ปฏิญญาฟินแลนด์: กระสุนด้านที่ใช้ได้ผล
แม้ว่าจะไม่สามารถนำเสนอหลักฐานยืนยันเพื่อสนับสนุนการกล่าวหาดังกล่าวแต่อย่างใด หลังจากการมีการเผยแพร่สิ่งที่อ้างว่าเป็นข้อมูล กลับมีการตอบรับแทบจะในทันทีจากนักวิจารณ์ที่มีชื่อเสียงหายคน รวมไปถึงผู้นำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตามมาด้วย นายชัยอนันต์ สมุทวณิช สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549 และผู้บังคับการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย, นายโสภณ สุภาพงษ์ รักษาการสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร, นายปราโมทย์ นาครทรรพ นักเขียนและนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตผู้นำพรรคพลังใหม่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ตลอดจนผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ นายถาวร เสนเนียม
เนื้อหาของแผนฟินแลนด์ ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร วางแผนสมคบคิดกับอดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ยึดอำนาจการปกครอง และก่อตั้งรัฐคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีประเด็นสำคัญประกอบด้วย
1. สร้างระบบรัฐบาลแบบพรรคการเมืองเดียว
2. เปลี่ยนระบบราชการให้อยู่ภายใต้อำนาจสั่งการของพรรคการเมือง
3. การแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้กลายเป็นของภาคเอกชน เพื่อสร้างระบบทุนนิยมที่สมบูรณ์แบบ พร้อมที่จะพลิกเป็นระบบคอมมิวนิสต์
4. ลดทอนความสำคัญของสถาบันกษัตริย์
5. สร้างระบบพรรคการเมืองแบบรวมอำนาจที่กรรมการบริหารพรรคและผู้นำพรรค
ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2549 ได้มีการจัดงานที่ใช้ชื่อว่าเสวนาทางวิชาการเรื่อง "ปฏิญญาฟินแลนด์ ยุทธศาสตร์ครองเมืองของไทยรักไทย" ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยมี ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทรวณิช, ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ, นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งสื่อในเครือผู้จัดการ โดยมีนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง รักษาการ สว.กทม. เป็นผู้ดำเนินรายการ มีประชาชนรับฟังกว่า 1,000 คน นายสนธิ กล่าวว่า พันธมิตรไม่เคยรู้มาก่อนในเรื่องของปฏิญญาฟินแลนด์ แต่มีอดีตพรรคพวกของพรรคไทยรักไทยขึ้นไปปราศรัยบนเวทีสนามหลวง และมาเล่าให้แกนนำพันธมิตรฟังว่ามีการไปฟินแลนด์และทำข้อตกลงในหลายๆ เรื่องทั้งยังมีการล่องเรือ โดยมีคนอ้วนไปยื่นบนดาดฟ้าเรือแล้วตะโกนว่า "เราจะคว่ำฟ้าพลิกดิน"
มีการขยายความข้อกล่าวหาในสื่อกระแสหลักที่ในเวลาต่อมาเรียกรวมกับกลุ่มปัญญาชนนักวิชาการ รวมไปถึงนักคิดนักเขียนจำนวนหนึ่ง ว่าเป็น "กลุ่มต้านทักษิณ" ที่สำคัญคือความพยายามในการอ้างว่าแผนการนี้เกี่ยวข้องกับกลุ่มโพ้นทะเลซึ่ง มีเจตนาจะล้มล้างราชวงศ์จักรี การอ้างว่าการยุบรวมสื่อเป็นองค์ประกอบหลักของทฤษฎีสมคบคิดดังกล่าว การอ้างว่าแผนการดังกล่าวมีเจตนาที่จะรักษารูปแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐ ธรรมนูญแต่ลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์จนเหลือเพียงในนามเท่านั้น และการอ้างว่ากฎหมายได้รับการออกแบบมาเพื่อการกระจายอำนาจการปกครองออกจากศูนย์กลางไปยังจังหวัดอื่นๆ ของไทยเพิ่มยิ่งขึ้น และการกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณต้องการสถาปนารัฐบาลตามรูปแบบของประเทศประชาธิปไตยตะวันตก
นอกจากนี้ ขบวนการดังกล่าวยังเชื่อมโยงว่าผู้สมรู้ร่วมคิดกับทักษิณเป็นอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งรวมไปถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายภูมิธรรม เวชยชัย และมีการปรับใช้ทฤษฎีมาร์กซิสต์ดั้งเดิมเพื่อกำหนดแนวทางยุทธศาสตร์ของพรรคไทยรักไทยในการส่งเสริมทุนนิยม การอ้างดังกล่าวระบุว่าประเทศไทยระหว่างพุทธทศวรรษ 2510 ยังคงเป็นสังคมกึ่งศักดินา และมีความจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมทุนนิยมอันเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมนิยม กลุ่มคอมมิวนิสต์ได้ทำงานร่วมกับทักษิณเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมของไทยเต็มตัว ทำลายสิ่งที่เหลือของยุคศักดินา และแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ในขณะเดียวกับที่สร้างเผด็จการพรรคการเมืองเดียว เพื่อที่จะสร้างเผด็จการสังคมนิยมในอนาคต
การกล่าวหาดังกล่าวได้รับการปฏิเสธจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และผู้นำพรรคไทยรักไทย รวมไปถึง น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และ น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช
ในบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น หนึ่งในสื่อกระแสหลักที่ค่อนข้างทรงอิทธิพล ซึ่งมีแนวทางการนำเสนอข่าวและเนื้อหาในการต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ เขียนว่า:
"ประเด็นที่ว่าทฤษฎีดังกล่าวมีอยู่จริงหรือไม่นั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะพิสูจน์ แต่สนธิและคนอื่นๆ ควรจะรู้มากกว่าจะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองที่ปะทุขึ้นง่ายให้เลวร้ายลงไป อีกด้วยการกล่าวหาอย่างขาดความรับผิดชอบซึ่งอาจยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง และความรุนแรงระหว่างสองฝ่ายที่มีความเห็นแตกต่างกัน" (The Nation, Hatred debases public discourse, 27 May 2006)
ทั้งนี้ก่อนหน้านั้น 2 วัน เดอะ เนชั่น ฉบับวันที่ 25 พฤษภาคม 2549 ยังนำเสนอไว้ในบทความ "Burning Issue: Finland, monarchy: a dangerous mix" ซึ่งมีการแปลเป็นภาษาไทยในเว็บไซต์ http://th.wikipedia.org/wiki/แผนฟินแลนด์ ว่า แผนฟินแลนด์ ไม่ว่าจะมีอยู่จริงหรือไม่ก็ตาม แต่การอุทธรณ์ของราชวงศ์กลายๆ ก็เพียงพอที่จะสร้างความเสียหายแก่พรรคไทยรักไทย นักวิจารณ์หลายคนได้เปรียบเทียบความคล้ายกันระหว่างการกล่าวหาแผนการ ฟินแลนด์กับการกล่าวหาที่ใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามการเดินขบวนนักเรียนในเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งในบริบทของวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันอาจสร้างความชอบธรรมให้แก่การก่อรัฐประหาร กองทัพไทยได้ประสบความสำเร็จในการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลทักษิณในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ซึ่งหนึ่งในคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองได้อ้างเหตุผลของรัฐประหารว่าทักษิณได้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์
ต่อมาวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร โดยนายธนา เบญจาธิกุล ทนายความจากพรรคไทยรักไทย ได้ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล บรรณาธิการ, นายขุนทอง ลอเสรีวานิช คอลัมนิสต์, นายปราโมทย์ นาครทรรพ ผู้บริหาร, นางสาวเสาวลักษณ์ ธีรานุจรรงค์ และนายปัญจภัทร อังคสุวรรณ เว็บมาสเตอร์ ในข้อหาหมิ่นประมาท โดยในคำฟ้องกล่าวหาว่าบทความดังกล่าวมีเจตนาทำลายพรรคไทยรักไทยและอนาคตทางการเมืองของทักษิณโดยการทำให้สาธารณชนเชื่อว่าพรรคมีแผนการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ความคืบหน้าคดีแผนฟินแลนด์ ในเวลาต่อมาหลังการรัฐประหาร 19 กันยาฯ ที่ศาลอาญา โดยในวันที่ 8 ตุลาคม 2550 ทนายโจทก์ได้ประกาศชื่อพยานฝ่ายโจทก์จำนวน 12 คน ระบุชื่อ นายสุขุม นวลสกุล เป็นพยานปากที่ 1 ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์ เป็นพยานปากที่ 2 นายสมัคร สุนทรเวช เป็นพยานปากที่ 4 พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ เป็นพยานปากที่ 6.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 8-14 ตุลาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน