Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (40)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(9)

 เครื่องราชอิสริยยศสำหรับผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด ซึ่งพระราชทานให้แก่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี

ต้นแบบและที่มาของระบอบประชาธิปไตยแบบไทย

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการัฐประหารเมื่อวันที่ วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ประเทศไทยมีการปกครองโดยปราศจากรัฐธรรมนูญ เป็นเวลา 101 วัน นับตั้งแต่ จนถึงวันที่ 28 มกราคม 2502 จึงได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญไทยที่สั้นที่สุด คือ มีเพียง 20 มาตรา

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถึงแม้จะได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ประกาศใช้พร้อมกับอ้างว่า (เป็นการแก้ขัด) เพื่อรอการร่าง "รัฐธรรมนูญฉบับถาวร" (?) แต่ก็ถูกใช้เป็นเวลายาวนานรวมถึง 9 ปี 4 เดือน 20 วัน จนกระทั่งถูกยกเลิกโดยละม่อม เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สภาที่มาจากการแต่งตั้ง) ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับใหม่ล่าสุดในเวลานั้นแล้วเสร็จและประกาศบังคับใช้ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511

เกือบจะกล่าวได้ว่า ธรรมนูญการปกครองฯ พุทธศักราช 2502 เป็นแม่แบบของกฏหมายสูงสุดของประเทศไทยที่มีลักษณะเผด็จอำนาจมากที่สุดและเห็นได้ชัดเจนที่สุด นับจากการอภิวัฒน์สยาม 2475 ทั้งโดยที่มา ซึ่งแม้ว่าประเทศไทยจะเคยมีการยกร่างรัฐธรรมนูญไว้ล่วงหน้า เพื่อรองรับการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 ที่เรียกกันว่า "รัฐธรรมนูญตุ่มแดง" หรือ "รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม"

สำหรับในการยึดอำนาจ (รัฐบาลหุ่นของตนเอง) ครั้งนี้คณะรัฐประหารที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ เรียกตัวเองว่า คณะปฏิวัติเพื่อให้เกิดความแตกต่างกับการรัฐประหารครั้งที่ผ่านๆมา โดยเฉพาะการอ้างเหตุผลในการปฏิวัติว่า เพื่อเป็นการสร้างความสามัคคีแก่คนในชาติและต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ (ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 4 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 75 ตอน 81 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501; ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 75 ตอน 84 22 ตุลาคม พ.ศ. 2501)

ใน blog ของ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ หัวข้อ "ธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2502 กับมาตรา 17" (https://blogazine.pub/blogs/pandit-chanrochanakit/post/4878) เขียนถึงการรัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 และการยกร่างธรรมนูญการปกครองฯ ไว้อย่างน่าสนใจ:
ในที่สุดจอมพลสฤษดิ์ก็เดินทางกลับจากอังกฤษเงียบๆ และเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศหลังจากที่พลเอกถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 75 ตอน 81 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501) การยึดอำนาจครั้งนี้คณะรัฐประหารเรียกตัวเองว่า คณะปฏิวัติเพื่อสร้างความแตกต่างระหว่างการยึดอำนาจครั้งใหม่กับการรัฐประหารครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะการอ้างเหตุผลในการปฏิวัติว่า เพื่อเป็นการสร้างความสามัคคีแก่คนในชาติและต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ (ดู ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 4 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 75 ตอน 81 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 75 ตอน 84 22 ตุลาคม พ.ศ. 2501 และ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ 2507 : 14-24)
ก่อนหน้านี้จอมพลสฤษดิ์เคยให้สัมภาษณ์ว่า ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 ได้ยึดตามแบบฝรั่งเศส ทำให้รัฐบาลต้องประสบปัญหาเสถียรภาพไม่มั่นคง ไม่มีเวลาบริหารราชการแผ่นดินได้เต็มที่ สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งละ 20 ล้านบาท และฝ่ายค้านก็คอยหาเหตุมาเปิดอภิปราย รัฐบาลจึงไม่สามารถบริหารราชการได้โดยสะดวก จอมพลสฤษดิ์ไม่ต้องการให้รัฐบาลต้องอยู่ในสภาวะเช่นนั้น ทั้งยังต้องการให้รัฐบาลมีวาระที่แน่นอนโดยสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจเพียงการตั้งรัฐบาลในวาระแรกเพียงครั้งเดียว ดังนั้นสภาฯจึงไม่มีอำนาจควบคุมรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นการเปิดอภิปรายหรือไต่ถามปัญหาการบริหารของรัฐบาล เท่ากับว่ารัฐบาลมีอำนาจเต็มที่และเฉียบขาด

การปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2501 มีการเตรียมการล่วงหน้าอย่างพร้อมเพรียงดังจะเห็นได้จากการที่จอมพลสฤษดิ์เชิญนายถนัด คอมันตร์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา และหลวงวิจิตรวาทการ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาประชุม เพื่อปรึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาของประเทศ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2501 โดยมีข้อสรุปว่าจะต้องทำ ‘การปฏิวัติ’ เพื่อดำเนินการต่างๆ ให้มีกลไกการปกครองที่เหมาะสม ซึ่งการทำรัฐประหารไม่สามารถกระทำได้

ในการหารือครั้งนั้นกล่าวกันว่า หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้แนะนำให้จอมพลสฤษดิ์และรัฐบาล โดยตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและปกครองโดยบุคคลคนเดียวในลักษณะเผด็จการในระบอบประชาธิปไตย การร่างรัฐธรรมนูญต้องกระทำโดยรัดกุมเพื่อมิให้แก้ไขได้ และต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกให้นานที่สุด จอมพลสฤษดิ์จึงมอบหมายให้หลวงวิจิตรวาทการแปลรัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆมาพิจารณา และให้ร่างรัฐธรรมนูญการปกครองตลอดจนประกาศและแถลงการณ์ต่างๆเตรียมไว้
**********
ส่วนในบทความเรื่อง "ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" เขียนโดย สุมาลี พันธุ์ยุรา ในเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ) เขียนไว้ในท่อนนำ "อุดมการณ์ทางการเมืองพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" ว่า:
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นบุคคลที่เป็นผลผลิตภายในประเทศ คือ เป็นผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษาจากประเทศตะวันตก ดังนั้นแนวคิดประชาธิปไตยแบบตะวันตกและลัทธิเสรีนิยมจึงเป็นสิ่งที่ไม่ได้ปลูกฝังอยู่ในจิตใจของจอมพลสฤษดิ์เหมือนดังเช่นผู้นำรุ่นการปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475 ประกอบกับอาชีพทหารและวิถีชีวิตทหารที่เน้นหนักไปในทางใช้อำนาจมาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และกล่าวได้ว่าความล้มเหลวของคณะราษฎรในพ.ศ.2475 ได้นำไปสู่ข้อสรุปขั้นต้นในจิตใจของจอมพลสฤษดิ์ว่า การเมืองไทยต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการเมืองไทยและความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมแบบไทยที่มิใช่แบบตะวันตก นั่นก็คือ การปกครองที่เป็นไปในรูปแบบของประชาธิปไตยแบบไทยนั่นเอง

รูปแบบของ "ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย" นี้ เป็นผลสะท้อนมาจากแนวความคิดและความเข้าใจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ต่อสิ่งที่คิดว่าเป็นระบบการเมืองที่ถูกต้อง และเนื่องจากจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้หนึ่งที่เลื่อมใสในประวัติศาสตร์มาก ตลอดจนความเข้าใจของจอมพลสฤษดิ์เกี่ยวกับระเบียบสังคมการเมืองที่ได้รับอิทธิพลมาจากหลวงวิจิตรวาทการหลังสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งเป็นเรื่องของการแสวงหารูปแบบของการปกครองในสมัยโบราณที่อาจนำมาใช้ได้กับการพัฒนาประเทศ ความคิดดังกล่าวผนวกเข้ากับภูมิหลังทางการศึกษาภายในประเทศและประสบการณ์ทางการเมืองในฐานะนายทหารผู้ค่ำหวอดกับการใช้กำลังของจอมพลสฤษดิ์ ทำให้พอสรุปถึงความเข้าใจทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ต่อรูปแบบของสังคมการเมืองไทยว่าประกอบขึ้นด้วยรัฐ/รัฐบาล ข้าราชการ และประชาชน [ลิขิต ธีรเวคิน, วิวัฒนาการเมืองการปกครองไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2540), หน้า 163.]
**********
นั่นหมายความว่า มีนักวิชาการทางรัฐศาสตร์ส่วนหนึ่งเห็นว่า การยึดและขึ้นครองอำนาจของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เกิดจากอัตวิสัยของจอมพลสฤษดิ์ล้วนๆ และสร้างระบอบการปกครองที่อำนวยประโยชน์แก่ระบอบเผด็จการทหารชนิด "สัมบูรณ์" ซึ่งอาจต้องมีการอภิปรายในบริบทนี้กันอย่างลึกซึ้งต่อไป.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 14-20 มีนาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8