Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (45)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(14)

รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ.2500

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในฐานะพ่อขุนที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน (ต่อ)

บทความ "ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" โดย สุมาลี พันธุ์ยุรา ในเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า (url ปรับปรุงใหม่เป็น http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ) เริ่มย่อหน้าแรกไว้ว่า
"จอมพลสฤษดิ์ ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 11 ของประเทศไทยในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2502 ภายหลังจากที่คณะปฏิวัติได้บริหารประเทศด้วยการประกาศกฎอัยการศึกมาเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ในช่วงที่จอมพลสฤษดิ์ปกครองประเทศ ทักษ์ เฉลิมเตียรณเห็นว่า ระบบการเมืองที่จอมพลสฤษดิ์และพรรคพวกนำมาใช้กับประเทศไทยนั้น เป็นการปฏิวัติในแง่ที่ว่าเป็นการล้มล้างระบบการเมืองทั้งระบบซึ่งตกทอดมาจากพ.ศ.2475 และได้สร้างระบบการปกครองที่สามารถจะเรียกได้ว่าเป็นแบบไทย ๆ มากขึ้น"
และสรุปเนื้อหาการนำเสนอในหัวข้อ "จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในฐานะพ่อขุนที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน" ก่อนจะไปต่อในหัวข้อถัดไป
**********
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ให้ความสนใจต่อปัญหาของประชาชนตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพราะจอมพลสฤษดิ์ตระหนักดีว่าในเวลาที่ผ่านมานั้น ในบริเวณภาคต่าง ๆ ที่อยู่นอกเขตเมืองหลวงได้รับความสนใจน้อยมากจากรัฐบาล โดยเฉพาะในพื้นภาคอีสานเป็นบริเวณที่รัฐบาลในสมัยก่อนหน้าจอมพลสฤษดิ์ไม่ได้ให้การเหลียวแลอย่างจริงใจ จนบ่อยครั้งก่อให้เกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะการต่อต้านอำนาจรัฐ ซึ่งท้าทายต่อเสถียรภาพทางการเมืองและความสามัคคีในชาติ จอมพลสฤษด์จึงดำเนินมาตรการที่เป็นการส่งเสริมความสามัคคีภายในชาติและการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง เช่น การสั่งประหารชีวิตผู้นำทางการเมืองจากภาคอีสานที่แข็งข้อ และที่สำคัญคือใช้วิธีการปกครองแบบพ่อขุน โดยออกไปเยี่ยมเยือนราษฎรเป็นการส่วนตัว ตลอดจนการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 โดยสั่งให้มีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาคขึ้นด้วย

นอกจากการตรวจราชการครั้งใหญ่แล้ว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ยังเดินทางได้ไปตรวจราชการตามจังหวัดต่าง ๆ อีกเป็นระยะ ๆ เพื่อตรวจเขตชายแดนและโครงการพิเศษต่าง ๆ ในระหว่างการเดินทางไปตรวจราชการ เมื่อมีโอกาสจอมพลสฤษดิ์จะเดินทางโดยรถยนต์ และชอบที่จะเดินทางไปตามถนนหนทางที่มีสภาพย่ำแย่และไปในถิ่นทุรกันดาร เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึง ความอดทนต่อความยากลำบากและการใช้ชีวิตที่ไม่มีพิธีรีตรอง จอมพลสฤษดิ์จึงปฏิเสธที่จะพักแรมในบ้านพักรับรองและเลือกที่จะกางเต็นท์นอน ซึ่งไม่ว่าจะเดินทางไปยังสถานที่ใด จอมพลสฤษดิ์ก็จะพยายามพูดคุยกับประชาชนและรับฟังความต้องการของประชาชนโดยตรง เพราะฉะนั้นการเดินทางไปตรวจราชการของจอมพลสฤษดิ์ก็เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นถึงความเป็นพ่อขุนที่ห่วงใยและการเอาใจใส่ต่อความต้องการของประชาชน

สรุปโดยรวมได้ว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ใช้อิทธิพลและความเป็นผู้นำในรัฐบาลเพื่อสนับสนุนและยกฐานะความชอบธรรมทางการเมืองส่วนตัวของตน และเมื่อมั่นใจว่าประชาชนจะเข้าใจและยอมรับวิธีการความเป็นผู้นำของตนซึ่งใช้คติเดิมของพ่อขุน จอมพลสฤษดิ์จึงได้รับการเคารพยกย่องและการสนับสนุนจากประชาชน ความเอาใจใส่ของจอมพลสฤษดิ์ในการแก้ปัญหาโดยตรงและตรงกับความต้องการของประชาชนซึ่งแม้ว่าจะเป็นส่วนน้อย แต่ก็เป็นความจำเป็นในชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งชี้ให้ประชาชนเห็นว่า จอมพลสฤษดิ์สนใจปัญหาของพวกเขาอย่างจริงใจ ความเอาจริงเอาจังเกี่ยวกับความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการส่งเสริมศีลธรรมของจอมพลสฤษดิ์ก็ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก คือ ถนนหนทางสะอาด พวกอันธพาล ขอทาน สุนัข และโสเภณีเหลือเพียงเล็กน้อย การตัดสินใจลงมือปราบปรามฝิ่นและเฮโรอีน ล้วนทำให้จอมพลสฤษดิ์ได้รับความเคารพจากประชาชนและก็ได้นำชื่อเสียงมาให้แก่ จอมพลสฤษดิ์ด้วย การลงโทษผู้วางเพลิงก็เพิ่มความน่าเกรงขามและน่ายำเกรงให้แก่ จอมพลสฤษดิ์ นอกจากนี้ยังเพิ่มบารมีให้แก่จอมพลสฤษดิ์ในฐานะที่เป็นพ่อขุนซึ่งพร้อมที่จะเสียสละความสุขในอนาคตของตนเพื่อความอยู่ดีกินดีของครอบครัวทั้งประเทศ [ดูรายละเอียดได้ใน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 248]

กล่าวได้ว่า การพัฒนาประเทศตามความหมายของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์มักจะหมายถึงภาคเศรษฐกิจและสังคม นัยของการพัฒนามีแนวโน้มเป็นอนุรักษ์นิยมในหลาย ๆ ประเด็น ตัวอย่างเช่นที่จอมพลสฤษดิ์กล่าวไว้ว่า "...ความจำเป็นขั้นแรกคือ เราจะต้องพยายามให้ราษฎร ประชาชนเข้าใจและเห็นชอบในเรื่องที่ว่าประเทศชาติจะต้องมีการพัฒนา มนุษย์จะต้องก้าวหน้า วันพรุ่งนี้จะต้องดีกว่านี้..." [จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, "สุนทรพจน์ในพิธีเปิดประชุมปฐมนิเทศงานพัฒนาการท้องถิ่น 24 ตุลาคม 2503," ใน ประมวลสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ.2502-2504, หน้า 255] แนวความคิดของจอมพลสฤษดิ์ในการสร้างประเทศให้ทันสมัยและการพัฒนาส่วนใหญ่จึงเป็นไปตามทัศนะที่เป็นอนุรักษ์นิยมทั้งหมด ของจอมพลสฤษดิ์ที่เกี่ยวกับสังคมและการเมืองไทย ความปักใจในเรื่องความสะอาดของบ้านเรือนและประชาชน ความเป็นระเบียบเรียบร้อยทางสังคม ความเป็นอารยประเทศ และความเป็นพ่อบ้าน/พ่อเมือง สร้างความคิดของจอมพลสฤษดิ์ให้เดินไปในทางที่ถูกในการพัฒนาประเทศ ซึ่งเชื่อว่าการพัฒนาทั้งหมดนี้เป็นวิธีที่จะทำให้การดำรงชีวิตแบบไทย ๆ ดีขึ้นไม่ยิ่งหย่อนกว่าการเป็นอารยะของประเทศตะวันตก แนวคิดเหล่านี้ก็จะช่วยให้เข้าใจถึงข้อจำกัดต่าง ๆ ที่โครงการพัฒนาชาติของจอมพลสฤษดิ์เกิดขึ้นมา [ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 269]
**********
จากการติดตามค้นคว้าบทความและข้อเขียนทางการเมืองจากเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้าช่วงเวลาหลายปีมานี้ อาจกล่าวได้ว่า ลักษณะของบทความที่บรรจุไว้มีเนื้อหา 2 ลักษณะด้วยกัน
ลักษณะแรก นำเสนอบันทึกลายลักษณ์อักษรของสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ เช่น บันทึกรานงานการประชุมจำนวนมาก ที่เป็นรายงานการประชุมสภาฯ (รงส.) ระดับต่างๆ ที่ไม่อาจหาพบจากที่อื่นๆ หรือหาค่อนข้างยาก อาทิ รายงานการประชุมคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับถาวร?) พุทธศักราช 2475 ที่ให้ใช้คำว่า "อำนาจ" แทนคำว่า "พระราชอำนาจ" ในหมวดพระมหากษัตริย์ (https://bit.ly/39HrynL) และการอภิปรายของนายพีร์ บุนนาค ในหัวข้อ "รัฐประหาร พ.ศ. 2500" (https://bit.ly/3oXQwWm) ในสภาฯ ถึงลางบอกเหตุบางประการในการก่อรัฐประหาร ฯลฯ

ลักษณะที่สอง การนำเสนอเนื้อที่เป็นข้อสรุป หรือการตีความ ที่แสดงจุดยืนเฉพาะตัวของผู้นำเสนอและผู้ตรวจสอบบทความ ไปในทางใดทางหนึ่ง เช่น การพิจารณาว่าการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทั้งสองครั้งนั้น "เป็นผลดี" ต่อชาติและประชาชน.
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 18-24 เมษายน 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8