Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549: ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่ถูกลบเลือน (7)

นวมทอง ไพรวัลย์: ใช้ความตายต้านรัฐประหาร

ในคืนวันที่ คปค. ก่อการรัฐประหารนั้นเอง สื่อต่างประเทศที่เกาะติดสถานการณ์การเมืองไทยมาตลอดนับจากมีแนวโน้มว่าจะนำไปสู่วิกฤตการณ์ครั้งใหม่ ไม่รอช้าที่จะรายงานข่าวการรัฐประหารครั้งนี้ไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักข่าว CNN ของสหรัฐอเมริกา พาดหัวข่าวว่า "ผู้บัญชาการกองทัพไทยก่อรัฐประหารขณะนายกรัฐมนตรีอยู่ต่างประเทศ" (Thai army chief leads coup while prime minister away)

ส่วนการรายงานถึงคณะทหารที่ทำการรัฐประหารโดยสำนักข่าวต่างประเทศ ก็ยังถูกรายงานแตกต่างกันไปในสื่อต่างประเทศ อาทิ เดอะการ์เดียน (The Guardian) หนังสือพิมพ์ชั้นนำของอังกฤษ แปลชื่อ คปค. ว่า "Council of Administrative Reform" สำนักข่าวเอพี (Association Press) ของสหรัฐอเมริกาขยายความออกไปว่า "คณะปฏิรูปการปกครองอันมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเป็นประมุข" (with king Bhumibol Adulyadej as head of state) ในขณะที่หนังสือพิมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล เฮรัลด์ ทริบูน (International Herald Tribune) ในเครือนิวยอร์คไทมส์ (The New York Times Company) แปลว่า "คณะ ปฏิรูปการปกครองอันประกอบด้วยกองทัพและตำรวจได้ยึดอำนาจในพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช" (a 'Council of Administrative Reform' including the military and the police had siezed power in the name of the King Bhumibol Adulyadej)

ความสับสนในข่าวสารในระดับนานาชาติเหล่านั้น ส่งผลให้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษ Council for Democratic Reform under Constitutional Monarchy (CDRM) ด้วยการตัด "under Constitutional Monarchy" ออกในเวลาต่อมา เพื่อไม่ให้สื่อต่างประเทศนำไปตีความว่า คณะปฏิรูปฯ เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็น Council for Democratic Reform (CDR) โดยยังคงใช้ชื่อภาษาไทยตามเดิม

และทันทีที่ คปค. ควบคุมสถานการณ์และอำนาจบังคับบัญชา "กองทัพ" และระบบบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างเด็ดขาด การดำเนินการเร่งด่วนก็ตามมานั่นคือการจับกุมนักการเมืองในรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณหลายคน คือ พล.ต.อ.ชิตชัย วรรณสถิตย์, น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งถูกควบคุมตัว ณ กองบัญชาการกองทัพบก พร้อมกันนั้นมีคำสั่งเรียกตัวนายยงยุทธ ติยะไพรัชและนายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งทั้งสองได้เข้ารายงานตัวเมื่อวันที่ 21 กันยายนและถูกควบคุมตัวไว้ ก่อนที่ทั้งหมด ยกเว้นนายสมชายจะได้รับการปล่อยตัวภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เมื่อวันที่ 27 กันยายน

หลังการรัฐประหารมีการแสดงการสนับสนุนและต่อต้านจากหลายฝ่าย ที่สำคัญคือกลุ่มสนับสนุนจากแวดวงวิชาการอาทิ นายสเน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ในเวลานั้น) ที่กล่าวสนับสนุนอย่างชัดเจนว่า "อย่ามองว่ามันถอยหลัง เพราะเราถอยหลังมาจนถึงจุดแล้วและรัฐธรรมนูญถูกต้อนเข้ามุม ดังนั้น มันไม่ใช่เรื่องเดินหน้าหรือถอยหลัง แต่เป็นเรื่องของการแก้สถานการณ์ ความจริงรัฐธรรมนูญถูกฉีกมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีขึ้นมาบริหารประเทศ" และ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวต่อประเด็นการรัฐประหารว่า ผู้ที่รัฐประหารสำเร็จถือเป็น "องค์อธิปัตย์" ซึ่งกลายเป็นประเด็นถกเถียงในหมู่นักวิชาการทางด้านกฎหมายต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งดูเหมือนว่าหากการยึดอำนาจเป็นผลสำเร็จ ข้อหา "กบฏ" จะถูกยกเลิกโดยกฎหมายนิรโทษกรรมเช่นที่ผ่านมา หลังจากนั้นก็มีความพยายามอธิบายความชอบธรรมของการรัฐประหารครั้งนี้จากนักวิชาการจำนวนมาก รวมทั้งการสนับสนุนจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งทั้งของรัฐและเอกชน เช่น รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร อธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

และสำหรับท่าทีของฝ่ายต่อต้านการรัฐประหาร ก็เริ่มขึ้นในทันทีทันใดตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2549 เช่นกัน โดย เรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร และนายทวี ไกรคุปต์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคไทยรักไทย ประกาศประท้วงการรัฐประหารที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแต่ทั้งสองคนก็ถูกทหารควบคุมตัวขึ้นรถไป ตามมาด้วย "เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร" ประกอบด้วย นักกิจกรรมทางสังคม นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ได้ออกแถลงการณ์ พร้อมกับประกาศนัดหมายผู้ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารร่วมทำกิจกรรมหลายรูปแบบ โดยเชิญชวนให้ผู้รักประชาธิปไตยร่วมพบปะและชุมนุมโดยสงบและเปิดเผยโดยสวมเสื้อสีดำ ในวันศุกร์ที่ 22 กันยายน เวลา 18.00 น.เป็นต้นไป บริเวณลานน้ำพุ หน้าศูนย์การค้าสยามพารากอน

หลังจากนั้น ในวันที่ 25 กันยายน 2549 เวลา 17.00 น. ที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ท่าพระจันทร์ มีการรวมตัวกันของ ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ในนาม "กลุ่มโดมแดง" พร้อมด้วยสมาชิกศูนย์ข่าวกิจกรรมนักศึกษาและสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันประมาณ 70 คน เพื่อคัดค้านการรัฐประหาร ด้วยการออกแถลงการณ์ "ขัดขืนภาคปฏิบัติ คัดค้านรัฐประหาร" โดยเน้นว่า "แม้การรัฐประหารครั้งนี้จะได้รับการชื่นชมจากสาธารณชน สื่อมวลชนที่ควรทำหน้าที่แตกต่างกลับมีพฤติกรรมไม่ต่างจากทนายแก้ต่างให้กับการกระทำที่ไม่ชอบธรรม ดังนั้นพวกเราที่ประกอบด้วยนักวิชาการ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ  ตลอดจนผู้รักในเสรีภาพมาร่วมชุมนุมและอภิปรายทางการเมืองอย่างเปิดเผย แม้เป็นการขัดคำสั่งของ คปค. แต่มโนสำนึกไปปลุกให้เราออกมากระทำการอารยะขัดขืนกับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมครั้งนี้"

ต่อมาวันที่ 30 กันยายน นายนวมทอง ไพรวัลย์ อดีตพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บางกรวย ได้ขับรถยนต์แท็กซี่ โตโยต้า โคโรลล่า สีม่วง ทะเบียน ทน 345 กรุงเทพมหานคร พุ่งเข้าชนรถถังเบา M41A2 Walker Bulldog ป้ายทะเบียนตรากงจักร 71116 ของคณะปฏิรูปฯ ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า และได้รับบาดเจ็บสาหัส

และในคืนวันที่ 31 ตุลาคม นายนวมทองในชุดเสื้อยืดสีดำ สกรีนข้อความเป็นบทกวีของ "รวี โดมพระจันทร์" (ยุทธพงศ์ ภูริสัมบรรณ) และด้านหลังเป็นบทกวีของ "ศรีบูรพา" (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ผูกคอตายกับราวสะพานลอย บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก เยื้องกับที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดยในจดหมายลาตายระบุว่า ต้องการลบคำสบประมาทของ พ.อ. อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษก คปค. ที่ว่า ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 22-28 ตุลาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8