Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (47)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(16)

นายทหารคณะผู้บริหารระดับสูงวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรและโรงเรียนเสนาธิการทหารพ.ศ. 2511 จากซ้ายไปขวา จอมพลถนอม กิตตขจร พลออากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ และ พลเอก กฤษณ์ สีวะรา

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในฐานะพ่อขุนที่ใช้อำนาจเด็ดขาด (2)

สุมาลี พันธุ์ยุรา เขียนบทสรุปไว้ในย่อหน้าสุดท้ายสำหรับหัวข้อ "จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในฐานะพ่อขุนที่ใช้อำนาจเด็ดขาด" ในบทความ "ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" (http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ) ไว้เป็นลักษณะกึ่งคำถาม:
ในท้ายที่สุด คำถามหนึ่งที่มักจะปรากฏขึ้นเกี่ยวกับผู้นำทางการเมืองซึ่งมีอำนาจเด็ดขาดก็คือว่า ผู้นำนั้นเป็นผู้ปกครองประดุจบิดาหรือเผด็จการกันแน่ ทักษ์ เฉลิมเตียรณให้ความเห็นว่าลักษณะของผู้นำทั้งสองแบบนี้เป็นเรื่องที่ยากที่จะแยกออกจากกันหรือให้คำจำกัดความ ในขณะที่การปกครองประดุจบิดาสื่อความหมายถึงผู้นำที่ทำหน้าที่เหมือนกับบิดาผู้เมตตาปฏิบัติต่อบุตร แต่เป็นไปได้ว่าจะเป็นพ่อที่เผด็จการหรือเมตตากรุณาด้วยก็ได้ การเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดนั้นมีนัยว่าการกระทำต่าง ๆ ที่ผู้นำกระทำขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งปัญหานี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับคำนิยมแต่ไม่ใช่เกี่ยวกับการตัดสินใจโดยเจตนา ในขณะที่ผู้มีอำนาจเด็ดขาดคิดว่า ตนปกครองประดุจบิดานั้น ซึ่งผู้อื่นอาจไม่คิดเช่นนั้น
**********
การที่ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ให้ความหมายของผู้นำในลักษณะจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชนิด "แบ่งรับแบ่งสู้" ระหว่างความเป็น "เผด็จการ" กับ "พ่อปกครองลูก" นั้น เท่ากับสร้าง "บรรทัดฐาน" ให้แก่ความรู้และกระบวนการรับรู้ในสังคมไทย อาจเปรียบเทียบในมุมกลับได้ว่า เป็นการเสนอแนวคิด "เผด็จการแบบไทยๆ" พอๆ กับเป็น "ตรายาง" ให้แก่ "ผู้เผด็จการ" ที่ขาดเสียไม่ได้สำหรับสังคมไทย ที่ประชาชนไม่สมควรตัดสินชะตากรรมของตนเองได้ "โดยผ่านการเลือกตั้ง" และผลสะเทือนของ "หิน" ก้อนนั้นกลางบ่อน้ำที่เต็มไปด้วยจอกแหนในสังคมไทย ยังกลายเป็นแรงกระเพื่อมสืบเนื่องมาอีกกว่าครึ่งศตวรรษ

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากรัฐบาล "คณะปฏิวัติ" ที่มาจากการรัฐประหารทุกคณะในเวลาต่อมาหลังจากสิ้นสุดการปกครอง "ระบอบสฤษดิ์" และ "ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502" ไม่ปรากฏว่ามีความพยายามในการเรียบเรียง/วิเคราะห์ระบบและรูปแบบการปกครองโดยรัฐบาลทหาร และ/หรือ รัฐบาลที่แต่วตั้งโดยคณะทหารที่ยึดอำนาจโดยการรัฐประหาร อีกต่อไป ด้านหนึ่งเป็นไปได้ว่า ระบอบการเมืองหลังการรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ไม่มีและไม่สามารถลงหลักปักฐานอย่างเป็นระบบได้อย่างจริงจัง แม้ว่า "รัฐบาลหอย" กับคณะรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 จะวาง Road Map สร้างประชาธิปไตย 12 ปี เอาไว้ หากแต่กลายเป็นกระสุนด้านไปในเวลาอันรวดเร็ว

จากนั้นบทความของสุมาลีก็เข้าสู่หัวข้อ "จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์กับการสร้างความชอบธรรมทางการเมือง" ซึ่งก็คงวิเคราะห์ผ่าน "ใจกลาง" ของระบบ "พ่อขุน" หรือ "พ่อขุนอุปถัมภ์" ต่อไป
**********
ระบบพ่อขุน (โดยเฉพาะเมื่อผนวกกับการใช้อำนาจแบบเผด็จการ) ไม่เพียงพอสำหรับการปกครองในช่วงระยะเวลาอันยาวนาน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำให้กลุ่มบุคคลผู้มีอำนาจอื่น ๆ ในสังคมไทยให้การสนับสนุนรัฐบาลของตนเอง ในบรรดาผู้สนับสนุนที่สำคัญที่สุด ได้แก่ ข้าราชการและองค์พระมหากษัตริย์ ด้วยความเชื่อมั่นในการพัฒนา จอมพลสฤษดิ์สามารถที่จะให้บทบาทใหม่ ๆ แก่กลุ่มบุคคลเหล่านี้ และได้กำหนดโครงการการปกครองแบบพ่อขุนของตนให้บุคคลเหล่านี้ช่วยเหลือ โครงการเหล่านี้ซึ่งบริหารจากเบื้องบนลงมาเพื่อทำให้อำนาจทางการเมืองมั่นคงขึ้นมากกว่าที่จะได้บรรลุผลในด้านการพัฒนาชาติและสร้างประเทศให้ทันสมัย ซึ่งการพัฒนามักจะหันเหไปสู่จุดมุ่งหมายของความชอบธรรมทางการเมือง

ตัวอย่างเช่น ผู้สนับสนุนในกลุ่มข้าราชการ จอมพลสฤษดิ์สามารถชักจูงข้าราชการระดับสูงที่เข้าศึกษาในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ให้ตระหนักถึงความเร่งด่วนในการพัฒนาชาติและปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงของชาติ ตลอดจนเชื่อมั่นในความชอบธรรมของทหารในเรื่องการปกครอง ดังเช่นที่ข้าราชการพลเรือนได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า "ก่อนที่จะมาศึกษาวปอ.นั้น พลเรือนเราส่วนมากไม่ค่อยจะทราบเรื่องเกี่ยวกับทางทหารมากนัก เมื่อได้เข้าศึกษาแล้ว จึงค่อยเข้าใจและเห็นความสำคัญทางทหารมากขึ้น" [วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, หนังสือประจำรุ่นที่ 8 พ.ศ.2509 อ้างถึงใน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 332] หรือที่นายทหารบางคนได้แสดงออกถึงความรู้สึกของตนเองไว้ว่า "หลังจากสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยนี้แล้วก็จะสามารถทำหน้าที่ของเราได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากได้มองเห็นทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับงานของเราในอนาคต ไม่เฉพาะแต่การแก้ปัญหาด้านการทหารเท่านั้น ยังมีปัญหาทั่ว ๆ ไปของชาติด้วย..." [วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, หนังสือประจำรุ่นที่ 8 พ.ศ.2509 อ้างถึงใน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 333]

ส่วนผู้สนับสนุนที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่งคือองค์พระมหากษัตริย์ รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้สนับสนุนให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลับมามีความมั่นคงอีกครั้ง เพื่อสร้างความถูกต้องชอบธรรมในการเป็นรัฐบาลให้กับกลุ่มการเมืองของตนเองที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งการสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์มีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือรัฐบาลในแง่ของการช่วยส่งเสริมหรือสนับสนุนนโยบายหรือโครงการต่าง ๆ ของระบบพ่อขุน ตัวอย่างเช่น การส่งเสริมให้พระมหากษัตริย์มีโอกาสแสดงพระราชดำรัสต่อประชาชนซึ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมนโยบายของรัฐบาลโดยตรง เนื่องจากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ประชาชนได้พาดพิงและเอื้ออำนวยต่อนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล เช่น พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ใน พ.ศ.2504 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ในการที่ช่วยส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของชาติ และทรงขอให้ประชาชนร่วมมือกับรัฐบาลตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่ตั้งไว้ ดังจะเห็นได้จากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยซึ่งมีเนื้อความว่า
"...ในเรื่องการภายในของเรานั้น ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ท่านทั้งหลายมีความเป็นอยู่ด้วยความสงบสุข และทางรัฐบาลก็พยายามดำเนินการส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติอย่างดีอยู่แล้วทุกด้าน และบัดนี้ด้วยความร่วมมือร่วมกำลังความคิดจากบรรดาข้าราชการที่เกี่ยวข้องและผู้ชำนาญการในสาขาต่าง ๆ รัฐบาลได้วางแผนและโครงการเพื่อฟื้นฟูการเศรษฐกิจและปรับปรุงการศึกษาของชาติขึ้นใหม่แล้ว ซึ่งจะเริ่มใช้ปฏิบัติกันในปีพุทธศักราช 2504 นี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าแผนและโครงการนี้จะมีประโยชน์ดีสำหรับบ้านเมือง แต่ข้อสำคัญก็อยู่ที่การปฏิบัติตามแผนและโครงการนั้นโดยพร้อมเพรียงกันทุกฝ่าย จึงจะเป็นผลแก่ประเทศชาติได้ หวังว่าท่านทั้งหลายจะให้ความร่วมมือแก่ทางราชการในการนี้ต่อไป..."
[กระแสพระราชดำรัสพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสวันขึ้นปีใหม่พ.ศ.2504 จาก โลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์,” ใน พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์นครหลวงกรุงเทพธนบุรี, ม.ป.ป.), หน้า 132]
**********
แล้วในที่สุด "ปัจเจกบุคคล" ทั้งที่เป็นทหารและที่เป็นพลเรือนที่ "ขึ้นทะเบียน" โอกาสในการก้าวขึ้นสู่การจัดลำดับชั้นทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ก็ได้รับ "ใบรับรอง" ผ่านทาง "วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร" นี่เอง.

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 2-8 พฤษภาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8