Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (4)

สังเขปการปกครองระบบจตุสดมภ์: ก่อนและหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์


แผนที่อยุธยา แสดงอาณาเขตพระนครจากภาพมุมสูง

"กบฏชาวนา" หรือ "กบฏไพร่" ครั้งใหญ่และส่งผลสะเทือนต่อระบอบการเมืองการปกครองมากที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ เรียกชื่อต่างๆกันไปคือ "กบฏผู้มีบุญ" หรือ "ขบถผีบุญ" หรือ "กบฏผีบ้าผีบุญ" ที่เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2444-2445 มูลเหตุสำคัญประการหนึ่งคือการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองจาก "ระบอบศักดินา" หรือ "ระบอบจตุสดมภ์" มาสู่ "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" หรือที่เรียกว่า "การปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดิน"

ก่อนการปฏิรูประเบียบการบริหารราชการแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นผลมาจาก "กรณีวังหน้า" ในปี พ.ศ. 2417 รัฐสยามนับจากสมัยอยุธยา ปกครองด้วยระบอบจตุสดมภ์ และการปกครองพระราชอาณาเขตแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การปกครองส่วนกลาง การปกครองส่วนหัวเมือง และการปกครองเมืองประเทศราช

การปกครองส่วนกลางที่เริ่มใช้มาตั้งแต่สมัย สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งอยุธยา (พ.ศ. 1893-1912) จตุสดมภ์แบ่งออกเป็น 4 กรม มีหัวหน้าเรียกว่า "ขุน" ฐานะเทียบเท่าเสนาบดี แบ่งเป็น

  1. กรมเมือง มีขุนเมืองเป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ดูแลความสงบสุขของบ้านเมืองและราษฎร
  2. กรมวัง มีขุนวังเป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ดูแลราชสำนัก คดีความ แต่งตั้งยกกระบัตรไปประจำยังหัวเมือง ทำหน้าที่เป็นขุนนางต่างพระเนตรพระกรรณ ตรวจสอบดูแลและทำหน้าที่รายงานข่าวมายังพระนครหลวง
  3. กรมคลัง มีขุนคลังเป็นหัวหน้า ทำหน้าที่เก็บรักษาและจ่ายพระราชทรัพย์ในราชการ
  4. กรมนา มีขุนนาเป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ตรวจการทำไร่นา ออกสิทธิ์ที่นา และเก็บส่วนแบ่งข้าวมาไว้ในฉางหลวง
ต่อมาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991-2031) มีการจัดตั้งกรมขึ้นสองกรม ได้แก่ กรมมหาดไทย ซึ่งดูแลกิจการพลเรือน โดยมีสมุหนายกเป็นอัครเสนาบดีดูแล และกรมกลาโหม ซึ่งดูแลกิจการทหาร โดยมีสมุหพระกลาโหมดูแล จตุสดมภ์นั้นให้มาขึ้นกับกรมมหาดไทย แล้วมีการเปลี่ยนชื่อและเพิ่มหน้าที่ ดังนี้

  1. กรมเมืองเปลี่ยนชื่อเป็น กรมพระนครบาล มีพระยายมราชเป็นเสนาบดี ทำหน้าที่ปราบปรามโจรผู้ร้าย รักษาความสงบภายใน ดับเพลิงในพระนคร และตัดสินคดีความร้ายแรง
  2. กรมวังเปลี่ยนชื่อเป็น กรมธรรมาธิบดี มีพระยาธรรมาศรีสุริยวงศ์อัครมหาอุดมบรมวงษาธิบดี หรือพระยาธรรมาธิบดีเป็นเสนาบดี ทำหน้าที่ดูแลงานในพระราชสำนัก งานธุรการ ตัดสินคดีความ และแต่งตั้งยกกระบัตรไปดูแลหัวเมืองต่าง ๆ
  3. กรมคลังเปลี่ยนชื่อเป็น กรมโกษาธิบดี มีพระยาศรีธรรมราชเดชาชาติอำมาตยานุชาติพิพัทรัตนราชโกษาธิบดี หรือเรียกสั้นๆว่า พระยาโกษาธิบดี เป็นเสนาบดี ทำหน้าที่เกี่ยวกับพระราชทรัพย์ การค้ากับต่างประเทศ บัญชีวัสดุและอาวุธของราชการ พระคลังหลวง การรับรองทูตต่างประเทศ และการตัดสินคดีความของคนต่างชาติ
  4. กรมนาเปลี่ยนชื่อเป็น กรมเกษตราธิบดี มีพระยาพลเทพราชเสนาบดีเป็นเสนาบดี ทำหน้าที่ตรวจตราและส่งเสริมการทำนา เก็บข้าวไว้เป็นเสบียงยามสงคราม ตัดสินคดีความเกี่ยวกับที่นา ออกกรรมสิทธิ์ที่นาแก่ราษฎร
ทั้งนี้การปกครองส่วนกลางที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หลังจากสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์และราชวงศ์จักรีขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองราชอาณาจักร และใช้มาช่วงสุดท้ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบด้วยอัครมหาเสนาบดีสองคน คือ สมุหพระกลาโหม มียศและพระราชทินนามว่า เจ้าพระยามหาเสนา ใช้ตราคชสีห์เป็นตราประจำตำแหน่งมีอำนาจบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้ทั้งด้านการทหารและพลเรือน สมุหนายก มียศและพระราชทินนามไม่ทรงกำหนดแน่นอน ที่ใช้อยู่ได้แก่ เจ้าพระยาจักรี บดินทร์เดชานุชิต รัตนาพิพิธ ฯลฯ ใช้ตราราชสีห์เป็นตราประจำตำแหน่ง มีอำนาจบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือและอีสานทั้งด้านการทหารและพลเรือน ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงสถานภาพ ศักดิ์ ฐานะ และอำนาจหน้าที่ของจตุสดมภ์ มีดังนี้

  1. กรมเวียง หรือ กรมเมือง เสนาบดีคือ เจ้าพระยายมราช มีตราพระยมทรงสิงห์เป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่ดูแลกิจการทั่วไปในพระนคร
  2. กรมวัง เสนาบดีคือ พระยาธรรมา ใช้ตราเทพยดาทรงพระนนทิการ (พระโค) เป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่ดูแลพระราชวังและตั้งศาลชำระความ
  3. กรมคลัง หรือ กรมท่า ใช้ตราบัวแก้วเป็นตราประจำตำแหน่ง มีเสนาบดีดำรงตำแหน่งตามหน้าที่รับผิดชอบคือ ฝ่ายการเงิน ตำแหน่งเสนาบดีคือ พระยาราชภักดี, ฝ่ายการต่างประเทศ ตำแหน่งเสนาบดีคือ พระยาศรีพิพัฒน์ และฝ่ายตรวจบัญชีและดูแลหัวเมืองชายทะเลตะวันออก ตำแหน่งเสนาบดีคือ พระยาพระคลัง
  4. กรมนา เสนาบดีมีตำแหน่ง พระยาพลเทพ ใช้ตราพระพิรุณทรงนาคเป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่ดูแลนาหลวง เก็บภาษีข้าว และพิจารณาคดีความเกี่ยวกับที่นา
ส่วนการปกครองส่วนหัวเมือง แบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ หัวเมืองชั้นใน (ดินแดนที่เป็นอยู่ใต้อำนาจรัฐศักดินาดั้งเดิมหรือดินแดนชั้นใน) กับหัวเมืองชั้นนอก

หัวเมืองชั้นใน (เดิมเรียกว่า เมืองลูกหลวง หรือ เมืองหน้าด่าน) ได้แก่ หัวเมืองที่กระจายอยู่รายล้อมเมืองหลวงอยู่ภายในระยะที่จะติดต่อกันได้ภายใน 2 วัน ถือเป็นเมืองบริวารของเมืองหลวง ไม่มีศักดิ์เป็นเมืองอย่างแท้จริง เพราะไม่มี เจ้าเมือง มีเพียง ผู้รั้ง (ซึ่งไม่มีอำนาจอย่างเจ้าเมือง จะต้องฟังคำสั่งจากเมืองหลวง) ได้แก่ จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี สมุทรสาคม นครสวรรค์ ชัยนาท ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และนครนายก

หัวเมืองชั้นนอก ได้แก่ หัวเมืองที่อยู่ถัดออกไปจากหัวเมืองชั้นในทั้งหมด โดยจัดแบ่งระดับเป็นเมืองชั้น เอก โท ตรี ตามขนาด จำนวนพลเมืองและความสำคัญ แต่ละเมืองยังอาจมีเมืองเล็กๆ (เมืองจัตวา) อยู่ใต้สังกัดอีกด้วย เจ้าเมืองของเมืองเหล่านี้ มีอำนาจสิทธิขาดในเมืองของตน แต่ต้องปฏิบัติตามพระบรมราชโองการจากส่วนกลางตามเขตการรับผิดชอบคือ

  •  หัวเมืองเหนือและอีสาน อยู่ในความรับผิดชอบของสมุหนายก
  •  หัวเมืองใต้ (ตั้งแต่เมืองเพชรบุรีลงไป) อยู่ในความรับผิดชอบของสมุหพระกลาโหม
  •  หัวเมืองชายทะเลตะวันออก (นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สาครบุรี ชลบุรี บางละมุง ระยอง จันทบุรี และตราด) อยู่ในความรับผิดชอบของเสนาบดีกรมพระคลัง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 08-14 กันยายน 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8