การสิ้นสุดอำนาจหัวเมืองประเทศราช
ชัยชนะของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
นักโทษเงี้ยวทั้ง 16
คนที่ถูกจับกุมได้ในการจลาจลในเมืองแพร่และลำปางได้ถูกส่งตัวมาจำคุกที่กรุงเทพฯ
เมื่อเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) พิจารณาความหนักเบาของภาระหน้าที่ที่ต้องเผชิญ ประกอบกับแนวทางการจัดการปัญหาดังกล่าวจากส่วนกลางที่ต้องการวางรากฐานการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยให้การปกครองหัวเมืองสามารถดำเนินการในรูปแบบ "เทศาภิบาล" การจะดำเนินคดีเป็นเด็ดขาดด้วยการสั่งประหารชีวิต "ผู้นำ" หรือผู้อยู่เบื้องหลังการปลุกระดมและสนับสนุนการก่อการลุกขึ้นสู้ด้วยกำลังอาวุธ (หรือที่ในปัจจุบันใช้คำว่า "แกนนำ") ก็เกรงว่าจะกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์กับอดีตเจ้านาย/เจ้าผู้ครองนครหัวเมืองทางเหนือ ซึ่งถือเป็นเครือญาติผู้สืบสายราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนดังได้กล่าวมาแล้ว
ดังนั้นเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงใช้วิเทโศบายด้วยการปล่อยข่าวลือว่าจะจับกุมตัวผู้อยู่ในข่ายต้องสงสัยระดับหัวหน้าเพื่อดำเนินคดีในฐานผู้ยุยงและสนับสนุนโจรเงี้ยวก่อการกบฏ เมื่อความรู้ไปถึงเจ้าพิริยเทพวงศ์ (พระยาพิริยวิไชย) พร้อมด้วยคนสนิทอีกสองคน จึงลอบหลบหนีออกจากเมืองแพร่และพื้นที่ควบคุมของกองทัพปราบกบฏ (มีหลักฐานบางแห่งอ้างว่าเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี มีคำสั่งคำสั่งลับมิให้กองทหารที่ตั้งสกัดอยู่รอบเมืองแพร่ขัดขวาง ทำให้การหลบหนีของเจ้าเมืองแพร่เป็นไปอย่างสะดวก)
หลังจากพระยาพิริยวิไชยหลบหนีไปได้ 15 วัน เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงออกคำสั่งถอดเจ้าเมืองแพร่ออกจากตำแหน่งทันที ด้วยถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการ พร้อมกับสั่งอายัดทรัพย์เพื่อชดใช้หนี้หลวง ที่เจ้าเมืองแพร่ค้างกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ จากการเก็บภาษีอากรในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยตรงไปยังกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ หลังจาก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย มาเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (พ.ศ. 2439-2449) มีพระประสงค์จะปรับปรุงแก้ไขวิธีการเก็บภาษีอากร และได้กราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสนอวิธีการปรับปรุงการเก็บภาษีอากรใหม่ยกเลิกการประมูลผูกขาดเก็บภาษีอากรเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลดำเนินการจัดเก็บเอง ครั้นเมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ก็เตรียมการในเรื่องนี้ต่อไป โดยในขณะนั้น ทางรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เพิ่งเริ่มก่อรูปและเสริมสร้างความแข็งแกร่งในทุกๆด้าน โดยในด้านการเงินการคลังได้มีการจ้าง มิสเตอร์ เอฟ.เอช. ไยลส์ และ มิสเตอร์ ดับเบิลยู เอ. เกรแฮม ชาวอังกฤษจากอินเดีย เตรียมวิธีการปรับปรุงให้เจ้าพนักงานของรัฐบาลเป็นผู้จัดเก็บภาษีอากรเอง เมื่อปี พ.ศ. 2440
สำหรับคดีความผิดฐานร่วมก่อการกบฎก็เป็นอันต้องระงับโดยปริยาย ไม่มีการรื้อฟื้นขึ้นอีก เจ้าพิริยเทพวงศ์เจ้าเมืองแพร่องค์สุดท้ายต้องลี้ภัยไปใช้ชีวิตในบั้นปลายที่เมืองหลวงพระบาง จนถึงแก่พิราลัย
เมื่อทุกอย่างอยู่ในการควบคุมของรัฐสยาม พระยาสุรศักดิ์มนตรีในฐานะแม่ทัพผู้มีอำนาจเต็มก็ได้จับกุมผู้กระทำผิดหรือผู้ต้องสงสัยทำการสอบสวนอย่างเข้มงวด โดยใช้ศาลทหารเป็นผู้พิจารณาคดี และพิจารณาลงโทษอย่างเฉียบขาด มี "เชลยกบฏ" ส่วนหนึ่งถูกส่งตัวมาพิจารณาโทษถึงขั้นจำคุกถึงกรุงเทพฯ (นักโทษเงี้ยวทั้ง 16 คนที่ถูกจับกุมได้ในการจลาจลในเมืองแพร่และลำปางได้ถูกส่งตัวมาจำคุกที่กรุงเทพฯ โดยแยกนักโทษในบังคับสยามไปจำคุกที่กองมหันตโทษ กระทรวงยุติธรรม ส่วนนักโทษในบังคับอังกฤษส่งไปจำคุกที่สถานทูตอังกฤษ) ทั้งนี้เพื่อเป็นการ "เชือดไก่ให้ลิงดู" และป้องกันเจ้านายตามหัวเมืองเดิมในภูมิภาคต่างๆ ตลอดจนอดีต "ไพร่" เดิมในระบอบจตุสดมภ์คิดการ "กำเริบเสิบสาน" แข็งข้อต่อการเปลี่ยนผ่านการปกครองสู่ระบอบสมบูรณาญาธิราชย์
หลังการปราบปรามกบฏลงได้อย่างราบคาบ รัฐบาลสยามก็ฉวยโอกาส "ตีเหล็กเมื่องยังร้อน" เพื่อกวาดล้างอำนาจของเจ้านายฝ่ายเหนือ โดยเข้ามาจัดการปกครองและจัดการจัดเก็บผลประโยชน์ในอดีตดินแดนที่เรียกว่า "ล้านนา" อย่างเต็มที่ มีการปฏิรูปการปกครองอย่างเต็มรูปแบบและปลดเจ้าหลวงเมืองแพร่ และยกเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครแพร่ รวมทั้งตำแหน่งเจ้านายท้องถิ่นของแพร่ทั้งหมด และให้ข้าราชการจากส่วนกลางเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดอำนาจของเจ้านายฝ่ายเหนือ ทั้งนี้อำนาจรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามสยามได้จัดตั้งกรมบัญชาการทหารบกมณฑลพายัพ (ค่ายกาวิละ) ที่นครเชียงใหม่ จัดตั้งกองทหารประจำการ (ค่ายสุรศักดิ์มนตรี) ขึ้นที่นครลำปาง เพื่อป้องกันมิให้มีการก่อเหตุในลักษณะเดียวกันขึ้นอีก เนื่องจากเป็นหัวเมืองศูนย์กลางสามารถติดต่อกับ จังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย, แพร่, น่าน, อุตรดิตถ์ และหัวเมืองต่างๆ ซึ่งทหารเกือบทั้งหมดเป็น "คนสยาม" ที่เกณฑ์ไปจากจากภาคกลาง
กองทหารที่ตั้งขึ้นครั้งแรกที่จังหวัดลำปาง อยู่ในการบังคับบัญชาของ พันตรี หลวงพิทธยุทธยรรยง ตั้งอยู่ในบริเวณ วัดป่ารวก อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ต่อมาในปี พ.ศ. 2448 เจ้าบุญวาทย์ วงศ์วานิต อุทิศที่ดินที่ม่อนสันติสุข ริมฝั่งห้วยแม่กระติ๊บให้เป็นที่ตั้งค่ายทหาร พร้อมกับปลูกอาคารไม้ให้อีกหลังหนึ่ง แล้วจึงเคลื่อนย้ายหน่วยทหารจากวัดป่ารวกเข้ามาที่ตั้งใหม่ ผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารคนแรกที่เข้ามาที่ตั้งใหม่ คือ พันตรี หลวงศัลยุทธวิธิการ (เล็ก ปาณิกบุตร) ต่อมาได้เป็น พลโทพระยากลาโหมราชเสนา และเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2495 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดชได้พระราชทานนามค่ายว่า "ค่ายสุรศักดิ์มนตรี"
นับจากการสร้างค่ายทหารที่ลำปางขึ้น มีการปรับปรุงกองทหารให้เข้มแข็งและเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เพื่อปรามเจ้าผู้ครองนคร เจ้านาย เจ้าเมือง พ่อเมือง และขุนนางในล้านนาที่คิดจะฟื้นอำนาจการปกครองในลักษณะเอกเทศหรือเจ้าประเทศราช ทำให้กลุ่มผู้ปกครองล้านนาทั้งหลายต้องตกอยู่ในภาวะจำยอมในการยึดรวมล้านนาเข้ากับสยามในที่สุด
กระนั้นก็ตามผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ ภายหลังการผนวกเมืองแพร่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ผู้คนและลูกหลานเชื้อสายเจ้าเมืองแพร่ก็เกิดการปรับตัวอย่างขนานใหญ่ ทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจจากการผลิตแบบพึ่งตนเองและส่งส่วยแก่เจ้าผู้ครองนครเดิม มาสู่รูปแบบการรับเหมาช่วงสัมปทานจากอำนาจรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นอกจากนั้นราษฎรที่เคยเป็นทาส/ไพร่ที่สังกัดมูลนายในระบอบศักดินา/จตุสดมภ์ ก็กลายเป็นแรงงานรับจ้างลากจูงไม้ในป่าให้กับบริษัทฝรั่งที่ได้สัมปทานผูกขาดจากอำนาจรัฐส่วนกลาง ทำให้ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจเมืองแพร่จะขยายตัวดีกว่าหัวเมืองอื่นๆ ทว่าเศรษฐกิจเหล่านี้ก็ตั้งอยู่บนฐานของการผูกขาดสัมปทานทรัพยากรธรรมชาติ ที่ถูกนำมาใช้หมดไปอย่างไม่มีแผนรองรับการสร้างทดแทนแต่อย่างใด ไม่ใช่เป็นการผลิตอย่างแท้จริง ป่าไม้สักเมืองแพร่ไม่นานก็หมดไป บริษัทฝรั่งก็ล่าถอยทิ้งไว้แต่ร่องรอยของความเฟื่องฟูร่ำรวยของคนในยุคหนึ่ง
ยิ่งไปกว่านั้นสัมปทานของรัฐไทยในเวลาต่อมาที่ให้กับคนไทยกันเองยิ่งมีผลทำให้ป่าไม้เมืองแพร่หมดสิ้น ทุนที่เข้ามาฉกฉวยผลประโยชน์ตรงนี้กลายเป็นฐานสำหรับการเมืองท้องถิ่นเมืองแพร่ในปัจจุบันที่แทบจะตัดขาดการรับรู้เรื่องราวในอดีตอย่างสิ้นเชิง รวมทั้งขาดการถ่ายทอดประวัติศาสตร์แก่อนุชนรุ่นหลังให้เข้าใจและสามารถสร้างความภาคภูมิใจใน "ความเป็นมา" หรือ "กำพืด" ที่แท้จริงที่ผ่านการกัดกร่อนบ่อนทำลายลงไปในประวัติศาสตร์ที่ถูก "ตัดตอน" หรือ "กัดกร่อน" ลงไป.
โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 12-18 มกราคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน