เส้นทางกบฏเงี้ยวเมืองแพร่
ชาวนาสมคบคิดขุนนางหัวเมือง
กองทหารจากเมืองพิชัย
อุตรดิตถ์ คราวไปปราบกบฎเงี้ยวเมืองแพร่ พ.ศ. 2445
กองกำลังเงี้ยวที่กำลังอยู่ในสภาพฮึกเหิมเต็มที่จากชัยชนะยกแรกที่สถานีตำรวจ จึงกรูกันบุกปล้นทรัพย์สินและสังหารบ่าวไพร่ในจวนข้าหลวง แล้วยกกำลังเข้ายึดที่ทำการค้าสนามหลวง ทำลายคลังหลวงและกวาดเงินสดไปทั้งหมด 46,910 บาท 37 อัฐ หลังจากนั้นกองโจรเงี้ยว ก็ยกกำลังเข้าโจมตีเรือนจำประจำจังหวัด โดยเจ้าหน้าที่ทั้งพัสดีและผู้คุมหาได้ตั้งใจรวมกำลังกันต่อต้านแต่อย่างใดไม่ กองโจรเงี้ยวเข้ายึดเรือนจำและปล่อยนักโทษให้เป็นอิสระพร้อมกับ แจกจ่ายอาวุธให้แก่นักโทษเหล่านั้น ทำให้ได้กำลังสนับสนุนเพิ่มขึ้นอีกจนมีกำลังถึง 300 คน
ในระหว่างที่กองโจรเงี้ยวเข้าโจมตีสถานที่ราชการต่างๆอยู่นั้น ราษฎรเมืองแพร่ที่อยู่ในสภาพตื่นตระหนกกันไปทั่ว บางส่วนได้อพยพหลบออกไปอยู่นอกเมือง แต่กองโจรประกาศให้อยู่ในความสงบ พร้อมกับประกาศยืนยันจะไม่ทำร้ายชาวเมือง จะฆ่าเฉพาะข้าราชการที่เป็นคนไทยภาคกลางที่มาปกครองเมืองแพร่เท่านั้น ราษฎรจึงค่อยคลายความตกใจและบางส่วนได้เข้าร่วมกับพวกกองโจรเงี้ยวก็มีทำให้กองโจรเงี้ยวทำงานคล่องตัวและมีกำลังเข้มแข็งขึ้น
ส่วนพระยาไชยบูรณ์หลังจากหลบหีออกจากจวนฯมาได้ มุ่งหน้าตรงไปยังคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ "พระยาพิริยวิไชย" หวังจะอาศัยกองกำลังส่วนของเจ้าหลวงเข้าตีโต้ฝ่ายกองโจร แต่ได้รับการปฏิเสธเนื่องจากทางฝ่ายเจ้าหลวงเองก็ไม่มีทั้งกำลังคนและอาวุธเพียงพอที่จะปฏิบัติการทางทหาร พระยาไชยบูรณ์จึงหนีออกจากเมืองแพร่ไปทางบ้านมหาโพธิ์ หวังไปขอกำลังจากเมืองอื่นมาปราบปรามในภายหลัง
ตกสายวันที่ 25 กรกฎาคม กองโจรเงี้ยวก็สามารถยึดเมืองแพร่ได้เบ็ดเสร็จ พะกาหม่องและสะลาโปไชยตรงไปคุ้มเจ้าหลวง ทำพิธีถือน้ำสาบาน มีพระยาพิริยวิไชยเจ้าหลวงเมืองแพร่เป็นประธาน ร่วมด้วยเจ้าราชบุตร เจ้าไชยสงคราม และเจ้านายบุตรหลานคนอื่นๆ รวม 9 คน ตกลงว่าจะร่วมกันต่อต้านกองทัพรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์จากกรุงเทพฯ และกำลงพลสนับสนุนที่เกณฑ์จากจังหวัดอื่นๆเข้ามาสมทบ โดยกองโจรเงี้ยวเป็นกองหน้า ส่วนเจ้าเมืองเป็นกองหลังคอยส่งกำลังสนับสนุน
ที่ประชุมของฝ่ายกบฏมีมติพร้อมใจกันเชิญให้พระยาพิริยวิไชย (เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์) ขึ้นปกครองเมืองแพร่เช่นที่เคยเป็นมาก่อนการปฏิรูประบบการปกครองเทศาภิบาล มีการจัดกำลังเป็นหลายสายออกตามล่าข้าราชการจากส่วนกลางที่เข้ามาปกครองเมืองแพร่
วันที่ 26 กรกฎาคม พวกกองโจรเงี้ยวเริ่มลงมือตามล่าฆ่าข้าราชการจากส่วนกลางและชาวสยามที่มาจากภาคกลางทุกคน ไม่ละเว้นว่าจะเป็นเด็กหรือเป็นผู้หญิง นอกจากนั้นยังประกาศให้รางวัลนำจับ เฉพาะค่าหัวพระยาไชยบูรณ์และพระเสนามาตย์ยกบัตรเมืองแพร่ คนละ 5 ชั่ง หรือ 400 บาท นอกนั้นลดหลั่นลงตามลำดับความสำคัญ แต่อย่างต่ำจะได้ค่าหัวคนละ 40 บาท
โจรเงี้ยวสามารถจับกุมตัวพระยาไชยบูรณ์ได้ในวันที่ 27 กรกฎาคม เนื่องพระยาไชยบูรณ์ซึ่งอดอาหารมา 3 วัน 2 คืน ซ่อนตัวอยู่บนต้นข่อยกลางทุ่งนาใกล้หมู่บ้านร่องอากาศได้ออกจากที่ซ่อนมาขออาหารชาวบ้าน หนานวงศ์ ราษฎรบ้านร่องอากาศนำความไปแจ้งเพื่อเอาเงินรางวัล พะกาหม่องนำกำลังไปล้อมจับและคุมตัวกลับบังคับให้คืนเมืองแพร่ มีการบังคับขู่เข็ญต่างๆ นานา เมื่อมาถึงร่องกวางเคาโจรเงี้ยวจึงลงมือฆ่าพระยาไชยบูรณ์ พร้อมด้วยพระเสนามาตย์ ยกกระบัตรศาล หลวงวิมล ข้าหลวงผู้ช่วย ขุนพิพิธ ข้าหลวงคลัง และนายเฟื่อง ผู้พิพากษา นายแม้น อัยการ นายอำเภอ ปลัดอำเภอ และสมุห์บัญชีอำเภอต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก นับเป็นการเข่นฆ่าข้าราชการไทยครั้งใหญ่ในภาคเหนือ (ปัจจุบันที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์พระยาไชยบูรณ์)
เมื่อรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กรุงเทพฯ รู้ข่าวการลุกขึ้นสู้และก่อการกบฏ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) เร่งนำทัพหลวงจากกรุงเทพฯ สมทบกับกองทัพจากเมือง เมืองพิชัย สวรรคโลก สุโขทัย ตาก น่าน และเชียงใหม่ ให้ทุกเมืองระดมกำลังเข้าโจมตีกองโจรเงี้ยวในเมืองแพร่พร้อมกันทุกด้าน ขณะที่กองโจรเงี้ยวที่ยึดเมืองแพร่ไว้ได้ ก็หาได้มีการตระเตรียมกำลังตั้งรับการปราบปรามของรัฐสยามแต่อย่างใด
เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เคลื่อนทัพมาตั้งค่ายทัพหลวงที่บริเวณ "บ้านเด่นทัพชัย" ปัจจุบันคือบริเวณ "ตำบลเด่นชัย" ใน "อำเภอเด่นชัย" จังหวัดแพร่นั่นเอง ทั้งนี้ในพระบรมราชโองการดังกล่าวให้ดำเนินการสอบสวนสาเหตุการปล้นครั้งนี้ โดยให้ถือว่าเป็น "กบฏ" ด้วย อันเป็นที่มาของการเรียกการลุกขึ้นสู้ของราษฎรหัวเมืองเหนือในพื้นที่จังหวัดแพร่นี้ ว่า "กบฏเงี้ยวเมืองแพร่"
จนกระทั่งวันที่ 1 สิงหาคม เมื่อทราบข่าวเป็นที่แน่ชัดว่ากองทัพรัฐบาลจะมาปราบปรามจึงได้แบ่งกำลังออกเป็น 2 กอง กองหนึ่งนำโดยสะลาโปไชย ยกกำลังไปทางด้านใต้เพื่อขัดตาทัพ รัฐบาลที่ส่งมา อีกกองหนึ่งนำโดยพะกาหม่อง ยกกำลังไปทางด้านตะวันตกเพื่อโจมตีนครลำปางหวังเข้ายึดเอาไว้เพื่อเป็นฐานที่มั่นและขยายกองกำลังอีกแห่งหนึ่ง
เมื่อพวกเงี้ยวไปถึงนครลำปางในวันที่ 3 สิงหาคม โดยที่ข้าหลวงและเจ้าเมืองลำปางรู้ข่าวการก่อการยึดเมืองแพร่ไว้ได้แล้ว จึงระดมกำลังทหารจากทุกฝ่ายตั้งรับไว้อย่างรวดเร็วและมั่นคง เป็นเหตุให้กบฏกองโจรเงี้ยวถูกกองทัพนครลำปางตีโต้จนแตกพ่ายหนีกระจัดกระจายไป
ส่วนที่เมืองเชียงใหม่ก็ได้มีการเตรียมการป้องกันบ้านเมืองเอาไว้อย่างหนาแน่น เจ้าหลวงเชียงใหม่ได้สั่งให้ปิดประตูเมืองทั้งหมด พร้อมกับใช้ท่อนซุงและเสาไม้ขนาดใหญ่ปักลงในหลุมขวางประตูเมืองไว้ แล้วเอาดินถมระหว่างเสาที่ปักจนเต็ม
ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าหลวงอินทวโรรส เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ให้ทำหน้าที่รักษาประตูเมืองได้แก่
- กองกลางมีพระยาเลขาพิจิตร ผู้ช่วยเจ้าราชสัมพันธวงศ์ (เจ้าธรรมลังกา)
- กองรักษาประตูท่าแพชั้นนอก มีพระยาแสนหลวงราชนายกเสนี (อิ่นคำ ประทุมทิพย์) บิดาของพระทวีประศาสน์ อดีตประธานสภาจังหวัดเชียงใหม่
- กองประตูขัวก้อม มีพระยาสามล้าน หรือ พระคุณาการ (เมือง ทิพยมณฑล)
- กองรักษาประตูหายยา มีเจ้าบุรีรัตน์ (เจ้าน้อยแก้ว)
- กองรักษาประตูช้างเผือก มีเจ้าอุตรการโกศล (หนานแก้ววงศ์)
- กองรักษาประตูสวนดอก มีเจ้าทักษินนิเกตน์ (มหายศ)
- กองรักษาประตูแสนปรุง (สวนปรุง) มีพระยาจ่าบ้านโยนัคราช (ก้อนแก้ว อินทวิวัฒน์)
- กองรักษาประตูระแกง มีเจ้าราชบุตร (คำตื้อ) บุตรเจ้าอุปราชบุญทวงศ์
- กองรักษาประตูท่าแพชั้นใน มีเจ้าสุริยวงศ์ (คำตัน สิโรรส).
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 29 ธันวาคม 2555-4 มกราคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน