Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549: ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่ถูกลบเลือน (14)

"รัด-ประ-หาร-2549" : ผลอันเกิดแต่เหตุที่ต้องลบล้าง

การ "ฆาตกรรมรัฐบาล" ครั้งล่าสุดในประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ผ่านมาแล้ว 5 ปี กับอีก 3 เดือนเศษ ไม่เพียงขยายความขัดแย้งทั้งทางการเมืองและทางสังคมที่ก่อรูปมานับจากปลายปี 2547 ในช่วงปลายรัฐบาลเสียงข้างมากพรรคไทยรักไทยที่นำโดย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือ

1. ล้มล้างรัฐบาลเลือกตั้ง

2. ล้มล้างรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มีที่มาจากการรัฐประหาร

3. ให้กำเนิดสิ่งที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ซึ่งเขียนอารัมภบทไว้ว่า "เหตุที่ทำการยึดอำนาจและประกาศให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเสียนั้น ก็โดยปรารถนาจะแก้ไขความเสื่อมศรัทธาในการบริหารราชการแผ่นดิน ความไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินและการตรวจสอบการใช้ อำนาจรัฐ ทำให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยไม่อาจหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ อันเป็นวิกฤติการณ์ร้ายแรงทางการเมืองการปกครอง และปัญหาความขัดแย้งในมวลหมู่ประชาชนที่ถูกปลุกปั่นให้แบ่งแยกเป็นฝักเป็น ฝ่ายจนเสื่อมสลายความรู้รักสามัคคีของชนในชาติอันเป็นวิกฤติการณ์รุนแรงทาง สังคม แม้หลายภาคส่วนจะได้ใช้ความพยายามแก้ไขวิกฤติการณ์ดังกล่าวแล้วแต่ก็ไม่เป็น ผล กลับมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจนถึงขั้นใช้กำลังเข้าปะทะกัน ซึ่งอาจมีการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อได้ นับว่าเป็นภยันตรายใหญ่หลวงต่อระบอบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ และความสงบเรียบร้อยของประเทศ จำเป็นต้องกำหนดกลไกทางปกครองที่เหมาะสมแก่สถานการณ์เพื่อใช้ไปพลางก่อน"

4. สุดท้ายเพื่อการสร้าง "ความชอบธรรม (จอมปลอม)" ในที่สุด สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ผ่าน "รัด-ทำ-มะ-นูน-2550" ออกมา และรองรับด้วยกระบวนการ "ลงประชามติ" ชนิดหมกเม็ด ภายใต้เงื่อนไข 2 ประการ คือ 1. รับไปก่อนแล้วแก้ภายหลัง และ 2. ถ้าไม่รับจะบังคับใช้ด้วย "รัด-ทำ-มะ-นูน" ที่ยัดเยียดให้โดย คมช.

นั่นหมายถึง นับจากการ "ฆาตกรรมรัฐบาลเลือกตั้ง" หรือที่รู้จักกันในชื่อ "การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490" เป็นต้นมา ประเทศนี้ตกอยู่ภายใต้การปกครองโดย "ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย" ครั้งแล้วครั้งเล่า มีการยึดอำนาจการปกครองสำเร็จ 10 ครั้ง โดยมีสิ่งที่เรียกว่า "รัฐธรรมนูญ" เป็นกฎหมายสูงสุดถึง 15 ฉบับ ทั้งนี้มีการจัดให้มีการเลือกตั้งรวม 21 ครั้ง และทั้งหมดนั้น ล้วนอยู่ภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ และ/หรือ การกำหนด "อำนาจอธิปไตย" ที่หาได้เป็นของ "ปวงชนชาวไทย" ไว้ในรัฐธรรมนูญ

ข้อเท็จจริงที่ผ่านมาในอดีต ในประเทศที่ "กล่าวอ้าง" ถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย กลับถูกปกครองมาเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ด้วย "คำสั่งทั้งหลายโดยการรัฐประหารซึ่งไม่ชอบด้วยหลักการประชาธิปไตย" ซึ่งได้แก่ "ประกาศคณะปฏิวัติ" "ประกาศคณะปฏิรูปการปกครอง" "ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ" มาจนถึงล่าสุด "ประกาศคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ" และ/หรือ คำสั่งหรือประกาศอื่นๆในทำนองเดียวกัน และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีฝ่ายนิติบัญญัติที่ "อ้าง" ประชาธิปไตย ดำเนินการทางรัฐสภา "กำจัด" เศษเดนหลงเหลือดังกล่าวของอำนาจเผด็จการออกจากสังคมไทยกันอย่างแท้จริงโดยที่ "ผู้แทนปวงชน" ซึ่งใช้อำนาจนิติบัญญัติ ดูเหมือนจะพากันละลืมข้อเท็จจริงที่ว่า "คำสั่งเผด็จอำนาจ" เหล่านั้น หาได้ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติในสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งไม่ ทั้งยังมีท่าที "ยอมจำนน" ต่ออำนาจตุลาการ จนกลายเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายไปแล้ว ว่าคณะบุคคลที่ "ปล้นอำนาจรัฐ" โดยการ "ฉีกรัฐธรรมนูญ" นั้น ดำรงสถานะเป็น "รัฏฐาธิปัตย์" โดยไม่อาจโต้แย้ง

ประเด็นสำคัญก็คือ การไม่ตระหนักและส่งผ่านองค์ความรู้แก่ประชาชนว่า แม้จะมีรัฐธรรมนูญสักกี่ฉบับ แม้จะมีการเลือกตั้งสักกี่ครั้ง ก็หาได้หมายความว่าประเทศใดประเทศหนึ่งจะเป็นประชาธิปไตยได้แต่อย่างใดไม่ ตราบใดที่ทั้งสองบริบทนั้น ไม่มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตย ที่ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

นั่นคือ การตอกย้ำอีกครั้ง ถึงภารกิจการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แท้จริงขึ้นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำจัดอุปสรรคสำคัญประการเดียว คือ "ระบอบเผด็จการ" จะโดยเต็มรูปแบบหรือหมกเม็ด สอดไส้ ซ่อนรูปอย่างใดก็แล้วแต่ ซึ่งตามมากับ "การรัฐประหาร"

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา คณะอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนาม "คณะนิติราษฎร์" ได้ออกคำแถลงการณ์เนื่องในโอกาส ครบรอบการก่อตั้งคณะนิติราษฎร์ 1 ปี เสนอ 4 ประเด็น คือ
(1) แนวคิดลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยา
(2) การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
(3) กระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหาหรือจำเลยและการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย ภายหลังรัฐประหาร และ
(4) การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550


สำหรับในประเด็นที่ 1 การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในแถลงการณ์ ประการแรก ให้ "1. ประกาศให้รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการกระทำใดๆที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2549 เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย"

และต่อมาในวันที่ 25 กันยายน 2554 ที่ห้อง LT 1. คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์แถลงข่าวกรณีข้อเสนอให้ลบล้างผลพวงจากการรัฐ ประหาร หลังข้อเสนอในครั้งแรกถูกตอบโต้จากฝ่ายการเมืองตลอดสัปดาห์ โดยในการนี้ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ กล่าวว่า "ในแถลงการณ์ของเรานั้นชัดเจนว่าไม่ใช่การนิรโทษกรรม ไม่ใช่การล้างมลทิน แม้แต่พูดอย่างนี้สื่อบางสำนักก็ยังบอกว่าเป็นการล้างความผิด ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่เสนอให้ตรงไปตรงมาในเบื้องต้นก่อน ไม่ควรบิดเบือนข้อเท็จจริงทำให้สังคมเข้าใจผิด อาจะเป็นไปได้ว่าข้อเสนอครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การปกครองระบอบ ประชาธิปไตย 2475 ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน สื่อจึงไม่สามารถเสนอตามความเป็นจริง และเหตุผลของเรามีน้ำหนักมากจนกระทั่งการเสนอข่าวตามความเป็นจริงจะทำให้สังคมคล้อยตามพวกเรา"


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 31 ธันวาคม 2554-6 มกราคม 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549: ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่ถูกลบเลือน (13)

"คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน" และ "คณะกรรมการการเลือกตั้ง"

เป็นที่น่าสังเกตเกี่ยวกับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นั้นที่สำคัญคือ "คณะกรรมการการเลือกตั้ง" ในขณะที่ "คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน" อยู่ในเงื่อนไขที่ต่างออกไป

ใน "ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 12" เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป นั้น แบ่งเนื้อหาเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ ใน ข้อ 1 "ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2549 พ้นจากตำแหน่ง" แต่ในขณะที่ ข้อ 2 "ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2549 คงอยู่ในตำแน่งต่อไป จนกว่าจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น" และผู้ว่าการ สตง. ตามคำสั่งนี้คือ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ซึ่งก้าวมาสู่ตำแหน่งโดยหลังจากที่ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มีผลบังคับใช้ และกำหนดให้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นองค์กรอิสระ โดยมีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) 10 คน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 1 คน คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา จึงสมัครเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ประสบปัญหาล่าช้า เนื่องจากผู้สมัครขาดคุณสมบัติ จึงมีผู้เสนอชื่อให้คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนแรก"

หลังการรัฐประหาร 2549 คุณหญิงจารุวรรณได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) และได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2549 ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 12 นั้นเอง

มาในปี 2553 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตีความการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่า สตง. ของคุณหญิงจารุวรรณว่าพ้นจากตำแหน่งนับตั้งแต่วันที่มีอายุครบ 65 ปี โดยนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้เรียกร้องให้คุณหญิงจารุวรรณ ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยดังกล่าว จนเกิดความขัดแย้งกันภายใน สตง. กระทั่งในเดือนตุลาคม 2553 ศาลปกครองกลางได้ตัดสินให้การดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินของคุณหญิงจารุวรรณ สิ้นสุดลงเมื่อมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์แล้ว ในวันที่ 6 กันยายน 2554 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดกรณีการกล่าวหาคุณหญิงจารุวรรณเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินกับพวก จัดสัมมนาโครงการ "สตง. ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา" เป็นเท็จ และส่งเรื่องให้อัยการสูงสูดฟ้องต่อศาลฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

สำหรับในส่วนของ "คณะกรรมการการเลือกตั้ง" (กกต.) ซึ่งมีผู้ให้ความเห็นว่าเป็นองค์กรที่มีอำนาจค่อนข้างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้ใช้อำนาจบริหาร (จัดการเลือกตั้ง) นิติบัญญัติ (ออกระเบียบและประกาศต่างๆ) และตุลาการ (วินิจฉัยชี้ขาดจัดการเลือกตั้งใหม่และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนการประกาศผลเลือกตั้ง) ถือเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่หลักในการควบคุมและจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการจำนวน 5 คน เลือกสรรโดยวุฒิสภา ดำรงตำแหน่งได้สมัยเดียวเป็นเวลา 7 ปี ยกเว้นชุดแรก ดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน (27 พฤศจิกายน 2540 - 26 พฤษภาคม 2544) ตามเงื่อนไขใน พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ

กกต. ชุดที่สอง ที่ถูกตั้งฉายาว่า "สามหนาห้าห่วง" เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2544 โดยที่การสิ้นสุดวาระของ กกต. ชุดนี้ เป็นไปตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2549 ศาลอาญาได้ตัดสินตามคำฟ้องของโจทย์คือ นายถาวร เสนเนียม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในข้อหาการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบของ กกต. โดยการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคไทยรักไทย เป็นเหตุให้คณะกรรมการฯ 3 คนได้แก่ พลตำรวจเอกวาสนา เพิ่มลาภ, นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร ต้องคำพิพากษาศาลอาญา ให้จำคุก 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่งผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง กกต. เนื่องจากขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ

ในวันที่ 10 สิงหาคม ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา 3 คน ประธานแผนกคดีต่างๆ ในศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา จำนวน 84 คน ได้ลงมติเพื่อสรรหาผู้สมควรเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งจำนวน 10 คน จากจำนวนผู้สมัคร 42 คน เพื่อให้ที่ประชุมวุฒิสภา ลงมติคัดเลือกเหลือ 5 คน ทั้งนี้ คณะกรรมการเลือกตั้งชุดนี้จะปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลา 2 ปี ตามวาระที่เหลืออยู่ของคณะกรรมการเลือกตั้งชุดที่สอง

วันที่ 8 กันยายน 2549 ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติคัดเลือกคณะกรรมการเลือกตั้ง ประกอบด้วย นายประพันธ์ นัยโกวิท, นายสุเมธ อุปนิสากร, นายอภิชาต สุขัคคานนท์, นายสมชัย จึงประเสริฐ และนางสดศรี สัตยธรรม

แต่ยังไม่ทันที่ กกต. ชุดนี้จะได้ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ซึ่งได้ถูกกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 15 ตุลาคม 2549 ตามที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 9 นาย วินิจฉัยว่าให้มีการเพิกถอนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายนจนถึงการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ 23 เมษายน เนื่องจากการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นั้นเอง

ประเด็นเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งและทำหน้าที่ของ กกต. ชุดนี้ ที่แม้ว่าได้รับการสรรหาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ก่อนส่งให้วุฒิสภาคัดเลือกอีกชั้นหนึ่ง แต่ยังไม่ทันมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ก็เกิดการรัฐประหารโดยการนำของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลินขึ้นเสียก่อน และในวันรุ่งขึ้นจากวันยึดอำนาจ คือวันที่ 20 กันยายน 2549 คปค. จึงได้ออก "ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 13" เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลใช้บังคับต่อไป โดยให้เหตุผลไว้ในวรรคแรกว่า "เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นเป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม และสามารถดำเนินการต่อไปได้ อย่างต่อเนื่อง" โดยให้กรรมการการเลือกตั้งชุดวันที่ 8 กันยายน คงทำหน้าที่ต่อไป "จนกว่าจะประกาศเป็นอย่างอื่น"


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 24-30 ธันวาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549: ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่ถูกลบเลือน (12)

"ตุลาการรัฐธรรมนูญ" และ "ศาลรัฐธรรมนูญ"

สำหรับองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นโดยอาศัยความตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 นั้น คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ออกประกาศอย่างต่อเนื่องทั้งยกเลิกบางองค์กรและให้คงมีผลบังคับใช้สำหรับ บางองค์กร นอกเหนือไปจาก "คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)" หรือการจัดตั้งองค์ (เฉพาะกิจ) ขึ้นมาใหม่ ที่สำคัญคือ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายสร้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจแล้ว องค์กรอิสระที่สำคัญอีก 2 องค์กร คือ "ศาลรัฐธรรมนูญ" และ "คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน" ก็อยู่ในข่ายการเข้าดำเนินการโดยอาศัยอำนาจของคณะรัฐประหารเช่นกัน

ใน ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน 2549 ลงชื่อโดย พลเอก สนธิ บุณยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ ให้

1.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 สิ้นสุดลง
2.วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญ สิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญ
3.องคมนตรี คงดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
4.ศาลทั้งหลาย นอกจากศาลรัฐธรรมนูญ คงมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมาย และตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข


เมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปี 2549 ได้สิ้นสภาพไปพร้อมกับศาลรัฐธรรมนูญ ตามประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับข้างต้นนั้นแล้ว จากนั้นในรัฐ ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 อันประกอบด้วย 39 มาตรา ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 102 ก ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2549 ในมาตรา 35 ให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่แทน โดยที่มีบทบัญญัติไว้ว่า ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา เป็นประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นรองประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา โดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 5 คน เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ และตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด โดยวิธีลงคะแนนลับจำนวน 2 คน เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ

นั่นคือคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 ซึ่งเป็นองค์คณะวินิจฉัยความผิดใน คดีประวัติศาสตร์ "ยุบ 2 พรรคใหญ่" ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 จึงประกอบด้วย

นายปัญญา ถนอมรอด ประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
นายอักขราทร จุฬารัตน รองประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
หม่อมหลวงไกรฤกษ์ เกษมสันต์ ตุลาการรัฐธรรมนูญ
นายสมชาย พงษธา ตุลาการรัฐธรรมนูญ
นายนุรักษ์ มาประณีต ตุลาการรัฐธรรมนูญ
นายกิติศักดิ์ กิติคุณไพโรจน์ ตุลาการรัฐธรรมนูญ
นายธานิศ เกศวพิทักษ์ ตุลาการรัฐธรรมนูญ
นายจรัญ หัตถกรรม ตุลาการรัฐธรรมนูญ
นายวิชัย ชื่นชมพูนุท ตุลาการรัฐธรรมนูญ

หลังจากที่มีการประกาศใช้ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550" โดยผ่านการทำประชามติแบบรวบรัดและมีเงื่อนไขที่มีลักษณะภาคบังคับในปลายปี 2550 แล้ว จึงมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งกับและ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 8 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลต่อไปนี้ 1. ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 3 คน 2. ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาล ปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 2 คน 3. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์ อย่างแท้จริงและได้รับเลือกตามมาตรา 206 ของรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน และ 4. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแท้จริงและ ได้รับเลือกตามมาตรา 206 ของรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน

ปัจจุบัน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประกอบไปด้วย

นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์
นายจรัญ ภักดีธนากุล
นายจรูญ อินทจาร
นายเฉลิมพล เอกอุระ
นายนุรักษ์ มาประณีต
นายบุญส่ง กุลบุปผา
นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์
นายสุพจน์ ไข่มุกด์
นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี

ทั้งนี้ ระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ในปี 2553  ซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองมีคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นแกนนำในคณะรัฐบาล ปรากฏว่ามีการเผยแพร่สิ่งบันทึกวีดิทัศน์ซึ่งมีเนื้อหาแสดงถึงการชักจูงให้ศาลรัฐธรรมนูญช่วยเหลือทางด้านคดี เป็นเหตุให้เกิดข้อครหาเกี่ยวกับการ ปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนหนึ่งขอถอนตัวจากการทำคดี เพื่อเลี่ยงความไม่เหมาะสม.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 17-23 ธันวาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549: ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่ถูกลบเลือน (11)

"สมุดปกขาว คมช." : 4 เดือนหลังการยึดอำนาจ

วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2549 เป็นเวลา 2 เดือนเศษนับจากการก่อรัฐประหารอัปยศ โค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ให้สัมภาษณ์ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ ITV (ในขณะนั้น) ถึงการประชุม คมช. นัดพิเศษในช่วงเช้า โดยคาดว่าวาระสำคัญที่จะมีการหารือเรื่องความคืบหน้าการทำงานของคณะกรรมการกำกับดูแลการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (กดส.) ที่จะต้องคัดเลือกให้ครบ 2,000 ชื่อ ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน และที่สำคัญคือเรื่องความคืบหน้าการจัดทำสมุดปกขาว ชี้แจงสาเหตุของการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ใช้ชื่อว่า "การปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญคือการตอบโจทย์แก่นานาประเทศที่เฝ้าจับตาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศ และรวมถึงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ไม่ได้ตอบรับการยึดอำนาจจากรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ตามที่มีการปูทางเตรียมการ มาตลอดเวลาประมาณปีเศษของกลุ่มบุคคลวงการต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มมวลชนจัดตั้งที่เตรียมจัดชุมนุมใหญ่เพื่อขับไล่รัฐบาลในวันที่ 20 กันยายน และมีหลายฝ่ายแสดงความวิตกกังวลว่าสถานการณ์อาจบานปลาย นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นอาจมีการปะทะกันระหว่างฝ่ายไล่และฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล

หลังจากใช้เวลาอีกเดือนเศษ คือในเวลา 13.00น. ของวันที่ 29 ธันวาคม 2549 พ.อ.สรรเสริญ จึงจัดแถลงข่าวและนำเอกสารข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิรูปการปกครองประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 มาแจกจ่ายกับสื่อมวลชนสายทหาร พร้อมแบบสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับเอกสารข้อเท็จจริง เพื่อส่งกลับสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กองบัญชาการทหารบก ถ.ราชดำเนินนอก เขตพระนคร กทม.

เอกสารดังกล่าวมีความหนาเพียงจำนวน 38 หน้าโดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ส่วนประกอบด้วย 1.เหตุการณ์ ก่อนการปฏิรูปฯ และมูลเหตุสำคัญที่นำไปสู่การปฏิรูป 2. เหตุการณ์ระหว่างการปฏิรูป 3. เหตุการณ์หลังการปฏิรูปและ 4. เจตนารมณ์ก้าวต่อไปของ คมช. ทั้งนี้ในหน้าสุดท้ายของเอกสาร มีเนื้อเพลง "พรุ่งนี้ต้องดีกว่า" แต่งคำร้องโดย นายนิติพงษ์ ห่อนาค

เอกสารที่มีชื่อเต็มว่า "ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการปฏิรูปการปกครองในประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549" จัดพิมพ์เป็นภาษาไทยจำนวน 30,000 เล่มภาษาอังกฤษ 5,000 เล่ม พร้อม ซีดี.ภาษาไทย 1,000 แผ่น ภาษาอังกฤษ 5,000 แผ่น จะเร่งดำเนินการจ่ายแจกให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและองค์กรอิสระ ประกอบด้วยสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพ รวมถึงกระทรวง ทบวงกรม ต่างๆ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย, สถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ, องค์การสหประชาชาติ, องค์การระหว่างประเทศ ฯลฯ

เอกสารดังกล่าวได้ให้เหตุแห่งการก่อรัฐประหารดังนี้

"เหตุการณ์สำคัญที่เป็นชนวนนำไปสู่การปฏิรูป

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลที่เพิ่งถูกยึดอำนาจไปถูกเพ่งเล็งจากสังคมอย่างหนัก และถูกกล่าวหาด้วยความเคลือบแคลงสงสัยว่าพยามยามผูกขาดอำนาจ ทำลายระบบการตรวจสอบถ่วงดุลโดยการแทรกแซงครอบงำองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) และการแต่งตั้งบุคคลเข้ารับตำแหน่งสำคัญในองค์กรอิสระ ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนคุกคามและแทรกแซงสื่อมวลชน รวมทั้งมีการดำเนินการที่ส่อไปในทางทุจริต-ฉ้อราษฎร์บังหลวง และมีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างกว้างขวาง เป็นที่ค้างคาใจประชาชนในกรณีที่สำคัญ ดังนี้

1.การทุจริตผลประโยชน์ทับซ้อน อาทิ การแปรค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือเป็นภาษีสรรพสามิต การแปลงธุรกิจดาวเทียมให้เป็นธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ และกรณีเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ซีทีเอ็กซ์. โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ทลิงค์ การพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ไม่โปร่งใส และกรณีการครอบงำกิจการโทรทัศน์เสรี

2.การใช้อำนาจในทางมิชอบ อาทิ การแต่งตั้งเครือญาติ คนใกล้ชิดดำรงตำแหน่งข้าราชการระดับสูง การใช้วิธีการงบประมาณที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เพื่อผลประโยชน์ในการสร้างคะแนนนิยมต่อรัฐบาล การใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการเจรจากับต่างประเทศเพื่อเอื้อต่อประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง (กรณีการปล่อยเงินกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย) การใช้อำนาจทางกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและกรมสรรพากร ในการตรวจสอบสถานะทางการเงินของผู้ที่ไม่เห็นด้วยรัฐบาล

3.การละเมิดจริยธรรม คุณธรรมของผู้นำประเทศ อาทิ การขายสัมปทานดาวเทียมและสถานีโทรทัศน์ให้กับต่างชาติ การซื้อขายหุ้นของบุคคลในครอบครัวโดยไม่เสียภาษี

4.การแทรกแซงระบบการตรวจสอบทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ อาทิ การครอบงำวุฒิสภาที่มีอำนาจในการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต่างๆ และการตรวจสอบการดำเนินการของฝ่ายบริหาร การแทรกแซงการแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

5.ข้อผิดพลาดเชิงนโยบายที่นำสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพ อาทิ กรณีฆ่าตัดตอน หรือการทำวิสามัญฆาตกรรมในคดียาเสพติด โดยมีผู้ถูกสังหารเป็นอันมาก การบริหารจัดการในเชิงนโยบายที่ผิดพลาดและไม่ชอบธรรมในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแม้จะใช้เวลายาวนาน แต่ก็ไม่ทุเลาเบาบางลง

6.การบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติ และการเผชิญหน้าที่เสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรง อาทิ การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารของกลุ่มที่จะตรวจสอบรัฐบาลหรือตัวนายกรัฐมนตรี และเปิดเฉพาะข้อมูลที่คัดสรรแล้ว ทำให้ประชาชนไม่สามารถรับทราบความจริงทั้งหมด การจัดตั้งกลุ่มคนสนับสนุนเพื่อตอบโต้และมุ่งหวังให้เกิดการเผชิญหน้าที่เสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงกับกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลโดยสันติ"


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 10-16 ธันวาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549: ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่ถูกลบเลือน (10)

คตส. และ ป.ป.ช. อาวุธสำคัญหรือกระสุนอัปยศ

การดำเนินการของ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. หลังจากยึดอำนาจได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด สามารถควบคุมกลไกการบริหารปกครองประเทศได้ทั่วด้าน คือการสร้างกฎหมาย ซึ่งก็คือประกาศฉบับต่างๆ ตามมาด้วยการสร้างองค์กรขึ้นมารองรับอำนาจที่ "อ้างเอา" ขึ้นมานั้น ทั้งที่ทั้งสองส่วนล้วนแต่ "ขาดความชอบธรรมตามหลักนิติธรรม (Due Process of Law)" และองค์กรที่เป็น "เครื่องมือ" สำคัญ และในเวลาต่อมากลายเป็นประเด็นอภิปรายว่าด้วย "อำนาจ" ที่ได้มาจากการ "การรัฐประหาร" ก็คือ

ในวันที่ 24 กันยายน 2549 คปค. ได้ออกประกาศฉบับที่ 23 เรื่อง การตรวจสอบทรัพย์สิน ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ที่มีอำนาจตรวจสอบการดำเนินงานหรือโครงการต่างๆ ที่ได้รับอนุมัติ หรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง โดยผลการปฏิรูปการปกครอง โดยมี นายสวัสดิ์ โชติพานิช เป็นประธาน และมีกรรมการอื่นอีก 7 คน คือ ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา), อัยการสูงสุด (นายพชร ยุติธรรมดำรง), เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ), เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (พลตำรวจตรี พีรพันธุ์ เปรมภูติ), เจ้ากรมพระธรรมนูญ (พลเอก อัฎฐพร เจริญพานิช), ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล) และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)

จากนั้น ในวันที่ 30 กันยายน 2549 คปค.ได้ออกประกาศฉบับที่ 30 แต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ในเรื่องที่ได้กระทำการให้รัฐเสียหายที่มุ่งหมายเฉพาะรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เพิ่งถูกยึดอำนาจไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน เท่านั้น เพื่อเป็นการแก้ไขอำนาจหน้าที่ และกำหนดหน่วยงานรองรับการปฏิบัติงาน จากประกาศฉบับที่ 23 ให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยขยายอำนาจหน้าที่ให้ครอบคลุมถึงความผิดอันเกิดจากการหลีกเลี่ยงกฎหมาย ภาษีอากร ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และตัดรายชื่อกรรมการที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ว่ามีความใกล้ชิดกับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรออกไป

ทั้งนี้ อำนาจหน้าที่ของ คตส. ตาม ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 นั้นมีการบัญญัติอย่างมีนัยสำคัญในข้อ 9 คือ

"ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบมีมติว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือบุคคลใด กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริต หรือร่ำรวยผิดปกติ ให้ส่งรายงานเอกสารหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อให้อัยการสูงสุดดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง พ.ศ. 2542 โดยให้ถือว่ามติของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีความเห็นแตกต่างแต่คณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นยืนยันความเห็นเดิม ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจดำเนินการให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแล้วแต่กรณี"

กรรมการ คตส. ที่แต่งตั้งครั้งนี้ประกอบด้วย นายนาม ยิ้มแย้ม ประธาน, นายแก้วสรร อติโพธิ เลขานุการ, นายสัก กอแสงเรือง โฆษก, นายกล้านรงค์ จันทิก, คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา, นายจิรนิติ หะวานนท์, นายบรรเจิด สิงคะเนติ, นายวิโรจน์ เลาหะพันธุ์, นายสวัสดิ์ โชติพานิช (ลาออกในเวลาต่อมา), นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์, นายอุดม เฟื่องฟุ้ง และ นายอำนวย ธันธรา

และก่อนหน้าประกาศ คปค.ฉบับที่ 23 ได้ 2 วัน ได้มีการออกประกาศฉบับที่ 19 ลงวันที่ 22 กันยายน 2549 อันเป็นคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการสรรหา (แต่งตั้ง) บุคคลเข้ารับตำแหน่งใน "คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)"  โดยมีเนื้อหาสำคัญคือ ข้อ 1 ให้งดการบังคับใช้บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการสรรหา; ข้อ 3 แต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542  ให้ประกอบด้วย นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ และกรรมการอีก 9 คน คือ นายก ล้านรงค์ จันทิก, นายใจเด็ด พรไชยา, นายประสาท พงษ์ศิวาภัย, ศาสตราจารย์ภักดี โพธิศิริ, ศาสตราจารย์เมธี ครองแก้ว, นายวิชา มหาคุณ, นายวิชัย วิวิตเสวี และ นางสาวสมลักษณ์ จัดกระบวนพล

นอกจากนั้น คำสั่งโดยอาศัยอำนาจจากการ "ยึด" ยังตามมาด้วย "ข้อ 4 ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการตามข้อ 3 พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุใดๆ และมีกรรมการเหลืออยู่ตั้งแต่หกคนขึ้นไป ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่

ถ้าประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่ง ให้กรรมการที่เหลืออยู่คัดเลือกกันเอง ให้กรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการแทน

ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่ง และมีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงหกคน ให้นายกรัฐมนตรีสรรหาบุคคลเพื่อขอความเห็นชอบจากสภาที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติ และนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป หรือดำเนินการสรรหาและแต่งตั้งตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น แล้วแต่กรณี"

และ "ข้อ 5 ให้ประธานกรรมการและกรรมการตามข้อ 3 ดำเนินการตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ

ในกรณีที่บุคคลตามข้อ 3 ไม่ดำเนินการภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งหรือไม่อาจรับตำแหน่งได้ ให้นำความในข้อ 4 มาใช้บังคับโดยอนุโลม"

สำหรับบทบัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. นั้น  ให้

"การสรรหาและการเลือกกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ให้นำบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 257 และมาตรา 258 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ โดยให้มีคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจำนวน 15 คน ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่ง ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 7 คน ผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคละ 1 คน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 5 คน เป็นกรรมการ"

ผลก็คือ ประกาศ คปค. ทั้ง 2 ฉบับ เท่ากับเป็นการ "แต่งตั้ง" องค์กรที่ดูเหมือนจะเข้าข่าย "องค์กรอิสระ" ที่มีจุดมุ่งหมายเฉพาะตามที่คณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ต้องการนั่นเอง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 3-9 ธันวาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549: ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่ถูกลบเลือน (9)

ประเดิมผลงานชิ้นโบดำ คปค. รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549

เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและควบคุมสถานการณ์ภายใน ประเทศเอาไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในเวลาอันรวดเร็ว มีการออกประกาศในทางบริหารอย่างต่อเนื่อง โดยมีลักษณะบังคับใช้ตามกฎหมายเช่นทุกครั้งที่คณะรัฐประหารยึดอำนาจได้สำเร็จจะอยู่ในสถานภาพผู้ถืออำนาจ (หรือที่เรียกกันว่า "รัฐาธิปัตย์" ไปโดยปริยาย ตามการวินิจฉัยซึ่งรับรองการกระทำรัฐประหารไว้นับจากคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 45/2496 ซึ่งกลายมาเป็นบรรทัดฐานต่อมา)

"...คณะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศได้สำเร็จ ย่อมมีอำนาจออก และยกเลิก แก้ไข กฎหมายได้ รัฐมนตรีที่แต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญซึ่งคณะรัฐประหารได้ประกาศใช้ จึงเป็นรัฐมนตรีโดยชอบ..."

ทั้งนี้ จุดยืนและทัศนะต่อคำสั่งของคณะรัฐประหารของนักกฎหมายมหนส่วนหนึ่ง รับแนวคิดปราชญ์นักกฎหมายชาวอังกฤษชื่อ John Austin ที่ว่า "กฎหมาย คือ คำสั่งของรัฐาธิปัตย์ ที่กำหนดหน้าที่ (Obligation) ให้บุคคลต่างๆ ปฏิบัติตาม" แต่นักกฎหมายฝ่ายเสรีประชาธิปไตยในสมัยหลัง โต้แย้งว่าใช้หลักการเช่นนี้ก็เท่ากับนักกฎหมายยอมรับว่าคนถือ "อำนาจ" ถูกต้อง ไม่ได้ถือ "ความเป็นธรรม" และครรลองที่ถูกต้องเป็นตัวตัดสิน ทั้งนี้รัฐาธิปัตย์ยังมีความไม่แน่นอน ใครมีอิทธิพลย่อมขึ้นสู่อำนาจและถืออำนาจได้ ย่อมจะถือเป็นบรรทัดฐานไม่ได้ และศาลก็มี "อำนาจ" ที่จะปฏิเสธอำนาจที่มีที่มาโดยไม่เป็นธรรมเช่นนี้

สำหรับประเทศไทยที่มักกล่าวอ้างถึงความเป็นประชาธิปไตย หากมีการรัฐประหารติดอันดับมากที่สุดในสังคมสมัยใหม่ นับจากการรัฐประหารตัวเองหรือที่เรียกว่ารัฐประหารเงียบเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา จนถึงปัจจุบันมีจำนวนถึง 12 ครั้ง โดยที่ 10 ครั้งหลัง นับจากรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์นี้เอง

ฉะนั้นสิ่งที่เกิดตามมาในเวลาอันรวดเร็วหลังการยึดอำนาจ คือการประกาศใช้ "รัฐธรรมนูญ" หรือที่ใช้คำว่า "ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราว" อันเป็นความยามที่จะปกปิดบิดเบือนลักษณะการปกครองระบอบเผด็จการ อย่างน้อยเพื่อการรับรอง (อย่างเสียไม่ได้) จากสังคมอารยประเทศ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) จึงแต่งตั้งคณะทำงานด้านกฎหมายที่ประกอบด้วยนักกฎหมายมหาชนที่มีชื่อเสียง เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ ซึ่งเริ่มต้นประกอบด้วยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตผู้ร่างรัฐธรรมนูญหลายฉบับ, นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และนายวิษณุ เครืองาม แต่หลังการประกาศชื่อ สองคนนี้ได้ลาออกเนื่องจากมีเสียงวิจารณ์ว่าเคยร่วมงานกับรัฐบาลที่เพิ่งถูกยึดอำนาจ

ต่อมานายมีชัยลาออกจากการเป็นหัวหน้าคณะร่างรัฐธรรมนูญไปด้วย คปค. จึงมีคำสั่งแต่งตั้งนายจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการประธานศาลฎีกา ทำหน้าที่แทน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 102 ก ณ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 มี 39 มาตรา เป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งยังคงเป็นประเด็นถกเถียงในหมู่นักกฎหมายมหาชน และผู้รักประชาธิปไตย ถึงความสมบูรณ์ของผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ที่ไม่ใช่หัวหน้าฝ่ายบริหาร คือตัวนายกรัฐมนตรี ตามที่ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่เคยปฏิบัติกันมาในสังคมไทย

พร้อมกันนั้น หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ได้แปรสภาพเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) โดย หัวหน้า คปค. จะดำรงตำแหน่ง ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานสภา และรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ทำหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินอดีตคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ผ่านมา

รอยด่างอย่างสำคัญในความเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ คือการมีบทบัญญัติประกาศรับรองประกาศของคณะปฏิวัติว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เอาไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวของ คปค. คือ

มาตรา 36 บรรดาประกาศและคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ได้ประกาศ หรือสั่งไว้ ในระหว่างสันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 จนถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปใด และไม่ว่าจะประกาศ หรือสั่ง ให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้มีผลใช้บังคับต่อไป และให้ถือว่า ประกาศหรือคำสั่ง ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ หรือคำสั่งนั้น ไม่ว่าการปฏิบัติตามประกาศ หรือคำสั่งนั้น จะกระทำก่อน หรือหลัง วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นประกาศหรือคำสั่ง หรือการปฏิบัติ ที่ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

มาตรา 37 บรรดาการกระทำทั้งหลาย ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึด และควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 ของหัวหน้า และคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมตลอดทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว หรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้า หรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อน หรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 26 พฤศจิกายน-2 ธันวาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549: ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่ถูกลบเลือน (8)

โครงสร้างอำนาจหน้าที่และบุคลากรของ คปค.

สำหรับในส่วนการดำเนินการ "ยึด" อำนาจการปกครอง นับจากควบคุมสถานการณ์โดยพื้นฐานเอาไว้ได้ โดยที่การออกอากาศของฝ่ายรัฐบาลเลือกตั้งนำโดยนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องเงียบเสียงไปทุกช่องทาง และในเวลา เวลา 00.19 น. มีแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ. สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ. ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ และพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษและประธานองคมนตรี เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิตเพื่อกราบบังคมทูลรายงานสถานการณ์บ้านเมือง ตามที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น

ในเวลาต่อมา มีการออกข่าวโดยผ่านทางสำนักโฆษก คปค. อย่างเป็นทางการถึงรายละเอียดความเคลื่อนไหวในเวลานั้นว่า

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน พล.ร.อ. สถิรพันธุ์ เกยานนท์ และ พล.อ.อ. ชลิต พุกผาสุก เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต

พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณา ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ได้ก่อให้เกิดปัญหา ความขัดแย้งแบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ และมีแนวโน้มนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยว่า การบริหารราชการแผ่นดิน ส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงานอิสระถูกการเมืองครอบงำ ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง แม้หลายภาคส่วนของสังคมจะได้พยายามประนีประนอม คลี่คลายสถานการณ์มาโดยต่อเนื่องแล้ว ก็ไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้"


นอกจากนั้น ตามมาด้วยประกาศรายชื่อคณะบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งในฐานะ "ผู้นำ" และคำสั่งการจัดส่วนงานและการแบ่งมอบหน้าที่ความรับผิดชอบที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
  1. พลเอกเรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผู้บัญชาการทหารทหารสูงสุด เป็น ประธานที่ปรึกษาคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)
  2. พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก เป็น หัวหน้าคณะปฏิรูปฯ (คปค.)
  3. พลอากาศเอก ชลิต พุกพาสุก ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นรองหัวหน้าฯ คนที่ 1
  4. พลเรือเอก สถิรพันธ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นรองหัวหน้าฯ คนที่ 2
  5. พลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็น รองหัวหน้าฯ คนที่ 3
  6. พลเอก วินัย ภัทธิยะกุล เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็น เลขาธิการฯ
สำหรับกองบัญชาการ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประกอบด้วย 4 ส่วนงาน คือ
  1. คณะปฏิรูปฯ มี หัวหน้าคณะปฏิรูปฯ เป็น ผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีหน้าที่ในการบริหารราชการให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะปฏิรูปฯ กำหนด
  2. สำนักเลขาธิการ มี เลขาธิการคณะปฏิรูปฯ เป็น ผู้บังคับบัญชาสูงสุด รับผิดชอบงานธุรการและกลั่นกรองบรรดาแถลงการณ์ คำสั่ง หรือประกาศหรือเอกสารทั้งหมด
  3. คณะที่ปรึกษา มีประธานที่ปรึกษาคณะปฏิรูปฯ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีหน้าที่ให้ คำแนะนำปรึกษาในนโยบายความมั่นคงด้านต่างๆ
  4. ฝ่ายกิจการพิเศษ มี เลขาธิการฝ่ายกิจการพิเศษ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีหน้าที่ อำนวยการ ประสานงานให้เป็นไปตามคำสั่งของคณะปฏิรูปฯ
ทั้งนี้ ยังมีหน่วยขึ้นตรงเพื่อทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวสารแก่สื่อมวลชนและประชาชน คือ สำนักโฆษก โดยมี พลโท พลางกูร กล้าหาญ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร เป็นโฆษกคณะปฏิรูป และประกอบไปด้วยคณะทำงาน อีก 8 นาย คือ พลตรี ทวีป เนตรนิยม เจ้ากรมสารนิเทศ กองบัญชาการทหารสูงสุด เป็นรองโฆษกฯ; พันเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รองเจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร เป็นรองโฆษกฯ ฝ่ายปฏิบัติการ; พันเอก อัคร ทิพโรจน์, พันเอกหญิง ศิริจันทร์ งาทอง, พันโท ศนิโรจน์ ธรรมยศ, นาวาโท สุรสันต์ คงสิริ (ร.น.) และ เรือโทหญิง วรศุลี ทองดี (ร.น.) เป็นผู้ช่วยโฆษกฯ; ร้อยเอก นายแพทย์ ยงยุทธ มัยลาภ และ พันเอก ชาญชัย ร่มเย็น เป็น คณะทำงานโฆษกฯ

นอกจากนั้น ยังแยกย่อยลงไปเป็น คณะโฆษกทางโทรทัศน์ มีหน้าที่อ่านแถลงการณ์ คำสั่ง และประกาศต่างๆ ของคณะปฏิรูปฯ ออกอากา เป็นรายการพิเศษทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยมีสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เป็นแม่ข่าย ประกอบด้วยคณะทำงานดังต่อไปนี้ พลตรี ประพาศ ศกุนตนาค ที่ปรึกษาสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5, นายสิทธิชาติ บุญมานนท์ ผู้ประกาศข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3, นางสาว ทวินันท์ คงคราญ หัวหน้าประชาสัมพันธ์ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5, นายกันตชาติ เกษมสันต์ ณ อยุธยา ผู้ประกาศข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5, นางศศินา วิมุตตานนท์ ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7, นายมนัส ตั้งสุข ผู้ประกาศข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5, นายชาญชัย กายสิทธิ์ ผู้ประกาศข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3, พันตรีหญิง ดวงกมล เทวพิทักษ์ ผู้ประกาศข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5, นางสาวศศิวรรณ์ เลิศวิริยะประภา ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์ไอทีวี, นางสาวปานระพี รพิพันธุ์ ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7

ส่วนที่สุดของที่สุดที่ถือเป็น "กล่องดวงใจ" ของคณะปฏิรูปฯ ซึ่งก็คือ คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย ประกอบไปด้วย นายมีชัย ฤชุพันธุ์, นายวิษณุ เครืองาม, นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ, นายไพศาล พืชมงคล (ผู้ร่างแถลงการณ์ ประกาศ คำสั่ง คปค. ฉบับแรกๆ รวมทั้งพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะปฏิรูปฯ และ นายบรรเจิด สิงคะเนติ


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 22-28 ตุลาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549: ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่ถูกลบเลือน (7)

นวมทอง ไพรวัลย์: ใช้ความตายต้านรัฐประหาร

ในคืนวันที่ คปค. ก่อการรัฐประหารนั้นเอง สื่อต่างประเทศที่เกาะติดสถานการณ์การเมืองไทยมาตลอดนับจากมีแนวโน้มว่าจะนำไปสู่วิกฤตการณ์ครั้งใหม่ ไม่รอช้าที่จะรายงานข่าวการรัฐประหารครั้งนี้ไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักข่าว CNN ของสหรัฐอเมริกา พาดหัวข่าวว่า "ผู้บัญชาการกองทัพไทยก่อรัฐประหารขณะนายกรัฐมนตรีอยู่ต่างประเทศ" (Thai army chief leads coup while prime minister away)

ส่วนการรายงานถึงคณะทหารที่ทำการรัฐประหารโดยสำนักข่าวต่างประเทศ ก็ยังถูกรายงานแตกต่างกันไปในสื่อต่างประเทศ อาทิ เดอะการ์เดียน (The Guardian) หนังสือพิมพ์ชั้นนำของอังกฤษ แปลชื่อ คปค. ว่า "Council of Administrative Reform" สำนักข่าวเอพี (Association Press) ของสหรัฐอเมริกาขยายความออกไปว่า "คณะปฏิรูปการปกครองอันมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเป็นประมุข" (with king Bhumibol Adulyadej as head of state) ในขณะที่หนังสือพิมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล เฮรัลด์ ทริบูน (International Herald Tribune) ในเครือนิวยอร์คไทมส์ (The New York Times Company) แปลว่า "คณะ ปฏิรูปการปกครองอันประกอบด้วยกองทัพและตำรวจได้ยึดอำนาจในพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช" (a 'Council of Administrative Reform' including the military and the police had siezed power in the name of the King Bhumibol Adulyadej)

ความสับสนในข่าวสารในระดับนานาชาติเหล่านั้น ส่งผลให้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษ Council for Democratic Reform under Constitutional Monarchy (CDRM) ด้วยการตัด "under Constitutional Monarchy" ออกในเวลาต่อมา เพื่อไม่ให้สื่อต่างประเทศนำไปตีความว่า คณะปฏิรูปฯ เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็น Council for Democratic Reform (CDR) โดยยังคงใช้ชื่อภาษาไทยตามเดิม

และทันทีที่ คปค. ควบคุมสถานการณ์และอำนาจบังคับบัญชา "กองทัพ" และระบบบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างเด็ดขาด การดำเนินการเร่งด่วนก็ตามมานั่นคือการจับกุมนักการเมืองในรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณหลายคน คือ พล.ต.อ.ชิตชัย วรรณสถิตย์, น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งถูกควบคุมตัว ณ กองบัญชาการกองทัพบก พร้อมกันนั้นมีคำสั่งเรียกตัวนายยงยุทธ ติยะไพรัชและนายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งทั้งสองได้เข้ารายงานตัวเมื่อวันที่ 21 กันยายนและถูกควบคุมตัวไว้ ก่อนที่ทั้งหมด ยกเว้นนายสมชายจะได้รับการปล่อยตัวภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เมื่อวันที่ 27 กันยายน

หลังการรัฐประหารมีการแสดงการสนับสนุนและต่อต้านจากหลายฝ่าย ที่สำคัญคือกลุ่มสนับสนุนจากแวดวงวิชาการอาทิ นายสเน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ในเวลานั้น) ที่กล่าวสนับสนุนอย่างชัดเจนว่า "อย่ามองว่ามันถอยหลัง เพราะเราถอยหลังมาจนถึงจุดแล้วและรัฐธรรมนูญถูกต้อนเข้ามุม ดังนั้น มันไม่ใช่เรื่องเดินหน้าหรือถอยหลัง แต่เป็นเรื่องของการแก้สถานการณ์ ความจริงรัฐธรรมนูญถูกฉีกมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีขึ้นมาบริหารประเทศ" และ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวต่อประเด็นการรัฐประหารว่า ผู้ที่รัฐประหารสำเร็จถือเป็น "องค์อธิปัตย์" ซึ่งกลายเป็นประเด็นถกเถียงในหมู่นักวิชาการทางด้านกฎหมายต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งดูเหมือนว่าหากการยึดอำนาจเป็นผลสำเร็จ ข้อหา "กบฏ" จะถูกยกเลิกโดยกฎหมายนิรโทษกรรมเช่นที่ผ่านมา หลังจากนั้นก็มีความพยายามอธิบายความชอบธรรมของการรัฐประหารครั้งนี้จากนักวิชาการจำนวนมาก รวมทั้งการสนับสนุนจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งทั้งของรัฐและเอกชน เช่น รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร อธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

และสำหรับท่าทีของฝ่ายต่อต้านการรัฐประหาร ก็เริ่มขึ้นในทันทีทันใดตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2549 เช่นกัน โดย เรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร และนายทวี ไกรคุปต์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคไทยรักไทย ประกาศประท้วงการรัฐประหารที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแต่ทั้งสองคนก็ถูกทหารควบคุมตัวขึ้นรถไป ตามมาด้วย "เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร" ประกอบด้วย นักกิจกรรมทางสังคม นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ได้ออกแถลงการณ์ พร้อมกับประกาศนัดหมายผู้ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารร่วมทำกิจกรรมหลายรูปแบบ โดยเชิญชวนให้ผู้รักประชาธิปไตยร่วมพบปะและชุมนุมโดยสงบและเปิดเผยโดยสวมเสื้อสีดำ ในวันศุกร์ที่ 22 กันยายน เวลา 18.00 น.เป็นต้นไป บริเวณลานน้ำพุ หน้าศูนย์การค้าสยามพารากอน

หลังจากนั้น ในวันที่ 25 กันยายน 2549 เวลา 17.00 น. ที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ท่าพระจันทร์ มีการรวมตัวกันของ ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ในนาม "กลุ่มโดมแดง" พร้อมด้วยสมาชิกศูนย์ข่าวกิจกรรมนักศึกษาและสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันประมาณ 70 คน เพื่อคัดค้านการรัฐประหาร ด้วยการออกแถลงการณ์ "ขัดขืนภาคปฏิบัติ คัดค้านรัฐประหาร" โดยเน้นว่า "แม้การรัฐประหารครั้งนี้จะได้รับการชื่นชมจากสาธารณชน สื่อมวลชนที่ควรทำหน้าที่แตกต่างกลับมีพฤติกรรมไม่ต่างจากทนายแก้ต่างให้กับการกระทำที่ไม่ชอบธรรม ดังนั้นพวกเราที่ประกอบด้วยนักวิชาการ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ  ตลอดจนผู้รักในเสรีภาพมาร่วมชุมนุมและอภิปรายทางการเมืองอย่างเปิดเผย แม้เป็นการขัดคำสั่งของ คปค. แต่มโนสำนึกไปปลุกให้เราออกมากระทำการอารยะขัดขืนกับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมครั้งนี้"

ต่อมาวันที่ 30 กันยายน นายนวมทอง ไพรวัลย์ อดีตพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บางกรวย ได้ขับรถยนต์แท็กซี่ โตโยต้า โคโรลล่า สีม่วง ทะเบียน ทน 345 กรุงเทพมหานคร พุ่งเข้าชนรถถังเบา M41A2 Walker Bulldog ป้ายทะเบียนตรากงจักร 71116 ของคณะปฏิรูปฯ ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า และได้รับบาดเจ็บสาหัส

และในคืนวันที่ 31 ตุลาคม นายนวมทองในชุดเสื้อยืดสีดำ สกรีนข้อความเป็นบทกวีของ "รวี โดมพระจันทร์" (ยุทธพงศ์ ภูริสัมบรรณ) และด้านหลังเป็นบทกวีของ "ศรีบูรพา" (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ผูกคอตายกับราวสะพานลอย บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก เยื้องกับที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดยในจดหมายลาตายระบุว่า ต้องการลบคำสบประมาทของ พ.อ. อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษก คปค. ที่ว่า ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 22-28 ตุลาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549: ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่ถูกลบเลือน (6)

จาก คปค. สู่ คมช. และ รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์

ใน "บทนำ" คำแถลง "ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการปฏิรูปการปกครองในประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549" หรือ "สมุดปกขาว คมช." ได้ให้ข้อสรุปถึงเหตุของการทำรัฐประหารไว้ดังนี้

    "ในสถานการณ์ที่การบริหารประเทศด้วยการใช้เครื่องมือและกลไกตามระบอบประชาธิปไตยคลายเคลื่อนไปจากหลักการที่แท้จริงโดยขาดธรรมาภิบาล ผู้บริหารที่ใช้อำนาจซึ่งได้มาจากกระบวนการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมมักจะนำไปสู่การแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายโดยง่าย ทั้งผู้มีอำนาจนั้นมักจะไม่พยายามประสานความแตกต่าง หากจะตอกย้ำขยายช่องว่าง ทำให้เกิดการแตกความสามัคคีของคนในชาติ และมีแนวโน้มที่จะเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรงของกลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันดังที่เรียกยุทธวิธีนี้ว่า "แบ่งแยกแล้วปกครอง" (divide and rule) สภาพเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อสถาบันสำคัญทั้งหลายของชาติ เพราะจะทำให้ถึงจุดที่กลไกประชาธิปไตยเดิมไม่เหลือทางเลือกอื่นใดให้กับสังคมไทยอีกต่อไป อันจะเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง

    "การพัฒนาประชาธิปไตยของไทยเพื่อให้ก้าวไปสู่เนื้อหาประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงเลี่ยงไม่พ้นการที่จะต้องเข้าระงับยับยั้งและเปลี่ยนแปลงแก้ไข ตลอดจนเยียวยาเพื่อให้ทุกอย่างกลับมาสู่ร่องรอยปกติตามขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิต และความรู้สึกร่วมกันของประชาชนชาวไทย กระบวนการนี้อาจเรียกว่า "การปฏิรูปการเมืองการปกครอง" เหตุการณ์ดังกล่าวแม้สาธารณชนในระดับสากลและภายในประเทศบางส่วนจะมองว่าเป็นการทำให้ระบอบประชาธิปไตยชะงักลง หรือที่คำพังเพยไทยเรียกว่า "ถอยหลังเข้าคลอง" แต่คนส่วนหนึ่งในประเทศและนักวิชาการไม่น้อยที่ปรารภว่า "บางครั้งก็ต้องจำยอมเสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต" "ชะลอกลไกหรือพิธีการไว้ก่อน เพื่อรักษาหลักการ" บางคนกล่าวว่า "ประชาธิปไตยของไทยถูกกัดกร่อนทำลายไปก่อนหน้านี้แล้ว" และบางคนถึงกับอุปมาว่า "ถอยหลังเข้าคลองยังดีกว่าเดินไปข้างหน้าแล้วจมน้ำตาย" ภายหลังการปฏิรูป จึงต้องให้ความสำคัญแก่พัฒนาการเพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยที่ทั้งรูปแบบและสาระแห่งการปกครองนั้นสามารถตอบสนองคุณค่า (value) ที่สำคัญของสังคมและยังประโยชน์สุขต่อประชาชนทุกระดับได้"

ทั้งนี้ นับจากวันที่ 19 กันยายน ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2549 คณะรัฐประหารภายใต้ชื่อ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ก็ดำเนินการปกครองบริหารประเทศด้วยการออก "ประกาศ คปค." ฉบับต่างๆ อยู่ 10 วัน รวม 36 ฉบับ ซึ่งทั้งหมดนั้น ลงชื่อโดย พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะฯ

เริ่มจาก "ประกาศฯ ฉบับที่ 1" ความว่า:

    "ตามที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเป็นที่เรียบร้อย ตามที่ได้ประกาศให้ทราบทั่วกันแล้วนั้น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยให้เกิดกับประชาชนทั้งประเทศ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 เวลา 21.05 น."

และฉบับสุดท้าย คือ "ประกาศฯ ฉบับที่ 36" ลงวันที่ 30 กันยายน ความว่า

    "เพื่อให้การรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ เป็นไปโดยรัดกุมและเรียบร้อยยิ่งขึ้น จึงให้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ. 2546 เป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ. 2549"

จากนั้นในวันที่ 1 ตุลาคม ก็ประกาศธรรมนูญปกครองประเทศชั่วคราวคือ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549" ซึ่งมีทั้งหมด 39 มาตรา เนื้อหาที่สำคัญคือ กำหนดให้ คปค. เป็นผู้รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงทั้งหมดโดยเปลี่ยนสภาพเป็น "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)" โดยหัวหน้า คปค. จะดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ มีอำนาจเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานสภาและรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่จะประกาศใช้ในเวลาต่อมา (คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550)

และผลงานที่สำคัญเพื่อการรับรองจากนานาชาติ คือการแต่งตั้งให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตผู้บัญชาการทหารบกระหว่างปี 2541-2545 และอดีตผู้บัญชาชาการทหารสูงสุดระหว่างปี 2545-2546 ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งองคมนตรีเป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นจึงมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเข้าบริหารประเทศ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี 4 คน คือ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน รองนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2548

สำหรับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นั้น นอกเหนือจากเป็นบุตรชายของ พ.ท.พโยม จุลานนท์ ซึ่งเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยภายใต้นามแฝงว่า "สหายคำตัน" กระทั่งก้าวเข้าสู่การเป็นเสมือนผู้บัญชาการสูงสุด หรือ เสนาธิการกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) แล้ว ยังเป็นหลานตาของ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) นายทหารระดับแม่ทัพ ในกองกำลังกบฏบวรเดช ในปี 2476 ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในที่รบ บริเวณสถานีรถไฟหินลับ สระบุรี ขณะที่กำลังฝ่ายกบฏกำลังถอยทัพจากกรุงเทพอีกด้วย

นอกจากนั้น ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 พล.อ.สุรยุทธ์ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จังหวัดลพบุรี ได้เป็นผู้สั่งการกองกำลังทหารเข้าตรวจค้นในบริเวณโรงแรมรัตนโกสินทร์.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 15-21 ตุลาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549: ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่ถูกลบเลือน (5)

ปฏิญญาฟินแลนด์: กระสุนด้านที่ใช้ได้ผล

แม้ว่าจะไม่สามารถนำเสนอหลักฐานยืนยันเพื่อสนับสนุนการกล่าวหาดังกล่าวแต่อย่างใด หลังจากการมีการเผยแพร่สิ่งที่อ้างว่าเป็นข้อมูล กลับมีการตอบรับแทบจะในทันทีจากนักวิจารณ์ที่มีชื่อเสียงหายคน รวมไปถึงผู้นำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตามมาด้วย นายชัยอนันต์ สมุทวณิช สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549 และผู้บังคับการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย, นายโสภณ สุภาพงษ์ รักษาการสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร, นายปราโมทย์ นาครทรรพ นักเขียนและนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตผู้นำพรรคพลังใหม่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ตลอดจนผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ นายถาวร เสนเนียม

เนื้อหาของแผนฟินแลนด์ ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร วางแผนสมคบคิดกับอดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ยึดอำนาจการปกครอง และก่อตั้งรัฐคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีประเด็นสำคัญประกอบด้วย

1. สร้างระบบรัฐบาลแบบพรรคการเมืองเดียว
2. เปลี่ยนระบบราชการให้อยู่ภายใต้อำนาจสั่งการของพรรคการเมือง
3. การแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้กลายเป็นของภาคเอกชน เพื่อสร้างระบบทุนนิยมที่สมบูรณ์แบบ พร้อมที่จะพลิกเป็นระบบคอมมิวนิสต์
4. ลดทอนความสำคัญของสถาบันกษัตริย์
5. สร้างระบบพรรคการเมืองแบบรวมอำนาจที่กรรมการบริหารพรรคและผู้นำพรรค


ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2549 ได้มีการจัดงานที่ใช้ชื่อว่าเสวนาทางวิชาการเรื่อง "ปฏิญญาฟินแลนด์ ยุทธศาสตร์ครองเมืองของไทยรักไทย" ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยมี ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทรวณิช, ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ, นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งสื่อในเครือผู้จัดการ โดยมีนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง รักษาการ สว.กทม. เป็นผู้ดำเนินรายการ มีประชาชนรับฟังกว่า 1,000 คน นายสนธิ กล่าวว่า พันธมิตรไม่เคยรู้มาก่อนในเรื่องของปฏิญญาฟินแลนด์ แต่มีอดีตพรรคพวกของพรรคไทยรักไทยขึ้นไปปราศรัยบนเวทีสนามหลวง และมาเล่าให้แกนนำพันธมิตรฟังว่ามีการไปฟินแลนด์และทำข้อตกลงในหลายๆ เรื่องทั้งยังมีการล่องเรือ โดยมีคนอ้วนไปยื่นบนดาดฟ้าเรือแล้วตะโกนว่า "เราจะคว่ำฟ้าพลิกดิน"

มีการขยายความข้อกล่าวหาในสื่อกระแสหลักที่ในเวลาต่อมาเรียกรวมกับกลุ่มปัญญาชนนักวิชาการ รวมไปถึงนักคิดนักเขียนจำนวนหนึ่ง ว่าเป็น "กลุ่มต้านทักษิณ" ที่สำคัญคือความพยายามในการอ้างว่าแผนการนี้เกี่ยวข้องกับกลุ่มโพ้นทะเลซึ่ง มีเจตนาจะล้มล้างราชวงศ์จักรี การอ้างว่าการยุบรวมสื่อเป็นองค์ประกอบหลักของทฤษฎีสมคบคิดดังกล่าว การอ้างว่าแผนการดังกล่าวมีเจตนาที่จะรักษารูปแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐ ธรรมนูญแต่ลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์จนเหลือเพียงในนามเท่านั้น และการอ้างว่ากฎหมายได้รับการออกแบบมาเพื่อการกระจายอำนาจการปกครองออกจากศูนย์กลางไปยังจังหวัดอื่นๆ ของไทยเพิ่มยิ่งขึ้น และการกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณต้องการสถาปนารัฐบาลตามรูปแบบของประเทศประชาธิปไตยตะวันตก

นอกจากนี้ ขบวนการดังกล่าวยังเชื่อมโยงว่าผู้สมรู้ร่วมคิดกับทักษิณเป็นอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งรวมไปถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายภูมิธรรม เวชยชัย และมีการปรับใช้ทฤษฎีมาร์กซิสต์ดั้งเดิมเพื่อกำหนดแนวทางยุทธศาสตร์ของพรรคไทยรักไทยในการส่งเสริมทุนนิยม การอ้างดังกล่าวระบุว่าประเทศไทยระหว่างพุทธทศวรรษ 2510 ยังคงเป็นสังคมกึ่งศักดินา และมีความจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมทุนนิยมอันเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมนิยม กลุ่มคอมมิวนิสต์ได้ทำงานร่วมกับทักษิณเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมของไทยเต็มตัว ทำลายสิ่งที่เหลือของยุคศักดินา และแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ในขณะเดียวกับที่สร้างเผด็จการพรรคการเมืองเดียว เพื่อที่จะสร้างเผด็จการสังคมนิยมในอนาคต

การกล่าวหาดังกล่าวได้รับการปฏิเสธจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และผู้นำพรรคไทยรักไทย รวมไปถึง น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และ น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช

ในบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น หนึ่งในสื่อกระแสหลักที่ค่อนข้างทรงอิทธิพล ซึ่งมีแนวทางการนำเสนอข่าวและเนื้อหาในการต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ เขียนว่า:

"ประเด็นที่ว่าทฤษฎีดังกล่าวมีอยู่จริงหรือไม่นั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะพิสูจน์ แต่สนธิและคนอื่นๆ ควรจะรู้มากกว่าจะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองที่ปะทุขึ้นง่ายให้เลวร้ายลงไป อีกด้วยการกล่าวหาอย่างขาดความรับผิดชอบซึ่งอาจยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง และความรุนแรงระหว่างสองฝ่ายที่มีความเห็นแตกต่างกัน" (The Nation, Hatred debases public discourse, 27 May 2006)

ทั้งนี้ก่อนหน้านั้น 2 วัน เดอะ เนชั่น ฉบับวันที่ 25 พฤษภาคม 2549 ยังนำเสนอไว้ในบทความ "Burning Issue: Finland, monarchy: a dangerous mix" ซึ่งมีการแปลเป็นภาษาไทยในเว็บไซต์ http://th.wikipedia.org/wiki/แผนฟินแลนด์ ว่า แผนฟินแลนด์ ไม่ว่าจะมีอยู่จริงหรือไม่ก็ตาม แต่การอุทธรณ์ของราชวงศ์กลายๆ ก็เพียงพอที่จะสร้างความเสียหายแก่พรรคไทยรักไทย นักวิจารณ์หลายคนได้เปรียบเทียบความคล้ายกันระหว่างการกล่าวหาแผนการ ฟินแลนด์กับการกล่าวหาที่ใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามการเดินขบวนนักเรียนในเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งในบริบทของวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันอาจสร้างความชอบธรรมให้แก่การก่อรัฐประหาร กองทัพไทยได้ประสบความสำเร็จในการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลทักษิณในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ซึ่งหนึ่งในคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองได้อ้างเหตุผลของรัฐประหารว่าทักษิณได้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์

ต่อมาวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร โดยนายธนา เบญจาธิกุล ทนายความจากพรรคไทยรักไทย ได้ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล บรรณาธิการ, นายขุนทอง ลอเสรีวานิช คอลัมนิสต์, นายปราโมทย์ นาครทรรพ ผู้บริหาร, นางสาวเสาวลักษณ์ ธีรานุจรรงค์ และนายปัญจภัทร อังคสุวรรณ เว็บมาสเตอร์ ในข้อหาหมิ่นประมาท โดยในคำฟ้องกล่าวหาว่าบทความดังกล่าวมีเจตนาทำลายพรรคไทยรักไทยและอนาคตทางการเมืองของทักษิณโดยการทำให้สาธารณชนเชื่อว่าพรรคมีแผนการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ความคืบหน้าคดีแผนฟินแลนด์ ในเวลาต่อมาหลังการรัฐประหาร 19 กันยาฯ ที่ศาลอาญา โดยในวันที่ 8 ตุลาคม 2550 ทนายโจทก์ได้ประกาศชื่อพยานฝ่ายโจทก์จำนวน 12 คน ระบุชื่อ นายสุขุม นวลสกุล เป็นพยานปากที่ 1 ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์ เป็นพยานปากที่ 2 นายสมัคร สุนทรเวช เป็นพยานปากที่ 4 พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ เป็นพยานปากที่ 6.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 8-14 ตุลาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8