Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (62)

17 "พฤษภาทมิฬ" 2535
วันกวาดล้างพลังประชาธิปไตย

ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 14 พฤษภาคมแกนนำในการชุมนุมประท้วงช่วงต้น จึงจัดให้มีการประชุมร่วมกันเพื่อปรึกษาและสรุปบทเรียนที่ผ่านมา ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ เนื่องจากพบว่าการชุมนุมในช่วงแรก (4-11 พฤษภาคม) นั้นแกนนำขาดความเป็นเอกภาพมีความแตกต่างทางแนวคิดและไม่สามารถหาข้อยุติได้ ด้วยขาดองค์กรนำ ที่ประชุมจึงลงมติจัดตั้งสมาพันธ์ประชาธิปไตยขึ้น ประกอบด้วยกรรมการเจ็ดคน คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายปริญญา เทวนฤมิตรกุล, น.พ. เหวง โตจิราการ, น.พ. สันต์ หัตถีรัตน์, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ และ ร.ต. ฉลาด วรฉัตร (ภายหลังได้ถอนตัว และให้ น.ส. จิตราวดีเป็นแทน) นอกจากนี้ยังได้ออกแถลงการณ์ ใบปลิว ชักชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุมในเย็นวันที่ 17 ด้วย

ช่วงวันที่ 17 ประชาชนที่เข้ามาร่วมชุมนุมเพิ่มขึ้นจากประมาณ 30,000 คน จากเวลา 15.00 น. เป็น 300,000 คนในเวลาประมาณ 19.00 น. จากนั้นจึงเริ่มเคลื่อนขบวนมุ่งหน้าไปทางทำเนียบรัฐบาล ทั้งรัฐบาลได้จัดตั้งกองกำลังรักษาพระนครซึ่งประกอบกันเข้าด้วยกำลังทั้งทหารและตำรวจจำนวนนับหมื่นคน เพื่อรับมือการเคลื่อนไหวของประชาชนที่รวมตัวกันเรียกร้องประชาธิปไตย

ทันทีที่ขบวนเคลื่อนมาเผชิญหน้ากับแนวกีดขวางสะพานผ่านฟ้าฯ การปะทะครั้งก็แรกเริ่มต้นขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 21.20-22.00 น. เมื่อการขอร้องตำรวจให้เปิดทางแต่ไม่สำเร็จ ประชาชนจึงพยายามฝ่าแนวกั้นโดยใช้ไม้กระแทกสิ่งกีดขวาง ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์หุ้มมือและเข้าดึงลวดหนาม บางคนก็ใช้มือเปล่า

ช่วงนั้นฝูงชนกลุ่มหนึ่งบุกยึดรถดับเพลิงจำนวนแปดคันที่กำลังฉีดน้ำใส่กลุ่มชน แล้วฉีดน้ำกลับใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้ตำรวจต้องถอยร่นไป แต่ในที่สุดกำลังตำรวจนับพันนายก็บุกตะลุยเข้าชิงรถดับเพลิงคืนได้ โดยใช้กระบองรุมกระหน่ำตีกลุ่มผู้ยึดรถ การปะทะระหว่างฝูงชนกับตำรวจที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ และหน้ากรมโยธาธิการกินเวลานานนับชั่วโมง นอกจากก้อนหินและขวดน้ำแล้ว ยังมีคนใช้ขวดน้ำมันจุดไฟรวมทั้งระเบิดขวดขว้างใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้เกิดเสียงดังเป็นระยะๆ ทางฝ่ายตำรวจใช้กระบองเข้าทุบตีประชาชน รถยนต์ รถจักรยานยนต์ (ผู้จัดการฉบับพิเศษ 2535) ผู้สื่อข่าวและช่างภาพหลายคนโดยทุบตี ถูกยึดฟิล์ม กล้อง และอุปกรณ์ต่างๆไป มีผู้บาดเจ็บเลือดอาบรวมถึงถูกทุบตีจนเสียชีวิตหลายราย

จากนั้นสถานการณ์เริ่มเข้าสู่ภาวะควบคุมไม่ได้ ในเวลาประมาณ 23.00 น. มีฝูงชนส่วนหนึ่งยึดสถานีตำรวจดับเพลิง ภูเขาทอง ตามมาด้วยการเผาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง และการเคลื่อนไหวของประชาชนนับแสนตลอดเส้นทางถนนราชดำเนินนอก แต่ตลอดเวลาที่เกิดความวุ่นวายอยู่นั้น เส้นทางย้อนกลับไปตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าฯ ถึงสี่แยกคอกวัว ยังคงเป็นการนั่งชุมนุมอย่างสงบ และพล.ต. จำลอง ได้ประกาศต่อที่ชุมนุมว่า ไม่ขอรับผิดชอบต่อการก่อจลาจลทั้งหมดเพราะเป็นฝีมือของมือที่สามที่หวังสร้างสถานการณ์เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามประชาชน

เวลา 00.30 น. ของวันที่ 18 พฤษภาคม สถานีวิทยุโทรทัศน์ทั้งหมดออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และแต่งตั้งให้ทหารทำหน้าที่รักษาความสงบ ลงนามโดย พล.อ. สุจินดา และ พล.อ.อ. อนันต์ กลินทะ รมว. มหาดไทย

การเผชิญหน้าและการปฏิบัติการตอบโต้กันด้วยกำลังดำเนินมาจนถึงเวลาประมาณ 13.00 น. กำลังทหารวางแนวปิดกั้นบริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า ท่าพระจันทร์ สี่แยกคอกวัว และวางลวดหนามขวางถนนราชดำเนินตรงบริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์ ประชาชนที่ต้องการเข้าร่วมชุมนุมถูกสกัดไว้ไม่ให้เข้า ในขณะที่ผู้ชุมนุมภายในเหลืออยู่เพียง 2 หมื่นคน

ในเวลา 14.00 น. พล.อ.สุจินดาออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์กล่าวหา พล.ต. จำลองและบุคคลบางคนว่าเป็นภัยต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นผู้ยุยงปลุกปั่นให้การชุมนุมเกิดความรุนแรงจนทำร้ายเจ้าหน้าที่และทำลาย สถานที่ราชการ จึงต้องใช้กำลังทหารตำรวจเข้าปราบปรามขั้นเด็ดขาดเพื่อยุติความเสียหาย

และแล้วในเวลา 15.00 น. กองกำลังรักษาพระนครก็สั่งการให้สลายการชุมนุมจากสะพานผ่านฟ้าฯ ถึงกรมประชาสัมพันธ์ โดยให้เหตุผลว่า "ในขณะนั้นมีผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นจำนวนมากกองกำลังรักษาพระนครได้พิจารณาเห็น ว่า หากการชุมนุมในจุดังกล่าวดำเนินต่อไปจนถึงเวลาค่ำเหตุรุนแรงก็คงจะเกิดขึ้น อีกเหมือนกับที่เกิดขึ้นในคืนที่ผ่านมาแล้ว (17 พ.ค. 35 ) จึงจำเป็นต้องสลายการชุมนุม"

นับจากมีคำสั่งเข้าสลายการชุมนุม โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังหลบแดดร้อนและพักผ่อนกันอยู่นั้นเอง เสียงปืนก็ดังสนั่นราวฟ้าถล่มทหารเดินดาหน้าเข้าล้อมกรอบกลุ่มผู้ชุมนุมจากทุกทิศ โดยมีรถหุ้มเกราะติดอาวุธหนักเคลื่อนตามมาข้างหลัง ผู้คนนับหมื่นแตกกระเจิงวิ่งหนีหลบไปตามซอกเล็กซอกน้อย ส่วนที่เหลือราว 3,000 คนหมอบราบลงกับพื้น ได้ยินเสียงหวีดร้องและเสียงร้องให้สะอึกสะอื้นท่ามกลางเสียงปืนรัวกระหน่ำ

ผู้ที่หลบรอดมาได้เล่าว่า ทหารนอกจากยิงปืนขึ้นฟ้าแล้ว ยังยิงกราดใส่ผู้ชุมนุมด้วย และมีกองกำลังบางส่วนใช้กระบองเข้าทุบตีผู้ชุมนุมที่นอนหมอบกับพื้นอย่างไม่ยั้งมือ และเมื่อกำลังส่วนหน้าของทหารหน่วยจู่โจมบุกเข้าไปถึง ก็มีสารวัตรทหารร่างยักษ์สองนายตรงเข้าจับกุม พล.ต. จำลองพยายามที่ชูมือแสดงตัวขณะที่หมอบราบอยู่กับฝูงชน ใส่กุญแจมือแล้วนำตัวขึ้นรถออกไปจากที่ชุมนุม

กำลังทหารเข้ายึดพื้นที่ถนนราชดำเนิน ตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าฯ ถึงสี่แยกคอกวัวไว้ได้อย่างสิ้นเชิงผู้ชายถูกสั่งให้ถอดเสื้อนอกคว่ำหน้า สองมือไพล่หลังมัดไว้ด้วยเสื้อ ส่วนผู้หญิงนอนคว่ำหน้า หลายคนร่างสั่นสะทกหวาดผวา น้ำตาอาบใบหน้า

รถ ยี เอ็ม ซี 10 คันและรถบัส 3 คน นำผู้ชุมนุมไปกักขังที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน ประมาณว่ามีผู้ถูกจับนับพันคน

แต่การชุมนุมต่อต้านของประชาชนยังไม่สิ้นสุด ประชาชนออกมาชุมนุมอย่างต่อเนื่องทั่วกรุงเทพโดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมมีการตั้งแนวป้องกันการปราบปรามตามถนนสายต่างๆ ขณะเดียวกันรัฐบาลได้ออกประกาศจับแกนนำอีกเจ็ดคน คือ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล, น.พ. เหวง โตจิราการ, น.พ. สันต์ หัตถีรัตน์, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ, น.ส. จิตราวดี วรฉัตร และนายวีระ มุสิกพงศ์ แล้วยังมีรายงานข่าวการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนในหลายจุด โดยเฉพาะที่มีความรุนแรงมากในบริเวณถนนราชดำเนิน.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 22-28 พฤษภาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8