ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(13)
สามล้อถีบสูญพันธุ์ไปจากพระนครในสมัยปฏิวัติ
(รัฐประหาร?) ของจอมพลผ้าขาวม้าแดงในปี พ.ศ. 2507 ส่วนรถรางถูกยกเลิกไปในปี พ.ศ. 2511 ในยุคผู้สืบทอดอำนาจคือจอมพลถนอม กิตติขจร
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในฐานะพ่อขุนที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน (ต่อ)
บทความ "ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" โดย สุมาลี พันธุ์ยุรา ในเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า (http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ) วิเคราะห์บทบาทการ "ดูแลทุกข์สุขของประชาชน" ต่อไป อันสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะ "กำจัด" ความยากจน ความไร้ระเบียบ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากระดับพัฒนาการของสงัคม และการเติบโตของเมือง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพระนคร) ที่ไปไกลเกินกว่าการดำเนินชีวิตของสังคมเกษตรกรรมหรือกึ่งเกษตรกรรมของไทยในเวลานั้น ซึ่งหาใช่เป็นการแก้ปัญหาที่รากฐานของสังคมแต่อย่างใด หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการ "ซุกขยะไว้ใต้พรม" ที่ผลของการดำเนินการดังกล่าวย้อนกลับมาสร้างปัญหาสังคมในอนาคต เช่นการเกิดสลัมในเขตจังหวัดพระนครในเวลาหลายปีหลังจากนั้น
**********
การรักษาความเรียบร้อยในทัศนะของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ยังรวมไปถึงกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งปรากฏให้เห็นจากการดำเนินนโยบายรักษาบ้านเมืองให้สะอาดเรียบร้อย เช่น การสั่งยกเลิกอาชีพสามล้อในเขตพระนครเพราะเห็นว่าคนเหล่านี้ละทิ้งอาชีพเกษตรกรในชนบทแล้วมาอาศัยอยู่ในพระนคร เช่น อาศัยอยู่ตามวัด โรงรถ ปลูกกระต๊อบข้างถนนหรือปลูกเพิงใต้สะพาน ทำให้บ้านเมืองสกปรก นอกจากนี้ยังสั่งให้มีการทำความสะอาดถนนบ่อยครั้ง การขจัดขอทาน การกำจัดสุนัขกลางถนน การจับกุมคนที่เป็นโรคเรื้อนและส่งไปยังศูนย์ควบคุมโรคเรื้อน การปรับเงินสำหรับผู้ที่ทิ้งสิ่งปฏิกูลตามถนน ความเลื่อมใสของประชาชนที่มีต่อ จอมพลสฤษดิ์ในฐานะพ่อขุนมีเพิ่มขึ้น เมื่อจอมพลสฤษดิ์จับกุมบุคคลที่ทิ้งเศษขยะลงบนท้องถนนด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เทศบาลคอยตรวจตราและปราบปรามบ้านเรือนต่าง ๆ ที่ตากเสื้อผ้าไว้ตามระเบียงและปลูกต้นไม้โดยไม่ดูแลรักษา ตลอดจนสั่งการให้เจ้าหน้าที่เทศบาลจัดสวนและทำบ้านเมืองให้สวยงามด้วยการสร้างน้ำพุขึ้นตามถนนหลวง เป็นต้นการดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศโดยเฉพาะ ในด้านการป้องกันอัคคีภัยและการสั่งประหารชีวิตคนวางเพลิง ทำให้ความนิยมของประชาชนที่มีต่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์มีมากขึ้น จอมพลสฤษดิ์เห็นว่าการเกิดเพลิงไหม้เป็นความจำเป็นที่ต้องจัดการอย่างเร่งด่วนและเฉียบขาด ด้วยเหตุนี้เมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้น ณ ที่ใด จอมพลสฤษดิ์มักจะเดินทางไปอำนวยการดับเพลิงและทำการสอบสวนด้วยตนเอง และเมื่อสอบสวนแล้วพบว่าผู้นั้นเป็นผู้ลอบวางเพลิงก็จะถูกตัดสินประหารชีวิตโดยการยิงเป้า การลงโทษผู้ลอบวางเพลิงของ จอมพลสฤษดิ์สามารถเรียกความนิยมได้จากประชาชน โดยแสดงให้เห็นว่าตนเองห่วงใยต่อ สวัสดิภาพของประชาชน ความเฉียบขาดของจอมพลสฤษดิ์ในเรื่องนี้ได้ผลมาก เพราะประชาชนส่วนใหญ่ชมเชยจอมพลสฤษดิ์ว่าเป็นผู้ที่มีความพยายามจัดการกับปัญหาอัคคีภัยและปราบปรามผู้ลักลอบวางเพลิง ส่งผลทำให้จอมพลสฤษดิ์ได้รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ไม่ว่ากรณีที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ และที่สำคัญคือจอมพลสฤษดิ์จะออกไปอำนวยการด้วยตนเองไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน หรือไม่ว่าจะเจ็บไข้หรือสุขสบาย จอมพลสฤษดิ์ก็มักจะไปปรากฏตัวให้เห็นในที่เกิดเหตุอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ชื่อเสียงของจอมพลสฤษดิ์จึงแพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวางเพราะความสนใจและความเอาใจใส่ในเรื่องเพลิงไหม้ และประชาชนก็ดูจะมีความเชื่อถือว่า จอมพลสฤษดิ์เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ตามแบบฉบับของพ่อขุน
ประการที่สาม ในฐานะของพ่อขุนที่ส่งเสริมสุขภาพและศีลธรรมแก่ลูก ๆ (ประชาชน) จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ดูแลกวดขันเกี่ยวกับยาเสพติด เช่น ฝิ่นและเฮโรอีน ดังที่ปรากฏในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 37 ซึ่งระบุว่า "ด้วยคณะปฏิวัติได้พิจารณาเห็นว่า การเสพย์ฝิ่นเป็นที่รังเกียจในวงการสังคม และเป็นอันตรายแก่สุขภาพและอนามัยอย่างร้ายแรง ประเทศต่าง ๆ ได้พยายามเลิกการเสพย์ฝิ่นโดยเด็ดขาดแล้ว จึงเห็นเป็นการสมควรให้เลิกการเสพย์ฝิ่นและการจำหน่ายฝิ่นในประเทศไทยเสีย" รวมทั้งการสั่งให้ยุบร้านจำหน่ายฝิ่นและโรงยาฝิ่นต้องถูกปิดอย่างถาวร อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการสูบฝิ่นถูกเผาทำลายที่ท้องสนามหลวง พร้อมกันนั้นรัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์บำบัดรักษาและสถานพักฟื้นสำหรับผู้เสพฝิ่น และเพื่อประกันว่ามีการดูแลและควบคุมยาเสพติดอย่างเข้มงวด จอมพลสฤษดิ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการปราบยาเสพติดและก่อตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นในกองปราบปรามอาชญากรรมของกรมตำรวจ เพื่อจัดการกับการลักลอบเสพและค้ายาเสพติดที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายทุกประเภท รวมไปถึงได้สั่งให้มีการจับกุมผู้ที่ผลิตเฮโรอีนและมีบทลงโทษด้วยการประหารชีวิต นอกจากนี้ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 50 ได้ระบุว่า การเปิดบริการของสถานบริการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานบริการอาบน้ำ โรงแรม บังกาโล สถานเต้นรำ สโมสร โรงมหรสพหลายแห่ง เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายและส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
ประการที่สี่ ในฐานะของพ่อขุนที่ออกเยี่ยมเยือนครอบครัวหรือประชาชนในท้องที่ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองและความสามัคคีภายในชาติ ซึ่งในขณะนั้นความแตกแยกทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายในประเทศและสถานการณ์อันไม่มั่นคงในอินโดจีนได้คุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ และเพื่อทำให้ความขัดแย้งภายในประเทศและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนและระหว่างถิ่นลดน้อยลง จอมพลสฤษดิ์จึงได้วางแผนเพื่อทำให้ประเทศเกิดความมั่นคงด้วยการเดินทางออกไปเยี่ยมเยือนประชาชนตามหัวเมืองต่าง ๆ เป็นการส่วนตัว เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนเองมีความห่วงใยประชาชนในทุก ๆ ภาค และต้องการที่จะเห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของประชาชนด้วยตาตัวเอง ซึ่งนับว่าเป็นเป้าหมายในขอบข่ายที่พ่อขุนพึงดูแลทุกข์สุขของประชาชนทั้งประเทศและนับว่าเป็นวิถีทางในขอบข่ายที่เป็นการประกันความสามัคคีในชาติเมื่อเผชิญกับภยันตรายภายนอก
**********
ทั้งนี้ การดำเนินการลงโทษโดยใช้อำนาจหัวหน้าคณะปฏิวัติในการประหารชีวิตผู้ลอบวางเพลิงหรือผู้ค้าฝิ่นที่ไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมปกตินั้น ถือเป็นการกระทำที่ "รับไม่ได้" สำหรับอารยประเทศสำหรับข้ออ้างเรื่องการห้ามสามล้อถีบเข้ามารับผู้โดยสารในเขตจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี ปรากฏว่ากรรมกรสามล้อที่จัดเป็นผู้ใช้แรงงานอิสระ "หาเช้ากินค่ำ" ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากต้องอพยพไปทำอาชีพนั้นในจังหวัดใกล้เคียง อาทิ จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และสระบุรี ฯลฯ จนถึงกับศิลปินสองคนคือ คำรณ สัมบุณณานนท์ และ เสน่ห์ โกมารชุน ร่วมกันแต่งเพลง "สามล้อแค้น" โดยเฉพาะคำรณแต่งเพลงคัดค้านอำนาจเผด็จการทหารในเวลานั้น จนถูกเพ่งเล็ง และมีคำสั่งห้ามออกอากาศทางสถานีวิทยุไปเลยอยู่หลายเพลง เช่น "มนต์การเมือง" และ "อสูรกินเมือง" ที่กล่าวถึงการสังหารโหดทางการเมือง
ซึ่งเพลง "สามล้อแค้น" ขึ้นท่อนแรกว่า
"คงเป็นเวรกรรมชักนำให้ถีบสามล้อ
อนาถจริงหนอต้องถีบสามล้อเลี้ยงกาย
เหนื่อยยากสู้ทนยึดเอาถนนเป็นเรือนตาย
รับส่งหญิงชายสร้างความสบายให้กับทุกคน".
(ยังมีต่อ)
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 11-17 เมษายน 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน