Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2561

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (74)

จุดจบที่ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยา 49
กับวลีอัปยศ "โปรดฟังอีกครั้ง"

คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)

รัฐบาลเสียงข้างมากพรรคไทยรักไทยจากการเลือกตั้ง 6 กุมภาพันธ์ 2548 หรือที่เรียกกันว่า รัฐบาลทักษิณ 2 บริหารประเทศอันเป็นการสืบเนื่องนโยบายของพรรคที่ประกาศไว้ครั้งแรกในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 นั้นเป็นช่วงที่ประเทศไทยมีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้ระบบคิด "รัฐธรรมนูญนิยม" ซึ่งเกิดขึ้นหลังความพยายามในการปฏิรูปการเมือง สืบเนื่องจาก "เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535" โดยมุ่งให้การสร้างรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อสถาปนาและสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่ระบอบประชาธิปไตย

คำแถลงสำคัญต่อรัฐสภาในวันพุธที่ 23 มีนาคม ซึ่งเป็นการย้ำยืนยันนโยบาย "4 ปีสร้าง" นั้น "คืนอำนาจการตัดสินปัญหาสู่ชุมชน โดยให้ความสำคัญแก่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมให้มีความสมดุลมากยิ่งขึ้น สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ระบบเศรษฐกิจ ปฏิรูปการศึกษาเพื่อนำไปสู่สังคมและเศรษฐกิจบนฐานความรู้ โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ เพื่อนำประเทศไปสู่โครงสร้างที่มีความสมดุล มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน โดยรัฐบาลจะดำเนินนโยบายเก้าประการ ดังต่อไปนี้

          1. นโยบายขจัดความยากจน
          2. นโยบายพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพ
          3. นโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและแข่งขันได้
          4. นโยบายบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
          5. นโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
          6. นโยบายพัฒนากฎหมายและส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
          7. นโยบายส่งเสริมประชาธิปไตยและกระบวนการประชาสังคม
          8. นโยบายรักษาความมั่นคงของรัฐ
          9. นโยบายตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ"

แม้ว่าผลการเลือกตั้งจะสะท้อนการครองใจประชาชนที่เรียกกันว่า "รากหญ้า" โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรชาวไร่ชาวนาในภาคอีสานและภาคเหนือ แต่หน่อของความขัดแย้งไม่พอใจที่เริ่มก่อรูปขึ้นในหมู่คนชั้นนำและนักวิชาการส่วนหนึ่งเริ่มขยายตัวจนเกิดเป็นรอยร้าวยิ่งขึ้นทุกที รวมทั้งความขัดแย้งในสภาระหว่างพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านในเวลานั้นคือพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งฐานคะแนนเสียงลดน้อยถอยลงอย่างเห็นๆได้ชัด ยกเว้นฐานคะแนนสำคัญในภาคใต้

วาทกรรม "ทุนนิยมสามานย์" "ทักษิโณมิกส์" ถูกสร้างขึ้นตามมาด้วยข้อกล่าวหาร้ายแรงในการโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ที่รู้จักกันในกรณี "ปฏิญญาฟินแลนด์" ในเวลาเดียวเนื่องจากโครงส้รางการทำงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในความพยามที่จะพลิกฟื้นโอกาสของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่เสียหายไปอันเป็นผลมาจาก "เศรษฐกิจฟองสบู่แตก" และ "วิกฤตต้มยำกุ้ง" หลังปี 2541 ผลก็คือโครงข่ายของการบริหารราชการแผ่นดินในรูปแบบ CEO ก็ดี การผลักดันระบบและระเบียบตลอดจนท่วงทำนองการปกิบัติราชการแบบเก่าชนิด "เช้าชามเย็นชาม" และการคัดสรรพิจารณาทบทวนการเข้าร่วมกิจการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ นำไปสู่การเกิดมีส่วนร่วมไม่เท่าเทียมกัน ทางภาครัฐและภาคเอกชน

