภ์" ผู้นำที่เตรียมก่อการคือ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ "วังหน้า" ซึ่งก่อนหน้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสวรรคต 1 วัน มีการประชุมพระญาติวงศ์และขุนนาง โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นประธาน ตกลงที่จะแต่งตั้งกรมหมื่นบวรวิไชยชาญเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลตามคำเสนอของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ แม้พระองค์เจ้าปราโมช กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ทรงคัดค้านว่า การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลนั้น ตามโบราณราชประเพณีเป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของที่ประชุม ซึ่งทำความไม่พอใจให้แก่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ จึงย้อนถามว่า "ที่ไม่ยอมนั้น อยากจะเป็นเองหรือ" กรมขุนวรจักรธรานุภาพ จึงตอบว่า "ถ้าจะให้ยอมก็ต้องยอม" เป็นอันว่าที่ประชุมเห็นสมควรที่จะแต่งตั้งกรมหมื่นบวรวิไชยชาญเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงเป็นเจ้านายที่มีความสามารถหลายด้าน ด้านนาฏกรรม ทรงพระปรีชา เล่นหุ่นไทย หุ่นจีน เชิดหนัง และงิ้ว ด้านการช่าง ทรงชำนาญเครื่องจักรกล ทรงต่อเรือกำปั่น ทรงทำแผนที่แบบสากล ทรงสนพระทัยในแร่ธาตุ ถึงกับทรงสร้างโรงถลุงแร่ไว้ในพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อ พ.ศ. 2426 ทรงได้รับประกาศนียบัตรจากฝรั่งเศส ในฐานะผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาช่าง นอกจากนั้นยังทรงมีความรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี และเข้าไปคบค้าสนิทสนมกับนายโทมัส น็อกซ์ กงสุลอังกฤษ ประกอบกับในสมัยนั้น อังกฤษมีท่าทีคุกคามสยาม ถึงขั้นยกเรือรบมาปิดปากแม่น้ำ ทางวังหลวงจึงหวาดระแวง เชื่อว่ามีแผนการจะแบ่งดินแดนเป็นสองส่วนคือ ทางเหนือถึงเชียงใหม่ ให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าครอง ทางใต้ให้กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญครอง นัยว่าเมื่อแบ่งสยามให้เล็กลงแล้วจะได้อ่อนแอ ง่ายต่อการเอาเป็นเมืองขึ้น

ระหว่างนั้น เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่ตึกดินในวังหลวง ไฟไหม้ลุกลามไปถึงพระบรมมหาราชวัง ทางวังหลวงเข้าใจว่าวังหน้าเป็นผู้วางระเบิด และไม่ส่งคนมาช่วยดับไฟ ส่วนกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ก็เสด็จหลบหนีไปอยู่ในสถานกงสุลอังกฤษไม่ยอมเสด็จออกมา เหตุการณ์ตึงเครียดนี้กินเวลาถึงสองสัปดาห์ จนกระทั่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เดินทางกลับจากราชบุรีเข้ามาไกล่เกลี่ย เรื่องจึงยุติลง โดยฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสถือว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นการเมืองภายในของสยาม และไม่ได้เข้ามาก้าวก่าย

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีผลต่อแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี ในการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครอง เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเป็นระบอบราชาธิปไตยหรือ "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์"

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เสด็จทิวงคตเมื่อวันศุกร์ เดือน 9 แรม 3 ค่ำ ปีระกา จุลศักราช 1247 (28 สิงหาคม พ.ศ. 2428) พระชนมายุ 48 พรรษา พระราชทานเพลิง ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2429 และหลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดในตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ซึ่งว่างลง จนถึงปีจอ พ.ศ. 2429 จึงทรงสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เป็นมกุฎราชกุมาร และยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราช ตั้งแต่นั้นมา

ทั้งนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มการปฏิรูประบอบการปกครองโดยเริ่มจากการ "รวมศูนย์อำนาจทางการเงินการคลัง" มาสู่ราชสำนักโดยตรง อันนำไปสู่การเกิด "วิกฤตการณ์วังหน้า" ซึ่งเป็นจุดเริ่มตันของการ "รวมศูนย์อำนาจทางทหาร" โดยทรงเห็นเหตุที่เชื้อพระวงศ์และขุนนางอำมาตย์มี "ทหารส่วนตัว (ไพร่สม)" อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาโดยสิทธิขาดแล้ว แนวพระราชดำริเกี่ยวกับประเด็น "กองทัพ" ก็ก่อรูปขึ้น ซึ่งหมายถึงการเตรียมการ "เลิกไพร่" และรวมถึงการ "เลิกทาส" ตามจังหวะเวลาที่เหมาะสม

สำหรับสังคมไทยจากยุคกรุงศรีอยุธยาจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "ไพร่" หรือ "ชนชั้นรากหญ้า" ที่มีมีความสำคัญต่อรากฐานทางการผลิตและการถือครองอำนาจมาตลอดประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองก่อนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยเป็นแรงงานด้านโยธาให้แก่ราชการ, เป็นฐานอำนาจทางการเมืองให้มูลนายของตนเอง, เป็นกำลังในการผลิตภาคการเกษตรกรรม หากผลผลิตตกแก่มูลนายตันสังกัด และเป็นกำลังในการรบยามบ้านเมืองเกิดศึกสงคราม

ทั้งนี้ "ไพร่" หมายถึง ราษฎรสามัญชนทั่วไป ทั้งชายและหญิง ที่ไม่ได้เป็น "ทาส" (จะกล่าวถึงในตอนต่อไป) หรือ "คนต่างด้าว" เช่นในปี พ.ศ. 2400 มีการประกาศผูกปี้ข้อมือจีน เพื่อเป็นการขึ้นทะเบียนคนต่างด้าว (ต่อมาในปี พ.ศ. 2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ชาวต่างชาติในสยามจดทะเบียนเป็นคนต่างด้าว เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวจีนจำนวนมากต้องเลือกว่าจะเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ หรือจะยอมรักษาความเป็นชนชาติกำเนิดของตนและอยู่ในสถานภาพเป็นคนต่างด้าว) โดยที่ราษฎรทั้งแผ่นดินไม่เว้นแม้แต่ "ไพร่" ล้วนมี "ศักดินา" (ศักดินาคือตัววัดในการปรับไหมและพินัย ในกรณีขึ้นศาล คนที่ถือศักดินาสูง เมื่อทำผิดจะถูกลงโทษหนักกว่าผู้มีศักดินาต่ำ การปรับในศาลหลวง ค่าปรับนั้นก็เอาศักดินาเป็นบรรทัดฐานการกำหนดระบบศักดินาขึ้นมาก็เพื่อประโยชน์ในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของประชาชน หน่วยที่ใช้ในการกำหนดศักดินา ใช้จำนวนไร่เป็นเกณฑ์ แต่มิได้หมายความว่าศักดินาจะเป็นข้อกำหนดตายตัวเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดิน ศักดินา ไม่เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดิน เป็นวิธีการลำดับ "ศักดิ์" ของบุคคลตั้งแต่ พระมหาอุปราช ขุนนาง ข้าราชการ ลงไปจนถึงไพร่และทาส) ระหว่าง 10-25 ไร่ ในกรณีมีโอกาสเข้ารับราชการจะได้เป็นขุนนางชั้นผู้น้อย เช่น ขุน หมื่น เป็นต้น จะถือศักดินา 25-400 ไร่ สำหรับฐานะ หน้าที่ และประเภทของไพร่ โดยสรุปสถานภาพในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น จำแนกได้ดังนี้

1. ฐานะของไพร่ในสังคม ไพร่ทุกคนต้องเข้าสังกัดมูลนาย เพื่อแลกกับการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย โดยไพร่จะไม่ได้รับค่าตอบแทนในรูปใดทั้งสิ้น

2. หน้าที่ของไพร่ ไพร่จะต้องเข้าเวร (รับราชการ) ปีละ 6 เดือน ไพร่ที่เป็นแรงงาน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย อายุระหว่าง 20-70 ปี เมื่อบ้านเมืองเกิดศึกสงคราม ไพร่เหล่านี้ต้องทำหน้าที่ทหาร

3. ประเภทของไพร่ แบ่งออกได้ 3 ประเภท ได้แก่ ไพร่หลวง คือไพร่ในสังกัดของพระมหากษัตริย์โดยตรง แต่จะทรงแจกจ่ายไปยังกรมหน่วยงานราชการต่างๆ ตามแต่จะทรงเห็นสมควร และความต้องการของแต่ละส่วนราชการส่วนกลาง, ไพร่สม คือเป็นไพร่ในสังกัดของเจ้านาย ขุนนาง นอกจากมีหน้าที่รับใช้เจ้านายที่สังกัดอยู่โดยตรงแล้ว ยังมีพันธะที่ต้องเข้าเวรรับราชการด้วย แต่ภาระน้อยกว่าไพร่หลวง คือเพียงปีละ 1 เดือน และไพร่ส่วย คือไพร่หลวงที่ได้รับการยกเว้นจากการไม่ต้องเข้าเวรรับราชการ  แต่ต้องส่งเงินหรือสิ่งของมาทดแทน เรียกว่า เงินค่าราชการ.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 22-28 กันยายน 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (5)

 ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์: การเปลี่ยนผ่านอำนาจครั้งสำคัญ


แถวหน้า : กรมหลวงวงศาธิราชสนิท, สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์, Eulenbourg ราชทูตปรัสเซีย
แถวหลัง : เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุญยรัตพันธุ์), ไม่ทราบนาม

การปกครองใน "ระบอบจตุสดมภ์" หรือ "ระบอบศักดินา" นั้น แม้โดยความเข้าใจทั่วไปที่ว่าอำนาจของเจ้าเมืองอยู่ภายใต้ขอบเขตตามที่พระราชกำหนดบัญญัติและประกาศเป็นพระบรมราชโองการไว้ แต่ในทางเป็นจริงแล้วอำนาจของเจ้าเมืองมีมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าเมืองที่อยู่ห่างไกลราชธานีออกไป และความสวามิภักดิ์ต่อองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งปกครองราชธานีก็มีเพียงแต่ผิวเผินเท่านั้น การปกครองบังคับบัญชาตลอดจนการปฏิบัติหน้าที่ของข้าแผ่นดินก็ปฏิบัติกันในรูปแบบหรือใช้ "ลัทธิเจ้าขุนมูลนาย" ซึ่งสำหรับการแต่งตั้งเจ้าเมือง (การปกครองส่วนหัวเมือง) นั้น เมืองเอก ได้แก่ เมืองพิษณุโลก นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ถลางและสงขลา พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งเอง ส่วนเมืองโท ตรีและจัตวา มีเสนาบดีผู้รับผิดชอบเป็นผู้แต่งตั้ง

สำหรับการปกครองเมืองประเทศราชนับจากการสถาปนากรุงวรัตนโกสินทร์ อันได้แก่

  1. ล้านนาไทย (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงแสน)
  2. ลาว (หลวงพระบาง  เวียงจันทน์  จำปาศักดิ์)
  3. เขมร
  4. หัวเมืองมลายู (ปัตตานี ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู)

เมืองประเทศเหล่านี้มีเจ้าเมืองเดิมเป็นผู้ปกครอง แต่ต้องจัดส่งเครื่องราชบรรณาการ ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง ตามกำหนดเวลา และช่วยราชการทหารตามแต่กรุงเทพฯ หรือ ราชธานี จะมีใบบอกแจ้งไป ภารกิจของ กรุงเทพฯ คือ ปกป้องดูแลมิให้ข้าศึกศัตรูโจมตีเมืองประเทศราช

ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ซึ่งทรงกำกับราชการกรมมหาดเล็ก กรมพระคลังมหาสมบัติ และกรมทหารบกวังหน้า ทรงขึ้นครองราชย์ในขณะมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา นั้น ได้แต่งตั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนกว่าพระองค์จะมีพระชนมพรรษาครบ 20 พรรษา โดยประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 และได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว

หลังจากทรงบรรลุพระราชนิติภาวะในปี พ.ศ. 2416 ทรงลาผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2416 ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นเวลา 15 วัน และได้มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สองขึ้น เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยในครั้งนี้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในระหว่างระยะเวลา 5 ปีนั้น ทรงพิจารณาระบอบการปกครองแบบจตุสดมภ์ที่สืบทอดมาแต่เดิม โดยในชั้นต้นทรงมีพระราชดำริต่อการปกครอง การบริหารการคลังของประเทศประสบปัญหาเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากรและการจัดระบบการคลังหลายประการ

ประการแรก ไม่มีการจัดระบบการจัดเก็บภาษีอากรให้ถูกต้อง การเงินของประเทศถูกแบ่งไปอยู่ที่เจ้านายและขุนนางผู้มีอำนาจ โดยอำนาจการจัดเก็บภาษีอากรกระจายไปอยู่ตามกรมต่างๆ เช่น กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระกลาโหม กรมมหาดไทย กรมนา และกรมพระคลังสินค้า ฯลฯ การจัดเก็บไม่เป็นระเบียบแบบแผนอันเดียวกัน อีกทั้งภาษีอากรที่จัดเก็บและจะต้องมอบเงินส่วนหนึ่งให้กรมพระคลังมหาสมบัติ ก็ปรากฏว่าให้บ้างไม่ให้บ้าง กรมพระคลังมหาสมบัติเป็นเพียงแต่เจ้าพนักงานรับเงินหลวง ไม่มีอำนาจบังคับหรือเรียกร้องให้กรมต่างๆ ปฏิบัติตามแต่อย่างใดเพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ ทำให้เงินผลประโยชน์ของแผ่นดินรั่วไหลไปทางอื่นเสียเป็นอันมาก

ประการที่สอง ระบบเจ้าภาษีนายอากรไม่มีประสิทธิภาพ กระทั่งเกิดกรณีเจ้าภาษีนายอากรบิดพลิ้วผัดผ่อน ไม่ส่งเงินตามกำหนดและส่งให้ไม่ครบตามจำนวนหลายครั้งหลายครา เกิดการยักยอก ฉ้อโกงเงินหลวงของเจ้าหน้าที่และเจ้าภาษีนายอากร จำนวนเงินที่รัฐควรจะได้ก็ไม่ครบตามจำนวนที่พึงได้ เป็นผลกระทบต่อเงินรายจ่ายของแผ่นดิน จนเกือบจะไม่พอใช้ในกิจการต่างๆ

ประการที่สาม การจัดทำบัญชีของกรมพระคลังมหาสมบัติไม่เรียบร้อย นับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การทำบัญชีรับและจ่ายเงินของกรมพระคลังมหาสมบัติ มิได้มีปรากฏไว้เป็นแบบอย่างและเป็นหลักฐานให้ตรวจสอบได้ จึงไม่ทราบแน่นอนว่าในแต่ละปี รัฐได้รับเงินเท่าไร และจ่ายราชการไปเท่าไร มีกำไรหรือขาดทุน เมื่อพระคลังมหาสมบัติแต่ละคนถึงแก่พิราลัยหรืออนิจกรรมไป บัญชีต่างๆเหล่านั้นก็สูญหายไปหมด ไม่มีการจัดทำงบบัญชีไว้สำหรับทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงทราบเป็นบัญชีข้างที่ไว้สำหรับทรงตรวจดูตัวเงินแผ่นดินว่ามีเงินมากน้อยเพียงใด

หลังจากทรงขึ้นครองราชย์ในฐานะยุวกษัตริย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 เป็นต้นมา ทรงเห็นว่าเงินผลประโยชน์รายได้ของแผ่นดินลดลงไปมาก ในขณะที่การใช้จ่ายในกรมพระคลังมหาสมบัติเพิ่มขึ้นทุกปี จนในที่สุดรายได้ไม่พอจ่ายต้องค้างชำระ รัฐบาลมีภาระหนี้สินเป็นอันมาก ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในพระราชหัตถเลขาซึ่งทรงมีไปถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ฉบับลงวันที่ 28 ตุลาคม ร.ศ. 122 ความตอนหนึ่งว่า
"…ในเวลาครึ่งปีต่อมา เงินภาษีอากรก็ลดเกือบหมดทุกอย่าง ลดลงไปเป็นลำดับ จนถึงปีมะแม ตรีศก (พ.ศ. 2414) เงินแผ่นดินที่เคยได้อยู่ปีละ 50,000 - 60,000 ชั่งนั้น เหลือจำนวนอยู่ 40,000 ชั่ง แต่ไม่ได้ตัวเงินกี่มากน้อย แต่เงินเบี้ยหวัดปีละ 11,000 ชั่ง ก็วิ่งตาแตก ได้เงินในคลังมหาสมบัติ ซึ่งเป็นของเจ้าหน้าที่วิ่งมาหาเป็นพื้น นอกนั้นก็ปล่อยค้าง ที่ได้เงินตัวจริงมีประมาณ 20,000 ชั่งเท่านั้น เงินไม่พอจ่ายราชการก็ต้องเป็นหนี้…"
ดังนั้นเมื่อได้เสด็จขึ้นว่าราชการแผ่นดินโดยเด็ดขาด จึงทรงเริ่มทำการปฏิรูปการคลังโดยโปรดเกล้าฯ ให้ ตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2416 ในพระบรมมหาราชวัง ให้เป็นที่ทำการของเจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติ และให้มีพนักงานบัญชีกลางสำหรับรวบรวมบัญชีเงินผลประโยชน์แผ่นดินและตรวจตราการเก็บภาษีอากรซึ่งกระทรวงต่างๆ เป็นเจ้าหน้าที่เก็บนั้น ให้รู้ว่าเป็นจำนวนเงินเท่าใด และเร่งเรียกเงินของแผ่นดินในด้านภาษีอากรให้ส่งเข้าพระคลังมหาสมบัติตามกำหนด พร้อมกันนั้นได้ทรงตราพระราชบัญญัติสำหรับหอรัษฎากรพิพัฒน์ จุลศักราช 1235 หรือ พ.ศ. 2416 ซึ่งพระราชทานอำนาจแก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงจัดให้มีเจ้าพนักงานบัญชีกลางรวบรวมพระราชทรัพย์ ซึ่งขึ้นในท้องพระคลังทั้งปวงตั้งสำนักงานอยู่ในหอรัษฎากรพิพัฒน์ในพระบรมมหาราชวัง ให้มีแบบธรรมเนียมที่เจ้าภาษีนายอากรต้องปฏิบัติในการรับประมูลผูกขาดจัดเก็บภาษีอากร ให้มีการทำงานในสำนักงานเป็นประจำ เพื่อตรวจตราเงินภาษีอากรที่เจ้าภาษีนายอากรนำส่งต่อพระคลังโดยครบถ้วน

การที่ราชสำนักจัดการเก็บภาษีอากรทั้งประเทศในระบบเดียวกันนี้เอง ก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนต่อการเก็บรายได้ในระบอบจตุสดมภ์ สร้างความไม่พอใจแก่เจ้านายและขุนนางเก่าแก่เป็นอันมาก โดยเฉพาะกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ("วังหน้า") ซึ่งเดิมมีรายได้จากการเก็บส่วยสาอากรทั้งแผ่นดินถึง 1 ใน 3 อีกทั้งมีไพร่ (ทหาร) ในสังกัดถึง 2,000 นาย และมีข้าราชบริพารเป็นจำนวนมาก เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบ มีการสะสมอาวุธ มีความขัดแย้งระหว่างวังหลวงกับวังหน้า จนเกือบจะเกิดสงครามกลางเมือง ซึ่งเรียกเหตุการณ์ขัดแย้งนี้ว่า "วิกฤตการณ์วังหน้า".


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 15-21 กันยายน 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8