Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (17)

จุดจบและบทสรุปเบื้องต้น
กบฏผู้มีบุญภาคอีสาน 2444

การประหารชีวิตนักโทษหรือผู้มีความผิดตามคำพิพากษาในอดีตระบอบศักดินาและสมบูรณาญาสิทธิราชย์

หลังจากผู้นำกบฏคนสำคัญหลบหนีไปยังดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ปัจจุบันคือพื้นที่ส่วนใหญ่ของ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ยกเว้นแขวงไชยบุรี) แล้ว ในเวลาเดียวกันนั้น พระเขมรัฐเดชประชารักษ์ ผู้รักษาการเมืองเขมราชซึ่งถูกฝ่ายกบฏจับกุมตัวเอาไว้ ไม่ได้รับอันตรายจากการระดมยิงกระสุนปืนใหญ่จากฝ่ายรัฐบาลแต่อย่างใด หลวงชิตสรการจึงได้นำตัวมาเข้าเฝ้าข้าหลวงต่างพระองค์ฯ รวมทั้งคุมพวกหัวหน้ากบฏระดับรองๆลงมา และบรรดาราษฎรที่เข้าร่วมด้วยจำนวนทั้งสิ้น 400 คนเศษ คุมใส่ขื่อคาจองจำไปยังเมืองอุบลฯ เพื่อฟังรับสั่งจากข้าหลวงต่างพระองค์ ส่วนข้าหลวงต่างพระองค์ก็มีตราสั่งไปทุกหัวเมืองน้อยใหญ่ทั้งปวงว่า "ให้ผู้ว่าราชการเมือง กรมการ เจ้าหน้าที่สืบจับพวกกบฏผีบุญที่กระเซ็นกระสายและหลบหนีคราวต่อสู้กับทหาร อย่าให้มีการหลบหนีไปได้เป็นอันขาด หรือผู้ใดที่สมรู้ร่วมคิดและปกปิดพวกเหล่าร้ายและเอาใจช่วยให้หลบหนีไปได้ จะเอาโทษแก่ผู้ปิดบัง และเจ้าหน้าที่หัวเมืองนั้นๆ อย่างหนัก" ในบรรดาผู้ที่ตั้งตัวเป็นผู้มีบุญองค์สำคัญๆ ที่ถูกจับกุมมาได้คราวนั้นมีอยู่หลายคน เช่น

  1. องค์เหล็ก (นายเข้ม) ถูกจับกุมได้ที่บ้านหนองซำ ท้องที่เมืองเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
  2. พระครูอิน ถูกจับกุมได้ที่ ท้องที่ วัดบ้านหนองอีตุ้ม ตำบลสำราญ อำเภอยโสธร (ปัจจุบันเป็นจังหวัดยโสธร)
  3. ท้าวไชยสุรินทร์ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านโพนเมือง ถูกจับกุมได้ที่ ท้องที่ อำเภอตระการพืช จังหวัดอุบลราชธานี
  4. องค์บุญ ถูกจับกุมได้ที่ ท้องที่เมืองพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
  5. องค์ลิ้นก่าน ถูกจับกุมได้ที่ ท้องที่บ้านพับแล้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
  6. องค์พรหมา ถูกจับกุมได้ที่ ท้องที่บ้านแวงหนองแก้ว ท้องที่ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
  7. องค์เขียว ถูกจับกุมได้ที่ ท้องที่ในเมืองอุบลฯ (ปัจจุบันเป็นจังหวัดอุบลราชธานี)
  8. กำนันสุ่น บ้านส่างมิ่ง ถูกจับกุมได้ที่ ท้องที่ อำเภอเกษมสีมา (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ) กำนันสุ่นนั้น ทางราชการได้สั่งให้เป็นหัวหน้านำกำลังพลไปช่วยปราบกบฏผีบุญ พอไปถึงกลางทุ่งได้พาชาวบ้านโกนคิ้วโกนหัว ไปเข้าเป็นฝ่ายองค์มั่นผู้มีบุญ
  9. หลวงประชุม (บรรดาศักดิ์ประทวน) มีบทบาทเกลี้ยกล่อมผู้คนให้เกลียดชังรัฐบาลสยาม

เชลยกบฏส่วนใหญ่จะถูกจับกุมมาจากบ้านสะพือใหญ่จนล้นคุกตะราง ไม่มีที่คุมขัง จึงถูกจองจำขื่อคาตากแดดกรำฝนไว้ ณ ทุ่งศรีเมืองอยู่ 2-3 วัน เพื่อรอคณะตุลาการสอบสวนตัดสิน บ้างถูกตัดสินให้ปล่อยตัวและภาคทัณฑ์ไปมากเพราะเป็นปลายเหตุ ส่วนหัวหน้าคนสำคัญๆ ถูกคณะตุลาการพิจารณาเป็นสัตย์ฐานกบฏก่อการจลาจลภายใน จึงพร้อมกันพิพากษาเป็นเอกฉันท์ตัดสินให้ประหารชีวิต และข้าหลวงต่างพระองค์ฯได้มีรับสั่งให้นำตัวนักโทษไปประหารชีวิตแล้วเสียบประจานไว้ ณ ที่เกิดเหตุทุกแห่งที่จับมาได้ เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อแผ่นดินสืบไป ส่วนพระครูอินกับพระสงฆ์อีก 3 รูปที่เป็นพวกฝ่ายกบฏผีบุญ ให้อยู่ในสมณเพศ ในเขตจำกัดตลอดชีวิต หากสึกออกมาเมื่อใดให้จำคุกตลอดชีวิต

ก่อนการประหารชีวิตกบฏผีบุญครั้งนั้น เมอสิเออร์ลอร์เรน (ชาวฝรั่งเศสซึ่งทางการสยามจ้างเป็นที่ปรึกษากฎหมายอยู่ที่เมืองอุบลฯ) ได้ทูลถามข้าหลวงต่างพระองค์ฯว่า "พระองค์มีอำนาจอย่างไร ในการรับสั่งให้ประหารชีวิตคนก่อนได้รับพระบรมราชานุญาต" ข้าหลวงต่างพระองค์ฯ รับสั่งตอบว่า "ให้นำความกราบบังคมทูลดู" เมอร์สิเออร์ลอร์เรนเลยเงียบไป

เมื่อปราบกบฏผู้มีบุญเสร็จแล้ว ข้าหลวงต่างพระองค์ฯ ได้ส่งมอบ "มงกุฎ" (หมวกหนีบสักหลาด) ของ "องค์มั่น" หัวหน้าใหญ่ เข้าไปยังเมืองกรุงเทพฯ (ปัจจุบันยังอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ) จากนั้นทรงประทานรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ที่มีความดีความชอบในคราวปราบกบฏผีบุญ ลดหลั่นมาก-น้อยต่างกันไป สูงสุดถึง 100 บาท พร้อมกับเบี้ยเลี้ยงวันละ 25 สตางค์ สำหรับข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนตลอดจนฝ่ายปกครองคณะกรมการเมือง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยิ่งมงกุฎไทย (ชั้นที่ 6 เหรียญทองมงกุฎไทย ร.ท.ม. และชั้นที่ 7 เหรียญเงินมงกุฎไทย ร.ง.ม.) และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก (ชั้นที่ 6 เหรียญทองช้างเผือก ร.ท.ช. และชั้นที่ 7 เหรียญเงินช้างเผือก ร.ง.ช.) เป็นบำเหน็จความดีความชอบตามลำดับ

เมื่อกล่าวถึงบทสรุปกบฏผู้มีบุญอีสาน พ.ศ. 2444-2445 จะเห็นได้ว่าเกิดขึ้นเพราะราษฎรไม่พอใจการเก็บภาษีส่วยจากชายฉกรรจ์คนละ 4 บาท ในช่วงเกิดภัยแล้งติดต่อกัน 2-3 ปี จนเหมือนเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ยากของราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดาร ในขณะที่ขุนนางท้องถิ่นสั่งสมไม่พอใจการปฏิรูปการบริหารราชการที่ดึงอำนาจไปจากพวกเขา พร้อมกับเอาผลประโยชน์ คือ ภาษีที่เคยได้ส่วนแบ่งมากไปสู่ส่วนกลางโดยตรงด้วย นอกจากนั้น การคุกคามจากมหาอำนาจเจ้าลัทธิอาณานิคมฝรั่งเศส เป็นเหตุให้สยามต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายไปทั้งหมด และเสียอธิปไตยบางส่วนในเขต 25 กิโลเมตร ให้แก่ฝรั่งเศส ซ้ำยังมีข่าวลือว่าฝรั่งเข้ามายึดกรุงเทพฯเอาไว้ได้แล้ว

จากเงื่อนไขดังกล่าวประกอบกับ ฝ่ายกบฏใช้วิธีการต่างๆขยายความเชื่อ เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมกระบวนการ ทั้งใช้หมอลำ การบอกเล่าปากต่อปาก และที่สำคัญ โดยการใช้ "จดหมายลูกโซ่" คัดลอก "คำพยากรณ์" ต่อๆ กันไป ทำให้กบฏขยายตัวอย่างกว้างขวาง มีผู้ตั้งตัวเป็น "ผู้มีบุญ" ถึง 60 คน กระจายอยู่ถึง 13 จังหวัด คือ อุบลราชธานี 14 คน ศรีสะเกษ 12 คน มหาสารคาม 10 คน นครราชสีมา 5 คน กาฬสินธุ์ สุรินทร์ จังหวัดละ 4 คน ร้อยเอ็ด สกลนคร จังหวัดละ 3 คน ขอนแก่น นครพนม อุดรธานี ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ จังหวัดละ 1 คน แต่เนื่องจากความได้เปรียบของฝ่ายรัฐบาลทั้งการจัดและใช้กองกำลังร่วมกับอาวุธที่ทันสมัยกว่า จึงสามารถปราบปรามลงอย่างรวดเร็ว ภายใน 2 เดือน โดยฝ่ายรัฐบาลสูญเสียกำลังเพียงเล็กน้อย

หลังกบฏครั้งนั้นรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กรุงเทพฯ หันมาให้ความสนใจในการควบคุมราษฎรภาคอีสานมากขึ้น เริ่มจากการปฏิรูปการศึกษาให้มีลักษณะหลักสูตรเดียวกันทั้งประเทศ ลบเลือนประวัติศาสตร์และคติชนวิทยา ขนบความเชื่อต่างๆเป็นอันมาก ในด้านการผลิตหลังจากรัฐบาลส่วนกลางยกเลิกระบบ "ทาส/ไพร่" เป็นผลสำเร็จอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การปลดปล่อยพลังการผลิตอย่างมหาศาลจากระบอบ "จตุสดมภ์/ศักดินา" เดิม ส่งผลให้ราษฎรในภาคเกษตรกรรมสามารถครอบครองปัจจัยการผลิตและเป็นเจ้าของผลิตผลจากการผลิตเป็นครั้งแรก

สำหรับในด้านการควบคุมดูแลความสงบภายในราชอาณาจักร หลังจากอำนาจรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้สถาปนากรมตำรวจภูธรขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2440 แล้ว ในปี พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมาเพื่อผลิตนายตำรวจให้ทำหน้าที่ผู้บังคับหมวดรับราชการในกรมตำรวจภูธร และต่อมาในปี ร.ศ.121 (พ.ศ. 2445) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงกรมหลวงดำรงราชานุภาพ มีพระบรมราชานุญาตโปรดเกล้าฯให้ย้ายที่ตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจจากมณฑลนครราชสีมา ไปตั้งอยู่ที่ ตำบลห้วยจระเข้ จังหวัดนครปฐม ตามการกราบบังคมทูลขอของกรมหลวงดำรงราชานุภาพ.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 8-14 ธันวาคม 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8