ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์: การเปลี่ยนผ่านอำนาจครั้งสำคัญ
ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์: การเปลี่ยนผ่านอำนาจครั้งสำคัญ
แถวหน้า
: กรมหลวงวงศาธิราชสนิท, สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์,
Eulenbourg ราชทูตปรัสเซีย
แถวหลัง : เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุญยรัตพันธุ์),
ไม่ทราบนาม
การปกครองใน "ระบอบจตุสดมภ์" หรือ "ระบอบศักดินา" นั้น แม้โดยความเข้าใจทั่วไปที่ว่าอำนาจของเจ้าเมืองอยู่ภายใต้ขอบเขตตามที่พระราชกำหนดบัญญัติและประกาศเป็นพระบรมราชโองการไว้ แต่ในทางเป็นจริงแล้วอำนาจของเจ้าเมืองมีมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าเมืองที่อยู่ห่างไกลราชธานีออกไป และความสวามิภักดิ์ต่อองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งปกครองราชธานีก็มีเพียงแต่ผิวเผินเท่านั้น การปกครองบังคับบัญชาตลอดจนการปฏิบัติหน้าที่ของข้าแผ่นดินก็ปฏิบัติกันในรูปแบบหรือใช้ "ลัทธิเจ้าขุนมูลนาย" ซึ่งสำหรับการแต่งตั้งเจ้าเมือง (การปกครองส่วนหัวเมือง) นั้น เมืองเอก ได้แก่ เมืองพิษณุโลก นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ถลางและสงขลา พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งเอง ส่วนเมืองโท ตรีและจัตวา มีเสนาบดีผู้รับผิดชอบเป็นผู้แต่งตั้ง
สำหรับการปกครองเมืองประเทศราชนับจากการสถาปนากรุงวรัตนโกสินทร์ อันได้แก่
- ล้านนาไทย (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงแสน)
- ลาว (หลวงพระบาง เวียงจันทน์ จำปาศักดิ์)
- เขมร
- หัวเมืองมลายู (ปัตตานี ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู)
เมืองประเทศเหล่านี้มีเจ้าเมืองเดิมเป็นผู้ปกครอง แต่ต้องจัดส่งเครื่องราชบรรณาการ ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง ตามกำหนดเวลา และช่วยราชการทหารตามแต่กรุงเทพฯ หรือ ราชธานี จะมีใบบอกแจ้งไป ภารกิจของ กรุงเทพฯ คือ ปกป้องดูแลมิให้ข้าศึกศัตรูโจมตีเมืองประเทศราช
ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ซึ่งทรงกำกับราชการกรมมหาดเล็ก กรมพระคลังมหาสมบัติ และกรมทหารบกวังหน้า ทรงขึ้นครองราชย์ในขณะมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา นั้น ได้แต่งตั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนกว่าพระองค์จะมีพระชนมพรรษาครบ 20 พรรษา โดยประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 และได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว
หลังจากทรงบรรลุพระราชนิติภาวะในปี พ.ศ. 2416 ทรงลาผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2416 ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นเวลา 15 วัน และได้มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สองขึ้น เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยในครั้งนี้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในระหว่างระยะเวลา 5 ปีนั้น ทรงพิจารณาระบอบการปกครองแบบจตุสดมภ์ที่สืบทอดมาแต่เดิม โดยในชั้นต้นทรงมีพระราชดำริต่อการปกครอง การบริหารการคลังของประเทศประสบปัญหาเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากรและการจัดระบบการคลังหลายประการ
ประการแรก ไม่มีการจัดระบบการจัดเก็บภาษีอากรให้ถูกต้อง การเงินของประเทศถูกแบ่งไปอยู่ที่เจ้านายและขุนนางผู้มีอำนาจ โดยอำนาจการจัดเก็บภาษีอากรกระจายไปอยู่ตามกรมต่างๆ เช่น กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระกลาโหม กรมมหาดไทย กรมนา และกรมพระคลังสินค้า ฯลฯ การจัดเก็บไม่เป็นระเบียบแบบแผนอันเดียวกัน อีกทั้งภาษีอากรที่จัดเก็บและจะต้องมอบเงินส่วนหนึ่งให้กรมพระคลังมหาสมบัติ ก็ปรากฏว่าให้บ้างไม่ให้บ้าง กรมพระคลังมหาสมบัติเป็นเพียงแต่เจ้าพนักงานรับเงินหลวง ไม่มีอำนาจบังคับหรือเรียกร้องให้กรมต่างๆ ปฏิบัติตามแต่อย่างใดเพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ ทำให้เงินผลประโยชน์ของแผ่นดินรั่วไหลไปทางอื่นเสียเป็นอันมาก
ประการที่สอง ระบบเจ้าภาษีนายอากรไม่มีประสิทธิภาพ กระทั่งเกิดกรณีเจ้าภาษีนายอากรบิดพลิ้วผัดผ่อน ไม่ส่งเงินตามกำหนดและส่งให้ไม่ครบตามจำนวนหลายครั้งหลายครา เกิดการยักยอก ฉ้อโกงเงินหลวงของเจ้าหน้าที่และเจ้าภาษีนายอากร จำนวนเงินที่รัฐควรจะได้ก็ไม่ครบตามจำนวนที่พึงได้ เป็นผลกระทบต่อเงินรายจ่ายของแผ่นดิน จนเกือบจะไม่พอใช้ในกิจการต่างๆ
ประการที่สาม การจัดทำบัญชีของกรมพระคลังมหาสมบัติไม่เรียบร้อย นับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การทำบัญชีรับและจ่ายเงินของกรมพระคลังมหาสมบัติ มิได้มีปรากฏไว้เป็นแบบอย่างและเป็นหลักฐานให้ตรวจสอบได้ จึงไม่ทราบแน่นอนว่าในแต่ละปี รัฐได้รับเงินเท่าไร และจ่ายราชการไปเท่าไร มีกำไรหรือขาดทุน เมื่อพระคลังมหาสมบัติแต่ละคนถึงแก่พิราลัยหรืออนิจกรรมไป บัญชีต่างๆเหล่านั้นก็สูญหายไปหมด ไม่มีการจัดทำงบบัญชีไว้สำหรับทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงทราบเป็นบัญชีข้างที่ไว้สำหรับทรงตรวจดูตัวเงินแผ่นดินว่ามีเงินมากน้อยเพียงใด
หลังจากทรงขึ้นครองราชย์ในฐานะยุวกษัตริย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 เป็นต้นมา ทรงเห็นว่าเงินผลประโยชน์รายได้ของแผ่นดินลดลงไปมาก ในขณะที่การใช้จ่ายในกรมพระคลังมหาสมบัติเพิ่มขึ้นทุกปี จนในที่สุดรายได้ไม่พอจ่ายต้องค้างชำระ รัฐบาลมีภาระหนี้สินเป็นอันมาก ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในพระราชหัตถเลขาซึ่งทรงมีไปถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ฉบับลงวันที่ 28 ตุลาคม ร.ศ. 122 ความตอนหนึ่งว่า
"…ในเวลาครึ่งปีต่อมา เงินภาษีอากรก็ลดเกือบหมดทุกอย่าง ลดลงไปเป็นลำดับ จนถึงปีมะแม ตรีศก (พ.ศ. 2414) เงินแผ่นดินที่เคยได้อยู่ปีละ 50,000 - 60,000 ชั่งนั้น เหลือจำนวนอยู่ 40,000 ชั่ง แต่ไม่ได้ตัวเงินกี่มากน้อย แต่เงินเบี้ยหวัดปีละ 11,000 ชั่ง ก็วิ่งตาแตก ได้เงินในคลังมหาสมบัติ ซึ่งเป็นของเจ้าหน้าที่วิ่งมาหาเป็นพื้น นอกนั้นก็ปล่อยค้าง ที่ได้เงินตัวจริงมีประมาณ 20,000 ชั่งเท่านั้น เงินไม่พอจ่ายราชการก็ต้องเป็นหนี้…"ดังนั้นเมื่อได้เสด็จขึ้นว่าราชการแผ่นดินโดยเด็ดขาด จึงทรงเริ่มทำการปฏิรูปการคลังโดยโปรดเกล้าฯ ให้ ตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2416 ในพระบรมมหาราชวัง ให้เป็นที่ทำการของเจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติ และให้มีพนักงานบัญชีกลางสำหรับรวบรวมบัญชีเงินผลประโยชน์แผ่นดินและตรวจตราการเก็บภาษีอากรซึ่งกระทรวงต่างๆ เป็นเจ้าหน้าที่เก็บนั้น ให้รู้ว่าเป็นจำนวนเงินเท่าใด และเร่งเรียกเงินของแผ่นดินในด้านภาษีอากรให้ส่งเข้าพระคลังมหาสมบัติตามกำหนด พร้อมกันนั้นได้ทรงตราพระราชบัญญัติสำหรับหอรัษฎากรพิพัฒน์ จุลศักราช 1235 หรือ พ.ศ. 2416 ซึ่งพระราชทานอำนาจแก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงจัดให้มีเจ้าพนักงานบัญชีกลางรวบรวมพระราชทรัพย์ ซึ่งขึ้นในท้องพระคลังทั้งปวงตั้งสำนักงานอยู่ในหอรัษฎากรพิพัฒน์ในพระบรมมหาราชวัง ให้มีแบบธรรมเนียมที่เจ้าภาษีนายอากรต้องปฏิบัติในการรับประมูลผูกขาดจัดเก็บภาษีอากร ให้มีการทำงานในสำนักงานเป็นประจำ เพื่อตรวจตราเงินภาษีอากรที่เจ้าภาษีนายอากรนำส่งต่อพระคลังโดยครบถ้วน
การที่ราชสำนักจัดการเก็บภาษีอากรทั้งประเทศในระบบเดียวกันนี้เอง ก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนต่อการเก็บรายได้ในระบอบจตุสดมภ์ สร้างความไม่พอใจแก่เจ้านายและขุนนางเก่าแก่เป็นอันมาก โดยเฉพาะกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ("วังหน้า") ซึ่งเดิมมีรายได้จากการเก็บส่วยสาอากรทั้งแผ่นดินถึง 1 ใน 3 อีกทั้งมีไพร่ (ทหาร) ในสังกัดถึง 2,000 นาย และมีข้าราชบริพารเป็นจำนวนมาก เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบ มีการสะสมอาวุธ มีความขัดแย้งระหว่างวังหลวงกับวังหน้า จนเกือบจะเกิดสงครามกลางเมือง ซึ่งเรียกเหตุการณ์ขัดแย้งนี้ว่า "วิกฤตการณ์วังหน้า".
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 15-21 กันยายน 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน