Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (18)

รากฐานความคิดแบบ "จิตนิยม"
ที่มาความพ่ายแพ้ของกบฏชาวนา

ทหารหลวงจากส่วนกลางที่เข้ามาแทนที่ทหารไพร่เดิมในระบอบจตุสดมภ์

การแข็งข้อของไพร่หรือชาวในอดีต จนถึงขั้นก่อการลุกขึ้นสู้ด้วยกำลังอาวุธ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะพบกับความปราชัยถูกปราบปรามอย่างราบคาบมาตลอดประวัติศาสตร์ก่อนการเกิด "อุดมการณ์ประชาธิปไตย" ในขอบเขตทั่วโลกนั้น แนวคิดหลักหรือ "อุดมการณ์" ของผู้นำ ที่ถูกใช้เป็น "ธงนำ" ในการต่อสู้ทั้งหมดใช้ "ไสยศาสตร์" หรือความเชื่ออื่นที่มีลักษณะ "จิตนิยม" ตัวอย่างเช่นการลุกขึ้นสู้ครั้งสำคัญ 3 ครั้งในจีนก่อนการปฏิวัติชิงไห่ (การปฏิวัติประชาธิปไตย) อันได้แก่ กบฏพรรคดอกบัวขาว (แป๊ะเน้ย) ที่ต้องการฟื้นฟูราชวงศ์ต้าหมิงถูกทำลายล้างสิ้นในปี ค.ศ. 1800 กบฏไท้เผ็ง (ไท้เผ็งเทียนกว๋อ) ค.ศ. 1849 (ถูกปราบมีคนตาย 20 ล้าน) จนถึงกบฏนักมวย (สมาคมอี้เหอถวน) ค.ศ. 1898-1900

ในขณะเดียวกันการลุกขึ้นสู้โดยไพร่ติดที่ดินหรือทาสชาวนา (Serf) หรือแม้กระทั่งขุนนางในระบอบศักดินาสวามิภักดิ์ (Feudalism) ในทวีปยุโรปยุคกลาง ก็มีเป้าหมายเพียงการเปลี่ยนผู้ปกครองหรือ "เปลี่ยนราชวงศ์" โดยระบอบการปกครองและระบบรัฐยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

สำหรับขบวนการลุกขึ้นสู้ของชาวนาหรือ "ไพร่" ในยุคก่อนอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่นำเสนอโดย "คณะราษฎร" ใน "การอภิวัฒน์สยาม 2475" ก็ไม่ต่างไปจากการเคลื่อนไหวในประชาชาติอื่นทั้งหลาย นั่นคือ "กบฏผู้มีบุญ" หรือ "กบฏผีบุญ" ล้วนมีความเชื่อว่าอุดมการณ์พระศรีอาริย์เป็นอุดมการณ์ที่มีเป้าหมายสูงสุด สามารถผลักดันสังคมศักดินาที่ยังคงฝังรากลึกมาจนถึงสังคมในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ผู้คนพลเมืองทั่วไปยังคงหนีไม่พ้นความเป็น "ทาส/ไพร่" ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปการจิตสำนึก ไปสู่สังคมมนุษย์ ที่ไม่มีชนชั้น ราษฎรหรือไพร่เดิมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนถึงความเชื่อที่ว่าเป็นสังคมที่มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ปราศจากการขดขี่ขูดรีดที่ดำรงมาตั้งแต่ครั้งปู่ยาตายาย ทำให้อุดมการณ์นี้ถูกนำไปใช้ในขบวนการต่อสู้ของไพร่หรือราษฎรที่เป็นชาวไร่ชาวนา เป็นพลังการผลิตภาคเกษตรกรรมยุคศักดินา ซึ่งปรากฏให้เห็นเป็นประจักษ์มาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์ ทั้งที่เป็นและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

ทั้งนี้การลุกขึ้นสู้ของคนชั้นล่างของสังคมไทยในยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ปรากฏชัดเจนที่สุดคือขบวนการผู้มีบุญ ซึ่งเกิดขึ้นในขอบเขตทั่วประเทศ หากที่เกิดขึ้นหลายครั้งและมีขนาดของการเคลื่อนไหวตลอดจนมีราษฎรเข้าร่วมเป็นจำนวนมากนั้นจะเกิดขึ้นในภาคอีสานโดยปัจจัยหลัก ที่เป็นตัวผลักดันให้ก่อรูปของการเคลื่อนไหวลุกขึ้นสู้กับอำนาจรัฐ เพื่อเรียกร้องความเป็นอิสระและความเป็นธรรมให้กับตนเองและสังคมที่ตนเองอาศัยอยู่ และเนื่องจากสังคมอีสานเองนั้น ก่อนที่จะมีขบวนการผู้มีบุญเกิดขึ้น ก็กำลังเผชิญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสภาพการเมืองและเศรษฐกิจจากภายนอก ซึ่งจะพบว่าเศรษฐกิจหลังสนธิสัญญาบาวริ่ง (พ.ศ.2398) มีผลกระทบต่อชาวนาภาคอื่นค่อนข้างน้อยกว่าภาคอีสาน เพราะนอกจากจะเป็นพื้นที่ในการเพาะปลูกขนาดใหญ่ของประเทศแล้ว ภาคอีสานในยุคนั้นยังมีผลผลิตจากของป่าอันอุดมสมบูรณ์และหลากหลาย ไม่แพ้ภาคอื่นๆ จะมีอุปสรรคก็เพียงการคมนาคมขนส่ง เนื่องจากเพิ่งมีการขยายเส้นทางสร้างสถานีรถไฟถึงแค่นครราชสีมาเท่านั้น

เมื่อพิจารณาถึงวิธีการทำงานขยายมวลชนของกบฏผู้มีบุญ จะเห็นว่าผู้นำการลุกขึ้นสู้อาศัยพื้นฐานความเชื่อของชาวบ้าน ซึ่งมีวิถีชีวิตผูกพันกับธรรมชาติ ตลอดจนคติความเชื่อแบบ "พุทธปนผี" หรือคำสอนทางพุทธศาสนาที่ถูกปลอมปนดัดแปลงให้เข้ากับคติความเชื่อแบบไสยศาสตร์ (แม้จนทุกวันนี้ รูปแบบและเนื้อหาของพุทธศาสนาในประเทศไทย ก็ยังก้าวไปไม่ไกลเท่าใดนักจากระบบคิดทาง "คติชนวิทยา" เช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำคติความเชื่อ ขนบ ธรรมเนียม และประเพณีที่ขัดต่อพุทธธรรม มาใช้ "ชี้นำ" ประชาชนจากระดับท้องถิ่น จนถึงระดับประเทศ) พระและวัดนั้นถือว่ามีอิทธิพลอย่างสูงกับการดำรงชีวิตของชาวบ้าน เช่น หากไม่สบายก็จะมาให้พระที่วัดรดน้ำมนต์ สะเดาะเคราะห์ ผูกด้ายสายสิญจ์ข้อมือ ปัดเป่ารักษาโรคภัยไข้เจ็บโดยใช้ยาสมุนไพรพื้นบ้าน ฯลฯ ทั้งยังมีฆราวาสที่ส่วนใหญ่ผ่านการบวชเรียนมาแล้ว เรียกว่า "หมอธรรม" มาทำพิธีกรรมปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บให้กับชาวบ้านเช่นเดียวกับพระสงฆ์องค์เจ้า หรือแม้แต่ "ชีปะขาว" หรือ "ชีผ้าขาว" ที่นุ่งขาวห่มขาวถือศีลแปดบ้าง ศีลสิบบ้าง สร้างความน่าเชื่อถือในหมู่ราษฎรที่ขาดความรู้ความเข้าใจในการพิจารณาสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริงในทางวิทยาศาสตร์

ทว่าในเรื่องของอุดมการณ์ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายหลักและวิธีคิดที่สำคัญ ซึ่งใช้นำพามวลชนลุกขึ้นสู้นั้น "กบฏผู้มีบุญ" เพียงประกาศแยกการปกครองและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ เป็นอิสระจากระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของรัฐสยามที่กรุงเทพฯ ที่อยู่บนพื้นฐานของรัฐศักดินาเดิม ขบวนผู้นำในท้องถิ่นที่นำโดย "องค์" ในระดับรอง ยังคงขึ้นต่อมีการรวมศูนย์อยู่ที่ "องค์มั่น" หรือหัวหน้าขบวนการอยู่นั่นเอง โดยมีเป้าหมายสูงสุดเป็นนโยบายหลักและนโยบายเฉพาะหน้า เพียง "ปลดแอกจากรัฐสยาม" และสร้างการปกครองตามขนบ "อีสาน"

รูปแบบโครงสร้างการจัดองค์กรของกบฏผู้มีบุญรวมทั้งกบฏชาวนาทุกครั้งในประวัติศาสตร์ มักเป้นการรวมกำลังกันอย่างหลวมๆ มีลักษณะไม่ซับซ้อน ไม่มีการให้สัตยาบันหรือโองการแช่งน้ำใดๆ อำนาจในการบังคับบัญชาก็มีลักษณะความเชื่อถือในตัวบุคคลที่เป็นผู้นำโดย อาศัยศรัทธาต่อความเชื่อในอุดมการณ์พระศรีอาริย์ ผลก็คือรูปแบบกองกำลังมีลักษณะเป็นการส้องสุมผู้คนลุกขึ้นแข็งข้อต่ออำนาจการปกครองมากกว่าที่จะเป็นการยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครอง การขยายฐานมวลชนและการสร้างกองกำลังจะใช้กระบวนการผ่านระบบวงศ์วานว่านเครือเป็นหลัก ส่วนราษฎรผู้ที่เข้าร่วมในขบวนการส่วนใหญ่นั้นเป็นชาวนา ชาวไร่ในพื้นที่ระดับหมูบ้านขึ้นไป และอาจขยายตัวไปสู่ระดับเมืองและหัวเมืองตามภูมิภาคในภาคอีสานนั้นเอง กำลังพลที่รวบรวมกันขึ้นมีปริมาณไม่แน่นอนเพราะขึ้นอยู่กับความสมัครใจของชาวบ้าน และนอกจากนี้ในส่วนคุณภาพ ก็ขาดองค์ความรู้ทางยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี และไม่ได้ผ่านการฝึกฝนให้ใช้อาวุธ หรือมีก็เป็นเพียงส่วนน้อยในหมู่ขุนนางท้องถิ่น อาวุธที่ใช้ก็เป็นแบบหาได้เท่าที่จะมีกันซึ่งส่วนใหญ่มีใช้เป็นเรื่องมือทำการผลิต ส่วนที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นอาวุธแบบ "ทหารหลวง" หรือ "ทหารหัวเมือง" มีน้อยมาก เฉพาะที่ติดตัวมากับขุนนางทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนชั้นล่าง ที่สมัครใจเข้าร่วมกับขบวนลุกขึ้นสู้

เมื่อพิจารณาในแง่การสู้รบกันแล้ว กองกำลังกึ่งทหารของกบฏผู้มีบุญ ถือว่าอยู่ในฐานะเสียเปรียบอย่างมากเมื่อเทียบกับกำลังแบบกองทัพประจำการของฝ่ายรัฐสมบูรณาญาสิทธิราช

สำหรับด้านอุดมการณ์ชี้นำของกบฏผู้มีบุญหลายครั้งที่ใช้ความเชื่อที่เกี่ยวของกับไสยศาสตร์หรือ "พุทธปนผี" ดังที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นภายหลังปราบกบฎผู้มีบุญ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์มีตราประกาศห้ามไม่ให้ราษฎรนับถือผีสางใดๆ ทั้งสิ้น เช่น เข้าทรงลงเจ้า สูนผี มีผีไท้ ผีฟ้า ผีมเหศักดิ์หลักเมืองฯลฯ ต่างๆ หากพบว่ามีการละเมิดประกาศและ/หรือลักลอบทำพิธีในลักษณะดังกล่าว ให้เจ้าหน้าที่หัวเมืองจับผู้ลงผีถือนั้นไปไต่สวนพิจารณา ถ้าได้ความจริงให้ปรับเป็นเงินคนละ 12 บาท พร้อมกับมีรางวัลจากทางการให้แก่ผู้แจ้งจับ ถ้าผู้ต้องคำกล่าวหาไม่มีเงินเสียค่าไถ่โทษ ให้จำคุก 1 เดือน หลังจากมีประกาศออกไปเช่นนี้ บรรดาพวกนับถือผีสางกลุ่มต่างๆ ก็สงบเงียบลงไปบ้าง แต่ถึงอย่างไร ก็ยังมีผู้ที่อ้างตัวเป็นผู้มีบุญและนำอุดมการณ์พระศรีอาริย์มาใช้ในการลุกขึ้นสู้ขึ้นอีกหลายครั้ง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 15-21 ธันวาคม 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน


ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8