Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (16)

กบฏผู้มีบุญภาคอีสาน
ก่อหวอดและพ่ายแพ้

ไพร่พล "กบฏผู้มีบุญ" ที่ถูกกองกำลังทางการจับเป็นเชลย

ปลายปีชวด ร.ศ. 119  (พ.ศ. 2443) มีลายแทงหนังสือจานใบลานมีลักษณะให้ผู้คนเข้าใจไปว่าเป็นคำพยากรณ์ถึงเหตุการณ์บ้านเมือง ว่าในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.  2443 (สมัยนั้นเปลี่ยนศักราชวันที่ 1 เมษายน) ฟ้าดินจะวิปริต ท้องฟ้าจะตกอยู่ในความมืดถึง 7 วัน 7 คืน เกิดลมพายุจัดจนพัดคนปลิวไปกับสายลม ให้นำลิ้นฟ้า (ไม้เพกา) มาไว้สำหรับจุดไฟอาศัยแสงสว่างในเวลามืด และให้ปลูกตะไคร้ที่กระได (บันไดบ้าน) เวลาพายุมาให้เหนี่ยวตะไคร้ไว้ จะได้ไม่ปลิวไปตามลม เงินต่างๆ ที่มีก็จะกลายเป็นเหล็ก และกลางเดือนหกปีฉลู ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444) จะเกิดอาเพศครั้งใหญ่ หินแฮ่ (หินลูกรัง) จะกลายเป็นทอง

หนังสือใบลานพยากรณ์บ่งชี้ในรายละเอียดว่า ผู้ที่ต้องการพ้นเหตุเภทภัยก็ให้บอกหรือคัดลายแทงให้รู้กันต่อๆ ไป ผลก็คือคำพยากรณ์นี้แพร่กระจายไปทั่วภาคอิสาน เป็นเหตุให้ชาวบ้านจำนวนหนึ่งเสาะหาและเก็บหินแฮ่มาบูชา โดยใส่หม้อ ใส่ไหปิดฝาไว้ แล้วเอามาตั้งทำพิธีสู่ขวัญบายศรี นอกจากนั้น นอกจากนั้นยังระบุอีกว่า ผู้ใดเป็นคนบริสุทธิ์ไม่ได้กระทำซึ่งบาปกรรมใดๆ แล้ว (หรือใครก็ตามที่อยากรวย) ให้เอาหินแฮ่เก็บมารวมกันไว้ รอท้าวธรรมิกราชจะมาชุบเป็นเงินเป็นทอง ส่วนคนที่ต้องการลบล้างกรรมชั่วที่เคยก่อไว้ ก็ต้องทำพิธีตัดกรรมวางเวรโดยนิมนต์พระสงฆ์มารดน้ำมนต์ให้ ถ้ากลัวตายก็ให้ฆ่าควายทุยเผือกและหมูเสียก่อนกลางเดือนหก เพราะจะกลายเป็นยักษ์ขึ้นมาจับกินคน ส่วนผู้หญิงที่เป็นสาวหรือไม่สาวแต่ยังโสดก็ให้รีบมีสามี มิฉะนั้นยักษ์จะจับกินหมด และรากไม้ที่อยู่ตามฝั่งน้ำ ซึ่งเป็นฝอยเล็กละเอียด รวมถึงฟักเขียว ดอกจาน (ทองกวาง) ของสามอย่างนี้จะกลายเป็นของมีประโยชน์ คือรากไม้จะกลายเป็นไหม ฟักเขียวจะกลายเป็นช้าง ดอกจานจะกลายเป็นครั่งสำหรับใช้ย้อมไหม

ราษฎรที่ได้รับข่าวจากปากต่อปากพากันหวาดหวั่นเล่าลือกันแพร่หลายไปทั่วหัวเมืองมลฑลอิสาน ในขณะที่ขุนนางฝ่ายปกครองหัวเมืองต่างๆเองกลับเห็นว่าเป็นคำของคนโง่เขลาเล่าลือกันไปสักพักหนึ่งก็คงจะเงียบหายไปเอง จึงไม่ได้ใส่ใจอะไรมากมายนัก

การก่อหวอดกบฏผู้มีบุญหรือกบฏผีบุญเริ่มเมื่อนายมั่น ราษฎรซึ่งภูมิลำเนาอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เมืองสุวรรณเขต (ปัจจุบันอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) บริวารขององค์แก้วหรือบักมี ซึ่งเป็นเจ้าผู้มีบุญที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในเขตลาวฝั่งซ้าย เล่าลือกันว่าเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ ถึงขนาดมีนิ้วอาญาสิทธิ์ อ้างตัวว่าจุติมาจากสวรรค์เพื่อลงมาโปรดมวลมนุษย์ ตั้งตนขึ้นเป็นเจ้าปราสาททองหรือพญาธรรมิกราช และมีบริวารในระดับรองลงมาอีกหลายคน เช่น องค์เขียว องค์ลิ้นก่าน องค์ที องค์พระบาท องค์พระเมตไตรย และองค์เหลือง องค์บริวารเหล่านี้แต่งตัวนุ่งผ้าจีบสีต่างๆกัน คือ สีแดง สีเขียวเข้ม และสีเหลืองกรักอย่างจีวรของพระ สวมใบลานมงคลจารด้วยคาถาอาคมไว้ที่ศีรษะทุกคน องค์มั่นได้พาพวกองค์บริวารเดินทางไปในท้องที่ต่างๆ ปลุกระดมชักชวนราษฎรให้เข้าร่วมด้วย โดยเริ่มจากร่วมมือกับองค์ฟ้าลั่นหรือหลวงวิชา (บรรดาศักดิ์ประทวน) แพทย์ประจำตำบลซึ่งเป็นหมอพื้นเมืองของเมืองตระการพืชผล (ปัจจุบันเป็นอำเภอในจังหวัดอุบลราชธานี) โดยองค์มั่นตั้งให้เป็นหัวหน้ายามรักษาการณ์และคอยเสกคาถาอาคมให้กับราษฎรชาวบ้าน เมื่อได้จำนวนพอสมควรแล้ว จึงไปตั้งมั่นซ่องสุมผู้คนเมืองโขงเจียมและบ้านนาโพธิ์ ตำบลหนามแท่น พร้อมกับโฆษณาชวนเชื่อว่า "จะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นดังคำพยากรณ์ให้พากันระวังตัว" ฝ่ายราษฎรเห็นคนถือศีลแปลกหน้ามาก็สำคัญว่าเป็นผู้มีบุญ พากันเข้าไปขอให้ช่วยป้องกันภัยพิบัติ และเข้าร่วมด้วยประมาณ 200 คนเศษ จากนั้นก็เคลื่อนพลไปตั้งหลักที่เมืองเขมราช

ฝ่ายพระเขมรัฐเดชประชารักษ์ ผู้รักษาเมืองเขมราช และท้าวกุลบุตร ผู้ช่วย ร่วมกับท้าวโพธิสาร กรมการเมือง แต่งทหารออกต่อต้านไม่ให้ราษฎรนับถือเข้าเป็นพรรคพวกองค์มั่นด้วย เลยเกิดการปะทะกันขึ้น ท้าวกุลบุตรกับท้าวโพธิ์สารเสียชีวิตในที่รบ ส่วนพระเขมรัฐเดชประชารักษ์ ฝ่ายพวกผู้มีบุญมิได้ทำร้าย เพียงแต่จับขึ้นแคร่หามเป็นตัวประกัน แห่ไปให้เกลี้ยกล่อมราษฎรให้มาเข้าเป็นพวก และได้ไปตั้งมั่นที่บ้านสะพือใหญ่ มีชาวบ้านนับถือและเข้าร่วมประมาณ 1,000 คน องค์มั่นผู้มีบุญก็สั่งให้ช่วยกันเกณฑ์ปืนแก๊ป ปืนคาบศิลา มีดพร้า ตลอดจนเสบียงอาหาร ข้าว เกลือ พริกต่างๆ เท่ามี และให้ตากข้าวเหนียวสุกยัดใส่ถุงผูกรอบเอว เตรียมจะไปตีเอาเมืองอุบลราชธานี เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ฯ ทราบข่าวองค์มั่นผู้มีบุญตั้งพิธีการอยู่บ้านสะพือใหญ่ สั่งการให้นายร้อยเอกหม่อมราชวงศ์ร่าย (ทหารกองหนุนเข้าถวายตัวรับราชการฝ่ายพลเมืองอยู่กับข้าหลวงต่างพระองค์ฯที่เมืองอุบล) ไปดูลาดเลา พอไปถึง เกิดการปะทะกับพวกผู้มีบุญในพื้นที่บ้านนาสมัย อยู่ระหว่างบ้านนาหลักกับบ้านห้วย ทางแยกไปอำเภอพนานิคม

ฝ่ายหม่อมราชวงศ์ร่ายมีกำลังน้อยกว่าสู้ไม่ได้ ถอยกลับไปเมืองอุบลฯ กราบทูลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ฯ ถึงพฤติกรรมของขบวนผู้มีบุญ ว่าเป็น "กบฏต่อแผ่นดิน" ข้าหลวงต่างพระองค์ฯ มีคำสั่งให้นายพันตรีหลวงสรกิจพิศาล ผู้บังคับการกองพันทหารราบเมืองอุบลฯ จัดทหารออกไปสืบข้อเท็จจริงอีกครั้ง ถ้ามีผู้ใดคิดการร้ายต่อแผ่นดินก็ให้ปราบและจับตัวมาสอบสวนลงโทษให้ได้ นายพันตรีหลวงสรกิจพิศาลจึงมีคำสั่งให้นายร้อยตรีหรี่กับพลทหาร 12 คนพร้อมอาวุธปืนยาวครบมือ ออกไปสืบดูเหตุการณ์ เมื่อไปถึงบ้านขุหลุ ก็พบพวกกบฏผู้มีบุญ และเห็นว่ามีกำลังสู้กบฏผู้มีบุญไม่ได้ เตรียมไปหากำลังหนุนจากบ้านเกษม หากเกิดการต่อสู้ตะลุมบอนกันขึ้นที่บริเวณ "หนองขุหลุ" ประสบความพ่ายแพ้ยับเยิน เหลือเพียงพลทหารรอดกลับมาเพียงคนเดียว

เมื่อราษฎรรู้ข่าวว่ากบฏผู้มีบุญสามารถรบพุ่งเอาชนะทหารหลวงในการปะทะได้ ก็ได้มีชักชวนกันมาสมัครเข้าเป็นพรรคพวกเพิ่มขึ้นอีกราว 1,500 คน ข้าหลวงต่างพระองค์ฯ เมื่อทราบความจึงทรงสั่งการให้หลวงสรกิจพิศาลมีคำสั่งไปถึงนายร้อยเอกชิตสรการผู้บังคับการกองทหารปืนใหญ่ให้นำนายสิบพลทหารประมาณ 100 คนเศษ มีปืนใหญ่ 2 กระบอก และปืนยาวเล็กครบมือ ออกไปปราบพวกกบฏผู้มีบุญให้จงได้ และได้ทรงสั่งให้พระอุบลการประชานิตย์ ข้าหลวงบริเวณเมืองอุบลฯ กับพระอุบลศักดิ์ประชาบาล (ผู้รักษาการเมืองอุบลฯ ) เกณฑ์กำลังชาวบ้านสมทบกับทหาร และสั่งให้เคลื่อนขบวนกำลังออกไปปราบเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2443 และพอวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2443 ก็ได้พักพลอยู่ห่างจากหมู่บ้านและค่ายของกบฏผู้มีบุญราว 50 เส้น (1 กิโลเมตร)

รุ่งเช้าวันที่ 4 เมษายน เวลาประมาณ 09.00 น. พวกกบฏผู้มีบุญเคลื่อนพลมุ่งหน้าเข้าตีเมืองอุบลฯ ผ่านเส้นทางที่ร้อยเอกหลวงชิตสรการซุ่มกำลังไว้ ซึ่งสั่งให้ทหารปืนเล็กยาวขยายแนวยิงปืนแล้วแสร้งถอยล่อให้พวกกบฏผู้มีบุญไล่ตามมาพื้นที่สังหาร พอเข้าระยะวิถีกระสุนปืนใหญ่ ก็สั่งให้ยิงออกไปนัดหนึ่ง โดยตั้งศูนย์ให้ข้ามหัวพวกกบฏผู้มีบุญไปก่อนเพื่อเป็นสัญญาณให้ปีกซ้ายปีกขวารู้ตัว ฝ่ายกบฏผู้มีบุญเห็นกระสุนปืนใหญ่ไม่ถูกพวกตนก็โห่ร้อง ซ่า ซ่า และวิ่งกรูเข้าต่อสู้กับฝ่ายทหาร หลวงชิตสรการจึงสั่งให้ยิงออกไปอีกเป็นนัดที่ 2 เล็งกระสุนปืนใหญ่กะให้ตกระหว่างกลางพวกกบฏผู้มีบุญ คราวนี้กระสุนปืนใหญ่ระเบิดลงถูกฝ่ายกบฏผู้มีบุญบาดเจ็บล้มตายเกลื่อน พร้อมกันนั้น ทหารราบปีกซ้ายปีกขาว ก็ระดมยิงอาวุธประจำกายซ้ำเติมเข้าไปอีก

ฝ่ายกบฏผู้มีบุญที่ตามมาเห็นดังนั้นก็ชะงัก และปืนใหญ่ก็ยิงซ้ำเข้าไปอีก ถูกพวกกบฏผู้มีบุญล้มตายประมาณ 300 คนเศษ ที่เหลือก็แตกฮือหลบหนีเอาตัวรอด ส่วนองค์มั่นนั้นรอดชีวิตและปลอมตัวเป็นชาวบ้านหลบหนีไป ฝ่ายปราบปรามยกกำลังล่าจับกุมแต่ไม่ทัน ในเวลาต่อมาจึงได้ข่าวว่าหลบหนีข้ามฟากไปยังดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 1-7 ธันวาคม 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8