Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (3)

"กบฏผู้มีบุญ" อีสาน :
"กบฏกูย" ต้นรัตนโกสินทร์


การสร้างเมืองอุบล

หลังจากการลุกขึ้นสู้ของชาวนาครั้งใหญ่ในสมัยพระเพทราชา ที่เรียกว่า "กบฏบุญกว้าง" ในปี พ.ศ. 2242 แล้ว การแข็งข้อต่ออำนาจรัฐศักดินา (ระบอบจตุสดมภ์) อย่างเป็นขบวนการ มีการจัดตั้ง วางแผน กระทั่งการประกาศสถาปนาการปกครองและ/หรือราชวงศ์ ที่เป็นราษฎรเชื้อสาย "ลาว" ความพยายามรวบรวมไพร่ผล หรือเกิดมีหัวหน้าซึ่งอ้าง "ความเป็นผู้วิเศษ" มีฤทธิ์เดชเหนือผู้คนทั่วไป สามารถสร้างความเชื่อถือศรัทธาขยายวงกว้างออกไปทุกที ห่างหายว่างเว้นไปจากหน้าประวัติศาสตร์เกือบหนึ่งร้อยปี กระทั่งการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2310 การเกิดราชวงศ์ธนบุรีที่มีอายุแสนสั้นเพียง 15 กษัตริย์เพียงพระองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากสามัญชน สายเลือดจีนโพ้นทะเล เพียงพระองค์เดียวคือ "พระเจ้ากรุงธนบุรี" หรือที่ประชาชนในเวลาต่อมาเรียกชื่อตามบรรดาศักดิ์และนามเดิมว่า "พระเจ้าตาก (สิน)"

กบฏชาวนาช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์เป็นกบฏของ "ชาวกูย" ซึ่งมีถิ่นเดิมอยู่บริเวณตอนเหนือของเมืองกำปงธม ประเทศกัมพูชา และอพยพครั้งใหญ่ในสมัยปลายอยุธยา (พ.ศ.2245-2326) เข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปัจจุบัน คนสมัยนั้นเรียกชาวกูยว่า "เขมรป่าดง" แต่ชาวกูยเรียกเรียกตัวองว่า "กุย" หรือ "โกย" ซึ่งแปลว่า "คน" และชาวกูยจะไม่ยอมรับคำเรียกขานชาติพันธุ์ของตนว่า "ส่วย" (ปัจจุบันพบชาวกูยในจังหวัดบุรีรัมย์ อุบลราชธานี นครราชสีมา มหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษและ สุพรรณบุรี) ส่วนใหญ่ชาวกูยในประเทศไทย ตั้งถิ่นฐานปนอยู่กับชาวเขมรสูงและชาวลาว ทำให้ชาวกูยถูกกลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม เขมรสูงและลาว ชุมชนกูย เป็นชุมชนที่สามารถพึ่งตัวเองได้ในทางเศรษฐกิจ โดยการหาของป่าทั้งสัตว์และพืชพันธุ์ไม้มีค่า รวมทั้งทำการผลิตเพื่ออยู่เพื่อกินในครัวเรือน นอกจากนั้นยังมีความสามารถในการพัฒนาเครื่องมือและรูปแบบทางการผลิตเพี่อการดำรงชีวิตประจำวัน มีการจัดระเบียบทางการปกครองในชุมชนอย่างมีศักดิ์ศรีตามลำดับชั้นความสำคัญ ผู้มีอาวุโสที่สุดเป็นผู้มีบทบาทต่อการตัดสินผิดถูกในชุมชน ซึ่งชาวกูย เรียกว่า "โขด"

ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 กลุ่มชาวกูยมีฐานะเป็นข้าไพร่แผ่นดินสยาม ถูกเกณฑ์แรงงานและจัดส่งส่วย ให้แก่ทางราชการอยู่โดยตลอด ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการเมืองการปกครองในเวลาต่อมา เนื่องจากชายฉกรรจ์ชาวกูยมักหลบหนีการเกณฑ์ บางครั้งถึงกับซุ่มโจมตีทำร้ายขุนนางท้องถิ่น แล้วหนีเข้าป่า ที่สำคัญมีการ "ลุกขึ้นสู้" ขึ้นหลายครั้ง

กบฏชาวนาครั้งแรกในยุครัตนโกสินทร์เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์ คือ "กบฏเชียงแก้ว" เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2334 อ้ายเชียงแก้ว ซึ่งตั้งบ้านอยู่ที่ตำบลเขาโอง แขวงเมืองโขง คิดการกบฏ พาพรรคพวกไพร่พลเข้ายึดนครจำปาศักดิ์ พระเจ้าองค์หลวง (ไชยกุมาร) เจ้าเมืองป่วยหนัก และถึงแก่พิราลัย อ้ายเชียงแก้วจึงยึดเมืองนครจำปาศักดิ์ไว้ได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) เมื่อครั้งเป็น พระพรหม ยกกระบัตร ยกกองทัพเมืองนครราชสีมามาปราบกบฎอ้ายเชียงแก้ว แต่ก่อนที่กองทัพนครราชสีมาจะยกไปถึง พระประทุมสุรราช (ท้าวคำผง) และท้าวฝ่ายหน้า ผู้น้อง ที่ตั้งอยู่บ้านสิงห์ท่า (เมืองยโสธร) ยกกำลังไปรบกับกองกำลังของฝ่ายอ้ายเชียงแก้วก่อน การสู้รบถึงขั้นแตกหักที่บริเวณ แก่งตะนะ (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี) กองกำลังอ้ายเชียงแก้วแตกพ่ายไป อ้ายเชียงแก้วถูกจับได้ และถูกประหารชีวิต

ส่วนกองทัพเมืองนครราชสีมายกมาถึงเมืองจำปาศักดิ์ เหตุการณ์ก็สงบเรียบร้อยแล้ว จึงยกกองทัพไปตีพวกข่า "ชาติกระเสงสวาง จะรายระแดร์" ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขง จับพวกข่าเป็นเชลย ได้เป็นจำนวนมาก จากความดีความชอบในการปราบปรามกบฏอ้ายเชียงแก้วนี้เอง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงได้ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ ท้าวฝ่ายหน้า เป็นพระวิไชยราชขัตติยวงศา ครองนครจำปาศักดิ์ และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พระประทุมสุรราช เป็นพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ ครองเมืองอุบลราชธานี พร้อมกับยกฐานะบ้านห้วยแจระแมขึ้นเป็นเมืองอุบลราชธานี เมื่อวันจันทร์ แรม 13 ค่ำ เดือน 8 จุลศักราช 1154 (พ.ศ.2335) ดังปรากฏในพระสุพรรณบัตรตั้งเจ้าประเทศราชในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ว่า

"….ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้า ผู้ผ่านพิภพกรุงเทพ มหานครศรีอยุธยา มีพระราชโองการโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม ตั้งให้ พระประทุม เป็นพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ ครองเมืองอุบลราชธานี ศรีวนาไลยประเทศราช เศกให้ ณ วัน 2 แรม 13 ค่ำ เดือน 8 จุลศักราช 1154 ปีจัตวาศก..."

ถัดมาในสมัยรัชกาลที่ 2 แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เกิด "กบฏสาเกียดโง้ง" ขึ้นในปี พ.ศ. 2363 ทางกรุงเทพฯรียกกันว่าเป็น "กบฏข่า" (คำว่า "ข่า" ในภาษาไทย ลาวกลาง ลาวใต้ ออกเสียงตรงกันหมดว่าข่า แต่ความหมายและคำที่ถูกคือ "ข้า" ที่หมายถึง ขี้ข้า หรือ ข้าทาส หรือ ทาส; (อ่านแผ่นดินท้องถิ่นเรา, สุจิตต์ วงษ์เทศ, พลังลาว ชาวอีสาน มาจากไหน เวลาเปลี่ยนไป ความหมาย "ลาว" เปลี่ยนแปลง, มติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์, http://info.matichon.co.th/weekly/wk_txt.php?srctag=MTQxMzAwNjQ5) ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลาวใต้ และบริเวณอีสานใต้ ทางราชสำนักราชวงศ์จักรีที่กรุงเทพฯ มีบัญชาให้เจ้าอนุวงศ์ ผู้ครองเวียงจันทร์ ยกทัพไปปราบ และได้จับสาเกียดโง้ง และชาวข่า (กูย) พร้อมทั้งครอบครัวจำนวนมากส่งมากรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้จำสาเกียดโง้งไว้ตลอดชีวิต ส่วนครอบครัวกูยโปรดให้เป็นตะพุ่นหญ้าช้าง ตั้งบ้านเรือนที่บางบอนธนบุรี กูยเคยมีจำนวนถึง 300,000  คน ถูกลดจำนวนลงเหลือเพียงไม่กี่พัน เมื่อรัฐไทยได้เข้าไปจัดเก็บภาษีในบริเวณอีสานใต้ โดยมีการพัฒนาจัดเก็บภาษีเป็นควาย ซึ่งนอกเหนือจากภาษีของคนป่า เพื่อนำส่งไปยังกรุงเทพฯ เช่นปี พ.ศ. 2402 ที่เมืองสุรินทร์ ให้จัดส่งควาย 61 ตัว เมืองรัตนบุรี 163 ตัว และกองพระยาภักดีชุมพลเมืองสุรินทร์ 32 ตัว

จะเห็นว่าราชสำนักทางกรุงเทพฯ มีการวางแผนจัดกำลังให้ชนชาติต่างกันเข้า "ปราบปราม" การลุกขึ้นสู้ที่เป็น "กบฏชาวนา" ไม่เพียงเป็นการใช้นโยบาย "แบ่งแยกแล้วปกครอง" เท่านั้น หากยังเป็นการสร้างความไม่ไว้วางใจและความเคียดแค้นระหว่างชนชาติต่างๆในขอบขัณฑสีมา จนไม่สามารถสามัคคีกันหรือรวมกันติด และอาจก่อให้เกิดปัญหาที่มีขนาดและขอบเขตใหญ่มากกว่าที่เป็นอยู่นั้น แม้ว่าแต่ละเชื้อชาติเหล่านั้น ล้วนตกอยู่ภายใต้ "แอก" การปกครองแบบ "จตุสดมภ์" เดิมดังได้กล่าวมาแล้ว โดยที่ในเวลานั้น การจัดเก็บภาษีส่วยสาอากรได้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เข้าวัฏฏจักรวิกฤตอีกครั้ง เนื่องจากภาวะแร้นแค้น การทำมาหากินฝืดเคือง กูยไม่มีส่วยสิ่งของส่ง จึงเอาตัวส่งส่วยด้วยแรงงานแทน เกิด "กบฏสามโบก" ที่ขอนแก่นเมื่อปี 2438 มีจุดเริ่มต้นจากการต่อต้านการเก็บภาษีรัชชูปการ (ภาษีที่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์เรียกเก็บจากราษฎรสยามแทนการเกณฑ์แรงงาน "ไพร่" ในฐานะที่ทุกคนเป็นข้าแผ่นดิน ภาษีดังกล่าวได้ยกเลิกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง) หลายหมู่บ้านในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นก่อกบฏและสามารถสร้าง "เขตปลดปล่อย" จากอำนาจรัฐท้องถิ่น ปฏิเสธการส่งส่วยและการเกณฑ์แรงงานเป็นเวลานานถึงสามปี กว่าจะถูกปราบปรามลงจนสำเร็จราบคาบ.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 1-7 กันยายน 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8