สื่อมวลชนที่เคยสนับสนุนรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู คือ "รายการเมืองไทยรายสัปดาห์" ที่เริ่มออกอากาศเมื่อปี 2546 ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ทีวี ดำเนินรายการโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล และนางสาวสโรชา พรอุดมศักดิ์ ก็เริ่มบทบาท "ไม่เอาทักษิณ" อย่างเด่นชัดยิ่งขึ้น หลังจากวันที่ 9 กันยายน 2548 นายสนธิได้อ่านบทความเรื่อง "ลูกแกะหลงทาง" ออกอากาศทางโทรทัศน์ ส่งผลให้รายการถูกถอดออกจากผังรายการอย่างกะทันหัน โดยนายธงทอง จันทรางศุ บอร์ด อสมท. ให้เหตุผลว่าเป็นการจาบจ้วงสถาบัน

บรรยากาศทางการเมืองทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้นจนดูว่ายากที่จะมีจุดยุติในกติกา นำไปสู่การประกาศประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ก่อนหน้าการเปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจตามญัตติของฝ่ายค้าน พร้อมกับประกาศให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549

แต่แล้วจากการประกาศคว่ำบาตรไม่ส่งผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งจากอดีตพรรคฝ่ายค้าน 3 พรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคมหาชนและพรรคชาติไทย และแม้ว่าพรรคไทยรักไทย ยังคงได้รับคะแนนเสียงข้างมาก แต่ในหลายพื้นที่ได้เกิดปรากฏการณ์ "ไม่เอาทักษิณ" ด้วยการที่ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยได้คะแนนน้อยกว่าผู้ไม่ออกเสียงและบัตรเสีย

วันที่ 4 เมษายน เวลา 20.30 น. พ.ต.ท. ทักษิณ แถลงการณ์ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่า แม้พรรคไทยรักไทยจะชนะการเลือกตั้ง 2 เมษายน แต่ตนจะไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นการสร้างความสมานฉันท์ และปรองดองในชาติ แต่ยังจำเป็นจะต้องรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนกว่าการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่จะแล้วเสร็จ แต่เมื่อยังคงมีกระแสต่อต้านจากพรรคฝ่ายค้าน และกลุ่มพันธมิตรฯ การที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ดังนั้น ในวันที่ 6 เมษายน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ลาราชการ และแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทน ผลที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ และมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 15 ตุลาคม 2549

ในเวลาอันรวดเร็วความขัดแย้งทางการเมืองนอกสภาก็ขยายตัว การรวมตัวกันของทั้งฝ่ายต่อต้านและฝ่ายสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวบานปลายไปยิ่งขึ้นทุกที ประเด็นสำคัญคือสื่อกระแสหลักส่วนหนึ่งที่นำโดย เครือผู้จัดการ (ในเวลานั้น) กับนักวิชาการ (ระดับสูง) บางส่วน ออกมาเคลื่อนไหวกดดัน โดยในวันเสาร์ที่ 2 กันยายน 2549 ได้มีกลุ่มเครือข่ายแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และอาจารย์มหาวิทยาลัย 43 องค์กร 11 มหาวิทยาลัย ล่ารายชื่อกว่า 92 คน ปลุกกระแส "ต้านทักษิณ"

การขับไล่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร สิ้นสุดลง ในวันที่ 19 กันยายน 2549 ด้วยการก่อรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ ขณะที่นายกรัฐมนตรีเตรียมขึ้นอ่านสุนทรพจน์ ณ ที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ ในนครนิวยอร์ค…

ยุติรัฐบาลเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยลงอย่างสิ้นเชิงโดย "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)" นำโดย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ก่อนวันที่จะมีการชุมนุมอย่างยืดเยื้อตามประกาศของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเครือข่ายในวันที่ 20 กันยายน จากนั้นมีประกาศของคณะปฏิรูปฯออกอากาศทางโทรทัศน์เป็นระยะ จบด้วยประโยคอัปยศที่ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยไม่มีวันลืม ว่า...

"โปรดฟังอีกครั้ง".


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 14-20 สิงหาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8