Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549: ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่ถูกลบเลือน (14)

"รัด-ประ-หาร-2549" : ผลอันเกิดแต่เหตุที่ต้องลบล้าง

การ "ฆาตกรรมรัฐบาล" ครั้งล่าสุดในประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ผ่านมาแล้ว 5 ปี กับอีก 3 เดือนเศษ ไม่เพียงขยายความขัดแย้งทั้งทางการเมืองและทางสังคมที่ก่อรูปมานับจากปลายปี 2547 ในช่วงปลายรัฐบาลเสียงข้างมากพรรคไทยรักไทยที่นำโดย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือ

1. ล้มล้างรัฐบาลเลือกตั้ง

2. ล้มล้างรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มีที่มาจากการรัฐประหาร

3. ให้กำเนิดสิ่งที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ซึ่งเขียนอารัมภบทไว้ว่า "เหตุที่ทำการยึดอำนาจและประกาศให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเสียนั้น ก็โดยปรารถนาจะแก้ไขความเสื่อมศรัทธาในการบริหารราชการแผ่นดิน ความไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินและการตรวจสอบการใช้ อำนาจรัฐ ทำให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยไม่อาจหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ อันเป็นวิกฤติการณ์ร้ายแรงทางการเมืองการปกครอง และปัญหาความขัดแย้งในมวลหมู่ประชาชนที่ถูกปลุกปั่นให้แบ่งแยกเป็นฝักเป็น ฝ่ายจนเสื่อมสลายความรู้รักสามัคคีของชนในชาติอันเป็นวิกฤติการณ์รุนแรงทาง สังคม แม้หลายภาคส่วนจะได้ใช้ความพยายามแก้ไขวิกฤติการณ์ดังกล่าวแล้วแต่ก็ไม่เป็น ผล กลับมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจนถึงขั้นใช้กำลังเข้าปะทะกัน ซึ่งอาจมีการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อได้ นับว่าเป็นภยันตรายใหญ่หลวงต่อระบอบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ และความสงบเรียบร้อยของประเทศ จำเป็นต้องกำหนดกลไกทางปกครองที่เหมาะสมแก่สถานการณ์เพื่อใช้ไปพลางก่อน"

4. สุดท้ายเพื่อการสร้าง "ความชอบธรรม (จอมปลอม)" ในที่สุด สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ผ่าน "รัด-ทำ-มะ-นูน-2550" ออกมา และรองรับด้วยกระบวนการ "ลงประชามติ" ชนิดหมกเม็ด ภายใต้เงื่อนไข 2 ประการ คือ 1. รับไปก่อนแล้วแก้ภายหลัง และ 2. ถ้าไม่รับจะบังคับใช้ด้วย "รัด-ทำ-มะ-นูน" ที่ยัดเยียดให้โดย คมช.

นั่นหมายถึง นับจากการ "ฆาตกรรมรัฐบาลเลือกตั้ง" หรือที่รู้จักกันในชื่อ "การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490" เป็นต้นมา ประเทศนี้ตกอยู่ภายใต้การปกครองโดย "ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย" ครั้งแล้วครั้งเล่า มีการยึดอำนาจการปกครองสำเร็จ 10 ครั้ง โดยมีสิ่งที่เรียกว่า "รัฐธรรมนูญ" เป็นกฎหมายสูงสุดถึง 15 ฉบับ ทั้งนี้มีการจัดให้มีการเลือกตั้งรวม 21 ครั้ง และทั้งหมดนั้น ล้วนอยู่ภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ และ/หรือ การกำหนด "อำนาจอธิปไตย" ที่หาได้เป็นของ "ปวงชนชาวไทย" ไว้ในรัฐธรรมนูญ

ข้อเท็จจริงที่ผ่านมาในอดีต ในประเทศที่ "กล่าวอ้าง" ถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย กลับถูกปกครองมาเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ด้วย "คำสั่งทั้งหลายโดยการรัฐประหารซึ่งไม่ชอบด้วยหลักการประชาธิปไตย" ซึ่งได้แก่ "ประกาศคณะปฏิวัติ" "ประกาศคณะปฏิรูปการปกครอง" "ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ" มาจนถึงล่าสุด "ประกาศคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ" และ/หรือ คำสั่งหรือประกาศอื่นๆในทำนองเดียวกัน และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีฝ่ายนิติบัญญัติที่ "อ้าง" ประชาธิปไตย ดำเนินการทางรัฐสภา "กำจัด" เศษเดนหลงเหลือดังกล่าวของอำนาจเผด็จการออกจากสังคมไทยกันอย่างแท้จริงโดยที่ "ผู้แทนปวงชน" ซึ่งใช้อำนาจนิติบัญญัติ ดูเหมือนจะพากันละลืมข้อเท็จจริงที่ว่า "คำสั่งเผด็จอำนาจ" เหล่านั้น หาได้ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติในสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งไม่ ทั้งยังมีท่าที "ยอมจำนน" ต่ออำนาจตุลาการ จนกลายเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายไปแล้ว ว่าคณะบุคคลที่ "ปล้นอำนาจรัฐ" โดยการ "ฉีกรัฐธรรมนูญ" นั้น ดำรงสถานะเป็น "รัฏฐาธิปัตย์" โดยไม่อาจโต้แย้ง

ประเด็นสำคัญก็คือ การไม่ตระหนักและส่งผ่านองค์ความรู้แก่ประชาชนว่า แม้จะมีรัฐธรรมนูญสักกี่ฉบับ แม้จะมีการเลือกตั้งสักกี่ครั้ง ก็หาได้หมายความว่าประเทศใดประเทศหนึ่งจะเป็นประชาธิปไตยได้แต่อย่างใดไม่ ตราบใดที่ทั้งสองบริบทนั้น ไม่มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตย ที่ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

นั่นคือ การตอกย้ำอีกครั้ง ถึงภารกิจการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แท้จริงขึ้นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำจัดอุปสรรคสำคัญประการเดียว คือ "ระบอบเผด็จการ" จะโดยเต็มรูปแบบหรือหมกเม็ด สอดไส้ ซ่อนรูปอย่างใดก็แล้วแต่ ซึ่งตามมากับ "การรัฐประหาร"

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา คณะอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนาม "คณะนิติราษฎร์" ได้ออกคำแถลงการณ์เนื่องในโอกาส ครบรอบการก่อตั้งคณะนิติราษฎร์ 1 ปี เสนอ 4 ประเด็น คือ
(1) แนวคิดลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยา
(2) การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
(3) กระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหาหรือจำเลยและการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย ภายหลังรัฐประหาร และ
(4) การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550


สำหรับในประเด็นที่ 1 การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในแถลงการณ์ ประการแรก ให้ "1. ประกาศให้รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการกระทำใดๆที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2549 เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย"

และต่อมาในวันที่ 25 กันยายน 2554 ที่ห้อง LT 1. คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์แถลงข่าวกรณีข้อเสนอให้ลบล้างผลพวงจากการรัฐ ประหาร หลังข้อเสนอในครั้งแรกถูกตอบโต้จากฝ่ายการเมืองตลอดสัปดาห์ โดยในการนี้ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ กล่าวว่า "ในแถลงการณ์ของเรานั้นชัดเจนว่าไม่ใช่การนิรโทษกรรม ไม่ใช่การล้างมลทิน แม้แต่พูดอย่างนี้สื่อบางสำนักก็ยังบอกว่าเป็นการล้างความผิด ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่เสนอให้ตรงไปตรงมาในเบื้องต้นก่อน ไม่ควรบิดเบือนข้อเท็จจริงทำให้สังคมเข้าใจผิด อาจะเป็นไปได้ว่าข้อเสนอครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การปกครองระบอบ ประชาธิปไตย 2475 ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน สื่อจึงไม่สามารถเสนอตามความเป็นจริง และเหตุผลของเรามีน้ำหนักมากจนกระทั่งการเสนอข่าวตามความเป็นจริงจะทำให้สังคมคล้อยตามพวกเรา"


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 31 ธันวาคม 2554-6 มกราคม 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8