Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (41)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(10)

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เปิดสาขาพรรคเสรีมนังคศิลา สมุทรสาคร 6 กุมภาพันธ์ 2500

ต้นแบบและที่มาของระบอบประชาธิปไตยแบบไทย (ต่อ)

ย้อนกล่าวถึง เหตุผล (?) ประการหนึ่งในการทำรัฐประหารครั้งที่สองของจอมพลสฤษดิ์ และเป็นเหตุผลที่ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในความพยายาม กำจัด นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งรวมทั้งแนวทางทางเศรษฐกิจการเมือง และผู้เลื่อมใสในตัวนายปรีดีทั้งที่เป็นสามชิกในคณะราษฎรสายต่างๆ และที่พลพรรคเสรีไทยสายต่างๆ โดยเฉพาะสายในประเทศ นั่นคือ ภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ดังที่ปรากฏใน ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 4 ซึ่งมีเนื้อหาที่สำคัญอยู่ที่ "ภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ที่ได้แทรกแซงทั้งภายในและคุกคามอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่จะต้องยึดอำนาจ เพื่อสร้างเสถียรภาพใหม่ให้อยู่บนรากฐานของระบอบประชาธิปไตย จัดระบบเศรษฐกิจและสังคมให้เหมาะสมกับความเป็นอยู่ของชาติและประชาชน เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว คณะปฏิวัติจึงต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ และสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ที่รัดกุมเข้มแข็งเพื่อต่อสู้กับภัยของชาติ รักษาอิสรภาพของศาล ตลอดจนปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะปฏิวัติจะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์และยกย่องเชิดชูไว้" (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 75 ตอน 81 20 ตุลาคม 2501)

นอกจากนั้น คณะปฏิวัติยังแสดงท่าทีอย่างชัดแจ้งในการ ทำลายระบอบรัฐสภา และ การเลือกตั้ง (อย่างน้อยก็ในระยะการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ) ด้วยการประกาศยกเลิก พ.ร.บ. พรรคการเมือง พ.ศ. 2498 นั่นคือคำสั่งยุบพรรคการเมืองและห้ามการจัดตั้งพรรคการเมืองในทันทีที่ประกาศมีผลบังคับใช้ (ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 8 ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 75 ตอน 83 20 ตุลาคม 2501)

ใน blog ของ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ หัวข้อ "ธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2502 กับมาตรา 17" (https://blogazine.pub/blogs/pandit-chanrochanakit/post/4878) วิเคราะห์ว่าการอ้างถึงภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวสต์ที่มีต่อประเทศไทยนั้น ไม่มีเหตุผลรองรับที่มีน้ำหนักพอ (เช่นเดียวกับอีกหลายครั้ง) ที่จำเป็นจะต้องก่อรัฐประหาร และแม้แต่อีกหลายครั้งที่มีการสร้างสถานการณ์ที่นำไปสู่การรัฐประหาร เช่น กรณี 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519, กรณี 19 กันยายน พ.ศ. 2549 และ ฯลฯ:
"แม้ว่าคณะปฏิวัติจะได้กล่าวถึงสาเหตุในการปฏิวัติว่าเป็นเพราะภัยคอมมิวนิสต์คุกคามประเทศไทยอย่งหนัก โดยที่กลไกทางการเมืองการปกครองขณะนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ แต่เมื่อได้พิจารณาสถานะของรัฐบาลและรัฐสภาซึ่งคณะรัฐประหาร 2500 ได้มีส่วนอยู่นั้น จะพบว่า รัฐบาลพลเอกถนอม กิตติขจรกุมเสียงข้างมาก ทั้งในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนประเภทที่สองซึ่งมีจำนวนกึ่งหนึ่งของสภาและสมาชิกสภาผู้แทนประเภทที่หนึ่ง ในสังกัดพรรคชาติสังคม จึงน่าที่จะตรากฎหมายหรือกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาและภัยจากคอมมิวนิสต์ได้ไม่ยาก อีกทั้งยังมี พ.ร.บ. ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่แล้ว หากรัฐบาลจะแก้ไขโดยใช้วิถีทางประชาธิปไตยก็น่าจะแก้ไขได้เช่นกัน การปฏิวัติเพื่อสร้างประชาธิปไตยจึงเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกันอยู่ไม่น้อย"
**********
เมื่อพิจารณาบทความ "ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" โดย สุมาลี พันธุ์ยุรา ในเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ) วิเคราะห์ทัศนะของจอมพลสฤษดิ์ต่อระบอบการปกครองที่เรียกว่า ประชาธิปไตยแบบไทย โดยอ้างอิง ระบบพ่อขุน หรือ พ่อปกครองลูก ซึ่งมีอยู่ในประวัติศาสตร์ยุคสุโขไทย (ที่ปัจจุบันมีข้อโต้แย้งมากขึ้น):

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยแบบไทยควรที่จะเป็นไปในรูปแบบที่รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งนี้เพราะประเทศชาติจะเป็นระเบียบไม่ได้ถ้ายังมีระบบพรรคการเมืองที่แบ่งแยกตามแนวตั้ง แต่ควรที่จะต้องอาศัยการแบ่งตามแนวนอนระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองด้วย ซึ่งจอมพลสฤษดิ์เห็นว่า ประเทศควรแบ่งออกเป็นสามชั้น คือ รัฐ/รัฐบาล ข้าราชการ และประชาชน โดยเชื่อว่ารัฐบาลจำเป็นต้องมีอำนาจสูงสุดและมีหน้าที่ในการวางนโยบายที่สำคัญๆ ซึ่งงานที่เป็นหลักของรัฐบาลคือ จะต้องทำให้มีเสถียรภาพทางการเมืองและธำรงไว้ซึ่งความเป็นปึกแผ่นของชาติ ในขณะที่ระบบราชการจะต้องถูกทำให้กลายมาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย เพราะระบบราชการถือว่ามีหน้าที่เป็นตัวแทนและปฏิบัติตามคำบัญชาของผู้ปกครองโดยตรง จึงต้องยอมรับการชี้แนวทางการปฏิบัติจากรัฐบาล โดยเฉพาะจากตัวผู้นำเป็นสำคัญ

นั่นคือระบบและบุคลากรในระบบราชการ ซึ่งก็คือข้าราชการประจำทั้งหลายจึงไม่ได้มีความหมายในแง่ของการเป็นผู้รับใช้หรือผู้ให้บริการแก่ประชาชน หากแต่จะมีความหมายไปในลักษณะของการเป็นผู้รับใช้รัฐบาลเป็นสำคัญ เช่น ข้าราชการจะต้องรวบรวมข่าวสารเพื่อนโยบายของรัฐบาล บริหารงานตามนโยบายของรัฐบาล และที่สำคัญการให้การบริการหรือรับใช้ประชาชนนั้นต้องตามขอบข่ายงานที่เบื้องบนได้วางไว้ [ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548), หน้า 195-199.] ดังปรากฏในคำปราศรัยของจอมพลสฤษดิ์ที่ได้ไว้ให้แก่บรรดาข้าราชการท้องถิ่นดังนี้
"...ระบบการปกครองของไทยเราตั้งแต่โบราณมาก็ถือว่าเจ้าบ้านผ่านเมืองเป็นหูเป็นตาของรัฐบาล ซึ่งคำโบราณพูดว่า 'ต่างหูต่างตา' อันที่จริงไม่แต่เพียงต่างหูต่างตาเท่านั้น การปกครองสมัยโบราณของไทยเรายังมีตำแหน่ง 'ข้าหลวงต่างใจ' หมายความว่า พวกข้าหลวงผู้ว่าราชการยังต้องเป็นดวงใจที่จะตริตรึกนึกคิดแทนรัฐบาลที่อยู่ห่างไกลอีกด้วย

ในสมัยนี้ก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัฐบาลปฏิวัติ ซึ่งข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่นี้ ข้าพเจ้าถือว่าท่านทั้งหลายเป็นหูเป็นตาและเป็นดวงใจของข้าพเจ้าที่มอบไว้แก่ราษฎรทั้งหลาย ความผาสุกอยู่ดีกินดีของราษฎรเป็นเรื่องที่ฝังอยู่ในดวงใจของข้าพเจ้าอย่างแนบแน่น ข้าพเจ้าขอให้ท่านทั้งหลายเป็นตัวแทนดวงใจของข้าพเจ้า ซึ่งจะให้ความรักเอาใจใส่แก่ราษฎร ช่วยข้าพเจ้าดู ช่วยข้าพเจ้าฟัง และที่สำคัญที่สุด คือ ช่วยข้าพเจ้าคิด ว่าทำอย่างไรจึงจะสร้างความผาสุกของราษฎรได้ทั่วไป..." [จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, "คำกล่าวในการเปิดประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต16 มีนาคม 2503,"
ใน ประมวลสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ.2502 – 2504 (พระนคร: โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2507), หน้า 147]
**********
มีประเด็นที่น่าจะนำมาพิจารณาถึงระบอบที่มักใช้กันว่า เผด็จการของไทย หรือเฉพาะเจาะจงไปที่ ระบอบพ่อขุนของจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งหากจะว่าไปแล้ว ต้องนับว่าเป็นระบอบพ่อขุนที่มีลักษณะแตกต่างไปจากระบอบพ่อขุนในยุคสุโขทัย คือ ระบอบของจอมพลสฤษดิ์หาได้มีการสืบทอดอำนาจตามสายเลือดแบบระบอบพ่อขุนแต่อย่างใดไม่ หรือแม้แต่ในปัจจุบัน เมื่อกล่าวถึงระบอบเผด็จอำนาจที่มีการสืบทอดตำแหน่งผู้นำตามสายเลือด และสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน คือ ระบอบการปกครองของสกุล "กิม" ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (หรือเกาหลีเหนือ) ที่ปกครองโดยผู้นำสูงสุดในนามพรรคคอมมิวนิสต์ แต่สืบทอดตำแหน่งแบบ ระบบสืบสันตติวงศ์ ของรัฐราชาธิปไตยโดยทั่วไปทั้งหลาย.

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 21-27 มีนาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8