Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (25)

"ขบถเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง"
ว่าด้วยบันทึกของฝ่ายสยาม

ขบวนแห่กองเกียรติยศของ ราชีนีฮิเยา ผู้ครองนครปะตานี ในจดหมายเหตุ Acher theil der Orientalische Indien

จากรายงานของคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาศึกษาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ. 2542) ซึ่งระบุว่า นับแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงประมาณปี พ.ศ. 2445 เกิดการลุกขึ้นสู้เพื่อให้ปัตตานีเป็นอิสระจากการปกครองของสยามถึง 6 ครั้ง คือ กรณี ตนกูลัมมิเด็น (พ.ศ. 2329), ระตูปะกาลัน (พ.ศ. 2349), นายเซะ และเจะบุ (พ.ศ. 2364 และ 2369), เจ้าเมืองหนองจิก (พ.ศ. 2370), เจ้าเมืองปัตตานี (ตนกูสุหลง) (พ.ศ. 2374) และ ตนกูอับดุลกาเดร์ (พระยาวิชิตภักดีฯ) (พ.ศ. 2454) หรือ "กรณีพระยาแขกเจ็ดหัวเมืองคบคิดกบฎ ร.ศ.121" และกลายเป็นเป็นจุดจบแห่งยุคสมัยรายาปัตตานี (เจ้าผู้ครองนครปัตตานี) เพราะไม่ปรากฏว่ามีการแต่งตั้งเชื้อสายเจ้าเมืองปัตตานีขึ้นครองเมืองอีกต่อไป

หลังจากรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กรุงเทพฯ ออกกฎข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณเจ็ดหัวเมือง ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.116 แล้ว ก็เริ่มต้นการปฏิบัติการตามกฎข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณเจ็ดหัวเมืองนี้ทันทีที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา โดยกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นเจ้าของเรื่อง แต่งตั้งพระยาศักดิ์เสนี (หนา บุนนาค) ข้าหลวงเมืองลำปาง ให้เป็นข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณเจ็ดหัวเมือง เชิญสารตราแจ้งความเรื่องกฎข้อบังคับไปแจ้งพระยาแขกรับไปปฏิบัติ แต่พระยาศักดิ์เสนีได้เผชิญกับการคัดค้านโดยตรง นับแต่แรกเริ่มที่เดินทางไปถึงเมืองตานี เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2444 เพราะเมื่ออ่านสารตราให้พระยาตานี (พระยาวิชิตภักดี อับดุลกาเดร์) ฟัง พระยาตานีก็แสดงตนว่าไม่เห็นชอบด้วยกับกฎข้องบังคับ ถึงกับเดินทางไปสิงคโปร์เพื่อ ขอร้องให้เซอร์ แฟรงค์ สเวทเทนนั่ม ข้าหลวงใหญ่อังกฤษที่เมืองสิงคโปร์ช่วยเหลือการแข็งข้อต่อราชสำนักที่กรุงเทพฯ ยิ่งไปกว่านั้น เสนอให้อังกฤษยึดเอาเมืองปัตตานีเป็นเมืองขึ้น ดังได้กล่าวมาแล้ว

เหตุผลที่ ตนกู อับดุลกาเดร์ ขัดขืนพระบรมราชโองการในครั้งนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสรุปว่า "ใน พ.ศ.2444 นั้น ประจวบเวลาพวกอังกฤษที่เมืองสิงคโปร์ คิดอยากรุกแดนไทยทางแหลมมลายู แต่รัฐบาลที่เมืองลอนดอนไม่อนุมัติ พวกเมืองสิงคโปร์จึงคิดอุบายหาเหตุเพื่อให้รัฐบาลที่ลอนดอนต้องยอมตามในอุบายของพวกสิงคโปร์ในครั้งนั้น อย่างหนึ่ง แต่งสายให้ไปยุยงพวกมลายูเจ้าเมืองมณฑลปัตตานีให้เอาใจออกห่างจากไทย พระยาตานี (อับดุลกาเดร์) หลงเชื่อ จึงทำการขัดแย้งขึ้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงดำรัสสั่งให้จับและถอดพระยาตานี แล้วเอาตัวขึ้นไปคุมไว้ ที่เมืองพิษณุโลก การหยุกหยิกในมณฑลปัตตานีก็สงบไป" (ดู สาส์นสมเด็จ ซึ่งเป็นลายพระหัตถ์โต้ตอบ ระหว่าง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์คลังวิทยา ภาค 3 หน้า 63)

เมื่อพระยาวิชิตภักดี อับดุลกาเดร์ ไม่ยอมให้พนักงานสรรพากรเข้าปฏิบัติการในเมืองตานี พระยาศักดิ์เสนีปล่อยเมืองตานีไว้ก่อน แล้วเดินทางต่อไปถึงเมืองระแงะ เพื่อพยายามปฏิบัติการตามกฎข้อบังคับ ในเดือนมกราคม พ.ศ.2445 แต่แล้วก็ประสบกับปัญหาอีก เมื่อพระยาระแงะหาทางหลบเลี่ยง ไม่ยอมรับสารตราที่พระยาศักดิ์เสนีเชิญไป จากนั้นพระยาศักดิ์เสนีเดินทางไปถึงเมืองสายบุรีเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2445 พระยาสายบุรีได้ฟังสารตราแจ้งความเรื่องกฎข้อบังคับแล้ว ก็ตั้งเงื่อนไขว่าจะไม่ยอมรับคนไทย (สยาม) จากภาคกลางเป็นปลัดยกกระบัตรหรือนายอำเภอ โดยอ้างว่ากฎข้อบังคับมิได้ระบุว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้จำต้องเป็นคนไทย พฤติการณ์เหล่านี้ของพระยาแขก ทำให้พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ขุนนางที่มีอาวุโสและอำนาจบังคับบัญชาระดับสูงซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวแทนอำนาจการปกครองจากกรุงเทพฯ ในภูมิภาคนั้น ลงความเห็นว่าพระยาแขกทั้งหลายคงได้คบคิดต่อต้านอำนาจรัฐกรุงเทพฯ กันไว้แล้ว

ต่อมาอีกไม่นาน รัฐบาลได้ใช้มาตรการที่เข้มแข็งเฉียบขาด เพื่อระงับมิให้เหตุการณ์นี้ลุกลามขึ้นเป็นกบฏได้ ทันทีที่ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ทรงได้รับโทรเลขรายงานเหตุการณ์ที่เมืองระแงะและเมืองสายบุรี ทรงมีโทรเลขสนับสนุนให้พระยาศักดิ์เสนี เริ่มต้นปฏิบัติการตามกฎข้อบังคับ สำหรับบริเวณเจ็ดหัวเมืองในเมืองระแงะได้ โดยไม่ต้องห่วงใยพระยาระแงะนัก เพราะ "พระยาเมืองเป็นคนไม่มีกำลังและความสามารถ ถึงอย่างไรก็พอจะจัดการหักหาญให้สำเร็จตลอดไปได้"

และทรงมีโทรเลขอีกฉบับหนึ่งชี้แจงว่า พระยาศักดิ์เสนีเป็นผู้แทนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉะนั้นจึงมีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่สำหรับเมืองสายบุรีได้ สุดแล้วแต่ความเหมาะสม เมื่อพระยาศักดิ์เสนีได้รับโทรเลขสองฉบับแล้ว จึงตัดสินใจแต่งตั้งขุนนางแขกผู้หนึ่งขึ้นเป็นผู้รักษาการ แทนพระยาเมืองระแงะ และเริ่มบรรจุข้าราชการเข้าปฏิบัติการตามกฎข้อบังคับในเมืองระแงะด้วย ในระยะเวลาต่อมา พระยาศักดิ์เสนีได้บรรจุข้าราชการเข้าปฏิบัติการในเมืองสายบุรีโดยมิได้รับการตกลงล่วงหน้าจากพระยาเมืองสายบุรี

ในขณะเดียวกัน กรมหลวงดำรงราชานุภาพ มิได้ทรงประมาท ทรงส่งพระศรีสิงหเทพ (เสง วิริยศิริ ต่อมาได้เป็นพระยามหาอำมาตยาธิบดี) ข้าราชการชั้นอาวุโสของกระทรวงมหาดไทยที่กรุงเทพฯ ลงไปช่วยพระยาศักดิ์เสนีอีกคนหนึ่ง พระยาศรีสิงหเทพเดินทางโดยเรือรบหลวง พร้อมด้วยกองกำลังตำรวจภูธรจำนวนหนึ่ง ถึงเมืองตานีเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2445 และในวันเดียวกันนั้นเอง ได้ยกพลขึ้นเป็นผู้รั้งเมืองแทน แล้วส่งพระยาตานีไปยังเมืองสงขลา เมื่อพระยาตานี ถูกกักตัว ไว้ที่สงขลา เรียบร้อยแล้ว พระยาสุขุมนัยวินิตได้เดินทางไปช่วยพระยาศักดิ์เสนีแทนพระยาศรีสิงหเทพ และเมื่อทั้งสองได้จัดราชการที่เมืองตานีแล้ว จึงเดินทางต่อไปยังเมืองระแงะเพื่อ "ช่วยกันว่ากล่าวให้พระยาระแงะทำหนังสือสมัครเข้ามาศึกษาราชการในสงขลา" ซึ่งพระยาระแงะก็จำต้องปฏิบัติตาม

การปฏิบัติการอย่างเด็ดขาดเข้มงวดของขุนนางข้าราชการทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายทหารจากส่วนกลางและทหารท้องถิ่นจากภาคใต้ตอนบนในบริเวณเจ็ดหัวเมืองครั้งนี้ เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อย่างน้อยก็ในระยะสั้น ที่สำคัญคือเป็นการบีบบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้พระยาแขกแต่ละคนตระหนักในอำนาจของขุนนางที่เป็นผู้แทนของรัฐบาลในท้องถิ่น โดยเป็นจุดเริ่มต้นให้ยอมรับและปฏิบัติตามกฎข้อบังคับสำหรับบริเวณเจ็ดหัวเมือง ในเมืองปัตตานี พระยาสุขุมนัยวินิตและพระยาศักดิ์เสนีสามารถเริ่มควบคุมให้พนักงานสรรพกรเข้าจัดการเก็บภาษีอากรได้ หลังจากที่พระยาตานีถูกส่งตัวไปยังเมืองสงขลาแล้ว และเริ่มโยกย้ายกรมการเมืองเก่าๆ ออกไปจากเมือง แล้วแต่งตั้งนายอำเภอเมืองขึ้นใหม่

หลังจากนั้นพระยาสุขุมนัยวินิตและพระยาศักดิ์เสนีจึงเดินทางไปดำเนินการต่อเนื่องในลักษณะเดียวกัน ที่เมืองยะหริ่ง ยะลา รามันห์ และระแงะ ตามลำดับ ฝ่ายพระยาแขกเองก็พยายามแสดงให้เจ้าหน้าที่เห็นว่าตนพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาล ดังเช่น พระยายะหริ่งและพระยายะลา ได้ส่งบุตรชายไปให้พระยาสุขุมนัยวินิตฝึกงาน เป็นต้น ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ "พระยาแขกเจ็ดหัวเมืองคบคิดขบถ" ยุติลงในช่วงกลางเดือนมีนาคมและกลางเดือนเมษายน พ.ศ.2445 นั้นเอง

แต่สิ่งที่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์พิจารณา "ลงทัณฑ์" แก่พระยาตานี หาใช่เพียงกักบริเวณไว้ที่สงขลาเท่านั้น แต่ได้ประกาศถอดยศพระยาตานีและเนรเทศไปไกลถึงเมืองพิษณุโลก.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 2-8 กุมภาพันธ์ 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8