Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549: ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่ถูกลบเลือน (10)

คตส. และ ป.ป.ช. อาวุธสำคัญหรือกระสุนอัปยศ

การดำเนินการของ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. หลังจากยึดอำนาจได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด สามารถควบคุมกลไกการบริหารปกครองประเทศได้ทั่วด้าน คือการสร้างกฎหมาย ซึ่งก็คือประกาศฉบับต่างๆ ตามมาด้วยการสร้างองค์กรขึ้นมารองรับอำนาจที่ "อ้างเอา" ขึ้นมานั้น ทั้งที่ทั้งสองส่วนล้วนแต่ "ขาดความชอบธรรมตามหลักนิติธรรม (Due Process of Law)" และองค์กรที่เป็น "เครื่องมือ" สำคัญ และในเวลาต่อมากลายเป็นประเด็นอภิปรายว่าด้วย "อำนาจ" ที่ได้มาจากการ "การรัฐประหาร" ก็คือ

ในวันที่ 24 กันยายน 2549 คปค. ได้ออกประกาศฉบับที่ 23 เรื่อง การตรวจสอบทรัพย์สิน ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ที่มีอำนาจตรวจสอบการดำเนินงานหรือโครงการต่างๆ ที่ได้รับอนุมัติ หรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง โดยผลการปฏิรูปการปกครอง โดยมี นายสวัสดิ์ โชติพานิช เป็นประธาน และมีกรรมการอื่นอีก 7 คน คือ ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา), อัยการสูงสุด (นายพชร ยุติธรรมดำรง), เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ), เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (พลตำรวจตรี พีรพันธุ์ เปรมภูติ), เจ้ากรมพระธรรมนูญ (พลเอก อัฎฐพร เจริญพานิช), ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล) และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)

จากนั้น ในวันที่ 30 กันยายน 2549 คปค.ได้ออกประกาศฉบับที่ 30 แต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ในเรื่องที่ได้กระทำการให้รัฐเสียหายที่มุ่งหมายเฉพาะรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เพิ่งถูกยึดอำนาจไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน เท่านั้น เพื่อเป็นการแก้ไขอำนาจหน้าที่ และกำหนดหน่วยงานรองรับการปฏิบัติงาน จากประกาศฉบับที่ 23 ให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยขยายอำนาจหน้าที่ให้ครอบคลุมถึงความผิดอันเกิดจากการหลีกเลี่ยงกฎหมาย ภาษีอากร ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และตัดรายชื่อกรรมการที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ว่ามีความใกล้ชิดกับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรออกไป

ทั้งนี้ อำนาจหน้าที่ของ คตส. ตาม ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 นั้นมีการบัญญัติอย่างมีนัยสำคัญในข้อ 9 คือ

"ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบมีมติว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือบุคคลใด กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริต หรือร่ำรวยผิดปกติ ให้ส่งรายงานเอกสารหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อให้อัยการสูงสุดดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง พ.ศ. 2542 โดยให้ถือว่ามติของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีความเห็นแตกต่างแต่คณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นยืนยันความเห็นเดิม ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจดำเนินการให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแล้วแต่กรณี"

กรรมการ คตส. ที่แต่งตั้งครั้งนี้ประกอบด้วย นายนาม ยิ้มแย้ม ประธาน, นายแก้วสรร อติโพธิ เลขานุการ, นายสัก กอแสงเรือง โฆษก, นายกล้านรงค์ จันทิก, คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา, นายจิรนิติ หะวานนท์, นายบรรเจิด สิงคะเนติ, นายวิโรจน์ เลาหะพันธุ์, นายสวัสดิ์ โชติพานิช (ลาออกในเวลาต่อมา), นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์, นายอุดม เฟื่องฟุ้ง และ นายอำนวย ธันธรา

และก่อนหน้าประกาศ คปค.ฉบับที่ 23 ได้ 2 วัน ได้มีการออกประกาศฉบับที่ 19 ลงวันที่ 22 กันยายน 2549 อันเป็นคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการสรรหา (แต่งตั้ง) บุคคลเข้ารับตำแหน่งใน "คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)"  โดยมีเนื้อหาสำคัญคือ ข้อ 1 ให้งดการบังคับใช้บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการสรรหา; ข้อ 3 แต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542  ให้ประกอบด้วย นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ และกรรมการอีก 9 คน คือ นายก ล้านรงค์ จันทิก, นายใจเด็ด พรไชยา, นายประสาท พงษ์ศิวาภัย, ศาสตราจารย์ภักดี โพธิศิริ, ศาสตราจารย์เมธี ครองแก้ว, นายวิชา มหาคุณ, นายวิชัย วิวิตเสวี และ นางสาวสมลักษณ์ จัดกระบวนพล

นอกจากนั้น คำสั่งโดยอาศัยอำนาจจากการ "ยึด" ยังตามมาด้วย "ข้อ 4 ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการตามข้อ 3 พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุใดๆ และมีกรรมการเหลืออยู่ตั้งแต่หกคนขึ้นไป ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่

ถ้าประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่ง ให้กรรมการที่เหลืออยู่คัดเลือกกันเอง ให้กรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการแทน

ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่ง และมีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงหกคน ให้นายกรัฐมนตรีสรรหาบุคคลเพื่อขอความเห็นชอบจากสภาที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติ และนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป หรือดำเนินการสรรหาและแต่งตั้งตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น แล้วแต่กรณี"

และ "ข้อ 5 ให้ประธานกรรมการและกรรมการตามข้อ 3 ดำเนินการตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ

ในกรณีที่บุคคลตามข้อ 3 ไม่ดำเนินการภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งหรือไม่อาจรับตำแหน่งได้ ให้นำความในข้อ 4 มาใช้บังคับโดยอนุโลม"

สำหรับบทบัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. นั้น  ให้

"การสรรหาและการเลือกกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ให้นำบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 257 และมาตรา 258 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ โดยให้มีคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจำนวน 15 คน ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่ง ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 7 คน ผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคละ 1 คน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 5 คน เป็นกรรมการ"

ผลก็คือ ประกาศ คปค. ทั้ง 2 ฉบับ เท่ากับเป็นการ "แต่งตั้ง" องค์กรที่ดูเหมือนจะเข้าข่าย "องค์กรอิสระ" ที่มีจุดมุ่งหมายเฉพาะตามที่คณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ต้องการนั่นเอง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 3-9 ธันวาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8