Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (25)

"ขบถเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง"
ว่าด้วยบันทึกของฝ่ายสยาม

ขบวนแห่กองเกียรติยศของ ราชีนีฮิเยา ผู้ครองนครปะตานี ในจดหมายเหตุ Acher theil der Orientalische Indien

จากรายงานของคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาศึกษาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ. 2542) ซึ่งระบุว่า นับแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงประมาณปี พ.ศ. 2445 เกิดการลุกขึ้นสู้เพื่อให้ปัตตานีเป็นอิสระจากการปกครองของสยามถึง 6 ครั้ง คือ กรณี ตนกูลัมมิเด็น (พ.ศ. 2329), ระตูปะกาลัน (พ.ศ. 2349), นายเซะ และเจะบุ (พ.ศ. 2364 และ 2369), เจ้าเมืองหนองจิก (พ.ศ. 2370), เจ้าเมืองปัตตานี (ตนกูสุหลง) (พ.ศ. 2374) และ ตนกูอับดุลกาเดร์ (พระยาวิชิตภักดีฯ) (พ.ศ. 2454) หรือ "กรณีพระยาแขกเจ็ดหัวเมืองคบคิดกบฎ ร.ศ.121" และกลายเป็นเป็นจุดจบแห่งยุคสมัยรายาปัตตานี (เจ้าผู้ครองนครปัตตานี) เพราะไม่ปรากฏว่ามีการแต่งตั้งเชื้อสายเจ้าเมืองปัตตานีขึ้นครองเมืองอีกต่อไป

หลังจากรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กรุงเทพฯ ออกกฎข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณเจ็ดหัวเมือง ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.116 แล้ว ก็เริ่มต้นการปฏิบัติการตามกฎข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณเจ็ดหัวเมืองนี้ทันทีที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา โดยกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นเจ้าของเรื่อง แต่งตั้งพระยาศักดิ์เสนี (หนา บุนนาค) ข้าหลวงเมืองลำปาง ให้เป็นข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณเจ็ดหัวเมือง เชิญสารตราแจ้งความเรื่องกฎข้อบังคับไปแจ้งพระยาแขกรับไปปฏิบัติ แต่พระยาศักดิ์เสนีได้เผชิญกับการคัดค้านโดยตรง นับแต่แรกเริ่มที่เดินทางไปถึงเมืองตานี เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2444 เพราะเมื่ออ่านสารตราให้พระยาตานี (พระยาวิชิตภักดี อับดุลกาเดร์) ฟัง พระยาตานีก็แสดงตนว่าไม่เห็นชอบด้วยกับกฎข้องบังคับ ถึงกับเดินทางไปสิงคโปร์เพื่อ ขอร้องให้เซอร์ แฟรงค์ สเวทเทนนั่ม ข้าหลวงใหญ่อังกฤษที่เมืองสิงคโปร์ช่วยเหลือการแข็งข้อต่อราชสำนักที่กรุงเทพฯ ยิ่งไปกว่านั้น เสนอให้อังกฤษยึดเอาเมืองปัตตานีเป็นเมืองขึ้น ดังได้กล่าวมาแล้ว

เหตุผลที่ ตนกู อับดุลกาเดร์ ขัดขืนพระบรมราชโองการในครั้งนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสรุปว่า "ใน พ.ศ.2444 นั้น ประจวบเวลาพวกอังกฤษที่เมืองสิงคโปร์ คิดอยากรุกแดนไทยทางแหลมมลายู แต่รัฐบาลที่เมืองลอนดอนไม่อนุมัติ พวกเมืองสิงคโปร์จึงคิดอุบายหาเหตุเพื่อให้รัฐบาลที่ลอนดอนต้องยอมตามในอุบายของพวกสิงคโปร์ในครั้งนั้น อย่างหนึ่ง แต่งสายให้ไปยุยงพวกมลายูเจ้าเมืองมณฑลปัตตานีให้เอาใจออกห่างจากไทย พระยาตานี (อับดุลกาเดร์) หลงเชื่อ จึงทำการขัดแย้งขึ้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงดำรัสสั่งให้จับและถอดพระยาตานี แล้วเอาตัวขึ้นไปคุมไว้ ที่เมืองพิษณุโลก การหยุกหยิกในมณฑลปัตตานีก็สงบไป" (ดู สาส์นสมเด็จ ซึ่งเป็นลายพระหัตถ์โต้ตอบ ระหว่าง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์คลังวิทยา ภาค 3 หน้า 63)

เมื่อพระยาวิชิตภักดี อับดุลกาเดร์ ไม่ยอมให้พนักงานสรรพากรเข้าปฏิบัติการในเมืองตานี พระยาศักดิ์เสนีปล่อยเมืองตานีไว้ก่อน แล้วเดินทางต่อไปถึงเมืองระแงะ เพื่อพยายามปฏิบัติการตามกฎข้อบังคับ ในเดือนมกราคม พ.ศ.2445 แต่แล้วก็ประสบกับปัญหาอีก เมื่อพระยาระแงะหาทางหลบเลี่ยง ไม่ยอมรับสารตราที่พระยาศักดิ์เสนีเชิญไป จากนั้นพระยาศักดิ์เสนีเดินทางไปถึงเมืองสายบุรีเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2445 พระยาสายบุรีได้ฟังสารตราแจ้งความเรื่องกฎข้อบังคับแล้ว ก็ตั้งเงื่อนไขว่าจะไม่ยอมรับคนไทย (สยาม) จากภาคกลางเป็นปลัดยกกระบัตรหรือนายอำเภอ โดยอ้างว่ากฎข้อบังคับมิได้ระบุว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้จำต้องเป็นคนไทย พฤติการณ์เหล่านี้ของพระยาแขก ทำให้พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ขุนนางที่มีอาวุโสและอำนาจบังคับบัญชาระดับสูงซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวแทนอำนาจการปกครองจากกรุงเทพฯ ในภูมิภาคนั้น ลงความเห็นว่าพระยาแขกทั้งหลายคงได้คบคิดต่อต้านอำนาจรัฐกรุงเทพฯ กันไว้แล้ว

ต่อมาอีกไม่นาน รัฐบาลได้ใช้มาตรการที่เข้มแข็งเฉียบขาด เพื่อระงับมิให้เหตุการณ์นี้ลุกลามขึ้นเป็นกบฏได้ ทันทีที่ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ทรงได้รับโทรเลขรายงานเหตุการณ์ที่เมืองระแงะและเมืองสายบุรี ทรงมีโทรเลขสนับสนุนให้พระยาศักดิ์เสนี เริ่มต้นปฏิบัติการตามกฎข้อบังคับ สำหรับบริเวณเจ็ดหัวเมืองในเมืองระแงะได้ โดยไม่ต้องห่วงใยพระยาระแงะนัก เพราะ "พระยาเมืองเป็นคนไม่มีกำลังและความสามารถ ถึงอย่างไรก็พอจะจัดการหักหาญให้สำเร็จตลอดไปได้"

และทรงมีโทรเลขอีกฉบับหนึ่งชี้แจงว่า พระยาศักดิ์เสนีเป็นผู้แทนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉะนั้นจึงมีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่สำหรับเมืองสายบุรีได้ สุดแล้วแต่ความเหมาะสม เมื่อพระยาศักดิ์เสนีได้รับโทรเลขสองฉบับแล้ว จึงตัดสินใจแต่งตั้งขุนนางแขกผู้หนึ่งขึ้นเป็นผู้รักษาการ แทนพระยาเมืองระแงะ และเริ่มบรรจุข้าราชการเข้าปฏิบัติการตามกฎข้อบังคับในเมืองระแงะด้วย ในระยะเวลาต่อมา พระยาศักดิ์เสนีได้บรรจุข้าราชการเข้าปฏิบัติการในเมืองสายบุรีโดยมิได้รับการตกลงล่วงหน้าจากพระยาเมืองสายบุรี

ในขณะเดียวกัน กรมหลวงดำรงราชานุภาพ มิได้ทรงประมาท ทรงส่งพระศรีสิงหเทพ (เสง วิริยศิริ ต่อมาได้เป็นพระยามหาอำมาตยาธิบดี) ข้าราชการชั้นอาวุโสของกระทรวงมหาดไทยที่กรุงเทพฯ ลงไปช่วยพระยาศักดิ์เสนีอีกคนหนึ่ง พระยาศรีสิงหเทพเดินทางโดยเรือรบหลวง พร้อมด้วยกองกำลังตำรวจภูธรจำนวนหนึ่ง ถึงเมืองตานีเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2445 และในวันเดียวกันนั้นเอง ได้ยกพลขึ้นเป็นผู้รั้งเมืองแทน แล้วส่งพระยาตานีไปยังเมืองสงขลา เมื่อพระยาตานี ถูกกักตัว ไว้ที่สงขลา เรียบร้อยแล้ว พระยาสุขุมนัยวินิตได้เดินทางไปช่วยพระยาศักดิ์เสนีแทนพระยาศรีสิงหเทพ และเมื่อทั้งสองได้จัดราชการที่เมืองตานีแล้ว จึงเดินทางต่อไปยังเมืองระแงะเพื่อ "ช่วยกันว่ากล่าวให้พระยาระแงะทำหนังสือสมัครเข้ามาศึกษาราชการในสงขลา" ซึ่งพระยาระแงะก็จำต้องปฏิบัติตาม

การปฏิบัติการอย่างเด็ดขาดเข้มงวดของขุนนางข้าราชการทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายทหารจากส่วนกลางและทหารท้องถิ่นจากภาคใต้ตอนบนในบริเวณเจ็ดหัวเมืองครั้งนี้ เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อย่างน้อยก็ในระยะสั้น ที่สำคัญคือเป็นการบีบบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้พระยาแขกแต่ละคนตระหนักในอำนาจของขุนนางที่เป็นผู้แทนของรัฐบาลในท้องถิ่น โดยเป็นจุดเริ่มต้นให้ยอมรับและปฏิบัติตามกฎข้อบังคับสำหรับบริเวณเจ็ดหัวเมือง ในเมืองปัตตานี พระยาสุขุมนัยวินิตและพระยาศักดิ์เสนีสามารถเริ่มควบคุมให้พนักงานสรรพกรเข้าจัดการเก็บภาษีอากรได้ หลังจากที่พระยาตานีถูกส่งตัวไปยังเมืองสงขลาแล้ว และเริ่มโยกย้ายกรมการเมืองเก่าๆ ออกไปจากเมือง แล้วแต่งตั้งนายอำเภอเมืองขึ้นใหม่

หลังจากนั้นพระยาสุขุมนัยวินิตและพระยาศักดิ์เสนีจึงเดินทางไปดำเนินการต่อเนื่องในลักษณะเดียวกัน ที่เมืองยะหริ่ง ยะลา รามันห์ และระแงะ ตามลำดับ ฝ่ายพระยาแขกเองก็พยายามแสดงให้เจ้าหน้าที่เห็นว่าตนพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาล ดังเช่น พระยายะหริ่งและพระยายะลา ได้ส่งบุตรชายไปให้พระยาสุขุมนัยวินิตฝึกงาน เป็นต้น ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ "พระยาแขกเจ็ดหัวเมืองคบคิดขบถ" ยุติลงในช่วงกลางเดือนมีนาคมและกลางเดือนเมษายน พ.ศ.2445 นั้นเอง

แต่สิ่งที่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์พิจารณา "ลงทัณฑ์" แก่พระยาตานี หาใช่เพียงกักบริเวณไว้ที่สงขลาเท่านั้น แต่ได้ประกาศถอดยศพระยาตานีและเนรเทศไปไกลถึงเมืองพิษณุโลก.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 2-8 กุมภาพันธ์ 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (24)

ความสงบหัวเมืองมลายู
คลื่นใต้น้ำที่รอวันปะทุ

ปาตานี คือรัฐหนึ่งในหลายๆรัฐของชาวมลายูมาแต่เดิม

จากหนังสือ ประวัติเมืองลังกาสุกะ – เมืองปัตตานี เขียนโดย อนันต์ วัฒนานิกร ให้ภาพพัฒนาการการดำรงอยู่ของความขัดแย้งในภูมิภาคตอนปลายสุดของแหลมสุวรรณภูมิที่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับ "รัฐไทย" ช่วงรอยต่อระหว่างการปกครองสองระบอบจากระบอบจตุสดมภ์/ศักดินาช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีรูปแบบ "นครรัฐ" หรือ "รัฐศักดินาสวามิภักดิ์" ที่อำนาจการปกครองที่แท้จริงดำรงอยู่เฉพาะในเขต "รัฐใหญ่" โดยที่อำนาจการปกครองส่วนหัวเมืองและประเทศราชยังไม่เป็นเอกภาพเดียวกันทั่วราชอาณาจักร มาสู่ช่วงปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อสร้าง "รัฐชาติสยาม" ที่มีลักษณะรวมศูนย์มีความเป็นเอกภาพ โดยอาศัยการดึงอำนาจการปกครองหัวเมืองชั้นนอกและหัวเมืองประเทศราชทั่วราชอาณาจักรเข้าสู่ศูนย์กลางการปกครองประเทศ ภายใต้ระบบเทศาภิบาลซึ่งดังที่ได้กล่าวมาแล้วหลายครั้งว่า เนื้อหาที่แท้จริงเป็นการล้มเลิกระบบอภิสิทธิ์และอำนาจทางการปกครองแบบจารีตที่เจ้าเมืองและเจ้าประเทศราชในเดินแดนต่างๆ เคยมีมาแต่เดิม

หลัง "กบฏหวันหมาดหลี" ในปี พ.ศ. 2380 ปัญหาที่เกิดขึ้นในการปกครองหัวเมืองหรือเมืองประเทศราชภาคใต้ ล้วนวนเวียนอยู่ที่อำนาจการปกครองในฐานะ "เจ้าเมือง" ซึ่งคู่ความขัดแย้งสำคัญคือเจ้าเมืองที่มีเชื้อสายจีน (ขงจื้อปนพุทธ) กับที่มีเชื้อสายมลายู (อิสลาม) โดยมีขุนนางชั้นผู้ใหญ่จากส่วนกลางเป็นผู้เชื่อมประสาน เช่นเมื่อพระยาตานี (ทองอยู่) ถึงแก่กรรมลงหลังจากไปช่วยราชการปราบกบฏ กลับมาเมืองปัตตานีแล้วไม่นาน โดยพงศาวดารเมืองสงขลากล่าวว่าในปี พ.ศ.2382 พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ได้แต่งตั้งให้พระยาวิชิตณรงค์ กับนายแม่น มหาดเล็ก บุตรของพระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋ง) เป็นผู้รักษาราชการเมืองปัตตานีอยู่ชั่วคราว จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2383 จึงได้แต่งตั้งให้นิยุโซะ (โต๊ะกี) เป็นผู้ว่าราชการเมือง (เจ้าเมือง) คนต่อมา

