Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (47)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(16)

นายทหารคณะผู้บริหารระดับสูงวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรและโรงเรียนเสนาธิการทหารพ.ศ. 2511 จากซ้ายไปขวา จอมพลถนอม กิตตขจร พลออากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ และ พลเอก กฤษณ์ สีวะรา

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในฐานะพ่อขุนที่ใช้อำนาจเด็ดขาด (2)

สุมาลี พันธุ์ยุรา เขียนบทสรุปไว้ในย่อหน้าสุดท้ายสำหรับหัวข้อ "จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในฐานะพ่อขุนที่ใช้อำนาจเด็ดขาด" ในบทความ "ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" (http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ) ไว้เป็นลักษณะกึ่งคำถาม:
ในท้ายที่สุด คำถามหนึ่งที่มักจะปรากฏขึ้นเกี่ยวกับผู้นำทางการเมืองซึ่งมีอำนาจเด็ดขาดก็คือว่า ผู้นำนั้นเป็นผู้ปกครองประดุจบิดาหรือเผด็จการกันแน่ ทักษ์ เฉลิมเตียรณให้ความเห็นว่าลักษณะของผู้นำทั้งสองแบบนี้เป็นเรื่องที่ยากที่จะแยกออกจากกันหรือให้คำจำกัดความ ในขณะที่การปกครองประดุจบิดาสื่อความหมายถึงผู้นำที่ทำหน้าที่เหมือนกับบิดาผู้เมตตาปฏิบัติต่อบุตร แต่เป็นไปได้ว่าจะเป็นพ่อที่เผด็จการหรือเมตตากรุณาด้วยก็ได้ การเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดนั้นมีนัยว่าการกระทำต่าง ๆ ที่ผู้นำกระทำขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งปัญหานี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับคำนิยมแต่ไม่ใช่เกี่ยวกับการตัดสินใจโดยเจตนา ในขณะที่ผู้มีอำนาจเด็ดขาดคิดว่า ตนปกครองประดุจบิดานั้น ซึ่งผู้อื่นอาจไม่คิดเช่นนั้น
**********
การที่ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ให้ความหมายของผู้นำในลักษณะจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชนิด "แบ่งรับแบ่งสู้" ระหว่างความเป็น "เผด็จการ" กับ "พ่อปกครองลูก" นั้น เท่ากับสร้าง "บรรทัดฐาน" ให้แก่ความรู้และกระบวนการรับรู้ในสังคมไทย อาจเปรียบเทียบในมุมกลับได้ว่า เป็นการเสนอแนวคิด "เผด็จการแบบไทยๆ" พอๆ กับเป็น "ตรายาง" ให้แก่ "ผู้เผด็จการ" ที่ขาดเสียไม่ได้สำหรับสังคมไทย ที่ประชาชนไม่สมควรตัดสินชะตากรรมของตนเองได้ "โดยผ่านการเลือกตั้ง" และผลสะเทือนของ "หิน" ก้อนนั้นกลางบ่อน้ำที่เต็มไปด้วยจอกแหนในสังคมไทย ยังกลายเป็นแรงกระเพื่อมสืบเนื่องมาอีกกว่าครึ่งศตวรรษ

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากรัฐบาล "คณะปฏิวัติ" ที่มาจากการรัฐประหารทุกคณะในเวลาต่อมาหลังจากสิ้นสุดการปกครอง "ระบอบสฤษดิ์" และ "ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502" ไม่ปรากฏว่ามีความพยายามในการเรียบเรียง/วิเคราะห์ระบบและรูปแบบการปกครองโดยรัฐบาลทหาร และ/หรือ รัฐบาลที่แต่วตั้งโดยคณะทหารที่ยึดอำนาจโดยการรัฐประหาร อีกต่อไป ด้านหนึ่งเป็นไปได้ว่า ระบอบการเมืองหลังการรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ไม่มีและไม่สามารถลงหลักปักฐานอย่างเป็นระบบได้อย่างจริงจัง แม้ว่า "รัฐบาลหอย" กับคณะรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 จะวาง Road Map สร้างประชาธิปไตย 12 ปี เอาไว้ หากแต่กลายเป็นกระสุนด้านไปในเวลาอันรวดเร็ว

จากนั้นบทความของสุมาลีก็เข้าสู่หัวข้อ "จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์กับการสร้างความชอบธรรมทางการเมือง" ซึ่งก็คงวิเคราะห์ผ่าน "ใจกลาง" ของระบบ "พ่อขุน" หรือ "พ่อขุนอุปถัมภ์" ต่อไป
**********
ระบบพ่อขุน (โดยเฉพาะเมื่อผนวกกับการใช้อำนาจแบบเผด็จการ) ไม่เพียงพอสำหรับการปกครองในช่วงระยะเวลาอันยาวนาน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำให้กลุ่มบุคคลผู้มีอำนาจอื่น ๆ ในสังคมไทยให้การสนับสนุนรัฐบาลของตนเอง ในบรรดาผู้สนับสนุนที่สำคัญที่สุด ได้แก่ ข้าราชการและองค์พระมหากษัตริย์ ด้วยความเชื่อมั่นในการพัฒนา จอมพลสฤษดิ์สามารถที่จะให้บทบาทใหม่ ๆ แก่กลุ่มบุคคลเหล่านี้ และได้กำหนดโครงการการปกครองแบบพ่อขุนของตนให้บุคคลเหล่านี้ช่วยเหลือ โครงการเหล่านี้ซึ่งบริหารจากเบื้องบนลงมาเพื่อทำให้อำนาจทางการเมืองมั่นคงขึ้นมากกว่าที่จะได้บรรลุผลในด้านการพัฒนาชาติและสร้างประเทศให้ทันสมัย ซึ่งการพัฒนามักจะหันเหไปสู่จุดมุ่งหมายของความชอบธรรมทางการเมือง

ตัวอย่างเช่น ผู้สนับสนุนในกลุ่มข้าราชการ จอมพลสฤษดิ์สามารถชักจูงข้าราชการระดับสูงที่เข้าศึกษาในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ให้ตระหนักถึงความเร่งด่วนในการพัฒนาชาติและปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงของชาติ ตลอดจนเชื่อมั่นในความชอบธรรมของทหารในเรื่องการปกครอง ดังเช่นที่ข้าราชการพลเรือนได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า "ก่อนที่จะมาศึกษาวปอ.นั้น พลเรือนเราส่วนมากไม่ค่อยจะทราบเรื่องเกี่ยวกับทางทหารมากนัก เมื่อได้เข้าศึกษาแล้ว จึงค่อยเข้าใจและเห็นความสำคัญทางทหารมากขึ้น" [วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, หนังสือประจำรุ่นที่ 8 พ.ศ.2509 อ้างถึงใน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 332] หรือที่นายทหารบางคนได้แสดงออกถึงความรู้สึกของตนเองไว้ว่า "หลังจากสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยนี้แล้วก็จะสามารถทำหน้าที่ของเราได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากได้มองเห็นทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับงานของเราในอนาคต ไม่เฉพาะแต่การแก้ปัญหาด้านการทหารเท่านั้น ยังมีปัญหาทั่ว ๆ ไปของชาติด้วย..." [วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, หนังสือประจำรุ่นที่ 8 พ.ศ.2509 อ้างถึงใน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 333]

ส่วนผู้สนับสนุนที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่งคือองค์พระมหากษัตริย์ รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้สนับสนุนให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลับมามีความมั่นคงอีกครั้ง เพื่อสร้างความถูกต้องชอบธรรมในการเป็นรัฐบาลให้กับกลุ่มการเมืองของตนเองที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งการสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์มีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือรัฐบาลในแง่ของการช่วยส่งเสริมหรือสนับสนุนนโยบายหรือโครงการต่าง ๆ ของระบบพ่อขุน ตัวอย่างเช่น การส่งเสริมให้พระมหากษัตริย์มีโอกาสแสดงพระราชดำรัสต่อประชาชนซึ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมนโยบายของรัฐบาลโดยตรง เนื่องจากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ประชาชนได้พาดพิงและเอื้ออำนวยต่อนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล เช่น พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ใน พ.ศ.2504 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ในการที่ช่วยส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของชาติ และทรงขอให้ประชาชนร่วมมือกับรัฐบาลตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่ตั้งไว้ ดังจะเห็นได้จากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยซึ่งมีเนื้อความว่า
"...ในเรื่องการภายในของเรานั้น ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ท่านทั้งหลายมีความเป็นอยู่ด้วยความสงบสุข และทางรัฐบาลก็พยายามดำเนินการส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติอย่างดีอยู่แล้วทุกด้าน และบัดนี้ด้วยความร่วมมือร่วมกำลังความคิดจากบรรดาข้าราชการที่เกี่ยวข้องและผู้ชำนาญการในสาขาต่าง ๆ รัฐบาลได้วางแผนและโครงการเพื่อฟื้นฟูการเศรษฐกิจและปรับปรุงการศึกษาของชาติขึ้นใหม่แล้ว ซึ่งจะเริ่มใช้ปฏิบัติกันในปีพุทธศักราช 2504 นี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าแผนและโครงการนี้จะมีประโยชน์ดีสำหรับบ้านเมือง แต่ข้อสำคัญก็อยู่ที่การปฏิบัติตามแผนและโครงการนั้นโดยพร้อมเพรียงกันทุกฝ่าย จึงจะเป็นผลแก่ประเทศชาติได้ หวังว่าท่านทั้งหลายจะให้ความร่วมมือแก่ทางราชการในการนี้ต่อไป..."
[กระแสพระราชดำรัสพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสวันขึ้นปีใหม่พ.ศ.2504 จาก โลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์,” ใน พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์นครหลวงกรุงเทพธนบุรี, ม.ป.ป.), หน้า 132]
**********
แล้วในที่สุด "ปัจเจกบุคคล" ทั้งที่เป็นทหารและที่เป็นพลเรือนที่ "ขึ้นทะเบียน" โอกาสในการก้าวขึ้นสู่การจัดลำดับชั้นทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ก็ได้รับ "ใบรับรอง" ผ่านทาง "วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร" นี่เอง.

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 2-8 พฤษภาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (46)

 ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(15)

ภาพนักโทษการเมืองในเรือนจำลาดยาว สมัยการกวาดล้างของรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในภาพแถวกลาง คนที่สองจากซ้ายคือทองใบ ทองเปาด์ ส่วนคนที่สามจากซ้ายซึ่งนั่งติดกับทองใบ คือ จิตร ภูมิศักดิ์ (จาก http://bit.ly/jit_phumisak)

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในฐานะพ่อขุนที่ใช้อำนาจเด็ดขาด

เนื้อหาตอนต่อไปในบทความ "ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" โดย สุมาลี พันธุ์ยุรา ในเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า ( http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ ) ว่าด้วย "จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในฐานะพ่อขุนที่ใช้อำนาจเด็ดขาด" นั้น ดูเหมือนจะเป็นอีกครั้งที่ตอบสนองความเรียกร้องต้องการ "บ้านเมืองสงบ (ใต้แอกเผด็จการ)" ที่ดังขึ้นเป็นระยะ ที่นั่นบ้างที่โน่นบ้าง หลังการรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 เป็นต้นมา แล้วมีเรียกขานรับมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังการเคลื่อนไหว 14 ตุลาที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งตามมาด้วยบรรยากาศในช่วง "ประชาธิปไตยเบ่งบาน"

หัวข้อนี้ขึ้นต้นย่อหน้าแรกว่า:
นอกจากนี้แล้ว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในฐานะพ่อขุนที่เปรียบประดุจหัวหน้าครอบครัวของชาติ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีอำนาจทางการเมืองอย่างเด็ดขาด และเพื่อมิให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ จอมพลสฤษดิ์จึงใช้อำนาจเด็ดขาดจากมาตรา 17 ในธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ซึ่งมีใจความสรุปว่า "ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ก่อกวนหรือคุกคามความสงบที่เกิดขึ้นภายในหรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบ" [ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502, ราชกิจจานุเบกษา (ฉบับพิเศษ) 2502, เล่ม 76 ตอนที่ 17] ซึ่งมาตรา 17 อาจมองได้ว่าเป็นฐานแห่งอำนาจเผด็จการ [ทักษ์ เฉลิมเตียรณให้ความเห็นว่า การใช้มาตรา 17 หรือที่คนไทยรู้จักกันดีว่า "ม.17" นั้น ตามคติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในเรื่องการบริหารด้านการเมือง มาตรานี้เป็นหลักอันถูกต้องตามกฎหมายแบบใหม่ของการเป็นผู้นำแบบพ่อขุน จอมพลสฤษดิ์ในฐานะเป็นหัวหน้าของคณะปฏิวัติ ก็เป็นหัวหน้าครอบครัวของชาติและต้องสามารถที่จะทำให้เจตนารมณ์ของตนใช้บังคับได้]
นั่นคือ จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม บทความของ สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งถือกำเนิดขึ้นและดำเนินการโดยรัฐสภาของไทย หรือกล่าวได้ว่าภายใต้การกำกับดูแลและดำเนินงานด้วย "อุดมการณ์ประชาธิปไตย" กลับมีข้อเขียนที่มีลักษณะ "ออกตัว/แก้ต่าง" ให้แก่บุคคลหรือคณะบุคคลที่มีบทบาทไปในทางเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย
**********
ลักษณะความเป็นผู้นำทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ซึ่งเน้นหนักในเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมและการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองนั้น ทำให้จอมพลสฤษดิ์ต้องใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดเพื่อขจัด "พวกนอกรีต" และโดยส่วนใหญ่แล้วนโยบายและการกระทำอันเด็ดขาดของจอมพลสฤษดิ์ก็ใช้ปราบปรามได้จริง และทำให้ "สิ่งนอกรีตนอกรอย" ตามที่กล่าวหาหลายเรื่องถูกปราบปรามให้ราบคาบไป ดังเช่น การลงโทษประหารชีวิตชาวจีนที่ลอบวางเพลิง การลงโทษประหารชีวิตนายศิลา วงศ์สิน ซึ่งแสดงตนเป็นผู้นำกึ่งการเมืองกึ่งศาสนา การกำจัดผู้กระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์หรือการกำจัดผู้ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างไปจากรัฐบาลหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล วิพากษ์วิจารณ์จอมพลสฤษดิ์ ประวัติศาสตร์และสังคมไทย ซึ่งส่งผลให้ปัญญาชน นักศึกษา ครูอาจารย์ นักหนังสือพิมพ์ ทนายความ นักการเมือง กรรมกร พ่อค้าชาวจีน พระสงฆ์ ถูกปราบปราบด้วยวิธีการต่างๆ

ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ บุคคลต่าง ๆ ในสังคมซึ่งถูกเพ่งเล็งว่าเป็นผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลจะถูกตราหน้าว่าเป็นคอมมิวนิสต์อย่างรวดเร็วและถูกจับกุมทันทีด้วยวิธีการประหัตประหารศัตรูทางการเมือง จึงทำให้หลายคนหนีเข้าป่าและเข้าร่วมกับขบวนการผู้ก่อการร้าย บ้างก็ลี้ภัยเข้าไปอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ในขณะที่บ้างก็แสดงตัวอย่างเปิดเผยว่าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในบรรดาผู้ที่ถูกจับกุมนับพัน ๆ คนทั่วทั้งประเทศ มีประมาณสามร้อยคนถูกจำคุกอยู่ที่ลาดยาว ผู้ที่ถูกกักขังอยู่ที่เรือนจำลาดยาวประกอบด้วยนักการเมือง อดีตรัฐมนตรี ผู้นำกรรมกร นักหนังสือพิมพ์ และแม้กระทั่งพวกชาวเขา ผู้ที่ถูกกักขังส่วนใหญ่เป็นพวกที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ มีหลายคนเป็นนักเขียนที่วิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์และสังคมไทย ส่วนคนอื่น ๆ ก็จะเข้าร่วมอยู่ในขบวนการแบ่งแยกดินแดนของนายครอง จันดาวงศ์ [ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 249-255]
พระราชบัญญัติต่อต้านการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 ในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้แรงสนับสนุนมากขึ้นจากประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 12 [ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ใน ประมวลประกาศและคำสั่งของคณะปฏิวัติที่ใช้เป็นกฎหมาย พร้อมทั้งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร และพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2502, หน้า 25-26] ซึ่งคำประกาศนี้ได้ให้อำนาจแก่พนักงานสอบสวนยิ่งขึ้นในอันที่จะควบคุมผู้ต้องหาไว้ได้ตลอดระยะเวลาที่ทำการสอบสวน โดยไม่คำนึงถึงกำหนดเวลาการควบคุมผู้ต้องหาดังที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย คำสั่งข้อนี้ยังใช้ได้กับคดีต่าง ๆ ที่มีมาก่อนคำประกาศนี้ และตามหลักเกณฑ์นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมบุคคลหลายคนในข้อหาละเมิดกฎหมายพ.ศ. 2495 และกักขังไว้เป็นระยะเวลานาน โดยมิได้ส่งฟ้องศาลอย่างเป็นทางการ นับว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยแท้ และยิ่งกว่านั้น ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 15 [ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ใน ประมวลประกาศและคำสั่งของคณะปฏิวัติที่ใช้เป็นกฎหมาย พร้อมทั้งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร และพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2502, หน้า 31] ยังได้กำหนดไว้ว่า คดีต่าง ๆ ที่มีข้อหาว่ากระทำความผิดขัดต่อพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495การพิจารณาพิพากษาให้อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามกฎอัยการศึก และเพื่อป้องกันมิให้ผู้ต้องคุมขังยื่นคดีต่อศาลแพ่งได้ จอมพลสฤษดิ์จึงมีคำสั่งให้แก้ไขพระราชบัญญัติต่อต้านการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ฉบับ พ.ศ.2495 ขึ้นเสียใหม่ในพ.ศ.2505 เพื่อทำให้เข้ากันได้กับประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 12 มากยิ่งขึ้น ภายใต้กฎหมายใหม่นี้ ผู้ต้องคุมขังสามารถยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ต่อรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งมีอำนาจตัดสินขั้นสุดท้ายได้ และด้วยอำนาจยุติธรรมเป็นพิเศษข้อนี้เอง จอมพลสฤษดิ์จึงสามารถที่จะใช้อำนาจเด็ดขาดได้อย่างเต็มที่ในการจัดการเรื่องความแตกแยกทางการเมือง ฉะนั้นจึงสรุปได้ว่า ในขณะที่เราตั้งข้อสังเกตว่าความเป็นผู้นำของจอมพลสฤษดิ์ตั้งอยู่บนคตินิยมโบราณในเรื่องการปกครองแบบพ่อขุนนั้น ภายใต้ระบบการปฏิวัติ (ดังเช่นการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในอดีต) การปกครองแบบพ่อขุนจึงมีลักษณะเป็นอำนาจเด็ดขาด [ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 255-256]
**********
แต่แล้ว แทนที่พวก "นอกรีต" ในสายตาของผู้เผด็จการอย่างสฤษดิ์ และ/หรือ อีกหลายคนในเส้นทางการเมืองการปกครองยุคใกล้ของไทย จะ "หมดไป" ยิ่งเวลาผ่านไปกลับยิ่งจะพัฒนาไปเป็น "บางอย่าง" ที่ "ฆ่าไม่ตาย ทำลายไม่หมด".

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 25 เมษายน-1 พฤษภาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (45)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(14)

รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ.2500

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในฐานะพ่อขุนที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน (ต่อ)

บทความ "ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" โดย สุมาลี พันธุ์ยุรา ในเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า (url ปรับปรุงใหม่เป็น http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ) เริ่มย่อหน้าแรกไว้ว่า
"จอมพลสฤษดิ์ ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 11 ของประเทศไทยในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2502 ภายหลังจากที่คณะปฏิวัติได้บริหารประเทศด้วยการประกาศกฎอัยการศึกมาเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ในช่วงที่จอมพลสฤษดิ์ปกครองประเทศ ทักษ์ เฉลิมเตียรณเห็นว่า ระบบการเมืองที่จอมพลสฤษดิ์และพรรคพวกนำมาใช้กับประเทศไทยนั้น เป็นการปฏิวัติในแง่ที่ว่าเป็นการล้มล้างระบบการเมืองทั้งระบบซึ่งตกทอดมาจากพ.ศ.2475 และได้สร้างระบบการปกครองที่สามารถจะเรียกได้ว่าเป็นแบบไทย ๆ มากขึ้น"
และสรุปเนื้อหาการนำเสนอในหัวข้อ "จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในฐานะพ่อขุนที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน" ก่อนจะไปต่อในหัวข้อถัดไป
**********
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ให้ความสนใจต่อปัญหาของประชาชนตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพราะจอมพลสฤษดิ์ตระหนักดีว่าในเวลาที่ผ่านมานั้น ในบริเวณภาคต่าง ๆ ที่อยู่นอกเขตเมืองหลวงได้รับความสนใจน้อยมากจากรัฐบาล โดยเฉพาะในพื้นภาคอีสานเป็นบริเวณที่รัฐบาลในสมัยก่อนหน้าจอมพลสฤษดิ์ไม่ได้ให้การเหลียวแลอย่างจริงใจ จนบ่อยครั้งก่อให้เกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะการต่อต้านอำนาจรัฐ ซึ่งท้าทายต่อเสถียรภาพทางการเมืองและความสามัคคีในชาติ จอมพลสฤษด์จึงดำเนินมาตรการที่เป็นการส่งเสริมความสามัคคีภายในชาติและการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง เช่น การสั่งประหารชีวิตผู้นำทางการเมืองจากภาคอีสานที่แข็งข้อ และที่สำคัญคือใช้วิธีการปกครองแบบพ่อขุน โดยออกไปเยี่ยมเยือนราษฎรเป็นการส่วนตัว ตลอดจนการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 โดยสั่งให้มีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาคขึ้นด้วย

นอกจากการตรวจราชการครั้งใหญ่แล้ว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ยังเดินทางได้ไปตรวจราชการตามจังหวัดต่าง ๆ อีกเป็นระยะ ๆ เพื่อตรวจเขตชายแดนและโครงการพิเศษต่าง ๆ ในระหว่างการเดินทางไปตรวจราชการ เมื่อมีโอกาสจอมพลสฤษดิ์จะเดินทางโดยรถยนต์ และชอบที่จะเดินทางไปตามถนนหนทางที่มีสภาพย่ำแย่และไปในถิ่นทุรกันดาร เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึง ความอดทนต่อความยากลำบากและการใช้ชีวิตที่ไม่มีพิธีรีตรอง จอมพลสฤษดิ์จึงปฏิเสธที่จะพักแรมในบ้านพักรับรองและเลือกที่จะกางเต็นท์นอน ซึ่งไม่ว่าจะเดินทางไปยังสถานที่ใด จอมพลสฤษดิ์ก็จะพยายามพูดคุยกับประชาชนและรับฟังความต้องการของประชาชนโดยตรง เพราะฉะนั้นการเดินทางไปตรวจราชการของจอมพลสฤษดิ์ก็เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นถึงความเป็นพ่อขุนที่ห่วงใยและการเอาใจใส่ต่อความต้องการของประชาชน

สรุปโดยรวมได้ว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ใช้อิทธิพลและความเป็นผู้นำในรัฐบาลเพื่อสนับสนุนและยกฐานะความชอบธรรมทางการเมืองส่วนตัวของตน และเมื่อมั่นใจว่าประชาชนจะเข้าใจและยอมรับวิธีการความเป็นผู้นำของตนซึ่งใช้คติเดิมของพ่อขุน จอมพลสฤษดิ์จึงได้รับการเคารพยกย่องและการสนับสนุนจากประชาชน ความเอาใจใส่ของจอมพลสฤษดิ์ในการแก้ปัญหาโดยตรงและตรงกับความต้องการของประชาชนซึ่งแม้ว่าจะเป็นส่วนน้อย แต่ก็เป็นความจำเป็นในชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งชี้ให้ประชาชนเห็นว่า จอมพลสฤษดิ์สนใจปัญหาของพวกเขาอย่างจริงใจ ความเอาจริงเอาจังเกี่ยวกับความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการส่งเสริมศีลธรรมของจอมพลสฤษดิ์ก็ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก คือ ถนนหนทางสะอาด พวกอันธพาล ขอทาน สุนัข และโสเภณีเหลือเพียงเล็กน้อย การตัดสินใจลงมือปราบปรามฝิ่นและเฮโรอีน ล้วนทำให้จอมพลสฤษดิ์ได้รับความเคารพจากประชาชนและก็ได้นำชื่อเสียงมาให้แก่ จอมพลสฤษดิ์ด้วย การลงโทษผู้วางเพลิงก็เพิ่มความน่าเกรงขามและน่ายำเกรงให้แก่ จอมพลสฤษดิ์ นอกจากนี้ยังเพิ่มบารมีให้แก่จอมพลสฤษดิ์ในฐานะที่เป็นพ่อขุนซึ่งพร้อมที่จะเสียสละความสุขในอนาคตของตนเพื่อความอยู่ดีกินดีของครอบครัวทั้งประเทศ [ดูรายละเอียดได้ใน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 248]

กล่าวได้ว่า การพัฒนาประเทศตามความหมายของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์มักจะหมายถึงภาคเศรษฐกิจและสังคม นัยของการพัฒนามีแนวโน้มเป็นอนุรักษ์นิยมในหลาย ๆ ประเด็น ตัวอย่างเช่นที่จอมพลสฤษดิ์กล่าวไว้ว่า "...ความจำเป็นขั้นแรกคือ เราจะต้องพยายามให้ราษฎร ประชาชนเข้าใจและเห็นชอบในเรื่องที่ว่าประเทศชาติจะต้องมีการพัฒนา มนุษย์จะต้องก้าวหน้า วันพรุ่งนี้จะต้องดีกว่านี้..." [จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, "สุนทรพจน์ในพิธีเปิดประชุมปฐมนิเทศงานพัฒนาการท้องถิ่น 24 ตุลาคม 2503," ใน ประมวลสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ.2502-2504, หน้า 255] แนวความคิดของจอมพลสฤษดิ์ในการสร้างประเทศให้ทันสมัยและการพัฒนาส่วนใหญ่จึงเป็นไปตามทัศนะที่เป็นอนุรักษ์นิยมทั้งหมด ของจอมพลสฤษดิ์ที่เกี่ยวกับสังคมและการเมืองไทย ความปักใจในเรื่องความสะอาดของบ้านเรือนและประชาชน ความเป็นระเบียบเรียบร้อยทางสังคม ความเป็นอารยประเทศ และความเป็นพ่อบ้าน/พ่อเมือง สร้างความคิดของจอมพลสฤษดิ์ให้เดินไปในทางที่ถูกในการพัฒนาประเทศ ซึ่งเชื่อว่าการพัฒนาทั้งหมดนี้เป็นวิธีที่จะทำให้การดำรงชีวิตแบบไทย ๆ ดีขึ้นไม่ยิ่งหย่อนกว่าการเป็นอารยะของประเทศตะวันตก แนวคิดเหล่านี้ก็จะช่วยให้เข้าใจถึงข้อจำกัดต่าง ๆ ที่โครงการพัฒนาชาติของจอมพลสฤษดิ์เกิดขึ้นมา [ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 269]
**********
จากการติดตามค้นคว้าบทความและข้อเขียนทางการเมืองจากเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้าช่วงเวลาหลายปีมานี้ อาจกล่าวได้ว่า ลักษณะของบทความที่บรรจุไว้มีเนื้อหา 2 ลักษณะด้วยกัน
ลักษณะแรก นำเสนอบันทึกลายลักษณ์อักษรของสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ เช่น บันทึกรานงานการประชุมจำนวนมาก ที่เป็นรายงานการประชุมสภาฯ (รงส.) ระดับต่างๆ ที่ไม่อาจหาพบจากที่อื่นๆ หรือหาค่อนข้างยาก อาทิ รายงานการประชุมคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับถาวร?) พุทธศักราช 2475 ที่ให้ใช้คำว่า "อำนาจ" แทนคำว่า "พระราชอำนาจ" ในหมวดพระมหากษัตริย์ (https://bit.ly/39HrynL) และการอภิปรายของนายพีร์ บุนนาค ในหัวข้อ "รัฐประหาร พ.ศ. 2500" (https://bit.ly/3oXQwWm) ในสภาฯ ถึงลางบอกเหตุบางประการในการก่อรัฐประหาร ฯลฯ

ลักษณะที่สอง การนำเสนอเนื้อที่เป็นข้อสรุป หรือการตีความ ที่แสดงจุดยืนเฉพาะตัวของผู้นำเสนอและผู้ตรวจสอบบทความ ไปในทางใดทางหนึ่ง เช่น การพิจารณาว่าการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทั้งสองครั้งนั้น "เป็นผลดี" ต่อชาติและประชาชน.
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 18-24 เมษายน 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันเสาร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (44)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(13)

สามล้อถีบสูญพันธุ์ไปจากพระนครในสมัยปฏิวัติ (รัฐประหาร?) ของจอมพลผ้าขาวม้าแดงในปี พ.ศ. 2507 ส่วนรถรางถูกยกเลิกไปในปี พ.ศ. 2511 ในยุคผู้สืบทอดอำนาจคือจอมพลถนอม กิตติขจร

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในฐานะพ่อขุนที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน (ต่อ)

บทความ "ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" โดย สุมาลี พันธุ์ยุรา ในเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า (http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ) วิเคราะห์บทบาทการ "ดูแลทุกข์สุขของประชาชน" ต่อไป อันสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะ "กำจัด" ความยากจน ความไร้ระเบียบ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากระดับพัฒนาการของสงัคม และการเติบโตของเมือง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพระนคร) ที่ไปไกลเกินกว่าการดำเนินชีวิตของสังคมเกษตรกรรมหรือกึ่งเกษตรกรรมของไทยในเวลานั้น ซึ่งหาใช่เป็นการแก้ปัญหาที่รากฐานของสังคมแต่อย่างใด หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการ "ซุกขยะไว้ใต้พรม" ที่ผลของการดำเนินการดังกล่าวย้อนกลับมาสร้างปัญหาสังคมในอนาคต เช่นการเกิดสลัมในเขตจังหวัดพระนครในเวลาหลายปีหลังจากนั้น
**********
การรักษาความเรียบร้อยในทัศนะของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ยังรวมไปถึงกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งปรากฏให้เห็นจากการดำเนินนโยบายรักษาบ้านเมืองให้สะอาดเรียบร้อย เช่น การสั่งยกเลิกอาชีพสามล้อในเขตพระนครเพราะเห็นว่าคนเหล่านี้ละทิ้งอาชีพเกษตรกรในชนบทแล้วมาอาศัยอยู่ในพระนคร เช่น อาศัยอยู่ตามวัด โรงรถ ปลูกกระต๊อบข้างถนนหรือปลูกเพิงใต้สะพาน ทำให้บ้านเมืองสกปรก นอกจากนี้ยังสั่งให้มีการทำความสะอาดถนนบ่อยครั้ง การขจัดขอทาน การกำจัดสุนัขกลางถนน การจับกุมคนที่เป็นโรคเรื้อนและส่งไปยังศูนย์ควบคุมโรคเรื้อน การปรับเงินสำหรับผู้ที่ทิ้งสิ่งปฏิกูลตามถนน ความเลื่อมใสของประชาชนที่มีต่อ จอมพลสฤษดิ์ในฐานะพ่อขุนมีเพิ่มขึ้น เมื่อจอมพลสฤษดิ์จับกุมบุคคลที่ทิ้งเศษขยะลงบนท้องถนนด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เทศบาลคอยตรวจตราและปราบปรามบ้านเรือนต่าง ๆ ที่ตากเสื้อผ้าไว้ตามระเบียงและปลูกต้นไม้โดยไม่ดูแลรักษา ตลอดจนสั่งการให้เจ้าหน้าที่เทศบาลจัดสวนและทำบ้านเมืองให้สวยงามด้วยการสร้างน้ำพุขึ้นตามถนนหลวง เป็นต้น

การดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศโดยเฉพาะ ในด้านการป้องกันอัคคีภัยและการสั่งประหารชีวิตคนวางเพลิง ทำให้ความนิยมของประชาชนที่มีต่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์มีมากขึ้น จอมพลสฤษดิ์เห็นว่าการเกิดเพลิงไหม้เป็นความจำเป็นที่ต้องจัดการอย่างเร่งด่วนและเฉียบขาด ด้วยเหตุนี้เมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้น ณ ที่ใด จอมพลสฤษดิ์มักจะเดินทางไปอำนวยการดับเพลิงและทำการสอบสวนด้วยตนเอง และเมื่อสอบสวนแล้วพบว่าผู้นั้นเป็นผู้ลอบวางเพลิงก็จะถูกตัดสินประหารชีวิตโดยการยิงเป้า การลงโทษผู้ลอบวางเพลิงของ จอมพลสฤษดิ์สามารถเรียกความนิยมได้จากประชาชน โดยแสดงให้เห็นว่าตนเองห่วงใยต่อ สวัสดิภาพของประชาชน ความเฉียบขาดของจอมพลสฤษดิ์ในเรื่องนี้ได้ผลมาก เพราะประชาชนส่วนใหญ่ชมเชยจอมพลสฤษดิ์ว่าเป็นผู้ที่มีความพยายามจัดการกับปัญหาอัคคีภัยและปราบปรามผู้ลักลอบวางเพลิง ส่งผลทำให้จอมพลสฤษดิ์ได้รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ไม่ว่ากรณีที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ และที่สำคัญคือจอมพลสฤษดิ์จะออกไปอำนวยการด้วยตนเองไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน หรือไม่ว่าจะเจ็บไข้หรือสุขสบาย จอมพลสฤษดิ์ก็มักจะไปปรากฏตัวให้เห็นในที่เกิดเหตุอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ชื่อเสียงของจอมพลสฤษดิ์จึงแพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวางเพราะความสนใจและความเอาใจใส่ในเรื่องเพลิงไหม้ และประชาชนก็ดูจะมีความเชื่อถือว่า จอมพลสฤษดิ์เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ตามแบบฉบับของพ่อขุน

ประการที่สาม ในฐานะของพ่อขุนที่ส่งเสริมสุขภาพและศีลธรรมแก่ลูก ๆ (ประชาชน) จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ดูแลกวดขันเกี่ยวกับยาเสพติด เช่น ฝิ่นและเฮโรอีน ดังที่ปรากฏในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 37 ซึ่งระบุว่า "ด้วยคณะปฏิวัติได้พิจารณาเห็นว่า การเสพย์ฝิ่นเป็นที่รังเกียจในวงการสังคม และเป็นอันตรายแก่สุขภาพและอนามัยอย่างร้ายแรง ประเทศต่าง ๆ ได้พยายามเลิกการเสพย์ฝิ่นโดยเด็ดขาดแล้ว จึงเห็นเป็นการสมควรให้เลิกการเสพย์ฝิ่นและการจำหน่ายฝิ่นในประเทศไทยเสีย" รวมทั้งการสั่งให้ยุบร้านจำหน่ายฝิ่นและโรงยาฝิ่นต้องถูกปิดอย่างถาวร อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการสูบฝิ่นถูกเผาทำลายที่ท้องสนามหลวง พร้อมกันนั้นรัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์บำบัดรักษาและสถานพักฟื้นสำหรับผู้เสพฝิ่น และเพื่อประกันว่ามีการดูแลและควบคุมยาเสพติดอย่างเข้มงวด จอมพลสฤษดิ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการปราบยาเสพติดและก่อตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นในกองปราบปรามอาชญากรรมของกรมตำรวจ เพื่อจัดการกับการลักลอบเสพและค้ายาเสพติดที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายทุกประเภท รวมไปถึงได้สั่งให้มีการจับกุมผู้ที่ผลิตเฮโรอีนและมีบทลงโทษด้วยการประหารชีวิต นอกจากนี้ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 50 ได้ระบุว่า การเปิดบริการของสถานบริการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานบริการอาบน้ำ โรงแรม บังกาโล สถานเต้นรำ สโมสร โรงมหรสพหลายแห่ง เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายและส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

ประการที่สี่ ในฐานะของพ่อขุนที่ออกเยี่ยมเยือนครอบครัวหรือประชาชนในท้องที่ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองและความสามัคคีภายในชาติ ซึ่งในขณะนั้นความแตกแยกทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายในประเทศและสถานการณ์อันไม่มั่นคงในอินโดจีนได้คุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ และเพื่อทำให้ความขัดแย้งภายในประเทศและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนและระหว่างถิ่นลดน้อยลง จอมพลสฤษดิ์จึงได้วางแผนเพื่อทำให้ประเทศเกิดความมั่นคงด้วยการเดินทางออกไปเยี่ยมเยือนประชาชนตามหัวเมืองต่าง ๆ เป็นการส่วนตัว เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนเองมีความห่วงใยประชาชนในทุก ๆ ภาค และต้องการที่จะเห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของประชาชนด้วยตาตัวเอง ซึ่งนับว่าเป็นเป้าหมายในขอบข่ายที่พ่อขุนพึงดูแลทุกข์สุขของประชาชนทั้งประเทศและนับว่าเป็นวิถีทางในขอบข่ายที่เป็นการประกันความสามัคคีในชาติเมื่อเผชิญกับภยันตรายภายนอก
**********
ทั้งนี้ การดำเนินการลงโทษโดยใช้อำนาจหัวหน้าคณะปฏิวัติในการประหารชีวิตผู้ลอบวางเพลิงหรือผู้ค้าฝิ่นที่ไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมปกตินั้น ถือเป็นการกระทำที่ "รับไม่ได้" สำหรับอารยประเทศ

สำหรับข้ออ้างเรื่องการห้ามสามล้อถีบเข้ามารับผู้โดยสารในเขตจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี ปรากฏว่ากรรมกรสามล้อที่จัดเป็นผู้ใช้แรงงานอิสระ "หาเช้ากินค่ำ" ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากต้องอพยพไปทำอาชีพนั้นในจังหวัดใกล้เคียง อาทิ จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และสระบุรี ฯลฯ จนถึงกับศิลปินสองคนคือ คำรณ สัมบุณณานนท์ และ เสน่ห์ โกมารชุน ร่วมกันแต่งเพลง "สามล้อแค้น" โดยเฉพาะคำรณแต่งเพลงคัดค้านอำนาจเผด็จการทหารในเวลานั้น จนถูกเพ่งเล็ง และมีคำสั่งห้ามออกอากาศทางสถานีวิทยุไปเลยอยู่หลายเพลง เช่น "มนต์การเมือง" และ "อสูรกินเมือง" ที่กล่าวถึงการสังหารโหดทางการเมือง

ซึ่งเพลง "สามล้อแค้น" ขึ้นท่อนแรกว่า
"คงเป็นเวรกรรมชักนำให้ถีบสามล้อ
อนาถจริงหนอต้องถีบสามล้อเลี้ยงกาย
เหนื่อยยากสู้ทนยึดเอาถนนเป็นเรือนตาย
รับส่งหญิงชายสร้างความสบายให้กับทุกคน"
.
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 11-17 เมษายน 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (43)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(12)

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับท่านผู้หญิงวิจิตรา (ชลทรัพย์) ซึ่งรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม จัดงานฉลองพิธีมงคลสมรสให้ที่ทำเนียบฯ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2491

ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ?

บทความ "ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" โดย สุมาลี พันธุ์ยุรา ในเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ) พยายามเน้นให้เห็นความเป็น "ระบบพ่อขุน" เพื่อเป็นการตอกย้ำการปกครองแบบ "พ่อปกครองลูก" อีกหลายครั้ง โดยทิ้งท้ายไว้ในบทเกริ่นนำ "อุดมการณ์ทางการเมืองพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" ไว้อีกว่า:
ในขณะเดียวกันจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ก็เชื่อว่า "พ่อ" ก็สามารถใช้อำนาจเด็ดขาดหากบุตรคนใดไม่เชื่อฟัง ซึ่งการลงโทษนั้นก็เพื่อทำให้บุตรสามารถกลับตัวเป็นคนดีต่อไป ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวของจอมพลสฤษดิ์ที่ให้โอวาทแก่กลุ่มอันธพาลในโอกาสที่ได้รับการปลอดปล่อยออกมาจากเรือนจำ ดังมีใจความว่า "ข้าพเจ้าไม่ได้เกลียดชังท่านทั้งหลาย เพราะท่านจะเป็นอันธพาลหรือเป็นอะไร ท่านก็เป็นเพื่อนร่วมชาติร่วมประเทศของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถืออยู่เสมอว่าชาติเป็นเสมือนครอบครัวอันใหญ่ จะเป็นบุญหรือกรรมก็ตามที ข้าพเจ้าเผอิญต้องมารับหน้าที่หัวหน้าครอบครัวในเวลานี้ ข้าพเจ้าให้ความรักใคร่ไมตรีทั่วถึงกันทุกคน แต่ถ้าคนในครอบครัวนี้เองทำความเดือดร้อนแก่คนส่วนใหญ่ในครอบครัว ข้าพเจ้าก็ต้องกำหราบปราบปราม การกระทำของข้าพเจ้าในการสั่งจับท่านมาคุมขัง ก็เพื่อปราบปรามให้ท่านเป็นคนดีต่อไป"
[จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, "โอวาทและคำกล่าวปิดการอบรมอันธพาลในวันที่ 6 กันยายน พ.ศ.2503," ใน ประมวลสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ.2502-2504, หน้า 215] 
**********
แล้วสำนักคิด "ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" ก็มีฐานะครอบงำแวดวงการศึกษาทางการเมืองไทยหลังกึ่งพุทธกาลมาเป็นเวลานาน โดยพิจารณาว่าต้นตอของระบอบเผด็จการและความพยายามทำลายดอกผลของการอภิวัฒน์สยาม อยู่ที่ตัวจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และการปกครองโดยคณะรัฐประหารที่นำโดยทหารบก อย่างเป็นเอกเทศ และตัดความน่าจะเป็นของการประกอบกันเข้าเป็น "ระบอบ" ไปจนดูเหมือนจะสิ้นเชิง

ในหัวข้อถัดไปของบทความนี้พิจารณาว่านโยบายของจอมพลสฤษดิ์ "นำความสุข" มาสู่ประชาชน เผยแพร่ในเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า จำแนกเป็นลำดับ
**********
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในฐานะพ่อขุนที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน

ในฐานะของการเป็นพ่อขุน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้พยายามสร้างกิจกรรมขึ้นหลายประการเพื่อรองรับกับแนวความคิดในเรื่องพ่อปกครองลูก กล่าวคือ

ประการแรก ในฐานะของพ่อขุนที่คอยช่วยเหลือลูกๆ (ประชาชน) [ดูรายละเอียดได้ใน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 227-228] จอมพลสฤษดิ์ได้ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหารในพ.ศ.2501 อาทิเช่น มีคำสั่งให้ลดอัตราค่ากระแสไฟฟ้าในย่านกรุงเทพฯ-ธนบุรีภายในไม่กี่วันหลังการรัฐประหาร นอกจากนี้ ได้ออกพระราชกฤษฎีกาให้แต่ละครอบครัวได้รับน้ำฟรีเดือนละ 30 ปี๊บ ลดอัตราค่าโทรศัพท์ ค่ารถไฟ และค่าเล่าเรียน

นอกจากนี้ ยังออกประกาศเทศบาลยกเลิกภาษีบางประเภท ค่าธรรมเนียมทะเบียน และค่าธรรมเนียมการบริการของราชการ ครอบครัวที่ยากจนก็ได้รับบริการฟรีในโรงพยาบาลของรัฐ ส่งเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์และนักเรียนพยาบาลให้ออกไปเยี่ยมเยือนครอบครัวที่ยากจนเพื่อช่วยเหลือในการทำคลอดและแนะนำปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ รวมไปถึงแนะนำให้เทศบาลแจกจ่ายตำราเรียนฟรีให้แก่เด็กนักเรียนที่ยากจนตามโรงเรียนต่างๆ ภายในเขตเทศบาล จำนวน 30 แห่ง

จำกัดวันทำงานของข้าราชการพลเรือนให้เหลือเพียง 5 วัน ให้จ่ายเงินพิเศษแก่ผู้ที่มีบุตรมาก และให้ตั้งกองทุนสงเคราะห์สำหรับข้าราชการพลเรือนระดับล่างได้กู้ยืม ฯลฯ
**********
บทความดังกล่าวยังลงรายละเอียดแม้กระทั่งการออก พระราชกฤษฎีกาให้ลดราคากาแฟขายปลีกจากราคาแก้วละ 70 สตางค์ เหลือ 50 สตางค์ ทั้งให้ข้อสรุปว่าเรื่องการลดราคากาแฟนี้เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเอาใจใส่ของ จอมพลสฤษดิ์ต่อความต้องการเล็กๆ น้อยๆ ของประชาชนภายในประเทศ
**********
ประการที่สอง ในฐานะของพ่อขุนที่ช่วยรักษาความเรียบร้อยภายในครอบครัว (ประเทศ) [ดูรายละเอียดได้ใน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 229-234] จอมพลสฤษดิ์เชื่อว่า ความสะอาดและความเรียบร้อยของหมู่บ้านหรือเมืองย่อมหมายถึงคนในเมืองนั้นมีความเจริญรุ่งเรืองและทันสมัย ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ต้องการที่จะสร้างบรรยากาศทางสังคมอันจะนำมาซึ่งความเป็นผู้นำของตน ทันทีหลังการรัฐประหารในพ.ศ.2501 จอมพลสฤษดิ์ได้ออกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21และฉบับที่ 43 ซึ่งมีใจความว่า อันธพาลเป็นการบ่อนทำลายสังคมและประชาชน การขจัดพวกอันธพาลออกไปให้หมดสิ้นเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยส่งเสริมความผาสุกของราษฎร โดยมีการจับกุม สอบสวน กักขัง และควบคุมตัวอันธพาลไปไว้ที่สถานฝึกอบรม

นอกจากนี้ในทัศนะของจอมพลสฤษดิ์ยังเห็นว่า ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนสามารถใช้ชีวิตของตนอย่างเรียบร้อย "ตามประเพณีนิยม" ดังนั้นวัฒนธรรมตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามาภายในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการไว้ผมยาว การนุ่งกางเกงรัดรูป การสวมเสื้อผ้าสีฉูดฉาด การเล่นดนตรีแบบร็อคแอนด์โรล การเต้นรำแบบทวิสต์ การเต้นรำประจำสัปดาห์ที่สวนลุมพินี การเที่ยวตามสถานเริงรมย์ ล้วนถูกปฏิเสธจากรัฐบาลและกลายเป็นสิ่งต้องห้ามในสายตาของรัฐบาล ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีงามสำหรับเยาวชน รวมไปถึงแหล่งอบายมุขและซ่องโสเภณีต่างถูกกวดขันอย่างหนัก เนื่องจากจอมพลสฤษดิ์เห็นว่าเป็นแหล่งส่งเสริมอาชญากรรม โดยที่จอมพลสฤษดิ์สั่งให้จับกุมโสเภณีและส่งไปฝึกอบรมยังสถานฝึกอาชีพตามที่ต่างๆ
**********
จากบทความข้างต้น และในรายละเอียดอีกหลายหัวข้อ สะท้อนให้เห็นว่า หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ที่ใช้เวลายกร่างนานที่สุดในโลก) ในปี พ.ศ. 2511 ซึ่งตามมาด้วยการรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 อันนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาอันยิ่งใหญ่ในปี พ.ศ. 2516 นั้น เหตุใดจึงมีผู้พยายาม ยกอ้างสถานการณ์ในยุคการปกครองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ว่าเป็นสภาวะบ้านเมืองที่พึงประสงค์ นับจากการสิ้นสุดการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ทว่าในท่ามกลางพัฒนาการของสังคมไทย และสังคมนานาชาติ ที่ประชาชาติส่วนใหญ่เรียกร้องระบอบการเมืองการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยในขอบเขตทั่วโลก สภาวการณ์ "น้ำลด ตอผุด" ที่แสดงให้เห็น "ผลเสีย" ของระบอบเผด็จการ กลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ยิ่งขึ้นทุกที.

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 4-10 เมษายน 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน







วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (42)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(11)

จอมพลสฤษดิ์ ตรวจการดับเพลิงที่ตรอกสลักหิน หัวลำโพง เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2503

ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ?

ในบทความ "ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" โดย สุมาลี พันธุ์ยุรา ในเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ) ให้ความสำคัญต่อการ "สร้างระบบการปกครองของจอมพลสฤษดิ์ โดยจอมพลสฤษดิ์ฯ" หลังรัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 พิจารณาว่าเป็น "ระบบพ่อขุน" จากเนื้อหาในการกล่าวสุนทรพจน์ (?) หลายครั้งในระหว่างดำรงนายกรัฐมนตรี ที่อิงการปกครองในสมัยสุโขทัย:

สำหรับประชาชนนั้นได้ถูกจำกัดบทบาททางการเมืองลง และหากจะมีบทบาทได้ต้องดำเนินไปภายใต้การควบคุมดูแลหรือการยินยอมจากรัฐบาลเท่านั้น นอกจากนี้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ยังเห็นว่า รัฐบาลเป็นผู้มีหน้าที่วางโครงการและกำหนดแนวทางต่าง ๆ ที่จะทำให้ประเทศทันสมัยและเจริญรุ่งเรือง ดังจะเห็นได้จากคำขวัญต่าง ๆ ที่เผยแพร่ออกมาทางวิทยุ โทรทัศน์และแผ่นป้ายขนาดใหญ่ เช่น "กินดี อยู่ดี มีงานทำ" หรือ "น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ" เป็นต้น โดยที่รัฐบาลต้องตัดสินใจกระทำการต่าง ๆ อย่างเป็นอิสระเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการและความปรารถนาของประชาชน และจะต้องใส่ใจในความต้องการโดยตรงของประชาชน ทั้งในแผนระยะยาวและนโยบายต่าง ๆ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องคำนึงถึง

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เชื่อว่า ระบบการเลือกตั้งและระบบพรรคการเมืองไม่เหมาะสมกับประเทศไทย เพราะจะทำให้เกิดการแตกแยก ทางออกของปัญหานี้คือ ควรต้องให้อำนาจกับรัฐบาลมากขึ้น โดยเห็นว่ารัฐเป็นสถาบันที่กำหนดว่าอะไรคือเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญอยู่ที่ความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเมือง แนวความคิดเหล่านี้ในทางปฏิบัติแล้ว จอมพลสฤษดิ์เชื่อว่า ผู้นำคือนายกรัฐมนตรีซึ่งต้องมีอำนาจที่เด็ดขาด โดยอำนาจตั้งอยู่บนหลักของความเป็นธรรม ซึ่งในสังคมไทยก็คือการทำหน้าที่ของพ่อที่ต้องปกครองบุตรให้ได้รับความสงบสุข [ลิขิต ธีรเวคิน, วิวัฒนาการเมืองการปกครองไทย, หน้า 164]

กล่าวได้ว่านับตั้งแต่การทำรัฐประหารในพ.ศ.2501 เป็นความเคลื่อนไหวของคณะปฏิวัติภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่จะนำประเทศไทยกลับไปสู่แนวความคิดแบบโบราณทั้งในด้านรากฐานของประเทศและรัฐบาล มีการแสวงหาความชอบธรรมในทางที่จะนำเอาระบบพ่อลูกสมัยสุโขทัย คือ พ่อบ้านหรือพ่อเมืองมาใช้ โดยที่จอมพลสฤษดิ์มักจะเทียบเคียงการปกครองแบบบิดากับบุตรและการปกครองที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร กับประเทศเสมอ ดังสุนทรพจน์ที่จอมพลสฤษดิ์ชอบกล่าวอยู่บ่อยครั้งที่สุด คือ "...นายกรัฐมนตรีก็คือพ่อบ้านของครอบครัวใหญ่ที่สุด มีความรับผิดชอบกว้างขวางที่สุด และต้องดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องร่วมชาติร่วมประเทศอย่างใกล้ชิดที่สุด" [จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, "สุนทรพจน์ในพิธีเปิดประชุมปฐมนิเทศงานพัฒนาการท้องถิ่น 24 ตุลาคม 2503," ใน ประมวลสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ.2502 – 2504, หน้า 255.]

การให้เหตุผลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในการเสนอให้มีการจัดระเบียบการเมืองการปกครองของไทยในลักษณะการปกครองแบบพ่อปกครองลูกดังเช่นในสมัยสุโขทัยนั้น ก็คือการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองที่มีพื้นฐานอยู่บนประวัติศาสตร์และจารีตดั้งเดิมของสังคมไทย ซึ่งจอมพลสฤษดิ์เชื่อมั่นว่าเป็นการประยุกต์แนวความคิดประชาธิปไตยให้เข้ากับจารีตประเพณีการปกครองดั้งเดิมของไทยและวัฒนธรรมไทย [ลิขิต ธีรเวคิน, วิวัฒนาการเมืองการปกครองไทย, หน้า 164] การนำเอาจารีตประเพณีดังกล่าวมาผสมผสานเข้ากับแนวคิดประชาธิปไตย ส่งผลให้จอมพลสฤษดิ์ถูกยกฐานะให้เป็นเสมือน "พ่อ" ของคนไทยทุกคน หรืออีกนัยหนึ่งมีฐานะเป็น "พ่อขุน" ที่เปี่ยมไปด้วยความเป็นธรรมและความเมตตาที่ต้องปกครองครอบครัวที่ใหญ่ที่สุดซึ่งก็คือชาติ และการเป็น "พ่อขุน" ยังทำให้จอมพลสฤษดิ์จำเป็นต้องมีหน้าที่ปกครอง "ลูก" ให้ได้รับความสุขอีกด้วย แนวความคิดดังกล่าวของจอมพลสฤษดิ์สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนในคำกล่าวเปิดการประชุมในการอบรมกำนัน 4 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนี้
"กำนันเป็นบุคคลสำคัญมากในสายการปกครอง เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับราษฎร เป็นสายสามพันธ์ระหว่างราษฎรกับรัฐบาล ที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาด้วยความนิยมนับถือของราษฎรจริง ๆ เป็นผู้ที่รักษาระบอบการปกครองเก่าและของใหม่ให้ประสานกัน เพราะว่าประเพณีการปกครองของไทยเราแต่โบราณมาได้ถือระบบพ่อปกครองลูก เราเรียกพระมหากษัตริย์ว่า 'พ่อขุน' หมายความว่า เป็นพ่อที่สูงสุด ต่อมาก็มีพ่อเมืองคือผู้ว่าราชการจังหวัด ต่อไปถึงพ่อบ้าน คือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในที่สุดก็ถึงพ่อเรือนคือหัวหน้าครอบครัว ซึ่งถือเป็นสำคัญมาก...แม้ในสมัยนี้จะได้มีระบบการปกครองเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น ไม่เรียกว่า 'พ่อ' เหมือนแต่ก่อน ข้าพเจ้ายังยึดมั่นนับถือคติและประเพณีโบราณของไทยเราในเรื่องพ่อปกครองลูกเสมอ ข้าพเจ้าเคยพูดบ่อย ๆ ว่าชาติเป็นเสมือนครอบครัวใหญ่ ผู้ปกครองไม่ใช่อื่นไกล คือหัวหน้าครอบครัวใหญ่นั่นเอง...ต้องถือว่าราษฎรทุกคนเป็นลูกหลาน ต้องมีความอารีไมตรีจิต เอาใจใส่ในทุกข์สุขของราษฎรเท่ากับเป็นบุตรหลานในครอบครัวของตัวเอง ตัวข้าพเจ้าเองไดัยึดมั่นในหลักการนี้เป็นที่สุดไม่ว่าจะเกิดทุกข์ภัยหรือเหตุการณ์สำคัญขึ้นที่ไหน ข้าพเจ้าพยายามไปถึงที่นั่น ดูแลอำนวยการบำบัดทุกข์ภัยด้วยตนเอง ข้าพเจ้าพยายามเข้าถึงราษฎรและเอาใจใส่ในความเป็นอยู่ของราษฎร เหมือนหนึ่งว่าเป็นครอบครัวของข้าพเจ้าเองเสมอ..." [จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, "คำกล่าวเปิดการประชุมในการอบรมกำนัน 4 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 สิงหาคม 2504," ใน ประมวลสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ.2502-2504, หน้า 437-438]
หัวใจสำคัญของการปกครองบ้านเมืองในทัศนะของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือ ขึ้นอยู่กับตัวผู้ปกครองหรือพ่อขุนซึ่งมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครอง โดยที่ข้าราชการและประชาชนมีหน้าที่ดำเนินการตามนโยบายและรับเอาสิ่งที่เป็นความอุปถัมภ์จากรัฐบาลหรือผู้นำรัฐบาล [ลิขิต ธีรเวคิน, วิวัฒนาการเมืองการปกครองไทย, หน้า 165]
**********
การพิจารณาว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือ "แกนกลาง" ของระบอบการปกครองหลังการรัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นั้น เท่ากับเป็นการให้ความสำคัญไปที่ "ตัวบุคคล" ยิ่งกว่า "ระบบ" ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการศึกษาทางการเมืองโดยกระบวนการ "วิเคราะห์เชิงระบบ" ที่ชี้ให้เห็นว่าสำนักคิด "วิเคราะห์เชิงตัวบุคคล" มีบทบาทและฐานะครอบงำการซึกษาในระบบการเมืองการปกครองไทยมาช้านาน แม้แต่การพิจารณาว่าใน การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 นั้น เกิดจากความเรียกร้องต้องการทางอัตวิสัยของ คณะผู้ก่อการ หรือ คณะราษฏร เสียยิ่งกว่าความจำเป็นของพัฒนาการทางสังคม การเมืองการปกครอง และแม้กระทั่งทางเศรษฐกิจ หรือการปลดปล่อยพลังการผลิตจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจแบบทุนเสรีนิยม ที่ก้าวเข้ามาพร้อมกับการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญ (ระบอบประชาธิปไตย).

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 28 มีนาคม-3 เมษายน 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (41)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(10)

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เปิดสาขาพรรคเสรีมนังคศิลา สมุทรสาคร 6 กุมภาพันธ์ 2500

ต้นแบบและที่มาของระบอบประชาธิปไตยแบบไทย (ต่อ)

ย้อนกล่าวถึง เหตุผล (?) ประการหนึ่งในการทำรัฐประหารครั้งที่สองของจอมพลสฤษดิ์ และเป็นเหตุผลที่ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในความพยายาม กำจัด นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งรวมทั้งแนวทางทางเศรษฐกิจการเมือง และผู้เลื่อมใสในตัวนายปรีดีทั้งที่เป็นสามชิกในคณะราษฎรสายต่างๆ และที่พลพรรคเสรีไทยสายต่างๆ โดยเฉพาะสายในประเทศ นั่นคือ ภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ดังที่ปรากฏใน ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 4 ซึ่งมีเนื้อหาที่สำคัญอยู่ที่ "ภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ที่ได้แทรกแซงทั้งภายในและคุกคามอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่จะต้องยึดอำนาจ เพื่อสร้างเสถียรภาพใหม่ให้อยู่บนรากฐานของระบอบประชาธิปไตย จัดระบบเศรษฐกิจและสังคมให้เหมาะสมกับความเป็นอยู่ของชาติและประชาชน เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว คณะปฏิวัติจึงต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ และสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ที่รัดกุมเข้มแข็งเพื่อต่อสู้กับภัยของชาติ รักษาอิสรภาพของศาล ตลอดจนปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะปฏิวัติจะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์และยกย่องเชิดชูไว้" (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 75 ตอน 81 20 ตุลาคม 2501)

นอกจากนั้น คณะปฏิวัติยังแสดงท่าทีอย่างชัดแจ้งในการ ทำลายระบอบรัฐสภา และ การเลือกตั้ง (อย่างน้อยก็ในระยะการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ) ด้วยการประกาศยกเลิก พ.ร.บ. พรรคการเมือง พ.ศ. 2498 นั่นคือคำสั่งยุบพรรคการเมืองและห้ามการจัดตั้งพรรคการเมืองในทันทีที่ประกาศมีผลบังคับใช้ (ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 8 ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 75 ตอน 83 20 ตุลาคม 2501)

ใน blog ของ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ หัวข้อ "ธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2502 กับมาตรา 17" (https://blogazine.pub/blogs/pandit-chanrochanakit/post/4878) วิเคราะห์ว่าการอ้างถึงภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวสต์ที่มีต่อประเทศไทยนั้น ไม่มีเหตุผลรองรับที่มีน้ำหนักพอ (เช่นเดียวกับอีกหลายครั้ง) ที่จำเป็นจะต้องก่อรัฐประหาร และแม้แต่อีกหลายครั้งที่มีการสร้างสถานการณ์ที่นำไปสู่การรัฐประหาร เช่น กรณี 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519, กรณี 19 กันยายน พ.ศ. 2549 และ ฯลฯ:
"แม้ว่าคณะปฏิวัติจะได้กล่าวถึงสาเหตุในการปฏิวัติว่าเป็นเพราะภัยคอมมิวนิสต์คุกคามประเทศไทยอย่งหนัก โดยที่กลไกทางการเมืองการปกครองขณะนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ แต่เมื่อได้พิจารณาสถานะของรัฐบาลและรัฐสภาซึ่งคณะรัฐประหาร 2500 ได้มีส่วนอยู่นั้น จะพบว่า รัฐบาลพลเอกถนอม กิตติขจรกุมเสียงข้างมาก ทั้งในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนประเภทที่สองซึ่งมีจำนวนกึ่งหนึ่งของสภาและสมาชิกสภาผู้แทนประเภทที่หนึ่ง ในสังกัดพรรคชาติสังคม จึงน่าที่จะตรากฎหมายหรือกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาและภัยจากคอมมิวนิสต์ได้ไม่ยาก อีกทั้งยังมี พ.ร.บ. ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่แล้ว หากรัฐบาลจะแก้ไขโดยใช้วิถีทางประชาธิปไตยก็น่าจะแก้ไขได้เช่นกัน การปฏิวัติเพื่อสร้างประชาธิปไตยจึงเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกันอยู่ไม่น้อย"
**********
เมื่อพิจารณาบทความ "ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" โดย สุมาลี พันธุ์ยุรา ในเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ) วิเคราะห์ทัศนะของจอมพลสฤษดิ์ต่อระบอบการปกครองที่เรียกว่า ประชาธิปไตยแบบไทย โดยอ้างอิง ระบบพ่อขุน หรือ พ่อปกครองลูก ซึ่งมีอยู่ในประวัติศาสตร์ยุคสุโขไทย (ที่ปัจจุบันมีข้อโต้แย้งมากขึ้น):

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยแบบไทยควรที่จะเป็นไปในรูปแบบที่รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งนี้เพราะประเทศชาติจะเป็นระเบียบไม่ได้ถ้ายังมีระบบพรรคการเมืองที่แบ่งแยกตามแนวตั้ง แต่ควรที่จะต้องอาศัยการแบ่งตามแนวนอนระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองด้วย ซึ่งจอมพลสฤษดิ์เห็นว่า ประเทศควรแบ่งออกเป็นสามชั้น คือ รัฐ/รัฐบาล ข้าราชการ และประชาชน โดยเชื่อว่ารัฐบาลจำเป็นต้องมีอำนาจสูงสุดและมีหน้าที่ในการวางนโยบายที่สำคัญๆ ซึ่งงานที่เป็นหลักของรัฐบาลคือ จะต้องทำให้มีเสถียรภาพทางการเมืองและธำรงไว้ซึ่งความเป็นปึกแผ่นของชาติ ในขณะที่ระบบราชการจะต้องถูกทำให้กลายมาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย เพราะระบบราชการถือว่ามีหน้าที่เป็นตัวแทนและปฏิบัติตามคำบัญชาของผู้ปกครองโดยตรง จึงต้องยอมรับการชี้แนวทางการปฏิบัติจากรัฐบาล โดยเฉพาะจากตัวผู้นำเป็นสำคัญ

นั่นคือระบบและบุคลากรในระบบราชการ ซึ่งก็คือข้าราชการประจำทั้งหลายจึงไม่ได้มีความหมายในแง่ของการเป็นผู้รับใช้หรือผู้ให้บริการแก่ประชาชน หากแต่จะมีความหมายไปในลักษณะของการเป็นผู้รับใช้รัฐบาลเป็นสำคัญ เช่น ข้าราชการจะต้องรวบรวมข่าวสารเพื่อนโยบายของรัฐบาล บริหารงานตามนโยบายของรัฐบาล และที่สำคัญการให้การบริการหรือรับใช้ประชาชนนั้นต้องตามขอบข่ายงานที่เบื้องบนได้วางไว้ [ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548), หน้า 195-199.] ดังปรากฏในคำปราศรัยของจอมพลสฤษดิ์ที่ได้ไว้ให้แก่บรรดาข้าราชการท้องถิ่นดังนี้
"...ระบบการปกครองของไทยเราตั้งแต่โบราณมาก็ถือว่าเจ้าบ้านผ่านเมืองเป็นหูเป็นตาของรัฐบาล ซึ่งคำโบราณพูดว่า 'ต่างหูต่างตา' อันที่จริงไม่แต่เพียงต่างหูต่างตาเท่านั้น การปกครองสมัยโบราณของไทยเรายังมีตำแหน่ง 'ข้าหลวงต่างใจ' หมายความว่า พวกข้าหลวงผู้ว่าราชการยังต้องเป็นดวงใจที่จะตริตรึกนึกคิดแทนรัฐบาลที่อยู่ห่างไกลอีกด้วย

ในสมัยนี้ก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัฐบาลปฏิวัติ ซึ่งข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่นี้ ข้าพเจ้าถือว่าท่านทั้งหลายเป็นหูเป็นตาและเป็นดวงใจของข้าพเจ้าที่มอบไว้แก่ราษฎรทั้งหลาย ความผาสุกอยู่ดีกินดีของราษฎรเป็นเรื่องที่ฝังอยู่ในดวงใจของข้าพเจ้าอย่างแนบแน่น ข้าพเจ้าขอให้ท่านทั้งหลายเป็นตัวแทนดวงใจของข้าพเจ้า ซึ่งจะให้ความรักเอาใจใส่แก่ราษฎร ช่วยข้าพเจ้าดู ช่วยข้าพเจ้าฟัง และที่สำคัญที่สุด คือ ช่วยข้าพเจ้าคิด ว่าทำอย่างไรจึงจะสร้างความผาสุกของราษฎรได้ทั่วไป..." [จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, "คำกล่าวในการเปิดประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต16 มีนาคม 2503,"
ใน ประมวลสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ.2502 – 2504 (พระนคร: โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2507), หน้า 147]
**********
มีประเด็นที่น่าจะนำมาพิจารณาถึงระบอบที่มักใช้กันว่า เผด็จการของไทย หรือเฉพาะเจาะจงไปที่ ระบอบพ่อขุนของจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งหากจะว่าไปแล้ว ต้องนับว่าเป็นระบอบพ่อขุนที่มีลักษณะแตกต่างไปจากระบอบพ่อขุนในยุคสุโขทัย คือ ระบอบของจอมพลสฤษดิ์หาได้มีการสืบทอดอำนาจตามสายเลือดแบบระบอบพ่อขุนแต่อย่างใดไม่ หรือแม้แต่ในปัจจุบัน เมื่อกล่าวถึงระบอบเผด็จอำนาจที่มีการสืบทอดตำแหน่งผู้นำตามสายเลือด และสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน คือ ระบอบการปกครองของสกุล "กิม" ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (หรือเกาหลีเหนือ) ที่ปกครองโดยผู้นำสูงสุดในนามพรรคคอมมิวนิสต์ แต่สืบทอดตำแหน่งแบบ ระบบสืบสันตติวงศ์ ของรัฐราชาธิปไตยโดยทั่วไปทั้งหลาย.

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 21-27 มีนาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (40)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(9)

 เครื่องราชอิสริยยศสำหรับผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด ซึ่งพระราชทานให้แก่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี

ต้นแบบและที่มาของระบอบประชาธิปไตยแบบไทย

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการัฐประหารเมื่อวันที่ วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ประเทศไทยมีการปกครองโดยปราศจากรัฐธรรมนูญ เป็นเวลา 101 วัน นับตั้งแต่ จนถึงวันที่ 28 มกราคม 2502 จึงได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญไทยที่สั้นที่สุด คือ มีเพียง 20 มาตรา

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถึงแม้จะได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ประกาศใช้พร้อมกับอ้างว่า (เป็นการแก้ขัด) เพื่อรอการร่าง "รัฐธรรมนูญฉบับถาวร" (?) แต่ก็ถูกใช้เป็นเวลายาวนานรวมถึง 9 ปี 4 เดือน 20 วัน จนกระทั่งถูกยกเลิกโดยละม่อม เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สภาที่มาจากการแต่งตั้ง) ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับใหม่ล่าสุดในเวลานั้นแล้วเสร็จและประกาศบังคับใช้ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511

เกือบจะกล่าวได้ว่า ธรรมนูญการปกครองฯ พุทธศักราช 2502 เป็นแม่แบบของกฏหมายสูงสุดของประเทศไทยที่มีลักษณะเผด็จอำนาจมากที่สุดและเห็นได้ชัดเจนที่สุด นับจากการอภิวัฒน์สยาม 2475 ทั้งโดยที่มา ซึ่งแม้ว่าประเทศไทยจะเคยมีการยกร่างรัฐธรรมนูญไว้ล่วงหน้า เพื่อรองรับการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 ที่เรียกกันว่า "รัฐธรรมนูญตุ่มแดง" หรือ "รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม"

สำหรับในการยึดอำนาจ (รัฐบาลหุ่นของตนเอง) ครั้งนี้คณะรัฐประหารที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ เรียกตัวเองว่า คณะปฏิวัติเพื่อให้เกิดความแตกต่างกับการรัฐประหารครั้งที่ผ่านๆมา โดยเฉพาะการอ้างเหตุผลในการปฏิวัติว่า เพื่อเป็นการสร้างความสามัคคีแก่คนในชาติและต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ (ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 4 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 75 ตอน 81 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501; ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 75 ตอน 84 22 ตุลาคม พ.ศ. 2501)

ใน blog ของ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ หัวข้อ "ธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2502 กับมาตรา 17" (https://blogazine.pub/blogs/pandit-chanrochanakit/post/4878) เขียนถึงการรัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 และการยกร่างธรรมนูญการปกครองฯ ไว้อย่างน่าสนใจ:
ในที่สุดจอมพลสฤษดิ์ก็เดินทางกลับจากอังกฤษเงียบๆ และเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศหลังจากที่พลเอกถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 75 ตอน 81 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501) การยึดอำนาจครั้งนี้คณะรัฐประหารเรียกตัวเองว่า คณะปฏิวัติเพื่อสร้างความแตกต่างระหว่างการยึดอำนาจครั้งใหม่กับการรัฐประหารครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะการอ้างเหตุผลในการปฏิวัติว่า เพื่อเป็นการสร้างความสามัคคีแก่คนในชาติและต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ (ดู ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 4 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 75 ตอน 81 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 75 ตอน 84 22 ตุลาคม พ.ศ. 2501 และ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ 2507 : 14-24)
ก่อนหน้านี้จอมพลสฤษดิ์เคยให้สัมภาษณ์ว่า ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 ได้ยึดตามแบบฝรั่งเศส ทำให้รัฐบาลต้องประสบปัญหาเสถียรภาพไม่มั่นคง ไม่มีเวลาบริหารราชการแผ่นดินได้เต็มที่ สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งละ 20 ล้านบาท และฝ่ายค้านก็คอยหาเหตุมาเปิดอภิปราย รัฐบาลจึงไม่สามารถบริหารราชการได้โดยสะดวก จอมพลสฤษดิ์ไม่ต้องการให้รัฐบาลต้องอยู่ในสภาวะเช่นนั้น ทั้งยังต้องการให้รัฐบาลมีวาระที่แน่นอนโดยสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจเพียงการตั้งรัฐบาลในวาระแรกเพียงครั้งเดียว ดังนั้นสภาฯจึงไม่มีอำนาจควบคุมรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นการเปิดอภิปรายหรือไต่ถามปัญหาการบริหารของรัฐบาล เท่ากับว่ารัฐบาลมีอำนาจเต็มที่และเฉียบขาด

การปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2501 มีการเตรียมการล่วงหน้าอย่างพร้อมเพรียงดังจะเห็นได้จากการที่จอมพลสฤษดิ์เชิญนายถนัด คอมันตร์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา และหลวงวิจิตรวาทการ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาประชุม เพื่อปรึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาของประเทศ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2501 โดยมีข้อสรุปว่าจะต้องทำ ‘การปฏิวัติ’ เพื่อดำเนินการต่างๆ ให้มีกลไกการปกครองที่เหมาะสม ซึ่งการทำรัฐประหารไม่สามารถกระทำได้

ในการหารือครั้งนั้นกล่าวกันว่า หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้แนะนำให้จอมพลสฤษดิ์และรัฐบาล โดยตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและปกครองโดยบุคคลคนเดียวในลักษณะเผด็จการในระบอบประชาธิปไตย การร่างรัฐธรรมนูญต้องกระทำโดยรัดกุมเพื่อมิให้แก้ไขได้ และต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกให้นานที่สุด จอมพลสฤษดิ์จึงมอบหมายให้หลวงวิจิตรวาทการแปลรัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆมาพิจารณา และให้ร่างรัฐธรรมนูญการปกครองตลอดจนประกาศและแถลงการณ์ต่างๆเตรียมไว้
**********
ส่วนในบทความเรื่อง "ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" เขียนโดย สุมาลี พันธุ์ยุรา ในเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ) เขียนไว้ในท่อนนำ "อุดมการณ์ทางการเมืองพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" ว่า:
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นบุคคลที่เป็นผลผลิตภายในประเทศ คือ เป็นผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษาจากประเทศตะวันตก ดังนั้นแนวคิดประชาธิปไตยแบบตะวันตกและลัทธิเสรีนิยมจึงเป็นสิ่งที่ไม่ได้ปลูกฝังอยู่ในจิตใจของจอมพลสฤษดิ์เหมือนดังเช่นผู้นำรุ่นการปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475 ประกอบกับอาชีพทหารและวิถีชีวิตทหารที่เน้นหนักไปในทางใช้อำนาจมาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และกล่าวได้ว่าความล้มเหลวของคณะราษฎรในพ.ศ.2475 ได้นำไปสู่ข้อสรุปขั้นต้นในจิตใจของจอมพลสฤษดิ์ว่า การเมืองไทยต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการเมืองไทยและความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมแบบไทยที่มิใช่แบบตะวันตก นั่นก็คือ การปกครองที่เป็นไปในรูปแบบของประชาธิปไตยแบบไทยนั่นเอง

รูปแบบของ "ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย" นี้ เป็นผลสะท้อนมาจากแนวความคิดและความเข้าใจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ต่อสิ่งที่คิดว่าเป็นระบบการเมืองที่ถูกต้อง และเนื่องจากจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้หนึ่งที่เลื่อมใสในประวัติศาสตร์มาก ตลอดจนความเข้าใจของจอมพลสฤษดิ์เกี่ยวกับระเบียบสังคมการเมืองที่ได้รับอิทธิพลมาจากหลวงวิจิตรวาทการหลังสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งเป็นเรื่องของการแสวงหารูปแบบของการปกครองในสมัยโบราณที่อาจนำมาใช้ได้กับการพัฒนาประเทศ ความคิดดังกล่าวผนวกเข้ากับภูมิหลังทางการศึกษาภายในประเทศและประสบการณ์ทางการเมืองในฐานะนายทหารผู้ค่ำหวอดกับการใช้กำลังของจอมพลสฤษดิ์ ทำให้พอสรุปถึงความเข้าใจทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ต่อรูปแบบของสังคมการเมืองไทยว่าประกอบขึ้นด้วยรัฐ/รัฐบาล ข้าราชการ และประชาชน [ลิขิต ธีรเวคิน, วิวัฒนาการเมืองการปกครองไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2540), หน้า 163.]
**********
นั่นหมายความว่า มีนักวิชาการทางรัฐศาสตร์ส่วนหนึ่งเห็นว่า การยึดและขึ้นครองอำนาจของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เกิดจากอัตวิสัยของจอมพลสฤษดิ์ล้วนๆ และสร้างระบอบการปกครองที่อำนวยประโยชน์แก่ระบอบเผด็จการทหารชนิด "สัมบูรณ์" ซึ่งอาจต้องมีการอภิปรายในบริบทนี้กันอย่างลึกซึ้งต่อไป.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 14-20 มีนาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8