Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549: ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่ถูกลบเลือน (6)

จาก คปค. สู่ คมช. และ รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์

ใน "บทนำ" คำแถลง "ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการปฏิรูปการปกครองในประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549" หรือ "สมุดปกขาว คมช." ได้ให้ข้อสรุปถึงเหตุของการทำรัฐประหารไว้ดังนี้

    "ในสถานการณ์ที่การบริหารประเทศด้วยการใช้เครื่องมือและกลไกตามระบอบประชาธิปไตยคลายเคลื่อนไปจากหลักการที่แท้จริงโดยขาดธรรมาภิบาล ผู้บริหารที่ใช้อำนาจซึ่งได้มาจากกระบวนการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมมักจะนำไปสู่การแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายโดยง่าย ทั้งผู้มีอำนาจนั้นมักจะไม่พยายามประสานความแตกต่าง หากจะตอกย้ำขยายช่องว่าง ทำให้เกิดการแตกความสามัคคีของคนในชาติ และมีแนวโน้มที่จะเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรงของกลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันดังที่เรียกยุทธวิธีนี้ว่า "แบ่งแยกแล้วปกครอง" (divide and rule) สภาพเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อสถาบันสำคัญทั้งหลายของชาติ เพราะจะทำให้ถึงจุดที่กลไกประชาธิปไตยเดิมไม่เหลือทางเลือกอื่นใดให้กับสังคมไทยอีกต่อไป อันจะเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง

    "การพัฒนาประชาธิปไตยของไทยเพื่อให้ก้าวไปสู่เนื้อหาประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงเลี่ยงไม่พ้นการที่จะต้องเข้าระงับยับยั้งและเปลี่ยนแปลงแก้ไข ตลอดจนเยียวยาเพื่อให้ทุกอย่างกลับมาสู่ร่องรอยปกติตามขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิต และความรู้สึกร่วมกันของประชาชนชาวไทย กระบวนการนี้อาจเรียกว่า "การปฏิรูปการเมืองการปกครอง" เหตุการณ์ดังกล่าวแม้สาธารณชนในระดับสากลและภายในประเทศบางส่วนจะมองว่าเป็นการทำให้ระบอบประชาธิปไตยชะงักลง หรือที่คำพังเพยไทยเรียกว่า "ถอยหลังเข้าคลอง" แต่คนส่วนหนึ่งในประเทศและนักวิชาการไม่น้อยที่ปรารภว่า "บางครั้งก็ต้องจำยอมเสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต" "ชะลอกลไกหรือพิธีการไว้ก่อน เพื่อรักษาหลักการ" บางคนกล่าวว่า "ประชาธิปไตยของไทยถูกกัดกร่อนทำลายไปก่อนหน้านี้แล้ว" และบางคนถึงกับอุปมาว่า "ถอยหลังเข้าคลองยังดีกว่าเดินไปข้างหน้าแล้วจมน้ำตาย" ภายหลังการปฏิรูป จึงต้องให้ความสำคัญแก่พัฒนาการเพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยที่ทั้งรูปแบบและสาระแห่งการปกครองนั้นสามารถตอบสนองคุณค่า (value) ที่สำคัญของสังคมและยังประโยชน์สุขต่อประชาชนทุกระดับได้"

ทั้งนี้ นับจากวันที่ 19 กันยายน ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2549 คณะรัฐประหารภายใต้ชื่อ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ก็ดำเนินการปกครองบริหารประเทศด้วยการออก "ประกาศ คปค." ฉบับต่างๆ อยู่ 10 วัน รวม 36 ฉบับ ซึ่งทั้งหมดนั้น ลงชื่อโดย พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะฯ

เริ่มจาก "ประกาศฯ ฉบับที่ 1" ความว่า:

    "ตามที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเป็นที่เรียบร้อย ตามที่ได้ประกาศให้ทราบทั่วกันแล้วนั้น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยให้เกิดกับประชาชนทั้งประเทศ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 เวลา 21.05 น."

และฉบับสุดท้าย คือ "ประกาศฯ ฉบับที่ 36" ลงวันที่ 30 กันยายน ความว่า

    "เพื่อให้การรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ เป็นไปโดยรัดกุมและเรียบร้อยยิ่งขึ้น จึงให้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ. 2546 เป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ. 2549"

จากนั้นในวันที่ 1 ตุลาคม ก็ประกาศธรรมนูญปกครองประเทศชั่วคราวคือ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549" ซึ่งมีทั้งหมด 39 มาตรา เนื้อหาที่สำคัญคือ กำหนดให้ คปค. เป็นผู้รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงทั้งหมดโดยเปลี่ยนสภาพเป็น "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)" โดยหัวหน้า คปค. จะดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ มีอำนาจเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานสภาและรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่จะประกาศใช้ในเวลาต่อมา (คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550)

และผลงานที่สำคัญเพื่อการรับรองจากนานาชาติ คือการแต่งตั้งให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตผู้บัญชาการทหารบกระหว่างปี 2541-2545 และอดีตผู้บัญชาชาการทหารสูงสุดระหว่างปี 2545-2546 ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งองคมนตรีเป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นจึงมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเข้าบริหารประเทศ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี 4 คน คือ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน รองนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2548

สำหรับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นั้น นอกเหนือจากเป็นบุตรชายของ พ.ท.พโยม จุลานนท์ ซึ่งเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยภายใต้นามแฝงว่า "สหายคำตัน" กระทั่งก้าวเข้าสู่การเป็นเสมือนผู้บัญชาการสูงสุด หรือ เสนาธิการกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) แล้ว ยังเป็นหลานตาของ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) นายทหารระดับแม่ทัพ ในกองกำลังกบฏบวรเดช ในปี 2476 ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในที่รบ บริเวณสถานีรถไฟหินลับ สระบุรี ขณะที่กำลังฝ่ายกบฏกำลังถอยทัพจากกรุงเทพอีกด้วย

นอกจากนั้น ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 พล.อ.สุรยุทธ์ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จังหวัดลพบุรี ได้เป็นผู้สั่งการกองกำลังทหารเข้าตรวจค้นในบริเวณโรงแรมรัตนโกสินทร์.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 15-21 ตุลาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8