ในส่วนท้องถิ่นเอง เกิดความขัดแย้งหลายครั้งระหว่างเชื้อสายเจ้าเมืองที่นับถือศาสนาอิสลามในเรื่องอำนาจและการใช้อำนาจการปกครอง ซึ่งมีผลประโยชน์สำคัญในการครอบครองที่ดิน อำนาจในการเก็บภาษีอากรเพื่อส่งส่วนหรือบรรณาการไปยังกรุงเทพ อีกทั้งมีการใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงราษฎรด้วยการเกณฑ์แรงราษฎรไปทำงานส่วนตัวเป็นระยะเวลานาน จนราษฎรไม่มีเวลาจะไปทำไร่นาของตน เจ้าเมืองบางคนประพฤติผิดแบบแผนประเพณี ฉุดคร่าอนาจารหญิง และให้บ่าวไพร่เข้ายึดครองเรือกสวนไร่นา ที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนตัว จนราษฎรพากัน อพยพหนีไปอยู่เสียที่เมืองปัตตานีบ้าง หรือเมืองเประซึ่งอยู่ในอาณัติการปกครองของอังกฤษบ้าง ขณะเดียวกันพวกอังกฤษในเกาะปีนังและสิงคโปร์ก็พยายามหาทางแทรกแซง ลอบยุยงส่งเสริมให้เจ้าเมืองต่างๆ เอาใจออกหากจากราชสำนักที่กรุงเทพ โดยหวังผนวกเอาดินแดนในแหลมมลายูตอนเหนือไปครอบครองเป็นการขยายอาณานิคม (อันเป็นนโยบายหลักของ "เจ้าลัทธิอาณานิคมเก่า" 4 ชาติที่รุกรานไปทั่วโลกรวมทั้งทวีปเอเชีย สำหรับภูมิภาคที่ปัจจุบันเรียกรวมว่า "อาเซียน" นั้น ไล่มาตั้งแต่ฝรั่งเศสทางฝั่งตะวันออกของสยาม ที่ประกอบด้วย ญวน ลาว และเขมร อังกฤษทางตะวันตก คือพม่าและอินเดีย และทางใต้คือดินแดนในแหลมมลายู ส่วนดินแดนที่เป็นหมู่เกาะใหญ่ในมหาสมุทรอินเดียก็อยู่ใต้อำนาจของ ฮอลันดา ได้แก่หมู่เกาะชวา และสเปนซึ่งยึดครองหมู่เกาะฟิลิปปินส์)

จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกระบบการปกครองหัวเมืองแบบประเทศราชหรือแบบกินเมือง โดยมีเจ้าเมืองที่สืบทอดตำแหน่งต่อๆกันมาทางสายเลือดนั้น สำหรับหัวเมืองภาคใต้นั้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ "บรรดาเมืองชั้นใน และ ชั้นนอก และ เมืองประเทศราช ที่แบ่งเป็นปักษ์ใต้อยู่ในกระทรวงกลาโหม ฝ่ายเหนืออยู่ในกระทรวงมหาดไทย ก็ดี และที่อยู่ในกระทรวง ต่างประเทศก็ดี ตั้งแต่นี้สืบไป ให้อยู่ในบังคับบัญชาตราราชสีห์กระทรวงมหาดไทย" และต่อมาตรากฎข้อบังคับการปกครองหัวเมืองขึ้นใช้ โดยให้เจ้าเมือง ซึ่งเคยบังคับบัญชาบ้านเมืองโดยอิสระมาขึ้นต่อข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช

ในปี พ.ศ. 2439  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงปฏิรูประบบการปกครองหัวเมืองประเทศราชเสียใหม่ สำหรับหัวเมืองปักษ์ใต้มีรูปแบบการขึ้นต่อและมีสายบังคับบัญชาตามลำดับที่เริ่มจาก "รัฐบาล" (รวมศูนย์ที่ราชสำนักผ่าน "กระทรวง" ที่สถาปนาขึ้นแทนที่ระบอบจตุสดมภ์) ลงไปที่ "ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช" จากนั้นจึงต่อไปที่ "ข้าหลวงประจำบริเวณ" "กองบัญชาการเมือง" "พระยาเมือง" และ "ยกกระบัตร ปลัดเมือง ผู้ช่วยราชการเมือง"

ต่อ มาในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2444 รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ก็ได้ออกพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 ขึ้น มีการกำหนดตำแหน่งหน้าที่เจ้าพนักงาน ต่างๆขึ้นมา เพื่อดำเนินการบริหารราชการและให้พนักงานเจ้าหน้าที่นับตั้งแต่ 1.ผู้ว่าราชการเมือง 2.ปลัดเมือง 3.ยกกระบัตร 4.ผู้ช่วยราชการสรรพากร 5.จ่าเมือง 6.แพ่ง 7.เสมียนตราเมือง 8.ศุภมาตรา 9.นายด่านภาษีปากน้ำ 10. พธำมรงค์ 11.แพทย์

จากกฎหมายการปกครองใหม่นี้ ทำให้รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์สามารถลดอำนาจของเจ้าเมืองในด้านการเมืองการปกครองลงได้อย่างสิ้นเชิง โดยมีขุนนางจากส่วนกลาง (ข้าราชการใหม่) เข้าทำหน้าที่ควบคุมอำนาจการบริหารบ้านเมืองไว้ทั้งหมด ตลอดถึงตัดทอนผลประโยชน์ในทางการคลัง ซึ่งแต่เดิมเจ้าเมืองเป็นผู้จัดเก็บภาษีอากรเอง และนำเงินไปจับจ่ายใช้สอยเอง มาเป็นผู้ช่วยราชการสรรพากร ส่วนผู้ว่าราชการเมือง และวงศ์ญาติ รัฐบาลที่กรุงเทพจัดตั้งงบประมาณเป็นค่ายังชีพให้พอเพียงที่จะใช้สอยเป็นรายปี ทั้งนี้อำนาจการปกครองที่แท้จริงอยู่ที่ "ข้าหลวง" ทั้งสองระดับ

หลังการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดินไม่นาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประกอบด้วยหัวเมืองและประเทศราช กลายเป็นมูลเหตุกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านขึ้นในหลายพื้นที่ในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์กรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2445 มีรูปแบบและรายละเอียดเฉพาะพื้นที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคและความเป็นมาทางประวัติศาสตร์

สำหรับภาคใต้ ที่สุดปลายที่แหลมมลายูโดยเชื่อมต่อกับสยามด้วยหัวเมืองชายขอบพระราชอาณาเขตอย่างใหม่ เริ่มจากพระยาวิชิตภักดี (ตนกู อับดุลกาเดร์) ปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามกฎข้อบังคับการปกครองบริเวณเจ็ดหัวเมืองที่รัฐบาลเป็นผู้ตราขึ้นโดยขัดขวางมิให้เจ้าพนักงานสรรพากรเข้ามาเก็บภาษีอากรในท้องที่เมืองปัตตานี ทั้งยังเดินทางไปสิงคโปร์เพื่อ ขอร้องให้เซอร์ แฟรงค์ สเวทเทนนั่ม ข้าหลวงใหญ่อังกฤษที่เมืองสิงคโปร์ช่วยเหลือการแข็งข้อต่อราชสำนักที่กรุงเทพฯ ยิ่งไปกว่านั้น เสนอให้อังกฤษยึดเอาเมืองปัตตานีเป็นเมืองขึ้น

เหตุการณ์นี้ก่อรูปและนำไปสู่ "กรณีพระยาแขกเจ็ดหัวเมืองคบคิดกบฎ ร.ศ.121".


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 26 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (23)

จาก "กบฏหัวเมืองมลายู"
ถึง "กบฏหวันหมาดหลี"

การปราบปรามและการสู้รบของกรุงรัตนโกสินทร์กับเจ้าเมืองปัตตานี

ช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองจาก "จตุสดมภ์/ศักดินา" สู่ระบอบ "สมบูรณาญาสิทธิราชย์" หรือที่สำนักคิดประวัติศาสตร์จารีตใช้คำว่า "การปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดิน" ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น การต่อต้านจากเจ้าเมือง/เจ้าประเทศราช รวมทั้งจากการลุกขึ้นสู้ของอดีตไพร่ ภายใต้ธง "กบฏผู้มีบุญ" หาได้จำกัดอยู่เพียงหัวเมืองทางภาคเหนือและภาคอีสานเท่านั้นไม่ ความเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญในดินแดนภาคใต้ของรัฐไทยก่อนจะมาเป็นสยาม ซึ่งเป็นหน่ออ่อนของ "ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้" สืบเนื่องมาจนถึงห้วงเวลา 15 ปี การก่อเกิดรัฐประชาธิปไตย ระหว่างปี พ.ศ. 2475-2490 กระทั่งเกิดการลุกขึ้นสู้ "กบฏดุซงญอ" ในปี พ.ศ. 2491 หลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 อันเป็นชัยชนะครั้งแรกของพลังปฏิกิริยา/ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย

พัฒนาการของความขัดแย้ง การต่อต้าน และการลุกขึ้นสู้ของพื้นที่ชายแดนใต้ เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2328 สามปีหลังการสถาปนาราชวงศ์จักรีโดยมีศูนย์กลางอำนาจรัฐที่กรุงเทพฯ หรือกรุงรัตนโกสินทร์ ปัตตานีมิได้ส่งเครื่องบรรณาการให้แก่ราชสำนักตามประเพณีนิยมของหัวเมือง/ประเทศราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงทรงส่ง พระยาราชบังสัน (แม้น) นำทัพเรือเข้าโจมตีปัตตานี เรือรบอำนาจรัฐรัตนโกสินทร์แล่นตามลำคลองปาแปรีอันเป็นสาขาของแม่น้ำปัตตานีไปจนถึงประตูเมือง สุลต่านปัตตานีไม่ยอมจำนน พระยาราชบังสันสั่งให้เรือรบยิงถล่มประตูเมือง กระสุนปืนใหญ่ตกในเมืองหลายนัดทำให้ชาวเมืองปัตตานีล้มตายกันมาก ที่สุดปัตตานีก็ยอมแพ้ต่อสยาม

ทางราชสำนักที่กรุงเทพฯ ดำเนินการรวบรวมหัวเมืองทางภาคใต้ทั้ง 4 (เดิมเรียกว่า "หัวเมืองมลายู" มาตั้งปลายสมัยอยุธยา ซึ่งประกอบด้วย เมืองไทรบุรี, กลันตัน, ตรังกานู, และเมืองปัตตานี ซึ่งในเวลานั้นรวมจังหวัดยะลา, นราธิวาส ไว้ด้วย) เข้ามาอยู่ในความปกครองของกรุงรัตนโกสินทร์อีกครั้งหนึ่ง โดยให้ปกครองแบบอิสระแต่ต้องส่งเครื่องบรรณาการให้กับราชสำนัก 3 ปีต่อครั้ง หากไม่ส่งจะถือว่าเป็นกบฏ ทั้งยังจัดระเบียบการปกครองบริหารราชการแผ่นดินเสียใหม่ ในขั้นต้นให้ไทรบุรีและกลันตัน อยู่ในความควบคุมดูแลของสงขลา จากกรณีนี้ได้สร้างความไม่พอใจ ให้กับเจ้าพระยาปัตตานี สุลต่าน มูตะหมัด ไม่ยอมอ่อนน้อม จึงโปรดฯให้ยกทัพไปตี เมื่อตีได้แล้วทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ต่วน กุราบิดิน (เชื้อสายสุลต่านเมืองปัตตานี) เป็นเจ้าเมือง

พ.ศ. 2334 หลังจากแต่งตั้ง เต็งกู รามิกดิน เป็นเจ้าเมืองปัตตานี ขึ้นตรงต่อเมืองสงขลา ทำให้ เต็งกู รามิกดินไม่พอใจที่ถูกลดอำนาจเพราะศักดิ์ศรีน้อยกว่าเมืองสงขลา จึงทำตัวแข็งข้อไม่ขึ้นต่อเมืองสงขลา ได้ชักชวนองเชียงสือ กษัตริย์ญวนในสมัยนั้นให้นำกองทัพมาตีสยาม แต่ถูกปฏิเสธจึงหันไปสมคบคิดกับ โต๊ะ สาเยก โจรสลัดจากอินเดีย ก่อการกบฏและแยกกองทัพของเมืองปัตตานีมาตีเมืองสงขลาได้สำเร็จ หลังจากสงขลาตกอยู่ภายใต้อำนาจของปัตตานีแล้ว กองทัพหลวงจากกรุงเทพฯ ร่วมกับกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช ได้ยกทัพไปปราบปรามและยึดเมืองสงขลากลับคืนมาได้ พร้อมทั้งได้มีการแต่งตั้งให้พระยาเมืองสงขลายกทัพไปตีเมืองปัตตานี และสามารถยึดกลับคืนมาอยู่ภายใต้การปกครองของราชสำนักที่กรุงเทพฯ ตามเดิม การต่อสู้ในครั้งนั้นนับว่ารุนแรงมาก กำลังของเมืองสงขลาสู้ไม่ได้ต้องใช้กองทัพหลวง ดังนั้น เพื่อเป็นการลิดรอนกำลังของเมืองปัตตานีให้กระจายออกไป ไม่ยุ่งยากต่อการแข็งข้อและหลีกเลี่ยงการรวมอำนาจที่จะก่อการกบฏได้ ดังนั้นในปี พ.ศ. 2339 รัชกาลที่ 1 ทรงแก้ปัญหาด้วยการแยกเมืองปัตตานี ออกเป็น 7 หัวเมือง คือ ปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง รามัน ยะลา สายบุรี และระแงะ

สถานการณ์หลังจากนั้นแทนที่จะสงบราบคาบ กลับกลายเป็น "คลื่นใต้น้ำ" ที่มีการเคลื่อนไหวในทางลับ ต่อต้านอำนาจราชสำนักที่กรุงเทพฯ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2380 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิด "กบฏหวันหมาดหลี" ที่หัวเมืองปักษ์ใต้ เมื่อปีระกา นพศก จ.ศ. 1199 (พ.ศ. 2380) กรมสมเด็จพระศรีสุราลัย สมเด็จพระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สวรรคต มีงานถวายพระเพลิงพระบรมศพในต้นปีจอ สัมฤทธิศก จ.ศ. 1200 (พ.ศ. 2381) บรรดาเจ้าเมืองในหัวเมืองต่างๆ ได้เดินทางเข้ามาร่วมงานพระราชพิธีในพระนครกันเกือบหมด จึงไม่มีขุนนางชั้นผู้ใหญ่ดูแล

ตนกูมะหะหมัด สะอัด และ ตนกูอับดุลเลาะห์ เชื้อพระวงศ์แห่งมลายูได้คบคิดกับหวันหมาดหลี ซึ่งเป็นโจรสลัดอันดามันได้ยกกำลังเข้าจู่โจมเมืองไทรบุรี ฝ่ายพระยาอภัยธิเบศร (แสง) เจ้าเมืองไทรบุรีพร้อมข้าราชการทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายทหาร ไม่อาจรับมือกองกำลังฝ่ายกบฏได้ จึงถอยร่นมาถึงเมืองพัทลุง ทำให้ฝ่ายกบฏได้ใจบุกต่อเข้าไปตีเมืองตรัง เจ้าเมืองตรังต้านทานไม่ได้ ต้องถอยไปแจ้งข่าวแก่เมืองนคร ฝ่ายกบฏมอบหมายให้หวันหมาดหลีรักษาเมืองไว้โดยลำพังโดยทิ้งกำลังไว้ให้ส่วนหนึ่ง กองกำลังส่วนใหญ่ได้เดินทัพทางบกจากตรังข้ามไปพัทลุงและสงขลา ตีสงขลาพร้อมกับเกลี้ยกล่อมเจ้าเมืองที่เป็นมุสลิมด้วยกันอีก 7 หัวเมือง คือให้ร่วมมือกันก่อการกบฏ

ฝ่ายราชสำนักที่กรุงเทพฯ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบข่าวก็พิโรธ มีพระบรมราชโองการสั่งให้เจ้าเมืองต่างๆ เร่งกลับไปป้องกันดูแลเมืองของตนเอง และทรงวิตกว่า การที่กบฏสามารถประชิดสงขลาได้แล้วจะเป็นเหตุให้มุสลิมทางหัวเมืองหน้าในแถบทะเลอ่าวไทยคิดการกบฏขึ้นมาด้วย จึงโปรดให้พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัด บุนนาค) เป็นแม่ทัพใหญ่ลงไปปราบ ในเวลาเดียวกันนั้น เจ้าเมืองสงขลา (เซ่ง) และเจ้าพระยานคร (น้อย) ยังอยู่ในระหว่างการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระศรีสุราลัย สมเด็จพระพันปีหลวง ครั้นเมื่อทราบข่าวกบฏจึงรีบเดินทางกลับมาเกณฑ์คนที่เมืองนครศรีธรรมราชและพัทลุงจัดเป็นกองทัพ มอบหมายให้พระยาอภัยธิเบศร (แสง) พระยาวิชิตสรไกร (กล่อม) พระเสนานุชิต (นุช) ซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยานคร (น้อย) ทั้งสามคนคุมกำลังประมาณ 4,000 คน ยกไปตีกบฏเมืองไทรบุรีได้สำเร็จภายในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนเจ้าพระยานคร (น้อย) นั้นป่วยเป็นโรคลมไม่สามารถคุมทัพไปด้วยตนเองได้ ขณะที่ทางกรุงเทพฯ ส่งพระวิชิตณรงค์ (พัด) และพระราชวรินทร์ คุมทหารกรุงเทพฯ ประมาณ 790 คน มาช่วยรักษาเมืองสงขลาไว้ก่อน พวกกบฏมลายูที่ล้อมสงขลาอยู่เมื่อรู้ข่าวทัพนครศรีธรรมราชตีไทรบุรีแตกแล้ว และกำลังบ่ายหน้ามาช่วยเมืองสงขลาพร้อมกับทัพกรุงเทพฯ จึงเกิดความเกรงกลัว พากันหนีกลับไปโดยที่ยังไม่ได้ตีเมืองสงขลา

แม่ทัพคนสำคัญอีกคนหนึ่งคือ มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยายมราช (ครุฑ บ่วงราบ) (ต่อมาดำรงตำแหน่งเสนาบดีกรมเวียงที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) เจ้าเมืองชุมพรในเวลานั้น นำกองทัพเมืองชุมพร เมืองประทิว จำนวน 1,216 คน เข้าร่วมกองทัพหลวงปราบปรามความวุ่นวายในหัวเมืองปักษ์ใต้ (กบฏหวันหมาดหลี) เมืองไทรบุรี ในบังคับบัญชา พระยาเสนาภูเบศร์ แม่ทัพหน้า

การสืบสวนภายหลัง พบว่ามีข้าราชการและขุนนางจำนวนหนึ่งที่เข้าพวกกบฏ มีการลงโทษต่างๆรวมถึงการประหารชีวิตระดับหัวหน้าก่อการจำนวนหนึ่งด้วยด้วย

จากการปราบปรามอย่างเด็ดขาดแสดงให้เจ้าผู้ครองนครเดิมเห็นว่า กำลังของราชสำนักที่กรุงเทพฯ ยังคงมีความเป็นปึกแผ่น สามารถบังคับบัญชาหัวเมืองภาคใต้ตอนบนเข้าร่วมปราบกบฏได้ มีผลต่อการ "ปราม" การเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกันไม่ให้เกิดขึ้นได้อีก ดินแดน "หัวเมืองทั้ง 7" จึงเข้าสู่ช่วงเวลาสงบสันติชั่วคราว ต่อเนื่องกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองเข้าสู่ระบบมณฑลเทศาภิบาลหลังปี พ.ศ. 2435.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 19-25 มกราคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (22)

การสิ้นสุดอำนาจหัวเมืองประเทศราช
ชัยชนะของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

นักโทษเงี้ยวทั้ง 16 คนที่ถูกจับกุมได้ในการจลาจลในเมืองแพร่และลำปางได้ถูกส่งตัวมาจำคุกที่กรุงเทพฯ

เมื่อเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) พิจารณาความหนักเบาของภาระหน้าที่ที่ต้องเผชิญ ประกอบกับแนวทางการจัดการปัญหาดังกล่าวจากส่วนกลางที่ต้องการวางรากฐานการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยให้การปกครองหัวเมืองสามารถดำเนินการในรูปแบบ "เทศาภิบาล" การจะดำเนินคดีเป็นเด็ดขาดด้วยการสั่งประหารชีวิต "ผู้นำ" หรือผู้อยู่เบื้องหลังการปลุกระดมและสนับสนุนการก่อการลุกขึ้นสู้ด้วยกำลังอาวุธ (หรือที่ในปัจจุบันใช้คำว่า "แกนนำ") ก็เกรงว่าจะกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์กับอดีตเจ้านาย/เจ้าผู้ครองนครหัวเมืองทางเหนือ ซึ่งถือเป็นเครือญาติผู้สืบสายราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนดังได้กล่าวมาแล้ว

ดังนั้นเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงใช้วิเทโศบายด้วยการปล่อยข่าวลือว่าจะจับกุมตัวผู้อยู่ในข่ายต้องสงสัยระดับหัวหน้าเพื่อดำเนินคดีในฐานผู้ยุยงและสนับสนุนโจรเงี้ยวก่อการกบฏ เมื่อความรู้ไปถึงเจ้าพิริยเทพวงศ์ (พระยาพิริยวิไชย) พร้อมด้วยคนสนิทอีกสองคน จึงลอบหลบหนีออกจากเมืองแพร่และพื้นที่ควบคุมของกองทัพปราบกบฏ (มีหลักฐานบางแห่งอ้างว่าเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี มีคำสั่งคำสั่งลับมิให้กองทหารที่ตั้งสกัดอยู่รอบเมืองแพร่ขัดขวาง ทำให้การหลบหนีของเจ้าเมืองแพร่เป็นไปอย่างสะดวก)

หลังจากพระยาพิริยวิไชยหลบหนีไปได้ 15 วัน เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงออกคำสั่งถอดเจ้าเมืองแพร่ออกจากตำแหน่งทันที ด้วยถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการ พร้อมกับสั่งอายัดทรัพย์เพื่อชดใช้หนี้หลวง ที่เจ้าเมืองแพร่ค้างกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ จากการเก็บภาษีอากรในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยตรงไปยังกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ หลังจาก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย มาเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (พ.ศ. 2439-2449) มีพระประสงค์จะปรับปรุงแก้ไขวิธีการเก็บภาษีอากร และได้กราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสนอวิธีการปรับปรุงการเก็บภาษีอากรใหม่ยกเลิกการประมูลผูกขาดเก็บภาษีอากรเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลดำเนินการจัดเก็บเอง ครั้นเมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ก็เตรียมการในเรื่องนี้ต่อไป โดยในขณะนั้น ทางรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เพิ่งเริ่มก่อรูปและเสริมสร้างความแข็งแกร่งในทุกๆด้าน โดยในด้านการเงินการคลังได้มีการจ้าง มิสเตอร์ เอฟ.เอช. ไยลส์ และ มิสเตอร์ ดับเบิลยู เอ. เกรแฮม ชาวอังกฤษจากอินเดีย เตรียมวิธีการปรับปรุงให้เจ้าพนักงานของรัฐบาลเป็นผู้จัดเก็บภาษีอากรเอง เมื่อปี พ.ศ. 2440

สำหรับคดีความผิดฐานร่วมก่อการกบฎก็เป็นอันต้องระงับโดยปริยาย ไม่มีการรื้อฟื้นขึ้นอีก เจ้าพิริยเทพวงศ์เจ้าเมืองแพร่องค์สุดท้ายต้องลี้ภัยไปใช้ชีวิตในบั้นปลายที่เมืองหลวงพระบาง จนถึงแก่พิราลัย

เมื่อทุกอย่างอยู่ในการควบคุมของรัฐสยาม พระยาสุรศักดิ์มนตรีในฐานะแม่ทัพผู้มีอำนาจเต็มก็ได้จับกุมผู้กระทำผิดหรือผู้ต้องสงสัยทำการสอบสวนอย่างเข้มงวด โดยใช้ศาลทหารเป็นผู้พิจารณาคดี และพิจารณาลงโทษอย่างเฉียบขาด มี "เชลยกบฏ" ส่วนหนึ่งถูกส่งตัวมาพิจารณาโทษถึงขั้นจำคุกถึงกรุงเทพฯ (นักโทษเงี้ยวทั้ง 16 คนที่ถูกจับกุมได้ในการจลาจลในเมืองแพร่และลำปางได้ถูกส่งตัวมาจำคุกที่กรุงเทพฯ โดยแยกนักโทษในบังคับสยามไปจำคุกที่กองมหันตโทษ กระทรวงยุติธรรม ส่วนนักโทษในบังคับอังกฤษส่งไปจำคุกที่สถานทูตอังกฤษ) ทั้งนี้เพื่อเป็นการ "เชือดไก่ให้ลิงดู" และป้องกันเจ้านายตามหัวเมืองเดิมในภูมิภาคต่างๆ ตลอดจนอดีต "ไพร่" เดิมในระบอบจตุสดมภ์คิดการ "กำเริบเสิบสาน" แข็งข้อต่อการเปลี่ยนผ่านการปกครองสู่ระบอบสมบูรณาญาธิราชย์

หลังการปราบปรามกบฏลงได้อย่างราบคาบ รัฐบาลสยามก็ฉวยโอกาส "ตีเหล็กเมื่องยังร้อน" เพื่อกวาดล้างอำนาจของเจ้านายฝ่ายเหนือ โดยเข้ามาจัดการปกครองและจัดการจัดเก็บผลประโยชน์ในอดีตดินแดนที่เรียกว่า "ล้านนา" อย่างเต็มที่ มีการปฏิรูปการปกครองอย่างเต็มรูปแบบและปลดเจ้าหลวงเมืองแพร่ และยกเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครแพร่ รวมทั้งตำแหน่งเจ้านายท้องถิ่นของแพร่ทั้งหมด  และให้ข้าราชการจากส่วนกลางเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดอำนาจของเจ้านายฝ่ายเหนือ ทั้งนี้อำนาจรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามสยามได้จัดตั้งกรมบัญชาการทหารบกมณฑลพายัพ (ค่ายกาวิละ) ที่นครเชียงใหม่ จัดตั้งกองทหารประจำการ (ค่ายสุรศักดิ์มนตรี) ขึ้นที่นครลำปาง เพื่อป้องกันมิให้มีการก่อเหตุในลักษณะเดียวกันขึ้นอีก เนื่องจากเป็นหัวเมืองศูนย์กลางสามารถติดต่อกับ จังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย, แพร่, น่าน, อุตรดิตถ์ และหัวเมืองต่างๆ ซึ่งทหารเกือบทั้งหมดเป็น "คนสยาม" ที่เกณฑ์ไปจากจากภาคกลาง

กองทหารที่ตั้งขึ้นครั้งแรกที่จังหวัดลำปาง อยู่ในการบังคับบัญชาของ พันตรี หลวงพิทธยุทธยรรยง ตั้งอยู่ในบริเวณ วัดป่ารวก อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ต่อมาในปี พ.ศ. 2448 เจ้าบุญวาทย์ วงศ์วานิต อุทิศที่ดินที่ม่อนสันติสุข ริมฝั่งห้วยแม่กระติ๊บให้เป็นที่ตั้งค่ายทหาร พร้อมกับปลูกอาคารไม้ให้อีกหลังหนึ่ง แล้วจึงเคลื่อนย้ายหน่วยทหารจากวัดป่ารวกเข้ามาที่ตั้งใหม่ ผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารคนแรกที่เข้ามาที่ตั้งใหม่ คือ พันตรี หลวงศัลยุทธวิธิการ (เล็ก ปาณิกบุตร) ต่อมาได้เป็น พลโทพระยากลาโหมราชเสนา และเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2495 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดชได้พระราชทานนามค่ายว่า "ค่ายสุรศักดิ์มนตรี"

นับจากการสร้างค่ายทหารที่ลำปางขึ้น มีการปรับปรุงกองทหารให้เข้มแข็งและเตรียมพร้อมอยู่เสมอ  เพื่อปรามเจ้าผู้ครองนคร เจ้านาย เจ้าเมือง พ่อเมือง และขุนนางในล้านนาที่คิดจะฟื้นอำนาจการปกครองในลักษณะเอกเทศหรือเจ้าประเทศราช ทำให้กลุ่มผู้ปกครองล้านนาทั้งหลายต้องตกอยู่ในภาวะจำยอมในการยึดรวมล้านนาเข้ากับสยามในที่สุด

กระนั้นก็ตามผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ ภายหลังการผนวกเมืองแพร่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ผู้คนและลูกหลานเชื้อสายเจ้าเมืองแพร่ก็เกิดการปรับตัวอย่างขนานใหญ่ ทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจจากการผลิตแบบพึ่งตนเองและส่งส่วยแก่เจ้าผู้ครองนครเดิม มาสู่รูปแบบการรับเหมาช่วงสัมปทานจากอำนาจรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นอกจากนั้นราษฎรที่เคยเป็นทาส/ไพร่ที่สังกัดมูลนายในระบอบศักดินา/จตุสดมภ์ ก็กลายเป็นแรงงานรับจ้างลากจูงไม้ในป่าให้กับบริษัทฝรั่งที่ได้สัมปทานผูกขาดจากอำนาจรัฐส่วนกลาง ทำให้ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจเมืองแพร่จะขยายตัวดีกว่าหัวเมืองอื่นๆ ทว่าเศรษฐกิจเหล่านี้ก็ตั้งอยู่บนฐานของการผูกขาดสัมปทานทรัพยากรธรรมชาติ ที่ถูกนำมาใช้หมดไปอย่างไม่มีแผนรองรับการสร้างทดแทนแต่อย่างใด ไม่ใช่เป็นการผลิตอย่างแท้จริง ป่าไม้สักเมืองแพร่ไม่นานก็หมดไป บริษัทฝรั่งก็ล่าถอยทิ้งไว้แต่ร่องรอยของความเฟื่องฟูร่ำรวยของคนในยุคหนึ่ง

ยิ่งไปกว่านั้นสัมปทานของรัฐไทยในเวลาต่อมาที่ให้กับคนไทยกันเองยิ่งมีผลทำให้ป่าไม้เมืองแพร่หมดสิ้น ทุนที่เข้ามาฉกฉวยผลประโยชน์ตรงนี้กลายเป็นฐานสำหรับการเมืองท้องถิ่นเมืองแพร่ในปัจจุบันที่แทบจะตัดขาดการรับรู้เรื่องราวในอดีตอย่างสิ้นเชิง รวมทั้งขาดการถ่ายทอดประวัติศาสตร์แก่อนุชนรุ่นหลังให้เข้าใจและสามารถสร้างความภาคภูมิใจใน "ความเป็นมา" หรือ "กำพืด" ที่แท้จริงที่ผ่านการกัดกร่อนบ่อนทำลายลงไปในประวัติศาสตร์ที่ถูก "ตัดตอน" หรือ "กัดกร่อน" ลงไป.


โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 12-18 มกราคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (21)

จุดจบกบฏเงี้ยวเมืองแพร่
กบฏชาวนาหาญสู้ทหารหลวง

กองกำลังตำรวจรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามที่ยกไปปราบกบฎเงี้ยว

กบฏเงี้ยวที่แบ่งกำลังไปทางตะวันตกเพื่อยกไปตีนครลำปาง เข้าล้อมตีเมืองในวันที่ 4 สิงหาคม โดยที่ขุนนางข้าราชการที่เป็นคนภาคกลางต่างพาครอบครัวอพยพออกจากตัวเมืองไปหมดสิ้น เพราะทราบดีว่าพวกกบฏเงี้ยวต้องการจะสังหารข้าราชการจากส่วนกลางเท่านั้น ปรากฏว่าฝ่ายกบฏต้องประสบกับการรุกรบที่มีการตระเตรียมไว้อย่างพร้อมสรรพ ประกอบกับมีทหารหลวงและทหารท้องถิ่นที่ติดอาวุธสมัยใหม่และผ่านการฝึกมาเป็นอย่างดี จึงเป็นฝ่ายมีเปรียบกองกำลังฝ่ายกบฏทุกด้าน ผลก็คือ กบฏเงี้ยวไม่สามารถตีหักเข้าเมืองนครลำปางได้ กองกำลังแตกพ่ายหนีกระจัดกระจายกันไป ที่สำคัญ ตัวผู้นำคือ พะกาหม่อง เสียชีวิตจากกระสุนปืนระหว่างการต่อสู้

นอกจากนั้นในการสู้รบที่สมรภูมินครลำปางนั้น นายร้อยเอก เอช.มาร์ค เยนเซ่น ชาวเดนมาร์ค ครูฝึกตำรวจในเมืองแพร่ ทราบข่าวการก่อกบฏเงี้ยว จึงนำนายตำรวจยศร้อยโทและพลตำรวจอีก 54 นายเดินทางจากเชียงใหม่ไปถึงลำปาง นายร้อยเอกเยนเซ่นเข้าอาสาบัญชาการรบ สังหารพวกเงี้ยวล้มตายเป็นจำนวนมาก

สำหรับวีรกรรมของนายร้อยเอก เยนเซ่น นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระทัยที่จะพระราชทานยศนายพันตรีและเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฏไทย ชั้นที่ 3 และเงินรางวัลอีกจำนวน 1 หมื่นบาท แต่เป็นที่น่าเสียใจเมื่อนายร้อยเอกเยนเซ่นถูกพวกกบฏเงี้ยวลอบสังหารเสียชีวิตที่เมืองพะเยาไปเสียก่อน แต่อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็พระราชทานเบี้ยหวัดเป็นรางวัลความดีความชอบครั้งนี้ แก่มารดาของนายร้อยเอกเยนเซ่น ซึ่งอยู่ที่ประเทศเดนมาร์ค ปีละ 3,000 บาท ตลอดชีวิต

ส่วนกองกำลังกบฏเงี้ยวส่วนที่ยกไปทางใต้ที่นำโดยสะลาโปไชยนั้น ในระยะแรกสามารถสกัดทัพเมืองพิชัย จากอุตรดิตถ์ไว้ได้ชั่วคราว แต่ก็ไม่สามารถต้านทานทัพเมืองสวรรคโลกและสุโขทัยที่ยกมาหนุนช่วยได้ จึงถอยกลับไปตั้งหลักที่เมืองแพร่ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม แต่ในที่สุดก็หนีกระจัดกระจายไป เพราะต่อสู้ไม่ไหว อีก 3 วันถัดมาคือในวันที่ 14สิงหาคม พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพ เนติโพธิ์) ข้าหลวงฯ เมืองพิชัย นำกองกำลังตำรวจภูธรและทหารจำนวนหนึ่งบุกเข้าเมืองแพร่ได้สำเร็จ

วันที่ 20 สิงหาคม พลโท เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) นำทัพหลวงถึงเมืองแพร่ หลังจากเหตุการณ์สงบลง จึงเริ่มการสอบสวนความผิดผู้ เกี่ยวข้องในการลุกขึ้นสู้ก่อกบฏทันที

ขั้นแรก ได้สั่งจับชาวเมืองแพร่ ราษฎรบ้านร่องกาด คือ หนานวงค์ ที่หวังเงินรางวัลนำจับพระยาไชยบูรณ์มาประหารชีวิตเป็นเยี่ยงอย่างก่อน

ขั้นที่สอง สั่งให้จับตัว พญายอด ผู้นำจับหลวงวิมลมาประหารชีวิตอีกคนหนึ่ง

จากนั้นเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีได้สอบสวนพยานหลายคน โดยยึดถือตามแนวนโยบายที่กรมหลวงดำรงราชานุภาพทรงวางไว้ คือ ไม่ให้ตั้งข้อสงสัย หรือกล่าวหาเจ้าเมืองแพร่และเจ้านายบุตรหลานล่วงหน้า

แต่เมื่อสอบสวนพยานไปหลายปาก ก็พบหลักฐานต่างๆ ผูกมัดเจ้าเมืองแพร่และเจ้านายบุตรหลานบางคน โดยเฉพาะ เจ้าราชบุตร เจ้าไชยสงคราม อย่างแน่นหนาว่ามีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับกบฎครั้งนี้ ดังคำให้การของพระยาเขื่อนขัณฑ์ อดีตนายแคว้น (กำนัน) เมืองสอง เป็นคนที่เจ้าเมืองแพร่ไว้วางใจ ได้กล่าวให้การไว้ตอนหนึ่งว่า "เจ้าแพร่พูดว่า เมืองแพร่ต่อไปจะเป็นของไทยนานเท่าใด จะต้องเป็นเมืองของเงี้ยว เจ้าแพร่จะคิดให้พะกาหม่อง สะลาโปไชย ซึ่งเป็นหัวหน้าเงี้ยวบ่อแก้วเข้ามาตีปล้นเมืองแพร่ พวกเงี้ยวจะจับคนไทยฆ่าเสียให้หมด แต่พะกาหม่องและสะลาโปไชยจะยกเข้าตีเมืองแพร่เมื่อใดยังไม่มีกำหนด

ถ้าจะให้พะกาหม่องและสะลาโปไชยยกเข้าตีเมืองแพร่วันใด จะได้มีหนังสือไปนัดพะกาหม่องและสะลาโปไชยทราบ เจ้าแพร่ได้สั่งข้าพเจ้าว่า เมื่อออกนอกราชการแล้ว อย่ามาเที่ยวเกะกะ วุ่นวายทำราชการกับไทย เมื่อเงี้ยวมันเข้าตีบางทีจะถูกปืนตายเสียเปล่า ผู้ที่ร่วมคิดให้เงี้ยวเข้าปล้นเมืองแพร่คราวนี้ เจ้าหลวงบอกข้าพเจ้าว่า พระยาราชบุตร พระไชยสงคราม เป็นผู้ร่วมคิดด้วย"

นอกจากนั้น ก่อนที่พวกโจรเงี้ยวเข้าปล้นเมืองแพร่ก็ได้ส่งข่าวมาบอกเจ้าเมืองแพร่ไว้แล้ว ดังคำให้การของหลวงจิตรจำนงค์ เจ้าของสัมปทานป่าไม้มีความว่า "พระไชยสงครามไปที่บ้านข้าพเจ้าว่า วันที่ 24 กรกฎาคม เวลากลางคืนประมาณ 3 ทุ่มเศษ พวกเงี้ยวมีหนังสือมาบอกเจ้าแพร่ว่าถ้าในกลางคืนนี้ไม่ทัน ก็จะยกเข้าปล้นเวลาเช้ามืด"

เจ้าเมืองแพร่รู้เหตุการณ์ล่วงหน้าจึงได้ป้องกันภัยแก่ญาติและคนสนิท ดังนายส่างกราบ ผู้ ดูแลคุ้มหลวงได้ให้การไว้ตอนหนึ่งว่า "ครั้นข้าพเจ้าเข้านอนเฝ้าคุ้มหลวงได้ 6 คืน เจ้าหลวงก็บอกข้าพเจ้าว่า พวกเงี้ยวจะพากันเข้ามาปล้นเมืองแพร่วันพรุ่งนี้รู้หรือเปล่า ข้าพเจ้าก็บอกว่าไม่รู้ เจ้าหลวงจึงบอกข้าพเจ้าไปเอาปืน 12 นัดที่บ้านพระไชยสงครามมาป้องกันตัวไว้ 1 กระบอก”

และในวันที่ 24 กรกฎาคม เจ้าเมืองแพร่ก็ได้เรียกตัว เจ้าพลอยแก้ว หลานสาว ซึ่งไปคลุกคลีอยู่ในจวนข้าหลวงกับคุณหญิงเยื้อน ภริยาของพระยาไชยบูรณ์ให้กลับคุ้มด่วน เพราะเกรงอันตรายจากพวกเงี้ยวจะเกิดแก่เจ้าพลอยแก้ว

นอกจากนั้น เมื่อกองโจรเงี้ยวบุกโจมตีและเข้ายึดเมืองแพร่ได้สำเร็จ เจ้าเมืองแพร่ได้แสดงตัวเป็นผู้สนับสนุนโจรเงี้ยวอย่างเด่นชัด โดยเกณฑ์ข้าวสารชาวบ้านหลังคาละ 2 ทะนาน อาวุธปืน กระสุนดินดำ เงิน และกองกำลัง จำนวน 50 คน ส่งไปช่วยพะกาหม่องต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาล

จากหลักฐานต่างๆ ที่กล่าวมาทำให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเข้าใจว่า เจ้าเมืองแพร่ เจ้าราชบุตร เจ้าไชยสงคราม มีส่วนสนับสนุนให้กองโจรเงี้ยวก่อการกบฏขึ้นอย่างแน่นอน และเชื่อว่าต้องมีการตระเตรียมการล่วงหน้ามาช้านานพอสมควร

ทว่าก่อนที่เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจะได้ชำระความผิดผู้ใด เจ้าราชบุตรและภริยาก็ตกใจกลัวความผิดดื่มยาพิษฆ่าตัวตายเสียก่อน เพราะได้ข่าวลือว่ารัฐบาลจะประหารชีวิตผู้เกี่ยวข้องกับกบฏเงี้ยวทุกคน

เมื่อเกิดอัตวินิบาตกรรมขึ้นเช่นนี้ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเกรงว่าจะเป็นการสร้างความ เข้าใจผิดกันว่ารัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์กระทำการรุนแรงต่อเจ้านายเมืองแพร่ อีกทั้งการจะสืบหาพยานต่อไปอีกหลักฐานก็จะยิ่งผูกมัดเจ้าเมืองแพร่และเจ้านายบุตรหลานที่เกี่ยวข้องยิ่งขึ้น จนในที่สุดจะต้องถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อหากบฏอย่างแน่นอน ย่อมจะเป็นการกระทบกระเทือนใจเจ้านายฝ่ายเมืองเหนือทุกเมือง เพราะต่างเกี่ยวพันฉันญาติผู้สืบสายราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนด้วยกัน ทั้งยังสร้างความสะเทือนใจแก่ราษฎรในลานนาไทยทั้งหมดด้วย

ดังนั้นเจ้าพระยาสุรศักศ์มนตรี จึงดำเนินการตามนโยบายจากส่วนกลาง โดยผ่อนปรนต่อเจ้านายเมืองแพร่ ขณะเดียวกันก็พยายามไม่ให้เจ้านายเมืองแพร่เกิดความตระหนกจนหนีเข้าพึ่งอิทธิพลรัฐบาลอาณานิคมอังกฤษในดินแดนฝั่งตะวันตกของสยาม กระทั่งอาจจะลุกลามกลายเป็นปัญหาหรือข้ออ้างในการเคลื่อนไหวทางทหารเช่นที่เกิดกับดินแดนฝั่งตะวันออกของสยามกับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสมาก่อนหน้านั้นจนเกิดกรณีเสียดินแดนแล้วหลายครั้งหลายครา.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 5-11 มกราคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (20)

เส้นทางกบฏเงี้ยวเมืองแพร่
ชาวนาสมคบคิดขุนนางหัวเมือง

กองทหารจากเมืองพิชัย อุตรดิตถ์ คราวไปปราบกบฎเงี้ยวเมืองแพร่ พ.ศ. 2445

วันที่ 24 กรกฎาคม 2445 เวลาประมาณ 7 นาฬิกา พวกไทยใหญ่หรือ "เงี้ยว" ในเมืองแพร่นำโดย พะกาหม่อง และ สลาโปไชย นำกำลังประมาณ 40-50 คน บุกเมืองแพร่ด้านประตูชัย จู่โจมสถานีตำรวจซึ่งมีกำลังพลอยู่แค่ 12 คน จึงไม่สามารถต้านทานได้ กองโจรเงี้ยวปลดอาวุธตำรวจแล้วเข้าโจมตีที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข ตัดสายโทรเลข และทำลายอุปกรณ์สื่อสาร เพื่อตัดขาดการสื่อสารจากเมืองแพร่ไปยังจังหวัดอื่นๆ ก่อนจะมุ่งหน้าไปจวนข้าหลวงเมืองแพร่ "พระยาไชยบูรณ์" แต่ข้าหลวงได้พาครอบครัวพร้อมคุณหญิงเยื้อนภริยาหลบหนีออกจากจวนไปก่อนหน้าแล้ว

กองกำลังเงี้ยวที่กำลังอยู่ในสภาพฮึกเหิมเต็มที่จากชัยชนะยกแรกที่สถานีตำรวจ จึงกรูกันบุกปล้นทรัพย์สินและสังหารบ่าวไพร่ในจวนข้าหลวง แล้วยกกำลังเข้ายึดที่ทำการค้าสนามหลวง ทำลายคลังหลวงและกวาดเงินสดไปทั้งหมด 46,910 บาท 37 อัฐ หลังจากนั้นกองโจรเงี้ยว ก็ยกกำลังเข้าโจมตีเรือนจำประจำจังหวัด โดยเจ้าหน้าที่ทั้งพัสดีและผู้คุมหาได้ตั้งใจรวมกำลังกันต่อต้านแต่อย่างใดไม่ กองโจรเงี้ยวเข้ายึดเรือนจำและปล่อยนักโทษให้เป็นอิสระพร้อมกับ แจกจ่ายอาวุธให้แก่นักโทษเหล่านั้น ทำให้ได้กำลังสนับสนุนเพิ่มขึ้นอีกจนมีกำลังถึง 300 คน

ในระหว่างที่กองโจรเงี้ยวเข้าโจมตีสถานที่ราชการต่างๆอยู่นั้น ราษฎรเมืองแพร่ที่อยู่ในสภาพตื่นตระหนกกันไปทั่ว บางส่วนได้อพยพหลบออกไปอยู่นอกเมือง แต่กองโจรประกาศให้อยู่ในความสงบ พร้อมกับประกาศยืนยันจะไม่ทำร้ายชาวเมือง จะฆ่าเฉพาะข้าราชการที่เป็นคนไทยภาคกลางที่มาปกครองเมืองแพร่เท่านั้น ราษฎรจึงค่อยคลายความตกใจและบางส่วนได้เข้าร่วมกับพวกกองโจรเงี้ยวก็มีทำให้กองโจรเงี้ยวทำงานคล่องตัวและมีกำลังเข้มแข็งขึ้น

ส่วนพระยาไชยบูรณ์หลังจากหลบหีออกจากจวนฯมาได้ มุ่งหน้าตรงไปยังคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ "พระยาพิริยวิไชย" หวังจะอาศัยกองกำลังส่วนของเจ้าหลวงเข้าตีโต้ฝ่ายกองโจร แต่ได้รับการปฏิเสธเนื่องจากทางฝ่ายเจ้าหลวงเองก็ไม่มีทั้งกำลังคนและอาวุธเพียงพอที่จะปฏิบัติการทางทหาร พระยาไชยบูรณ์จึงหนีออกจากเมืองแพร่ไปทางบ้านมหาโพธิ์ หวังไปขอกำลังจากเมืองอื่นมาปราบปรามในภายหลัง

ตกสายวันที่ 25 กรกฎาคม กองโจรเงี้ยวก็สามารถยึดเมืองแพร่ได้เบ็ดเสร็จ พะกาหม่องและสะลาโปไชยตรงไปคุ้มเจ้าหลวง ทำพิธีถือน้ำสาบาน มีพระยาพิริยวิไชยเจ้าหลวงเมืองแพร่เป็นประธาน ร่วมด้วยเจ้าราชบุตร เจ้าไชยสงคราม และเจ้านายบุตรหลานคนอื่นๆ รวม 9 คน ตกลงว่าจะร่วมกันต่อต้านกองทัพรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์จากกรุงเทพฯ และกำลงพลสนับสนุนที่เกณฑ์จากจังหวัดอื่นๆเข้ามาสมทบ โดยกองโจรเงี้ยวเป็นกองหน้า ส่วนเจ้าเมืองเป็นกองหลังคอยส่งกำลังสนับสนุน

ที่ประชุมของฝ่ายกบฏมีมติพร้อมใจกันเชิญให้พระยาพิริยวิไชย (เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์) ขึ้นปกครองเมืองแพร่เช่นที่เคยเป็นมาก่อนการปฏิรูประบบการปกครองเทศาภิบาล มีการจัดกำลังเป็นหลายสายออกตามล่าข้าราชการจากส่วนกลางที่เข้ามาปกครองเมืองแพร่

วันที่ 26 กรกฎาคม พวกกองโจรเงี้ยวเริ่มลงมือตามล่าฆ่าข้าราชการจากส่วนกลางและชาวสยามที่มาจากภาคกลางทุกคน ไม่ละเว้นว่าจะเป็นเด็กหรือเป็นผู้หญิง นอกจากนั้นยังประกาศให้รางวัลนำจับ เฉพาะค่าหัวพระยาไชยบูรณ์และพระเสนามาตย์ยกบัตรเมืองแพร่ คนละ 5 ชั่ง หรือ 400 บาท นอกนั้นลดหลั่นลงตามลำดับความสำคัญ แต่อย่างต่ำจะได้ค่าหัวคนละ 40 บาท

โจรเงี้ยวสามารถจับกุมตัวพระยาไชยบูรณ์ได้ในวันที่ 27 กรกฎาคม เนื่องพระยาไชยบูรณ์ซึ่งอดอาหารมา 3 วัน 2 คืน ซ่อนตัวอยู่บนต้นข่อยกลางทุ่งนาใกล้หมู่บ้านร่องอากาศได้ออกจากที่ซ่อนมาขออาหารชาวบ้าน หนานวงศ์ ราษฎรบ้านร่องอากาศนำความไปแจ้งเพื่อเอาเงินรางวัล พะกาหม่องนำกำลังไปล้อมจับและคุมตัวกลับบังคับให้คืนเมืองแพร่ มีการบังคับขู่เข็ญต่างๆ นานา เมื่อมาถึงร่องกวางเคาโจรเงี้ยวจึงลงมือฆ่าพระยาไชยบูรณ์ พร้อมด้วยพระเสนามาตย์ ยกกระบัตรศาล หลวงวิมล ข้าหลวงผู้ช่วย ขุนพิพิธ ข้าหลวงคลัง และนายเฟื่อง ผู้พิพากษา นายแม้น อัยการ นายอำเภอ ปลัดอำเภอ และสมุห์บัญชีอำเภอต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก นับเป็นการเข่นฆ่าข้าราชการไทยครั้งใหญ่ในภาคเหนือ (ปัจจุบันที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์พระยาไชยบูรณ์)

เมื่อรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กรุงเทพฯ รู้ข่าวการลุกขึ้นสู้และก่อการกบฏ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) เร่งนำทัพหลวงจากกรุงเทพฯ สมทบกับกองทัพจากเมือง เมืองพิชัย สวรรคโลก สุโขทัย ตาก น่าน และเชียงใหม่ ให้ทุกเมืองระดมกำลังเข้าโจมตีกองโจรเงี้ยวในเมืองแพร่พร้อมกันทุกด้าน ขณะที่กองโจรเงี้ยวที่ยึดเมืองแพร่ไว้ได้ ก็หาได้มีการตระเตรียมกำลังตั้งรับการปราบปรามของรัฐสยามแต่อย่างใด

เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เคลื่อนทัพมาตั้งค่ายทัพหลวงที่บริเวณ "บ้านเด่นทัพชัย" ปัจจุบันคือบริเวณ "ตำบลเด่นชัย" ใน "อำเภอเด่นชัย" จังหวัดแพร่นั่นเอง ทั้งนี้ในพระบรมราชโองการดังกล่าวให้ดำเนินการสอบสวนสาเหตุการปล้นครั้งนี้ โดยให้ถือว่าเป็น "กบฏ" ด้วย อันเป็นที่มาของการเรียกการลุกขึ้นสู้ของราษฎรหัวเมืองเหนือในพื้นที่จังหวัดแพร่นี้ ว่า "กบฏเงี้ยวเมืองแพร่"

จนกระทั่งวันที่ 1 สิงหาคม เมื่อทราบข่าวเป็นที่แน่ชัดว่ากองทัพรัฐบาลจะมาปราบปรามจึงได้แบ่งกำลังออกเป็น 2 กอง กองหนึ่งนำโดยสะลาโปไชย ยกกำลังไปทางด้านใต้เพื่อขัดตาทัพ รัฐบาลที่ส่งมา อีกกองหนึ่งนำโดยพะกาหม่อง ยกกำลังไปทางด้านตะวันตกเพื่อโจมตีนครลำปางหวังเข้ายึดเอาไว้เพื่อเป็นฐานที่มั่นและขยายกองกำลังอีกแห่งหนึ่ง

เมื่อพวกเงี้ยวไปถึงนครลำปางในวันที่ 3 สิงหาคม โดยที่ข้าหลวงและเจ้าเมืองลำปางรู้ข่าวการก่อการยึดเมืองแพร่ไว้ได้แล้ว จึงระดมกำลังทหารจากทุกฝ่ายตั้งรับไว้อย่างรวดเร็วและมั่นคง เป็นเหตุให้กบฏกองโจรเงี้ยวถูกกองทัพนครลำปางตีโต้จนแตกพ่ายหนีกระจัดกระจายไป

ส่วนที่เมืองเชียงใหม่ก็ได้มีการเตรียมการป้องกันบ้านเมืองเอาไว้อย่างหนาแน่น เจ้าหลวงเชียงใหม่ได้สั่งให้ปิดประตูเมืองทั้งหมด พร้อมกับใช้ท่อนซุงและเสาไม้ขนาดใหญ่ปักลงในหลุมขวางประตูเมืองไว้ แล้วเอาดินถมระหว่างเสาที่ปักจนเต็ม

ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าหลวงอินทวโรรส เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ให้ทำหน้าที่รักษาประตูเมืองได้แก่

  • กองกลางมีพระยาเลขาพิจิตร ผู้ช่วยเจ้าราชสัมพันธวงศ์ (เจ้าธรรมลังกา)
  • กองรักษาประตูท่าแพชั้นนอก มีพระยาแสนหลวงราชนายกเสนี (อิ่นคำ ประทุมทิพย์) บิดาของพระทวีประศาสน์ อดีตประธานสภาจังหวัดเชียงใหม่
  • กองประตูขัวก้อม มีพระยาสามล้าน หรือ พระคุณาการ (เมือง ทิพยมณฑล)
  • กองรักษาประตูหายยา มีเจ้าบุรีรัตน์ (เจ้าน้อยแก้ว)
  • กองรักษาประตูช้างเผือก มีเจ้าอุตรการโกศล (หนานแก้ววงศ์)
  • กองรักษาประตูสวนดอก มีเจ้าทักษินนิเกตน์ (มหายศ)
  • กองรักษาประตูแสนปรุง (สวนปรุง) มีพระยาจ่าบ้านโยนัคราช (ก้อนแก้ว อินทวิวัฒน์)
  • กองรักษาประตูระแกง มีเจ้าราชบุตร (คำตื้อ) บุตรเจ้าอุปราชบุญทวงศ์
  • กองรักษาประตูท่าแพชั้นใน มีเจ้าสุริยวงศ์ (คำตัน สิโรรส).


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 29 ธันวาคม 2555-4 มกราคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (19)

กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ พ.ศ. 2445
การต่อต้านสมบูรณาญาสิทธิราชย์

สภาพสังคมล้านนาในอดีต

ก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงดำเนินการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างเต็มรูปแบบนั้น พระองค์ทรงริเริ่มการจัดการทางด้านการคลังโดยจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ในปี พ.ศ. 2416 เพื่อรวบการเก็บภาษีอาการจากระบบส่วยมาสู่อำนาจส่วนกลางโดยตรง ตามมาด้วยการลิดรอนอำนาจทางทหารของเจ้านาย ขุนนาง และเจ้าประเทศราช ด้วยการ "ยุบเลิกระบบไพร่" เป็นลำดับ จนเกิดระบบการเกณฑ์ทหารสมัยใหม่ที่ขึ้นต่ออำนาจรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยตรง นอกจากนั้นยังทรงเริ่มดำเนินยกเลิกการปกครองส่วนท้องถิ่นในระบบเจ้าเมืองและเจ้าประเทศราชที่สามารถตกทอดตามสายเลือดในระบอบศักดินาเดิม

ใน พ.ศ. 2427 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งตั้งพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นพิชิตปรีชากร ขึ้นไปดำเนินการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองเชียงใหม่ โดยพระเจ้าน้องยาเธอฯแต่งตั้งข้าหลวงปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแนะนำแก่เจ้าเมือง ในขณะเดียวกันตั้งเสนาบดี 6 คนปฏิบัติหน้าที่ทางด้านการปกครองในส่วนต่างๆของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเท่ากับเป็นการจำกัดอำนาจของเจ้าเมืองเชียงใหม่ไปโดยปริยาย จนถึงปี พ.ศ. 2435 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงจัดระบบการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคขึ้นใหม่ เรียกว่า เทศาภิบาล โดยแบ่งการปกครองเป็นมณฑล เมือง และอำเภอ

ทั้งนี้ รูปแบบการปฏิรูปการปกครองประเทศราชและหัวเมืองภาคเหนือในลักษณะดังกล่าว ยังถูกนำไปใช้ในเมืองต่างๆ รวมทั้งเมืองแพร่ในปี พ.ศ. 2439 ด้วย กระทั่งในปี พ.ศ. 2442 อำนาจรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงออกกฎหมายประกาศยุบฐานะหัวเมืองประเทศราชใน 5 เมืองภาคเหนือ คือ เมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน ให้ข้าหลวงเทศาภิบาลจากกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจครอบคลุม ทั้งการบริหาร การแต่งตั้งขุนนางในท้องถิ่นทุกระดับ การศาล และที่สำคัญคือการจัดการด้านการบริหารการเงินการคลัง หรืออำนาจในการบริหารงบประมาณแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนั่นเอง จากการถูกลิดรอนอำนาจดังกล่าว ทำให้เจ้าเมืองทั้งหลายที่ได้รับผลระทบจากการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดินครั้งนี้ สนับสนุนพวกเงี้ยวให้ก่อการกบฏในปี พ.ศ. 2445

เพื่อทำความเข้าใจให้ชัดเจนถึงเหตุการณ์ลุกขึ้นสู้ของชาวนาภาคเหนือตอนบนในครั้งนั้น ก่อนอื่นจำเป็นต้องรู้ว่า "เงี้ยว"  คือใคร?

จาก บทความเรื่อง "เหตุการณ์กบฏเงี้ยว  พ.ศ.2445  จากมุมมองของท้องถิ่น" โดย พระครูปลัดสุวัฒนจริยคุณ (โยธิน ฐานิสฺสโร) หัวหน้าฝ่ายวิชาการ หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ ประธานเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคเหนือ
(http://www.gotoknow.org/posts/493541?) ให้อรรถาธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า "เงี้ยว" คือ "ชาวพม่า" หรือกลุ่มคนที่มาจากฝั่งพม่า ในอดีตชาวพม่ากับชาวล้านนาก็ติดต่อค้าขาย ไปมาหาสู่กัน และบางส่วนก็ได้มาลงหลักปักฐานอยู่ในล้านนา ดังนั้นจึงมีวัด มีชุมชนของชาวพม่าอยู่ทั่วไปในล้านนา ซึ่งชาวล้านนามักเรียกวัดพม่าว่า วัดเงี้ยว มาจนบัดนี้

นอกจากนั้น อาจารย์เกรียงศักดิ์ ชัยดรุณ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ "ครบรอบ 100 ปี เหตุการณ์เงี้ยวก่อการจลาจลในมณฑลพายัพ พ.ศ. 2445" ว่า "เงี้ยว" หมายถึง "กลุ่มไทใหญ่" ซึ่งเป็นกลุ่มชนชาติไตเผ่าหนึ่งที่อาศัยอยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า ซึ่งในรัฐฉานก็มีคนไตอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน และแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 2 พวกด้วยกัน คือ

พวกพื้นราบ คือ พวกไตที่อาศัยอยู่ตามที่ราบภูเขาและหุบเขา ซึ่งจะเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่มีความเจริญทางวัฒนธรรมและลักษณะความเป็นชนชาติ  ได้แก่ พวกไตโหลงหรือไตหลวง  ไตขึนหรือไทเขิน ไตเหนอหรือไทเหนือ ไตลื้อ, ไตยอง, ไตหย่า เป็นต้น

พวกชาวดอย คือ พวกไตที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่สูงบนภูเขา จะมีลักษณะทางสังคมเป็นชนเผ่า  ซึ่งจะเป็นพวกชาวเขามีมากกว่า 30 ชนเผ่า เช่น ไตกะฉิ่น, ไตกะหล่อง, ไตกะเร่ง (กะเหรี่ยง) เป็นต้น

ส่วนคำว่า "ไตโหลง" เป็นภาษาไต เมื่อเขียนเป็นภาษาไทยสยามก็คือ "ไทหลวง" แต่ชาวสยามกลับนิยมเรียกว่า "ไทใหญ่" ซึ่งมีความหมายเดียวกันและใช้เรียกกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว  ดังเคยปรากฏหลักฐานอยู่ในพระราชกำหนดเก่า พ.ศ. 2042 ในกฎหมายตราสามดวง โดยทั่วไปแล้วชาวสยามมักจะเรียกพวกไตที่อยู่ในรัฐฉานทั้งหมดว่าเป็นไทใหญ่ ซึ่งไม่ได้แยกกลุ่มเหมือนปัจจุบัน ส่วนชาวล้านนากลับเรียกพวกไทใหญ่ว่า "เงี้ยว" ซึ่งหมายถึง พวกชาวป่าชาวดอยที่มาจากรัฐฉานฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินในประเทศพม่า มีนิสัยดุร้าย

ตามหลักฐานเก่าพบว่า "เงี้ยว" เป็นคำเก่าโบราณเคยปรากฏอยู่ในวรรณคดีของภาษาตระกูลไท-ลาว เรื่องโองการแช่งน้ำพระพัทธ์ ซึ่งแต่งในสมัยอยุธยาตอนกลางมีความอยู่ตอนหนึ่งว่า
....งูเงี้ยวพิษทั้งหลายลุ่มฟ้า ตายต่ำหน้ายังดิน.....
จากสำนวนดังกล่าวจะเห็นว่า "เงี้ยว" ให้ความหมายเป็นคำเปรียบเปรยในเชิงลบ กระนั้นก็ตามสำหรับชาวไทใหญ่แล้ว ไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็น "เงี้ยว" แต่จะเรียกว่าเป็น "คนไต" ส่วนการที่ชาวล้านนาเรียกว่า "เงี้ยว" นั้น ชาวไทใหญ่ถือว่าเป็นคำเรียกไม่สุภาพและเป็นการดูถูกเหยียดหยามทางชนชาติด้วยซ้ำไป

และสำหรับในการลุกขึ้นสู้ปี พ.ศ. 2445 นั้น เงี้ยวมิได้หมายแต่เพียงชาวไทใหญ่เท่านั้น ทั้งนี้จากรายชื่อเชลยกบฏที่ถูกจับได้ปรากฏว่ามีทั้งชาวไทใหญ่และชาวพม่า เพราะฉะนั้น คำว่าเงี้ยว ในเหตุการณ์ดังกล่าวจึงหมายถึงผู้ที่มาจากฝั่งพม่าทั้งหมดไม่ได้แยกแยะว่าเป็นกลุ่มไหน

มูลเหตุการก่อตัวและพัฒนาการของสถานการณ์ที่นำไปสู่การกบฏนั้น เริ่มขี้นในปี พ.ศ. 2440 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่ สุวรรณบาตร) เป็นข้าหลวงปกครองเมืองแพร่เป็นคนแรก เจ้าเมืองแพร่เดิมคือ พระยาพิริยวิไชย (เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเมืองแพร่ ระหว่างปี พ.ศ. 2432-2445 เป็นโอรสเจ้าหลวงพิมพิสาร หรือ "พิมสาร" กับแม่เจ้าธิดา มีนามเดิมว่า เจ้าน้อยเทพวงศ์ เมื่อได้รับการสถาปนาขึ้นครองเมืองแพร่ พ.ศ. 2432 ในฐานะหัวเมืองประเทศราชของสยาม มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาพิริยวิไชย จนกระทั่งเดือนตุลาคม พ.ศ. 2439 ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น "เจ้าพิริยเทพวงศ์" เจ้าผู้ครองนครแพร่) จึงสูญเสียอำนาจไปเพราะอำนาจสิทธิขาดตกเป็นของข้าหลวงซึ่งเป็นข้าราชการที่ส่งมาจากส่วนกลาง พร้อมกับถูกตัดผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจที่เป็นส่วยสาอากรดั้งเดิมรูปแบบต่างๆ สร้างความไม่พอใจแก่เจ้าเมืองและเจ้านายใหญ่น้อยทั้งหลายรวมไปถึงชาวเมืองแพร่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมืองแพร่นั้น เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองอย่างเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2442 ดังได้กล่าวมาแล้ว พระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิรยศิริ) ดำเนินการปกครองโดยจัดการอย่างรุนแรงและบีบบังคับยิ่งกว่าอดีตเมืองประเทศราชและหัวเมืองแบบจตุสดมภ์อื่น ๆ

ผลก็คือเจ้าพิริยะเทพวงศ์ ลอบสั่งให้ราษฎรจัดหาข้าวสารคนละ 2 ทะนาน ให้แก่พวกเงี้ยว ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณให้เงี้ยวเกิดความรู้สึกเป็นศัตรูกับขุนนางข้าราชการที่ไปจากส่วนกลางเท่านั้น ทั้งนี้การที่เจ้านายฝ่ายเหนือเกือบทั้งหมดและเจ้าเมืองแพร่สนับสนุนกบฎเนื่องจากยังเชื่อกันว่ารัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กรุงเทพ ไม่มีอำนาจบังคับบัญชาทางการเมืองการปกครองอย่างแท้จริง และการก่อการดังกล่าวจะบีบบังคับให้รัฐบาลมอบอำนาจบริหารบ้านเมืองให้ตนตามที่เคยเป็นมาแต่เดิม.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 22-28 ธันวาคม 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (18)

รากฐานความคิดแบบ "จิตนิยม"
ที่มาความพ่ายแพ้ของกบฏชาวนา

ทหารหลวงจากส่วนกลางที่เข้ามาแทนที่ทหารไพร่เดิมในระบอบจตุสดมภ์

การแข็งข้อของไพร่หรือชาวในอดีต จนถึงขั้นก่อการลุกขึ้นสู้ด้วยกำลังอาวุธ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะพบกับความปราชัยถูกปราบปรามอย่างราบคาบมาตลอดประวัติศาสตร์ก่อนการเกิด "อุดมการณ์ประชาธิปไตย" ในขอบเขตทั่วโลกนั้น แนวคิดหลักหรือ "อุดมการณ์" ของผู้นำ ที่ถูกใช้เป็น "ธงนำ" ในการต่อสู้ทั้งหมดใช้ "ไสยศาสตร์" หรือความเชื่ออื่นที่มีลักษณะ "จิตนิยม" ตัวอย่างเช่นการลุกขึ้นสู้ครั้งสำคัญ 3 ครั้งในจีนก่อนการปฏิวัติชิงไห่ (การปฏิวัติประชาธิปไตย) อันได้แก่ กบฏพรรคดอกบัวขาว (แป๊ะเน้ย) ที่ต้องการฟื้นฟูราชวงศ์ต้าหมิงถูกทำลายล้างสิ้นในปี ค.ศ. 1800 กบฏไท้เผ็ง (ไท้เผ็งเทียนกว๋อ) ค.ศ. 1849 (ถูกปราบมีคนตาย 20 ล้าน) จนถึงกบฏนักมวย (สมาคมอี้เหอถวน) ค.ศ. 1898-1900

ในขณะเดียวกันการลุกขึ้นสู้โดยไพร่ติดที่ดินหรือทาสชาวนา (Serf) หรือแม้กระทั่งขุนนางในระบอบศักดินาสวามิภักดิ์ (Feudalism) ในทวีปยุโรปยุคกลาง ก็มีเป้าหมายเพียงการเปลี่ยนผู้ปกครองหรือ "เปลี่ยนราชวงศ์" โดยระบอบการปกครองและระบบรัฐยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

สำหรับขบวนการลุกขึ้นสู้ของชาวนาหรือ "ไพร่" ในยุคก่อนอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่นำเสนอโดย "คณะราษฎร" ใน "การอภิวัฒน์สยาม 2475" ก็ไม่ต่างไปจากการเคลื่อนไหวในประชาชาติอื่นทั้งหลาย นั่นคือ "กบฏผู้มีบุญ" หรือ "กบฏผีบุญ" ล้วนมีความเชื่อว่าอุดมการณ์พระศรีอาริย์เป็นอุดมการณ์ที่มีเป้าหมายสูงสุด สามารถผลักดันสังคมศักดินาที่ยังคงฝังรากลึกมาจนถึงสังคมในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ผู้คนพลเมืองทั่วไปยังคงหนีไม่พ้นความเป็น "ทาส/ไพร่" ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปการจิตสำนึก ไปสู่สังคมมนุษย์ ที่ไม่มีชนชั้น ราษฎรหรือไพร่เดิมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนถึงความเชื่อที่ว่าเป็นสังคมที่มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ปราศจากการขดขี่ขูดรีดที่ดำรงมาตั้งแต่ครั้งปู่ยาตายาย ทำให้อุดมการณ์นี้ถูกนำไปใช้ในขบวนการต่อสู้ของไพร่หรือราษฎรที่เป็นชาวไร่ชาวนา เป็นพลังการผลิตภาคเกษตรกรรมยุคศักดินา ซึ่งปรากฏให้เห็นเป็นประจักษ์มาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์ ทั้งที่เป็นและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

ทั้งนี้การลุกขึ้นสู้ของคนชั้นล่างของสังคมไทยในยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ปรากฏชัดเจนที่สุดคือขบวนการผู้มีบุญ ซึ่งเกิดขึ้นในขอบเขตทั่วประเทศ หากที่เกิดขึ้นหลายครั้งและมีขนาดของการเคลื่อนไหวตลอดจนมีราษฎรเข้าร่วมเป็นจำนวนมากนั้นจะเกิดขึ้นในภาคอีสานโดยปัจจัยหลัก ที่เป็นตัวผลักดันให้ก่อรูปของการเคลื่อนไหวลุกขึ้นสู้กับอำนาจรัฐ เพื่อเรียกร้องความเป็นอิสระและความเป็นธรรมให้กับตนเองและสังคมที่ตนเองอาศัยอยู่ และเนื่องจากสังคมอีสานเองนั้น ก่อนที่จะมีขบวนการผู้มีบุญเกิดขึ้น ก็กำลังเผชิญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสภาพการเมืองและเศรษฐกิจจากภายนอก ซึ่งจะพบว่าเศรษฐกิจหลังสนธิสัญญาบาวริ่ง (พ.ศ.2398) มีผลกระทบต่อชาวนาภาคอื่นค่อนข้างน้อยกว่าภาคอีสาน เพราะนอกจากจะเป็นพื้นที่ในการเพาะปลูกขนาดใหญ่ของประเทศแล้ว ภาคอีสานในยุคนั้นยังมีผลผลิตจากของป่าอันอุดมสมบูรณ์และหลากหลาย ไม่แพ้ภาคอื่นๆ จะมีอุปสรรคก็เพียงการคมนาคมขนส่ง เนื่องจากเพิ่งมีการขยายเส้นทางสร้างสถานีรถไฟถึงแค่นครราชสีมาเท่านั้น

เมื่อพิจารณาถึงวิธีการทำงานขยายมวลชนของกบฏผู้มีบุญ จะเห็นว่าผู้นำการลุกขึ้นสู้อาศัยพื้นฐานความเชื่อของชาวบ้าน ซึ่งมีวิถีชีวิตผูกพันกับธรรมชาติ ตลอดจนคติความเชื่อแบบ "พุทธปนผี" หรือคำสอนทางพุทธศาสนาที่ถูกปลอมปนดัดแปลงให้เข้ากับคติความเชื่อแบบไสยศาสตร์ (แม้จนทุกวันนี้ รูปแบบและเนื้อหาของพุทธศาสนาในประเทศไทย ก็ยังก้าวไปไม่ไกลเท่าใดนักจากระบบคิดทาง "คติชนวิทยา" เช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำคติความเชื่อ ขนบ ธรรมเนียม และประเพณีที่ขัดต่อพุทธธรรม มาใช้ "ชี้นำ" ประชาชนจากระดับท้องถิ่น จนถึงระดับประเทศ) พระและวัดนั้นถือว่ามีอิทธิพลอย่างสูงกับการดำรงชีวิตของชาวบ้าน เช่น หากไม่สบายก็จะมาให้พระที่วัดรดน้ำมนต์ สะเดาะเคราะห์ ผูกด้ายสายสิญจ์ข้อมือ ปัดเป่ารักษาโรคภัยไข้เจ็บโดยใช้ยาสมุนไพรพื้นบ้าน ฯลฯ ทั้งยังมีฆราวาสที่ส่วนใหญ่ผ่านการบวชเรียนมาแล้ว เรียกว่า "หมอธรรม" มาทำพิธีกรรมปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บให้กับชาวบ้านเช่นเดียวกับพระสงฆ์องค์เจ้า หรือแม้แต่ "ชีปะขาว" หรือ "ชีผ้าขาว" ที่นุ่งขาวห่มขาวถือศีลแปดบ้าง ศีลสิบบ้าง สร้างความน่าเชื่อถือในหมู่ราษฎรที่ขาดความรู้ความเข้าใจในการพิจารณาสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริงในทางวิทยาศาสตร์

ทว่าในเรื่องของอุดมการณ์ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายหลักและวิธีคิดที่สำคัญ ซึ่งใช้นำพามวลชนลุกขึ้นสู้นั้น "กบฏผู้มีบุญ" เพียงประกาศแยกการปกครองและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ เป็นอิสระจากระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของรัฐสยามที่กรุงเทพฯ ที่อยู่บนพื้นฐานของรัฐศักดินาเดิม ขบวนผู้นำในท้องถิ่นที่นำโดย "องค์" ในระดับรอง ยังคงขึ้นต่อมีการรวมศูนย์อยู่ที่ "องค์มั่น" หรือหัวหน้าขบวนการอยู่นั่นเอง โดยมีเป้าหมายสูงสุดเป็นนโยบายหลักและนโยบายเฉพาะหน้า เพียง "ปลดแอกจากรัฐสยาม" และสร้างการปกครองตามขนบ "อีสาน"

รูปแบบโครงสร้างการจัดองค์กรของกบฏผู้มีบุญรวมทั้งกบฏชาวนาทุกครั้งในประวัติศาสตร์ มักเป้นการรวมกำลังกันอย่างหลวมๆ มีลักษณะไม่ซับซ้อน ไม่มีการให้สัตยาบันหรือโองการแช่งน้ำใดๆ อำนาจในการบังคับบัญชาก็มีลักษณะความเชื่อถือในตัวบุคคลที่เป็นผู้นำโดย อาศัยศรัทธาต่อความเชื่อในอุดมการณ์พระศรีอาริย์ ผลก็คือรูปแบบกองกำลังมีลักษณะเป็นการส้องสุมผู้คนลุกขึ้นแข็งข้อต่ออำนาจการปกครองมากกว่าที่จะเป็นการยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครอง การขยายฐานมวลชนและการสร้างกองกำลังจะใช้กระบวนการผ่านระบบวงศ์วานว่านเครือเป็นหลัก ส่วนราษฎรผู้ที่เข้าร่วมในขบวนการส่วนใหญ่นั้นเป็นชาวนา ชาวไร่ในพื้นที่ระดับหมูบ้านขึ้นไป และอาจขยายตัวไปสู่ระดับเมืองและหัวเมืองตามภูมิภาคในภาคอีสานนั้นเอง กำลังพลที่รวบรวมกันขึ้นมีปริมาณไม่แน่นอนเพราะขึ้นอยู่กับความสมัครใจของชาวบ้าน และนอกจากนี้ในส่วนคุณภาพ ก็ขาดองค์ความรู้ทางยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี และไม่ได้ผ่านการฝึกฝนให้ใช้อาวุธ หรือมีก็เป็นเพียงส่วนน้อยในหมู่ขุนนางท้องถิ่น อาวุธที่ใช้ก็เป็นแบบหาได้เท่าที่จะมีกันซึ่งส่วนใหญ่มีใช้เป็นเรื่องมือทำการผลิต ส่วนที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นอาวุธแบบ "ทหารหลวง" หรือ "ทหารหัวเมือง" มีน้อยมาก เฉพาะที่ติดตัวมากับขุนนางทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนชั้นล่าง ที่สมัครใจเข้าร่วมกับขบวนลุกขึ้นสู้

เมื่อพิจารณาในแง่การสู้รบกันแล้ว กองกำลังกึ่งทหารของกบฏผู้มีบุญ ถือว่าอยู่ในฐานะเสียเปรียบอย่างมากเมื่อเทียบกับกำลังแบบกองทัพประจำการของฝ่ายรัฐสมบูรณาญาสิทธิราช

สำหรับด้านอุดมการณ์ชี้นำของกบฏผู้มีบุญหลายครั้งที่ใช้ความเชื่อที่เกี่ยวของกับไสยศาสตร์หรือ "พุทธปนผี" ดังที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นภายหลังปราบกบฎผู้มีบุญ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์มีตราประกาศห้ามไม่ให้ราษฎรนับถือผีสางใดๆ ทั้งสิ้น เช่น เข้าทรงลงเจ้า สูนผี มีผีไท้ ผีฟ้า ผีมเหศักดิ์หลักเมืองฯลฯ ต่างๆ หากพบว่ามีการละเมิดประกาศและ/หรือลักลอบทำพิธีในลักษณะดังกล่าว ให้เจ้าหน้าที่หัวเมืองจับผู้ลงผีถือนั้นไปไต่สวนพิจารณา ถ้าได้ความจริงให้ปรับเป็นเงินคนละ 12 บาท พร้อมกับมีรางวัลจากทางการให้แก่ผู้แจ้งจับ ถ้าผู้ต้องคำกล่าวหาไม่มีเงินเสียค่าไถ่โทษ ให้จำคุก 1 เดือน หลังจากมีประกาศออกไปเช่นนี้ บรรดาพวกนับถือผีสางกลุ่มต่างๆ ก็สงบเงียบลงไปบ้าง แต่ถึงอย่างไร ก็ยังมีผู้ที่อ้างตัวเป็นผู้มีบุญและนำอุดมการณ์พระศรีอาริย์มาใช้ในการลุกขึ้นสู้ขึ้นอีกหลายครั้ง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 15-21 ธันวาคม 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน


วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (17)

จุดจบและบทสรุปเบื้องต้น
กบฏผู้มีบุญภาคอีสาน 2444

การประหารชีวิตนักโทษหรือผู้มีความผิดตามคำพิพากษาในอดีตระบอบศักดินาและสมบูรณาญาสิทธิราชย์

หลังจากผู้นำกบฏคนสำคัญหลบหนีไปยังดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ปัจจุบันคือพื้นที่ส่วนใหญ่ของ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ยกเว้นแขวงไชยบุรี) แล้ว ในเวลาเดียวกันนั้น พระเขมรัฐเดชประชารักษ์ ผู้รักษาการเมืองเขมราชซึ่งถูกฝ่ายกบฏจับกุมตัวเอาไว้ ไม่ได้รับอันตรายจากการระดมยิงกระสุนปืนใหญ่จากฝ่ายรัฐบาลแต่อย่างใด หลวงชิตสรการจึงได้นำตัวมาเข้าเฝ้าข้าหลวงต่างพระองค์ฯ รวมทั้งคุมพวกหัวหน้ากบฏระดับรองๆลงมา และบรรดาราษฎรที่เข้าร่วมด้วยจำนวนทั้งสิ้น 400 คนเศษ คุมใส่ขื่อคาจองจำไปยังเมืองอุบลฯ เพื่อฟังรับสั่งจากข้าหลวงต่างพระองค์ ส่วนข้าหลวงต่างพระองค์ก็มีตราสั่งไปทุกหัวเมืองน้อยใหญ่ทั้งปวงว่า "ให้ผู้ว่าราชการเมือง กรมการ เจ้าหน้าที่สืบจับพวกกบฏผีบุญที่กระเซ็นกระสายและหลบหนีคราวต่อสู้กับทหาร อย่าให้มีการหลบหนีไปได้เป็นอันขาด หรือผู้ใดที่สมรู้ร่วมคิดและปกปิดพวกเหล่าร้ายและเอาใจช่วยให้หลบหนีไปได้ จะเอาโทษแก่ผู้ปิดบัง และเจ้าหน้าที่หัวเมืองนั้นๆ อย่างหนัก" ในบรรดาผู้ที่ตั้งตัวเป็นผู้มีบุญองค์สำคัญๆ ที่ถูกจับกุมมาได้คราวนั้นมีอยู่หลายคน เช่น

  1. องค์เหล็ก (นายเข้ม) ถูกจับกุมได้ที่บ้านหนองซำ ท้องที่เมืองเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
  2. พระครูอิน ถูกจับกุมได้ที่ ท้องที่ วัดบ้านหนองอีตุ้ม ตำบลสำราญ อำเภอยโสธร (ปัจจุบันเป็นจังหวัดยโสธร)
  3. ท้าวไชยสุรินทร์ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านโพนเมือง ถูกจับกุมได้ที่ ท้องที่ อำเภอตระการพืช จังหวัดอุบลราชธานี
  4. องค์บุญ ถูกจับกุมได้ที่ ท้องที่เมืองพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
  5. องค์ลิ้นก่าน ถูกจับกุมได้ที่ ท้องที่บ้านพับแล้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
  6. องค์พรหมา ถูกจับกุมได้ที่ ท้องที่บ้านแวงหนองแก้ว ท้องที่ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
  7. องค์เขียว ถูกจับกุมได้ที่ ท้องที่ในเมืองอุบลฯ (ปัจจุบันเป็นจังหวัดอุบลราชธานี)
  8. กำนันสุ่น บ้านส่างมิ่ง ถูกจับกุมได้ที่ ท้องที่ อำเภอเกษมสีมา (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ) กำนันสุ่นนั้น ทางราชการได้สั่งให้เป็นหัวหน้านำกำลังพลไปช่วยปราบกบฏผีบุญ พอไปถึงกลางทุ่งได้พาชาวบ้านโกนคิ้วโกนหัว ไปเข้าเป็นฝ่ายองค์มั่นผู้มีบุญ
  9. หลวงประชุม (บรรดาศักดิ์ประทวน) มีบทบาทเกลี้ยกล่อมผู้คนให้เกลียดชังรัฐบาลสยาม

เชลยกบฏส่วนใหญ่จะถูกจับกุมมาจากบ้านสะพือใหญ่จนล้นคุกตะราง ไม่มีที่คุมขัง จึงถูกจองจำขื่อคาตากแดดกรำฝนไว้ ณ ทุ่งศรีเมืองอยู่ 2-3 วัน เพื่อรอคณะตุลาการสอบสวนตัดสิน บ้างถูกตัดสินให้ปล่อยตัวและภาคทัณฑ์ไปมากเพราะเป็นปลายเหตุ ส่วนหัวหน้าคนสำคัญๆ ถูกคณะตุลาการพิจารณาเป็นสัตย์ฐานกบฏก่อการจลาจลภายใน จึงพร้อมกันพิพากษาเป็นเอกฉันท์ตัดสินให้ประหารชีวิต และข้าหลวงต่างพระองค์ฯได้มีรับสั่งให้นำตัวนักโทษไปประหารชีวิตแล้วเสียบประจานไว้ ณ ที่เกิดเหตุทุกแห่งที่จับมาได้ เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อแผ่นดินสืบไป ส่วนพระครูอินกับพระสงฆ์อีก 3 รูปที่เป็นพวกฝ่ายกบฏผีบุญ ให้อยู่ในสมณเพศ ในเขตจำกัดตลอดชีวิต หากสึกออกมาเมื่อใดให้จำคุกตลอดชีวิต

ก่อนการประหารชีวิตกบฏผีบุญครั้งนั้น เมอสิเออร์ลอร์เรน (ชาวฝรั่งเศสซึ่งทางการสยามจ้างเป็นที่ปรึกษากฎหมายอยู่ที่เมืองอุบลฯ) ได้ทูลถามข้าหลวงต่างพระองค์ฯว่า "พระองค์มีอำนาจอย่างไร ในการรับสั่งให้ประหารชีวิตคนก่อนได้รับพระบรมราชานุญาต" ข้าหลวงต่างพระองค์ฯ รับสั่งตอบว่า "ให้นำความกราบบังคมทูลดู" เมอร์สิเออร์ลอร์เรนเลยเงียบไป

เมื่อปราบกบฏผู้มีบุญเสร็จแล้ว ข้าหลวงต่างพระองค์ฯ ได้ส่งมอบ "มงกุฎ" (หมวกหนีบสักหลาด) ของ "องค์มั่น" หัวหน้าใหญ่ เข้าไปยังเมืองกรุงเทพฯ (ปัจจุบันยังอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ) จากนั้นทรงประทานรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ที่มีความดีความชอบในคราวปราบกบฏผีบุญ ลดหลั่นมาก-น้อยต่างกันไป สูงสุดถึง 100 บาท พร้อมกับเบี้ยเลี้ยงวันละ 25 สตางค์ สำหรับข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนตลอดจนฝ่ายปกครองคณะกรมการเมือง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยิ่งมงกุฎไทย (ชั้นที่ 6 เหรียญทองมงกุฎไทย ร.ท.ม. และชั้นที่ 7 เหรียญเงินมงกุฎไทย ร.ง.ม.) และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก (ชั้นที่ 6 เหรียญทองช้างเผือก ร.ท.ช. และชั้นที่ 7 เหรียญเงินช้างเผือก ร.ง.ช.) เป็นบำเหน็จความดีความชอบตามลำดับ

เมื่อกล่าวถึงบทสรุปกบฏผู้มีบุญอีสาน พ.ศ. 2444-2445 จะเห็นได้ว่าเกิดขึ้นเพราะราษฎรไม่พอใจการเก็บภาษีส่วยจากชายฉกรรจ์คนละ 4 บาท ในช่วงเกิดภัยแล้งติดต่อกัน 2-3 ปี จนเหมือนเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ยากของราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดาร ในขณะที่ขุนนางท้องถิ่นสั่งสมไม่พอใจการปฏิรูปการบริหารราชการที่ดึงอำนาจไปจากพวกเขา พร้อมกับเอาผลประโยชน์ คือ ภาษีที่เคยได้ส่วนแบ่งมากไปสู่ส่วนกลางโดยตรงด้วย นอกจากนั้น การคุกคามจากมหาอำนาจเจ้าลัทธิอาณานิคมฝรั่งเศส เป็นเหตุให้สยามต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายไปทั้งหมด และเสียอธิปไตยบางส่วนในเขต 25 กิโลเมตร ให้แก่ฝรั่งเศส ซ้ำยังมีข่าวลือว่าฝรั่งเข้ามายึดกรุงเทพฯเอาไว้ได้แล้ว

จากเงื่อนไขดังกล่าวประกอบกับ ฝ่ายกบฏใช้วิธีการต่างๆขยายความเชื่อ เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมกระบวนการ ทั้งใช้หมอลำ การบอกเล่าปากต่อปาก และที่สำคัญ โดยการใช้ "จดหมายลูกโซ่" คัดลอก "คำพยากรณ์" ต่อๆ กันไป ทำให้กบฏขยายตัวอย่างกว้างขวาง มีผู้ตั้งตัวเป็น "ผู้มีบุญ" ถึง 60 คน กระจายอยู่ถึง 13 จังหวัด คือ อุบลราชธานี 14 คน ศรีสะเกษ 12 คน มหาสารคาม 10 คน นครราชสีมา 5 คน กาฬสินธุ์ สุรินทร์ จังหวัดละ 4 คน ร้อยเอ็ด สกลนคร จังหวัดละ 3 คน ขอนแก่น นครพนม อุดรธานี ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ จังหวัดละ 1 คน แต่เนื่องจากความได้เปรียบของฝ่ายรัฐบาลทั้งการจัดและใช้กองกำลังร่วมกับอาวุธที่ทันสมัยกว่า จึงสามารถปราบปรามลงอย่างรวดเร็ว ภายใน 2 เดือน โดยฝ่ายรัฐบาลสูญเสียกำลังเพียงเล็กน้อย

หลังกบฏครั้งนั้นรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กรุงเทพฯ หันมาให้ความสนใจในการควบคุมราษฎรภาคอีสานมากขึ้น เริ่มจากการปฏิรูปการศึกษาให้มีลักษณะหลักสูตรเดียวกันทั้งประเทศ ลบเลือนประวัติศาสตร์และคติชนวิทยา ขนบความเชื่อต่างๆเป็นอันมาก ในด้านการผลิตหลังจากรัฐบาลส่วนกลางยกเลิกระบบ "ทาส/ไพร่" เป็นผลสำเร็จอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การปลดปล่อยพลังการผลิตอย่างมหาศาลจากระบอบ "จตุสดมภ์/ศักดินา" เดิม ส่งผลให้ราษฎรในภาคเกษตรกรรมสามารถครอบครองปัจจัยการผลิตและเป็นเจ้าของผลิตผลจากการผลิตเป็นครั้งแรก

สำหรับในด้านการควบคุมดูแลความสงบภายในราชอาณาจักร หลังจากอำนาจรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้สถาปนากรมตำรวจภูธรขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2440 แล้ว ในปี พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมาเพื่อผลิตนายตำรวจให้ทำหน้าที่ผู้บังคับหมวดรับราชการในกรมตำรวจภูธร และต่อมาในปี ร.ศ.121 (พ.ศ. 2445) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงกรมหลวงดำรงราชานุภาพ มีพระบรมราชานุญาตโปรดเกล้าฯให้ย้ายที่ตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจจากมณฑลนครราชสีมา ไปตั้งอยู่ที่ ตำบลห้วยจระเข้ จังหวัดนครปฐม ตามการกราบบังคมทูลขอของกรมหลวงดำรงราชานุภาพ.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 8-14 ธันวาคม 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (16)

กบฏผู้มีบุญภาคอีสาน
ก่อหวอดและพ่ายแพ้

ไพร่พล "กบฏผู้มีบุญ" ที่ถูกกองกำลังทางการจับเป็นเชลย

ปลายปีชวด ร.ศ. 119  (พ.ศ. 2443) มีลายแทงหนังสือจานใบลานมีลักษณะให้ผู้คนเข้าใจไปว่าเป็นคำพยากรณ์ถึงเหตุการณ์บ้านเมือง ว่าในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.  2443 (สมัยนั้นเปลี่ยนศักราชวันที่ 1 เมษายน) ฟ้าดินจะวิปริต ท้องฟ้าจะตกอยู่ในความมืดถึง 7 วัน 7 คืน เกิดลมพายุจัดจนพัดคนปลิวไปกับสายลม ให้นำลิ้นฟ้า (ไม้เพกา) มาไว้สำหรับจุดไฟอาศัยแสงสว่างในเวลามืด และให้ปลูกตะไคร้ที่กระได (บันไดบ้าน) เวลาพายุมาให้เหนี่ยวตะไคร้ไว้ จะได้ไม่ปลิวไปตามลม เงินต่างๆ ที่มีก็จะกลายเป็นเหล็ก และกลางเดือนหกปีฉลู ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444) จะเกิดอาเพศครั้งใหญ่ หินแฮ่ (หินลูกรัง) จะกลายเป็นทอง

หนังสือใบลานพยากรณ์บ่งชี้ในรายละเอียดว่า ผู้ที่ต้องการพ้นเหตุเภทภัยก็ให้บอกหรือคัดลายแทงให้รู้กันต่อๆ ไป ผลก็คือคำพยากรณ์นี้แพร่กระจายไปทั่วภาคอิสาน เป็นเหตุให้ชาวบ้านจำนวนหนึ่งเสาะหาและเก็บหินแฮ่มาบูชา โดยใส่หม้อ ใส่ไหปิดฝาไว้ แล้วเอามาตั้งทำพิธีสู่ขวัญบายศรี นอกจากนั้น นอกจากนั้นยังระบุอีกว่า ผู้ใดเป็นคนบริสุทธิ์ไม่ได้กระทำซึ่งบาปกรรมใดๆ แล้ว (หรือใครก็ตามที่อยากรวย) ให้เอาหินแฮ่เก็บมารวมกันไว้ รอท้าวธรรมิกราชจะมาชุบเป็นเงินเป็นทอง ส่วนคนที่ต้องการลบล้างกรรมชั่วที่เคยก่อไว้ ก็ต้องทำพิธีตัดกรรมวางเวรโดยนิมนต์พระสงฆ์มารดน้ำมนต์ให้ ถ้ากลัวตายก็ให้ฆ่าควายทุยเผือกและหมูเสียก่อนกลางเดือนหก เพราะจะกลายเป็นยักษ์ขึ้นมาจับกินคน ส่วนผู้หญิงที่เป็นสาวหรือไม่สาวแต่ยังโสดก็ให้รีบมีสามี มิฉะนั้นยักษ์จะจับกินหมด และรากไม้ที่อยู่ตามฝั่งน้ำ ซึ่งเป็นฝอยเล็กละเอียด รวมถึงฟักเขียว ดอกจาน (ทองกวาง) ของสามอย่างนี้จะกลายเป็นของมีประโยชน์ คือรากไม้จะกลายเป็นไหม ฟักเขียวจะกลายเป็นช้าง ดอกจานจะกลายเป็นครั่งสำหรับใช้ย้อมไหม

ราษฎรที่ได้รับข่าวจากปากต่อปากพากันหวาดหวั่นเล่าลือกันแพร่หลายไปทั่วหัวเมืองมลฑลอิสาน ในขณะที่ขุนนางฝ่ายปกครองหัวเมืองต่างๆเองกลับเห็นว่าเป็นคำของคนโง่เขลาเล่าลือกันไปสักพักหนึ่งก็คงจะเงียบหายไปเอง จึงไม่ได้ใส่ใจอะไรมากมายนัก

การก่อหวอดกบฏผู้มีบุญหรือกบฏผีบุญเริ่มเมื่อนายมั่น ราษฎรซึ่งภูมิลำเนาอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เมืองสุวรรณเขต (ปัจจุบันอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) บริวารขององค์แก้วหรือบักมี ซึ่งเป็นเจ้าผู้มีบุญที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในเขตลาวฝั่งซ้าย เล่าลือกันว่าเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ ถึงขนาดมีนิ้วอาญาสิทธิ์ อ้างตัวว่าจุติมาจากสวรรค์เพื่อลงมาโปรดมวลมนุษย์ ตั้งตนขึ้นเป็นเจ้าปราสาททองหรือพญาธรรมิกราช และมีบริวารในระดับรองลงมาอีกหลายคน เช่น องค์เขียว องค์ลิ้นก่าน องค์ที องค์พระบาท องค์พระเมตไตรย และองค์เหลือง องค์บริวารเหล่านี้แต่งตัวนุ่งผ้าจีบสีต่างๆกัน คือ สีแดง สีเขียวเข้ม และสีเหลืองกรักอย่างจีวรของพระ สวมใบลานมงคลจารด้วยคาถาอาคมไว้ที่ศีรษะทุกคน องค์มั่นได้พาพวกองค์บริวารเดินทางไปในท้องที่ต่างๆ ปลุกระดมชักชวนราษฎรให้เข้าร่วมด้วย โดยเริ่มจากร่วมมือกับองค์ฟ้าลั่นหรือหลวงวิชา (บรรดาศักดิ์ประทวน) แพทย์ประจำตำบลซึ่งเป็นหมอพื้นเมืองของเมืองตระการพืชผล (ปัจจุบันเป็นอำเภอในจังหวัดอุบลราชธานี) โดยองค์มั่นตั้งให้เป็นหัวหน้ายามรักษาการณ์และคอยเสกคาถาอาคมให้กับราษฎรชาวบ้าน เมื่อได้จำนวนพอสมควรแล้ว จึงไปตั้งมั่นซ่องสุมผู้คนเมืองโขงเจียมและบ้านนาโพธิ์ ตำบลหนามแท่น พร้อมกับโฆษณาชวนเชื่อว่า "จะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นดังคำพยากรณ์ให้พากันระวังตัว" ฝ่ายราษฎรเห็นคนถือศีลแปลกหน้ามาก็สำคัญว่าเป็นผู้มีบุญ พากันเข้าไปขอให้ช่วยป้องกันภัยพิบัติ และเข้าร่วมด้วยประมาณ 200 คนเศษ จากนั้นก็เคลื่อนพลไปตั้งหลักที่เมืองเขมราช

ฝ่ายพระเขมรัฐเดชประชารักษ์ ผู้รักษาเมืองเขมราช และท้าวกุลบุตร ผู้ช่วย ร่วมกับท้าวโพธิสาร กรมการเมือง แต่งทหารออกต่อต้านไม่ให้ราษฎรนับถือเข้าเป็นพรรคพวกองค์มั่นด้วย เลยเกิดการปะทะกันขึ้น ท้าวกุลบุตรกับท้าวโพธิ์สารเสียชีวิตในที่รบ ส่วนพระเขมรัฐเดชประชารักษ์ ฝ่ายพวกผู้มีบุญมิได้ทำร้าย เพียงแต่จับขึ้นแคร่หามเป็นตัวประกัน แห่ไปให้เกลี้ยกล่อมราษฎรให้มาเข้าเป็นพวก และได้ไปตั้งมั่นที่บ้านสะพือใหญ่ มีชาวบ้านนับถือและเข้าร่วมประมาณ 1,000 คน องค์มั่นผู้มีบุญก็สั่งให้ช่วยกันเกณฑ์ปืนแก๊ป ปืนคาบศิลา มีดพร้า ตลอดจนเสบียงอาหาร ข้าว เกลือ พริกต่างๆ เท่ามี และให้ตากข้าวเหนียวสุกยัดใส่ถุงผูกรอบเอว เตรียมจะไปตีเอาเมืองอุบลราชธานี เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ฯ ทราบข่าวองค์มั่นผู้มีบุญตั้งพิธีการอยู่บ้านสะพือใหญ่ สั่งการให้นายร้อยเอกหม่อมราชวงศ์ร่าย (ทหารกองหนุนเข้าถวายตัวรับราชการฝ่ายพลเมืองอยู่กับข้าหลวงต่างพระองค์ฯที่เมืองอุบล) ไปดูลาดเลา พอไปถึง เกิดการปะทะกับพวกผู้มีบุญในพื้นที่บ้านนาสมัย อยู่ระหว่างบ้านนาหลักกับบ้านห้วย ทางแยกไปอำเภอพนานิคม

ฝ่ายหม่อมราชวงศ์ร่ายมีกำลังน้อยกว่าสู้ไม่ได้ ถอยกลับไปเมืองอุบลฯ กราบทูลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ฯ ถึงพฤติกรรมของขบวนผู้มีบุญ ว่าเป็น "กบฏต่อแผ่นดิน" ข้าหลวงต่างพระองค์ฯ มีคำสั่งให้นายพันตรีหลวงสรกิจพิศาล ผู้บังคับการกองพันทหารราบเมืองอุบลฯ จัดทหารออกไปสืบข้อเท็จจริงอีกครั้ง ถ้ามีผู้ใดคิดการร้ายต่อแผ่นดินก็ให้ปราบและจับตัวมาสอบสวนลงโทษให้ได้ นายพันตรีหลวงสรกิจพิศาลจึงมีคำสั่งให้นายร้อยตรีหรี่กับพลทหาร 12 คนพร้อมอาวุธปืนยาวครบมือ ออกไปสืบดูเหตุการณ์ เมื่อไปถึงบ้านขุหลุ ก็พบพวกกบฏผู้มีบุญ และเห็นว่ามีกำลังสู้กบฏผู้มีบุญไม่ได้ เตรียมไปหากำลังหนุนจากบ้านเกษม หากเกิดการต่อสู้ตะลุมบอนกันขึ้นที่บริเวณ "หนองขุหลุ" ประสบความพ่ายแพ้ยับเยิน เหลือเพียงพลทหารรอดกลับมาเพียงคนเดียว

เมื่อราษฎรรู้ข่าวว่ากบฏผู้มีบุญสามารถรบพุ่งเอาชนะทหารหลวงในการปะทะได้ ก็ได้มีชักชวนกันมาสมัครเข้าเป็นพรรคพวกเพิ่มขึ้นอีกราว 1,500 คน ข้าหลวงต่างพระองค์ฯ เมื่อทราบความจึงทรงสั่งการให้หลวงสรกิจพิศาลมีคำสั่งไปถึงนายร้อยเอกชิตสรการผู้บังคับการกองทหารปืนใหญ่ให้นำนายสิบพลทหารประมาณ 100 คนเศษ มีปืนใหญ่ 2 กระบอก และปืนยาวเล็กครบมือ ออกไปปราบพวกกบฏผู้มีบุญให้จงได้ และได้ทรงสั่งให้พระอุบลการประชานิตย์ ข้าหลวงบริเวณเมืองอุบลฯ กับพระอุบลศักดิ์ประชาบาล (ผู้รักษาการเมืองอุบลฯ ) เกณฑ์กำลังชาวบ้านสมทบกับทหาร และสั่งให้เคลื่อนขบวนกำลังออกไปปราบเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2443 และพอวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2443 ก็ได้พักพลอยู่ห่างจากหมู่บ้านและค่ายของกบฏผู้มีบุญราว 50 เส้น (1 กิโลเมตร)

รุ่งเช้าวันที่ 4 เมษายน เวลาประมาณ 09.00 น. พวกกบฏผู้มีบุญเคลื่อนพลมุ่งหน้าเข้าตีเมืองอุบลฯ ผ่านเส้นทางที่ร้อยเอกหลวงชิตสรการซุ่มกำลังไว้ ซึ่งสั่งให้ทหารปืนเล็กยาวขยายแนวยิงปืนแล้วแสร้งถอยล่อให้พวกกบฏผู้มีบุญไล่ตามมาพื้นที่สังหาร พอเข้าระยะวิถีกระสุนปืนใหญ่ ก็สั่งให้ยิงออกไปนัดหนึ่ง โดยตั้งศูนย์ให้ข้ามหัวพวกกบฏผู้มีบุญไปก่อนเพื่อเป็นสัญญาณให้ปีกซ้ายปีกขวารู้ตัว ฝ่ายกบฏผู้มีบุญเห็นกระสุนปืนใหญ่ไม่ถูกพวกตนก็โห่ร้อง ซ่า ซ่า และวิ่งกรูเข้าต่อสู้กับฝ่ายทหาร หลวงชิตสรการจึงสั่งให้ยิงออกไปอีกเป็นนัดที่ 2 เล็งกระสุนปืนใหญ่กะให้ตกระหว่างกลางพวกกบฏผู้มีบุญ คราวนี้กระสุนปืนใหญ่ระเบิดลงถูกฝ่ายกบฏผู้มีบุญบาดเจ็บล้มตายเกลื่อน พร้อมกันนั้น ทหารราบปีกซ้ายปีกขาว ก็ระดมยิงอาวุธประจำกายซ้ำเติมเข้าไปอีก

ฝ่ายกบฏผู้มีบุญที่ตามมาเห็นดังนั้นก็ชะงัก และปืนใหญ่ก็ยิงซ้ำเข้าไปอีก ถูกพวกกบฏผู้มีบุญล้มตายประมาณ 300 คนเศษ ที่เหลือก็แตกฮือหลบหนีเอาตัวรอด ส่วนองค์มั่นนั้นรอดชีวิตและปลอมตัวเป็นชาวบ้านหลบหนีไป ฝ่ายปราบปรามยกกำลังล่าจับกุมแต่ไม่ทัน ในเวลาต่อมาจึงได้ข่าวว่าหลบหนีข้ามฟากไปยังดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 1-7 ธันวาคม 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8