Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549: ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่ถูกลบเลือน (13)

"คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน" และ "คณะกรรมการการเลือกตั้ง"

เป็นที่น่าสังเกตเกี่ยวกับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นั้นที่สำคัญคือ "คณะกรรมการการเลือกตั้ง" ในขณะที่ "คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน" อยู่ในเงื่อนไขที่ต่างออกไป

ใน "ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 12" เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป นั้น แบ่งเนื้อหาเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ ใน ข้อ 1 "ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2549 พ้นจากตำแหน่ง" แต่ในขณะที่ ข้อ 2 "ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2549 คงอยู่ในตำแน่งต่อไป จนกว่าจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น" และผู้ว่าการ สตง. ตามคำสั่งนี้คือ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ซึ่งก้าวมาสู่ตำแหน่งโดยหลังจากที่ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มีผลบังคับใช้ และกำหนดให้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นองค์กรอิสระ โดยมีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) 10 คน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 1 คน คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา จึงสมัครเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ประสบปัญหาล่าช้า เนื่องจากผู้สมัครขาดคุณสมบัติ จึงมีผู้เสนอชื่อให้คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนแรก"

หลังการรัฐประหาร 2549 คุณหญิงจารุวรรณได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) และได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2549 ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 12 นั้นเอง

มาในปี 2553 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตีความการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่า สตง. ของคุณหญิงจารุวรรณว่าพ้นจากตำแหน่งนับตั้งแต่วันที่มีอายุครบ 65 ปี โดยนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้เรียกร้องให้คุณหญิงจารุวรรณ ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยดังกล่าว จนเกิดความขัดแย้งกันภายใน สตง. กระทั่งในเดือนตุลาคม 2553 ศาลปกครองกลางได้ตัดสินให้การดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินของคุณหญิงจารุวรรณ สิ้นสุดลงเมื่อมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์แล้ว ในวันที่ 6 กันยายน 2554 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดกรณีการกล่าวหาคุณหญิงจารุวรรณเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินกับพวก จัดสัมมนาโครงการ "สตง. ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา" เป็นเท็จ และส่งเรื่องให้อัยการสูงสูดฟ้องต่อศาลฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

สำหรับในส่วนของ "คณะกรรมการการเลือกตั้ง" (กกต.) ซึ่งมีผู้ให้ความเห็นว่าเป็นองค์กรที่มีอำนาจค่อนข้างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้ใช้อำนาจบริหาร (จัดการเลือกตั้ง) นิติบัญญัติ (ออกระเบียบและประกาศต่างๆ) และตุลาการ (วินิจฉัยชี้ขาดจัดการเลือกตั้งใหม่และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนการประกาศผลเลือกตั้ง) ถือเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่หลักในการควบคุมและจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการจำนวน 5 คน เลือกสรรโดยวุฒิสภา ดำรงตำแหน่งได้สมัยเดียวเป็นเวลา 7 ปี ยกเว้นชุดแรก ดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน (27 พฤศจิกายน 2540 - 26 พฤษภาคม 2544) ตามเงื่อนไขใน พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ

กกต. ชุดที่สอง ที่ถูกตั้งฉายาว่า "สามหนาห้าห่วง" เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2544 โดยที่การสิ้นสุดวาระของ กกต. ชุดนี้ เป็นไปตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2549 ศาลอาญาได้ตัดสินตามคำฟ้องของโจทย์คือ นายถาวร เสนเนียม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในข้อหาการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบของ กกต. โดยการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคไทยรักไทย เป็นเหตุให้คณะกรรมการฯ 3 คนได้แก่ พลตำรวจเอกวาสนา เพิ่มลาภ, นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร ต้องคำพิพากษาศาลอาญา ให้จำคุก 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่งผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง กกต. เนื่องจากขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ

ในวันที่ 10 สิงหาคม ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา 3 คน ประธานแผนกคดีต่างๆ ในศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา จำนวน 84 คน ได้ลงมติเพื่อสรรหาผู้สมควรเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งจำนวน 10 คน จากจำนวนผู้สมัคร 42 คน เพื่อให้ที่ประชุมวุฒิสภา ลงมติคัดเลือกเหลือ 5 คน ทั้งนี้ คณะกรรมการเลือกตั้งชุดนี้จะปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลา 2 ปี ตามวาระที่เหลืออยู่ของคณะกรรมการเลือกตั้งชุดที่สอง

วันที่ 8 กันยายน 2549 ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติคัดเลือกคณะกรรมการเลือกตั้ง ประกอบด้วย นายประพันธ์ นัยโกวิท, นายสุเมธ อุปนิสากร, นายอภิชาต สุขัคคานนท์, นายสมชัย จึงประเสริฐ และนางสดศรี สัตยธรรม

แต่ยังไม่ทันที่ กกต. ชุดนี้จะได้ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ซึ่งได้ถูกกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 15 ตุลาคม 2549 ตามที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 9 นาย วินิจฉัยว่าให้มีการเพิกถอนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายนจนถึงการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ 23 เมษายน เนื่องจากการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นั้นเอง

ประเด็นเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งและทำหน้าที่ของ กกต. ชุดนี้ ที่แม้ว่าได้รับการสรรหาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ก่อนส่งให้วุฒิสภาคัดเลือกอีกชั้นหนึ่ง แต่ยังไม่ทันมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ก็เกิดการรัฐประหารโดยการนำของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลินขึ้นเสียก่อน และในวันรุ่งขึ้นจากวันยึดอำนาจ คือวันที่ 20 กันยายน 2549 คปค. จึงได้ออก "ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 13" เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลใช้บังคับต่อไป โดยให้เหตุผลไว้ในวรรคแรกว่า "เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นเป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม และสามารถดำเนินการต่อไปได้ อย่างต่อเนื่อง" โดยให้กรรมการการเลือกตั้งชุดวันที่ 8 กันยายน คงทำหน้าที่ต่อไป "จนกว่าจะประกาศเป็นอย่างอื่น"


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 24-30 ธันวาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8